xs
xsm
sm
md
lg

จัน ดารา : หนังยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพ ‘นม’!!

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook : teelao1979@hotmail.com

แม้จะเข้าฉายมาร่วมสองอาทิตย์เต็มๆ แต่กระแสความคิดของผู้คนที่มีต่อ “เรื่องของ จัน ดารา” ยังดูท่าว่าจะไม่จบลงง่ายๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ฝักใฝ่ในเรื่องศีลธรรมความดีงาม ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์งานชิ้นนี้กันอย่างคับคั่ง เช่นเดียวกับผู้คนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เห็นดีเห็นงามกับหนังเรื่องนี้

ประเด็นใหญ่ๆ ที่พอจับใจความได้จากกระแสความคิดเห็นเหล่านั้น มีทั้งพุ่งเป้ายิงคำถามตรงไปยังเจตนารมณ์ของผู้สร้างว่ามีความมุ่งหมายที่จะบอกอะไรกับสังคม หรือทำงานเพื่อสนองตัณหาของตัวเองเพียงอย่างเดียว ส่วนบางกลุ่มพอเห็นการเปิดเปลือยเนื้อหนังมังสาและเซ็กซ์ซีนแบบถึงลูกถึงคนในภาพยนตร์แล้ว ก็ไต่ถามถึงความเหมาะสมในการให้เรตติ้ง และก็มีไม่น้อยเหมือนกันที่ไปไกลถึงขั้นที่ว่า สังคมยังเสื่อมไม่พออีกหรือ ทำไมต้องทำหนังแบบนี้ออกมา สุดท้ายก็กล่าวหาว่าหนังเรื่องนี้ของหม่อมน้อยชะรอยจะทำให้สังคมตกต่ำเสื่อมทรามลง ขณะเดียวกัน ก็มีปัญหาคำถามโลกแตกที่ยากจะสรุปได้ว่าหนังเรื่องนี้มันเป็นศิลปะหรืออนาจาร

เอาเป็นว่า ณ จุดนี้ ผมขออนุญาตวางประเด็นเหล่านั้นไว้ชั่วคราวเพื่อมองเข้าไปในหนังเรื่องนี้เสียก่อน ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งรู้จักกับ “จัน ดารา” มาตั้งแต่สมัยรุ่นๆ หนังเรื่องนี้สร้างมาจากนวนิยายสุดคลาสสิกของครูอุษณา เพลิงธรรม (หรือ ประมูล อุณหธูป) ตอนที่นิยายเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ก็ใช่ว่าจะราบรื่นนะครับ เพราะครูอุษณาเองก็ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากฝ่ายที่มองว่าเนื้อหาของหนังสือตลอดจนการบรรยายฉากอันเกี่ยวข้องกับกามราคะ มันดู “อนาจาร” และโจ่งแจ้งเกินกว่าสาธุชนคนดีจะรับได้ แต่ในอีกฟากหนึ่งก็บอกว่านิยายเรื่องนี้แฝงความลุ่มลึกด้วยเนื้อหาซึ่งจำเป็นต้องก้าวพ้นคาวกามและก้าวข้ามเรื่องบนเตียงไปก่อน จึงจะเข้าถึงและเข้าใจ

ในฐานะคนที่อ่านหนังสือมา ผมเห็นด้วยอย่างมากกับคำออกตัวของครูอุษณา เพลิงธรรม ที่เกริ่นอารัมภบทไว้ในหน้าแรกๆ ก่อนเริ่มเรื่อง ว่า “นวนิยายเรื่องนี้ เป็นเรื่องยาวเรื่องแรกของผู้เขียน ซึ่งต้องขอบอกกล่าวไว้เสียด้วยว่าเป็นเรื่องอ่านเล่น ซึ่งไม่ใช่ของสำหรับเด็ก และเป็นของแสลงอย่างยิ่งสำหรับบุคคลประเภทมือถือสาก ปากถือศีล” ที่ผมยกถ้อยคำนี้มา ไม่ได้จงใจที่จะแดกดันใคร (โดยเฉพาะพวกหลังที่ครูอุษณาเอ่ยถึง) หากแต่คำนี้ จะเป็นเหตุเป็นผลในสิ่งที่ผมจะกล่าวในลำดับถัดไป

