สิ่งหนึ่งที่กล้องถ่ายภาพโอลิมปัสยังคงเสน่ห์และความรู้สึกที่ดีทุกครั้งที่คุณกดชัตเตอร์และเห็นผลลัพท์ผ่านหน้าจอหลังกล้องคือ อารมณ์และโทนสีเฉพาะตัวที่ถือเป็นเอกลักษณ์แบบฟิล์มและโอลิมปัสไม่เคยทิ้งจุดเด่นเหล่านี้ให้หายไปเลย
มาวันนี้กับ Olympus PEN Lite E-PL7 ก็ทำให้ผม @dorapenguin ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโอลิมปัสด้วยการคลอดกล้องมิร์เรอร์เลสตามกระแสโลก เน้นความเป็น New Smart มี WiFi สำหรับส่งรูปให้สมาร์ทโฟน มีโหมดตกแต่งภาพพิเศษมาให้แบบเดียวกับแอปฯกล้องในสมาร์ทโฟน รวมถึงหน้าจอที่สามารปรับพับลงมาเพื่อถ่ายภาพเซลฟีได้ด้วย ในส่วนคุณภาพไฟล์ภาพจะเป็นอย่างไรติดตามรีวิวต่อไปนี้ได้เลยครับ
การออกแบบ
การออกแบบ Olympus PEN Lite E-PL7 จะเป็นตามเอกลักษณ์มิร์เรอร์เลสของโอลิมปัสตระกูล PEN ทุกรุ่น วัสดุส่วนใหญ่เป็นพลาสติกคุณภาพสูงผสมกับอะลูมิเนียมภายในเพื่อเพิ่มความแข็งแรง บริเวณกริปจับถือกล้องคล้ายยางหุ้มด้วยหนังเทียม เวลาจับถือกระชับมือมาก (ด้านหลังกล้องก็มีวัสดุแบบเดียวกันสำหรับพักนิ้วโป้งและทำให้การจับถือกระชับมากขึ้น) ส่วนบอดี้กล้องจะเป็นพลาสติกทำลวดลายคล้ายหนัง
ด้านขนาดตัวเครื่องจะอยู่ที่กว้าง 113 มิลลิเมตร หนา 39 มิลลิเมตร สูง 69 มิลลิมเมตรและน้ำหนักรวมแบตเตอรีอยู่ที่ 357 กรัม โดยรวมขนาดกำลังพอดีมือพกพาไปไหนใส่กระเป๋าสะพายข้างใบเล็กๆ ได้สบายตามแนวทางมิร์เรอร์เลส
มาถึงด้านหลังกล้องจะประกอบด้วยหน้าจอ TFT-LCD แบบ Tilting ปรับเปลี่ยนองศาพับหน้าจอได้ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 1,037,000 จุด รองรับการสัมผัสเฉพาะเลือกจุดโฟกัสและกดชัตเตอร์ถ่ายภาพผ่านหน้าจอในโหมดเซลฟี
ถัดจากหน้าจอมาด้านขวาจะเป็นปุ่มคำสั่งหลัก ปุ่มเรียก Menu ปุ่มบันทึกวิดีโอและบริเวณด้านบนจะเป็นปุ่ม Function (FN) ที่ปรับตั้งค่าได้อิสระตามต้องการและปุ่มซูมภาพเวลาชมพรีวิวภาพที่ถ่ายไว้แล้ว
และอย่างที่เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่าหน้าจอ E-PL7 สามารถปรับพับเปลี่ยนมุมมองได้ เพราะหน้าจอถูกติดตั้งบนขาพับเหล็กแยกจากบอดี้กล้องทำให้ผู้ใช้สามารถปรับองศาได้หลากหลายมากขึ้นรวมถึงการกดหน้าจอลงล่างสุดเพื่อเข้าสู่โหมดถ่ายภาพเซลฟีได้
