เรื่องราวของ “กวนอู” เป็น “สามก๊ก” ตอนล่าสุดที่ได้มีโอกาสขึ้นสู่จอใหญ่ เป็นความพยายามอีกครั้ง ในการดัดแปลงพงศาวดารอันยิ่งใหญ่ของจีนเป็นหนังฟอร์มยักษ์ พร้อมการตีความเรื่องราวใหม่ เพิ่มตรรกะเหตุผลลงไป แต่สุดท้ายกลับเป็นความพยายามที่ไปไม่ถึงฝั่ง ไม่สามารถเป็นหนังสงครามอันลุ่มลึกอย่างที่ผู้สร้างหวัง แม้แต่จะดูเอาสนุกก็ยังไม่ได้เลย
มีมาให้ดูกันอีกแล้วครับ สำหรับหนังจากสามก๊กที่คราวนี้เป็นเรื่องของ “กวนอู” กันบ้างกับ The Lost Bladesman (สามก๊ก เทพเจ้ากวนอู) ที่มีดารานักบู๊แห่งยุคอย่าง เจินจื่อตัน หรือ ดอนนี่ เยน แสดงนำ ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ตั้งแต่หนังยังไม่เข้าโรงว่า เป็นการวางตัวที่ไม่ได้เหมาะสมเอาเสียเลย เพราะบุคลิกคุณสมบัติของพระเอกนักบู๊ ดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกับภาพนักรบร่างใหญ่ของ กวนอู เท่าไหร่ แต่จะเป็นเช่นนั้นรึเปล่าก็คงต้องดูส่วนอื่น ๆ ประกอบกันไปด้วยก่อน
หนังเปิดฉากขึ้นมากับช่วงเวลาหลังจากที่ กวนอู เสียชีวิตด้วยการถูกสั่งประหารโดย ซุนกวน ไปเรียบร้อยแล้ว และเรื่องราวที่ถูกเล่าทั้งหมดก็คือการย้อนกลับไปมองชีวิตของยอดนักรบแห่งจ๊กก๊กผู้นี้ จากมุมมองของผู้นำวุยก๊กอย่าง โจโฉ ที่เห็นการจากไปของกวนอูเหมือนการเสียเพื่อนสนิทคนหนึ่ง
ความทรงจำถึงขุนพลฝั่งตรงข้ามเริ่มต้นขึ้น ในเหตุการณ์ที่ กวนอู ติดอยู่กับกองทัพของ โจโฉ ที่นครลกเอี๋ยง พร้อมฮูหยินทั้ง 2 ของเล่าปี่ แม้เขาจะช่วยเหลือ โจโฉ ในการสังหารงันเหลียง ทหารเอกของอ้วนเสี้ยว ได้สำเร็จแต่ดูเหมือนว่า กวนอู จะทำไปเพื่อตอบแทนบุญคุณเท่านั้น เพราะไม่ว่าอย่างไรเขายืนยันว่าจะไม่ยอมเปลี่ยนฝ่ายย้ายข้างเด็ดขาด จนสุดท้ายโจโฉจำยอมต้องปล่อยให้ กวนอู พร้อมด้วยฮูหยินทั้ง 2 กลับไปหาเล่าปี่แต่โดยดี
แม้โจโฉจะกำชับให้ด่านประตูเมืองทั้งหมดเปิดทางแก่กวนอู แต่เหล่าที่ปรึกษารวมถึงทหารเอกรอบตัวของโจโฉกลับทำตรงกันข้าม ด้วยการออกคำสั่งไปถึงขุนพลซึ่งเฝ้าด่านทั้ง 5 ให้สกัดกั้นกวนอู จนนำมาซึ่งการเผชิญหน้าและต่อสู้เอาชีวิตกัน
สามก๊ก เทพเจ้ากวนอู เล่าเรื่องตามแบบพงศาวดาร แต่ผู้เขียนบทเลือกที่จะเพิ่มเติมรายละเอียด ใส่แรงจูงใจที่สมเหตุสมผลลงไปในเรื่องราว เพื่ออธิบายการกระทำของตัวละครให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มเนื้อหาลงไป อย่างเรื่องรักระหว่างกวนอูกับ ซีหลาง สนมคนใหม่ของเล่าปี่ด้วย
และที่สำคัญก็คือการใส่มิติความลึกซึ้งลงไปในตัวละคร ที่ทำให้การเดินทางไกลของ กวนอู ครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงการฆ่าฟัน แต่เขายังต้องขบคิดด้วยว่าสมควรจะเลือกสิ่งใดดี ระหว่างคำสาบานกับพี่บุญธรรม และโอกาสที่จะสร้างโลกใหม่พร้อมกับ โจโฉ ที่ดูมีโอกาสจะเป็นไปได้สูงอยู่เหมือนกัน
งานของ อลัน มัก และ เฟลิกซ์ ชอง ที่ทั้งกำกับและเขียนบทร่วมกัน แสดงออกถึงความทะเยอทะยานอย่างเต็มเปี่ยม กับการพยายามขบคิดหาเหตุผลให้กับพฤติกรรมของบุคคลในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอธิบายความ "ชื่อสัตย์" แบบที่ทำให้ตัวละครเอกในหนังถูกยกย่องถึงขั้นเป็น "เทพเจ้า" อย่างที่เราคุ้นเคยกันให้ออกมาซับซ้อน และมีน้ำหนักขึ้นแห่งความเป็นจริงมากขึ้น
หนังจึงวาดภาพสุดยอดขุนพลผู้นี้ ให้ออกมาเป็นนักรบผู้แข็งแกร่ง, ไร้เทียมทาน และเถรตรงสื่อสัตย์ต่อทุกคน และทุกเรื่อง จนอาจจะกลายเป็นความอ่อนหัดในทางการเมือง อันเป็นแนวคิดใจความสำคัญของหนัง ที่ถ่ายทอดออกมาจากปากของ โจโฉ ในตอนหนึ่งของเรื่องที่วิจารณ์ว่า กวนอู เป็นเหมือนกับลูกแกะในฝูงหมาป่า เป็นยอดนักรบผู้ยึดติดอยู่กับความซื่อตรงมากเกินไป จนยากที่จะใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยแห่งพวกเสือสิงห์ ที่ทำทุกอย่างได้ในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ
ฟังดูแล้วก็เหมือนพอจะเข้าท่านะครับ แต่ตัวหนังทำออกมาค่อนข้างจะน่าเบื่อ ซึ่งพอจะพูดได้ว่าเมื่อเทียบกับหนังสามก๊กเรื่องอื่น ๆ ที่ฉายไปแล้ว The Lost Bladesman ดูจะอ่อนด้อยที่สุด
นอกจาการเล่าเรื่องที่เชื่องช้าถึงขนาดที่ว่า 50 นาทีแรกของหนังมีฉากแอ็กชั่นแค่ฉากเดียวแล้ว ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือการแสดงของ เจิ่นจือตัน ที่นอกจากจะมีรูปร่างส่วนสูงผิดกับภาพจำของทุกคนกับตัวละครกวนอูแล้ว ก็ยังดูไปได้ไม่ค่อยดีนักกับบทที่ลึกซึ้งแต่ต้องแสดงออกแต่น้อยอย่างกวนอูอยู่เหมือนกัน แม้ดารานักบู๊คนนี้แม้จะไม่ได้ถึงขั้น "ไร้ทักษะทางการแสดง" โดยสิ้นเชิง บทนิ่ง ๆ แบบ ยิปมัน เขาก็เคยทำได้ดีมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถแสดงเป็นตัวละครได้ทุกแบบ
ว่ากันว่าตอนแรกผู้สร้างเองไม่ได้เล็งเจินจือตันเอาไว้นะครับ แต่ทาบทามดาราชาวจีนแผ่นดินใหญ่ จางเถี่ยหลิน ให้มารับบทเป็นกวนอูก่อน ซึ่งดาราคนนี้ชื่ออาจจะไม่ได้โด่งดังเท่า แต่ฝีไม้ลายมือถือว่าดีทีเดียว บทฮ่องเต้เฉียนหลงที่เขาแสดงไว้ใน "องค์หญิงกำมะลอ" ก็ยังเป็นที่ประทับใจของหลาย ๆ คนอยู่เลย ก็น่าคิดเหมือนกันว่าถ้าเปลี่ยนแปลงนักแสดงนำไป หนังกวนอูเรื่องนี้จะออกมารูปไหนกันแน่
