หากนับถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 1 ปีกับ 7 เดือนเข้าไปแล้วสำหรับการออกอากาศของ "หอมแผ่นดิน" หนึ่งในรายการน้ำดีที่ช่องโมเดิร์นไนน์ ทีวี โดยมืออาชีพงานสารคดีอย่าง "ป่าใหญ่ ครีเอชั่น"
ใครที่ยังไม่มีโอกาสดูรายการนี้เลยสักครั้งต้องถือว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง (แต่ก็ยังไม่สายเพราะรายการยังออกอากาศอยู่)
ส่วนใครที่ดูแค่โฆษณา ดูเพียงผ่านๆ แล้วเกิดความรู้สึกไม่อยากดูต่อ เพราะเข้าใจว่านี่ก็คงจะเป็นรายการเกษตรอีกหนึ่งรายการที่หน่วยงานราชการเอางบฯ ไปจ้างเอเยนซี่โน่นนี่นั่นผลิตแบบขอ(ให้ได้ใช้งบ)ไปทีเพียงเพื่อจะได้มี "ผลงาน" เอาไว้อ้างเบิกงบประมาณในปีถัดไปอะไรทำนองนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นความเข้าใจผิดพอสมควร
จริงอยู่ที่ว่าถ้ามองถึงเนื้อหาของรายการ "หอมแผ่นดิน" ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต หลักคิด วิธีการปฏิบัติ และการแสวงหาองค์ความรู้ของคนในชนบทที่สามารถพลิกฟื้นชีวิตตนเองกระทั่งกลายเป็นบุคคลต้นแบบได้อย่างน่าทึ่ง หรือแม้กระทั่งรูปแบบการนำเสนอในเชิงสารคดี+การสัมภาษณ์ เหล่านี้แล้วก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ของใหม่ของรายการทีวีในเมืองไทยแต่อย่างใด
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะสัมผัสได้ทันทีจากการชมรายการนี้ก็คือความตั้งใจของทีมงานผู้ผลิตที่สามารถทำให้เรื่องราวของแต่ละคนในแต่ละตอนของ "หอมแผ่นดิน" นั้นถูกถ่ายทอดออกมาได้ทรงพลัง ชนิดที่ดูแล้วมันรู้สึกอิ่มเอมใจ มันส่งผ่านถึงความความรัก ความหวงแหน ความภาคภูมิใจในผืนแผ่นดินแผ่นนี้เอามากๆ
ที่สำคัญมันทำให้รู้สึกว่าการที่เราจะปลูกจิตสำนึก ปลูกฝังให้เกษตรกร หรือแม้กระทั่งบ่มเพาะให้คนคนรุ่นใหม่ได้หันกลับมามองถึงรากเหง้ามองถึงสิ่งที่บรรพบุรุษของเราที่เคยทำกันมากับการมีความสุขในรูปแบบพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ทำการเกษตรโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีในรูปของปุ๋ยของยาฆ่าแมลง ฯ มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริง หาได้เป็นมายาอุดมคติแต่อย่างใด
ไม่ต้องอื่นไกล แค่ฟังเพลงประกอบฝีมือ "ศราวุธ ทุ่งขี้เหล็ก" หรือ "อ.สิงห์เฒ่า" ครูเพลงมือทองจากแกรมมี่โกลด์ โดยมี "น้องมิ้วส์ อารีรัตน์ สุกใส" กับ "น้องบอล ธนกฤต อยู่สุข" อดีตสองนักร้องเยาวชนที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันดีจากเวทีการประกวดต่างๆ ขับร้องแค่นี้ก็รู้สึกปลื้มปริ่มหัวใจแล้วครับ
...แผ่นดินถิ่นฐานบ้านเกิด ไม่เคยระเหิดห่างไกลใจยังได้กลิ่น
อู่ข้าวอู่น้ำ วิถีงดงามพออยู่พอกิน บทเพลงพฤกษ์ไพร กล่อมดวงใจยังแว่วแผ่วยิน...
