การต่อสู้ระหว่างแก๊ง, ชิงไหวชิงพริบหักเหลี่ยมเฉือนคม, การเสียชีวิตของตัวละครหลัก, แนะนำตัวละครใหม่, ต่อยตีตะลุมบอน, เรื่องความรัก และเพลงป๊อปกวางตุ้ง คือส่วนหนึ่งของ "สูตร" ประจำหนังชุด "กู๋หว่าไจ๋" ที่แม้จะดูซ้ำซากแต่ก็ได้ผล หลักฐานก็คือหนังภาคต่อเรื่องราวของ "ห้าวหนาน" และพวกพ้องที่มีให้ดูกันต่อเนื่องอีกถึง 5 ภาค
คนทำหนังฮ่องกงท่านหนึ่งเคยบอกเอาไว้ว่า ก่อนที่จะถึงปี 1997 ที่ฮ่องกงจะคืนสู่การปกครองของจีนนั้น ทุกคนดูเหมือนจะพยายามทำงานให้หนักที่สุด เพื่อหาเงินเป็นทุนสำหรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น สำหรับวงการหนังก็สะท้อนออกมาในแง่ของการผลิตผลงานออกมาอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นหนังประเภทตีหัวเข้าบ้าน, ทำง่ายดูง่าย แน่นอนว่าคุณค่าทางศิลปะทางภาพยนตร์อาจจะน้อยไปบ้าง "กู๋หว่าไจ๋" ก็คงเป็นงานที่เข้าข่ายที่ว่านี้เหมือนกัน
จากภาคแรกที่ออกฉายในปี 1995 และประสบความสำเร็จทำเงินได้ประมาณ 20 ล้านเหรียญฮ่องกง ผู้สร้างจึงเข็นภาคต่อตามออกมาโดยทันที ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงภาคสองภาคเท่านั้น แต่ทีมงานบ้าพลังยังสามารถเข็นหนังออกมาให้ดูกันอีกถึง 4 ภาคใน 3 ปี ระหว่าง 1996 - 1998 ก่อนจะพักไปในปี 1999 เมื่อถึง 2000 จึงถึงเวลาของภาค 6 ที่เป็นการปิดฉากหนังชุดนี้ ที่ถือว่าเป็น "สัญลักษณ์แห่งยุคสุดท้ายของหนังฮ่องกงยุค 90s"
ภาค 2: ขึ้นครอง "ถงหลอวาน" (6.5/10)
Young and Dangerous 2 หรือ กู๋หว่าไจ๋ มังกรฟัดโลก เล่าเรื่องหลังจาก เฉินห้าวหนาน และเพื่อน ๆ กลับมาครองความยิ่งใหญ่ในแก๊ง "หงซิ่ง" ได้สำเร็จ หนังแบ่งเรื่องราวออกเป็นสองส่วน ช่วงแรกเล่าเรื่องถึงวีรกรรมของ "ไก่ป่า" ตัวละครนักเลงอารมณ์ร้อนที่สวมบทบทโดย เฉินเสี่ยวชุน ระหว่างไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไต้หวัน
ส่วนครึ่งหลังว่าด้วยการขึ้นสู่อำนาจของ ห้าวหนาน ในเขตถงหลอวาน ย่านที่ลูกพี่เก่าของเขาเคยครองอยู่ โดยมีคู่แข่งคือ "ต้าเฟย" ขาใหญ่อีกคนของแก๊ง แต่ศัตรูตัวสำคัญในภาคนี้กลับเป็นคนนอกอย่างแก๊งซานหลัว จากไต้หวัน ที่อาศัย ไก่ป่า เป็นเครื่องมือในการบุกฮ่องกง และแย่งชิงตำแหน่งในแก๊งกันเองด้วย
กู๋หว่าไจ๋ ภาคสองออกฉายในเวลาเพียงปีเดียวจากความสำเร็จของภาคแรก หนังถ่ายทำอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เข้าฉายตักตวงความสำเร็จของกระแสภาคแรกให้เร็วที่สุด ผลออกมาก็คือ ความเร่งรีบในการถ่ายทำ ที่แสดงให้เห็นในงานสร้างที่ไม่ค่อยจะเนี้ยบเหมือนภาคแรก ไม่ค่อยมีงานภาพสวย ๆ ให้เห็นกันเท่าไหร่ แต่อย่างไรหนังก็ยังห่างไกลกับคำว่า สุกเอาเผากัน อย่างน้อยทีมงานหนังฮ่องกงก็ถนัดอยู่แล้วกับการทำงานจานด่วนแบบนี้
