xs
xsm
sm
md
lg

โถ..อเมริกา โถ..ท่านประธานาธิบดี : บิ๊กเกม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


เอเลี่ยนบุกโลกหรือน้ำท่วมดาวที่เราอาศัยอยู่ หรือจะระทึกสู้กับการที่ผู้นำสักคนโดนลอบทำร้ายหรือลักพาตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำของประเทศที่เชื่อกันในกลุ่มของตนเองว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอเมริกา ด้วยเหตุนี้ ช่วงสามสี่ปีหลัง เริ่มมีหนังที่กล่าวถึงเหตุการณ์ทำนองมาแล้วสองสามเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น White House Down หรือแม้กระทั่ง Olympus Has Fallen

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการรังแกท่านผู้นำแห่งชาติที่ยิ่งใหญ่ได้ มันให้รสชาติความสนุกสนานเบิกบานหฤทัยขนาดไหนกัน ถึงทำให้ใครบางคนลุกขึ้นมาผลิตมันเป็นหนัง หรือว่าภาพของท่านผู้นำที่หนีหัวซุกหัวซุน ซึ่งเป็นภาพที่แตกต่างอย่างยิ่งกับตอนที่บรรดาท่านๆ ยืนเด่นเป็นสง่าบนเวทีประกาศสุนทรพจน์หรือแถลงการณ์อะไรสักอย่างซึ่งฟังดูแกร่งกร้าวอหังการ์ หรือนั่นคือภาพขัดแย้งซึ่งเป็นที่มาของความสำราญใจเวลาได้รับชม แบบว่าสิ้นท่าความเป็นผู้นำทำนองนั้น ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกหรือรู้ลึกในเรื่องการรบ แต่ก็พอจะเข้าใจว่าการจับกุมผู้นำหรือแม่ทัพนายกองได้ มันเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งชัยชนะอย่างหนึ่งซึ่งเป็นมาแต่โบร่ำโบราณ ทัพไหนๆ ก็ตามที่ผู้นำถูกเด็ดหัวปลิดชีพ ทัพนั้นก็จะแตกพ่ายสลายหายวับไปทันที โลกที่เอาความอยู่รอดหรือชีวิตไปผูกติดกับผู้นำแบบนี้ มีมาตั้งแต่ก่อนยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย แต่ไหนแต่ไรมา

อย่างไรก็ดี ขณะที่หนังสองเรื่องที่ว่ามา เน้นหนักไปทางความวินาศสันตะโรผ่านทางฉากแอ็กชั่นการต่อสู้หูดับตับไหม้ การได้ดูหนังอย่าง “บิ๊กเกม” (Big Game) กลับให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป ถึงแม้จะมีฉากยิงปืนกันเปรี้ยงปร้างและเล่นระเบิดกันตูมตามโครมครามพอให้ได้ตื่นตาตื่นใจอยู่จำนวนหนึ่ง แต่โดยภาพรวม นี่คือหนังที่ดูแล้วตลกมากกว่าจะซีเรียสเครียดเคร่ง ทั้งด้วยตัวพล็อตเรื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ภาพของอเมริกาและบรรดาท่านๆ ที่ทำงานอยู่ในทำเนียบขาว ไม่เว้นกระทั่งท่านประธานาธิบดี มันเป็นหนังที่ล้ออำเหน็บแนมคนเหล่านี้และประเทศๆ นี้ ได้แบบมีอารมณ์ขันแสบสันต์อยู่ในที หนังเรื่องนี้เป็นฝีมือของผู้กำกับชาวฟินแลนด์ โดยการร่วมทุนกันระหว่างอังกฤษ ฟินแลนด์ และเยอรมนี ที่ผ่านมา ผมมักจะคุยกับคนรู้จักบ่อยครั้งว่า อเมริกานี่เขาก็ดีอยู่อย่าง คือเขาค่อนข้างจะใจกว้างสำหรับการนำเสนอหรือกระทั่งจิกกัดประเทศตัวเองได้ ไม่ต้องพูดถึงคนในประเทศอเมริกาเองที่ทำหนังวิพากษ์วิจารณ์ประเทศหรือผู้นำตัวเองได้แบบที่รัฐบาลของเขาเองก็ไม่ค่อยถือสาหาความอะไร แถมบางทีมีงบสนับสนุนให้อีกต่างหาก (ช่างเสรีแท้ ช่างใจดีแท้!) แม้แต่ “คนนอก” ก็ยังสามารถจะทำหนังที่พูดถึงอเมริกาหรือผู้นำของอเมริกาได้ ผมไม่รู้ว่าเงื่อนไขเขามีมากน้อยแค่ไหนที่จะทำได้อย่างนั้น แต่เชื่อแน่ว่าสำหรับประเทศอื่นๆ มันกลับเป็นเรื่องยากมากๆ อย่างบางประเทศ แค่ “คิดว่าจะทำ” ก็หัวคะมำไปก่อนแล้ว อย่ากระนั้นเลย จึงทำหนังกะเทย ตลก รัก สำเริงบันเทิงใจกันต่อไปดีกว่า