มาดูด้านบนกันบ้างจะเป็นที่อยู่หลักของ Hot Shoe ที่สามารถนำช่องมองภาพ EVF หรือไฟแฟลชมาเชื่อมต่อได้พร้อมไมโครโฟนสเตอริโอรับเสียงซ้ายขวา ถัดไปเป็นวงแหวนปรับโหมดถ่ายภาพที่มีให้เลือกทั้ง P, A, S, M(Manual), ถ่ายวิดีโอ, Photo collage, Scene Mode, ART Filter และ Intelligent Auto
ใกล้วงแหวนปรับโหมดถ่ายภาพไปทางขวาเป็นปุ่มชัตเตอร์พร้อมวงแหวนปรับตั้งค่าตามโหมดที่เลือกใช้งานอยู่ เช่น อยู่ในโหมด A วงแหวนนี้จะใช้ปรับรูรับแสง เป็นต้น และสุดท้ายจะเป็นปุ่มเปิดปิดตัวกล้อง
ส่วนด้านล่างของกล้องจะเป็นที่อยู่ของช่องใส่แบตเตอรี BLS-50 แบบ lithium-ion และช่องใส่การ์ดความจำ SD/SDHC/SDXC Card ส่วนตรงกลางเป็นช่องสำหรับเชื่อมต่อกับขาตั้งกล้อง
สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อข้อมูลจะอยู่ด้านขวาของตัวเครื่องและโอลิมปัสใส่มาให้เพียง 2 ช่องเท่านั้นคือ พอร์ต USB2.0/AV และ MicroHDMI
มาดูคิทเลนส์ที่แถมมากับ E-PL7 กันบ้างจะเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด Olympus M.ZUIKO Digital ED 14-42mm f3.5-5.6 EZ ที่โดดเด่นเรื่องความบางและน้ำหนักที่เบา โดยเมื่อสวมใส่กับ E-PL7 ซึ่งเป็นกล้องมิร์เรอร์เลส Micro Four Thirds จะได้ระยะเลนส์เทียบกับฟูลเฟรม (ต้องคูณ 2) อยู่ที่ 28-84 มิลลิเมตร
ในส่วนสเปกของตัวเลนส์ด้านการออกแบบชิ้นเลนส์จะใช้ชิ้นเลนส์ 8 ชิ้น 7 กลุ่ม (3 aspherical 1 ED) พร้อมเคลือบ Super High Refractive สามารถถ่ายใกล้สุดในระยะไวด์ที่ 20 เซนติเมตร ส่วนในระยะเทเลโฟโต้ได้ที่ 25 เซนติเมตร อีกทั้งตัวเลนส์ยังมาพร้อมเทคโนโลยีออโต้โฟกัสแบบเงียบเพื่องานวิดีโอในชื่อ MSC รวมถึงระบบการซูมเลนส์รุ่นนี้จะเป็น Electronic zoom
ส่วนผู้อ่านที่กำลังสงสัยว่าไฟแฟลชหายไปไหน โอลิมปัสไม่ได้ใส่ Built-in มาให้แต่จะมีแถมมาในชุดเป็นไฟแฟลชที่ต้องใช้เชื่อมต่อกับ Hot Shoe และขั้วไฟด้านหลัง โดยการใช้งานเมื่อต้องการใช้ไฟแฟลชก็เพียงดันหัวไฟแฟลชขึ้นและกดลงเมื่อไม่ใช้งานเท่านั้น
สเปก
มาเจาะสเปก E-PL7 กันบ้างเริ่มจากเซ็นเซอร์รับภาพ CMOS Four Thirds ขนาด 17.3x13 มิลลิเมตร ความละเอียดภาพสูงสุด 16 ล้านพิกเซล (4,608x3,456 พิกเซล) อัตราส่วนภาพที่รองรับมีให้เลือกตั้งแต่ 4:3 (Default), 3:2, 1:1 และ 16:9 เมาท์เลนส์ถ่ายภาพรองรับ Micro Four Thirds จากทุกค่าย
ด้านหน่วยประมวลผลภาพใช้ TruePic VII ค่าความไวแสง (ISO) สามารถเลือกใช้ได้ตั้งแต่ 200-25,600 รองรับไฟล์ภาพ RAW (ORF) ขนาดไฟล์ประมาณ 14-15MB, RAW+JPEG, JPEG ขนาดไฟล์ประมาณ 6-7.4MB และรองรับการถ่ายภาพ 3D MPO
