“พวกขู่จะฆ่าตัวตาย มันไม่กล้าทำหรอก เรียกร้องความสนใจแบบนี้
ให้มันตายๆ ไปเลยก็ดีนะ”
“เสียชื่อเสียงมหา'ลัยว่ะ ไปตายซะมึง อีกระหรี่”
“หน้าตาไม่ดีแล้วยังผิดเพศอีก เสียชาติเกิดจริงๆ ว่ะ น่าสงสารพ่อแม่มัน”
กลายเป็นเรื่องชินตาในสายตานักเลงคีย์บอร์ดไปเสียแล้ว สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบถึงรูปร่าง-หน้าตา รสนิยม หรือเรื่องอื่นๆ ด้วยคำพูดเชิงลบที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติอันมืดบอดในตัวเอง ใครจะรู้ล่ะว่าแค่เพียงไม่กี่ประโยคที่ละเลงนิ้วจิ้มลงบนคีย์บอร์ดจะทำให้ใครหลายคนกลายเป็นฆาตกรได้ในพริบตาเดียว
ความน่ากลัวของภัยคุกคามจากสังคมออนไลน์ ถูกสะท้อนผ่านเวทีเสวนา “Cyberbullying ภัยร้ายใกล้ตัว..ที่คุณต้องระวัง” จัดโดยดีแทค ผ่านมุมมองของเหล่ากูรูหลากวงการที่เคยตกเป็นเหยื่อ และผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับเหยื่อ พร้อมบอกเล่าประสบการณ์ รวมถึงร่วมเป็นพลังสำคัญในการหยุดภัยคุกคามจากโลกโซเชียลฯ
#Stop Cyberbullying
ย้อนกลับไปเมื่อสองอาทิตย์ก่อน เธอคนนี้เป็นเหยื่อของการถูก Cyberbullying ครั้งสำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ ด้วยการแอบถ่ายภาพของเธอบนรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อนำไปโพสท์วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องสไตล์การแต่งหน้าของเธอกันอย่างกระหน่ำโลกโซเชียล “กวาง-มินตรา เรืองศักดิ์วิชิต” เจ้าของอายไลเนอร์คนดังพร้อมบอกเล่าความรู้สึกในฐานะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในสังคมออนไลน์
“เมื่อก่อนกวางก็ไม่เคยคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ จนมาเจอกับตัวเลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง มันคือเรื่องใหญ่ ซึ่งในทางกฎหมายมันคือการล่วงละเมิด ตอนนี้กำลังดำเนินเรื่องตามกฎหมายอยู่ค่ะ มีการลงบันทึกประจำไว้แล้วที่ สน.ทองหล่อ
กวางอยากให้เป็นบทเรียนกับหลายๆ คน เพราะว่าจริงๆ แล้วมันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเยอะมาก อยากให้คนอื่นที่กำลังทำรู้ด้วยว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ดี มันผิด มันจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก”
ทั้งยังทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า การที่เธอนั้นมีสไตล์เป็นของตัวเองไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด ความต่างเหล่านั้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความแปลกแยก ทว่ามันคือการแสดงออกถึงการเป็นตัวของตัวเองมากกว่า “การที่เราไม่ได้เหมือนคนอื่น มันไม่ได้หมายความว่าเราแปลกแยก แต่มันหมายความว่าเราเป็นตัวของเราเอง”
ถึงแม้ว่าจากกรณีข้างต้นดูเหมือนเป็นเรื่องขำๆ ที่โลกออนไลน์ต่างคอมเมนต์กันอย่างสนุกปาก ทว่าในอีกด้านหนึ่งได้มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงต่อว่าผู้ที่นำภาพมาลงโซเชียลว่าเป็นการไม่เคารพในความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น
เช่นเดียวกับ “อุ้ม-อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากบริษัทดีแทค ได้ให้ความเห็นกับเราถึงเรื่องการละเมิดสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวที่ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งเลือนลางในสังคมสมัยนี้
“สิ่งที่คนไทยไม่รู้เลย คือคำว่า “Privacy” ความเป็นส่วนตัว คำๆ นี้ต้องสอนตั้งแต่ลูกฟังภาษาคนได้ มันคือเรื่องของความเป็นส่วนตัว คนเราเกิดมาพร้อมกับสิทธิที่จะได้รับการเคารพและปกป้องความเป็นส่วนตัว ถ้าคุณรู้ว่าคุณรักในความเป็นส่วนตัวอย่างไร ปกป้องมันอย่างไร จงอย่าละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนอื่นและต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นด้วย
อีกเรื่องคือการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ คนเราไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน แต่ต้องมีวิธีในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ อันนี้สำคัญมาก ซึ่งบางคนเราไม่ชอบอันนั้น ไม่ชอบอันนี้ แต่ใช้วิธีคือว่าด้วยอคติ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดอะไร มันอยู่ในทางลบด้วยซ้ำไป”
เด็ก 70% ถูกรังแกบนโลกออนไลน์!
