xs
xsm
sm
md
lg

ปราชญ์อีสาน ปรับกระบวนทัศน์ นำชุมชนยั่งยืนบนผืนดินเค็ม / วิบูลย์ สุขใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพดินเค็มบนดินแดนอีสานเริ่มจางไป เห็นจากต้นไม้ที่เติบโตได้  บนพื้นที่ราว 2,000 ไร่  ณ บ้านหนองโดน อ.บรบือ จ.มหาสารคาม
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนดินเค็ม ณ สถาบันฟื้นฟูภูมิปัญญาไทย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นผลสำเร็จผ่านการพัฒนาเกษตรกรซึ่งเป็นต้นแบบอย่างในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ง่าย ทำได้เร็ว กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสู่กลุ่มเกษตรกรขนาดใหญ่ให้เข้ามาสนใจ และจะนำไปสู่การทดลองทำตามในที่สุด
ความร่วมมือจัดงาน “ปราชญ์อีสาน สร้างความยั่งยืน บนผืนดินเค็ม” ที่ได้การสนับสนุนของเอสซีจี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมพัฒนาที่ดิน เป็นการต่อยอดโครงการ “นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม” ในครั้งนี้มีเกษตรกรเป็นเครือข่ายภาคการเกษตรจากหลายพื้นที่ และนักวิชาการมาร่วมงานเกือบ 200 คน
ร่วมเสวนา “ถอดบทเรียนปราชญ์อีสาน..แก้จน เพิ่มผลผลิต คุณภาพชีวิตยั่งยืนบนผืนดินเค็ม” ประกอบด้วย รศ.ดร.สุวิทย์ เตีย รองผู้อำนวยการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ,รศ.ดร.เฉลิมพล เกิดมณี ผู้เชี่ยวชาญจาก สวทช. ,พ่อคำเดื่อง ภาษี สถาบันฟื้นฟูภูมิปัญญาไทย, กฤติเดช ศรีเนตรภัทธ์ ศูนย์เรียนรู้ศรีเนตรพัฒนา, สวัสดิ์ สีหาผล โครงการนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม จ.สกลนคร และ ภาณุพงษ์ ภัทรคนงาม ประธานสภาเกษตรกร จ.ขอนแก่น

แต่ก็มีข้อสงสัยว่า ผลิตภัณฑ์ในเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ซึ่งเป็นเอกชนหนึ่งเดียวที่ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2551 กลับไม่มีผลิตภัณฑ์ใดๆ มาต่อยอดส่งเสริมการจำหน่ายโดยตรง
วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงได้สนับสนุนโครงการนี้มาตั้งแต่แรก อีกทั้งคนในชุมชนพื้นที่ดินเค็มถือเป็นกลุ่มคนที่ประสบความยากลำบากมากในการทำมาหากิน"
ปํญหาดินเค็มในภาคอีสานนั้นทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกข้าว หรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ แต่ในปัจจุบันสามารถฟื้นฟูได้มากกว่า 40,000 ไร่ ทำให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้จนสามารถปลดหนี้ได้ ลูกหลานกลับคืนสู่ท้องถิ่น ต่อมายังได้ขยายผลองค์ความรู้การฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มไปอย่างกว้างขวาง โดยคาดหวังให้เกิดการขับเคลื่อนการแบ่งปันความรู้และความสุขไปสู่ชุมชนต่างๆ
การต่อยอดโครงการโดยจัดงาน “ปราชญ์อีสาน สร้างความยั่งยืน บนผืนดินเค็ม” ก็เชื่อว่าปราชญ์อีสานจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนถ่ายทอด เป็นกำลังใจสร้างแรงขับเคลื่อนองค์ความรู้นำไปสู่ความสุขยั่งยืนบนผืนดินเค็มต่อไป
เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อชุมชนและสังคมตามข้อปฏิบัติที่เอสซีจี ยึดมั่นในการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดมา ซึ่งยืนยันว่าธุรกิจกับสังคมต้องไปด้วยกัน หากสังคมเข้มแข็งแล้ว คนในสังคมสบาย มีความสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีก็ทำให้ธุรกิจไปได้ดีด้วยเช่นกัน
บรรยากาศเสวนา ณ สถาบันฟื้นฟูภูมิปัญญาไทย ของพ่อคำเดื่อง
ด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ เตีย รองผู้อำนวยการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวถึงโครงการนี้มีเป้าหมายสร้างเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบเกษตรกรบนพื้นที่ดินเค็มเพื่อให้เกิดการขยายผลสู่ความยั่งยืน โดยการร่วมเสวนาพร้อมปราชญ์อีสานจะเป็นการส่งเสริมการสร้างทุนทางความรู้ และทุนทางสินทรัพย์ผ่านกระบวนการขับเคลื่อนโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกรเอง ส่วนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นพี่เลี้ยงบ่มเพาะและสร้างโอกาสให้เกษตรกรเท่านั้น
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวนำไปสู่การก่อตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรบนพื้นที่ดินเค็ม 72 แห่ง บนพื้นที่ 16 จังหวัดในภาคอีสาน โดยมีสมาชิกเข้าร่วมมากกว่า 4,000 คน สามารถฟื้นฟูพื้นที่ไปแล้วกว่า 40,000 ไร่ ภายใต้กติกาการอยู่ร่วมกันที่สำคัญเพียงข้อเดียวก็คือ “ซื่อสัตย์ยุติธรรม” ใช้เป็นเครื่องมือการบริหารจัดการกลุ่มจนกระทั่งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากครัวเรือนละ 150,000 บาทต่อปีในปี 2555 เป็น 230,000 บาท