ส่วนระบบกันภาพสั่นไหว Sensor-shift จากตัวกล้อง โอลิมปัสยกชุดมาจาก OM-D EM10 คือ 3 แกน
สำหรับความสามารถถ่ายภาพต่อเนื่อง สามารถทำได้ที่ความเร็วสูงสุด 8 เฟรมต่อวินาที จุดโฟกัส 81 จุด รองรับออโต้โฟกัส Contrast Detect จากเซ็นเซอร์พร้อมไฟช่วยโฟกัส สามารถเลือกจุดโฟกัสด้วยการจิ้มที่หน้าจอ Live View รวมถึงมีระบบ Face Detection และ Touch Shutter จิ้มจอถ่ายภาพได้ทันที
ในส่วนสเปกการถ่ายวิดีโอรองรับความละเอียดภาพสูงสุด 1,920x1,080 พิกเซล 30 เฟรมต่อวินาที รูปแบบการเข้ารหัสไฟล์สามารถเลือกได้ทั้ง H.264 และ Motion JPEG
มาถึงสเปก WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g/n สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายๆ ด้วย QR-Code ผ่านแอปฯ Olympus Image Share
ฟีเจอร์เด่น
เริ่มเรื่องแรกกับเมนูและการปรับแต่งค่ากล้องต่างๆ ในหลายส่วนต้องทำผ่านเมนู เช่น การปรับความละเอียดภาพ การเลือก Picture Mode โดยการปรับแต่งทางโอลิมปัสได้เปิดอิสระให้ผู้ใช้สามารถปรับได้อิสระ เช่น Picture Mode ที่สามารถเลือกปรับโทนภาพ สี ความคมชัดและอื่นๆ ได้ตามต้องการหรือแม้แต่ระบบกันภาพสั่นไหวก็สามารถเลือกปรับแต่งได้ ISO ที่สามารถตั้ง Step การปรับได้ และมีโหมดพิเศษที่ถูกซ่อนไว้ในเมนูให้เลือกใช้ เช่น Multiple Exposure, Time Lapse, HDR และ Bracketing เป็นต้น
ส่วนหน้าจอระหว่างใช้งานก็มีการจัดวาง Layout แสดงค่ากล้องไว้ชัดเจนเหมือนกล้องมิร์เรอร์เลสทั่วไป แต่จะมีเพิ่มปุ่มสำหรับเปิดปิดระบบสัมผัสหน้าจอเพื่อโฟกัสและกดชัตเตอร์ลงไป รวมถึงสัญญลักษณ์ WiFi เพื่อบอกให้รู้ว่าตอนนี้ตัวกล้องเชื่อมต่อระบบ Wireless LAN อยู่หรือไม่
และสำหรับคนที่ต้องการจัดการไฟล์ RAW หลังกล้องทางโอลิมปัสก็ได้ติดตั้งตัวจัดการไว้ โดยผู้ใช้สามารถปรับเงา แก้ตาแดง ครอปภาพ ปรับสัดส่วนภาพและย่อภาพสำหรับส่งทางอีเมล์ได้ผ่านหลังกล้อง
นอกจากนั้นเพื่อความเป็น Smart Camera อย่างเต็มตัว ทางโอลิมปัสก็ได้ออกแอปฯ OLYMPUS Image Share ที่นอกจากจะทำการแชร์ภาพจากกล้องเข้าสมาร์ทโฟนได้เหมือนหลายค่ายแล้ว ตัวแอปฯยังสามารถตกแต่งภาพปรับใส่ฟิลเตอร์ เอ็ฟเฟ็กต์ ใส่ Geotag และที่สำคัญคือ แอปฯสามารถใช้แทนรีโมทอินฟาเรดกดชัตเตอร์บีกล้องได้ด้วย
สุดท้ายก่อนเข้าสู่ส่วนทดสอบภาคสนาม มาดูโหมดเอ็ฟเฟ็กต์และฟิลเตอร์ภาพพิเศษที่มีให้เลือกใช้มากมาย ตั้งแต่ Scene Mode ที่มีให้เลือกรูปแบบการถ่ายภาพสำเร็จรูปถึง 25 รูปแบบตั้งแต่ ถ่ายภาพบุคคล หิมะ พระอาทิตย์ตกดิน ธรรมชาติแบบมาโคร และโหมดเด่นอย่าง Hand-held Starlight ที่ทำให้ผู้ใช้กล้องมือใหม่สามารถถ่ายภาพดาวยามค่ำคืนได้โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง และถ้าอยากแนวไม่เหมือนใครอีก ทางโอลิมปัสก็ให้โหมด ART ที่มีให้เลือกทั้ง Pop Art เน้นสีสด และอื่นๆ ให้เลือกใช้ตามต้องการมากมาย
ทดสอบประสิทธิภาพ
เงื่อนไขการทดสอบ Olympus PEN Lite E-PL7 ในครั้งนี้จะเน้นทดสอบไฟล์ดิบ ไม่ผ่านการตกแต่งด้วยซอฟต์แวร์ใดๆ เพื่อให้เห็นเนื้อไฟล์แท้ๆ ที่ออกมาจากกล้อง โดยไฟล์ภาพที่ทุกท่านจะได้เห็นต่อไปนี้ใช้วิธีส่ง WiFi จากกล้องเข้าแท็บเล็ตและโพสต์ลง flickr ส่วนตัวของผมโดยตรง
สำหรับผู้อ่านท่านใดอยากชมโปรไฟล์ผลงานถ่ายภาพที่ผ่านมาของผมสามารถเข้ารับชมได้ที่ http://potsawats.prosite.com
มาเริ่มจากเรื่องแรกกับการชำแหละ ISO ในแต่ละช่วงความไวแสงกันก่อน จะเห็นว่าถ้ามองภาพรวมตั้งแต่ ISO 100-25,600 คุณภาพไฟล์ค่อนข้างเนียนเหมือนกันหมด แม้จะดันความไวแสงสูงถึง 25,600 ก็ตาม ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นของ E-PL7 กับชิปประมวลผล TruePic VII ที่ช่วยขจัดสัญญาณรบกวนได้อย่างดี
แต่เมื่อลองซูมภาพ 100% เพื่อดูรายละเอียดจะพบว่าความจริงสัญญาณรบกวนจะเริ่มต้นตั้งแต่ ISO 3,200 และเริ่มเห็นชัดเจนหลังพ้น ISO 6,400 ขึ้นไป แต่ถึงอย่างไรก็ถือว่าชิปประมวลผลภาพและระบบการจัดการ Noise ใน E-PL7 สามารถทำงานได้ดีและโดดเด่นกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่างมาก แน่นอนการที่ตัวกล้องถูกจัดเป็นกล้องมิร์เรอร์เลสใช้งานง่าย ติดตัวถ่ายภาพได้ทุกที่ทุกเวลา การปรับซอฟต์แวร์และชิปประมวลผลภาพใหม่นี้ผมถือว่าสอบผ่านฉลุย
(ชมภาพขนาดใหญ่กรุณากดภาพที่ต้องการ)
(ชมภาพขนาดใหญ่กรุณากดภาพที่ต้องการ)
สำหรับการทดสอบถ่ายภาพร่วมกับคิทเลนส์ ด้วยขนาดตัวกล้องที่พกพาง่ายผมนำ E-PL7 ติดตัวตลอดเวลาที่ทดสอบทั้ง 5 วัน และก็เป็นหนึ่งในกล้องไม่กี่ตัวที่ผมรู้สึกชื่นชอบกับสไตล์ภาพที่ได้จากหลังกล้องและไฟล์ JPEG ดิบๆ อย่างมาก โทนภาพดิบๆ สีสันออกแนวเย็นๆ เข้ากับบรรยากาศฝนตก ส่วนเมื่ออยู่ในช่วงแดดจ้าอากาศดี กล้องก็รีดโทนอุ่นๆ อมเหลืองๆ ส้มๆ แบบ OM-D ผสม Stylus 1 เล็กน้อย ให้ได้อารมณ์ฟิล์มอยู่เหมือนกัน คนที่ชอบถ่ายแนว Street Photo แนวชีวิตข้างถนน เน้นการจับจังหวะเป็นหลัก E-PL7 ให้ผลลัพท์ที่ดีมาก
อีกเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือออโต้โฟกัสที่ทำงานผ่านหน้าจอได้รวดเร็วมาก เร็วกว่า Hybrid AF Contrast+Phase ของบางค่ายเสียอีก
มาดูเรื่องชัตเตอร์ที่เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นเช่นกัน เพราะชัตเตอร์ช้าสามารถตั้งได้นานสุดถึง 60 วินาที (เร็วสุด 1/4,000 วินาที) ส่วนถ้าต้องการช้ากว่านั้นก็สามารถต่อ WiFi กับแอปฯบนสมาร์ทโฟนและกดใช้ Bulb ได้เลย
ส่วนเรื่องระบบกันสั่นที่เคยสร้างความตื่นตาตื่นใจมาแล้วตอนเปิดตัว OM-D มาใน E-PL7 ที่ลดแกนทำงานเหลือกันสั่นเพียง 3 แกน ประสิทธิภาพต้องลดลงและดูเหมือนไม่ต่างกับกันสั่น Optical ที่อยู่ในเลนส์ของค่ายอื่นนัก แถมไม่รู้เป็นข้อผิดพลาดในตัวกล้อง Sample หรืออย่างไร เพราะบางสถานการณ์การกันสั่นก็ทำได้ไม่ดีทั้งๆ ที่ชัตเตอร์สปีดก็สูงแต่ภาพกลับสั่นไหวต้องกดเข้าไปปิดกันสั่นในเมนูให้วุ่นวาย
และเรื่องการเลือกช่วง Auto ISO ให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและความเร็วชัตเตอร์ดูเหมือนกล้องจะยังวิเคราะห์สถานการณ์ได้ไม่ดี มีหลายครั้งที่ระบบเลือก ISO ผิดจนภาพสั่นไหวและก็หลายครั้งที่ระบบเลือก ISO ให้สูงเกินความจำเป็น (โดยเฉพาะช่วงถ่ายภาพย้อนแสง) สุดท้ายก็ต้องแก้ไขเองด้วยการปรับ ISO แบบ Manual ผ่านปุ่ม Function ถึงจะดี
ด้านคิทเลนส์ถือว่าโอลิมปัสทำการบ้านมาดี เลนส์น้ำหนักเบา วัสดุเป็นพลาสติกแต่สัมผัสที่ได้ยอดเยี่ยมโดยเฉพาะงานประกอบเก็บรายละเอียดได้ดีและแน่นหนา วงแหวนซูมใช้ง่ายแต่อาจไม่รวดเร็วทันใจบางเวลาเพราะเป็นซูมด้วยไฟฟ้า
ส่วนเรื่องความผิดเพี้ยนของเลนส์ด้วยระยะไวด์ 14 มิลลิเมตรแต่ถ่ายจริงอยู่ที่ 28 มิลลิเมตรเพราะต้องคูณ 2 ตามสูตรของเซ็นเซอร์แต่ก็ให้ผลลัพท์ที่ใช้ได้ เลนส์อาจมีอาการภาพเบี้ยวบ้างเล็กน้อยที่ระยะไวด์พร้อมขอบภาพไม่คมชัดบ้างที่ค่ารูรับแสงกว้างสุด แต่โดยภาพรวมก็ถือเป็นเลนส์ที่เหมาะเจาะกับรูปลักษณ์กล้องและใช้งานได้ดีสำหรับงานถ่ายภาพทั่วไปหรือใช้ท่องเที่ยว
ด้านการถ่ายวิดีโอ คุณภาพวิดีโอใช้ได้ กันสั่นแบบ 3 แกนก็ทำหน้าที่ได้ดีกว่าใช้ตอนถ่ายภาพนิ่งบ้างเล็กน้อย การรับเสียงด้วยไมโครโฟนสเตอริโอใช้ได้ไม่มีสิ่งใดพิเศษไปกว่าไมโครโฟนจากมิร์เรอร์เลสคู่แข่งในระดับเดียวกัน การโฟกัสถือว่าทำได้ดี อาจช้ากว่าโหมดถ่ายภาพนิ่งแต่ก็ยังถือว่าออโต้โฟกัสทำงานได้เร็วอยู่
สุดท้ายกับเรื่องของแบตเตอรี 1 ก้อนสามารถถ่ายได้ประมาณ 300-400 ภาพ ถือว่าค่อนข้างน้อยไปสำหรับการใช้ E-PL7 ในทริปท่องเที่ยว อาจต้องมองหาซื้อแบตเตอรีก้อนที่สองมาสำรองไว้จะดีที่สุด
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ถ้าจะกล่าวว่า Olympus PEN Lite E-PL7 เป็นรุ่นที่อยู่กึ่งกลาง OM-D EM10 กับ EP5 ก็ไม่ผิดนักเพราะหลายฟีเจอร์มีการยกมาจาก OM-D ที่บางฟีเจอร์จะสดใหม่กว่าตามเวลาการวางขายของตัวกล้อง ในขณะที่รูปทรง ขนาดและน้ำหนักค่อนข้างเล็กกระทัดรัด แน่นอนว่าโอลิมปัสต้องการให้ E-PL7 ตอบสนองผู้ใช้ที่เป็นมือใหม่และผู้หญิงที่ชอบเซลฟีถึงขนาดทำวิดีโอโฆษณาเปิดตัวเป็นผู้หญิงมาถือกล้องถ่ายเซลฟี ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดเพราะจุดเด่นของกล้องที่แท้จริงแล้วอยู่ที่หน้าจอพับลงข้างล่างได้ตามที่เห็นในรีวิว
แต่ทั้งนี้ถ้ามองให้ลึกลงไป E-PL7 กลับมีสิ่งดีๆ อัดแน่นอยู่ภายในให้ผู้ใช้ได้ค้นหามากกว่าที่โฆษณาสื่อสารออกมา โดยเฉพาะคุณภาพไฟล์และความรู้สึก อารมณ์ภาพแบบ OM-D ที่มีกลื่นหายให้ได้สัมผัสอยู่บ้างใน E-PL7 แม้ฟังก์ชันจะสู้ไม่ได้ แต่คุณภาพไฟล์ของ E-PL7 ไม่เป็นรองแน่นอน โดยเฉพาะ ISO ที่ทำได้ดีทุกช่วง เมื่อรวมกับการออกแบบและหลายองค์ประกอบเข้าด้วยกัน Olympus PEN Lite E-PL7 เป็นกล้องที่เหมาะสมเหลือเกินสำหรับงานสตรีทโฟโต ท่องเที่ยวหรือใช้งานส่วนตัว รวมถึงสาวกพรีเซ็ทฟิล์ม VSCO ทั้งแอปฯบนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตไปถึง Plug-ins Lightroom หรือ Photoshop เมื่อลองเปิดใช้งานร่วมกับไฟล์ภาพจาก E-PL7 แล้ว ต้องขอบอกเป็นเสียงเดียวเลยว่า “เข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนได้ย้อนไปถ่ายภาพด้วยฟิล์มสไลด์อย่างใดอย่างนั้น”
ถ้าจะให้จัดหมวดหมู่ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นให้กับ Olympus PEN Lite E-PL7 ผมขอจัดให้ไปฟาดฟันอยู่ในกลุ่มกล้องตระกูล X-Series (อยู่ในช่วง X-M1) จากฟูจิฟิล์ม และถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกน่าสนใจถ้าใจคุณรักแนวทางภาพที่ดิบๆ ติดฟิล์มลุค
สำหรับราคายังเปิดเผยอย่างเป็นทางการแต่คาดว่าจะอยู่ในช่วง 19,000-25,000 บาท
Company Related Link :
Olympus
CyberBiz Social