xs
xsm
sm
md
lg

อำลาปรมาจารย์ "หลิวเจียเหลียง" กับหนังกังฟูต่อต้านความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี

บรรดาลูกศิษย์รำมวยไว้อาลัยให้อาจารย์
อาจพูดได้ว่านี่คือความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของวงการหนังกังฟู และในเวลาเดียวกันพิธีศพ เพื่อไว้อาลัยที่จัดกันไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็อาจจะเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมาของผู้คนในแวดวงหนังศิลปะป้องกันตัวฮ่องกงในอดีต นับจากการตายของ "บรูซ ลี" ที่มาเพื่อปรมาจารย์หนังกังฟู "หลิวเจียเหลียง" เป็นครั้งสุดท้าย

เมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งจะมีพิธีศพ เพื่อรำลึกถึงการจากไปของ "หลิวเจียเหลียง" ผู้กำกับหนังกังฟูที่อาจพูดได้ว่า "สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์" ของหนังแนวนี้ครับ

ความยิ่งใหญ่ของ หลิวเจียเหลียง นั้นมีอยู่หลายแง่มุม ในทางหนึ่งเขาถือว่าเป็นคนที่อยู่กับการกำเนิด, เติบโต, รุ่งเรือง และตกต่ำของหนังแนวนี้มาตลอด ในเวลาเดียวกันเขายังถือว่าเป็นคนที่มีส่วนอย่างยิ่ง ในการพัฒนาฉากต่อสู้ในหนังกำลังภายใน ให้แตกต่างอย่างชัดเจนจากหนังซามูไร และมีบทบาทสำคัญในการสร้างหนังกังฟูยุคใหม่ นอกจากนั้นก็ยังมีฝึกฝนเป็นครูสอนมวยของดารากังฟูในยุคแรก ๆ หลายคนด้วย

พูดโดยสรุปด้วยความเห็นส่วนตัวของผม "หลิวเจียเหลียง" สำคัญต่อหนังกังฟูกว่า 4 เทพแห่งวงการกังฟูอันได้แก่ "บรูซ ลี", "เฉินหลง" , หลี่เหลียนเจี๋ยและ "เจินจือตัน" เสียอีก

แม้จะเสียชีวิตไปแล้วแต่ "หลิวเจียเหลียง" ก็ฝากผลงานเอาไว้มากมาย ตั้งแต่งานสมัยเป็นผู้กำกับคิวบู๊อย่าง "เดชไอ้ด้วน" ที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่หากจะพูดถึงงานประเภท "ต้องดู" แล้ว ก็ต้องกล่าวถึงงานที่เขากำกับเองเป็นหลัก ... เพราะเป็นหนังที่มีเนื้อหาลึกซึ้ง, กล่าวถึงศิลปะป้องกันตัวของจีนในหลากหลายแง่มุม และที่สำคัญหนังของเขายังสนุกมาก ๆ ด้วย

โดยพื้นฐานหนังกังฟูมักจะว่าด้วยเรื่องราวของการต่อสู้ เหตุการณ์ในหนังวนเวียนอยู่กับการล้างแค้น ส่วนใหญ่มีความรุนแรงอยู่พอสมควร และมักจะลงเอยด้วยการฆ่าแกงกัน ... แต่งานหลาย ๆ เรื่องของปรมาจารย์อย่าง "หลิวเจียเหลียง" กลับให้มุมมองอีกอย่างของคำว่าศิลปะป้องกันตัว ด้วยการเล่าเรื่องราวกังฟูที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเอาชีวิตกัน

หลังทำงานตั้งแต่เป็นตัวประกอบ, สตั้นแมน และ ผกก. คิวบู๊ หลิวเจียเหลียง เริ่มต้นชีวิตเป็นผู้กำกับเต็มตัวในปี 1975 ตอนที่เขามีอายุได้ 31 ปี ด้วยหนังเรื่อง "ไอ้เณรจอมคาถา" ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก แต่อย่างน้อยหนังที่ว่าด้วยกังฟูผสมไสยศาสตร์เรื่องนี้ ก็กลายเป็นต้นแบบให้กับหนังชุด "ผีกัด" รวมไปถึงหนังกังฟูตลกที่ดังสุด ๆ ในยุคต่อมา นอกจากนั้นก็ยังเป็นงานที่เขาส่งให้ศิษย์น้องที่ชื่อว่า หลิวเจียฮุย ให้ดังขึ้นมา จนทั้งคู่กลายเป็น ผู้กำกับ-พระเอก คู่บุญกันไปอีกหลายปี