หลังจากที่คุณนนทรีย์ นิมิบุตร เคยหยิบยกเอาวรรณกรรมอมตะเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วครั้งหนึ่ง ก็ถึงทีของหม่อมนักทำหนังอย่าง ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่ช่วงหลังๆ หันไปสร้างภาพยนตร์ซึ่งมีเรื่องราวต้นฉบับเป็นหนังสือ ไล่ตั้งแต่ “ชั่วฟ้าดินสลาย”, “ราโชมอน” มาจนถึง “จัน ดารา” เรื่องนี้ และสิ่งที่น่าจะทำให้หม่อมน้อยเลี่ยงไม่พ้นข้อครหาว่าฝักใฝ่ในเรื่องเพศ (มากเกินไปหรือเปล่า?) ก็เพราะว่า สองในสามเรื่องที่ว่านั้น ล้วนเป็นผลงานที่เคลือบฉาบและเปียกแฉะด้วยตัณหากามารมณ์ แน่นอนว่า กับคำถามข้อนี้ย่อมไม่มีใครรู้ดีไปกว่าหม่อมน้อย

ท่ามกลางความคิดเห็นที่ว่าจะนำของเก่ามาผลิตซ้ำซากทำไม ไม่รู้จักคิดเรื่องใหม่ๆ กันบ้างหรือ เพราะลำพังแค่ “ชั่วฟ้าดินสลาย” ก็มีคนทำไว้แล้วถึง 3 เวอร์ชั่น ส่วนจัน ดารา คุณนนทรีย์ก็เพิ่งกำกับไว้เมื่อไม่กี่ปีก่อน หม่อมน้อยก็ยังยืนยันว่านิยายของครูอุษณาชิ้นนี้ยังมีแง่มุมอีกหลากหลายให้พูดถึง ซึ่งผมในฐานะผู้อ่านนิยายของครูอุษณา มองว่าฉบับของคุณนนทรีย์นั้น ได้นำเสนอไว้อย่างครบถ้วนรอบด้านแล้ว ถึงแม้จะเป็นการทำแบบ “เคารพต้นฉบับ” เจริญรอยตามหนังสือแบบเป๊ะๆ ก็ตามที

ด้วยจุดมุ่งหมายที่ว่าจะ “ตีความใหม่” ของหม่อมน้อย ผมก็อดคาดหวังไม่ได้ว่าจะ “ตีความใหม่” ออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งหลังจากที่ดูจบ ผมก็พบว่าหนังไม่ได้มีอะไรใหม่ นอกเสียจากการแต่งเสริมเติมใส่กระทั่งจงใจดัดแปลงรายละเอียดให้แตกต่างไปจากฉบับหนังสือ หากแต่ส่วนที่ “เป็นเนื้อเป็นหนัง” ก็ยังคงเดิม ถ้าจะพูดถึงการตีความใหม่ ผมคาดหวังให้มีการตีความในเชิงลึกของตัวละครมากกว่า เพราะถ้าจะว่ากันจริงๆ เอาเฉพาะแค่บทคุณหลวงนั้น ในเวอร์ชั่นหนังสือ ดูค่อนข้างเป็นตัวละครที่เรียกว่า “แบนราบ” อยู่พอสมควร นั่นก็คือมีด้านเดียว เป็นรูปแบบของตัวละครลักษณะถ้าดีก็ดีสุดขั้ว ถ้าชั่วก็ชั่วสุดขีด ขาวจัดดำจัด (Type Character) เราไม่ได้สัมผัสความเป็นมนุษย์ของคุณหลวงในด้านอื่นๆ เลย

ซึ่งจริงๆ ถ้าเราจะ “ตีความใหม่” หรือ “ให้ความเป็นธรรม” ต่อคุณหลวงก็ทำได้ไม่ยาก เพราะเมื่อย้อนไปดูต้นทางที่มาของเรื่องราว เราก็จะเห็นว่า คุณหลวงเอง ตอนแรกก็ตกกระไดพลอยโจนเข้ามาอยู่บ้านหลังนี้อย่างจำยอม ตัวเองกำลังตกยาก และมองหาแหล่งหลักใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก่อนจะถูกโชคชะตาพัดพาให้ก้าวเข้ามาสู่วังวนอันอุบาทว์นี้ อย่างไรก็ดี การตีความใหม่ของหม่อมน้อยก็ไม่ได้เข้าไปเน้นไปเล่นกับจุดนั้น หากแต่ยังนำเสนอออกมาตามเดิม คือ คุณหลวงเป็นคนเลวๆ คนหนึ่งซึ่งสมควรได้รับความเกลียดชัง

ด้วยเหตุดังนั้น ในความคิดของผม “การตีความใหม่” ของหม่อมน้อย จึงไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าการเพิ่มเติมรายละเอียดซึ่งไม่ได้มีอยู่ในหนังสือหรือตัดแต่งพันธุกรรมใหม่ให้กับตัวละครตัวต่างๆ อย่างเช่น การเปลี่ยนให้เคน กระทิงทอง เป็นหนุ่มหล่อ และชกมวยแทนเล่นไก่ชน หรือการเติมบทบาทในส่วนของน้าวาดให้เยอะขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เติมเหตุการณ์ใหม่ๆ ลงไป เช่น การใช้แบ็กกราวน์ฉากหลังบางฉากเป็นสถานการณ์ทางการเมือง (ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475) และที่ผมเห็นว่ามันไม่เข้าท่าเอาซะเลย เหมือนว่าตอนหม่อมน้อยเขียนฉากนี้จะไม่ได้นึกถึงหน้าครูอุษณาแม้แต่น้อย นั่นคือ การเพิ่มฉากที่จัน ดารา เกือบโดนเหล่าอันธพาล “ตุ๋ยก้น” อย่างนั้น มันทำให้เรื่องดูแย่ลงมากกว่านะครับ

ในความพยายามที่ว่าจะคิดเยอะและคิดต่าง เติมโน่นแต่งนี่มากมายไปหมด แต่บทจะพลาด หนังก็มาพลาดเอาในจุดที่ไม่ควรจะพลาด โดยเฉพาะเสียงพากย์ของโช นิชิโนะ (บทคุณแก้ว) ซึ่งก็อุตส่าห์เอาคนไทย (ถ้าเข้าใจไม่ผิด คือเสียงคุณนัท มีเรีย) มาพากย์แล้ว จะพากย์ให้เป็นสำเนียงญี่ปุ่นทำไม และที่สำคัญ ตัวละครคุณแก้วก็ไม่ได้เลือดเนื้อเชื้อไขคนญี่ปุ่นอยู่แล้ว พากย์ให้เป็นคนไทยไปเลย พอถึงบทที่คุณแก้วต้องพูดทีไร ผมเหนื่อยใจทุกที เพราะการพากย์เสียงนี้ (ที่พยายามให้มีสำเนียงญี่ปุ่นพูดไทย) มันแห้งแล้งไร้อารมณ์สิ้นดี!

ทั้งนี้ทั้งนั้น นิยายเรื่องนี้โดยภาพรวม มันดำเนินไปข้างหน้าท่ามกลางความขัดแย้งอันขมึงตึงระหว่าง “คุณหลวง” กับ “จัน ดารา” ซึ่งผมคิดว่า ฉบับของคุณนนทรีย์นั้น นำเสนอสิ่งนี้ได้หนักแน่นชัดเจนกว่า ส่วนฉบับของหม่อมน้อย กลับทำให้เรารู้สึกว่า คนสองคนนี้ ก็อยู่กันไปได้เรื่อยๆ เหมือนไม่มีเรื่องอะไรคอขาดบาดตาย เพราะต่างคนก็ต่างอยู่ไป คุณหลวงก็ใช้ชีวิตนอกบ้านไป นานๆ จะเผชิญหน้ากันที

