xs
xsm
sm
md
lg

กู๋หว่าไจ๋ (3) Prequel, Side Story และ 10 ปีต่อมา ..เมื่อชีวิตนักเลงไม่เท่เหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี

Young and Dangerous: The Prequel (1998) วัยหนุ่มของห้าวหนาน
Facebook: เอเชียรามา

นอกจากเรื่องราวของ "เฉินห้าวหนาน" และเพื่อนพ้องน้องพี่อันเป็นเส้นเรื่องหลักของ "กู๋หว่าไจ๋" แล้ว หนังนักเลงชุดนี้ยังมีจุดเด่นที่การสร้าง "จักรวาล" เฉพาะขึ้นมา อันประกอบไปด้วยหนังภาคแยกมากมาย เป็นผลงานของผู้กำกับมากหน้าหลายตา ที่ขอมีส่วนร่วมเล่าเรื่องแง่มุมต่าง ๆ ของโลกวงการนักเลง ... ลองมาทำความรู้จักกับหนังเหล่านี้ดูครับ

คำว่า "กู๋หว่าไจ๋" นั้นมีความหมายตรง ๆ ว่า "นักเลงหนุ่ม" หนังภาคหลักทั้ง 6 ตอน ก็เล่าเรื่องการผจญภัยในโลกนักเลงของไอ้หนุ่ม "เฉินห้าวหนาน" กับเพื่อน ๆ ในแก๊ง "หงซิ่ง" อันยิ่งใหญ่ แต่นอกจากภาคหลักซึ่งเป็นผลงานของ แอนดรู เลา แล้ว ก็ยังมีคนทำหนัง นักเขียนบทอีกหลายรายที่ขอมีส่วนร่วมเล่าเรื่องมุมต่าง ๆ ของ "จักรวาล" นักเลงฮ่องกงที่ยิ่งใหญ่ มีขอบเขตกว้างขวางแห่งนี้ด้วยอีกหลายคนต กับหนังภาคแยก หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า "Side Story" (หรือบางทีอาจจะเรียกว่า Spin offs ก็ได้) ที่ว่าด้วยชีวิตของเหล่าตัวละครรอง ๆ อีกหลายตัว ที่น่าสนใจก็คือหลาย ๆ เรื่องมีคุณภาพยอดเยี่ยมดีกว่าภาคหลักเสียอีก

"กำเนิดกู๋หว่าไจ๋"

เรื่องราวของ "กู๋หว่าไจ๋" ในหนังภาคแรกนั้น มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่สนามฟุตบอลพื้นคอนกรีตแห่งหนึ่ง ที่ "เฉินห้าวหนาน" ได้พบกับโลกนอกกฏหมายกับวงนักเลงเป็นครั้งแรก มันมาพร้อมกับขวดน้ำอัดลมที่นักเลงรุ่นเก่า "อาคุน" ฟาดลงไปที่กระบาลของเขาจนแตกยับ จนได้ติดตามเป็นลูกน้อง "พี่บี" หัวหน้าสาขาแห่งแก๊งหงซิ่ง ซึ่ง Young and Dangerous: The Prequel ได้พาคนดูกลับไปที่สนามฟุตบอลแห่งนั้นอีกครั้ง ไปดูว่า ห้าวหนาน เติบโตขึ้นมาเป็นขาใหญ่แห่ง "หงซิ่ง" อย่างที่เรารู้จักกันใน "กู๋หว่าไจ๋" ทั้ง 6 ภาค ได้อย่างไร และดูเหมือนว่าจะเป็นเส้นทางที่ไม่ได้สวยหรูอย่างที่เราคิดกันนักด้วย

ในวันที่ ห้าวหนาน (สวมบทบาท โดย เซียะถิงฟง ในภาคนี้) กับเพื่อนถูกจับยัดห้องขังเป็นครั้งแรก เป็นวันที่เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนด้วยปัญหาจิ๋บจ๋อย แล้วยังมามีเรื่องทะเลาะวิวาทกับคู่อริที่เขาไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นอีก หนุ่มนักเลงวัยกะเตาะบอกกับตำรวจที่จับเขามาว่า "ผมเป็นนักเรียน ไม่ใช่นักเลง" ดูเหมือนว่า ห้าวหนาน เองก็ยังไม่ได้รู้ตัวเลยว่าเขาได้ก้าวเข้าสู่วงนักเลงอย่างเต็มตัวแล้ว

แอนดรู เลา ที่กำกับหนังชุดนี้มาแล้วถึง 5 ภาค สร้างความแตกต่างให้กับ กู๋หว่าไจ๋ ภาคพิเศษด้วยการละทิ้งสีสันจัดจ้าน นำเสนอภาพชีวิตของตัวละครนักเลงชนชั้นล่างผู้หมกมุ่นอยู่กับการตายของพ่อ ผู้มีชีวิตเป็นนักเลงหัวไม้เช่นเดียวกัน, พ่อผู้ไม่รู้หนังสือ และเลือกหนทางสายนักเลงเพียงเพราะเชื่อว่านี่จะทำให้เขามีชีวิตที่ดีกว่าการเป็นกรรมกรหาเช้ากินค่ำธรรมดา ๆ จนต้องชีวิตชีวิตลงอย่างน่าเศร้าด้วยคมมีด 47 แผลของคู่อริ

ตัวละครของ Young and Dangerous: The Prequel โดยเฉพาะตัวเอกที่ชื่อ "เฉินห้าวหนาน" ดูจะมีภาพลักษณ์ที่ห่างไกลจากความเป็นนักเลงผู้ยิ่งใหญ่อย่างที่เห็นกันในภาคหลักลิบลับ จะบอกว่าเป็น "กุ๊ย" ธรรมดา ๆ ก็คงไม่ผิดนัก เป็นเด็กหนุ่มที่ไร้ความสง่างาม ติดจะเป็นไอ้ขี้แพ้เสียด้วยซ้ำ, ไร้ความมั่นใจในตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างไม่มีแก่นสาร แน่นอนว่าสามารถเชื่อโยงได้กับเด็กหนุ่มทั่ว ๆ ไปทุกคน

Young and Dangerous ในภาคที่เรียกว่า "กำเนิดกู๋หว่าไจ๋" ซึ่งเข้าฉายในปี 1998 วาดภาพของตัวละครอย่างสมจริงสมจัง เฉินห้าวหนาน เป็นเพียงเด็กหนุ่มขี้โมโหที่ไม่ได้มีวี่แววว่าจะพบกับความยิ่งใหญ่อะไร และดูจะสับสนกับทางสองแพร่งในชีวิตด้วยซ้ำ กับการต้องออกจากโรงเรียนในวัย 17 ปี กับสิ่งต่าง ๆ หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งเรื่องการต่อสู้, มิตรภาพในหมู่เพื่อน และความรักในวัยหนุ่มจนไปจบลงในวันที่ ห้าวหนาน ได้ตัดสินใจสักลายมังกรไว้บนไหล พร้อม ๆ คำเตือนของลูกพี่บีที่ว่า มันจะเป็นรอยสักที่ไม่สามารถลบได้อีกแล้ว แบบเดียวกับวิถีนักเลง ที่เข้ามาแล้วก็คงยากที่จะออกไปด้วยสภาพเดิม

หลากชีวิตวงนักเลง

ยังมี กู๋หว่าไจ๋ ให้ดูกันอีกหลายภาค และหนึ่งใน Side Story ที่โด่งดังที่สุดของ กู๋หว่าไจ๋ ก็คือหนังเรื่อง Portland Street Blues กับการหยิบเอาชีวิตของตัวละครที่ชื่อว่า "หมวยสิบสาม" มาขยาย

หญิงสาวมาดแมนที่ครองความเป็นใหญ่ในย่านถนนพอร์ตแลนด์ ที่ดาวตลกหญิง "อู๋เจินหยู" ได้กลับมาแสดงเป็นตัวละครอันโด่งดังของเธอ หลังเคยไปปรากฏตัวในหนังภาคหลักมาแล้ว ซึ่งหนังก็ไม่ได้พูดถึงแต่เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างแก๊ง แต่ยังว่าด้วยความสับสนของขัดแย้งในจิตใจของตัวละครเอง นักเลงสาวทอมกับความสัมพันธ์ทั้งกับชาย และหญิงด้วย

ตัวละครสุดโปรดของคนดูจากภาคหลังอีกหลายตัวที่ได้มีหนังเป็นของตัวเอง รวมถึง The Legendary 'Tai Fei' มี "ต้าเฟย" (หวงซิวเซิง) หัวหน้าสาขา "คอสเวย์เบย์" ของ "หงซิ่ง" เป็นพระเอก กับเรื่องวุ่นวาย ที่นักเลงรุ่นใหญ่ได้พบว่าตัวเองมีลูกชายอยู่หนึ่งคน แถมเจ้าตัวชายคนนี้ยังสังกัดอยู่ในแก๊ง "ตงซิ่ง" ศัตรูคู่อาฆาตอันดันหนึ่งด้วย

ใน กู๋หว่าไจ๋ ภาคแรกนอกจากพวกพระเอกแล้ว ยังมีที่มีตัวละครที่ทุกคนคงจำได้อย่าง "อาคุน" นักเลงรุ่นใหญ่ใจทรามตัวร้ายของเรื่อง เป็นตัวละครจอมแสบที่ใคร ๆ ก็เกลียด และคงสะใจกับจุดจบอันน่าเวทนาในหนังภาคนั้น แต่ถ้าอยากจะดูเรื่องราวของ "อาคุน" กันแบบเต็ม ๆ ก็ต้องหาหนังเรื่อง Once Upon a Time in Triad Society มาดู กับการรับบทเด่นของ "อู๋เจินอวี้" ในหนังที่เล่าเรื่องด้วยลีลาตลกร้าย เต็มไปด้วยสไตล์ กับเนื้อหาที่ว่าด้วยชีวิตขึ้น ๆ ลง ๆ ของตัวละครที่เรียกว่าเลวสุด ๆ

Those Were The Day ที่พูดถึงชีวิตรักของตัวละคร "ชานจี" หรือ "ไก่ป่า" คู่หูของ "เฉินห้าวหนาน" กับหญิงคนรักที่ใช้ชีวิตเติบโตขึ้นมาด้วยกัน (สวมบทบาทโดยนักร้องสาวสวย เหลียงหย่งฉี ที่ตอนนั้นเขาหาดูใจกับ เจิ้งอี้เจี้ยน ด้วย) เป็นรักแรกของนักเลงสุดห้าว ที่หวานซึ้งน่าประทับใจ และจบลงอย่างเศร้า ๆ กับการสูญเสีย อาจจะบอกว่าเป็นหนังที่โรแมนติกที่สุดในชุด "กู๋หว่าไจ๋" ก็คงไม่ผิดนัก

ภาคแยกหรือ "Side Story" ทั้งหมดของ "กู๋หว่าไจ๋" เป็นการเล่าเรื่อง "เสริม" จากเส้นเรื่องหลัก อาจจะบอกว่าไม่จำเป็นต้องดูก็ได้ แต่อันที่จริงแล้ว ความยิ่งใหญ่ของหนังนักเลงชุดนี้ ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ภาคเสริมที่สร้างกันออกมาเยอะแยะไปหมดพวกนี้ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าชอบ ก็ไม่ควรจะพลาด

"หมูย่าง" กับ "นกกระจอก"

จบจากภาคหลักภาคย่อยต่าง ๆ แล้วยังมีหนังอีกเรื่องที่แฟนของของ "กู๋ไหว่าไจ๋" ควรหามาดูกันครับ ... กับงานที่เข้าฉายในอีก 10 ปีต่อมา เมื่อ "เฉินเสี่ยวชุน" กับ "เจิ้งอี้เจี้ยน" ได้โคจรกลับมาพบกันอีก ในฉากหลังของเรื่องราวแนวนักเลงตีรำฟันแทง ที่หลาย ๆ อย่างก็แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง

Once A Gangster หนังมาเฟียฮ่องกงที่เข้าฉายเมื่อปีสองปีก่อน สร้างจุดสนใจเล็ก ๆ ด้วยการดึงตัวนักแสดงดังสองคน ที่เคยโด่งดังทะลุฟ้ากับหนังแนวนี้อย่าง เฉินเสี่ยวชุน และ เจิ้งอี้เจี้ยน กลับมาสู่โลกแห่งหนังแก็งสเตอร์อีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นหนังแก็งสเตอร์ล้อเลียน ที่สองนักแสดงหนุ่มผู้โด่งดังมาจากหนังชุด "กู๋หว่าไจ๋" จะไม่ได้เป็น "เฉินห้าวหนาน" หรือ "ไก่ป่า" อีกแล้ว ... พวกเขาคือ "หมู่ย่าง" กับ "นกกระจอก"

หลังเล่าเรื่องของหนุ่มที่เข้าแก๊งเพียงเพราะคิดว่าจะเป็นวิธีที่ทำให้พ่อปลอดภัยจากพวกเก็บค่าคุ้มครอง แต่แล้ว "หมูย่าง" (เฉินเสี่ยวชุน) กลับได้รับเลือกจากหัวหน้าให้รับตำแหน่งประมุขแก๊งค์มังกรคนต่อไป ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเกียรติยศอันสูงสุด ในฐานะสมาชิกแก๊งค์มาเฟียใหญ่แห่งฮ่องกงคนหนึ่ง แต่อันที่จริงแล้วสำหรับเขาจะบอกว่าเป็นทุกขลาภก็คงจะได้ !!!

เพราะหลังล้างมือออกจากวงการมาหลายปี อดีตนักเลงหนุ่มกลับประสบความสำเร็จกับธุรกิจร้านอาหาร จนกลายเป็นกุ๊กที่มีชื่อเสียง มีเงินมีทองมากมาย ขณะที่ตำแหน่งหัวหน้าแก๊งค์อันที่จริงแล้วจะบอกว่าใหญ่แต่ชื่อก็คงไม่ผิดนัก นอกจากค่าใช่จ่ายมากมาย แล้วดูเหมือนว่าในยุคนี้ อาชีพมาเฟียก็เริ่มหาเงินได้น้อยลงทุกที

แม้จะพยายามดิ้นรนผลักไสไล่ส่งตำแหน่งหัวอย่างแค่ไหน หมูย่าง ก็ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงเส้นทางนี้ไม่ได้แน่ ๆ แต่แล้วโชคก็มาถึงเมื่อ "นกกระจอก" หลานชายผู้ก่อตั้งแก๊งค์มังกร ที่เคยสร้างวีรกรรมไว้ตั้งแต่หนุ่ม จนต้องติดคุกนานหลายปี กำลังจะได้อิสรภาพ และพร้อมขึ้นเป็นหัวหน้าคนใหม่

แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะวุ่นวายขึ้นไปอีกเมื่อ นกกระจอก เองก็ไม่ได้อยากจะเป็นประมุขเลย เพราะหลังได้ใช้เวลาในคุกกับการศึกษาหาความรู้กลับทำให้อดีตนักเลงเก่าคนนี้ อยากศึกษาต่อให้เป็นเรื่องเป็นราว ถึงขั้นสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยซะอย่างงั้น

ซึ่งแม้ทั้งคู่จะไม่อยากรับตำแหน่งแค่ไหน แต่ก็ดูเหมือนจะถอยหลังได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบรรดาลูกน้อง จนไปถึงเหล่าลูกพี่ผู้อาวุโส ที่เป็นกองเชียร์ของแต่ละฝ่าย ต่างออกตัวสนับสนุนกันจนจะมาถอนตัวเอาตอนนี้ก็คงไม่ได้แล้ว

ด้วยมุขตลกจิกกัดหนังมาเฟียฮ่องกง Once A Gangster หรือในชื่อไทยว่า "สับ ฟัน ซ่าส์ ข้า...หัวหน้าแก๊งค์ค์" เป็นงานที่เรียกว่าพอจะดูได้เพลิน ๆ กับแก๊กประเภทที่คงต้องมีประสบการณ์ในการดูหนังแนวเจ้าพ่อฮ่องกงมาบ้าง จึงจะเก็บรายละเอียดของมุขต่าง ๆ กันได้หมด หนังอาจจะไม่ได้ "ขำก๊าก" ส่วนบทสรุปหักมุมสุดท้ายก็ไม่ได้เฉียบแหลมคมกริบอะไรนัก ยังดีที่หนังเล่าประเด็นที่ต้องการนำเสนอได้อย่างชัดเจน มีมุขฮาที่พอจะน่าจดจำอยู่บ้าง

นอกจากพระเอกทั้งสองแล้วหนังยังมี ฟางจงซิน มาสวมบทบาทเป็นเจ้าพ่อตกยากที่จมไม่ลง ใช้ชีวิตเป็นมาเฟียหลายปี จนหนี้สินพอกพูน แต่ก็ยังวางกามใหญ่โตเหมือนเดิม ส่วน หวีอันอัน เป็นอาเจ๊ผู้อาวุโสของแก๊งค์ที่เล่นยาจนสมองเลอะเลือน

Once A Gangster เป็นผลงานการกำกับของนักเขียนบทคนดัง ที่เคยเขียนบทให้กับหนังระดับตำนานของวงการฮ่องกงอย่าง Infernal Affairs ด้วย แน่นอนหนังยังไม่พลาดที่จะหยิบเอามุข "ตำรวจสายโจร" จาก "สองคมสองคน" มาล้อเลียนได้เจ็บ ๆ คัน ๆ ดี

อาจจะไม่ใช่งานที่สมบูรณ์แบบอะไร แต่ Once A Gangster ก็เหมาะจะเป็นบทสรุปแห่งเรื่องราวของหนังนักเลงวัยรุ่นฮ่องกง ที่ฉายภาพของโลกที่ฉากหน้าอาจจะดูสวยหรูสง่างาม น่าหลงใหลดึงดูใจ แต่ความจริงก็ไม่ได้มีอะไรมากมายไปกว่าคำว่า "จอมปลอม" เลย

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก



Once Upon a Time in Triad Society (1996) เรื่องราวของ อาคุน ตัวร้ายจากหนังภาคแรก
The Legendary Tai Fei (1999) ต้าเฟย ได้เป็นพระเอก
Portland Street Blues (1998) ความเป็นมาของ หมวยสิบสาม Spin off ที่ว่ากันว่าดีที่สุดของ กู๋หว่าไจ๋
Those Were The Days... (2000) ไก่ป่า มีความรัก
War of the Under World (1996) หนังแก๊งสเตอร์วัยรุ่นสร้างตามกระแส กู๋หว่าไจ๋ ที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกัน แต่ได้ เฉินเสี่ยวชุน มารับบทนำ
Street Angels (1996) กู๋หว่าไจ๋ ในฉบับสาว ๆ เนื้อเรื่องไม่ได้เกี่ยว แต่มีนักแสดงซ้ำ ๆ กันหลายคน
Goodbye Mr. Cool (คนใจเย็น เป็นเจ้าพ่อไม่ได้) หนังเล่าเรื่องชีวิตเบื้องหลังวงการนักเลง ที่ไม่ได้สวยหรูเหมือนในฝัน แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ กู๋หว่าไจ๋ โดยตรง แต่ก็ชัดเจนว่าต้องการใช้ภาพ ห้าวหนาน ของ เจิ้งอี้เจี้ยน มาช่วยเป็นจุดขาย และเล่าเรื่อง
Once A Gangster สับ ฟัน ซ่าส์ ข้า...หัวหน้าแก๊งค์ค์
เห็นเครียด ๆ แบบนี้ แต่เป็นหนังตลก
นักเลงที่อยากเป็นพ่อครัว
ทายาทแก๊งมาเฟียใหญ่ ที่อยากเรียนต่อปริญญาโท
หมูย่าง กับ นกกระจอก
ล้อเลียน Infernal Affairs ได้ฮาใช้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น