อันที่จริงนอกจากความรู้สึกดีๆ รวมทั้งการได้รับกำลังใจ+แรงบันดาลใจดีๆ แล้ว ต้องยอมรับว่าอีกความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างชมรายการนี้ก็คือ "ความอิจฉา" ครับ
อิจฉาตัวตนคนในเรื่องหลายต่อหลายคนที่สามารถหลุดจากกับดักและกรงขังแห่งสังคมเมืองคืนสู่วิถีแห่งความเรียบง่ายของท้องทุ่งชนบท มีความสุขกับการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ท่ามกลางธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ในขณะที่ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนเพียงแค่ขอให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอดได้ในสังคมที่ถูกมองว่าเป็นความศิวิไลซ์เท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ "หน่อย" อดีตหนุ่มขี้เหล้า คนตัดไม้เถื่อน พ่อค้าประมูลเหล็ก ฯ ที่ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรอยู่ที่บ้านเกิดและเป็นเจ้าของวิธีเลี้ยงกบแบบรีสอร์ทที่หลายคนหันมาทำตาม
เรื่องราวของ "อิสรีย์ ฮอลล์" สาวผู้รักสวยรักงามตามสังคมแห่งแฟชั่นของคนเมือง นักเรียนแพทย์แผนไทยที่ตัดสินใจเดินกลับไปใช้ชีวิตเกษตรกรที่บ้านเกิดพร้อม "ริชาร์ด" สามีชาวต่างชาติ
"ขาน" หนุ่มที่ใช้ที่ดินที่ทางหมู่บ้านจัดสรรให้เพียงครึ่งงานปลูกพืช-ผักอินทรีย์กระทั่งปลดหนี้ได้สำเร็จและจากคนไร้บ้านก็สามารถซื้อที่แปลงเล็กๆ ปลูกบ้านของตัวเองได้เป็นผลสำเร็จ
หรือจะเป็นเรื่องของ "ลุงเขียว" เกษตรกรเจ้าของแนวคิดปลูกมะนาวในถังซีเมนต์ในตอนที่ชื่อ "สิบปากว่าไม่เท่ามือทำ" ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าทุกความฝันล้วนเป็นจริงได้นอกจากการวางแผนที่ดี ไอเดียบรรเจิด ฯ แล้ว สิ่งสำคัญก็คือความกล้าที่ลงมือทำด้วยความมุ่งมั่นและจิตใจที่จะเอาใจใส่กับมันนั่นเอง
มีประโยคหนึ่งที่ฟังลุงเขียวแกพูดแล้วสะกิดใจผมมากครับ ที่ว่า "...คือมันจะสอนให้รู้ว่าแผ่นดินที่เราอยู่ตรงนี้เนี่ยจะมีค่าทุกตารางนิ้วเลย ดินแต่ละตารางเมตรเนี่ยมีค่ามหาศาลเลยครับผม นึกถึงคุณค่าตรงนี้ กิ่งมะนาวแต่ละกิ่งก็มีค่า ลูกมะนาวแต่ละลูกก็มีค่า ก็จะมาจากผืนดินเล็กๆ ที่ลุงทำอยู่ทุกวันนี้..."
ดูรายการคืนนั้นจบ สิ่งแรกที่ผมนึกถึงขึ้นมาทันทีก็คือข่าวคราวการเข้าไปตรวจตามโกดังข้าวตามสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก่อนพบว่าหลายแห่งมีทั้งข้าวหาย ข้าวเน่า ข้าวไร้คุณภาพ หรือแม้กระทั่งการใช้เหล็กนั่งร้านวางข้าวเพื่อลวงตบตาเจ้าหน้าที่ ฯ อันเป็นการยืนยันได้อย่างชัดเจนที่ว่าโครงการนี้มีการคอร์รัปชันครั้งมโหฬารมากมายขนาดไหน
แน่นอนว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการโกงในเรื่องนี้ย่อมสมควรจะถูกประนาม และถูกลงโทษตามความผิด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะรู้มากๆ ก็คือความรู้สึกของชาวนาทั้งหลายครับ
อยากรู้ว่าพวกเขาพวกเธอรู้สึกอย่างไรที่เห็นผลิตผลที่ตนเองลงแรงไถ-คราด-หว่าน-ดำ เฝ้าดูแลทนุถนอมฟูมฟักเป็นอย่างดีกว่าจะออกรวงกลายเป็นเมล็ด แต่ท้ายสุดข้าวที่ว่ากลับไม่ได้เป็นเม็ดข้าวสวยร้อนๆ บนจาน หากแต่กลับต้องถูกปล่อยทิ้งให้เน่าเหม็น ไร้คุณค่า ไร้คนเหลียวแลสนใจ
อยากรู้จริงๆ ครับว่าถ้าหากรู้ทั้งรู้ว่าท้ายที่สุดแล้วข้าวที่สองมือตัวเองปลูกมาด้วยความยากลำบากจะถูกพ่อค้าตลอดจนนักการเมืองเห็นเป็นเพียงเครื่องมือที่เอาไว้โยกย้ายเงินแผ่นดินเข้ากระเป๋า เมื่อเสร็จสมอารมณ์หมายก็เอาไปโยนทิ้งโดยหาได้ใส่ใจในคุณค่า ไม่สนใจใยดีว่ามันจะเน่า มันจะเสีย มันจะหาย หรือมันจะมีอะไรมายัดแทนแล้ว ชาวนาส่วนใหญ่จะยังคงทำนาปลูกข้าวสนองให้กับคนเหล่านี้หรือไม่อย่างไร
เจ็บปวด เจ็บใจ หรือไม่รู้สึกอะไรเลย ทำมา ขายไป ได้เงินแล้วก็จบกัน ใครจะเอาไปกิน ไปเททิ้ง ไปทิ้งให้เน่าก็ช่างปะไร
อยากรู้จริงๆ ครับ...