ถ้าเราจะพูดถึงหนังแนวอาชญากรรมแห่งยุคสมัย เมื่อช่วง 80s ก็คงต้องนึกถึง “โหดเลวดี” ก่อน … ส่วนยุคปี 2000s ก็ต้องเป็นไตรภาค Infernal Affairs อย่างแน่นอน ... แต่สำหรับช่วง 90s ที่หลายคนบอกว่าเป็น “ยุคทองของหนังฮ่องกง” คงไม่มีหนังมาเฟียเล่าเรื่องสังคมใต้ดินของฮ่องกงเรื่องใด จะยิ่งใหญ่ได้รับการกล่าวขวัญถึงเท่ากับ “กู๋หว่าไจ๋” อีกแล้ว
การเข้าฉายของ Young and Dangerous หรือ กู๋หว่าไจ๋ กลายเป็นความโด่งดังระดับปรากฏการณ์ ของวงการหนังฮ่องกงยุค 90s ที่มีส่วนปลุกหนังแนวแก็งสเตอร์ให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการหนังที่ใกล้ซบเซาในช่วงเวลานั้น กับงานที่หยิบเอาการ์ตูนสุดฮิตของฝั่งฮ่องกงเขาที่ชื่อ Teddy Boyมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม
ด้วยเรื่องราวมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ เพื่อนรัก 5 คน นักเลงรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามาสร้างชื่อในยุทธจักร นำโดยตัวละครสุดฮิต อย่าง เฉินห้าวหนาน ได้ทำให้ภาพของนักเลงวัยรุ่นสุดเท่ วิ่งถือมีดพร้าเข้าหากันได้กลายเป็นภาพจำภาพหนึ่ง แห่งวงการหนังฮ่องกงเมื่อยุค 90 ไปโดยปริยาย ใครเติบโตขึ้นมาในช่วงนั้น ก็น่าจะมีโอกาสได้ผ่านตาหนังชุดนี้ ที่สร้างกันออกมาหลายภาคซักครั้ง หรืออย่างน้อยก็ต้องได้ยินคำว่า "กู๋หว่าไจ๋" กันมาบ้าง
นักเลงวัยรุ่น "กู๋หว่าไจ๋"
เรื่องราวของกู๋หว่าไจ่ เริ่มต้นขึ้นในปี 1985 เมื่อเด็กหนุ่มจากครอบครัวชนชั้นปากกัดตีนถีบ 5 คน ที่นำโดย "เฉินห้าวหนาน" กับเพื่อนสนิทที่ถือเป็นมือขวาอย่าง ไก่ป่า หรือ ซาจี๋ ได้ก้าวขาสู่ "หงซิ่ง" องค์กรอาชญากรรมที่แผ่ขยายอิทธิพลอยู่ในเกาะฮ่องกง ด้วยการติดตาม "พี่บี" หัวหน้าสาขาสำคัญคนหนึ่งของหงซิ่ง
สิบปีต่อมา เฉินห้าวหนาน กับเพื่อน ๆ กลายเป็น "นักเลง" เต็มตัวและถูกจับตามองในฐานะดาวรุ่งแห่งแวดวงทันทีเมื่อพวกเขาตัดสินใจลงมือเด็ดชีวิต ปากัวนักเลงใหญ่อีกคนในย่านมงก๊อก ที่ถือเป็นการเปิดศึกประกาศสงครามอย่างเป็นทางการกับ "อาคุน" นักเลงขาใหญ่อีกคนในหงซิ่น พี่น้องร่วมสาบานของปากัว ชายผู้ทำทุกอย่างเพื่อเงินและอำนาจ หลังจากเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน ความขัดแย้งใน "หงซิ่ง" จึงเริ่มคุกรุ่นขึ้นเรื่อย ๆ
น่าเสียดายที่เป็นฝ่ายของ ห้าวหนาน ที่เพลี่ยงพล้ำ เขาและเพื่อนถูกส่งไปติดกับดักในมาเก๊า จนเสียเพื่อนคนหนึ่งไป มิตรภาพของเขากับ ไก่ป่า ก็ขาดสะบั้นลงด้วยความเข้าใจผิดที่เกิดจากแผนการชั่วของฝ่ายตรงข้าม สุดท้าย ห้าวหนาน ถูกขับออกจากแก๊งเพราะสร้างเรื่องเสื่อมเสียที่ให้อภัยไม่ได้