ตำนาน "เส้าหลิน" และ มวย "หงกวน"

แต่หากจะพูดถึงงานที่ทำให้อาชีพผู้กำกับของ หลิวเจียเหลียง มั่นคงขึ้นมาทันที ก็คือ "ถล่มเจ้าระฆังทอง" (1977) หนังกังฟูสุดฮิต ที่เล่าถึงจอมยุทธต้นกำเนิดมวยสายหงกวน อย่าง "หงซีกวน"

ถล่มเจ้าระฆังทอง จับเอาเหตุการณ์ในสมัยเฉียนหลง ที่เหล่าชาวฮั่นโดนกวาดล้างหนัก ฐานที่มั่นสำคัญอย่างเสาหลินโดนเผาจนราบ หงซีกวน (เฉินกวนไท้) ที่เอาชีวิตรอดมาได้ ต้องต่อสู้กับศัตรูตัวร้ายอย่างนักพรตคิ้วขาว "ไป๋เม่ย" (สวมบทอย่างยอดเยี่ยมโดย หลอลี่) ที่ฝึกฝนหนักแค่ก็ยังพ่ายแพ้ ถึงขั้นโดนสังหาร จนต้องให้ลูกชายคือ หงเหวินติง (หวังยี่) มารับหน้าที่สืบสานต่อหน้าที่แทน

หลังจากนั้นเขายังดังสุด ๆ กับ "ยอดมนุษย์ยุทธจักร" (1978) หนังเกี่ยวกับวัดเส้าหลิน ที่ฝรั่งยังกรี๊ดเมื่อถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในสหรัฐฯ ด้วยชื่อ Master Killer

แต่งานในยุคแรกของ หลิวเจียเหลียง ที่ถือว่าน่าสนใจที่สุด และสมควรจะกล่าวถึงเป็นพิเศษก็คือ "จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโต" (1976) หนังที่เล่าเรื่องชีวิตในช่วงต้นของปรมาจารย์ หวงเฟยหง กับการฝึกฝนวิชามวย "หงกวน" จากอาจารย์ของบิดาที่ชื่อว่า ลู่อาไฉ (เฉินกวนไท้) เป็นหนังกังฟูเรียบง่ายแต่หนักแน่น และจริงจัง เนื้อหาพูดถึงการเติบโตของจอมยุทธ์ จากเด็กหนุ่มที่ไม่เคยฝึกมวยมาก่อน จนกลายเป็นจอมยุทธขึ้นมาได้ ด้วยการเล่าเรื่องที่น่าเชื่อถือและลึกซึ้ง กับเนื้อเรื่องที่คล้าย ๆ กับ "ไอ้หนุ่มหมัดเมา" แต่ตัดเรื่องการดื่มเหล้า และความตลกออกไป

งานของ หลิวเจียเหลียง มักจะพูดถึงความสัมพันธ์ของศิษย์กับอาจารย์ และเรื่องราวการฝึกตนของตัวละคร ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ฝึกฝนยอดวิชาอันไร้เทียมทาน แต่ยังรวมถึงการอุตสาหะเอาชนะความยากลำบาก แลพัฒนาจิตใจของตัวละครด้วย

และที่สำคัญ จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโต ยังมีเนื้อหาที่ไม่ค่อยได้เห็นนักในหนังกังฟูทั่วไป คือ เนื้อเรื่องที่ว่าด้วยการให้อภัยกัน เมื่อในตอนท้ายของเรื่องตัวละครเอกที่เพียรฝึกวิชาเพื่อแก้แค้นแทนผู้มีพระคุณ ที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม กลับลงเอยด้วยการปล่อยวางความแค้น เป็นฉากที่แทบไม่ปรากฏอยู่ในหนังแนวนี้เลย