ถือเป็นตัวเลขที่สร้างความตกใจมากทีเดียว สำหรับเปอร์เซ็นต์เด็กและเยาวชนที่ถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ซึ่งมากถึง 70% ถูกเผยให้เห็นถึงความอันตรายที่ยังเป็นปัญหาเรื้อรังบนโลกออนไลน์หากไม่ได้รับการแก้ไขและปลูกฝังให้คนมีจิตสำนึกอย่างจริงๆ จังๆ เสียที
“เอก-เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข” ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงาบอกกับเราว่า ปัจจุบันมีคนแจ้งเด็กหายเข้ามาทุกวัน เฉลี่ยเดือนหนึ่งมีเด็กหายประมาณ 50 คน รวมหนึ่งปีคาดเท่ากับ 600 คน แต่ที่น่าตกใจขึ้นไปอีกเมื่อพบว่าเด็กและเยาวชนที่หายตัวไปนั้นพกเครื่องมือสื่อสารติดตัวไปด้วย
“ปัจจุบันนี้เรารับแจ้งเด็กหายทุกวัน โดยเฉลี่ยเดือนหนึ่งมีเด็กหายประมาณ 50 คน ปีหนึ่งประมาณ 600 คน แต่ตัวเลขจริงๆ ของทั้งประเทศมันมีจำนวนมากกว่านี้เยอะ ส่วนใหญ่แล้วเป็นในเด็กในช่วงอายุประมาณ 11-15 ปี ซึ่งร้อยละร้อยเปอร์เซ็นต์เด็กที่หายไปถือเครื่องมือสื่อสารไปด้วยและเป็นผู้ใช้เครื่องมือสื่อสารนั้นๆ”
หรือนี่อาจเป็นปัญหาสังคมรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่การหายตัวไปจากการถูกลักพาตัวแบบที่ผ่านๆ มา ความแอดว๊านซ์ของมันเห็นได้ชัดว่าเด็กและเยาวชนในยุคนี้มีความเต็มใจที่จะหนีออกจากบ้าน ซึ่งคุณเอกยังบอกอีกว่าส่วนใหญ่เป็นเด็กที่หายไปมีเพศสัมพันธ์กัน รวมถึงจงใจอัดคลิปฉาวต่างๆ เก็บไว้อีกด้วย
“ประเด็นคือพอเราทำงานเรื่องการติดตามเด็กหาย เด็กมีการใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างที่รู้กัน ปรากฏว่าเด็กตกเป็นเหยื่อของการเข้าไปใช้ เอาง่ายๆ เวลาเด็กหนีออกจากบ้านไป 70% คือเด็กที่ไปมีเพศสัมพันธ์กัน โดย 80 % คือเราตามเจอ เวลามีเพศสัมพันธ์กัน เด็กมักจะถูกอัดคลิปไว้ไม่ว่าด้วยความเต็มใจหรือบังคับก็ตาม ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องของการส่งต่อกัน ด้วยความเป็นเด็กถือว่าตกเป็นเหยื่อ”
ละครไทยต้องสะท้อนปัญหาสังคม!
