สตูล - นักเรียนชั้นอนุบาล 7 อำเภอ จ.สตูล แห่ร่วมกิจกรรมวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2559 ในหัวข้อกิจกรรม สนุกสุขสันต์กับกิจกรรมโลกแห่งการสื่อสาร เสริมประสบการณ์เรียนรู้ผ่านกิจกรรม
วันนี้ (24 มิ.ย.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดงานวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2559 (Little Scientists Day 2016) ในหัวข้อกิจกรรม สนุกสุขสันต์กับกิจกรรมโลกแห่งการสื่อสาร ขึ้นที่โรงเรียนอนุบาลสตูล ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล โดยมีเครือข่ายวิทยากรท้องถิ่น ผู้ปกครอง และนักเรียนชั้นอนุบาล 2 จำนวน 10 โรงเรียน จาก 7 อำเภอ กว่า 400 คน เข้าร่วมโครงการ โดยมี นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิด นายนิสิต ชายภักตร์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าว
ในกิจกรรมนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้แบ่งกลุ่มออกเรียนรู้ตามฐานต่างๆ อย่างฐาน “อดีตถึงปัจจุบัน” เป็นการสื่อสารในอดีตถึงปัจจุบัน ฐาน “บอกฉันบอกเธอ” เป็นการสื่อสารผ่านการฟังและพูด ฐาน “บอกใบ้ไร้เสียง” เป็นการสื่อสารผ่านสีหน้าและท่าทาง ฐาน “สื่อความหมาย” เป็นการสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ และฐาน “นับแบบคอมพิวเตอร์” เป็นการสื่อสารยุคดิจิตอล
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพ และเปิดโอกาสให้วิทยากรเครือข่ายท้องถิ่นได้จัดกิจกรรมนอกห้องเรียน และนำเสนอเนื้อหาความรู้ผ่านสื่อวิดีทัศน์ การเล่นเกม และทำสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับการสื่อสาร เปิดโอกาสให้เด็กและผู้ปกครองได้รับความรู้ ประสบการณ์ผ่านการทำกิจกรรม และตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
สำหรับบรรยากาศการเรียนรู้ตามฐานต่างๆ เด็กนักเรียนให้ความสนใจเรียนรู้ และสนุกกับกิจกรรมมาก โดย ด.ช.สุกฤษฏ์ บัวเนี่ยว และ ด.ช.วีรพงศ์ เสนชู นักเรียนจาก ร.ร.ตชด.ยูงทองรัฐประชาสรรค์ บอกว่า ดีใจที่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะสนุกมาก ได้ความรู้มากๆ ครับ
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท.กล่าวว่า แนวทางที่จะทำให้เด็กเก่งไม่ว่าจะอยู่ในเมือง หรือต่างจังหวัดก็คล้ายกัน ซึ่งความจริงแล้วต้องเริ่มต้นที่ตัวครูเอง เพราะถ้าครูใส่ใจจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามข้อกำหนดต่าง และให้เวลาแก่นักเรียนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนการสอน การเป็นอยู่ ส่วนครูใหญ่ ผอ.สถานศึกษาเองก็มีความสำคัญอย่างยิ่งว่านโยบายของโรงเรียนให้ความสำคัญต่ออะไรบ้าง ถ้านโยบายโรงเรียนให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ครูก็จะใส่ใจวิชานี้เป็นพิเศษ ตอนนี้เรามาจัดระดับความสำคัญ วิทย์ คณิต ภาษาแม่ คือ สิ่งที่ต้องทำในเบื้องต้น ซึ่งต้องให้เวลาตรงนี้เพิ่มขึ้น รัฐบาลมีนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ นั่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุน เพราะการเรียนรู้ในห้องเรียนเฉยๆ ไม่เพียงพอ
เด็กต่างจังหวัดจะมีโอกาสมากกว่าเด็กในเมืองในแง่ของสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ ห้องเรียนธรรมชาติจะมีอยู่ทั่วไป ขณะที่โรงเรียนในเมืองใหญ่ กทม. จะมีแต่ตึกคอนกรีต มองไปไม่เห็นอะไร สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย แต่เขาจะเสียเปรียบในการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่ถึงอย่างไรการส่งเสริมคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ควรจะเน้นให้เด็กฝึกคิดฝึกทำ และลงมือปฏิบัติ เพื่อที่เด็กจะได้เข้าใจ และรู้สึกสนุก ความยากของวิชาในทัศนะของผู้ปกครองเอง หรือแม้แต่ตัวผู้เรียนเอง ทำให้ความรู้สึกที่อยากเรียนรู้วิชานี้มันหายไป
