xs
xsm
sm
md
lg

White Vengeance : “ฌ้อปาอ๋อง vs. หลิวปัง” ฉบับฉายก่อนได้เปรียบ (รึเปล่า?)

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี

The Last Supper  (บน) - White Vengeance (ล่าง)
เป็นเรื่องบังเอิญรึเปล่าไม่ทราบ ที่ในช่วงปีสองปีนี้มีหนังที่ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่าง "หลิวปัง" กับ "ฌ้อปาอ๋อง" มาให้ดูกันถึง 2 เรื่อง หนึ่งเป็นงานของคนทำหนังชาวฮ่องกง ส่วนอีกหนึ่งเป็นของคนทำหนังจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กำลังมาแรงสุดขีด ... ซึ่งในตอนนี้เรื่องนึงก็ได้มีโอกาสเข้าฉายนำหน้าไปแล้ว เป็นหนังในฉบับที่เลือกให้ “หลิวปัง” เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราว

ต้องบอกว่าเป็นโปรเจ็คที่ถูกเปรียบเทียบกันมาตั้งแต่ต้นครับ สำหรับ White Vengeance กับ The Last Supper หนังที่ว่าด้วยเหตุการณ์ที่เรียกว่า "งานเลี้ยงที่หงเหมิน" ที่สร้างในเวลาใกล้เคียง และเข้าฉายห่างกันไม่ถึงปี

ซึ่งหากจะวัดกันที่ “ฟอร์ม” ก็ต้องยอมรับว่างานเรื่องหลัง ที่เป็นของผู้กำกับเลือดจีนแผ่นดินใหญ่ “ลู่ฉวน” ผู้โด่งดังมาจากหนังว่าด้วยเหตุการณ์ที่นานกิง The City of Life and Death ดูจะนำหน้าไปหลายก้าว ด้วยบรรยากาศที่สมจริงสมจัง, ลึกซึ้ง, ครุ่นคิด ดูมีความน่าสนใจกว่าหลายขุมเหมือนกัน ...

ส่วนงานของฮ่องกง White Vengeance มีจุดได้เปรียบที่ได้เข้าฉายก่อน และแม้ฟอร์มจะสู้ไม่ได้ แต่หนังก็ไม่ได้เลวร้ายครับ อาจจะไม่ได้ถึงขั้นดีเด่นห้ามพลาด แต่ก็มีแง่มุมน่าสนใจ พอจะให้ความบันเทิงได้บ้าง

“สงครามฉู่-ฮั่น”

White Vengeance (2011, ฌ้อปาอ๋อง ศึกแผ่นดินไม่สิ้นแค้น) เป็นงานที่หยิบเอาการรบพุ่งครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์จีนที่เรียกว่า “สงครามฉู่-ฮั่น” มาดัดแปลงเป็นหนัง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “งานเลี้ยงที่หงเหมิน” อันเป็นจุดเปลี่ยนของยุคสมัยมาตีความ เพิ่มแง่มุมใหม่ ๆ ลงไป

เรื่องราวในหนังเกิดขึ้นในยุคปลายราชวงศ์ฉินที่ราษฎรพากันลุกฮือขึ้นก่อกบฏ จนเกิดกองกำลังหลายสายในความวุ่นวายครั้งนี้ หนึ่งก็คือกองทัพที่มี เซี่ยงหวี่ หรือ ฌ้อปาอ๋อง นักรบหนุ่มผู้ห้าวหาญที่เกิดมาในตระกูลขุนนางของแคว้นฉู่เป็นผู้นำ ส่วนอีกหนึ่งคือกองทัพ ที่มี หลิวปัง ขุนนางระดับล่างของก๊กฉิน ที่มีพื้นเพเดิมมาจากครอบครัวชาวนาผู้ยากไร้เป็นผู้นำ

ในช่วงแรกทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะเป็นพันธมิตร ที่มีอุดมการณ์ร่วมกันดี แต่แล้วเมื่อ เซี่ยงหวี่ ได้ชัยในการรบ เข้าใกล้สู่การกรีฑาทัพเข้าเมืองเสียนหยาง กลับเป็นกองทัพของ หลิวปัง ที่ชิงเข้าเมืองก่อน สร้างความไม่พอใจให้แก่เซี่ยงหวี่เป็นอย่างยิ่ง แม้จะยังไม่ถึงขั้นแตกหัก แต่ความบาดหมางก็เริ่มส่อเค้าขึ้น

