xs
xsm
sm
md
lg

อย่ามัวแต่รอฮีโร่! “ป๋อง” หนุ่มจิตสาธารณะเทใจช่วยสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่า..
“วัยรุ่นทุกคนอยากจะเปลี่ยนโลก แต่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตัวเอง”
เขาบอกว่าโลกวุ่นวายอยากจัดระเบียบโลก แต่ห้องนอนตัวเองยังจัดไม่ได้เลย

“ป๋อง-ฐณณ ธนกรประภา” หนุ่มผู้เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ภาพเด็กหายของมูลนิธิกระจกเงาปรากฏขึ้นสู่สายตาเป็นครั้งแรกผ่านจอแอลซีดีในห้างสรรพสินค้า จอบิลบอร์ดตามสี่แยกไฟแดง รวมถึงเป็นแรงขับเคลื่อนในการระดมทุนสร้างสติกเกอร์เด็กหายติดรถเมล์ออกสู่สายตาสาธารณะชน

สิ่งที่ชายหนุ่มผู้นี้กล่าวมาข้างต้นเพียงไม่กี่ประโยค ทำเอาผู้ฟังเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อยกเว้น แววตาประกายความมุ่งมั่นแสดงให้เห็นตลอดบทสนทนา ทว่าความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงนั้นควรเริ่มต้นจากอะไร ชายผู้นี้พร้อมคายคำตอบ . .

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คุณป๋องสะพายกีตาร์ เดินเตร็ดเตร่ไปตามถนนย่านคนพลุพล่าน แล้ววางกล่องรับบริจาคเพื่อมอบให้แก่มูลนิธิต่างๆ พร้อมบรรเลงคำร้องและเสียงดนตรีดึงดูดคนผ่านไปมาให้สนใจ เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ต้องการขับเคลื่อนสังคมให้เป็นไปในทางที่ดี นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาออกมาทำสิ่งดีๆ ตอบแทนสังคม

“เดิมทีผมทำงานเป็น Marketing Manager ให้กับสื่อโฆษณาแห่งหนึ่ง สมัยก่อนต้องทำ CSR ให้บริษัท เราก็มานั่งนึกว่าด้วยธุรกิจมันเป็นสื่อโฆษณานอกบ้าน มันจะต้องทำเรื่องอะไร ให้เกี่ยวกับบริษัทยังไง สมัยก่อนบริษัทที่ผมอยู่คือเป็นบริษัททำจอในห้างพารากอน

เราก็รู้สึกว่าปัญหาในห้างจริงๆ ที่เกิดขึ้นคือ เด็กชอบพลัดหลงในห้าง มันจึงเป็นไอเดียขึ้นมาว่า ถ้าเป็นประกาศหาเด็กหายในจุดที่เรามีสิทธิ์จะเจอเด็กที่หาย หรือเป็นจุดที่เด็กจะหาย มันคงจะดี จากนั้นผมเลยไปคุยกับคุณเอก มูลนิธิกระจกเงา หลังจากนั้นก็เอาภาพมาขึ้นจอ”


 
นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ภาพประกาศตามหาเด็กหายปรากฏขึ้นบนจอแอลซีดีในห้างสรรพสินค้า หลังจากนั้นเขาได้ย้ายไปทำงานที่อื่น ทว่าเขาไม่ได้ละทิ้งความตั้งใจเดิม แต่กลับพกพามันติดตัวมาด้วย

“จากนั้นผมย้ายไปทำที่แพลน บี มีเดีย ทำสื่อนอกบ้าน ผมเลยเอาโปรเจคนี้ไปเสนอ เขาเลยให้ทำต่อด้วยการขึ้นรูปเด็กหายมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งคุณเอกเป็นคนติดต่อมาว่า อยากได้ป้ายที่เป็นป้ายนิ่งบ้าง ผมเลยบอกคุณเอกว่าถ้าเป็นพวกป้าย ปกติแล้วจะมีค่าผลิต ค่าใช้จ่ายที่มันค่อนข้างสูง

ผมเลยบอกให้เอาเป็นรถเมล์ไหม ถ้าเป็นรถเมล์ค่าผลิตจะถูกกว่า วิ่งหลายที่ คนจะเห็นเยอะกว่า จากนั้นเลยเป็นที่มาของการทำรูปหายติดรถเมล์กัน ส่วนค่าผลิตก็แยกย้ายช่วยกันหา ผมหาค่าสปอนเซอร์ไม่ได้ พอได้กลับมาเจอคุณเอกอีกครั้ง เขาบอกว่าเขาไประดมทุนอยู่ในเว็บ “เทใจ” 1 แสนบาทเป็นค่าสติกเกอร์”

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่รอฮีโร่” เขาพูดไว้อย่างนั้น นับเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้คนในสังคมมักเฝ้ารอการเกิดขึ้นของปาฏิหาริย์ การสวดมนต์ขอพร หรือแม้แต่รอใครสักคนมาทำเรื่องดีๆ แล้วยกย่องเขาว่าคือ “ฮีโร่” ทว่าหากทุกคนปรับเปลี่ยนมุมมอง และเริ่มต้นทำมันจากตัวเราเอง ความเป็นไปได้อาจเกิดขึ้นได้มากกว่า