เท่าที่ สสวท.ได้ทำงานกับโรงเรียนต่างๆ ในทุกพื้นที่ พบว่า เด็กต่างจังหวัดมีประสิทธิภาพสูงไม่ได้แพ้เด็กในเมือง เพียงแต่คุณภาพของโรงเรียนที่แตกต่างกันมาก อย่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนที่อยู่พื้นที่ไกล ทำให้เด็กเก่งเข้าไปเรียนในโรงเรียนในเมือง มันก็เลยเหมือนเด็กต่างจังหวัดไม่เก่ง แต่จริงๆ เขาเก่ง และคนเก่งจะหายเข้าไปในกลุ่มของโรงเรียนส่วนกลางทั้งสิ้น เพราะตรงนั้นมันมีโอกาส มีสื่อเรียนรู้
แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป เราสามารถใช้เทคโนโลยีทางไกลผ่านดาวเทียม เช่น โรงเรียนไกลกังวล ซึ่งติดจานดาวเทียมถึง 15,000 โรง ก็เป็นโอกาสเพราะตรงนั้นจะเป็นสื่อดีๆ ที่ออกอากาศการเรียนการสอนตามหลักสูตร แต่กลไกในการบริหารจัดการในพื้นที่ในช่วงเวลาออกอากาศนั้นๆ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ขาดครู นี่คือปัญหาหลัก มีครูไม่ครบวิชา เพราะฉะนั้นสื่อทางไกลเหล่านี้ช่วยได้
“ในการส่งเสริมกระตุ้นให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เพราะผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจในพื้นที่ที่มีรายได้ในพื้นที่ก็อยากช่วยสังคม ถ้าเขาเข้ามาช่วยโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่จะติดขัดในเรื่องของงบประมาณ การจัดหาสื่อเรียนรู้ที่สำคัญที่จำเป็นให้แก่โรงเรียน ตรงนี้คิดว่ากลไกการเอาสังคมทุกภาคส่วนในพื้นที่นั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมก็เป็นสิ่งที่จะช่วยเปิดโอกาส” ผอ.สสวท.กล่าว
นายสุทธิ สายสุนีย์ ผอ.โรงเรียนอนุบาลสตูล กล่าวว่า นักเรียนโรงเรียนอนุบาลสตูล และโรงเรียนในจังหวัดสตูลมีโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่สามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือได้กับ สสวท.ในการที่จะพัฒนาเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงเด็กประถม ซึ่งโรงเรียนอนุบาลสตูลเองนั้นมีโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยของสมเด็จพระเทพฯ และโครงการสเต็มศึกษา และในระดับประถมก็มีโครงการที่ร่วมกับ สสวท.ซึ่งจะนำไปสู่สาระทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำวิจัยมาแล้วเป็นหลักสูตรนำร่อง ปีแรก ป.1 กับ ป.3 ปีที่ 2 ป.2 กับ ป.5 และปีนี้ ป.4 กับ ป.6 เป็นปีสุดท้าย และได้รับโอกาสไปทำ MOU ในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพวิทย์-คณิตของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลสตูล และนักเรียนโรงเรียนอื่นๆ
สิ่งเหล่านี้มองว่าถ้าเริ่มที่ระดับปฐมวัยต่อไปยังชั้นประถม และสร้างเครือข่าย ขณะนี้ทางโรงเรียนก็มีเครือข่ายทั้ง สสวท.เอง สำนักงานเขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนต่างๆ โรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ โรงเรียนอนุบาลประจำเขตพื้นที่ฯ ซึ่งได้จัดหลักสูตรในการพัฒนาครู อย่างเช่น ในเรื่องสเต็มศึกษา บ้านวิทยาศาสตร์น้อย ก็ได้เชิญชวนครูทั้ง 7 อำเภอมาร่วม โดยโรงเรียนอนุบาลสตูล เป็นวิทยากรแกน มองว่าถ้าเรามีเครือข่ายในการพัฒนาอย่างนี้ก็จะกระจายวิธีการในการพัฒนาการศึกษาสำหรับเด็กตั้งแต่เล็กๆ ของจังหวัดสตูล และสามารถสร้างการเรียนรู้โดยเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเรื่องของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอนาคตของโลก แต่ถ้าเราปลูกฝังตั้งแต่เด็กปฐมวัยไปสู่ประถมเชื่อว่าเราจะก้าวทัน