หลิวเจียเหลียง เป็นนักบู๊ที่ฝึกมวยมาจริง ๆ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของ หลิวชาน ศิษย์ของ หลินซื่อหยง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหวงเฟยหงอีกต่อหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะทำหนังที่ว่าด้วยมวยตระกูลหงกวน และสายเส้าหลินได้ดีเป็นพิเศษ

มวยตระกูลนี้แม้จะตั้งชื่อตาม หงซีกวน แต่ก็ไม่ได้มีบันทึกที่ชัดเจนเกี่ยวกับวีรบุรุษแห่งเส้าหลินผู้นี้อยู่สักเท่าไหร่ ปรมาจารย์ต้นสายของ หงกวน ที่พอจะสืบค้นได้ก็เห็นจะเป็น ลู่อาไฉ ตัวละครเอกตัวหนึ่งใน จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโต ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ของหวงเฟยหง และยังเป็นอาจารย์ปู่ทวดของ หลิวเจียเหลียง ด้วย

ชีวประวัติเรื่องราวของ ลู่อาไฉ คือสิ่งที่ หลิวเจียเหลียง พยายามจะดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ให้ได้ แต่เพราะในช่วงท้ายของชีวิตสุขภาพของเขาทรุดโทรมไปมา ความตั้งใจดังกล่าวจึงไม่สามารถทำให้บรรลุผลได้ แม้จะน่าเสียดาย แต่อย่างน้อย จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโตที่ หลิวเจียเหลียง ฝากเอาไว้ ก็ถือว่ายิ่งใหญ่เพียงพอแล้ว

กังฟูไม่ได้เอาไว้ฆ่ากัน

และไม่ใช่เฉพาะ "จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโต" เท่านั้น หากจะย้อนกลับไปดูบรรดาหนังยุคคลาสสิกของผู้กำกับระดับตำนาน หลิวเจียเหลียง จะพบว่ามีอยู่หลายเรื่องที่มีเนื้อหาที่แตกต่างจากหนังกังฟูจำนวนมาก เพราะไม่ได้มุ่งไปถึงเรื่องฆ่าฟัน แม้บทบู๊จะยังโดดเด่นดูมันส์ สนุกตื่นเต้นเหมือนเดิมก็ตาม

"ถล่มสำนักสิงห์กวางตุ้ง" (1978) เป็นหนังที่ หลิวเจียเหลียง เล่าถึงชีวิตวัยหนุ่มของ หวงเฟยหง อีกครั้ง ในท้องเรื่องที่ว่าด้วยความขัดแย้งของสองสำนักกังฟูประจำเมือง ซึ่งก่อเรื่องวิวาทกันอยู่เป็นประจำ และหนึ่งในนั้นก็คือสำนักของ หวงเฟยหง นั่นเอง

ความบาดหมางระหว่างสำนักมวยทั้งสอง บานปลายถึงขั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่โต และไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อยุติได้ง่าย ๆ จนเมื่อสำนักคู่อริไปได้ยอดฝีมือจากทางเหนือมาเป็นกำลังสำคัญ ฝ่ายของ หวงเฟยหง ก็ดูจะลำบากขึ้นมาทันที

นอกจากคิวบู๊มัน ๆ แล้ว ถล่มสำนักสิงห์กวางตุ้ง ยังพูดถึงความเป็นไม้เบื่อไม้เมากันระหว่างคนภาคเหนือแถบปักกิ่ง กับคนไต้ในกวางตุ้งได้น่าสนใจดี และมีบทสรุปจบท้ายในแง่บวก ที่ให้ตัวละครสามารถเอาชนะความแตกต่างเรื่องวัฒนธรรม จนสามารถปรองดองกันได้ในที่สุด



หลิวเจียเหลียง ยังมีงานที่เป็นหนังกังฟูประเภทที่ไม่มีบรรยากาศของการฆ่าฟันอะไรเลย แบบนี้อยู่อีกหลายเรื่อง

"คุณย่ายังสาว" (1981) เล่าถึงสาวสวย (ฮุ่ยอิงหง) ที่แต่งเข้าตระกูลใหญ่ กลายเป็นภรรยาของเจ้าตระกูล แต่สามีสูงวัยกลับตายไปตั้งแต่ก่อนเธอจะเข้าบ้าน และได้พบหน้าเขาด้วยซ้ำ จนเธอต้องกลายเป็นม่ายทันทีที่เดินทางมาถึงบ้านของฝ่ายชาย แถมยังต้องใช้วิชากังฟูของตัวเอง มาช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งแย่งสมบัติในตระกูลอีก

