xs
xsm
sm
md
lg

แม่ก็คือแม่...“ไฟน์ดิ้ง ดอรี่” ว่ายน้ำไปรอที่เวทีออสการ์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ตอกย้ำความแม่นยำอีกครั้ง สำหรับหนังจากพิกซาร์ สตูดิโอ หลังจาก “ไฟน์ดิ้ง นีโม” (Finding Nemo) มีอายุครบ 13 ปี ก็ถึงคราวคลอดของปลาดอรี่ที่คนรักนีโมทุกคน คงจดจำเจ้าปลาสีฟ้าตัวนี้ได้ในคราวที่เดินทางตามหาลูกปลาการ์ตูนที่สูญหาย แม้จะเป็นปลาความจำสั้น แต่วีรกรรมร่วมกันระหว่างเธอกับมาร์ลินนั้น เป็นภาพประทับใจที่แม้แต่พิกซาร์เองก็ยังต้องการจะทำหนังภาคแยกให้กับเธอ ตั้งแต่นีโมประสบความสำเร็จถึงขั้นได้รับรางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชั่น

ครับ, อย่างที่หลายคนอาจจะรู้กัน หรือไม่รู้ก็ตามที แต่เรื่องของปลาดอรี่นี่อยู่ในความสนใจของทีมงานพิกซาร์ โดยเฉพาะผู้กำกับมือเทพ “แอนดรูว์ สแตนตัน” มานานสิบสามปีแล้ว เขาเห็นว่าเรื่องดอรี่นั้น ยังมีแง่มุมให้สืบเสาะเลาะไต่ได้อีกมาก

ที่เด่นมากๆ คือเรื่องพื้นฐานที่มาของเธอ ก่อนจะเข้าร่วมเส้นทางการค้นหาปลาการ์ตูนตัวน้อย ดอรี่เป็นใครมาจากไหน คำถามนี้คาอยู่ในใจของแอนดรูว์ สแตนตัน เสมอมา และเขาก็มีความปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะชวนคนดูผู้ชมไปค้นหาคำตอบร่วมกัน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ทำ เพราะถึงแม้เวลาปีหรือสองปี หลังจากนีโมเข้าและเข้าไปอยู่ในใจของคนดูผู้ชม พิกซาร์จะแตกค่ายลูกออกไปอีกหนึ่งค่าย (Circle 7 Animation) ซึ่งหมายมั่นปั้นมือว่าจะให้เป็นค่ายที่ทำหนังภาคต่อของพิกซาร์ทุกเรื่อง แต่เมื่อมีปัญหาภายในกัน สตูดิโอถูกยุบ ฝันแห่งการมีภาคต่อของหนังแต่ละเรื่อง ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย รวมทั้งเรื่องราวของดอรี่

อย่างไรก็ดี 13 ปีผ่านไป ... นับว่าคุ้มค่าแห่งการรอ เพราะจนถึงตอนนี้ เชื่อว่า กระแสของ “ไฟน์ดิ้ง ดอรี่” ก็สามารถสร้างความรู้สึกประทับจิตประชิดใจคนดูผู้ชมไม่มากไม่น้อยไปกว่าเรื่องของเจ้าปลาการ์ตูนนีโม

“ไฟน์ดิ้ง ดอรี่” (Finding Dory) เพียงแค่ชื่อก็มีความชัดเจนในตนเอง และสื่อถึงความต่อเนื่องระหว่างเรื่องก่อนได้เหมาะสม ผู้ชมจะได้รับการชักนำให้ไปทำความรู้จักกับปลาที่มีชื่อว่า “ดอรี่” ปลาสีฟ้าซึ่งมีความสามารถในการจำค่อนข้างสั้น คือพูดอะไรนึกอะไรได้ แว้บเดียวก็จะลืม และนี่ก็เลยเป็นปัญหาใหญ่ในชีวิต เพราะหลังจากที่ช่วยมาร์ลินค้นหานีโมได้แล้ว เธอกลับแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย เมื่อต้องค้นหาที่มาและครอบครัวพ่อแม่ของตัวเอง...

คงไม่จำเป็นต้องยกยออะไรกันให้มากนะครับ สำหรับคุณภาพเนื้องานของพิกซาร์ สตูดิโอ เพราะออกมากี่เรื่องต่อกี่เรื่อง ก็คือไม่พลาด และเก็บกวาดเอาความรักความชอบจากคนดูผู้ชมได้เสมอๆ ตามสไตล์หนังฟีลแบบพิกซาร์ที่ดูแล้วรู้สึกดี สนุกและซาบซึ้ง มีอารมณ์ขัน ให้ความหวังกำลังใจ ตลอดจนคติสอนใจแก่ผู้คน นี่เป็นความแม่นยำของพิกซาร์อย่างหาที่เปรียบได้ยาก ผมใช้คำว่า “แม่ก็คือแม่” ในพาดหัวบทความ ก็เพื่อสื่อถึงว่า พิกซาร์นั้น ต่อให้กาลผ่านไปนานเพียงใด ก็ยังคงความเป็นเจ้าแห่งหนังประทับใจได้ไม่เลือน

เหมือนๆ ความทรงจำจากภาคหนึ่ง จะเตือนให้นึกระลึกถึงว่า ความรู้สึกนึกคิดของพ่อและลูกนั้น เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเหนี่ยวนำเรื่องราวให้ก้าวไปข้างหน้า ผมก็เห็นเช่นเดียวกับที่หลายคนเห็นครับว่า ไฟน์ดิ้ง นีโม นั้น เป็นงานที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกได้ลึกซึ้งและเปี่ยมสุขมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือเล่าย้อนกันนิดหนึ่งครับว่า เจ้าปลาการ์ตูนที่ชื่อนีโมในหนังนั้น เริ่มจะเข้าสู่วัยกำลังเติบโต เหมือนเด็กที่กำลังเป็นวัยรุ่น ด้วยฮอร์โมนส์หรือความคิดก็เริ่มจะอยากพิสูจน์ความกล้าหาญให้พ่อเห็นว่าตนเองนั้นโตพอที่จะรู้อะไรแล้ว แต่ฝ่ายพ่อก็เป็นห่วงว่าจะเกิดอันตราย แต่วัยรุ่นก็คือวัยรุ่น ยิ่งห้ามยิ่งห่วง เหมือนยิ่งยุ ยิ่งดุก็เหมือนยิ่งดัน สุดท้าย เมื่อนีโมอยากพิสูจน์ความกล้าหาญเอาตัวรอดได้ให้พ่อเห็น โดยที่ไม่รู้รอบคอบเกี่ยวกับเหลี่ยมคมของโลก ก็จึงเกิดความผิดพลาด นำไปสู่ความพลัดพราก ที่ก็ต้องมีการตามหากัน

ประเด็นความพลัดพรากนั้น ได้รับการสืบสานและส่งต่อมายังเรื่องราวของดอรี่อีกครั้งในหนังภาคนี้ คือเราก็พอจะเดาออกล่ะครับว่า สุดท้ายแล้ว แม่และพ่อกับดอรี่ก็คงจะได้เจอกัน แต่จะได้เจอกันด้วยเงื่อนไขสถานการณ์แบบไหนอย่างไร นั่นคือความสนุกที่เกิดขึ้นระหว่างทาง และไฟน์ดิ้ง ดอรี่ ก็มีสิ่งนั้นครบครันเช่นเดิม “การเดินทางเพื่อค้นหาทาง” กลับบ้านของดอรี่ แพรวพรายไปด้วยประสบการณ์ระหว่างทางที่มีทั้งพลังชีวิตและมิตรภาพ ผมชอบจังหวะการเปิดตัว “ตัวละครสัตว์” แต่ละตัวที่มีช่วงเว้นห่างกันและกันอย่างเหมาะสม และแต่ละตัวก็ดูมีเสน่ห์หรือความน่ารักในตัวเอง และมีตัวละครจากภาคก่อนๆ โผล่มาบ้างให้ย้อนความทรงจำ

ความคิดเห็นอันเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับการตามหาบ้านเกิดและครอบครัวของดอรี่ในหนังเรื่องนี้ก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าคำว่า “ดีงาม” และ “งดงาม” ครับ มันเป๊ะตามสูตรของหนังครอบครัวที่จะส่งเสริมความรักความผูกพันระหว่างของคนในบ้าน แล้วเสริมการเนื้อหาที่กว้างออกไปอันว่าด้วยการอยู่ร่วมกับคนอื่น หรือเรียกอีกแบบว่ามิตรภาพ ความเกื้อกูลกันและกัน

ไฟน์ดิ้ง ดอรี่ ก็คงจะว่ายน้ำตามรุ่นพี่อย่างไฟน์ดิ้ง นีโม ไปจนถึงฝั่งแห่งรางวัลออสการ์แบบไม่กังขาสงสัย แม้เมื่อว่ากันจริงๆ หนังแอนิเมชั่นตั้งแต่ปีใหม่จะมีออกมาหลายเรื่อง ทั้ง “ซูโทเปีย” (Zootopia) ที่แตกมิติให้กับตัวเองได้ในลักษณะของการเป็นแอนิเมชั่นที่มีวุฒิภาวะสูงมาก รวมไปถึง “เมาคลีลูกหมาป่า” (The Jungle Book) ที่ถูกอกถูกใจคนดูผู้ชมแบบเหนือความคาดหมาย

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร “ไฟน์ดิ้ง ดอรี่” ก็จะต้องเข้าไปในรอบลึกๆ แน่นอนครับ และกับรางวัลออสการ์นี่ เราก็พอรู้กันอยู่นะครับว่า มันพ่วงมากับการตลาดประมาณหนึ่ง ขณะที่ความนิยมและความโด่งดังก็เป็นส่วนสำคัญ และนั่นก็อาจเป็นเหตุผลแรกๆ ที่ผลักให้ดอรี่ว่ายตามรุ่นพี่ไปจนถึงฝั่งหนังแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์









ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น