xs
xsm
sm
md
lg

“สุนัขเลี้ยงแกะ” ที่ชื่อ อเมริกัน สไนเปอร์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ช่วงหลังๆ สังเกตเห็นว่า คลินต์ อีสต์วูด หรือปู่คลินต์ของใครต่อใคร มักจะหยิบเอาเรื่องราวของบุคคลที่เคยมีตัวตนอยู่จริงมาถ่ายทอด ทั้งเรื่องของเนลสัน แมนเดลลา ในเรื่อง Invictus ที่เกี่ยวพาดกับทีมรักบี้ของชาติ, เรื่องของเอฟบีไออย่าง J.Edgar ไล่มาจนถึง Jersey Boy ที่เล่าเรื่องราวของวง The Four Seasons และอเมริกัน สไนเปอร์ ก็ยังคงคอนเซปต์เช่นนั้นไว้

อย่างที่แฟนหนังคงรู้กันไปแล้วครับว่า บนเวทีออสการ์ปีนี้ มีอเมริกัน สไนเปอร์ เข้าไปยืนในตำแหน่งของม้าแข่งที่รอการตัดสินในสามสาขาใหญ่ๆ ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม รวมไปจนถึงนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ที่ได้แบรดลี่ย์ คูเปอร์ ผู้ที่พูดได้ว่าแทบจะเป็นขาประจำของเวทีออสการ์ไปแล้วเพราะเข้าชิงต่อเนื่องมา 2-3 ปี มารับหน้าที่แสดงนำ ในบทบาทของสไนเปอร์ผู้เป็นตำนานและได้รับการขนานนามด้วยคำชมเชยอย่างมือสไนเปอร์มือพระกาฬแห่งประวัติศาสตร์ของอเมริกา

ตลอดชีวิตการทำงานร่วมสิบปี ตั้งแต่ ค.ศ.1999-2009 ในสงครามอิรัก พลซุ่มยิงประจำหน่วยซีลที่ชื่อว่า “คริส ไคล์” ทำสถิติสังหารชีวิตคนไปราวๆ 150 ศพ และด้วยความเก่งกาจเช่นนี้ ทำให้เขากลายเป็นที่ยกย่องจากคนในกองทัพสหรัฐ ทั้งเป็นที่ยำเกรงของฝ่ายตรงข้ามที่ถึงกับตั้งฉายาให้เขาว่า “อัล-ชัยฎอน” (Al-Shaitan) ซึ่งหมายถึงปีศาจหรือซาตาน รวมทั้งมีการตั้งค่าหัวเขาในราคาสูงอีกด้วย

ชีวิตของคริส ไคล์ นั้น โดยพื้นฐานถือว่ามีความน่าสนใจในตัวเองอยู่แล้ว ถ้าไม่นับรวมเหตุการณ์อันถือเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความเสียใจให้แก่ผู้คนจำนวนมาก พื้นฐานครอบครัวที่มีพ่อเคร่งครัดในศาสนา ตลอดจนความฝันในวันเยาว์ ก็ดูจะมีมิติที่สามารถตามแกะหรือถอดรหัสออกมาเป็นความหมายได้ และยิ่งเมื่อถูกนำเสนอผ่านมุมมองของคลินต์ อีสต์วูด ที่เชี่ยวชาญในการทำหนังซึ่งมีมิติความลึก เรื่องราวของคริส ไคล์ จึงมีอะไรมากไปกว่าความเป็นฮีโร่ธรรมดาๆ หนังเรื่องนี้สร้างมาจากหนังสือเชิงชีวประวัติของคริส ไคล์ แต่สำหรับคนที่ได้อ่าน บอกว่าตัวหนังแตกต่างไปจากต้นฉบับหนังสือค่อนข้างมากในแง่มิติตัวละครและเรื่องราว นี่คงต้องยกยอดให้กับความเก่งกาจของคนเขียนบท (เจสัน ฮอลล์) และปู่คลินต์โดยแท้จริง

ในมุมมองของหนัง...คริส ไคล์ นั้นมีความฝังใจอย่างลึกซึ้งกับคำสอนของพ่อในวัยเยาว์เมื่อคราวที่น้องชายถูกเพื่อนในโรงเรียนรุมรังแก เป็นเหมือนพันธสัญญาที่ผูกตรึงอยู่ในจิตวิญญาณของเขาอย่างแน่นหนา ในคราวนั้น พ่อของคริสทุบโต๊ะสอนเขาว่า โลกนี้มีคนอยู่ 3 ประเภทคือ หนึ่ง “แกะ” ได้แก่คนที่เป็นเหยื่อหรือคนอ่อนแอ สอง “หมาป่า” เป็นพวกนักล่า อันธพาล ใช้กำลังเบียดเบียนผู้อื่น และสาม สุนัขเลี้ยงแกะ ได้แก่คนที่กล้าพอที่จะปกป้องลูกแกะและใช้กำลังเมื่อจำเป็นเพื่อปกป้องตนและคนอื่น แน่นอว่าว่า คนที่พยายามจะเป็น “สุนัขเลี้ยงแกะ” อย่างคริส ไคลน์ นั้น ทุกคราวที่เห็น “ลูกแกะ” ถูกพวก “หมาป่า” ทำร้าย วิญญาณด้านการปกป้องผู้อื่นก็พร้อมจะลุกขึ้นมาทำงาน

