xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิต “ตับห่าน” ขู่ฟ้อง WTO หลังแคลิฟอร์เนียสั่งแบนเมนู “ฟัวกราส์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟัว กราส์ (Foie Gras) หนึ่งในเมนูชั้นเลิศจากฝรั่งเศส
เอเอฟพี - อุตสาหกรรมผลิตตับห่านในฝรั่งเศสขู่ฟ้องเอาผิดรัฐแคลิฟอร์เนียฐานละเมิดกฎหมายการค้า หลังออกคำสั่งห้ามจำหน่าย “ฟัวกราส์” หรือเมนูตับห่าน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป เนื่องจากมีการร้องเรียนว่ากระบวนการผลิตอาหารชนิดนี้เข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์

“เราจะมีการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ในวันจันทร์หน้า (2)” มารี-ปิแอร์ เป หัวหน้าผู้แทนจากคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม CIFOG ระบุ

“บัลแกเรีย และฮังการี ซึ่งอยู่ในสมาพันธ์ผู้ผลิตฟัวกราส์แห่งยุโรป ก็จะขอให้รัฐบาลของพวกเขาร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่ารัฐแคลิฟอร์เนียละเมิดกฎหมายของ WTO”

เมื่อปี 2004 ฝ่ายบริหารรัฐแคลิฟอร์เนียออกกฎหมายห้ามผลิตและจำหน่ายฟัวกราส์ โดยอ้างถึงกรรมวิธีอันทารุณในการบังคับให้เป็ดและห่านกินอาหารมากๆ เพื่อให้ตับมีขนาดโตขึ้น โดยให้เวลาผู้ผลิต 7 ปีไปคิดหาวิธีขุนเป็ดและห่านที่ทารุณน้อยกว่าเดิม

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ยังออกข้อจำกัดด้านสุขอนามัยและสัตวแพทย์ เพื่อควบคุมการผลิตฟัวกราส์ และยังขึ้นภาษีนำเข้าอาหารชนิดนี้ด้วย ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ฝรั่งเศสแทบไม่ได้ส่งออกฟัวกราส์ไปยังสหรัฐฯ เลยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา CIFOG เผย

เฌซัวส์ ฟิลิป บารง ประธานสมาคมผู้ผลิตฟัวกราส์ในฝรั่งเศส กล่าวว่า “บริษัทของเราในต่างประเทศกำลังมองหาตลาดในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งเป็นผู้บริโภคฟัวกราส์กลุ่มใหญ่ที่สุด”

กระนั้นก็ตาม พวกเขายืนยันว่าจำเป็นต้องประท้วงการตัดสินใจของรัฐแคลิฟอร์เนีย

“แม้ผลกระทบด้านการเงินจะไม่มาก แต่คำสั่งแบนของรัฐแคลิฟอร์เนียก็บั่นทอนภาพลักษณ์ของเรา” มารี-ปิแอร์ เป กล่าว

“เนื่องจากเราใส่ใจในสรีรวิทยาของสัตว์ เราจึงไม่อาจปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปได้” เธอเผย พร้อมเสริมว่า หลอดอาหารของเป็ดและห่านนั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่ามนุษย์

“หลายมูลนิธิออกมาประท้วงการสวนหลอดอาหาร (gavage) เป็ดและห่าน แต่พวกเขาไม่ทราบด้วยซ้ำว่ากระบวนการเป็นอย่างไร” มาร์ติน มาลวี ประธานผู้ผลิตฟัวกราส์จากแคว้นมีดี-ปีเรเน ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตตับห่านที่สำคัญที่สุดของฝรั่งเศสกล่าว

แม้แต่ชาวแคลิฟอร์เนียเองก็ใช่จะเห็นดีเห็นงามกับกฎหมายแบนฟัวกราส์ไปเสียทุกคน

กวิลเลอร์โม กอนซาเลซ ผู้ผลิตตับห่านเพียงรายเดียวในแคลิฟอร์เนีย ถึงกับต้องปิดกิจการลง ขณะที่ภัตตาคารอีก 300 แห่งที่จำหน่ายเมนูเลิศรสจากฝรั่งเศสชนิดนี้ก็เตรียมออกมาประท้วงแล้ว

“ตราบใดยังมีการใช้ฮอร์โมนเร่งเนื้อวัวและปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรมกันอยู่ พวกเขาก็ไม่มีสิทธิ์สั่งเราว่าจะต้องขุนเป็ดและห่านอย่างไร” มาลวีระบุ

วอชิงตันเคยขึ้นภาษีนำเข้าชีส Roquefort เมื่อปี 2009 เพื่อตอบโต้ที่ยุโรปกีดกันเนื้อวัวสหรัฐฯ ที่เลี้ยงด้วยฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต
การให้อาหารเป็ดและห่านโดยวิธีสวนหลอดอาหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น