นอกจากจุดมุ่งหมายของละครที่มอบความบันเทิงเริงใจให้กับผู้ชมแล้ว แน่นอนมันควรสอดแทรกสาระและปลูกจิตสำนึกให้คนไทยได้ด้วย “เอิร์น-ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล” ผู้จัดละครรุ่นใหม่ที่กล้าทำละครสะท้อนสังคม “วัยแสบสาแหรกขาด” พบว่าข้อมูลและปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ในวงการดาราเท่านั้น ทว่ามันใกล้ตัวมากขึ้นและรุนแรงขึ้นทุกที นี่จึงเป็นเจตนาที่เขาตั้งใจสะท้อนปัญหาสังคมผ่านงานละคร
“จริงๆ ที่เราทำคืออยากทำละครสะท้อนสังคม ชี้ให้เห็นปัญหาของสังคม ทีนี้เรามีการทำรีเสิร์ชว่าปัญหาอะไรที่ควรจะนำเสนอ ปัญหาอะไรที่ใกล้ตัวคนมากที่สุด มันก็มีหนึ่งประเด็นที่ค่อนข้างจะใหม่ที่สุดในเรื่องของ Cyberbullying ที่เพิ่งเติบโตมาพร้อมๆ กับเรา 10-15 ปีไม่เกิน แต่เริ่มจะชัดในปีสองปีนี้ที่มีมาก
คนจะไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา เรื่องเด็กๆ หรือเปล่าก็ไม่ต้องไปสนใจ แต่เหมือนที่เรารู้คือคนที่ด่ากันต่อหน้าไม่เท่าไหร่แล้ว แต่บางทีเราไปแคร์คอมเมนต์ของคนไม่รู้จักเราเลยตั้งเยอะแยะ ทั้งคำพูดไม่ดี จนถึงขั้นไล่ให้ไปตาย”
“Cyberbullying” กลายเป็นปัญหาที่สร้างความรุนแรงได้ไม่ต่างจากปัญหาสังคมอื่นๆ เลยก็ว่าได้ ด้วยคำพูดที่เคลือบด้วยยาพิษ หรือการแสดงความคิดเห็นในเชิงลบที่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวและไม่เคารพในสิทธิของผู้อื่น อาจทำให้ผู้ที่มีภูมิต้านทานไม่เพียงพอตกเป็นเหยื่อให้แก่การรังแกหมู่ได้อย่างง่ายดาย
“ปัญหาบางอย่างเกิดกับผู้ใหญ่ เรามีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงประมาณหนึ่งแล้วเราก็จะช่างมันเถอะได้ แต่สำหรับเด็กที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเลย เด็กมัธยม-ประถมที่มาอ่านคอมเมนต์ เขาจะรู้สึกว่าทำไมต้องว่าขนาดนี้ แค่คนโพสท์รูปหน้าตาไม่ดีก็ไปว่าเขาไม่สวย คือมันไม่ใช่เรื่องเด็กๆ แล้ว บางทีเรื่องเด็กๆ สำหรับเรา แต่มันไม่ใช่เรื่องเด็กๆ สำหรับเขา”
ทิ้งท้ายด้วยการปลูกฝังเด็กๆ ให้รู้จักคิดเป็นและแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ คุณเอิร์นเผยว่าควรเริ่มมาจากครอบครัวที่ต้องควรชี้แนะ สอนลูกหลานให้มีภูมิคุ้มกันในการเข้าถึงโลกโซเชียลเสียก่อน
“ต้องแก้ไขที่คน ต้องแก้ไขที่ผู้ปกครอง ต้องสอนลูกตั้งแต่เด็กเลย ต้องปูพื้นฐานตั้งแต่ครอบครัว อย่างที่เห็นพ่อแม่ส่วนใหญ่เลี้ยงลูกด้วยไอแพด แทปเล็ต โทรศัพท์ มันจะมีแอปสำหรับไกด์พ่อแม่ เวลามีคอมเมนต์อะไรให้เลือกที่จะอ่าน อ่านแล้วทิ้งได้ไหม ไม่ใช่จมอยู่กับมันอย่างเดียว หรือแม้แต่การโพสท์ การแชร์ มันต้องคิดก่อนทำ มันต้องสอนตั้งแต่รากฐาน พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อน”
ชมหนังสั้นกำกับโดย "เต๋อ นวพล" ผู้กำกับชื่อดัง
ชมภาพบรรยากาศงานเสวนา . .
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754