สุดท้ายคนที่โดดเด่นขโมยซีนกลับกลายเป็น เจียงเหวิน ผู้รับบทเป็น โจโฉ ที่นอกจากการแสดงจะดูดีมีเสน่ห์แล้ว ยังเป็นตัวละครที่ทั้งลึกซึ้ง และน่าเอาใจช่วย ดูเป็นนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่แต่ติดดิน แล้วก็ยังมีน้ำจิตน้ำใจที่ยิ่งใหญ่ด้วย เรียกว่าขโมยความเด่นจาก กวนอู ไปไม่น้อยเลยจริง ๆ
อีกคนที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ ตัวละคร เตียวเลี้ยว (เส้าปิง) ทหารเอกของโจโฉ ที่แม้จะบทไม่เยอะแต่ก็ฉายแววความมี “กึ๋น” ออกมาเป็นระยะ สมเป็นยอดนักรบอย่างที่น่ายกย่อง เรียกว่าหนังก็ยังให้เกียรติตัวละครฝั่งโจโฉอยู่บ้าง แตกต่างจากหนังสามก๊กส่วนใหญ่ที่มักจะยัดเยียดบทตัวประกอบไร้คุณค่าให้จดจำให้กับขุนพลฝั่งโจโฉเป็นส่วนใหญ่
ว่ากันที่ตัวหนังต่อ สิ่งที่น่าผิดหวังอีกอย่างก็เห็นจะเป็นคิวบู๊ครับ เพราะองค์ประกอบที่ควรจะเป็นจุดเด่นจุดขายของหนัง ก็ทำได้ระดับ “กลาง ๆ” เท่านั้น
แม้คิวบู๊ฉากต่อสู้จะถ่ายทำออกมามีมาตรฐานดีอยู่แล้วแต่ก็ไม่มีอะไรพิเศษจากหนังเรื่องอื่น ๆ ในยุคนี้ ส่วนใหญ่เป็นการรบพุ่งกันด้วยอาวุธ ทั้งง้าว, ดาบยาว, หอก อะไรทำนองนี้ ซึ่งก็ออกมาดูเรียบ ๆ เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่การดีไซน์ตัวละคร 6 ขุนพลด้วยแหละครับ ที่โปรโมตกันเสียใหญ่โตมีโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์แยกแต่ละตัวละคร แต่เมื่อยู่บนจอหนังแล้วกับไร้เสน่ห์แทบไม่มีอะไรให้จดจำ ทั้งบุคลิกภาพ ไปจนถึงลีลาการพะบู๊ด้วย
ที่พอจะมีอะไรให้พูดถึงอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นตัวละคร อองเซ็ก นักรบสุภาพบุรุษแห่งเมืองเอี๋ยงหยง ที่ต่อสู้กับกวนอูด้วยความจำเป็นแบบไม่ได้แค้นเคืองอะไรกัน ฉากดวลง้าวกับดาบสองมือของตัวละครทั้งสองพอจะสร้างความตื่นเต้นได้บ้าง ส่วนเหตุผลความหนักแน่นกดดันของการต่อสู้ก็ช่วยเสริมให้เป็นฉากที่ "พอจะน่าจดจำ" อยู่พอสมควร
ก็ต้องยอมรับว่า The Lost Bladesman เป็นงานที่น่าผิดหวังอีกชิ้นของยอดนักบู๊ พ.ศ. นี้อย่าง เจินจื่อตัน จริง ๆ คือมีเรื่องราวที่ต้องบอกว่า “น่าสนใจ” และมี “มีประเด็น” อยู่พอสมควร แต่หนังก็ไม่สามารถตกผลึกออกมาได้อย่างที่ควรจะเป็น ตัวของ เจินจื่อตัน เองที่พักหลังมีหนังออกมาปีละหลาย ๆ เรื่อง ก็เริ่มจะมีงาน “แป๊ก” ออกมามากเรื่อย ๆ แล้ว แต่ที่น่าผิดหวังจริง ๆ เห็นจะเป็นตัวผู้กำกับ อลัน มัก และ เฟลิกซ์ ชอง ที่เคยร่วมเขียนบทหนังไตรภาคเรื่องดัง Infernal Affairs มาด้วยกัน (สำหรับ อลัน มัก ยังร่วมกำกับด้วย) ซึ่งจนถึงป่านี้แล้วก็ยังคืนฟอร์มไม่ได้ซักที
มองไปที่ภาพรวมกันบ้าง นับว่าในรอบ 3 - 4 ปีที่ผ่านมานี้ “สามก๊ก” ได้มีโอกาสขึ้นจอใหญ่บ่อยครั้งนะครับ โดยหนังแต่ละเรื่องต่างเลือกที่จะเจาะลึกถึงตัวละคร หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในสามก๊กอย่างละเอียดถี่ถ้วน พร้อมประกาศตัวเป็นสามก๊ก ในแบบที่เรียกว่าผ่านการตีความใหม่ด้วยกันทั้งนั้น
Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon (สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกร) ที่มี หลิวเต๋อหัว แสดงเป็นจูล่ง เลือกที่จะเล่าเรื่องโศกนาฏกรรมของสุดยอดนักรบรายนี้ในวัยชรา กับศึกครั้งสุดท้าย แตกต่างจากพงศาวดารต้นฉบับที่ว่ากันว่า จูล่ง คือหนึ่งในน้อยรายจากสามก๊กที่มีบั้นปลายชีวิตสงบสุข
ส่วน Red Cliff (สามก๊ก โจโฉ แตกทัพเรือ) ของ จอห์น วู นำเสนอภาพมหาสงครามครั้งสำคัญของสามก๊ก กับเนื้อหาเชิดชูชนชั้นนักรบนักปกครอง พร้อมมอบบทเด่นที่สุดในเรื่องให้กับ จิวยี่ (เหลียงเฉาเหว่ย) ให้เป็นสุดยอดผู้นำที่ทั้งรบเก่ง, กล้าหาญ และยังเป็นนักปกครองชั้นเลิศอย่างที่ควรจะเป็นเสียที หลังจากโดนพงศาวดารยัดเยียดบทตัวอิจฉาให้มานาน
จุดร่วมของหนังพวกนี้ก็คือการเจือจางเส้นแบ่งระหว่างความเป็นพระเอก,ผู้ร้ายของแต่ละฝ่ายลงไป และพยายาม “ขยายความ” มองตัวละครสามก๊กอย่างมีมิติลึกซึ้งมากขึ้น อาจจะดูแตกต่างจากเรื่องราวดั้งเดิมของสามก๊กอยู่บ้าง แต่ก็คงเรียกว่า "ใหม่" ไม่ได้เสียทีเดียว เพราะบทวิเคราะห์สามก๊กต่าง ๆ หรือ หนังสือการ์ตูน จำพวก “หงสาจอมราชันย์” หรือ “จอมราชันย์อหังการ” นั้นล่วงหน้าในแนวทางการตีความ เพิ่มมุมมองอันสดใหม่ให้กับวรรณกรรมสามก๊กไปหลายก้าวแล้ว
ปีหน้านี้ยังจะมีหนังสามก๊กมาให้ดูกันอีก กับ The Bronze Sparrow Terrace ที่จะได้ “โจวเหวินฟะ” มารับบทเป็น “โจโฉ” กับเรื่องราวในช่วงท้าย ๆ ของชีวิตทั้งการทำศึกสงครามครั้งสุดท้าย, ความรัก และความสัมพันธ์กับลูก ๆ ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ ว่าหนังพอจะมีอะไรใหม่เกี่ยวกับมุมมองต่อสามก๊กมาให้ดูกันรึเปล่า หรือจะเป็นได้เพียง “สามก๊ก” ฉบับตีความ “เกือบใหม่” อย่างที่เราได้ดูกันไปในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |