xs
xsm
sm
md
lg

วันซวยๆ ของเอเลี่ยนผู้ตามหาพระเจ้า : PK หนังอินเดียที่ต้องดู!

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


หนังหลายเรื่อง เหมือนใครหลายคน ผ่านพ้นแล้วผ่านเลย ขณะที่หนังบางเรื่อง แม้จะผ่านไปกี่ปี ความดีความสนุกของมันก็จะยังคงอยู่ในความทรงจำของเรามิรู้เลือน เช่นเดียวกับหนังอินเดียเรื่องนี้..“พีเค” ที่ทำรายได้ไปทั่วโลกมากกว่าสองพันสองร้อยล้านบาท

อันที่จริง หนังเรื่องนี้เข้าฉายในบ้านเราไปแบบจำกัดโรงเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมก่อนสิ้นปีที่ผ่านมา และหนังได้รับการกระแสตอบรับที่ดีมากจากคนดูผู้ชมซึ่งได้ดู ร้อยเปอร์เซ็นต์ของความคิดเห็น ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่คือหนังที่ทั้งดูสนุกและให้มุมมองความคิดที่ยอดเยี่ยมแบบไม่ยัดเยียด แต่ชวนเราตั้งคำถามต่อความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในโลกของเรา

...หลังจาก “ดูม ภาค 3” (Dhoom 3) อาเมียร์ ข่าน ซูเปอร์สตาร์ชื่อดังหน้าตาดีของบอลลีวูด กลับมาอีกครั้งในบทบาทของมนุษย์ต่างดาวที่เดินทางมายังโลกมนุษย์ด้วยจุดประสงค์บางประการ โดยที่เขาจะมีรีโมทไว้กดเพื่อกดติดต่อกับยานอวกาศหรือดวงดาวที่จากมา อย่างไรก็ดี รีโมทตัวนั้นกลับถูกขโมยไป ซึ่งเมื่อเขาไปถามมนุษย์คนไหน ทุกคนต่างก็บอกว่าให้ไปถามกับพระเจ้า และนั่นก็ทำให้ภารกิจตามหาพระเจ้าของเขาดำเนินไป

ด้วยพล็อตเริ่มต้นที่ว่าด้วยเรื่องของเอเลี่ยนผู้ถูกขโมยของสำคัญในการใช้ติดต่อกับยานแม่ตั้งแต่วันแรกที่มาถึงโลก ก็เป็นอะไรที่ฟังดูแปลกและตลกแล้วล่ะครับ ซึ่งหนังก็เล่นกับสถานการณ์อันยุ่งยากจนเข้าขั้นยุ่งเหยิงของตัวละครตัวนี้ไปได้จนตลอดเรื่องที่แม้จะกินความยาวราวสองชั่วโมงครึ่ง แต่ความเบื่อหน่ายหรือแม้แต่จะเอาใจออกห่างจากหนังเพียงนาทีสองนาทียังไม่มีเลย

เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้หนังดูสนุกได้รสชาติ ก็เพราะความฉลาดในการเล่าเรื่องของคนเขียนบท ที่ช่างเป็นนักเล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตามและทรงพลัง แม้เรื่องราวจะขยายไปกว้างไกล แต่ยังคงรักษาตัวแก่นแกนของหนังไว้ให้อยู่ในเนื้อหาประเด็นหลักได้ มันสนุกเหมือนกับเรานั่งฟังนอนฟังนักเล่านิทานชั้นเซียนสักคน บอกเล่าอะไรไปเรื่อยๆ และเราก็รื่นรมย์ที่จะฟังในสิ่งที่เขาเล่าได้อย่างไม่เบื่อ เสน่ห์อันยิ่งยวดก็คือการแทรกใส่สถานการณ์ที่ชวนตลกขบขันเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ตัวละครซึ่งค่อยๆ แนะนำตัวออกมาในช่วงเวลาต่างๆ ก็ช่วยต่อเติมเพิ่มมิติให้แก่เรื่องราว โดยที่ตัวละครสำคัญมากๆ ตัวหนึ่งซึ่งหนังใส่เข้ามา คือผู้สื่อข่าวสาวสวย ที่ช่วยผลักดันให้เรื่องราวจากที่ตลกๆ กลายเป็นมีมุมอ่อนไหวและอ่อนหวานโรแมนติก ทำให้วันเวลาบนโลกของเอเลี่ยนไม่ “เลี่ยน” จนเกินไปนัก

สนุก และตลกขบขัน ด้วยอารมณ์ขันอันเปี่ยมด้วยชั้นเชิง อีกทั้งฉลาดในการล้อเลียนเสียดสีและวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ความเป็นไปในสังคมอินเดียหรือกระทั่งสังคมโลกทุกแห่งที่มีความเชื่อด้านศาสนาดำรงอยู่ เราๆ ท่านๆ ก็คงพอรู้กันนะครับว่า ประเทศอินเดียนั้นเปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาลด้านความเชื่อทางศาสนา หนังหยิบจับเอาประเด็นนี้ขึ้นมา พลิกเหลี่ยมหามุมและชวนให้คิดโดยไม่ระคายเคืองต่อศรัทธาของศาสนิก ประเด็นความเชื่อนี่คือเรื่องอ่อนไหวนะครับ แต่ผู้กำกับและคนเขียนบทนั้นฉลาดมากที่จะวิพากษ์อย่างเอาตัวรอดได้ และผลลัพธ์สุดท้าย ยังชี้ชวนให้เราหวนกลับมาตั้งคำถามต่อสิ่งที่เรากระทำกันมาโดยตลอดได้อีกด้วย

จากเรื่องเอเลี่ยนทำรีโมทหาย กลายเป็นเรื่องใหญ่โตและสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ เพราะเหตุว่าศรัทธาศาสนานั้น จะว่าไปก็คืออาหารหล่อเลี้ยงมนุษย์อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องภายในหรือจิตวิญญาณ และเพราะเหตุนี้นั้น โลกจึงมีการแสวงหาที่พึ่งทางใจประเภทนี้กันเสมอมา ขณะที่ก็มี “ศาสดา” หน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน จริงบ้าง เก๊บ้าง ก็สุดแท้แต่ละท่าน บางท่านบางองค์ก็อาศัยสถานการณ์ที่คนอ่อนแอทางด้านจิตวิญญาณเช่นนี้ ใช้เป็นวิธีทำมาหากินร่ำรวยกันไปก็มาก เหมือนในหนังเอง ก็มีตั้งแต่พวกชาวบ้านร้านถิ่นที่หากินกับความเชื่อแบบหาเช้ากินค่ำ ไปจนถึงพวกที่ตั้งตนเป็นศาสดา แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ถึงขั้นอ้างว่าสามารถโทรศัพท์ติดต่อกับพระเจ้าได้ก็ยังมี

ในบรรยากาศและท่าทีไม่ซีเรียส ไม่เครียดแต่ขำ หนังใช้ตัวละครอย่าง “พีเค” ซึ่งเป็นชื่อเรียกเอเลี่ยนหนุ่มผู้ซื่อใส ในการนำพาเราท่องไปในโลกของความเชื่อที่หลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ ต้องยอมรับครับว่าหนังนั้นสามารถสรรหาค้นคว้าข้อมูลมาอย่างผู้ที่รู้แจ้ง ทำให้เราได้เห็นวิถีแห่งความเชื่อของผู้คนในมิติและแบบแผนที่หลากหลายแตกต่างกันไป ผมเชื่อของผมเองว่า หลังจากเห็นอะไรต่อมิอะไรในหนังแล้ว คนดูอาจจะรู้สึกเกิดคำถามขึ้นมาในใจก็ได้ว่า สุดท้ายแล้ว สิ่งใดไหนเล่าที่เราจะยืดเหนี่ยวเชื่อมั่นได้จริงๆ?

“ราชกุมาร ฮีรานี” ซึ่งเป็นทั้งผู้กำกับและร่วมเขียนบท คือคนทำหนังที่มีผลงานมาแล้ว 3-4 เรื่อง และแต่ละเรื่องก็ล้วนแต่ได้รับความนิยมชมชื่น เสน่ห์ในงานของเขาแทบทุกเรื่องคืออารมณ์ขันในเชิงตลกร้ายและความคมคายทั้งของเรื่องราวและบทพูดที่จุดประกายกระตุ้นให้คิด เข้าถึงกลุ่มคนดูวงกว้างได้ไม่จำกัด มันคืองานที่ทั้งเปิดโลกทัศน์และให้ความบันเทิงไปด้วยในขณะเดียวกัน งานด้านโปรดักชั่นหรือเทคนิคก็ดูมีความร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการถ่ายภาพ อย่างที่เราจะเห็นเป็นตัวอย่างในหนังเรื่องพีเคนี้ ที่พูดได้ว่าสามารถจัดวางองค์ประกอบภาพให้ออกมาสื่อความหมายและมีความสวยงามตรึงสายตา

ผมเคยเขียนไว้ครั้งสองครั้งว่า ปีสองปีที่ผ่านมา มีหนังอินเดียดีๆ เข้ามาฉายในบ้านเราหลายเรื่องเลยครับ แม้ว่าจะแบบจำกัดโรง อย่างเช่น เดอะ ลันช์บ็อกซ์ (The Lunchbox) หรือ ไฟน์ดิ้ง แฟนนี่ (Finding Fanny) ไปจนถึง บาร์ฟี่ (Barfi!) ที่เป็นหนังซึ่งควรค่าแก่การรับชมและเก็บสะสมทั้งนั้น

สำหรับคนไทยเรา ผมเชื่อว่า บรรยากาศภาพรวมของ “พีเค” น่าจะถูกกับรสนิยมเลยล่ะครับ เพราะถ้าหากไล่เรียงถึงหนังไทยแบบที่ทำเงินได้เยอะๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีความตลก สนุก และแง่มุมให้รู้สึกดี (ฟีลกู๊ด) ซึ่งพีเคนั้นมีครบในองค์ประกอบที่ว่ามา บวกรวมกับเรื่องเนื้อหาสาระ มันยิ่งกว่าการถูกโชคสองสามชั้น ได้รางวัลเบิ้ลเลยทีเดียว

วันซวยๆ ของเอเลี่ยนผู้หนึ่ง กลับเป็นวันซึ่งทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ กวาดสายตามองลึกเข้าไปในวิถีที่เราเป็นอยู่ หนังหนึ่งเรื่องทำได้ถึงเพียงนี้ ถ้าไม่เรียกว่าดีเยี่ยม ก็สรรหาคำอื่นที่เหมาะสมไม่ได้แล้ว

ป.ล. PK กำลังมีโปรแกรมกลับเข้าโรงฉายในประเทศไทยเร็วๆ นี้



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก










กำลังโหลดความคิดเห็น