“ตอนนั้นมันเป็นจังหวะที่ผมรู้สึกว่า พอทำงานมาสักพักจะรู้สึกว่าคนไทยมีนิสัยอยู่อย่างหนึ่ง คืออยากเห็นอะไรดีๆ ในสังคม แต่ตัวเองไม่ทำ ประเทศเราเป็นประเทศที่รอฮีโร่ รอใครสักคนมาเปลี่ยนสังคม หรือรอให้ใครสักคนมาทำอะไรดีๆ ซึ่งอาจจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงหรือเป็นบริษัทที่รวยๆ

ในความเป็นจริงผมมองว่า ถ้ามันเป็นปัญหาสังคม สังคมมันจะดีได้ มันอยู่ที่ตัวเราทุกคน มันไม่ได้อยู่ที่ตัวใคร ฮีโร่มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่ซูปเปอร์แมนที่ทำได้ทุกอย่าง สุดท้ายแล้วคนส่วนใหญ่ ถ้าต่างคิดแล้วลงมือทำเลย มันถึงจะเปลี่ยนได้”

 
“ไม่ใช่ฮีโร่” เขากล่าวซ้ำๆ ว่าไม่ใช่ฮีโร่ คำนี้อาจกลายเป็นคำยกยอสรรเสริญใครสักคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาทำความดีเพื่อสังคม ทว่าคุณป๋องอยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องปกติที่คนทุกคนควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมเสียมากกว่า ซึ่งสิ่งที่เขาทำห่างไกลจากคำว่าฮีโร่มากนัก เขาเพียงแค่คนธรรมดาที่อยากเห็นสังคมไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเท่านั้นเอง

“ผมรู้สึกว่าคนไทยชอบพูดกันว่า CSR (Corporate Social Responsibility) เราเอาความหวังไปผูกกับตรงนั้นมันไม่ถูก จริงๆ แล้วมันควรจะเป็น ISR (individual Social responsibility) ใครก็ได้ ถ้าชีวิตนี้คุณไม่ได้ลำบากแล้ว ควรลุกออกมาทำ

ผมเลยมีโปรเจคส่วนตัวว่าตั้งใจออกมาเล่นดนตรี แต่ก่อนผมเป็นนักดนตรีและทุกวันนี้ผมทำงานบริษัท ผมไม่ได้เดือดร้อนอะไร เสาร์-อาทิตย์แทนที่จะไปนั่งร้องตามผับเหมือนสมัยก่อน เรามาร้องแบบนี้ดีกว่าได้เงินบริจาคเท่าไหร่ก็ยกให้มูลนิธิฯ ไป”

ดูเหมือนว่าความตั้งใจของชายคนนี้ยังคงดำเนินต่อไป และไม่มีทีท่าว่าจะมีสิ่งใดหยุดความมุ่งมั่นของเขาได้ เขามองว่าการที่ได้มาทำตรงนี้ถือเป็นการแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร และไม่จำเป็นต้องเป็นคนใหญ่โตมาจากไหน คุณก็สามารถออกมาทำความดีเพื่อสังคมได้ นี่คือเจตนาที่เขาเชื่อมั่นมาตลอด

“ผมตั้งใจไว้ว่าจะร้องเพลงเปิดหมวกและมอบเงินแก่มูลนิธิให้ครบ 34 ที่ ตามอายุตัวเอง ผมว่ามันวิน-วินนะ หนึ่งได้เงินมาเท่าไหร่ต้องให้เขา สองผมได้ทำในสิ่งที่ผมชอบ อันนี้คือคอนเซปผมเลย ในแง่ของผลลัพท์ผมไม่ได้มองว่ามันจะต้องได้เงินเท่าไหร่ แต่ผมแค่ต้องการทำให้คนเห็นว่า ผมตัวคนเดียวนะ ไม่ได้มีพาวเวอร์ ไม่ได้มีชื่อเสียง แต่ก็ทำได้"

 
"ผมเชื่อว่าคนเราต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองให้ได้ก่อน ก่อนจะมารับผิดชอบชีวิตคนอื่น แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องรอว่าจะต้องรวยเท่านั้น เท่านี้ แค่วันนี้คุณไม่เดือดร้อนและออกมาทำอะไรดีๆ ให้สังคมก็โอเคแล้ว”

ทิ้งท้ายกันด้วยความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “ความสุข” จากปากชายคนนี้ที่ดูเหมือนว่าเขาได้ค้นพบความสุขอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นในชีวิตเขา ซึ่งความสุขที่เกิดจากการให้ ถือเป็นความสุขที่ทำให้เขานั้นรู้สึกอิ่มเอมหัวใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“สุดท้ายแล้วผมก็ค้นพบว่า จริงๆ แล้วนี่คือความสุขอย่างหนึ่ง ความสุขจากการได้ทำสิ่งที่เราชอบ อย่างการได้เล่นดนตรี สองคือผมว่าคนเราควรจะมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ผมว่า “การให้” มันคือความสุขที่มันไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะแยะ มันยิ่งใหญ่และมีความสุข ถ้าสังคมเราคิดได้ว่าการให้คือ ความสุขอย่างหนึ่ง ประเทศเราจะน่าอยู่กว่านี้เยอะ”


เรื่อง : พิมพรรณ มีชัยศรี

---------------------------------------------------------------------------------------------







กำลังโหลดความคิดเห็น