สิ่งหนึ่งที่คนเขียนบท และผู้กำกับตัดสินใจครั้งสำคัญในหนังภาคนี้ก็คือ การมอบบทเด่นให้กับตัวละคร "ไก่ป่า" ที่ใคร ๆ ก็ประทับใจในหนังภาคแรก จนแทบจะกลายเป็นพระเอกของเรื่องอีกคน
ยังมีการแนะนำตัวละครใหม่ ๆ อีกจำนวนหนึ่ง แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "ต้าเฟย" ที่ หวงซิวเซิง ขโมยซีนได้ด้วยลีลาการแสดงอันแพรวพราวกับการสวมบทบาทตัวละครนักเลง "ซกม๊ก" ที่มีเอกลักษณ์อยู่ตรงการชอบแคะขี้มูก บุคลิกก็โผงผาง, ปากไว, ใจเร็ว เหมือนจะ "กาก" แต่ก็เท่จนกลายเป็นขวัญใจของคนดูอีกคน
ภาค 3: "หงซิ่ง" vs "ตงซิ่ง" (8/10)
ระหว่างเดินทางไปฮอลแลนด์ เฉินห้าวหนาน กลายเป็นแพะรับบาป ถูกใส่ความจากเหตุการณ์ที่หัวหน้าของ "หงซิ่ง" ถูกลอบสังหาร จากมือดีของแก๊งคู่อริ เขาถูกตามล่าเอาชีวิตอย่างไร้ความปราณี ต้องสูญเสียทุกอย่าง สูญเสียแม้กระทั่งแฟนสาวสุดที่รัก ถูกบีบคั้นทุกทาง แทบจะไร้ทางออก
"กู๋หว่าไจ๋ 3 ใหญ่ครองเมือง" เป็นภาคที่มีการแนะนำแก๊งศัตรูคู่อาฆาตของ หงซิ่ง ที่มีชื่อว่า "ตงซิง" ซึ่งจะมีบทบาทในหนังชุดนี้ไปอีกยาว
ตงซิ่ง เป็นกลุ่มอิทธิพล ที่มี "ลู่ปิงหยง" นักเลงหัวเก่าเป็นลูกพี่ใหญ่ แม้นักเลงรุ่นใหญ่คนนี้จะไม่ได้มีอะไรบาดหมางกับ คุณเจียง หรือ หงซิ่ง แต่สมุนคู่ใจมือซ้าย,ขวากลับไม่คิดเช่นนั้น และกำลังวางแผนลับ ๆ เพื่อนำ ตงซิง เปิดศึกชนกับ หงซิ่ง ที่จะทำให้เกิดความสูญเสียมากมาย โดยเฉพาะห้าวหนาน ที่ต้องสูญเสียคนรักไปอย่างน่าเศร้า
กู๋หว่าไจ๋ 3 กลับเข้าโรงในปีเดียวกับภาค 2 นั่นเอง แต่งานสร้างและการถ่ายทำถือว่าเหนือกว่ากันอยู่ก้าวนึง แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ หนังภาคนี้ยังเพิ่มอารมณ์อันรุนแรงเกรี้ยวกราดขึ้นไป กับเรื่องราวแห่งความสูญเสีย, ความตายของตัวละครสำคัญ และความเหี้ยมเกรียมที่เพิ่มขึ้นอย่างมาอย่างเห็นได้ชัด ตัวละครนักเลงหนุ่มก็เติบโตขึ้น พบกับบททดสอบของชีวิตอันหนักหน่วงจริงจังกว่าเดิม
ฉากจบการต่อสู้กลายสายฝนในงานศพของ หัวหน้าแก๊ง ตงซิ่ง ก็ดูบ้าคลั่งมาก รวมถึงฉากลอบสังหารหัวหน้าหงซิ่งที่เกิดขึ้นแบบไม่ให้คนดูตั้งตัว, การไล่ล่าช่วงกลางเรื่อง ในย่านที่อยู่อาศัยของฮ่องกงที่ดุเดือดเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นภาคที่ "บู๊" กันมันส์ที่สุดก็ว่าได้
