xs
xsm
sm
md
lg

“ดิ โอฬารฯ” อหังการ เมทัลไทย/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์เพลงวาน โดย : บอน บอระเพ็ด(skbon109@hotmail.com)
ปกเทป ดิ โอฬารฯ ชุด กุมภาพันธ์ 2528 แทนความห่วงใย (ยุคแรกสุด)
คนทั่วไปต่างรู้จัก“โซดา”กันเป็นอย่างดีว่ามันนั้นซ่าและใช้ผสมเหล้าดื่ม

แต่หากเอ่ยถึงชื่อ“วงโซดา”คนทั่วไปมักไม่รู้จัก นอกจากแฟนพันธุ์แท้เพลงร็อกไทยกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

วงโซดาไม่ใช่วงเหล้า หากแต่เป็นวงดนตรีร็อกที่เป็นจุดเริ่มต้นของวง“ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์”หนึ่งในสุดยอดวงเฮฟวี่ เมทัล ในระดับตำนานของไทย
โป่ง ปฐมพงศ์ ใน MV สมัยยุคที่ยังเป็นวงโซดา
โซดาไม่ซ่า

ในปี พ.ศ. 2527 หลังวงโจนาธานบลูส์แตกตัว สามหนุ่มของวงนำโดยหัวหน้าวงคือ สมโชค นวลนิรันดร์ : กีตาร์ หัวหน้าวง, บรรจง รัตนโสภณ : กลอง/ร้องนำ และ ฉัตรพงษ์ นิยมไทย : คีย์บอร์ด/ร้องนำ ได้ร่วมกับโอฬาร พรหมใจ มือกีตาร์ที่เพิ่งแยกตัวมาจากวง VIP ของแหลม มอริสัน และอีกสองหนุ่มคือ ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ : ร้องนำ และ พิทักษ์ ศรีสังข์ : เบส มาฟอร์มทีมตั้งวงใหม่ในนามวง“โซดา”(2527-28)

โซดาเป็นวงป็อบร็อกอินดี้ที่มีการทำเพลงเป็นของตัวเอง แต่ติดปัญหาเช่นเดียวกับหลายๆวงในยุคนั้นคือ ไม่ได้อยู่ในระบบการตลาด ทำแล้วไม่รู้จะไปเสนอใคร ขายใคร เล่นเอาคว้างกันอยู่พักใหญ่ (ไม่เหมือนยุคนี้ที่มียูทิวบ์(ยูทูบ)เป็นช่องทางแจ้งเกิดของศิลปินใต้ดินจำนวนมาก) กระทั่งเมื่อได้มาพบกับ “ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา” ผู้กว้างขวางในวงการเพลงมาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการวงให้ ก่อนที่น้าขุนทองจะนำผลงานของวงโซดาไปเสนอกับค่ายเพลงต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือ“แกรมมี่” ค่ายเพลงที่กำลังมาแรง

แกรมมี่ในยุคนั้นไม่ใช่ยุคนี้ เมื่อ“น้าเต๋อ -เรวัต พุทธินันทน์” ได้ฟังเดโมของวงโซดาแล้วก็ชอบ วงโซดาจึงได้ออกอัลบั้มแรกและอัลบั้มเดียวของพวกเขาคือ “คำก้อน”

งานนี้ไม่รู้ว่าในยุคนั้นน้าขุนทองแกเชี่ยวชาญด้านดูหมอหรือยัง ถ้าแกเป็นหมอดูแล้ว สงสัยแกลืมดูดวง ดูฤกษ์ยามให้วงโซดาเพราะปรากฏว่าอัลบั้มชุดคำก้อน แป้ก ขายไม่ได้ ชื่อเสียงก็ไม่เป็นที่รู้จัก

เมื่อโซดาไม่ซ่า สุดท้ายสมาชิกก็แยกย้ายสลายตัว แต่กับสมาชิก 4 พะหน่อคือ “โอ้ - โอฬาร” : กีตาร์, “โป่ง - ปฐมพงศ์” : ร้องนำ, “ทักษ์ - พิทักษ์” : เบส และ “แตงโม - ฉัตรพงษ์” มือคีย์บอร์ด ยังไม่ยอมแพ้ พวกเขาได้ออกมาฟอร์มวงใหม่โดยดึง “ชนินทร์ แสงคำชู” หรือ “กุ๋งกิ๋ง” มาเป็นมือกลอง พร้อมๆกับการให้กำเนิดวงใหม่ในนาม “ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์
ชุดหูเหล็ก
ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ ผู้บุกเบิกเฮฟวี่ไทย

ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ มีน้าโอ้-โอฬาร เป็นหัวหน้าวง รับผิดชอบด้านภาคดนตรี ส่วนน้าโป่ง รับผิดชอบด้านเนื้อร้อง เขียนเนื้อเพลง (เดิมวงนี้เคยคิดจะตั้งชื่อว่าวง “Thailand Band” แต่ด้วยเกรงจะมีผลเสียต่อประเทศชาติ จึงหันมาใช้ชื่อ“ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์” แทน”

ดิ โอฬารฯ ถือกำเนิดมาในปี 2528 พวกเขาเป็นหนึ่งในไม่กี่วงในยุคนั้น ที่ชัดเจนว่า “กูเล่นเฮฟวี่” โดยฝีมือกีตาร์ของน้าโอ้ในยุคนั้น ครบเครื่องทั้ง คอร์ด ริทึ่ม โซโล มีทั้งหนักแน่นปานภูผา ดุดันดุจพยัคฆ์ร้าย รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม เอ้ย!!!ไม่ใช่ รวดเร็วปานรถด่วนขบวนนรก ลูกนิ้วสะบัดรัวดุจจักรผัน แต่บทจะหวานก็หวานออดอ้อนกินใจ

ส่วนพี่โป่ง แม้รูปร่างหน้าตาของแกจะไม่ใช่แนวนักร้องไทยพิมพ์นิยม(ไม่ว่ายุคสมัยไหน) แต่น้ำเสียงของแกนั้นสุดยอด ทรงพลัง กร้าวแกร่ง และสูงลิบลิ่ว เหมาะสมกับเพลงแนวเฮฟวี่เป็นอย่างยิ่ง

หลังดิ โอฬารฯ บ่มเพาะฝีมือจนมั่นใจ พวกเขาก็หาญกล้าเดินหน้ายกระดับวงเฮฟวี่เมืองไทยด้วยการนำผลงานไปเสนอค่ายเพลง เพื่อออกผลงานเฮฟวี่ภาคภาษาไทย ซึ่งวงดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ นับเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเพลงเฮฟวี่เมทัล ภาคภาษาไทยยุคแรกๆในบ้านเรา***

แล้วอัลบั้มแรกของดิ โอฬารฯ ก็ถือกำเนิดมาในชื่อปี 2530 ในชื่อชุด “กุมภาพันธ์ 2528 แทนความห่วงใย” ภายใต้สังกัด “เสียงทอง”

นับเป็นความกล้าหาญของ ดิ โอฬารฯ ที่กล้าสวนกระแสทำเพลงแนวนี้ออกมา

อัลบั้มชุดนี้แม้จะเป็นที่รอคอยของคอเพลงหูเหล็กในยุคนั้น แต่ด้วยความที่เพลงเฮฟวี่ภาคภาษาไทยยังใหม่มากในบ้านเรา ยิ่งยุคนั้นยุทธจักรดนตรีบ้านเรามีพวกกระแสหลักอย่าง คาราบาว,อัสนี-วสันต์,ไมโคร,พี่แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์,พี่เบิร์ด ธงไชย งานเพลงชุดแรกของดิ โอฬารฯ จึงขายได้แค่เพียงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

แต่ทองแท้ย่อมไม่ใช่พานทองแท้ หากแต่ยังคงเป็นทองแท้อยู่วันยังค่ำ อัลบั้มชุดแรกของดิ โอฬารฯ ที่มีความแปลกใหม่มากสำหรับยุคนั้น เป็นเฮฟวี่ที่มีทั้งดุดัน อ่อนหวาน เนื้อหาดี ภาษาสวย อีกทั้งยังมีเพลงร็อกอมตะอย่าง “อย่าหยุดยั้ง” และ “ไฟปรารถนา” ค่อยๆสั่งสมบารมีขายได้แบบซึมลึก กลายเป็นอัลบั้มเฮฟวี่ไทยสามัญประจำบ้านที่แฟนเพลงหูเหล็กต้องมี ซึ่งนี่คือหนึ่งในผลงานเพลงที่ขายเทปได้เกินกว่าล้านตลับ ขณะที่เทปต้นฉบับก็ยังคงเป็นที่ต้องการของนักสะสมในราคานับพัน ส่วนซีดีที่ผลิตมาในรุ่นหลังก็ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดเพลงอย่างต่อเนื่อง

นับได้ว่า กุมภาพันธ์ 2528 แทนความห่วงใย คือหนึ่งในอัลบั้มร็อกคลาสสิกคู่วงการเพลงไทยที่ยังคงครองใจแฟนเพลงหูเหล็กอยู่ไม่เคยสร่าง(รายละเอียดของดิ โอฬารฯ อัลบั้มแรก ผมจะขอนำมาบอกเล่ากันในโอกาสต่อไป)

ทิ้งช่วงจากอัลบั้มแรกได้ไม่นาน ในปี 2532 วงดิ โอฬารฯ ส่งอัลบั้มชุดที่สองคือ “หูเหล็ก” ออกมาเขย่าวงการเพลง ชุดนี้พวกเขาย้ายค่ายมาสังกัด “ไมล์สโตน เร็คคอร์ด” ของ “มาโนช พุฒตาล”

ด้วยงานเพลงที่พัฒนาขึ้นเป็นเฮฟวี่สมบูรณ์แบบ การตลาดที่ดี และกระแสเฮฟวี่โลกที่เฟื่องฟูส่งอิทธิพลมายังบ้านเรา ทำให้อัลบั้มชุดหูเหล็กได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงเป็นอย่างดี ยกระดับชื่อของของวงดิ โอฬารฯ ขึ้นมาเป็นวงร็อกกระแสหลัก

อย่างไรก็ดีก็ยังมีแม้ชุดหูเหล็กจะไปได้สวย แต่ก็ยังมีพวกนักอนุรักษ์นิยมต่อต้านอัลบั้มนี้กันไม่น้อย

ต่อจากชุดหูเหล็ก ในปี 2536 วงดิ โอฬารฯ มีอัลบั้มออกมาแบบทรีอินวัน(3 in 1) คือชุด “ไตรภาค” อัลบั้มนี้แบ่งเป็น 3 ภาค คือ ดิ โอฬารฯ วงเดอะเรน และ มาโนช พุฒตาล ซึ่งงานเพลงของดิ โอฬารฯ ในชุดนี้ไม่ค่อยเด่นเท่าไหร่ ผิดกับงานเพลงเดียวโดดๆของมาโนช คือ“ไกล” ที่เด่นและคลาสสิกมาก เป็นบทเพลงแนวโปรเกรสซีฟ ที่หลังจากนั้นมาโนชได้นำไปต่อยอดทำเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มในชื่อชุด “ในทรรศนะของข้าพเจ้า” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานยอดเยี่ยมคลาสสิกชุดหนึ่งของบ้านเรา
ดิ โอฬารฯ ชุดที่ 5
หลังจากนั้นชื่อของวงดิ โอฬารฯได้ค่อยๆจางหายไป พร้อมกับกระแสดนตรีโลกที่เปลี่ยนไป เฮฟวี่ถูกแทนที่ด้วยอัลเทอร์เนทีฟ ขณะที่วงดิ โอฬารฯ ก็มีข่าวว่ามาถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งก็เป็นจริงเมื่อน้าโป่งได้ลาออกไปเดินตามเส้นทางของตนกับการฟอร์มวงใหม่ชื่อ “หินเหล็กไฟ” วงดนตรีที่ถือเป็นอีกหนึ่งวงร็อกแถวหน้าตลอดกาลของเมืองไทย

ส่วนวงดิ โอฬารฯนั้นก็เดินหน้าต่อด้วยการออกอัลบั้มชุดที่ 4 ออกมาคือ “ลิขิตดวงดาว” มีนักร้องนำคนใหม่เข้ามา คือ “บอย - สุพงษ์ พึ่งอาศรัย”

