xs
xsm
sm
md
lg

คือตำนาน “คาราวาน อิน คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ” จากป่า“คืนรัง”/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์เพลงวาน โดย : บอน บอระเพ็ด(skbon109@hotmail.com)
ปกหน้าอัลบั้ม “คาราวาน อิน คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ”(ทำใหม่)
“โอ้ยอดรักฉันกลับมา จากขอบฟ้าที่ไกลแสนไกล จากโคนรุ้งที่เนินไศล จากใบไม้หลากสีสัน ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง”

“คืนรัง” : คาราวาน

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าเพลง “คืนรัง”นี้ “น้าหงา : สุรชัย จันทิมาธร” จะใช้เวลาเพียงน้อยนิดไม่กี่นาที แต่งเพลงขึ้นมาแบบฉันพลันทันด่วน ก่อนนำไปเล่นถ่ายทอดสู่สาธารณะเป็นครั้งแรก ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน“คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ” ที่ย้อนอดีตกลับไปเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2525

คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ หรือ คอนเสิร์ต “ฟอร์เก็ต มี น็อต ฟอร์ ยูนิเซฟ”(Forget Me Not For Unicef) เป็นคอนเสิร์ตการกุศลหาเงินช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว คอนเสิร์ตครั้งนั้นเล่นกันยาวหลายชั่วโมง มีคนดนตรีมากหน้าหลายตามาขึ้นเวที ซึ่งหลังคอนเสิร์ตได้มีการทำเป็นบันทึกการแสดงสดออกมา 2 ชุดที่แตกต่างกัน
อัลบั้ม รวมคอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ จากหลายศิลปิน
หนึ่งนั้นเป็นผลงานรวมศิลปินในชื่อชุด “รวมคอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ”ประกอบด้วย คาราวาน,จรัล มโนเพ็ชร,มุจรินทร์,วงแกรนด์เอ็กซ์ที่ฮอตมากในยุคนั้น,เรดิโอ และ มณีนุช เสมรสุต

ส่วนอีกหนึ่งเป็นผลงานชุด “คาราวาน อิน คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ” จากค่าย EMI ที่คัดสรรเฉพาะบทเพลงของคาราวานเดี่ยวๆมานำเสนอ ก่อนที่ตอนหลังจะเลิกผลิต หลังค่าย EMI ปิดตัวลงเมื่อหลายปีก่อน

แต่มาวันนี้นับเป็นข่าวดีของแฟนานุแฟนวงคาราวาน เพราะทางค่าย “Warner Music” ได้นำอัลบั้มบันทึกการแสดงสด “คาราวาน อิน คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ” มาผลิตใหม่ มีการปรับเปลี่ยนปกใหม่ ใส่รายละเอียดเพิ่มเครดิตลงไป แต่ยังคงคุณภาพเสียงจากไฟล์ต้นฉบับเอาไว้ เพื่อให้ได้อารมณ์และอรรถรสแบบดั้งเดิม

ในคอนเสิร์ตวันนั้นคาราวานเล่นปิดท้ายเป็นวงพระเอกไฮไลท์ของงาน เพราะนี่เป็นดังการต้อนรับวงคาราวาน “คืนรัง” กลับจากป่าสู่เมืองอีกครั้ง

ว่ากันว่า แฟนเพลงส่วนใหญ่วันนั้น พอรู้ข่าวว่าคาราวานจะมาเล่นในคอนเสิร์ตครั้งนี้ บัตรก็ขายหมดเกลี้ยงเพียงในสัปดาห์แรก
ปกในอัลบั้ม “คาราวาน อิน คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ”(ทำใหม่)
ชูเกียรติ ฉาไธสง” นักเขียน นักร้อง นักดนตรี หนึ่งในอดีตสมาชิกวงมาชารี เจ้าของบทเพลง “ผิงดาว” อันแสนไพเราะ ได้เขียนเล่าถึงบรรยากาศหลังเวทีก่อนการเล่นของคาราวาน ไว้ในท่อนสั่งลาบทสุดท้ายของหนังสือ “กำเนิดในยามพระเจ้าหลับใหล - เส้นทางและวิถีของ ‘หงา คาราวาน’ : ตำนานมีชีวิต!” ไว้อย่างเห็นภาพถึงอารมณ์ว่า