ส่วน "ไอ้หนุ่มมวยจีน" (1980) เป็นหนังที่ว่าด้วยความรักความเกลียดของ จีนกับญี่ปุ่น แต่นำเสนอในมุมมองเบา ๆ ไม่ได้จงเกลียดจงชังอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้เหมือนหนังจีนบางเรื่อง หนังพูดถึงหนุ่มกังฟูที่ถูกจับแต่งงานกับสาวญี่ปุ่น และต้องไปพิสูจน์ฝีมือว่าตัวเองคู่ควรกับเธอ ด้วยการประลองกับยอดฝีมือของญี่ปุ่นถึง 7 คน เป็นหนังที่ต้องบอกว่าแทบไม่มีใครตายให้เห็นเลย



แต่ทั้งหมดทั้งมวลของหนังโดย หลิวเจียเหลียง ที่มีน้ำเสียงต่อต้านความรุนแรง, ให้มุมมองที่แตกต่าง ไม่ได้นำเสนอกังฟูในฐานะวิชาแห่งการฆ่ากันก็คือ "18 เจ้าอาวุธมหาประลัย" (1981)

หนังเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงสมัยซูสีไทเฮา เมื่อช่วงก่อนจะเกิดความโกลาหลในเหตุการณ์ "กบฏนักมวย" เล็กน้อย ที่ราชสำนักชิงได้มีคำสั่งให้เหล่าสำนักมวยมาเป็นกำลังให้กับราชสำนักเพื่อต่อต้านชาวต่างชาติ แต่แล้วยอดฝีมือคนหนึ่งกลับเลือกยุบสำนักสาขาของตัวเองทิ้งแบบไร้สาเหตุ จนต้องมีการส่งคนเข้าไปสืบสาวราวเรื่อง

หนังเฉลยว่ายอดฝีมือคนนี้ (หลิวเจียเหลียง สวมบทบาทเอง) ได้เกิดคำถามในใจว่าวิชามวยของตัวเอง กำลังจะตกเป็นเครื่องมือของราชสำนัก ในการมอมเมาประชาชน ด้วยคำลวงให้เชื่อว่าจีนจะสามารถต่อกรกับปืนไฟของต่างชาติได้ หากมีวิชาหมัดมวย และวิชาอยู่ยงคงกระพันธ์พวกนี้ แต่เขากลับมองเห็นว่านั่นเป็นเพียงเรื่องเป็นไปไม่ได้ และมีแต่จะทำให้คนจีนต้องตายไปอย่างไร้ค่าเท่านั้น

แน่นอนว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของ 18 เจ้าอาวุธมหาประลัย ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างผู้ทรยศกับบรรดามือดีของสำนักต่าง ๆ ที่ทางการส่งมากำราบเขา แต่เนื้อหาใจความของหนังนั้นก็ชัดเจน ว่าเป็นการตั้งคำถามถึงการใช้ความรุนแรง ถือว่าเป็นคำถาม และบทเรียนที่ปรมาจารย์ หลิวเจียเหลียง ฝากเอาไว้แม้ตัวท่านจะไม่อยู่บนโลกแล้วก็ตาม



ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

1934 - 2013
ภรรยา และลูก ๆ ของ หลิวเจียเหลียง
เดวิด เจียง, เม๊าะเจี๊ยะ, เฉินไป่เสียน และดารารุ่นใหญ่มากมาย มาร่วมพิธีศพของ หลิวเจียเหลียง
เจินจื่อตัน มาร่วมงานด้วยแน่นอน
เจิ้งเส้าชิว
เม๊าะเจียะ และซื่อเทียน
ไปเปียว
ลูกศิษย์โชว์การเชิดสิงโต
หวังหยู่ ที่ร่วมงานกันในหนังหลายเรื่อง รวมถึง เดชไอ้ด้วน และเดชไอ้บอด
ผกก. หลิวเหว่ยเฉียง
ไม่ได้มาร่วมงานด้วยตัวเอง แต่ หลิวเต๋อหัว ส่งคำไว้อาลัยให้แทน

กำลังโหลดความคิดเห็น