อัลบั้มชุดนี้แม้จะมีภาคดนตรี(กีตาร์)อันโดดเด่น มีเพลงบรรเลงรางวัลสีสันอะวอร์ดอย่าง“พลังและความตั้งใจ” แต่ด้วยเสียงร้องของบอยที่เหมาะกับแนวเพลงร็อกไม่ใช่เฮฟวี่เมทัล ยิ่งเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับน้าโป่งแล้วฟังดูด้อยไปถนัด ทำให้อัลบั้มชุดนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ขายได้แค่เฉพาะกลุ่ม

แล้ววงดิ โอฬารฯ ก็ทิ้งช่วงไป 6 ปี ก่อนที่น้าโอ้ น้าโป่ง น้าทักษ์ จะกลับมารียูเนี่ยนกันอีกครั้งเมื่อปี 2545 ในชุด “The Olarn Classic” โดยมี “ปิงปอง - ดำรงสิทธิ์ ศรีนาค” มาตีกลอง และ “จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย” หรือ “ป๊อบ เดอะ ซัน” มือกีตาร์ร้อนแรงแห่งยุคสมัย(นั้น)มาเป็นแขกรับเชิญ

งานเพลงชุดนี้เน้นแนวอะคูสติก มีการนำเพลงเก่าๆมาทำใหม่ ที่มีความละเมียดละไม สุขุม แบบร็อกรุ่นใหญ่ที่ไม่เหมือนเฮฟวี่โยกหัวดังเช่นในอดีต

The Olarn Classic นับเป็นผลงานลำดับล่าสุดของวง ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ ที่แฟนเพลงร็อกจำนวนมากเฝ้ารอคอยว่าไหร่วงดนตรีวงนี้จะออกอัลบั้มใหม่มาอีกครั้ง

เพราะนี่คือหนึ่งในหัวหอกผู้บุกเบิกดนตรีเฮฟวี่เมทัลภาคภาษาไทย และเป็นหนึ่งในยอดวงร็อกระดับตำนานของบ้านเรา
*****************************************

หมายเหตุ : ***วงดนตรีที่มีบันทึกอย่างเป็นทางการว่าเป็นวงเฮฟวี่ภาคภาษาไทยวงแรกของไทยคือ คณะ“เนื้อกับหนัง”(Fresh And Skin) ภายใต้การผลักดันของ“วิฑูร วทัญญู” นักจัดรายการวิทยุที่ถือเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกบทเพลงแนวเฮฟวี่เมทัลในบ้านเรา

คลิกฟังเพลง วงโซดา

*****************************************

แกะกล่อง

ศิลปิน : เขียว คาราบาว
อัลบั้ม : สัญญาหน้าฝน 60 ปี เขียว คาราบาว

ครั้งแรกกับคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบของ “กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร” หรือ “เขียว คาราบาว” ที่มีออกมาทั้งในรูปแบบ VCD และ DVD โดย Warner Music

คอนเสิร์ตครั้งนี้แม้บางช่วงจะดูจืดไปบ้าง เพราะน้าเขียวพูดและเอนเตอร์เทนไม่เก่ง แต่ด้วยอารมณ์เพลงเก่าคุ้นหูของคาราบาวที่พาไปผสมกับเพลงดังของน้าเขียว อย่าง “มนต์เพลงคาราบาว”, “ลุงขี้เมา”, “สัญญาหน้าฝน”, “ไม่เคย”, “ให้เธอ” ร่วมด้วยแขกรับเชิญมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะลุง ป้า น้า ในวงการเพลงเพื่อชีวิตที่มีช่วยดึงอารมณ์สร้างสีสัน ไม่ว่าจะเป็น สุเทพ-แดง วงโฮป,สีเผือก คนด่านเกวียน,ไข่ มาลีฮวนน่า,น้าหมู พงษ์เทพ,เป้า คาราบาว ก็ทำให้คอนเสิร์ตครั้งนี้ดูเป็นคอนเสิร์ตที่อบอุ่น คนที่เป็นแฟนเพลงน้าเขียวหรือแฟนเพลงคาราบาว ไม่น่าพลาดการเก็บไว้ในคอลเลคชั่น
กำลังโหลดความคิดเห็น