หลังความสำเร็จของหนัง 2 ภาคแรก ผู้กำกับ แอนดรู เลา และ แมนเฟรด หว่อง ที่รับหน้าที่เขียนบท แสดงออกถึงความทะเยอทะยานมากที่สุดในหนังภาคนี้ แม้หนังจะดำเนินไปด้วยรูปแบบเดิม ๆ เป็นความบันเทิงประเภทครบรส ผสมทั้งเรื่องหักเหลี่ยมเฉือนคม, มีบทรักโรแมนติก และการบีบคั้นอารมณ์ แต่ กู๋หว่าไจ๋ 3 ก็ได้ชื่อว่าสามารถดีเด่นได้ด้วยกรอบเดิม ๆ ถึงขั้นที่มีการยกย่องว่า หนังภาค 3 ก็คือ กู๋หว่าไจ๋ ที่เข้มข้นที่สุด, ตึงเครียดที่สุด และดีที่สุด ใน "ภาคหลัก" ของเรื่องราวนักเลงหนุ่มแห่ง "หงซิ่ง" ชุดนี้
ภาค 4: "ไก่ป่า" ขอผงาด(7/10)
ในปี 1997 ก็ยังมีหนังนักเลงวัยรุ่นบอยแบนด์ชุดนี้มาให้ดูกันอีกเช่นเคย Young and Dangerous 4 หรือ "กู๋หว่าไจ๋ ตอน อันธพาลกวนเมือง" เข้าโรงฉายที่ฮ่องกงในช่วงต้นปี 1997 อันเป็นปีสำคัญที่กำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ขึ้นกับฮ่องกง เมื่อถึงเวลาที่เกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ต้องส่งมอบการปกครองคืนแก่ฮ่องกง
เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลมาถึงหนัง กู๋หว่าไจ๋ เช่นเดียวกัน เพราะหนังเลือกที่จะเล่าถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ เฉินห้าวหนาน กับเพื่อน ๆ โดยเฉพาะเพื่อนซี้ที่ต่อสู้ดิ้นรนด้วยกันมาตั้งแต่เด็กอย่าง ไก่ป่า ที่ได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ ขอท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าสาขาของ หงซิ่ง เพื่อขึ้นมามีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับห้าวหนาน
ขณะที่แก๊งของพวกเขาก็ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงประมุขสูงสุดกันแล้ว หลัง "คุณเจียง" เสียชีวิตไปในภาคก่อน บรรดาสมาชิกระดับบนของพรรคตัดสินใจเดินทางไปไหว้วานพี่ชายของหัวหน้าเก่า, ทายาทผู้หลงเหลือของผู้ก่อตั้งแก๊ง ที่ตอนนี้อาศัยอยู่ในเมืองไทยให้มารับหน้าที่ประมุขแทน
แต่แล้วการตัดสินใจของ ไก่ป่า กลับทำให้เขาบาดหมางกับ ห้าวหนาน ที่ไม่อยากให้เพื่อนตกอยู่ในวังวนของอำนาจและการสูญเสียเหมือนตนเอง หงซิ่ง ยิ่งเริ่มส่อแววบาดหมางขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นช่องว่างให้ ตงซิ่ง เข้ามาแทรกซึมได้อีกครั้ง ถึงขั้นที่ทำให้เพื่อนซี้อีกคนของ ห้าวหนาน ต้องจบชีวิตลง