แต่โลกนี้ยังมีความจริงที่น่าเศร้าอยู่ประการหนึ่งก็คือ ต่อให้คุณพยายามที่จะดูแลปกป้องคนอื่นเพียงใด มันก็ใช่ว่าจะสำเร็จไปทั้งหมด ยิ่งในภาวะสงครามที่แตกต่างอย่างมหาศาลกับการชกต่อยกันในโรงเรียน ยิ่งเป็นเรื่องยากที่ใครจะดูแลใครได้อย่างทั่วถึง ด้วยเหตุนี้ บางจังหวะของหนัง เราจึงได้เห็นบรรยากาศแห่งความหม่นเศร้าและความรู้สึกล้มเหลวปรากฏอยู่ในตัวตนของ “สุนัขเลี้ยงแกะ” ตัวนี้อย่างเด่นชัด คริส ไคล์ คล้ายกับสุนัขเลี้ยงแกะที่เจ็บป่วยทางใจและบาดแผลนั้นก็ฝังลึกยิ่งกว่าคมเขี้ยวของหมาป่า...เขามิอาจปกป้องผู้คนที่ตนคิดว่าน่าจะปกป้องได้

อันที่จริง แง่มุมเปรียบเทรียบ “ลูกแกะ-หมาป่า-สุนัขเลี้ยงแกะ” นี้ ด้านหนึ่งก็คือการยกยอปอปั้นตัวเองแบบอเมริกันชนที่มักจะมองตนในฐานะ “ผู้ต้องปกป้องโลก” อย่างที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยๆ คริส ไคล์ เอาเข้าจริง ก็เปรียบเสมือนภาพแทนของระบบคิดแบบอเมริกันที่จัดวางตนเองไว้ในสถานะแห่ง “สุนัขดูแลแกะ” และพยายามจะทำให้โลกเห็นว่าตนเองเล่นบทบาทนั้นมาโดยตลอด การเข้าสู่สงครามแต่ละครั้งของอเมริกันมักจะมาพร้อมคำกล่าวว่าต้องดูแลโลกปกป้องผู้อื่นเสมอๆ เช่นเดียวกับสงครามในอิรัก (ที่มาพร้อมกับข้อครหามหาศาล) ในสายตาของหนังเรื่องนี้ อเมริกันก็ไม่ต่างไปจากคริส ไคล์ ที่คิดว่าตนจะปกป้องผู้อื่นได้ แต่สุดท้ายก็กลับออกมาอย่างบอบช้ำ หนังมีการเอ่ยถึงแบบผ่านๆ ถึงสงครามเวียดนามคล้ายต้องการสะท้อนให้เห็นว่า นี่คือครั้งที่สองนับตั้งแต่สงครามเวียดนามที่อเมริกาบอบช้ำอย่างสาหัส ทั้งในแง่ประเทศชาติและปัจเจก เพราะผลพวงของสงคราม...

สำหรับคลินต์ อีสต์วูด นั้น ตั้งแต่กำกับภาพยนตร์มา มักจะมือฉมังอยู่แล้วในแง่ของการเล่นกับมิติเชิงลึกของเรื่องราวและตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องนี้ที่พูดกันตามตรง มันคือหนังสงครามที่ทำโดยอเมริกันชน สร้างมาจากหนังสือของอเมริกันชนและเล่าเรื่องราววีรกรรมของอเมริกันชนอีกเช่นกัน ความโน้มเอียงที่จะเข้าข้างตัวเองย่อมมีอยู่สูง แต่ทว่าด้วยการถ่ายทอดเรื่องราว การเขียนบท กลับทำให้เรารู้สึกว่า จริงๆ แล้ว อเมริกันเองก็กำลังถูกวิพากษ์ผ่านงานชิ้นนี้ด้วยเช่นกันอย่างแนบเนียน