ขณะที่ รศ.ดร.เฉลิมพล เกิดมณี ผู้เชี่ยวชาญจาก สวทช. ที่คลุกคลีกับการแก้ไขดินเค็มมาตั้งแต่ต้น ยืนยันการใช้เทคโนโลยีฟื้นฟูดินเค็มนั้นเกษตรกรสามารถเรียนรู้และลงมือทำได้เอง ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวและพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตดีบนพื้นที่ดินเค็ม การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดทันสมัย รู้จักคิดนอกกรอบ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ส่งต่อสู่ชุมชน และคนในชุมชนก็ถ่ายทอดความรู้ไปยังชุมชนอื่นๆ เป็นการสร้างชุมชนเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
การแสดงให้เห็นจากการสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มในกลุ่มเกษตรกร ที่เคยเป็นจุดอ่อนก็เปลี่ยนเป็นจุดแข็งได้ เช่น การทำสวนผลไม้รสเข้มข้นผสมผสาน การผลิตข้าวหอมที่รับรองคุณภาพความหอม การผลิตผักชีในเขตพื้นที่ฝนน้อยดินเค็ม การทำฟาร์มปูนา การผลิตเห็ดใหม่ขอนดำ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกและขยายพันธุ์ผักหวานป่า การแปรรูปกล้วย เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เป็นแกนสำคัญที่จะดึงดูดลูกหลาน ญาติมิตรให้กลับคืนถิ่นบ้านเกิดมาร่วมสร้างความสุขที่ยั่งยืนบนผืนดินเค็ม
พ่อผาย สร้อยสระกลาง
ทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย ของพ่อผาย
ข้อคิด...
สองปราชญ์อีสาน ของจังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันกลายเป็นแบบอย่างผู้นำที่สร้างแรงจูงใจให้ชุมชนดินเค็มของอีสาน กลับคืนถิ่นมาสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยตนเองเป็นสำคัญ
คนหนึ่ง “พ่อผาย สร้อยสระกลาง” จากศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย อ.ลำปลายมาศ เล่าและให้ข้อคิดที่น่าฟังว่า “การปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมาก เกิดจากกิเลส อยากรวยเร็ว ทั้งที่ควรเริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ ค่อยๆ เติบโตที่ละขั้นเหมือนขึ้นบันได ตัวเราเองต้องมีสติถึงจะเกิดปัญญา ทำให้เราวางแผนให้ดีก่อนลงมือ ไม่ใช่ปลูกข้าวอย่างเดียวแล้วรอเวลาเก็บเกี่ยวทั้งที่สามารถสร้างผลผลิตอื่นๆ ในพื้นที่ของเราได้จากการแบ่งไปปลูกพืชผัก หรือทำปศุสัตว์เล็กๆ เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลาเพื่อปากท้องคนในครอบครัว ส่วนที่เหลือยังขายเป็นรายได้เสริมเข้ามา”
ทุกวันนี้พ่อผาย วัย 85 ปี คือปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี 2553 ซึ่งต่อมาก็ได้เกียรติคุณอื่นๆ อีกมาก สำหรับศูนย์ฯ กลุ่มอีโต้น้อย ทุกวันนี้เป็นที่รู้จักของคำว่า “เกษตรประณีต” ซึ่งขยายความได้ว่า เกษตรกรต้องคิดวางแผนให้รอบคอบก่อนจะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้การจัดการพื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด
พ่อคำเดื่อง ภาษี
ปราชญ์อีกคน “พ่อคำเดื่อง ภาษี” จากสถาบันฟื้นฟูภูมิปัญญาไทย อ.แคนดง ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดงานครั้งนี้ บอกว่าศูนย์ฯ ที่นี่ถ่ายทอดความรู้เกษตรธรรมชาติ สร้างทรัพยากรธรรมชาติ การวางแผนการผลิตและปลูกไม้ยืนต้น รวมถึงทำเกษตรประณีต และเปลี่ยนผ่านแนวคิดสู่การพึ่งพาตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างการทำนา ปลูกพืช เคยเริ่มจากการลดปริมาณปุ๋ยแล้วยังได้ผลผลิตเท่าเดิม แต่ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ต่อมากลับไปทำนาแบบธรรมชาติ โดยไม่ไถ ใช้การหว่านและเอาฟางคลุม ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืชแต่ให้ธรรมชาติจัดสรรและทำลายกันได้เอง
พ่อคำเดื่อง เป็นเกษตรกรอีกคนที่ผ่านพ้นการติดหนี้สินและอบายมุข หลังกลับไปย้อนมองข้อผิดพลาดของตนเองแล้วแก้ไข โดยบอกว่าการฟื้นฟูดินเค็มต้องอาศัยภูมิปัญญาของท้องถิ่นและเทคโนโลยีมาร่วมใช้แก้ปัญหา เป็นการนำเกษตรธรรมชาติ โดยอาศัยซากพืช มูลสัตว์มารักษาดินที่ทรุดโทรม รวมถึงผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับใช้ในการทำนา ปลูกพืชผัก ซึ่งจะช่วยปรับสภาพดินเค็มได้ เรียกว่าเป็นการเสริมสิ่งที่ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองไม่ได้
v.sukjai@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น