จุดเด่นของหนังภาค 4 คงจะอยู่ตรงที่การแนะนำตัวละครใหม่ ๆ หลายตัว ดาราเจ้าบทบาท ว่านจื่อเหลียง มาเป็นหัวหน้าแก๊งหงซิ่งคนใหม่, อู๋เจิ่นหยู เป็น หมวย 13 ทอมสาวผมสั้น ขาใหญ่แห่งย่านถนน พอร์ตแลน และส่วน ว่านหยางหมิง เป็น หานปิง เจ้าพ่อถวนหมัน ที่หลังจากนี้จะกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของ ห้าวหนาน ต่อไป
ภาค 5: เศรษฐกิจตกสะเก็ด (6/10)
เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกับหนังภาค 5 "กู๋หว่าไจ๋ ฟัดใหญ่เมืองตะลึง" เมื่อไม่มีบทบาทของ ไก่ป่า ในภาคนี้ แต่ในด้านเรื่องราวก็ยังคงวนเวียนอยู่กับศัตรูตัวใหม่ ๆ สถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ความสนุกเริ่มลดลง และภาพรวมของหนังดูจะเข้าข่าย "ตัน" เสียแล้ว
ในภาคนี้เรื่องราวได้ยกระดับจากสงครามอันธพาล การต่อยตีของเด็กหนุ่มวัยรุ่น มาเป็นความขัดแย้งของรุ่นใหญ่ การต่อสู้แย่งชิงอำนาจที่ดูราวกับเป็นการต่อสู้ทางการเมือง ห้าวหนาน ต้องเจอมือดีจากตงซิ่งคนใหม่ "ซือถูห้าวหนาน" คนชื่อเดียวกับเขา ที่ขอท้าทายอำนาจเหนือย่านถงหลอวาน ด้วยการจัดแข่งขันมวยเดิมพันขึ้นมา
กู๋หว่าไจ๋ มักจะถูกปรามาสว่าไม่ได้ให้อะไรกับคนดู มากกว่าการฉายภาพฉาบฉวยของตัวละครนักเลงวัยรุ่นหนุ่มหล่อแต่งตัวดีมีรสนิยม, ทำผมเท่ห์ มีสาวสวย ๆ อยู่รายล้อม แต่ตลอดทั้ง 5 ภาคหนังก็แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวละครเพื่อฉายให้เห็นถึงสัจธรรมบางข้อได้อยู่เหมือนกัน
จากกุ้ยข้างถนนที่เอาชนะด้วย หมัด, มีด หรือปืน ไปสู่โลกแห่งความเป็นผู้ใหญ่ที่ความขัดแย้งมีอะไรซับซ้อนมากกว่านั้น โดยเฉพาะในยุคที่เงินทองเริ่มหายาก เหล่านักเลงต้องดิ้นรน ไปสู่หนทางใหม่ พยายามลงทุนในธุรกิจ แต่สุดท้ายการต่อสู้ในสนามที่ไม่ช่ำชอง ก็ยิ่งมีแต่จะเสียเปรียบ งานนี้ ห้าวหนาน และพวกแทบจะเอาตัวไม่รอดเพราะโดนต้มซะสุก เช่นเดียวกับเพื่อนจาก หงซิ่งหลาย ๆ คนที่ต้องแย่เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ เงินขาดมือ สถานการณ์เลวร้ายกว่าตอนโดนคู่อริวิ่งถือมีดพร้าเข้าใส่เสียอีก
แม้จะไม่ได้นำเสนออะไรที่ลึกซึ้งมากมาย แต่หนังก็สะท้อนความเป็นจริงบางอย่างออกมาได้ โดยเฉพาะบรรยากาศของฮ่องกงหลังกลับคืนสู่การปกครองของจีน ความไม่มั่นใจกับระบบการปกครองใหม่ แต่ถ้าจะนับความสนุก, ความลื่นไหลดูมันส์แล้ว ก็ถือว่าเป็นรองภาคอื่น ๆ
อันที่จริงแล้ว หนังภาค 4 และ 5 ก็ไม่ได้ย่ำแย่อะไร แต่มักจะถูกกล่าวถึงในฐานะตอนต่อที่เริ่มไม่ค่อยน่าจดจำแล้ว ส่วนหนึ่งก็อาจเพราะเนื้อหาของหนัง แม้จะมีอะไรใหม่ ๆ ให้เห็นกันอยู่บ้าง แต่ภาพรวมบรรยากาศการเล่าเรื่อง ก็ไม่ได้ใหม่พอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก สุดท้ายรายได้ก็เริ่มลงลด และปีต่อ ๆ ไปก็ไม่ได้มี "กู๋หว่าไจ๋" มาให้ดูกันปีต่อปีอีกต่อไป
ภาค 6: การกลับมาของ "กู๋หว่าไจ๋" (7/10)
หลังได้รับความสำเร็จมากมายตั้งแต่ภาคแรกออกฉายเมื่อปี 1995 กู๋หว่าไจ๋ ต้องหยุดพักในปี 1999 ที่ไม่มีหนังชุดนี้มาให้ดูกัน แต่ยังมีภาคยิบย่อยประเภทเรื่องราวต่อยอดของตัวละครหลักอื่น ๆ จนไปถึงภาคก่อนหน้าที่พูดถึงชีวิตในช่วงวัยรุ่นของตัวละครมาให้ดูกันอีกหลายภาค
จนกระทั่งในปี 2000 แอนดรูว์ เลา ได้รวบรวมนักแสดงทีมเดิม กลับมาร่วมกลุ่มกันอีกครั้ง กับหนังที่ถือว่าเป็น "ภาคหลัก" ภาคสุดท้ายที่ใช้ชื่อว่า Born To Be King หรือ กู๋หว่าไจ๋ เกิดมาเพื่อเป็นเจ้าพ่อ
ไก่ป่า ถูกทางแก๊งซานหลัวแห่งไต้หวันที่เขาสังกัดอยู่ ส่งตัวให้ไปแต่งงานกับ นานาโกะ ลูกสาวของหัวหน้าแก๊งยากูซ่าใหญ่จากญี่ปุ่น และกลายเป็นกุญแจแห่งความขัดแย้งในแก๊ง ซานหลัว เมื่อเขาและลูกชายของหัวหน้าคนก่อน กลายเป็นคู่แข่งแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าคนต่อไป แม้โดยส่วนตัวแล้วไก่ป่าจะไม่ได้อยากได้ตำแหน่งที่ว่านี่เลย
สุดท้ายเขากลับโดนใส่ความ ว่าแอบแผนสูงลอบสังหารผู้หลักผู้ใหญ่ของแก๊งที่ขวางการขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้า จน ห้าวหนาน ที่ตอนนี้กลายเป็นประมุขแห่ง "หงซิ่ง" แทน คุณเจียง ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
Born To Be King ที่ถือว่าเป็นภาคสุดท้ายในชุด "กู๋หว่าไจ๋" นำความบันเทิงแบบเดิม ๆ กลับมาอีกครั้ง พร้อมงานสร้างที่ใหญ่โตขึ้น มีการไปถ่ายทำถึงประเทศญี่ปุ่น ดาราเก่า ๆ ก็กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา ที่ขาดหายไปก็มีเพียง ต้าเฟย เท่านั้น แม้แต่หนุ่ม ๆ ที่แสดงเป็นเพื่อนของห้าวหนาน ซึ่งตัวละครที่แสดงตายกันไปแล้ว ก็ยังได้มีโอกาสกลับมาใหม่กับบทใหม่ เช่นเดียวดาราดาวร้าย เจิ้งเย้าหยาง ที่เคยเป็นตัวโกงในหนังภาค 2 และ 3 ก็กลับมากับบทใหม่ เรียกว่าตายกันสามรอบเลยทีเดียวกับดาราคนนี้ในหนังชุด กู๋หว่าไจ๋
ภาคสุดท้ายของ กู๋หวาไจ๋ ยังมีตัวละครน่าสนใจ เรื่องราวก็ยังผูกกับสถานการณ์ปัจจุบันเหมือนเดิม ที่คราวนี้เล่นประเด็นการเลือกตั้งผู้นำใหม่ของไต้หวัน แม้ภาพรวมก็จะไม่ได้มีอะไรพิเศษนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการปิดฉากที่ไม่ได้เลวร้ายเกินไปนัก อย่างน้อยก็ยังดูสนุกกว่า 2 ภาคก่อนหน้านี้
.........................
