xs
xsm
sm
md
lg

“แกะดำ” แองกรี้ เบิร์ดส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


จากเกมยอดฮิตเมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา เล่นกันตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ และเมื่อได้ข่าวว่ามันจะถูกนำมาสร้างเป็นหนัง หลายคนก็คงงงว่ามันจะเป็นอย่างไร เพราะว่ากันตามจริง เกมยิงหนังสติ๊กแลกคะแนนและเก็บสะสมของมีค่าเช่นไข่ทองคำ มันจะเอาไปทำเป็นหนังได้อย่างไร หรือแบบไหน แต่จากผลลัพธ์ที่ออกมา ก็บอกได้ด้วยตัวของมันเองว่า งานชิ้นนี้ก็ผ่านการคิดมาไม่ธรรมดาเหมือนกัน

อันดับแรกสุด มองในแง่ของการ “เป็นเรื่องเป็นราว” เพราะอย่าลืมนะครับว่า เอาเข้าจริง เกมยิงหนังสติ๊ก ก็ไม่ได้ประเด็นหรือโครงเรื่องอะไรที่พอจะต่อยอดไปเป็นพล็อตเป็นอะไรได้ แต่เมื่อได้ดู เรากลับจะพบว่า คนแต่งเรื่องนี่ก็ใช้ได้เลยทีเดียว เอาตรงนั้นไปโยงตรงนี้ เอาตรงนี้ไปผูกปมนั้น กระทั่งได้เรื่องได้ราวมา อันว่าด้วยยอดชายนายเร้ด หรือ “แองกรี้ เบิร์ด” ของคอเกมทุกคน หนังปรุงแต่งตัวละครตัวนี้ให้มีลักษณะของความเป็น “คนนอก” หรือ “แกะดำ” เพราะพฤติกรรมด้านความขี้โมโหฉุนเฉียวและมีแนวโน้มที่จะทำลายข้าวของได้ทุกเมื่อ ทำให้เขาต้องถูกสังคมขับออกไปให้ตั้งที่พักอยู่ห่างจากชุมชน ริมชายหาดไกลๆ สรุปก็คือมิสเตอร์เร้ดดูจะเป็นนกประเภทที่ทำอะไรก็ไม่เข้าหูเข้าตาชาวบ้านร้านช่องไปเสียหมด กลายเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของสังคม

เหตุการณ์ในหนัง เริ่มเข้าสู่การมีเรื่องมีราวมากขึ้น เมื่อการเดินทางมาถึงของบรรดา “หมูสีเขียว” ที่ดูจะมีสิ่งของล่อตาล่อใจและเอาอกเอาใจชาวบ้านในชุมชนนก อย่างไรก็ดี ในขณะที่บรรดานกทั้งหลายพากันเพริดใจไปกับประสบการณ์แจ๋วๆ ที่กองทัพหมูนำมาให้ มิสเตอร์เร้ดกลับมองดูด้วยความเคลือบแคลงสงสัยและพยายามขัดคออยู่เรื่อยๆ และนั่นก็ดูเหมือนว่า ยิ่งทำให้มิสเตอร์เร้ดถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น

...แองกรี้ เบิร์ดส์ เดอะ มูฟวี่ อาจไม่ใช่หนังการ์ตูนที่ดีเลิศในความเห็นส่วนตัวของผม แต่โดยรวมแล้ว ผมยังเห็นว่ามันเป็นหนังแอนิเมชั่นที่เสพเอาความสนุกสนานบันเทิงได้ สิ่งที่ดีมากๆ ของงานชิ้นนี้ก็คือ ดีไซน์หรือการออกแบบตัวละครต่างๆ ที่บางตัว บางการกระทำ ก็ดูน่ารักน่าเอ็นดู โดยเฉพาะเจ้าหมู่นกตัวน้อยๆ หรือลูกนก อย่าว่าแต่เด็ก ผมคิดว่าผู้ใหญ่ก็คงจะยิ้มได้กับดีไซน์คาแร็กเตอร์เหล่านั้น และสิ่งสำคัญที่คิดว่าน่าจะคาดหวังได้ คือความตลก มีหลายมุกหลายเม็ดที่หัวเราะออกมาได้เต็มปากเต็มคำ ตัวอย่างเช่น ฉากการเปิดตัวของเทพอินทรีผู้เก่งกล้าเป็นตำนาน หรือแม้แต่การร่ายกลอนโศกของเจ้า “ชัค” นกสีเหลืองช่างจ้อ...และช่วงเวลาหลังจากเปิดตัวพญาอินทรีเป็นต้นไป หนังเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น และจังหวะจะโคนในการเล่นมุกตลกเริ่มแม่นยำมากขึ้น สนุกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีอะไรที่พอแนะนำได้ในที่นี้ สิ่งนั้นก็คงเป็นเรื่องของไดอะล็อกหรือบทพูดของตัวละครที่ค่อนข้างเยอะ พูดง่ายๆ ก็คือ “พูดมากและรัว” โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ดังนั้น แนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะพาน้องๆ หนูๆ ไปดูหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่าบางที พากย์ไทยอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า (สำหรับน้องๆ ที่ฟังภาษาอังกฤษได้ ก็อาจไม่มีปัญหา) เพื่อให้เด็กๆ ได้เพลิดเพลินเจริญใจไปกับคาแร็กเตอร์ตัวละคร ภาพและเรื่องราวตรงหน้าอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมาพะวักพะวงกับการอ่านซับไตเติ้ล ที่แม้แต่ผู้ใหญ่บางคนก็อาจจะอ่านตามไม่ทัน

เพราะความเป็นการ์ตูนเด็กๆ ที่ดูได้ทั้งครอบครัว แองกรี้ เบิร์ดส์ วางตำแหน่งเนื้อหาของตัวเองแบบไม่เคร่งเครียดจริงจังมากนัก มีบางจุดที่รู้สึกว่าอาจจะใกล้เคียงกับ “ซูโทเปีย” (Zootopia) ในแง่ของการตัดสินคน การมองคน แม้ความคมคายจะห่างไกลหลายหลักกิโลกับซูโทเปีย แต่ก็ยังมีความเป็นผู้ใหญ่อยู่ระดับหนึ่ง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมเห็นว่า จุดหนึ่งซึ่งหนังแตกโจทย์ออกมาได้ค่อนข้างดี คือการทำให้ตัวละครเอกอย่างแองกรี้ เบิร์ดส์ ดูมีมิติขึ้นมา หมายถึงว่า จากคาแร็กเตอร์ในเกมที่ดูไม่มีอะไรเลย แต่กลับทำให้มันดู...พูดง่ายๆ...“เป็นผู้เป็นคน” ขึ้นมา และความน่าสนใจในตัวละครตัวนี้ก็มีมวลสารให้ได้คิด อย่างหนึ่งซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องน่าขำแบบตลกร้าย คือเรามักเข้าใจว่าการจับใครสักคนไปดัดนิสัยนั้น จะทำให้เขากลายเป็นคนที่พึงปรารถนาขึ้นมาได้จริงๆ เช่นเดียวกับการที่มิสเตอร์เร้ดไปเข้าคอร์สดัดนิสัย ร่วมกับสมาชิกที่ไม่น่ารักของชุมชนอีกสามสี่ตัว ทั้ง “ชัค”. “บอมบ์” และ “เทอร์เรนซ์” เราจะเห็นว่า คอร์สแบบนี้แทบไม่มีผลลัพธ์ในเชิงบวกใดๆ เลย เพราะมันคือการบังคับที่ไม่ได้ออกมาจากความปรารถนาที่จะลด ละ เลิก ด้วยตัวเอง..โอเคล่ะ คนบางคนอาจต้องการการบังคับ แต่สำหรับมิสเตอร์เร้ด ดูเหมือนว่าเหตุที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ คือการได้ทำในสิ่งที่ถือเป็นความภาคภูมิ สังคมยอมรับ และกลับเข้าอยู่ในสังคมได้อีกครั้ง

และก็อย่างที่บอกว่า ตัวของมิสเตอร์เร้ดนั้น เป็นพวก “คนนอก” ที่เอาเข้าจริง ก็ไม่ใช่เพียงเพราะความโมโหร้ายตามสไตล์ของเขาเท่านั้น หากแต่ส่วนหนึ่ง เกิดมาจากการที่ไม่ค่อยจะยอมตามอะไรใครเขา และมักมี “คำถาม” เสมอๆ ไม่ว่าจะกับอะไรก็ตาม แม้กระทั่งผู้พิพากษาของชุมชน เขายังตั้งคำถามและทำให้ได้อาย ด้วยการเปิดโปงความจริงบางอย่างที่ซ่อนไว้ใต้ความสูงโปร่งของ “นกผู้พิพากษา” ตัวนั้น และสุดท้าย ทุกคนก็คงจะได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า ความสงสัยเคลือบแคลงหรือรู้จักตั้งคำถามบ้าง ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป

การพยักหน้าเออออห่อหมก เห็นด้วยกันไปทุกสิ่งอย่าง โดยปราศจากการตั้งคำถาม มันพาสังคมจมลงเหวมาแล้ว อย่างน้อยก็สังคมนกในหนังเรื่องนี้









ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น