xs
xsm
sm
md
lg

“หยุด” เมื่อตอนจบคุณเลือกได้ #STOPCyberBullying

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป เมื่อคนไทยมีสมาร์ทโฟนที่พร้อมจะแชร์เรื่องราวออกไปยังสังคมแบบไม่หยุดคิดถึงผลที่จะตามมา หรือการหยุดคิดถึง “สิทธิส่วนบุคคล” (Privacy) สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สังคมพร้อมที่จะมองหาเหยื่อจากการกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์

แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีหน่วยงานที่ออกมากำกับดูแลการคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ปัจจุบันจะเห็นการรณรงค์ลดการคุกคามผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการลดวาทะแห่งความเกลียดชัง (#HateSpeech) รวมถึงแคมเปญใหญ่อย่างการลดการคุกคามทางอินเทอร์เน็ต #STOPCyberBullying ที่ยึดวันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนในทุกปี เป็นวันรณรงค์ต่อด้านการคุกคามทางอินเทอร์เน็ต (Stop Cyberbullying Day)

ดีแทค ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ รวมถึงผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ได้มีการรณรงค์การใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ (Safe Internet) และถือเป็น 1 องค์กรที่ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ที่ร่วมรณรงค์ในส่วนของการคุกคามจากการกระทำบนโลกออนไลน์ภายใต้แคมเปญ “#STOPCyberBullying หยุดดู หยุดแชร์ หยุดรังแกกันบนโลกออนไลน์”

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ (ซ้าย) ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กร และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือดีแทค ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยว่า ยังไม่ค่อยตระหนักถึง “ความเป็นส่วนตัว” หรือ Privacy เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการปลูกฝังมาภายในสังคม

“ทุกๆ คนเติบโตมาพร้อมกับการมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องความเป็นส่วนตัว ดังนั้น ก่อนที่จะมีการโพสต์ข้อมูลใดๆ ลงในโลกออนไลน์ ควรที่จะคิดก่อนว่า เมื่อโพสต์แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรหรือไม่ ที่สำคัญคือ การไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนอื่น เมื่อทุกคนในสังคมต่างไม่มีใครละเมิดความเป็นส่วนตัวของกันและกัน ก็จะไม่เกิดไซเบอร์บูลลี่ในโลกออนไลน์”

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องพยายามปลูกฝังให้แก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน หรือผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคน คือ การแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ แน่นอนว่าในทุกๆ สังคมย่อมมีการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ที่สังคมต้องนึกถึง คือ การแสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้อยู่บนอคติ และต้องมีความรับผิดชอบต่อความคิดเห็นที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์

“การทำไซเบอร์บูลลี่ในโลกออนไลน์ เมื่อคอนเทนต์ถูกแชร์ขึ้นไปแล้ว จะถูกเก็บไว้บนอินเทอร์เน็ตพร้อมที่จะถูกหยิบยกออกมาใช้งานได้ตลอดเวลา ต่างต่อการคุกคามแบบตัวต่อตัวที่อาจจะมีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกัน แต่สุดท้ายก็จะจบตรงสถานที่เกิด ทำให้ความน่ากลัวของไซเบอร์บูลลี่ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำสูงมากกว่า”

อย่างในต่างประเทศ มีการตั้งกลุ่มจากเอ็นจีโอเพื่อให้การศึกษา เข้าไปสอนเยาวชน สอนทักษะในการใช้ชีวิตในยุคดิจิตอล พร้อมกับการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองให้เท่าทันโลกออนไลน์ ส่วนในมุมของผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตถูกจำกัดให้ต้องมีการปกป้องผู้ใช้ รวมถึงหลายๆ ธุรกิจตื่นตัวที่จะเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว

ในประเทศไทย ข้อมูลจากทางมหาวิทยาลัยมหิดล เคยมีการสำรวจ ระบุว่า 40% ของนักเรียนไทยถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ และการกลั่นแกล้งออนไลน์เป็น 1 ใน 5 สาเหตุที่ทำให้เยาวชนฆ่าตัวตาย ประกอบกับการที่ปัจจุบัน นักเรียนชั้น ป.1-ป.4 100% มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ทำให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยยังมีการสำรวจอีกว่า 28% มองว่า การกลั่นแกล้งออนไลน์เป็นเรื่องปกติ 39% เห็นเป็นเรื่องสนุก และ 33% คิดว่าการด่าทอเป็นเรื่องปกติ

ถัดมา คือ การร่วมกับทาง จส.100 ในการสำรวจผู้ใช้งานผ่านโลกออนไลน์ พบว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 55% เคยแชร์ข้อมูลในเรื่องที่น่าอายของบุคคลอื่น โดยคิดว่าไม่เห็นเป็นอะไร แม้ว่าหลายรายจะอายในการใช้คำรุนแรงต่อว่าผู้อื่น แต่พร้อมที่จะแชร์ข้อมูลออกไป ทำให้สิ่งที่น่ากลัว คือ การกระทำที่ไม่รู้ว่าเป็นการคุกคาม นอกจากนี้ 19% เคยนำรูปไปตัดต่อล้อเลียน และ 15% ถูกสวมรอยสร้างโปร์ไฟล์ปลอม

นอกจากนี้ 54% ยังเคยเป็นส่วนหนึ่งของการกลั่นแกล้งออนไลน์ ด้วยการโพสต์แกล้งเพื่อนขำๆ รองลงมา 26% รู้สึกว่าก็แค่แสดงความคิดเห็นลงไปในรูป หรือข้อความที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเองเพื่อความสนุก และ 20% แชร์ช่วยสังคมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า ทำลายสังคมให้แย่ลงกว่าเดิม ส่วนวิธีการในการแก้ปัญหา 74% เรียกร้องให้สร้างจิตสำนึกในสังคมออนไลน์ เพื่อลดปัญหการกลั่นแกล้งออนไลน์รองลงมา 26% หยุดโพสต์ หยุดแชร์ในเรื่องที่ไม่รู้จริง

ก่อนจะเลื่อนผ่านไปยังบทสรุปในบทความนี้ อยากให้ผู้อ่านลองใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ในการรับชมหนังสั้นที่จะมาช่วยกระตุกต่อมความติด ที่จะหยุดดู หยุดแชร์ หยุดรังแกกันบนโลกออนไลน์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “หนังสั้นที่อยากให้คนหยุดดู”

เชื่อว่าหลายคนอาจจะเกิดการปล่อยผ่าน และเลือกที่จะไม่ “หยุด” ก่อนที่เรื่องราวจะลุกลามไป แต่หลังจากได้ชมตอนจบแล้ว เพียงฉุกใจคิดที่จะ “ใช้หัวคลิก” ก่อนการโพสต์ แชร์ คอมเมนต์ “หยุด” ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการ #STOPCyberBullying



(บทความประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น