ด้วยการสร้างภาคต่อออกมามากมายในระยะเวลาไม่กี่ปี กู๋หว่าไจ๋ ไม่ใช่งานที่ประณีตนัก มีการใช้นักแสดงเวียนกันหลายรอบ อย่าง เจิ้งเย้าหยาง เล่นเป็นตัวโกง (ที่ไม่ได้เป็นพี่น้องฝาแฝดกันแต่อย่างใด) ในหนังถึง 3 ภาค หรือ "พี่บี" อู๋จื่อสง ที่ตัวละครของเขาตายไปตั้งแต่ภาคแรก ก็ยังได้โผล่เข้ามาแจมในหนังภาค 3 ที่คราวนี้เปลี่ยนไปเป็นตัวโกงดูบ้าง
ทั้ง 6 ภาคหลักของ กู๋หว่าไจ๋ มีบางส่วนที่เป็นสูตรซ้ำซาก เนื้อหาการบีบคั้นตัวละครก็แทบจะเข้าขั้น "น้ำเน่า" อยู่รอมร่อ แต่ในเวลาเดียวกันหนังแต่ละภาคก็ยังมีจุดเด่น มีความแตกต่างให้เห็นกันอยู่ตลอด มองเป็นภาค ๆ อาจจะไม่ใช่งานที่โดดเด่นอะไรนัก แต่เมื่อพิจารณาถึง 6 ภาครวมกันแล้วก็ต้องยอมรับว่าเป็นหนังชุดที่ยิ่งใหญ่ไม่เบา
นอกจากความบันเทิงของหนังแต่ละภาคแล้ว การสร้างหนังออกมายาวเหยียดถึง 6 ภาคและยังยังภาคย่อยอีกนับไม่ถ้วน ก็ช่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนดูได้ไม่น้อย อย่างน้อยการติดตามชีวิตของตัวละครก็เป็นความสนุกอย่างหนึ่งสำหรับการตามดูหนังชุดนี้ เหมือนเราเป็นหนึ่งใน "หงซิง" และเติบโตไปพร้อม ๆ กับ "ห้าวหนาน"
"กู๋หว่าไจ๋" Boxset 5DVD The Complete SAGA
เข้าใจว่า "กู๋หว่าไจ๋" ยังไม่เคยมีการผลิตแผ่น DVD (หรือ Blu-ray) ในฉบับ Remaster ออกมาแต่อย่างใด แผ่นที่มีอยู่ในตลาดไม่ว่าจะฮ่องกง หรือที่ไทยเรา ก็คือภาพแบบเดียวกันที่ออกมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว บางภาคก็ซับฝังมากับตัวหนัง ภาพก็ไม่ได้เป็น Anamorphic Widescreen อย่างที่เป็นมาตรฐานในยุคนี้แต่อย่างใด ส่วนระบบเสียงก็ไม่มีอะไรให้คาดหวังแน่นอน
ซึ่งถ้าสนใจหาหนังชุดนี้มาดู ก็สามารถมองไปที่ Boxset 5DVD ที่เพิ่งออกจำหน่ายมาเร็ว ๆ นี้ได้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีราคาไม่สูงนัก แต่ Boxset ตัวนี้ก็มีจุดตำหนิ เป็นรอยด่างอยู่เยอะพอสมควร
ประการแรกแม้จะเป็น Box ที่มี 5 แผ่น 5 เรื่อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นหนัง 5 ภาคหลักแต่อย่างใด เพราะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ ผู้ผลิตเลือกที่จะใส่ภาค Young and Dangerous : The Prequel เข้ามาแทนหนังภาค 5 ถึงภาค The Prequel จะมีคุณภาพโดดเด่นน่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้เข้าพวกกับหนังอีก 4 ภาคที่เหลือ ถ้าอยากดูหนังภาค 5 ก็คงต้องไปซื้อแผ่นแยกที่ออกก่อนหน้านี้ไปดูแทน
ยังมีปัญหายิบย่อยหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับ DVD ชุดนี้ ทั้งการสกรีนแผ่นผิดสลับภาค, เสียงพากย์ไม่ได้เป็นของทีมพันธมิตรทุกแผ่น, เสียงจีนบางภาคเป็นจีนกลางส่วนบางภาคเป็นกวางตุ้ง นอกจากนั้นชื่อตัวละครก็ยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ที่เห็นได้ชัด ๆ ก็คือ ไก่ป่า, ซานจี, ซาจี๋ เรียกไม่เหมือนกันซักภาค
แน่นอนว่าคุณภาพของ "ภาพและเสียง" คงไม่สามารถตั้งความหวังอะไรได้อยู่แล้ว แต่ Boxset ก็ยังเข้าข่ายน่าผิดหวัง แต่เพราะราคาไม่สูงเท่าไหร่ ก็ถือว่าพอรับได้ ถ้าอยากหาหนังมาดูก็คงเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |