xs
xsm
sm
md
lg

มนุษย์สองหน้า

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook : teelao1979@hotmail.com

หลังจากดูซีรีย์เรื่องนี้จบ ความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งซึ่งผมได้พบจากเนื้อหาเรื่องราวของมันก็คือ แม้ Boardwalk Empire จะเล่าเรื่องย้อนหลังไปไกลถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ของอเมริกา หรือช่วงปี ค.ศ.1920 แต่ทว่าสาระที่ถูกนำเสนอ กลับอยู่เหนือเงื่อนไขกาลเวลา ข้ามมาส่องสะท้อนความเป็นจริงของยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างน่าทึ่ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ประเด็นที่ซีรีย์นำเสนอ ยังคงปรากฏให้เห็นในสังคมร่วมสมัยที่เราๆ ท่านๆ หายใจอยู่

นั่นจึงดูเหมือนว่า วันเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านพ้น สิ่งที่พ้นผ่านก็เหมือนจะเป็นแค่วันเวลา แต่ทว่าเนื้อหาของผู้คนและสังคม ดูจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสักเท่าไหร่ เราอาจมีเทคโนโลยีที่ก้าวไกล มีไอโฟนไอแพดมีโปรแกรมให้แช็ตให้อัพเดทชีวิตและความรู้สึกนึกคิดได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ธรรมชาติความเป็นมนุษย์ปุถุชนของผู้คนยังคงไม่อัพเดทแต่อย่างใด คนรุ่นก่อนเคยรักเคยโลภเคยโกรธเคยหลงอย่างไร คนรุ่นนี้หรือแม้แต่รุ่นต่อๆ ไป ก็เชื่อได้ว่าไม่น่าจะพ้นไปจากนี้ ตราบเท่าที่ยังไม่หลุดพ้นสู่หนทางพระอรหันต์

พูดไปก็คล้ายจะเทศนาล่ะครับ เอาเป็นว่า สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดในหนังทีวีเรื่อง Boardwalk Empire ก็คือการที่มันพูดในสิ่งที่เป็นความจริงนั่นล่ะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวการเมืองที่แอบอิงอยู่กับกลุ่มอิทธิพล/ผลประโยชน์จนหน้ามืดตามัวและบ่มเพาะคนโฉดชั่วมานักต่อนัก

Boardwalk Empire เป็นซีรีย์ที่ออกฉายทางช่อง HBO ผ่านการสร้างสรรค์โดย “เทอร์เรนซ์ วินเทอร์” ผู้เขียนบทที่เคยได้รับรางวัลเอ็มมี่จากเรื่อง The Soprano นอกจากนั้น หนึ่งในทีมโปรดิวซ์ยังมีชื่อของ “มาร์ติน สกอร์เซซี่” ผู้กำกับระดับเทพที่ขึ้นชื่อในด้านการทำหนังแก๊งสเตอร์และอาชญากรรม ซึ่งถือว่ามีส่วนอย่างสำคัญต่อคุณภาพของ Boardwalk Empire เรื่องนี้ที่ก็เกี่ยวพันโดยตรงกับสิ่งที่สกอร์เซซี่ถนัดจัดเจน

เรื่องราวซีรีย์ย้อนไปในปี ค.ศ.1920 ซึ่งถือเป็นยุคทองของบรรดาแก๊งสเตอร์ที่พากันสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจากธุรกิจผิดกฎหมาย ทั้งจำหน่ายสุราและเปิดบ่อนการพนัน ส่งผลให้ผู้คนอีกฟากหนึ่งซึ่งเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องนี้ ตื่นตัวและพยายามต่อต้านคัดค้านการค้าอบายมุขทุกชนิด ตัวเรื่องเริ่มต้นด้วยการแนะนำให้เรารู้จักกับ “อีนัค (นัคกี้) ธอมป์สัน” ชายวัยกลางคนที่มีงานหลักเป็นเหรัญญิกประจำเขตแอตแลนติก ซิตี้ และซีรีย์ก็แสดงให้เราเห็นตั้งแต่ฉากแรกๆ แล้วว่า ชายผู้นี้มีความไม่โปร่งใสในตัวเอง เพราะทันทีที่เขาเดินออกจากโบสถ์ภายหลังกล่าวปาฐกถาต่อต้านสุราเสร็จ เขาก็กล่าวกับ “เจมส์ ดาร์โมดี” ว่า “กฎข้อแรกของการเมือง คือ อย่ายึดติดกับความจริง จนทำให้เรื่องไม่สนุก” ด้วยถ้อยคำสั้นๆ เพียงเท่านี้ ก็ปอกเปลือกความกะล่อนปลิ้นปล้อนของตัวละครออกมาให้เราเห็นอย่างเด่นชัด

เจมส์ ดาร์โมดี คือตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่ง เขาคือเด็กหนุ่มที่เรียนไม่จบมหาวิทยาลัยเพราะต้องการไปเป็นทหารสู้รบที่ฝรั่งเศส แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีกับนัคกี้ หลังกลับจากสมรภูมิ นัคกี้ก็รับเขาเข้าร่วมงานด้วย ก่อนเส้นทางชีวิตจะพลิกผันนำพาให้เขาได้ไปรู้จักและร่วมงานกับ “อัล คาโปน” เด็กหนุ่มซึ่งจะกลายเป็นเจ้าพ่อผู้ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมาอย่างที่เรารู้จักกัน แต่ช่วงนั้น เขาเป็นเพียงคนหนุ่มซึ่งกำลังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัวด้วยการรับงานเป็นลูกกระจ๊อกของเจ้าพ่อคนหนึ่ง

อย่างไรก็ดี คนที่จะไม่เอ่ยถึงเป็นไม่ได้ก็คือ “มาร์กาเร็ต ชโรเดอร์” แม่ม่ายลูกสองผู้แท้งลูกคนที่สามไปพร้อมกับการสูญเสียสามี เธอคือสมาชิกระดับตัวตั้งตัวตีคนหนึ่งของ “สมาคมผู้รู้จักระงับใจ” ซึ่งยืนยันคัดค้านอย่างสุดแรงในเรื่องอบายมุข ชโรเดอร์เข้าไปมีความเกี่ยวข้องกับนัคกี้เพราะเห็นว่าเขาเป็นคนดีและช่วยเหลือในหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ความคลางแคลงสงสัยในตัวตนของผู้ชายคนนี้ก็เหมือนเศษผงที่เคืองตาเธอเสมอ สำหรับคนที่สนใจในเรื่องพลังของสตรีหรือเฟมินิสต์ ผมคิดว่าเนื้อหาในส่วนของชโรเดอร์สามารถหยิบมาวิเคราะห์วิจารณ์ได้ เพราะในหลายๆ สถานการณ์ เราจะเห็นว่า ด้วยพลังของเพศแม่ที่อยู่ในตัวชโรเดอร์นี่เองที่ตะล่อมให้จอมกะล่อนในเรื่องยับยั้งชั่งใจในบางเรื่องบางราว (ถ้าจะเขียนถึงพลังของผู้หญิง ก็คงเขียนได้เป็นตอนๆ เพราะหนังมีตัวละครที่เป็นผู้หญิงในหลากแง่หลายมุมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ซีรีย์แตะประเด็นเกี่ยวกับสิทธิและพลังสตรีด้วยแล้ว ก็ยิ่งเย้ายวนสำหรับคนที่จะคิดในเชิงเฟมินิสต์)

กล่าวในแง่ความสนุก ถือว่าซีรีย์เรื่องนี้เป็นหนังทีวีที่ดูเพลิน น่าติดตาม บทสนทนาหักเหลี่ยมเฉือนคมตามสไตล์เจ้าพ่อมาเฟียทั่วไป ผมชอบใจที่ Boardwalk Empire ทำให้นักแสดงอย่าง “สตีฟ บุซเซมี่” ซึ่งมีเอกลักษณ์ในการพูดรัวเร็ว ดูเท่อย่างถึงที่สุดในบทบาทของนัคกี้ ผู้เหยียบยืนอยู่สองฝั่ง ระหว่างการเป็นเจ้าพ่อกับนักการเมือง เช่นเดียวกับสตีเฟ่น เกรแฮม ที่มักจะได้บทต๊องๆ บ้องตื้นในหนังของกาย ริชชี่ ก็โดดเด่นแสบสันต์ในบทของว่าที่เจ้าพ่ออย่างอัล คาโปน ส่วนไมเคิล พิตต์ จากหนังวัยรุ่นติดเรทสะท้อนการเมืองเรื่อง The Dreamers ก็รับบทที่มีคาแรกเตอร์เชิงลึกอย่างเจมส์ ดาร์โมดี ได้อย่างไม่มีอะไรให้ต้องติติง

ความยอดเยี่ยมของซีรีย์ชุดนี้คือการฉายให้เห็นภาพความเป็นไปของยุคสมัยดังกล่าวของอเมริกาที่คนต่างชาติหลากหลายเผ่าพันธุ์อพยพมาอยู่รวมกันและพยายามก่อร่างสร้างฐานเพื่อความมั่นคงทางชีวิตและทรัพย์สินเงินทอง มันคือยุคที่ผสมปนเประหว่างค่านิยมที่ดีงามกับความหลงใหลได้ปลื้มในลาภยศศฤงคาร แน่นอนว่า การที่จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตได้ จะต้องอาศัยทั้งบารมีและอิทธิพล ในระดับแก๊งสเตอร์ด้วยกันเอง ก็ต้องรักษาความสัมพันธ์ไว้ให้ดี ขณะที่การหักล้างฟาดฟันระหว่างแก๊งต่างๆ รวมไปจนถึงการหักหลังทรยศ เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ดาษดื่น และเหนืออื่นใด หากคิดจะเป็นใหญ่ก็ต้องมีขุมข่ายเส้นสายทางการเมืองที่แข็งแรงเพียงพอ

โลกของ Boardwalk Empire คือโลกในแบบที่นัคกี้บอกไว้ว่า “คนดีจริง ไม่มีที่อยู่ที่นี่ ในตอนนี้” และโลกแบบนี้แหละครับที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำให้หลายคนจำต้องสวมหน้ากากเยี่ยงมนุษย์สองหน้า แม้แต่นัคกี้เอง สุดท้ายแล้ว เราก็ชักไม่แน่ใจในตัวตนของเขาว่า ตกลง เขาเป็นพวก “ดีจริง เลวปลอม” หรือว่า “ดีปลอม เลวจริง” กันแน่

ในขณะที่เรื่องดำเนินไป ซีรีย์ได้เปิดตัวละครตัวใหม่ออกมาอีกตัวหนึ่ง เขาคือชายหนุ่มที่ใบหน้าเสียหายไปครึ่งซีกจากการรบในสงคราม และแม้ว่าเขาจะปกปิดบาดแผลนั้นด้วยหน้ากากแล้ว แต่มันก็ยังดูน่าสะพรึงกลัวอยู่ดีชนิดที่เด็กๆ เห็นเป็นต้องร้องไห้จ้า อย่างไรก็ดี ความอัปลักษณ์ของหน้าตานั้นก็มิอาจชี้วัดความอัปลักษณ์ภายในจิตใจได้เลย ตัวละครตัวนี้เหมือนจิ๊กซอว์ตัวเติม เพิ่มเข้ามาให้เราเข้าใจอย่างแจ่มชัดในแก่นสารของเรื่อง ซึ่งว่าด้วยนักบุญ คนบาป หรือคนบาปในคราบนักบุญที่เสแสร้งแปลงโฉม สร้างภาพลักษณ์ลวงโลกได้ยอดเยี่ยมไม่ต่างไปจากพวกนักแสดงละครบนเวทีที่ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในหลายฉากหลายตอน

“อัลแบร์ กามู” เคยวิพากษ์เปลือกและแก่นความเป็นมนุษย์ไว้ในสุดยอดนวนิยายเรื่อง “มนุษย์สองหน้า” โดยกล่าวถึงตัวละครที่ฉ้อฉลดั่งคนมีสองหน้า หน้าแรกดูดีงามในสายตาชาวโลก แต่อีกหนึ่งหน้ากลับซุกซ่อนความสกปรกโสมมไว้อย่างน่าพิศวง ซึ่งนั่นก็คงไม่ต่างอะไรกันนักกับมนุษย์ในหนังทีวีเรื่องนี้ที่นอกจากจะต้องตีสองหน้าอยู่ไม่เว้น การเห็นผลประโยชน์เหนือสิ่งอื่นๆ ก็พร้อมที่จะทำให้ “ใบหน้า” ของพวกเขา เอนเอียงไปหาบุคคลอีกฝ่ายอีกข้าง ทั้งที่ก่อนหน้านั้น จะมีเรื่องมีราวกันมาเพียงใดก็ตาม มันคือการเมืองในระดับแก๊งอิทธิพลที่สะท้อนการเมืองและผู้นำ ผู้มีอำนาจ ได้ทั้งระบบ

เพราะไม่ว่าจะเป็นเจ้าพ่อที่ฉ้อฉล หรือนักการเมืองที่ฉ้อฉล มันก็ฉ้อฉลเหมือนๆ กัน

เรื่องราวของนักการเมืองที่ฉ้อฉล มากมายด้วยเล่ห์สนกลใน ดำเนินไปควบคู่กับความหยาบช้าในโลกอาชญากรรมและถึงขั้นแนบชิดเป็นเนื้อเดียวกันด้วยซ้ำไป ยกตัวอย่างเช่นนัคกี้ที่แม้ตัวเองจะไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนใหญ่โตอะไร แต่การมีน้องชายเป็นถึงนายอำเภอแอตแลนติกซิตี้ ก็ส่งผลดีต่อธุรกิจของเขา ทำให้ความเลวร้ายไหลล่องคล่องขึ้น การเมืองก็ดูจะเป็นเช่นนี้ไปทั่วทุกแห่งหน ผู้ทรงอิทธิพลต่างก็ดิ้นรนเพื่อให้คนของตัวเองได้เข้าไปมีอำนาจทางการเมืองเพื่อจะเป็นขุมพลังต่อยอดธุรกิจ และนี่ก็อาจเป็นที่มาของวาทกรรมที่นัคกี้บอกว่า “ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนที่ไม่ต้องจ่ายเพื่อให้ตัวเองได้ตำแหน่ง” แน่นอนว่า “จ่ายแล้ว” ก็ต้องไป “เอาคืน” อย่างที่เราท่านรู้กันเป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ โลกอาชญากรรมที่กระทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงว่ามันจะผิดบาปอย่างไร ว่าเลวร้ายแล้ว การเมืองสกปรกและโลกของผู้คนประเภทที่อ้างว่า “รักประเทศ (จนน้ำลายไหล)” กลับดูจะเลวร้ายยิ่งกว่าหลายเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนในแวดวงการเมืองไปเกลือกกลั้วกับเหล่าเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล และประพฤติตนดั่งเป็นข้ารับใช้ของคนเหล่านั้น ความหวังของชาวบ้านที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ยิ่งดูริบหรี่ลงไป คนของรัฐกับนักธุรกิจนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลมาสมประโยชน์กันเมื่อไร บ้านเมืองก็พึ่งหวังอะไรไม่ได้เมื่อนั้น

ปัญหาเกี่ยวกับอบายมุข ทั้งสุราและการพนันในแอตแลนติกซิตี้ ไม่มีทางหมดไปได้โดยง่าย และซ้ำร้าย ยังดูเหมือนจะขยายขอบเขตเติบโตอย่างยากจะกักกั้น ทั้งนี้ก็เพราะผู้มีอำนาจหรือผู้นำในบ้านเมืองยังคงเกี้ยเซี้ยกับกลุ่มอิทธิพล สิ่งที่ชวนให้รู้สึกขมขื่นในหัวใจมากที่สุด อยู่ที่ถ้อยคำประโยคหนึ่งซึ่งฉายให้เห็นสภาพสังคมบ้านเมืองในยุคสมัยอันน่าสิ้นหวังได้เป็นอย่างดี นัคกี้กล่าวว่า

“ถ้าเราจะเลือกเฉพาะคนดี เราคงไม่มีวันมีผู้นำ”...
ผู้นำในโลกแห่งซีรีย์เป็นเช่นนี้ ผู้นำในโลกความเป็นจริง ไยมิใช่เป็นเฉกเช่นเดียวกัน?





กำลังโหลดความคิดเห็น