...หงาและเพื่อนร่วมวงเตรียมพร้อมอยู่หลังผ้าม่านผืนใหญ่บนเวทีหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นเสมือน ‘บ้านเก่า’ ของพวกเขา ขณะพิธีกรสาวชื่อดัง ‘จันทรา ชัยนาม’ กำลังกล่าวแนะนำกับผู้ชมอยู่ข้างหน้าเวที กีตาร์ในมือเหมือนเพื่อยากผู้คุ้นเคย ช่วยเรียกความมั่นใจและลดทอนความประหม่าตื่นเต้นได้ไม่น้อย คนดูแน่นขนัดเต็มหอประชุม นับเป็นการต้อนรับการกลับคืนเมืองของพวกเขาอย่างอบอุ่นยิ่ง

“ขอเชิญพบกับวงคาราวานค่ะ”

ทันทีทีสิ้นเสียงพิธีกร เสียงปรบมือพลันกระหึ่มก้อง ม่านค่อยๆรูดเปิดออก แสงจากไฟสปอร์ตไลท์สาดลงมาจนนัยน์ตาพร่าไปชั่วขณะ

และแล้วพยางค์เสียงแรกจากกีตาร์ในมือหงาก็กรีดกังวานขึ้น...

สำหรับการแสดงสดในวันนั้น สมาชิกวงทั้ง 4 ยังหนุ่มแน่น มีความสดอัดแน่นไปด้วยพลัง พวกเขาพาวงคาราวานขึ้นเวทีมาในแบบอะคูสติก นำโดย หงา-สุรชัย จันทิมาธร : ร้องนำ/กีตาร์, หว่อง-มงคล อุทก : พิณ/ฮาร์โมนิก้า/ร้องนำ, อืด - ทองกราน ทานา : กีตาร์/ไวโอลิน/กลอง และ แดง - วีรศักดิ์ สุนทรศรี : กีตาร์/กลอง

คาราวาน อิน คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ มีทั้งหมด 10 เพลง ในอัลบั้มใส่เสียงกล่าวเปิดวงหวานๆของพิธีกรจันทรานำมา ก่อนเปิดประเดิมกันด้วย “คนกับควาย” ที่พลันเสียงร้องของน้าหงาขึ้นมาพร้อมกับเสียงรัวกีตาร์ คนก็ปรบมือกรี๊ดกันลั่นฮอลล์

คนกับควาย บทเพลงลายเซ็นของวงจากชุดแรก(คนกับควาย) ถูกขับขานผ่านน้ำเสียงอันสูงลิบของน้าหงา พร้อมๆกับดนตรีจังหวะสนุกๆ มีเสียงหวานๆของไวโอลินฝีมือน้าอืดคลอไปตลอด
ปกหลังอัลบั้ม “คาราวาน อิน คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ”(ทำใหม่)
จากนั้นคาราวานเปิดตัวเพลงใหม่ “คืนรัง” ที่น้าหงาแต่งขึ้นมาฉับพลันทันด่วนใช้เวลาประมาณ 5 นาทีเขียนเพลงนี้ขึ้น แต่ประทานโทษ!?! นี่ไม่ใช่งานหยาบๆหากแต่เป็นงานเพลงที่ละเมียด ภาษา ท่วงทำนองงดงาม แสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศด้านการแต่งเพลงของน้าหงา ซึ่งหลังจากนั้นเพลงคืนรังที่แจ้งเกิดเพียงไม่กี่นาทีก็ได้กลายเป็นหนึ่งในเพลงอมตะขึ้นชื่อของคาราวานมาจนถึงทุกวันนี้

“โอ้…ยอดรักฉันกลับมา ดั่งชีวาที่เคยล่องลอย มาบัดนี้ที่เราเฝ้าคอย เจ้านกน้อยโผคืนสู่รัง...ฉัน….เหนื่อย ฉัน…เพลีย ฉัน…หวัง”

คืนรังเป็นเพลงเศร้าช้า ดนตรีไพเราะ น้าหงาใช้ภาษาได้สละสลวยเห็นภาพ ภาคดนตรีมีเสียงหวานอ้อยสร้อยจากไวโอลินของน้าอืด สีคลอไปสลับกับโซโลสร้างสีสัน ทำให้ใครบางคนที่ฟังเพลงนี้(เป็นครั้งแรก)ในคอนเสิร์ตครั้งนั้นถึงกับน้ำตาคลอหน่วย ขณะที่บางคนร่ำไห้อยู่ในใจ

เปลี่ยนอารมณ์มาสู่โหมดคึกคักกับ “ข้างถนน” บอกเล่าชีวิตของคนยากไร้ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน ขึ้นต้นด้วยการประชันฝีมือระหว่างฮาร์โมนิก้าฝีปากกล้าของน้าหว่องกับสไลด์กีตาร์สุดพลิ้วฝีมือน้าอืด

เพลงข้างถนนมาในอารมณ์โฟล์คบลูส์ที่มันมาก มันหยดถึงขนาดมีบันทึกว่า เพลงนี้(ในวันนั้น)เล่นกันจนใครบางคนทำสายกีตาร์ขาดเลยทีเดียว

ถัดไปเป็นเพลง“เปิบข้าว” ที่สะทกสะท้อนความรู้สึกของชาวนาออกมา ซึ่งในวันนี้คนไทยจำนวนมากกลัวการเปิบข้าวไทยไม่น้อย เพราะไม่มั่นใจในเรื่องสารพิษ สารรมยาที่ตกค้าง อันเป็นผลพวงมาจากโครงการจำนำข้าว(เน่า) ที่ทำวงการข้าวไทยเสียหายไปทั้งระบบ มีการโกงกันในทุกขั้นตอน นับเป็นหนึ่งในโครงการสุดอัปยศในประวัติศาสตร์ชาติไทย

สลับอารมณ์มาฟังน้าหว่องร้องเพลงกันบ้างกับ “กุลา” แล้วต่อด้วย “คืนสู่รัง” 2 บทเพลงประจำตัวของน้าแก

จากนั้นน้าหงากลับมาอีกครั้งกับ “หาบครุน้ำ” ในอารมณ์สนุกๆกับทางดนตรีพื้นบ้าน แล้วต่อด้วย “ยิ้มกลางสายฝน” บทเพลงที่น้าหงาเขียนขึ้นในช่วงเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 19 เพลงนี้บันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในคอนเสิร์ตนี้เช่นเดียวกับคืนรัง เป็นอีกหนึ่งเพลงที่เพราะมากของคาราวาน แต่เนื้อหานั้นลึกซึ้ง เปรียบเปรยห่ากระสุนปืนที่สาดใส่เหมือนดังสายฝนที่พร้อมจะต่อสู้กับมันด้วยรอยยิ้ม ดุจดังยืนยิ้มกลางสายฝน

“เย็น....ฝนพรำพร่างพรูสู่พฤกษา พรมไม้ป่า สดใสในวสันต์ หัวใจเรา ฉ่ำชื่นเช่นดังคืนวัน ฝันและใฝ่โลกใหม่ต้องเป็นของเรา...”

กลับมาสู่อารมณ์เพลงโฟล์คพื้นบ้านกันอีกครั้งกับ “ไอปอนปองซา” ที่มีภาษาลั้วผสมอยู่ในเพลง ฟังแปลกไปอีกแบบ

และแล้วก็มาถึงช่วงสุดท้าย ไม่มีงานใดไม่มีวันไม่เลิกรา คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ ครั้งนี้ปิดท้ายกันด้วยเพลง “คาราวาน” ที่น้าหงาแกพูดคุย ล่ำลากับแฟนเพลง ตามสไตล์ของแก คือสั้นๆ จริงใจ ไม่มีสคริปต์ แต่ชัดเจนในแนวทางเฉพาะตัว

เพลงคาราวานมีความยาวเกือบ 10 นาที เป็น บันทึกเรื่องราวความเป็นวงคาราวาน ขึ้นต้นมาด้วยเสียง“โหวด”สะกดอารมณ์ของน้าหว่อง เพลงนี้เป็นดังมหากาพย์ที่ช่วงแรกดำเนินเรื่องไปด้วยท่วงทำนองช้าๆซึ้งๆ ก่อนจะทวีดีกรีความเข้มข้น เพิ่มจังหวะเร่งเร้าเปิดพื้นที่ให้เครื่องดนตรีแจมกันอย่างสนุกในช่วงหลัง แล้วมาขมวดส่งท้ายกันด้วยอารมณ์หวาน เศร้า ซึ้ง ปิดท้ายคอนเสิร์ตอย่างประทับใจ

และนี่ก็คือหนึ่งในบันทึกการแสดงสดอันน่าจดจำของคาราวาน ที่แฟนเพลงยกให้เป็นหนึ่งในอัลบั้มการแสดงสดสุดคลาสสิกของวงๆนี้ อีกทั้งยังเป็นคอนเสิร์ตที่คาราวานประกาศคืนรังอย่างสมศักดิ์ศรีของผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิตบ้านเรา ที่แม้วันเวลาจะผ่านมาหลายสิบปี แต่อุดมการณ์ของคาราวานในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคมยังคงชัดเจน

ผิดกับเพื่อนพ้องหลายคนที่เคยร่วมต่อสู้กันมาในอดีต วันนี้พวกเขาได้แปรเปลี่ยนอุดมการณ์หันไปสยบยอมต่อนายทุน(นิยม)สามานย์แบบไม่รู้สึกรู้สา

บางคนทำได้ถึงขนาดยอมลดตัวไปเลียอวัยวะเบื้องล่างนักโทษหนีคดีที่ทำร้าย ทำลายชาติบ้านเมือง

งานนี้แม้ใคร(หลาย)คนนั้นจะหมดศักดิ์ศรี

แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นสุนัขรับใช้ชั้นดี
****************************************

แกะกล่อง

ศิลปิน : พงษ์สิทธิ์ คำภีร์
อัลบั้ม : บันทึกการแสดงสด 25 ปี(มีหวัง)

เป็นคอนเสิร์ตที่จัดแก้มือ หลังคอนเสิร์ต “25 ปี พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ มิวสิก เฟสติวัล” 15 ธ.ค. 55 เล่นไม่จบเพราะมีอันธพาลตีกัน สำหรับคอนเสิร์ตครั้งนี้ จัดขึ้นวันที่ 31 มี.ค. 56 ที่นอกจากแฟนเพลงมาให้กำลังใจกันมากมายอย่างอุ่นหนาฝาคั่งแล้ว ''พงษ์สิทธิ์ คำภีร์'' หรือ พี่ปู ของแฟนๆ ก็จัดหนักจัดเต็มกับการแสดงที่ยาวเหยียด เต็มแม็ก 3 ชั่วโมง กับบทเพลงทั้งฮิตและเปี่ยมไปด้วยความหมาย อาทิ พ่อเป็นกรรมกร, ตลอดเวลา, อยู่ตรงนี้, สุดใจ, หนุ่มน้อย, ยอดชาย, เสือตัวที่ 11

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากพี่ชายในวงการที่เป็นทั้งขวัญใจและแรงสนับสนุนให้กับ ''พงษ์สิทธิ์ คำภีร์'' ก็คือ ''ปรีชา ชนะภัย'' หรือ ''เล็ก คาราบาว'' กับ ''สุรชัย จันทิมาธร'' หรือ ''หงา คาราวาน'' มาร่วมแจมด้วยในเพลงอย่าง ยอดชาย, ไถ่เธอคืนมา และหนุ่มพเนจร และได้ศิลปินรุ่นใหม่ที่ยึดเอาพงษ์สิทธิ์เป็นขวัญใจ ''เป้-อารักษ์'' มาร่วมร้องเพลงเสือตัวที่ 11 บนเวที

ทั้งนี้ทางค่าย Warner Music ได้ส่งอัลบั้ม บันทึกการแสดงสด ''คอนเสิร์ต 25 ปี (มีหวัง)'' ออกมาทั้งวีซีดีและดีวีดี โดยในดีวีดี มีภาพคอนเสิร์ต 25 ปี พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ มิวสิก เฟสติวัล คอนเสิร์ตครั้งประวัติศาสตร์ที่เล่นไม่จบให้ชมกันเป็นโบนัสพิเศษอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น