สิ่งเหล่านี้ซ่อนซุกอยู่ในฉากเล็กๆ น้อยๆ ของหนัง แต่เป็นความ “เล็กๆ น้อยๆ” ที่ทรงพลังยิ่งกว่าการพูดหรือก่นด่าออกมาตรงๆ ฉากที่ทหารนายหนึ่งถามคริส ไคล์ ว่าสรุปแล้วเรามาที่นี่ (อิรัก) เพื่ออะไรกันแน่ คือคำถามที่ส่งผ่านถึงคนอเมริกาทั้งประเทศ เช่นเดียวกับฉากที่คริส ไคล์ เจอน้องชายก่อนขึ้นเครื่องบิน หรือแม้กระทั่งบางฉากที่คริสมีปากเสียงกับภรรยา นั่นยังไม่นับรวมภาพของบรรดาทหารผ่านศึกแต่ละคนที่ล้วนแล้วแต่สูญเสีย ชนิดที่ใครบางคนอาจกล่าวว่ามันเป็นการสูญเสียที่มากที่สุดของอเมริกานับตั้งแต่สงครามเวียดนาม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามา ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นความน่าอนาถเวทนาของสงครามครั้งนี้

หนังตั้งคำถามผ่านรายละเอียดเหล่านั้นได้อย่างมีชั้นเชิงเหมือนกับว่า ด่าโดยไม่ทำให้รู้สึกว่าผู้ถูกด่ากำลังถูกด่า ในเชิงปัจเจกก็สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นคริส ไคล์ ในหนังเรื่องนี้ หรือใครต่อใครในหนังเรื่องอื่นๆ ทันทีที่คุณย่างเท้าเข้าสู่สงคราม คุณจะไม่มีวันได้กลับออกมาเหมือนเดิมอีกต่อไป ต่อให้มีชัย แต่ทว่าบาดแผลและความทรงจำที่เลวร้าย จะยังฝังแน่นอยู่ในใจและจะทำให้คุณเสมือนหนึ่งยืนอยู่ท่ามกลางสงครามไม่มีวันจบวันสิ้น ภาพของคริส ไคล์ ที่ว่ากว่าจะกลับมา “เป็นผู้เป็นคน” ได้ ก็ต้องใช้เวลา และจริงๆ ก็ไม่มีใครแน่ใจได้เต็มร้อยว่า เขากลับมาเป็น “ปกติ” เหมือนเดิมจริงหรือไม่

หนังเรื่องนี้หลักๆ เกี่ยวกับพลซุ่มยิงหรือมือปืนสไนเปอร์ ผมมองว่าคลินต์ อีสต์วูด เก็บเอาอารมณ์และความยุ่งยากลำบากใจของมือสไนเปอร์มานำเสนอได้อย่างมิติ เสี้ยววินาทีแห่งการตัดสินใจ ความเคร่งครัดต่อภารกิจกับความอำมหิตเลือดเย็นที่เหมือนจะมีเพียงเส้นแบ่งบางๆ กางกั้น หนังเก็บเอาอารมณ์บีบคั้นกดดันซึ่งเป็นความขัดแย้งภายในของมือปืนสไนเปอร์เสนอออกมาได้อย่างทรงพลัง

ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับครับว่า นี่คือหนังของปู่คลินต์ที่ดูแอ็กชั่นมันระห่ำมากที่สุดแล้ว ในแง่ของการเป็นผู้กำกับ สมัยวัยหนุ่ม คลินต์ อีสต์วูด เคยแสดงหนังพวกคาวบอยยิงปืนมาจนช่ำชอง นั่นยังไม่นับรวมว่าช่วงแรกๆ ของชีวิตการเป็นผู้กำกับ เขายังทำหนังคาวบอยแอ็กชั่นมาหลายเรื่อง ดังนั้น เรื่องของการเล่นกับฉากแอ็กชั่น ถ้าจะทำให้มันดุเดือดจึงไม่น่าจะใช่ปัญหา เขาหยิบจับประสบการณ์เก่ามาใช้สอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่าหนังมีฉากต่อสู้ยิงกันหูดับตับไหม้ ระเบิดก็เล่นจนฝุ่นตลบ เชื่อว่าใครที่ชอบหนังแอ็กชั่นสงคราม ก็คงชอบได้ไม่ยาก แต่ที่เด็ดสุดๆ คือฉากซึ่งเล่นกับพื้นที่สงครามที่ค่อนข้างจำกัด หน่วยซีลถูกโอบล้อมอยู่ในวงแคบ แบบเดียวกับเหล่าทหารในเรื่อง Black Hawk Down ลุ้นระทึกบีบคั้นอารมณ์ดีมากครับ

แอ็กชั่นก็ได้ มิติเนื้อหาเชิงลึกก็ผ่าน การวิพากษ์วิจารณ์สงครามก็มา เรียกว่าครบรสของความเป็นหนังสงครามดีๆ เรื่องหนึ่ง สุดท้ายแล้ว ไม่ว่ากระสุนนัดนี้ของ “อเมริกัน ไดเร็กเตอร์” อย่างคลินต์ อีสต์วูด จะแล่นไปได้ไกลถึงออสการ์หรือไม่ แต่สำหรับคนดูหนังอย่างผม นี่คือหนังที่สนุกและทรงพลัง ไม่ต่างไปจากกระสุนพิฆาตนัดนั้นของ “อเมริกัน สไนเปอร์”



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น