จุดที่ควรขับเน้นกลับไม่ได้รับการขับเน้น และส่วนที่โดดเด่นกลับเป็นฉากโป๊เปลือยและเลิฟซีน ซึ่งดูเหมือนหม่อมน้อยจะสนุกมือเป็นพิเศษ เพราะต่อให้ไม่นับรวมฉากรักที่กระจัดกระจายอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ตั๊ก-บงกช คนเดียว ก็เปิด “จุกบงกช” ไปไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ และสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึก “ตลก” ก็คือ ตอนที่ “น้าวาด” (ตั๊ก บงกช) เล่าอดีตความรักของตัวเองให้จัน ดารา ฟัง ผมไม่คิดว่าการใส่เลิฟซีนโป๊เปลือยเข้าไปตรงนั้น จะจำเป็นอะไรนะครับ เพราะ “คนเล่าเรื่อง” (โดยเฉพาะเป็นผู้หญิง) จะไปเล่าฉากอีโรติกของตัวเองให้คนอื่นฟังทำไม เพื่อเพิ่มความรู้สึกดื่มด่ำ หรือว่านี่ก็เป็นเพียงความจงใจที่จะทำให้หนังมันดูมีฉากเปลือยเยอะๆ เท่านั้นเอง เช่นเดียวกับการแฟลชแบ็คไปยังจุดที่เห็น “นมน้าวาด” ที่แฟลชแบ็คจนนมช้ำไปเลยก็ว่าได้

อันที่จริง เรื่องของฉากเปลือยเยอะๆ นี้ ผมเชื่อว่าคนทั่วไปคงจะรู้ตั้งแต่ได้ยินโปรโจคต์แล้วล่ะครับ เพราะทันทีที่ประกาศชื่อดาราแต่ละคนออกมา ก็พอเดาได้ว่า หม่อมน้อยต้องจัดหนักจัดเต็มแน่นอน เนื่องจากมีแม้กระทั่งดาราหนังโป๊มาร่วมแสดงด้วย

ในแก่นสารของความเป็น “จัน ดารา” นั้น ฉบับนวนิยาย ได้สะท้อนให้เห็นถึงความลุ่มหลงมัวเมาในกามรสซึ่งกระชากวิญญาณปุถุชนให้ถลำไปสู่สภาพไม่ต่างจากตกนรกหมกไหม้ นิยายสอนใจหลายเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่ความชิงชังอาฆาตพยาบาทที่ควรได้รับการปลดวางด้วยการให้อภัย พูดง่ายๆ ว่า ท่ามกลางการนำเสนอเรื่องเพศของหนังสือ ครูอุษณาก็แทรกสื่อสาระลงไปด้วยแบบจับต้องสัมผัสได้ ใครที่ยังไม่อ่านนิยาย ผมแนะนำให้ไปหามาอ่านครับ อย่างไรก็ตาม ในฉบับภาพยนตร์ของหม่อมน้อย เราสัมผัสสารัตถะแบบนี้ได้น้อยเหลือเกิน ที่เกลื่อนหูเกลื่อนตา กลับเป็นเนื้อหนังมังสาและกามราคะที่ถูกเสิร์ฟจนทะลักล้น

แต่เอาเถอะ...พูดแบบเป็นธรรมกับหม่อมน้อย ก็อาจจะบอกว่า หนังยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพนม (!!??) เพราะยังจะมี “นม” ให้นับอีกแน่นอน (ภาคนี้ คุณตั๊ก บงกช โชว์ออ๊อฟไปเต็มๆ ภาคหน้าอาจจะเป็นช่วงเวลาของญาญ่า หญิง กับบทของคุณบุญเลื่อง) ขณะเดียวกัน หนังอาจจะไปฮุกประเด็นเนื้อหาแรงๆ ในภาคต่อไปก็ได้ ก็ต้องคอยดูกัน แม้อันที่จริง ผมจะรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สามารถทำให้จบได้ในภาคเดียว เหมือนที่คุณนนทรีย์ทำไว้แล้ว แต่เมื่อหม่อมอ้างว่ามันยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าพูดถึง ก็ว่ากันไป แต่ในมุมส่วนตัว ผมก็ยังมองว่า “หลายๆ แง่มุม” ที่ว่านั้น มันก็เป็นเพียงการแต่งเพิ่มเข้ามาจากตัวนิยาย ซึ่งพูดกันอย่างถึงที่สุด ก็ไม่เห็นว่ามันจะส่งผลกระทบต่อตัวเนื้อเรื่องโดยรวมอย่างไร เช่น ทำไมต้องมีฉากหลังเป็นการเมืองสมัยเปลี่ยนการปกครอง คุณหลวงไปยุ่งอะไรกับการเมือง และการเมืองมันส่งผลกระทบหรือสร้างความพลิกผันเปลี่ยนแปลงหรือสะท้อนเรื่อง “การมุ้ง” ในบ้านวิสนันท์อย่างไรบ้าง แต่ก็อีกนั่นแหละ เข้าใจว่า พอนำเรื่องการเมืองเข้ามาเอี่ยว มันทำให้หนังดู “มีราคา” ขึ้นมา ใช่หรือเปล่า?

เอาเข้าจริง ยิ่งคิดผมก็ยิ่งรู้สึกว่า หนังเวอร์ชั่นของคุณนนทรีย์นั้น ดูกระชับรัดกุมและตอบโจทย์ครบถ้วนแล้วในแง่ของปุถุชนที่ลุ่มหลงมัวเมากับกามตัณหา แต่ถ้าจะมีส่วนใดส่วนหนึ่งซึ่งน้อยหน้าฉบับของหม่อมน้อยไปบ้าง ก็คงหนีไม่พ้น “เรื่องอย่างว่า” เพราะคริสตี้ ซุง คนเดียว ในเวอร์ชั่นคุณนนทรีย์ หรือจะสู้ “กองทัพนม” ของดาราในสังกัดหม่อมน้อยได้

เพราะเหตุนี้แหละครับที่จะนำไปสู่ประเด็นที่ผู้ปกครองหลายคนตั้งคำถามว่า ที่สุดแล้ว “จัน ดารา” เวอร์ชั่นหม่อมน้อย ควรได้เรตที่สูงกว่านี้ไหม คือแทนที่จะเป็น “18+” (อายุ 18 ปีขึ้นไป เข้าดูได้) ก็ควรให้เรต ฉ 20 (อายุ 20 ปีขึ้นไป ดูได้ และต้องตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าชม)

ในความรู้สึกว่า โลกทุกวันนี้ เยาวชนถูกรุมล้อมด้วยสื่อลามกรอบทิศทาง แม้พวกเขาไม่หาดูเอง แต่สิ่งเหล่านี้ก็กระโจนเข้าไปหาพวกเขาถึงเตียงนอน เพียงแค่มีออนไลน์ ผมเห็นว่า การจัดเรตติ้งในบ้านเรา มันยังดูลักลั่นอยู่พอสมควร บางทีก็ให้คิดว่ามันก็เหมือนๆ กับรัฐธรรมนูญหรือเปล่าที่เรารับเอาเข้ามาแบบ “ก็อปปี้-เพสต์” โดยไม่ดูว่ามันเหมาะสมกับความเป็นจริงของประเทศตัวเองมากแค่ไหน เช่นเดียวกัน การจัดเรตติ้ง ก็ควรอิงอยู่กับฐานความคิดความอ่านหรือกระทั่งความอ่อนไหวเปราะบางของผู้คนในสังคม ด้วยหรือไม่? อย่างเช่น หากเป็นหนังต่างประเทศ เขาโชว์นมโชว์อะไร อาจได้เรตไม่สูงมาก แต่ในสังคมไทยที่อ่อนไหวเปราะบางกับเรื่องนี้ ควรได้เรตแตกต่างไปจากหนังต่างประเทศ หรือเปล่า? นี่คือคำถามนะครับ

แต่พูดกันตามจริง ถ้าอิงจากหนังแนวนี้ที่เคยฉายมาก่อนหน้า อย่าง “ผู้หญิง 5 บาป 2” ซึ่งได้เรต ฉ 20 ว่ากันตรงๆ ระดับของการนำเสนอฉากเซ็กซ์ฉากเปลือยก็ห่างจาก “จัน ดารา” ไม่มากมายนัก อันนี้พูดในแง่การเห็นอวัยวะอะไรต่างๆ จัน ดารา นั้นเปิดเผย “พงหญ้า” ของดาราเอวีญี่ปุ่น โช นิชิโนะ ด้วยซ้ำ ความลักลั่นนี้ ก็คงต้องให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบ พิจารณากันต่อไป

ส่วนประเด็นที่ว่าหนังอีโรติกเรื่องนี้เป็นศิลปะหรืออนาจาร ก็อย่างที่เกริ่นไว้ครับว่า มันเป็นปัญหาโลกแตกจริงๆ เพราะไม่มีไม้บรรทัดวัดว่าแค่ไหนศิลปะแค่ไหนอนาจาร สองคนยลตามช่อง มองสิ่งเดียวกัน แต่ก็รู้สึกนึกคิดต่างกันได้ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงมาตรฐานในใจของแต่ละคนที่ย่อมไม่เหมือนกันอยู่แล้วโดยพื้นฐาน แต่โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าหนังเรื่องนี้ยังไปไม่ถึงขั้นที่หลายคนบอกว่ามันทำลายสังคมให้เสื่อมทราม อย่างน้อย ผมเชื่อว่าผู้กำกับมีจิตสำนึกอยู่ว่าจะถ่ายทอดประเด็นเนื้อหาอะไรให้กับคนดู (เพียงแต่มันยังไม่ปรากฏชัดในภาคหนึ่ง!) แต่การที่ผู้กำกับบอกว่า หนังเรื่องนี้สอนเรื่องเพศศึกษา ผมคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องบอกแบบนั้น เหมือนคนทำอะไรไม่เข้าท่าแล้วรีบออกตัวกลัวคนอื่นตำหนิ เพราะพูดก็พูดเถอะ ผมดูแล้ว ผมก็ไม่รู้สึกว่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาอะไรเพิ่มเติม ณ จุดนี้ ผมคิดว่า ผู้กำกับควรจะมีความกล้ามากกว่าในการที่จะยอมรับว่าตัวเองกำลังทำอะไร ทำหนังอีโรติกก็บอกไปตรงๆ ใครรับไม่ได้ก็ไม่ต้องรับ

ก็เหมือนกับตอนที่ครูอุษณา เพลิงธรรม เขียนนิยายเล่มนี้ขึ้นมานั่นล่ะครับ ท่านก็ไม่ได้ตั้งจะมาเทศนาเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องใต้สะดืออะไรให้ยุ่งยาก หากแต่ประกาศไปเลยว่า ฉันจะพูดเรื่องของปุถุชนที่มันลุ่มหลงมัวเมาในกาม คิดว่าตัวเองกำลังระเริงสุข แต่จริงๆ มันคือทุกข์อย่างมหันต์ และที่สำคัญก็คือ บอกไว้ตั้งแต่เบื้องต้นไปเลยว่า “เป็นของแสลงสำหรับบุคคลประเภทมือถือสาก ปากถือศีล” ใครรู้ตัวว่าคาบศีลอยู่ในปาก หรือกุมสากไว้ในมือ ก็ไม่ควรไปข้องแวะกับหนังสือเล่มนี้!!









กำลังโหลดความคิดเห็น