แม้จะเข้าเมืองหลวงช้ากว่า แต่ด้วยกำลังพลที่มากที่สุดกองกำลังของ เซี่ยงหวี่ ยังคงถือสิทธิ์ในการปกครองประเทศ เขาประกาศตั้งตัวเองเป็น “ฌ้อปาอ๋อง” ที่มีความหมายว่า “อ๋องแห่งฌ้อผู้ยิ่งใหญ่” ขณะเดียวกันก็แต่งตั้งให้ หลิวปัง มีบรรดาศักดิ์เป็น "ฮั่นอ๋อง"

เหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “งานเลี้ยงที่หงเหมิน” เกิดขึ้นหลังจากนั้นนั่นเอง เมื่อ เซี่ยงหวี่ ได้จัดงานเลี้ยง เชิญ หลิวปัง มาเพื่อหวังจะฆ่าทิ้งกำลังเสียนหนามนี้ซะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ ในบางมุมมองว่ากันว่าเพราะ ฌ้อปาอ๋อง เห็นแก่ความเป็นพี่เป็นน้องที่เคยมีมา สุดท้าย หลิวปัง ก็เอาตัวรอดไปได้ สงครามครั้งใหญ่กินเวลาหลายปี ซึ่งลงเอ่ยด้วยผลลัพธ์แห่งความพ่ายแพ้ของฝ่าย เซี่ยงหวี่ และการเชือดคอตัวเองตายข้างริมแม่น้ำอู่เจียง อย่างที่ทุกคนรู้กัน

White Vengeance เลือกที่จะให้ภาพ “งานเลี้ยงที่หงเหมิน” เป็นเหมือนสนามประลองของทั้งสองฝ่าย เป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม ที่แต่ละฝั่งได้ประกาศความเป็นศัตรูต่อกันอย่างชัดเจนแล้ว และถึงเวลาของการต่อสู้ในยกแรก เป็นการปะทะกันทางสติปัญญา, ชิงไหวชิงพริบ และการแผนการที่ต้องวางหมากกันหลายตลบ

เป็นแผนซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยงานเลี้ยงในวันนั้น, เริ่มต้นจากกระดานหมากล้อมอันดุเดือน แต่กว่าจะไปจบเอาก็กินเวลาหลังจากนั้นอีกหลายปี แม้ในงานเลี้ยงครั้งนั้นทั้ง หลิวปัง และจางเหลียง ผู้เป็นกุนซือจะดูเหมือนพ่ายแพ้แบบหมดทางสู้ แต่นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสงครามอันยาวนานเท่าเนั้น

เมื่อ “หลิวปัง” ดับรัศมี “ฌ้อปาอ๋อง” – “หลี่หมิง” ข่มนักแสดงรุ่นน้องมิด

เพราะหนังให้ความสำคัญไปที่การวางแผน เอาชนะกันด้วยสติปัญญานี่เอง นอกจากคู่รักและคู่แค้นอย่าง หลิวปัง กับ เซี่ยงหวี่ แล้วเรื่องราวจึงค่อนข้างจะให้น้ำหนักไปที่ การต่อสู้ในเชิงสติปัญญาระหว่าง "จางเหลียง" (จางฮั่นหยู) กับ "ฟ่านเจิง" (หวงซิวเซิง) กุนซือชราของ เซี่ยงหวี่ ด้วย

และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็ถูกบอกเล่าผ่านสายตาของตัวละครอย่าง เตียวเหลียง นี่เอง เป็นการมองเหตุการณ์ผ่านกุนซือสมองอัจฉริยะที่วางแผนการอันแยบยลเหมือนกับวางหมากล้อม ให้กับผู้เป็นนาย โดยเขาเองก็ไม่รู้ตัวเลยว่าสุดท้ายตนเองก็เป็นเพียงหมากในกระดานของผู้อื่นอยู่เช่นเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจดี

โดยเฉพาะฉากเล่นหมากล้อมที่ละหลายกระดานที่สู้กันจนกระอักเลือดถือว่าเป็นฉากที่ดูโอเวอร์ดีจริง ๆ

ต้องถือว่าเรื่องราวการต่อสู้ระหว่าง หลิวปัง กับ เซี่ยงหวี่ ในครั้งนี้พอจะมีความน่าสนใจอยู่บ้าง อย่างไรตามหนังยังมีช่องโหว่ให้เห็นอยู่หลายจุด ที่ชัดเจนที่สุดสำหรับเรื่องบทดูเหมือนจะอยู่ที่ การเล่าเรื่องแบบ “คิดไปเอง” ว่าคนดูรู้อยู่แล้ว ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ กลุ่มเป้าหมายหลักใน จีน, ฮ่องกง หรือไต้หวัน ก็น่าจะคุ้นเคยกับเรื่องราวในหนังจริง ๆ เพราะถือเป็นประวัติศาสตร์ช่วงที่ชาวจีนทุกคนทราบรายละเอียดกันดีอยู่แล้ว

ผู้สร้างจึง “ข้าม” รายละเอียดสำคัญบางอย่างไป ทั้งรายละเอียดของสงคราม, เหตุการณ์ หรือตัวละคร เอาง่าย ๆ ว่าหากไม่มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์มาบ้าง ก็คงจะไม่ค่อยเข้าใจนักว่าสุดท้ายแล้ว หลิวปัง ได้รับชัยชนะครั้งนี้ด้วยเหตุผลอะไรกันแน่ แม้จะมีบอกใบ้เอาไว้ว่าชัยชนะที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะ หลิวปัง เอาชนะใจชาวบ้านได้ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง ขณะที่ ฉ้อปาอ๋อง ดูจะหมกมุ่นอยู่กับสงครามเพียงแต่อย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้เป็นรายละเอียดที่ถูกให้น้ำหนักอะไรมากมาย หนังจึงขาดความสมบูรณ์ไปบ้าง

ตัวละครเอกอย่าง เซี่ยงหวี่ ที่สวมบทบาทโดยนักแสดงหนุ่ม เฟิ่งเส้าเฟิง ก็ดูจะเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย แม้หนังจะพยายามให้รายละเอียดความลึกซึ้งกับตัวละครอยู่บ้าง แต่การเลือกใช้ดาราที่ไม่ได้โด่งดังนัก และมีประสบการณ์ทางการแสดงค่อนข้างน้อย ตัวละครที่ควรจะเต็มไปด้วยพลังอย่าง ฌ้อปาอ๋อง จึงดูจืดชืดเบาบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมาประกบกับนักแสดงฝีมือดีหลายคนทั้ง หวงซิงเซิง หรือ จางฮั่นหยู่ ก็ยิ่งทำให้เขาดูอ่อนด้อยเข้าไปใหญ่

ยิ่งเมื่อต้องเปรียบเทียบกับ หลี่หมิง ที่ต้องปะทะกันหลายฉากยิ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างชัดขึ้นไปอีก เพราะขณะที่ ฌ้อปาอ๋อง เป็นเพียงตัวละครธรรมดา ๆ ที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ ตัวละคร หลิวปัง ผู้เย็นชา, อ่านยาก, แสดงออกแต่น้อย กลับน่าสนใจกว่า ยิ่งบทสรุปของหนังโน้มเอียงมาทางชะตากรรม และการตัดสินใจอันเหี้ยมเกรียมของ หลิวปัง ก็ยิ่งทำให้คนลืมเลือนตัวละคร ฌ้อปาอ๋อง เข้าไปอีก

แม้หนังจะใส่เรื่องรักของ ฌ้อปาอ๋อง กับ นางสนมหยูจี (หลิวอี้เฟย) ลงไป ก็ดูจะไม่ช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เพราะนอกจากหนังจะผูกเรื่องรักได้อย่างไม่น่าสนใจแล้ว การแสดงของสาวสวย หลิวอี้เฟย ก็ดูอ่อนแรง ไร้แรงดึงดูด ใครอยากจะเห็นตัวอย่างของวลีที่ว่า “สวยแต่ไม่มีเสน่ห์” ก็ดูได้จากหนังเรื่องนี้เอง

นอกจากตัวละครหลักที่กล่าวไปแล้ว White Vengeance ถือว่าโดดเด่นกับการสร้างตัวละครที่มีบุคลิกอันหลากหลาย ทำให้หนังดูสนุกขึ้นมาอีกเยอะโดยเฉพาะบรรดาเหล่าขุนพล ทั้ง หันซิ่น (แอนดี้ อัน) นักรบหนุ่มสุดเท่ห์, หรือ ฟานกุ้ย ผู้มุทะลุ ที่ เฉินเสี่ยวชุน แสดงซะจนนึกว่าเป็นอดีตชาติของ “ไก่ป่า” จาก “กู๋หว่าไจ๋” กันเลยทีเดียว

“แดเนียล ลี” กับการตีความใหม่

ผมสนุกกับการดู White Vengeance นะครับ แต่หนังก็เผย “แผล” ออกมาให้เห็นพอสมควร หนังของ “แดเนียล ลี” มักมีจุดเด่นที่การตีความตัวละครด้วยมุมมองใหม่ กับการออกแบบงานศิลป์ทั้งฉากหลัง และเสื้อผ้าของตัวละคร เพราะตัวผู้กำกับคนนี้เองไต่เต้ามาจากงานสายการกำกับศิลป์ ที่ทำให้ภาพในหนังของเขาไม่เหมือนใคร ดูดิบเถื่อน และเหนือจริงแฟนตาซี ไปพร้อม ๆ กัน แต่นอกจากจะเป็นจุดเด่นแล้วก็ต้องยอมรับว่าเป็นจุดด้อยไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ในด้านเนื้อเรื่องเขาไม่กลัวจะ “เขียนประวัติศาสตร์” ขึ้นใหม่ อย่างในคราวของ Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon (2005, สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกร) ที่เป็นการหยิบวรรณกรรม 3 ก๊ก มาตีวงเล่าเรื่องของ “จูล่ง” โดยเฉพาะ กับการฉายภาพอีกด้านของขุนศึก ที่เดิมทีค่อนข้างจะมีภาพลักษณ์สมบูรณ์แบบ ทั้งในด้านเชิงรบ และคุณธรรม นอกจากนั้นยังเป็นตัวละครแทบจะตัวเดียวที่ว่ากันว่ามีจุดจบค่อนค้างสงบสุข ให้เป็นทหารอาชีพผู้ตกเป็นเหยื่อของการเมือง และมีฉากสุดท้ายในชีวิตที่น่าเศร้า ก็ถือว่าเป็นความกล้าหาญที่เรียกเสียงวิจารณ์ในแง่ลบไปไม่น้อย

ส่วนใน White Vengeance แดเนียล ลี ก็เขียนชะตากรรมใหม่ให้กับหลายตัวละคร ก็ถือว่าเข้ากันกับเรื่องราวทั้งหมดดี อย่างน้อยก็ไม่ได้ขัดกับสิ่งที่บันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็อาจทำให้หนังถูกตั้งข้อแม้จากหลาย ๆ คนได้

แต่ที่ถือเป็นจุดเด่นอย่างแท้จริงในงานของคนทำหนังรายนี้ ก็เห็นจะเป็นในส่วนของงานสร้าง ที่ แดเนียล ลี ขอรับผิดชอบงานในส่วนการกำกับศิลป์ รวมถึงออกแบบเสื้อผ้าเองมาตลอด และดูเหมือนว่ายังคง “หนักมือ” กับองค์ประกอบด้านนี้ในหนังของตัวเองเหมือนเดิม โดยเฉพาะในด้านเครื่องแต่งกายของตัวละคร ที่ดูเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย และหลากหลาย หนังของเขาจึงมักจะมีภาพที่แตกต่าง ดูแล้วก็รู้ทันทีว่าใครกำกับ เป็นงานภาพในแบบที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่บ้าง

แต่บางครั้งไอเดียอันบรรเจิดก็ดูจะสุดโต่งไปบ้าง อย่างการผสมชุดเกราะ และอาวุธ แบบญี่ปุ่น หรือตะวันตก ลงไปในเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์จีน ก็ดูจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี หากอยู่ในหนังอีกเรื่องของเขาอย่าง 14 Blades (2010, 8 ดาบทรมาน 6 ดาบสังหาร) ที่ชัดเจนว่าเป็นแนว “กำลังภายใน” ก็พอจะให้อภัยกันได้บ้าง แต่เมื่อเป็นหนังอิงเหตุการณ์จริงแบบนี้ ก็ต้องบอกว่า “ผิดที่ผิดทาง” จนกลายเป็นความหลุดโลกซึ่งไม่น่าเชื่อถือไป

White Vengeance เป็นหนังที่ดูสนุกพอใช้ มีงานสร้างไม่เหมือนใคร, หักเหลี่ยมเฉือนคมกันได้สนุกดี แต่ก็มีจุดเสียหายอยู่บ้าง และฉากรบอาจจะน้อยไปหน่อย แถมดูไม่ค่อยยิ่งใหญ่เท่าไหร่ แต่ภาพรวมแล้วหนังก็ยังพอดูได้ ส่วนตัวผมให้ 6.5/10 ครับ

และถึงจะยังไม่ได้ดู The Last Supper แต่ผมก็เชื่อว่างานของ “ลู่ชวน” ที่ตอนนี้เครดิตดีเหลือเกิน ก็ยังน่าดู และน่าจะเหนือกว่าอยู่ดี

ASIAN HOME ENTERTAINMENT

เพราะหันมามุ่งมั่นกับการทำหนังย้อนยุค ไม่ว่าจะเป็นอิงประวัติศาสตร์หรือกำลังภายในทำให้ระยะหลัง ผลงานของ แดเนียล ลี ได้เข้าเมืองไทยทุกเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เสียด้วยครับ วันนี้ขอหยิบเอาแผ่น DVD สองเรื่องที่น่าสนใจ ของผู้กำกับคนนี้มาแนะนำกันครับ



14 Blades / 8 ดาบทรมาน 6 ดาบสังหาร (MVD/CAP)

หนังปี 2010 ของ แดเนียล ลี ที่มีพระเอกยอดนักบู๊ ดอนนี่ เยน มาสวมบทบาทนักฆ่าของราชสำนัก เป็นหนังที่ว่ากันว่าผู้สร้างต้องการให้เป็น “The Bourne Identity” ฉบับกำลังภายใน ตัวหนังก็ถือว่าสนุกใช้ได้ คิวบู๊ และงานสร้างอาจจะหลุดโลกไปหน่อย แต่ก็มีอะไรแปลก ๆ ให้ดูกันเยอะดี

สำหรับแผ่น DVD ที่ออกจำหน่ายครั้งแรกหลังจากหนังเข้าฉายไม่นานนั้น เป็นลิขสิทธิ์ของทาง MVD ที่ภาพออกมาไม่ค่อยจะชัดเจนนัก นอกจากนั้นยังเข้าใจว่ามีการคล็อปภาพจากสัดส่วนที่แท้จริง 2.35:1 ไปเป็น 16:9 ด้วย ตอนวางแผงครั้งแรกก็ถูกวิจารณ์ในแง่ลบอยู่มาพอสมควรเลย

จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ทาง CAP ผลิตแผ่นหนังเรื่องนี้ซ้ำขึ้นมาใหม่อีกครั้ง คราวนี้เข้าใจว่าใช้ต้นฉบับภาพจากทางฮ่องกงเลย ภาพนอกจากจะเป็นสัดส่วนที่ถูกต้องแล้ว ก็ยังชัดแจ๋วคมกริบสมกับเป็น DVD9 ด้วย ที่น่าเสียดายนิดหน่อยก็เห็นจะเป็นเสียงที่มีมาให้แค่เสียงกวางตุ้งเท่านั้น ใครอยากฟังเสียงจีนกลางก็อาจจะต้องผิดหวังนิดหน่อย แต่อย่างน้อยก็ยังมีเสียง DTS มาให้ฟังด้วย โดยภาพรวมถือว่าเป็นแผ่นที่คุ้มค่าอยู่ดีกับราคาประมาณ 99 ถึง ร้อยต้น ๆ แล้วแต่ร้านค้า ซึ่งใครสนใจหนังเรื่องนี้ก็ต้องระวังอย่าหยิบผิดเด็ดขาดครับ



White Vengeance / ฌ้อปาอ๋อง ศึกแผ่นดินไม่สิ้นแค้น (United)

หนังเรื่องล่าสุดของ เดเนียล ลี ที่ครั้งนี้ไม่ได้เข้าโรงฉายในเมืองไทย แต่ออกเป็นแผ่น DVD มาให้ดูกันเลย เป็นแผนของทาง United ที่ขายกันในราคาเป็นกันเองประมาณร้อยกว่าบาทเท่านั้นเอง คุณภาพก็ถือว่าพอรับได้ครับ มีเสียงไทยกับเสียงจีนกลางให้เลือก ส่วนภาพก็ชัดเจนดี แต่ไม่ได้เป็นความชัดในระดับสุดยอดอย่างแผ่นหนังฮ่องกงที่เดี๋ยวนี้ภาพชัดระดับฮอลลีวูดไปแล้ว ส่วนตัวนะครับรู้สึกว่ามาตรฐานของ United กับแผ่นหนังจีนในระยะหลังจะตกลงไปนิดหน่อย แต่ก็ยังเป็นความหวังในการนำแผ่นหนังจีนเข้ามาจัดจำหน่ายในเมืองไทยอยู่เหมือนเดิม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก




ฌ้อปาอ๋อง กับนางสนมหยูจี
หลิวปัง และบรรดานักรบ, กุนซือคู่ใจ
หลิวปัง
หันซิ่น
จางเหลียง
ฝานไขว้
ฟ่านเจิง


สวยแต่เรื่องนี้ไม่ค่อยเด่นเท่าไหร่ แฟนคลับ หลิวอี้เฟย ทำใจด้วยครับ
หนัง 3 เรื่องล่าสุดของ แดเนียล ลี
กำลังโหลดความคิดเห็น