นับจากนั้น อาคุน ได้สร้างอิทธิพลแพร่ขยายไปมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยอำนาจเงินที่เขาหาให้กับแก๊งได้อย่างมหาศาล แม้แต่ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง "คุณเจียง" ก็ต้องหลบให้ หงซิ่น ที่อยู่ภายใต้การนำของตัวแสบคนนี้ กลายเป็นองค์กรนักเลงที่ตกต่ำเลวร้าย การต่อสู้ภายในแก๊งก็บานปลายไปแบบเกินเหตุ สุดท้าย พี่บี ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า เฉินห้าวหนาน จึงตัดสินใจกลับคืนสู่วงการ เพื่อชำระความแค้น, ตอบแทนบุญคุณ และทวงคืน "หงซิ่ง" ของเขากลับคืนมาให้ได้
ดีไม่ดีไม่รู้? แต่โคตรมัน
กู๋หว่าไจ๋ เข้าฉายในช่วงเวลาก่อนตรุษจีนสุดท้ายปี 1996 นิดหน่อย เป็นเวลาแห่งการนับถอยหลังสู่การส่งมอบอำนาจการปกครองเกาะให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ เห็นได้ชัดว่าอุตสากรรมภาพยนตร์เริ่มต้นอยู่ในภาวะขาลงแล้ว แต่หนังฟอร์มกลาง ๆ ที่ไม่ได้มีดาราดังเป็นจุดขาย แม้แต่ เจิ้งอี้เจี้ยน ในขณะนั้นก็ดูจะมีภาพของนักร้อง หรือนักแสดงทีวีบี มากกว่าจะเป็นดาราใหญ่ในวงการหนัง ผู้กำกับ แอนดรูว์ เลา ก็ยังไม่ได้มีสถานะใหญ่โตเท่านั้นปัจจุบัน ไม่เคยมีหนังฮิตอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
แต่สุดท้าย กู๋หว่าไจ๋ ภาคแรกสามารถทำเงินได้สูงถึง 20 ล้านเหรียญฮ่องกง ยืนโรงฉายไปอีก 3 เดือน มีภาคต่อทั้งที่เป็นภาคหลัก และภาคย่อยต่อยอดตามออกมารวมกันเป็น 10 ภาค เป็น "ตำนาน" ในช่วงท้าย ๆ ยุคทองของหนังฮ่องกง ก่อนความรุ่งโรจน์ทั้งหมด จะปิดฉากไปพร้อม ๆ กับการส่งมอบอำนาจการปกครองของเกาะให้กับแผ่นดินใหญ่ในปีต่อมา
แม้จะประสบความสำเร็จทางการตลาดอย่างมากมายมหาศาล ในอีกด้านหนึ่ง กับการประเมินคุณค่าในทางภาพยนตร์ กู๋หว่าไจ๋ ก็มักจะถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า "หนังเรื่องนี้ดีจริงรึเปล่า?"
ซึ่งคำตอบของหลาย ๆ คน ก็มองว่างานนี้ชิ้นนี้เป็นหนังมาเฟียที่มีคุณภาพระดับกลาง ๆ เท่านั้น ในแง่เนื้อหาของหนังแล้ว กู๋หว่าไจ๋ ขาดความลึกซึ้ง และแทบไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ นอกจากการนำแนวทาง หนังมาเฟียฮ่องกง แบบดั้งเดิมมานำเสนอ การหักเหลี่ยมเฉือนคม การแก้แค้น ผสมด้วย เรื่องรักหนุ่มสาว และมิตรภาพระหว่างเพื่อน กับเนื้อหาพิมพ์นิยมประเภท ความเข้าใจผิด และการพิสูจน์ความจงรักภักดี ต่อสหาย อะไรทำนองนั้น แต่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก
ผมเองเห็นด้วยส่วนหนึ่งกับคำวิจารณ์ที่ว่า และบางส่วนก็เห็นต่างออกไปครับ .... จริงอยู่ที่ กู๋หว่าไจ๋ ไม่ได้มีคุณค่าในทางภาพยนตร์อะไรมากมาย แต่หนังก็ไม่ถึงกับย่ำแย่จนหาความดีงามอะไรไม่ได้เลย อย่างที่หลายคนดูแคลน ที่แน่ ๆ หนังดูได้สนุก และให้ความบันเทิงกันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้จะเป็นความบันเทิงที่ไม่ได้เลิศหรู มีรสนิยมอะไรก็เถอะ
ที่สัมผัสได้ทันทีก็คือความดิบของหนัง, ความจริงใจกับการนำเสนอเรื่องราวอย่างเรียบง่ายซื่อตรง แต่หนักแน่น ไม่ต้องประดิษฐ์ประดอยด้วยเทคนิคหรูหราอะไรกันให้มากความ (อย่างที่หนังรุ่นหลังเรื่อง Monga เป็น)
หนังไม่ได้พยายามแทรกบทเรียนศีลธรรม หรือปรัชญาอันสูงส่ง แต่ว่าด้วยเรื่องราวประเภทคุณธรรมระดับชาวบ้านมากกว่า เป็นหนังที่เล่าเรื่องของกลุ่มคนนอกกฎหมายอันแข็งกร้าวด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ทั้งเรื่องราวในแบบฮ่องกงโดยแท้ กับเนื้อหาเต็มไปด้วยการเร้าอารมณ์ ประเภทมอบชะตากรรมอันสุดรันทดให้กับตัวละคร และเฝ้ามองการกลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่ของเขาในตอนท้าย
การนำเสนอของ แอนดรูว์ เลา ก็ไปได้ดีกับหนังเหลือเกิน เขาพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นผู้กำกับที่เติบโตขึ้นมากับงานสายกำกับภาพโดยแท้จริง (ก่อนหน้านี้ แอนดรูว์ เลา มีเครดิตเป็นผู้กำกับภาพให้กับหนังของ หว่องกาไว มาแล้ว) ด้วยการสร้างงานภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจ เหนือมาตรฐานของหนังฟอร์มนี้ในฮ่องกงโดยทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ถ่ายแสงสีไฟกลางคืนได้สวยเป็นพิเศษ และการเคลื่อนกล้องแฮนด์เฮลด์ในฉากพะบู๊ต่อยตีฟันแทง ก็ให้ความรู้สึกเหมือนคนดูได้ไปอยู่ในจุดศูนย์กลางของสงครามนักเลงจริง ๆ
ดารากลุ่มใหญ่ก็ร่วมงานกันอย่างเข้าขารู้ใจ ทั้งกลุ่มนักแสดงหนุ่มทั้ง 5 คน ที่ให้ภาพของนักเลงวัยรุ่นที่เท่เป็นบ้า, และมิตรภาพของตัวละครก็น่าเชื่อถือเพียงพอ รวมถึงตัวละครแวดล้อมทั้งหมด แต่ที่ต้องชมเชยเป็นพิเศษก็คือ อู๋เจิ่นอวี้ ที่รับบทตัวร้ายผู้น่ารังเกียจ กับการวาดลวดลายได้อย่างเหลือกินเหลือใช้ ฉากที่อาคุน ดับความแค้นที่พี่น้องร่วมสาบานถูกฆ่าด้วย ด้วยการให้คู่ขาก้มลงไปทำ "ออรัลเซ็กส์" ให้กลางห้องเย็นนั้น ทั้งขบขัน และวิปริตไปพร้อม ๆ กัน
"กู๋หว่าไจ๋" ตัวจริง
ความโดดเด่นเป็นพิเศษของ กู๋หว่าไจ๋ ก็คือการสร้างโลกนักเลงขึ้นมาได้อย่างสมจริงสมจังเป็นพิเศษ แตกต่างจากหนังมาเฟียแก๊งสเตอร์ของฮ่องกงก่อนหน้านี้ ที่มักจะสร้างบรรยากาศให้ออกมาเหนือจริงดูยิ่งใหญ่เกินเหตุ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากความสำเร็จของหนังชุด "โหดเลวดี" โดย จอห์น วู ต้นตระกูลของหนังมาเฟียยุคใหม่ของฮ่องกง ที่ใช้โครงสร้างหนังกำลังภายในมาเป็นพื้นฐาน จนโลกอาชญากรรมดูสวยเกินจริง ตัวละครเต็มไปด้วยความสง่างามน่าหลงใหล สวมสูทใส่แว่นดำเป็นเครื่องแบบ เป็นอาชญกรที่ดูดีกว่าความเป็นจริงไปเยอะ
แตกต่างจากหนังชุด กู๋หว่าไจ๋ โดยสิ้นเชิง ที่ผู้สร้างเข้าถึงหัวใจของคนดูรุ่นใหม่ได้ ด้วยการสร้างโลกในหนังให้สามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมได้ด้วยความใกล้ตัว และน่าเชื่อถือ ตั้งแต่ฉากหลัง ที่เป็นถนนหนทางในฮ่องกง แบบเดียวกับที่ผู้ชมทุกคนเคย และใช้ชีวิตเติบโตขึ้นมาในโลกแบบนี้
