xs
xsm
sm
md
lg

ใครโหดเหี้ยม ใจทมิฬ หินชาติ : เพชฌฆาต...คนสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ในขณะที่กระแสเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตในคดีข่มขืน กำลังดังกระหื่มทั่วทั้งสังคมไทย ในแวดวงคนดูหนังก็คงจะได้เห็นครับว่ามีผลงานชิ้นหนึ่งเข้าฉายมาร่วมสัปดาห์ และหนังเรื่องที่ว่า ก็มีหลายจุดที่ซ้อนทับอยู่กับเรื่องสำคัญซึ่งเป็นที่โจษจันอยู่ในสังคมไทยเราวันนี้

“เพชฌฆาตคนสุดท้าย” คือหนังเรื่องนั้น

ผลงานชิ้นนี้สร้างมาจากเรื่องราวชีวิตจริงของคุณเชาวเรศน์ จารุบุณย์ บุคคลระดับตำนานอีกท่านหนึ่งของประเทศไทยเรา ท่านคือมือประหารชีวิตนักโทษด้วยการยิงเป้า และกว่าที่จะมีการประหารชีวิตรูปแบบใหม่ด้วยการฉีดยา คุณเชาวเรศน์ได้ทำหน้าที่ส่งนักโทษไปสู่ยมโลกกว่าห้าสิบชีวิต และท่านก็ได้รับการขนานนามว่าเป็นเพชฌฆาตคนสุดท้าย

ต้นทางของงานชิ้นนี้มาจากงานเขียนของคุณเชาวเรศน์เอง ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงบั้นปลายของชีวิต ชื่อหนังสือคือ The Last Executioner ตีแผ่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตหลังแดนประหาร หนังเรื่องนี้มีทอม วอลเลอร์ เป็นผู้กำกับ เขาผู้นี้เคยมีชื่อเสียงเรียงนามในระดับนานาชาติจากหนังเรื่อง “ศพไม่เงียบ” มันคือหนังเปิดตัวของเขาที่จัดได้ว่าคุณภาพดีมากๆ เรื่องหนึ่ง แม้จะเป็นหนังที่ใช้ทุนรอนไม่มากนักก็ตามที

เท่าที่สังเกต ผมรู้สึกว่าความสนใจของทอม วอลเลอร์ นั้น จะเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงอยู่กับวิถีชีวิต ความคิดความเชื่อ แบบพื้นฐานบ้านเรา (ไม่เว้นแม้แต่เรื่องไสยศาสตร์ อย่างพวกเครื่องลางของขลังที่ดำเนินขนาบไปกับพุทธศาสตร์) แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องบุญบาป เวรกรรม คือเนื้อหาใจความที่เราจะแตะต้องสัมผัสได้เสมอๆ ในงานของผู้กำกับลูกครึ่งผู้นี้ และแน่นอนว่า กับเรื่องราวของเพชฌฆาต ซึ่งพาดพิงอยู่กับการต้องฆ่าคน ก็คงจะแกล้งมองไม่เห็นไม่ได้เลยว่า เนื้อหาของหนังนั้น พุ่งเน้นไปที่ระดับจิตวิญญาณด้านลึกของตัวละครหลัก อย่างที่หลายคนคงจะได้เห็นในหนังตัวอย่างว่า ประเด็นคำถามหนึ่งซึ่งเปรียบเสมือนคีย์เวิร์ดของหนัง จะดังกระหื่มอยู่ในสำนึกของตัวละครตลอดเวลา ระหว่างการแยกแยะว่า เขาคือเพชฌฆาตหรือฆาตกร

สิ่งที่หนังสะท้อนออกมาให้ได้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุด ก็คงเป็นจุดนี้ เพราะว่าอันที่จริง หากสืบสาวราวเรื่องลึกลงไปในตัวตนและชีวิตของคุณเชาวเรศน์นั้น โดยพื้นฐานแล้ว ท่านไม่น่าจะต้องมาเดินบนเส้นทางสายนี้ เพราะทุกลมหายใจแห่งชีวิตของท่านนั้น กังวานไปด้วยเสียงดนตรีและบทเพลง ความฝันของท่านคือการเป็นศิลปิน และท่านเองก็เป็นนักดนตรีร็อกแอนด์โรลมาก่อน ก่อนที่ความยอกย้อนของชีวิตจะผลักให้ท่านก้าวเดินสู่วิถีแห่งเพชฌฆาต

บรรยากาศโดยรวมของหนังนั้น บอกเล่าในเชิงกึ่งๆ “ชีวประวัติ” (Biography) แต่ไม่ใช่สารคดีชีวิตแบบแห้งๆ หนังปรุงแต่งสร้างบทให้มีอรรถรสความเป็นดราม่าอย่างที่เราจะเรียกว่าเป็นหนังชีวิตที่หลากรสหลายอารมณ์ เราจะได้รับรู้ทั้งเรื่องราวเส้นทางชีวิตของคนคนหนึ่ง และสิ่งซึ่งเขาต้องเผชิญผจญในฐานะปุถุชน ความขัดแย้งภายในจิตใจ การต่อสู้และปล่อยวางเพื่อหาทางสร้างสมดุลให้กับชีวิตของตัวเอง ผมว่าคนทั่วไปที่ไม่ต้องทำอะไรแบบนี้ก็ยากอยู่แล้ว แล้วสำหรับคนที่ต้องเดินเข้าออกระหว่างชีวิตธรรมดา กับแดนประหารซึ่งต้องฆ่าคนอื่นที่ไม่ได้มีความแค้นอะไรต่อกัน คิดว่ามันจะยากเย็นขึ้นอีกเพียงไหน

ในความเป็นหนัง ก็คงต้องบอกครับว่า แม้เนื้อหาจะเกี่ยวกับปืนและการเข่นฆ่า แต่นี่ไม่ใช่หนังแอ็กชั่นยิงกันสนั่นเมือง แอ็กชั่นดวลกันด้วยปืนไม่มี นอกจากแอ็กชั่นของตัวละครที่ต้องต่อสู้กับภาวะภายในของตนเอง ผมว่าสิ่งนี้ต่างหากที่ต่อให้ใครต่อใครไม่ได้เป็นเพชฌฆาตเช่นเดียวกับคุณเชาวเรศน์ ก็สามารถจะรู้สึกร่วมกับหนังได้ เราต่างต้องทำอะไรหลายๆ อย่างในชีวิต และบ่อยครั้งมันก็นำมาซึ่งความรู้สึกขัดแย้งในตนเอง และสิ่งที่ต้องทำถัดจากนั้นก็คือ หาสมดุลให้กับชีวิตและความคิด พูดง่ายๆ ว่า ไม่ว่าใคร เราต่างก็มีสงครามส่วนตัวของตนเอง

คุณปู-วิทยา ปานศรีงาม นักแสดงของเรื่องซึ่งรับบทเป็นคุณเชาวเรศน์ จากการที่ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในเทศกาลหนังเมืองเซี่ยงไฮ้จากบทบาทในหนังเรื่องนี้ ก็คงการันตีฝีมือการแสดงได้แล้วโดยไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรให้ยืดยาว ทั้งนี้ รวมถึงคุณเชาวเรศน์ในวัยหนุ่มซึ่งรับบทโดย “ถิร ชุติกุล” ทั้งสองคนทำหน้าที่ได้ดีในการเป็นตัวแทนของเพชฌฆาตคนสุดท้าย

และสุดท้าย ส่วนที่ถ้าไม่พูดถึงก็คงจะไม่ได้ คือการเล่นกับสัญลักษณ์บางอย่าง ซึ่งต้องยอมรับว่าคนเขียนบท (ดอน ดิลเลอร์) และผู้กำกับทอม วอลเลอร์ น่าจะศึกษาและร่วมกันคิดมาแล้วอย่างดี อย่างเช่น “กบ” กับ “คางคก” นั้น คนที่ชอบอ่านหรือตีความในเชิงสัญลักษณ์ คงจะสนุก เพราะหนังใส่สัตว์พวกนี้มาค่อนข้างบ่อยและดูจงใจให้มีความหมายมากกว่าการเป็นแค่สัตว์ตัวหนึ่ง “กบ” ในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกไปถึงกบในหนังของผู้กำกับชาวเกาหลีอย่าง “คิมคีดุก” เรื่อง Spring, Summer, Fall, Winter…and Spring ที่ก็เป็นซึ่งมีเนื้อหาเชิงศาสนาเช่นเดียวกัน แต่จะตีความว่าอย่างไรต่อไปนั้น สำหรับคนที่ได้ดูหนัง ก็คงจะขบคิดได้

อีกตัวละครหนึ่งซึ่งแม้จะมีบทน้อย แต่ถือว่ามีความสำคัญมากๆ ต่อหนัง คือ คุณเดวิด อัศวนนท์ คนคนนี้ จะว่าไป ก็คงไม่ต่างอะไรกับตัวเจ้ากรรมนายเวรหรือกระทั่งความรู้สึกผิดบาป สำนึกที่ไม่มั่นคงและอ่อนไหวอ่อนแอ ซึ่งคอยตามหลอกหลอนตัวละครหลักอย่างคุณเชาวเรศน์ ในทางศาสนาแล้ว นี่คือเนื้อหาที่หนังหยิบมาใช้สอยได้อย่างเข้าอกเข้าใจ พูดแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คงหมายถึงภาวะสวรรค์ในอก นรกในใจ ของผู้คนนั่นล่ะครับ และอีกอย่าง เดวิด อัศวนนท์ ก็คงเหมือนๆ กับตาชั่งที่หนังใส่เข้ามา และมีความหมายในทำนองตั้งคำถามต่อระบบความยุติธรรม แน่นอนว่าเรื่องความยุติธรรมนี้เป็นอีกประเด็นซึ่งหนังพยายามตอกย้ำพอสมควร อย่างน้อยที่สุด ฉากที่คุณนิรุตติ์ ศิริจรรยา ถามคุณเชาวเรศน์ ก็ชัดเจนระดับหนึ่งว่าหนังตั้งใจโยนคำถามให้คนดูไปพิจารณาต่อ

และก็อย่างที่บอกไว้ในตอนต้นของบทความครับว่า นี่คือหนังที่ถ้าจะมองอย่างตรงไปตรงมา มันมีส่วนที่ซ้อนทับกับประเด็นทางสังคมซึ่งกำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้ คือกรณีการประหารชีวิต ในหนังเรื่องนี้นั้นได้นำเสนอภาพของนักโทษที่ถูกประหารชีวิตอย่างเด่นชัดอยู่หลายๆ ครั้ง (แต่ไม่ดูโหดเหี้ยมทารุณกรรม) และทุกครั้งที่ไปถึงฉากนั้น คนที่จะต้องถูกประหารเขาเป็นอย่างไรบ้าง ผมว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้ดู มันเป็นอนุสติ มันคือสิ่งที่เตือนใจให้รู้สึกเกรงกลัวต่อผลของกรรมและความรู้สึกละอายต่อบาป

แต่สิ่งที่มันน่าเสียดายและน่าเศร้า ก็คือสำหรับหลายๆ คน ความรู้สึกละอายต่อบาป หรือเกรงกลัวผลของกรรม มันมาถึงก็เมื่อตัวถูกตรึงติดกับหลักประหารไปแล้ว...

ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live


ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น