เข้ามาที่เรื่องของ “บิ๊กเกม” ผลงานชิ้นนี้ของผู้กำกับ “จาลมารี เฮเลนเดอร์” นำเสนอเรื่องราวของตัวละครสองสามกลุ่มที่มาบรรจบพบกันในเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง ส่วนแรกเกี่ยวข้องกับเด็กชายชาวป่าในประเทศฟินแลนด์นามว่า “ออสการิ” ซึ่งโดยแบบแผนวิถีชีวิตชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ เมื่ออายุย่างเข้าจะครบ 13 ปี หนึ่งคืนหนึ่งวันก่อนอายุจะเข้า 13 ปีเต็มนั้น เด็กน้อยจะต้องออกไปใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในป่าลึกเพื่อพิสูจน์ว่าเขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ขณะที่ความเป็นลูกผู้ชายเต็มตัวก็จะถูกยืนยันในคืนวันหนึ่งนี้เช่นเดียวกัน แต่ก็อย่างที่หนังเสนอให้เราเห็น “ออสการิ” นั้นดูเป็นเด็กที่ไม่ค่อยเข้าพวกเท่าไหร่ ยิ่งเมื่อเทียบกับพ่อของเขาในวัย 13 เหมือนกันแล้ว สมัยนั้น พ่อของเขาล่าหมีได้ ขณะที่ออสการิ อย่าว่าแต่หวังจะล่าหมีได้สักตัวเหมือนกับพ่อ แม้เพียงจะง้างธนูยิงยังปวกเปียกไม่มีแรง ซ้ำมิหนำ ธนูที่ยิงออกไปแต่ละดอก ก็ตกเปาะแถวๆ ลานหญ้าอย่างไร้พละกำลัง ความตลกของเรื่องมันจึงเริ่มตั้งแต่ตรงนี้ที่เด็กน้อยพยายามจะแสดงท่าทีให้ดูเก๋าเพื่อว่าจะได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่...เด็กน้อยที่มารับบทออสการิ คือ “ออนนิ ทอมมิลล่า” เพียงแค่เห็นหน้าตาเขา คุณก็จะอดขำออกมาไม่ได้แล้วล่ะ แม้จะพยายามปั้นสีหน้าให้ดูซีเรียสจริงจังเพียงใด แต่โดยลักษณะโหงวเฮ้งมันออกไปทางฮามากกว่า (และถ้าจะขออนุญาตแนะนำต่อสักเล็กน้อยเกี่ยวกับดารารุ่นจิ๋วคนนี้ คือบทบาทของเขาในหนังเรื่อง Rare Exports : A Christmas Tale ที่ได้รับคำกล่าวชมสูงมากในแง่ของการเป็นหนังที่ดูสนุก)

อีกส่วนหนึ่ง หนังกล่าวถึงการเดินทางของท่านประธานาธิบดีแห่งสหัฐอเมริกาที่ต้องมาตกระกำลำบาก เพราะพวก “ผู้ก่อการร้าย” ได้ลอบทำร้ายท่านในระหว่างการเดินทางโดยเครื่องบิน และบังเอิญว่า หลังจากเครื่องบินตก แคปซูลช่วยชีวิตของท่านประธานาธิบดีได้ไปตกลงที่ป่าลึกตรงที่เด็กน้อยออสการิของเรากำลังหน้ำดำคร่ำเครียดกับการพิสูจน์ความเป็นผู้ใหญ่ของตนเอง แล้วเหตุการณ์หลังจากนั้น ท่านประธานาธิบดีก็ต้องหลบหนีการไล่ล่าของพวกผู้ก่อการร้าย โดยมีเด็กชายออสการิเป็นเหมือนผู้ช่วย

เพราะความเป็นหนังตลก ผสมแอ็กชั่นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจะว่าไป ไม่น่าจะเรียกว่าแอ็กชั่นการต่อสู้ได้เสียด้วยซ้ำ เพราะมีการกระทำจากคนฝ่ายเดียวคือผู้ร้าย ส่วนทางฝ่ายประธานาธบดีต้องหนีเอาตัวรอดอย่างเดียว กระนั้นก็ดี ผมกลับรู้สึกชื่นชมว่า คนทำหนังเรื่องนี้เฉลียวฉลาดในการ “ตัดแปะ” เอาการค่อนแคะเหน็บแนมแซมไว้ตามจุดต่างๆ ได้อย่างแยบยล มันต่างจากหนังวิพากษ์อเมริกันหรือท่านผู้นำแห่งอเมริกาเรื่องอื่นๆ ที่มักจะมาพร้อมกับพล็อตที่เชื่อถือได้และเรื่องราวที่เข้มข้นขึงขัง แต่การวิพากษ์ของบิ๊กเกมมันเหมือนชิ้นส่วนของเครื่องบินที่ตกหักกระจัดกระจายและเราต้องค่อยๆ ไล่เก็บชิ้นชิ้นส่วนเหล่านั้น แล้วนำมาต่อกันเป็นจิ๊กซอว์เพื่อให้ได้ภาพทางความคิด

ด้วยเหตุนี้ ผมถึงไม่ได้มองว่าผลงานชิ้นนี้จะเป็นแค่เพียงเรื่องราวอันสุดระทึกของการสังหารผู้นำ หากแต่มันจะตอกย้ำวิธีคิดตลอดจนชวนตั้งคำถามต่อประเทศอันยิ่งใหญ่อย่างอเมริกา เปิดเรื่องมาแรกๆ ชื่อประเทศของอเมริกาก็เด่นหราอยู่บนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันอย่างมีนัยยะสำคัญ มันคือการแสดงแสนยานุภาพผ่านสัญลักษณ์ ทั้งถ้อยคำที่เป็นชื่อประเทศและขนาดของเครื่องบินลำใหญ่เบิ้มเต็มจอ (เทียบกับฮอของฝ่ายก่อการร้ายแล้วคนละเรื่อง) ยิ่งเมื่อหนังเดินทางไปถึงตอนที่ท่านประธานาธิบดีได้พบเจอกับเด็กน้อยออสการิ ก็ทำเอารอยยิ้มเราแตกปริอย่างมิอาจเก็บกลั้น เพราะคำพูดของท่านประธานาธิบดี (ซามูเอล แอล. แจ็กสัน) นั้นประกาศลั่นว่า “ยูไม่รู้จักไอหรือ ไอคือประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกานะ”

สถานการณ์นี้ทั้งชวนขำและชวนคิดไปด้วยในตัว ผมไม่ได้มีอคติอะไรต่ออเมริกาหรืออเมริกันชน หากแต่ถ้อยคำประกาศดังกล่าวที่หนังเอามาใช้ มันได้ปอกเปลือกวิธีคิดบางอย่างของอเมริกามาให้เราได้เห็น ความยิ่งใหญ่ของอเมริกาประมาณว่าทุกคนบนโลกต้องรู้จัก แม้แต่เด็กน้อยที่อยู่ตามไร่ปลายดอยก็ควรรู้ การมองอเมริกาเป็นเหมือนโลกหรือเจ้าโลก จริงๆ ไม่ใช่แค่อเมริกาที่ประกาศเอง บางที คนชาติอื่นๆ อย่างเราก็ทำทียอมรับอยู่ในตัว ชื่อหนังภาษาไทยหลายเรื่องก็เป็นไปในทำนองนั้น อย่างเช่น “ด่วนยึดโลก” (White House Down) หรือ 2012 วันสิ้นโลก, ยึดด่วน วันสิ้นโลก (Snowpiercer) ซึ่งโลกที่สิ้น ก็คือประเทศอเมริกา

สิ่งนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และด้านหนึ่งก็คือการหวังผลในด้านที่พอได้ยินชื่อเรื่องก็ฟังดูใหญ่ น่าตื่นเต้นและเรียกความสนใจจากคนดูหนังได้ (ก็นะ ใครจะไม่ตื่นเต้นล่ะ โลกโดนยึดหรือสิ้นโลกขนาดนั้น) แต่ลองคิดเล่นๆ ใช่หรือไม่ว่า มันก็ “อาจจะ” สะท้อนสำนึกแห่งการยอมรับในความเชื่อที่ว่า อเมริกานั้นคือศูนย์กลางอันยิ่งใหญ่ของโลก ยิ่งใหญ่จนเปรียบเป็นโลกไปแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับของไทยเรา อย่างหนังของคุณทรนง ศรีเชื้อ เรื่อง “2022 สึนามิ วันโลกสังหาร” ก็ใช้คำว่า “วันโลกสังหาร” แทนที่จะเป็น “วันสังหารโลก” จุดนี้ ลองคิดเล่นๆ ว่ามันอาจจะเป็นผลพวงมาจากสำนึกบางส่วนก็ได้ อย่างของไทยเรา อาจไม่ค่อยมีสำนึกว่าชาติของเรายิ่งใหญ่เทียมเท่ากับโลก เราเป็นเพียงประเทศหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกของโลกเท่านั้น ดังนั้น ต่อให้ทำหนังหายนะ โลกก็จึงยังอยู่ แต่ประเทศเราต่างหากที่โดนธรรมชาติเล่นงาน เพราะสำนึกของเราไม่เคยคิดว่าเราคือเจ้าแห่งโลก

กลับไปที่ตัวหนัง ผมคิดว่าหนังให้ความตลกขึ้นมาอีกมาก เมื่อให้ทั้งสองคนได้ใช้ชีวิตด้วยกัน แม้เพียงช่วงสั้นๆ แต่มันก็สะท้อนให้เห็นถึงโลกสองใบที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ขั้วที่หนึ่งคือเด็กน้อยที่กำลังแสวงหาความกล้าหาญให้แก่ชีวิต ส่วนอีกขั้วคือผู้นำที่เชื่อว่าตนเองนั้นยิ่งใหญ่ถึงกับใช้คำว่า “ที่ผ่านมา ฉันสามารถบัญชาการกองทัพทั้งกองทัพให้รุกรานที่ไหนก็ได้” นี่คือความจริงหรือมิใช่ ไม่ว่าในที่ไหนๆ อเมริกาก็พร้อมจะเอาสงครามลงไปหย่อนได้ทุกที่ อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์แบบนี้ กลางป่าลึกถึงเพียงนี้ ไม่ว่าคุณจะยิ่งใหญ่มาจากไหนเพียงใด ก็ไร้ค่า เพราะ... “แม้แต่โทรสั่งพิซซ่า ยังไม่มีปัญญาจะสั่ง”

ภาพของท่านประธานาธิบดีในเรื่องนี้ จึงแตกต่างจากที่เราเห็นโดยสิ้นเชิงในหนังเรื่องอื่นๆ มันชวนให้คิดถึงคำพูดชาร์ลี แชปปลิน ที่กล่าวไว้ทำนองว่า ถ้าคิดจะเล่นกับอำนาจ มันต้องเล่นด้วยอารมณ์ขัน เหมือนที่ชาร์ลีล้ออำท่านผู้นำอย่างฮิตเลอร์ในหนังของเขา งานชิ้นนี้จากผู้กำกับฟินแลนด์ ก็ให้ภาพผู้นำที่แสนจะปวกเปียกและอวดอ้างสรรพคุณตัวเอง เบื้องหน้าที่โลกเห็น คือผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถจะบัญชาการสงครามที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ แต่เบื้องหลัง นุ่งกางเกงขาสั้น เสื้อยืด และแอบกินขนมคุกกี้แบบที่ต้องสำทับลูกน้องคนสนิทว่าอย่าให้เมียรู้เป็นอันขาด แต่นั่นก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ฮาเท่ากับตอนที่ท่านผู้นำได้ใช้ชีวิตกับเด็กน้อยออสการิ ที่ท่านพยายามทำให้เด็กน้อยเห็นว่า บางที เราอาจจะไม่ต้องเก๋าจริงก็ได้ แค่ทำให้ “ดูเก๋า” ก็พอ ด้วยการยกวีรกรรมฉี่เล็ดกางเกงขณะขึ้นประกาศแถลงการณ์ในครั้งหนึ่ง แต่สุดท้ายก็โดนเด็กน้อยตอกหงายหลังตึง ว่าแค่เสแสร้งแกล้งทำให้ “ดูเก๋า” เท่านั้นไม่พอหรอก เพราะสุดท้ายแล้ว เราต้อง “เก๋าจริงๆ” ถึงจะน่ายอมรับจริงๆ (แน่นอนว่า เมื่อไปถึงบทสรุป เราจะพบว่า ทั้งสองตัวละครเกิดการผ่านพ้นแบบเดียวกัน คือ ไม่ใช่แค่ “ดูเก๋า” แต่พวกเขา “เก๋าจริงๆ”)

ขณะเดียวกัน อีกฟากหนึ่งซึ่งเป็นฝั่งผู้ร้าย บิ๊กเกมก็เล่นกับ “ฝันร้าย” หรือความปริวิตกเกี่ยวกับภัยก่อการร้ายของอเมริกาได้อย่างน่าขัน คือที่ผ่านมา การนิยามคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” ในสายตาของโลกตะวันตก มักจะเป็นกลุ่มคนสักกลุ่มหรือกองกำลังสักกองที่มาพร้อมกับอุดมการณ์อันหรูหรายิ่งใหญ่ ในนามของนู่นนี่นั่น อย่างที่รู้กัน แต่ผู้ก่อการร้ายในหนังเรื่องนี้ที่จงใจมาเล่นงานประธานาธิบดี กลับเป็นไอ้โรคจิตลูกมหาเศรษฐีที่ไหนก็ไม่รู้ซึ่งไม่มีอุดมการณ์ความฝันอะไรมากไปกว่าการได้จับกุมท่านผู้นำที่ยิ่งใหญ่แล้วถ่ายรูปไว้อัปอวดชาวโลกทางโซเชียลมีเดีย พูดไปจึงคล้ายตลกร้ายที่เหน็บโดนทั้งสองฝ่าย ผู้ร้ายก็บ้าได้ดี ส่วนประธานาธิบดีก็ดูงกๆ เงิ่นๆ เกินกว่าจะทำใจยอมรับได้ว่านี่คือผู้นำของประเทศที่ว่ากันว่าเป็นเจ้าโลกมาตลอด

ในความเป็นหนัง “บิ๊กเกม” มันแตกต่างไปจากหนังลักพาตัวหรือทำร้ายประธานาธิบดีเรื่องอื่นๆ เพราะนี่คือการล้อเลียนและอำเพื่อความขำฮา ดูแล้วได้ความตลกมากกว่าจะหวังถึงความลุ้นระทึกในฉากแอ็กชั่น กระนั้นก็ดี ในท่าทีที่ดูตลกโปกฮาเกี่ยวกับการไล่ล่าและเอาตัวรอด หนังยังมีอีกส่วนที่อาจจะพูดได้ว่าซีเรียสที่สุด นั่นคือฉากในห้องทำงานที่ไหนสักแห่งในอเมริกาที่ประกอบไปด้วยบรรดาคนใหญ่คนโตซึ่งมารวมตัวกันเพื่อหาทางช่วยเหลือท่านประธานาธิบดี ในนี้ต่างหากที่น่าตระหนกยิ่งกว่า

ภาษิตที่ว่า “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” น่าจะสอดรับกับสถานการณ์ในหนังได้ค่อนข้างเหมาะเจาะ ตั้งแต่ต้นๆ เรื่อง เราจะเห็นแล้วล่ะว่า ใครบางคนนั้นแอบกบฎทรยศต่อท่านผู้นำ และเบื้องลึกเบื้องหลังลงไปกว่านั้น มันยังมีสิ่งที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงยิ่งกว่าภัยก่อการร้ายอีกหลายเท่า สัจธรรมความจริงของผู้นำ ไม่ว่าในที่ไหนๆ ในโลกก็คล้ายไม่ค่อยแตกต่างกันนัก หนึ่งคือ ถ้าไม่ทำตัวเองให้ดูแย่เอง ก็มักจะเป็นว่ามีพรรคพวกคนใกล้ตัวนั่นแหละทำให้เละ หรืออย่างเรวร้ายที่สุดก็คือจ้องจะเล่นงานหัวหน้าเพื่อให้ตัวเองได้ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้แทน
“ภัยนอก” ที่ว่าแน่ๆ แต่ “ภัยใน” ก็ไว้วางใจไม่ได้เช่นกัน

“บิ๊กเกม” เป็นหนังที่ขายอารมณ์ขันครับ มันอาจจะไม่ใช่หนังขำแบบตลกยิงมุก แต่ตลกแน่ๆ เชื่อสิ!


ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก










กำลังโหลดความคิดเห็น