ตัวละครในหนังก็ห่างไกลเหลือเกินกับภาพของ "วีรบุรุษนักเลง" แบบหนังรุ่นก่อน ทั้งรูปลักษณ์ที่สามารถเรียกว่ากุ้ยได้อย่างเต็มตัว ไม่มีเครื่องแบบอันสง่างาม แต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้ารสนิยมต่ำ มีรอยสักเต็มตัวเพื่อแสดงความแปลกแยกกันอย่างเต็มที่ พวกเขาเป็นชนชั้นนักเลงที่ไม่ได้หากินอยู่กับกิจการนอกกฎหมายอันยิ่งใหญ่อย่าง การพิมพ์แบ็งค์ปลอม, ค้าอาวุธเถื่อนอะไรทำนองนั้น แต่เป็นงานชั้นต่ำประเภท ถ่ายหนังโป๊, เก็บค่าคุ้มครอง, เปิดผับบา ไปตามเรื่องตามราวเสียมากกว่า
นักแสดงในหนังก็ไม่รู้ไปหามาจากไหนกัน แต่ละคนเหมือนพวกนอกกฎหมายกันจริง ๆ
ซึ่งอันที่จริงแล้วมีนักแสดงในเรื่องอยู่หนึ่งคน ที่เคยใช้ชีวิตในฐานะเป็น "กู๋หว่าไจ๋" มาแล้วจริง ๆ เขาก็คือ อู๋จื่อสง (แฟรงกี อู๋) ที่สวมบทบาทเป็น "พี่บี" (หรือลุงบี) ลูกพี่ของพวกห้าวหนานนั่นเอง
ตามข้อมูลนักแสดงคนนี้เคยใช้ชีวิตเป็นนักเลงหัวไม้จนถึงอายุ 28 ปี หลักฐานถึงประสบการณ์ในด้านนี้ก็คือรอยสักเต็มตัว ที่เป็นของจริงล้วน ๆ ไม่ใช่รอยสักรูปลอกเหมือนนักแสดงคนอื่น ๆ ในเรื่อง ซึ่งที่เขาตัดสินใจทิ้งชีวิตด้านนี้ไปเมื่อปี 1979 ก็เพราะได้แต่งงาน และเริ่มอยากมีชีวิตธรรมดา ๆ เสียที
หลังทิ้งชีวิต กู๋หว่าไจ๋ ไป อู๋จื่อสง เคยทำงานประกอบอาชีพหลาย ๆ อย่าง จนได้งานเล็ก ๆ เป็นตัวประกอบในหนังเรื่องหนึ่ง ตามมาด้วยงานแสดงต่อเนื่อง ตอนนี้มีเครดิตการแสดงมากกว่า 100 เรื่องแล้ว บทส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นการแสดงเป็นนักเลง หรืออาชญากรตามถนัด ซึ่งความเป็นคน "วงใน" ยังทำให้เขาได้เป็นที่ปรึกษาพิเศษของหนังเรื่อง "กู๋หว่าไจ๋" ในภาคแรกด้วย
....................
พูดได้ว่า กู๋หว่าไจ๋ ประสบความสำเร็จในการนำเสนอ “ภาพลักษณ์” แบบใหม่ ๆ ให้กับหนังแนวมาเฟียของฮ่องกง ด้วยการสร้างแฟนตาซีที่ว่าด้วย โลกนักเลง ให้ใกล้ตัวใกล้ความเป็นจริงคนดูขึ้นมาอีก กลายเป็นความรู้สึกที่โดนใจเป็นพิเศษสำหรับคนดูในยุคนั้นโดยเฉพาะ
แม้จะต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จ ก็ด้วยบรรดาองค์ประกอบอันฉาบฉวยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ความเท่ของตัวละคร, การขายความรุนแรงอันดิบเถื่อน และเรื่องราวประเภทที่บอกได้ว่าเป็น "เมโลดราม่า" บีบคั้นอารมณ์กันอย่างเต็มที่
... แต่เนื้อในจริง ๆ ของ "กู๋หว่าไจ๋" ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้หนังฮิตระเบิดเช่นเดียวกัน กับความสำเร็จในการสื่อสารไปถึงคนดู เป็นหนังที่เรียกได้ว่าพูดภาษาเดียวกับคนดู
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |