xs
xsm
sm
md
lg

“ดี้ นิติพงษ์” กับเส้นทางสายดนตรี และจุดเปลี่ยนของเสียงเพลงในยุคเทคโนโลยี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค” วิพากษ์จุดเปลี่ยนของวงการเพลง รวมไปถึงเส้นทางในอนาคต ดันโปรเจกต์แรกอัลบั้มทองเนื้อเดียวกันถวายในหลวง โดยมีศิลปินทุกค่ายมาร่วมร้องเพลง

จากประสบการณ์บนเส้นทางของวงการเพลงไทยกว่า 30 ปี ที่ไม่มีใครปฏิเสธว่า “ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค” เป็นนักแต่งเพลงที่ทรงอิทธิพลต่อวงการเพลงของไทย ไม่ว่าจะหยิบปากกาจรดน้ำหมึกเขียนเพลงไหนให้กับศิลปินคนใดก็เป็นอันฮิตติดหูไปเสียเกือบทุกเพลง และตลอดระยะเวลาบนเสียงทางตัวโน้ตของ ดี้ นิติพงษ์ ก็มาถึงจุดพลิกผันสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการเพลงไทย เมื่อเจ้าตัวตัดสินใจเดินออกจากต้นสังกัดค่ายยักษ์อย่าง “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ออกมาเพื่อสร้างเส้นทางสายดนตรีที่เป็นของตัวเองโดยไร้พันธนาการแห่งระบบนายทุนอย่างสิ้นเชิง

และวันนี้ “ดี้” ก็ได้มาเปิดใจถึงเรื่องราววงการเพลงทั้งหมด โดยมี “ต่อพงษ์ เศวตามร์” บรรณาธิการข่าวบันเทิง หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน ผู้อำนวยการช่องซูเปอร์บันเทิง ทำหน้าที่สัมภาษณ์ในรายการเปิดหมดเปลือก

“หลังจากออกจากแกรมมี่ ตอนนี้อยู่บ้าน ส่วนงานที่ใหม่ก็กำลังสร้างหลักปักฐาน ยังต้องการสาธารณูปโภคต้องการความพร้อมอีกหลายๆ อย่าง แต่มีคนทำงาน มีแผนมีทุนทรัพย์ แต่ยังไม่มีน้ำมีไฟ กำลังต่อน้ำต่อไฟอยู่ ก็คงต้องรอสาธารณูปโภคให้เสร็จ ความจริงที่กำลังจะสร้างก็ไม่ได้ใหญ่อะไร มีคนทำงาน 10 กว่าคน ที่ทำงานกันอยู่เราก็ใช้ห้องประชุมที่เขาไม่ได้ใช้แล้ว ก็อยากทำใหม่ที่มีโต๊ะมีเก้าอี้ แต่ไม่ได้หรูหราอะไรค่อยๆ สร้างกันไป”

เดินหน้าลุยทำโปรเจกต์แรก “ทองเนื้อเดียวกัน” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการเชิญศิลปินต่างค่ายต่างสังกัดมาร่วมทำเพลง

“โปรเจกต์แรกเป็นโปรเจกต์ร่วมกับหลายสังกัดเพื่อนๆ รักในวงการตั้งชื่อว่า ทองเนื้อเดียวกัน ให้เป็นตัวอย่างของคนสังคมเพลงที่สามารถทำให้เป็นทองเนื้อแผ่นเดียวกันได้ วัตถุประสงค์คือจะถวายความสามัคคีให้หลายๆ สังคมได้เห็น เราก็บอกไปทุกค่ายนักร้องที่เราแตะถึง คือหมายความว่านักร้องที่เขาสะดวกร่วมงานกับเราเพราะบางคนก็ไม่สะดวกซึ่งก็ได้รับความร่วมมือมากๆ ความจริงผมไม่ได้ติดต่อไปเองด้วยซ้ำนะเพราะกลัวว่าความเป็นตัวเองจะทำให้เขาอึดอัดถ้าเกิดเขาไม่สะดวก ก็ให้น้องโทร.ไปว่าผมมีโปรเจกต์นี้ซึ่งเป็นโปรเจกต์เดียวกันกับที่ ป้อม-อัสนี (โชติกุล) ร้อง เป็นเพลงแรกไป คือเพลง “ขอเป็นข้าฯ รองบาท ทุกชาติไป” เป็นเพลงแรก และจะมีตามอีก 10 เพลงทั้งอัลบั้มเลย ก็จะมีน้องๆ ในวงการมาแจม”

“เราตั้งกติกาไว้สนุกๆ ว่า ถ้าอยู่ค่ายนี้ต้องไปแต่งเพลงให้ค่ายโน้น ถ้าอยู่ค่ายโน้นต้องไปร้องเพลงกับค่ายนี้ เขาก็จะเลือกกันเองว่าใครอยากร้องเพลงกับใคร มีจำนวนเยอะมากแล้วค่อยคัดสรร แต่จะพยายามให้ทั่วทุกค่าย ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม น่าจะเสร็จสักประมาณเดือนตุลาคม หรือต้นพฤศจิกายน ให้มีระยะเวลานิดหนึ่ง คือรายได้จากการทำเพลงทั้งหมดจะไม่มีใครได้อะไรเลย จะถวายเป็นพระราชกุศลหมด แม้กระทั่งตัวมาสเตอร์เองก็จะไม่เก็บไว้ที่ใคร มอบให้หอศิลป์หมด จะได้ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน”

คือที่เก่ามันไม่ค่อยมีความเป็นกลางในการเลือกศิลปิน ไม่มีความเป็นกลางเท่าที่ควร พอตอนนี้เราออกมาทำเองก็จะเป็นตัวประสานคนนั้นคนนี้มันน่าจะสะดวกกว่า ปีนี้เป็นปีสำคัญด้วยถ้าอัลบั้มชุดนี้มีผลประโยชน์การคัดเลือกศิลปินมันจะยาก เดี๋ยวคนนี้ไม่หล่อไม่สวย เพราะมันเป็นเรื่องของธุรกิจ แต่ของผมไม่มีใครได้ผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้าใครไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร เราเอาศรัทธาเป็นที่ตั้ง”

“ถามว่าก่อนหน้านี้เพลงต้นไม้ของพ่อ ถือว่าเป็นเพลงที่ทำธุรกิจไหม มันทำธุรกิจไม่ได้ แต่ว่าถือว่าเป็นเพลงของคนทั่วไปใช้งานได้ตามปกติ พูดจริงๆ ว่าเงื่อนไขของบริษัทแต่ส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นเพลงของตัวเอง มันมีคนอื่นมีพี่เบิร์ดร้องด้วย มีเงื่อนไข แต่ไม่คิดว่าเป็นเพลงที่จะไปทำธุรกิจอะไรได้มากมาย”

“ศิลปินที่ร่วมงานก็ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นนักร้องที่ออกมาจากแกรมมี่เท่านั้น อย่างอัสนี-วสันต์ก็มีเพียงเท่านี้ แต่บางคนเขาหมดสัญญาแล้วไม่ได้ต่อก็ชวนมาทำมันก็เลยง่ายขึ้นเพราะไม่มีเงื่อนไขสัญญาอะไร ผมก็ได้รับคำตอบที่ดีจากแกรมมี่ อาร์เอส หรือไม่ว่าจะเป็นค่ายเล็กๆ แต่ละเพลงให้เขาไปคิดเองแต่ละเพลงต้องให้กำลังใจ ไม่อยากให้มีเพลงอกหักหรืออะไร”

หลังจากออกมาทำเพลงเอง รู้สึกได้ของความเป็นอิสระ
“สิ่งที่แตกต่างกับตอนที่ทำงานแบบมีสังกัดคือ เราไม่ต้องถามใครแล้ว เมื่อก่อนอาจจะต้องถามคนถึง 3-4 คนว่าผมทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมันก็เยอะพอประมาณแต่ไม่เคยทำเพลงออกมาแล้ว 3-4 คน บอกไม่ผ่านมีแต่ว่า คนที่ไม่ให้ผ่านกลับเป็นลูกน้องประมาณว่าไม่สะดวก บางทีเนื้อเพลงไม่เข้าปาก แต่ไม่มีปัญหาอะไรนะไม่ใช่พวกมีอีโก้อะไรนะแต่ต้องมีเหตุผลมาคุยกัน”

“คือเราคนเขียนเพลง เพลงทุกเพลงนั้นมันผ่านการคิดมาแล้วในระดับหนึ่ง อย่างน้อยใครที่จะมาแก้เพลงคงต้องมีเหตุผลมาคุยกัน ต้องให้ความเคารพอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเพราะเขาคิดมาแล้ว ไม่ได้แต่งเพลงมาชุ่ยๆ เพราะถ้าทำอย่างนั้นคงไม่สามารถทำงานในสายนี้ได้”

แนะธุรกิจเพลงไม่ควรคิดหวังว่าจะต้องทำกำไรอย่างมหาศาล

“ธุรกิจเพลง หรือดนตรี ความจริงไม่ควรตั้งว่าจะต้องทำเงินอย่างมหาศาล ถ้าตั้งใจมาก ความสมดุลจะเริ่มเสีย มันเข้าใจได้ว่าถึงจุดหนึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องศิลปินป็อปสตาร์ที่ถูกปั้นด้วยค่าย อย่างถ้าเราทำแล้วชุดแรกทำแล้วดัง ชุดที่สองทำแล้วไม่ดังมันก็อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตัดสินจากคนที่มีอำนาจการเงิน คือถ้ามันเป็นไปในแนวทางนี้บอกได้เลยว่านักร้องบ้านเรามีอายุในการร้องสั้น แต่ว่ามันก็ไม่ได้เป็นข้อสรุปคนที่อยู่ได้ก็อยู่ คนที่รักษาแฟนเพลงก็อยู่ได้นาน”

มีการโทษกันไหมถ้าปั้นนักร้องคนหนึ่งแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ มันก็มีครับแต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าใครผิดมันเป็นธรรมชาติมากกว่า ถามว่าในฐานะนักแต่งเพลงโดนไหม (หัวเราะ) เอ้างั้นก็อย่าให้ผมแต่งสิเพราะส่วนใหญ่ไม่เคยไปขอใครแต่ง มีแต่คนขอให้แต่ง ที่ผ่านมาเพลงที่ผมแต่งมีประมาณ 300 กว่าเพลงก็โดนใจคนฟังเกินครึ่งนะ ระยะ 10 ปีหลังมันก็จะมีทีมเพิ่มขึ้นก็ถ้ามีทำนองดี ใครจะแต่งเพลงก็โดน แต่เพื่อความชัวร์เขาก็ให้เราแต่งเพราะมีใบประกาศนียบัตรบางอย่าง”

“ซึ่งมันอยู่ที่โอกาสมากกว่าเราก็ไม่ได้วิเศษอะไรมากหรอกนะ อย่างเพลงที่ผมแต่งมาส่วนใหญ่ก็นำมาใช้หมด มีไม่กี่เพียงที่นับนิ้วได้ที่แต่งแล้วไม่ได้เอาไปใช้ ส่วนที่มีผู้ใหญ่ในแกรมมี่บอกว่ามีนักแต่งเพลงเดือนๆ หนึ่งแต่งเพลงไม่กี่เพลงแต่รับเงินเดือนเป็นแสน อันนี้ผมก็ไม่รู้นะ แกรมมี่มีหลายคนแต่ไม่ใช่ผมเพราะเบิร์ดผมก็แต่งเพลงมากกว่า 3 เพลงแล้ว”

ไม่คิดว่าตัวเองเอาต์สำหรับการแต่งเพลงในยุคนี้
“ถามว่ารู้สึกตัวเองเอาต์ไหมตั้งแต่เข้าวงการมา ไม่นะ ไม่คิดว่าตัวเองเอาต์เพราะเราอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัยไปได้แต่ก็เคยคิดนะว่าเราเอาต์หรือเปล่า อย่างพวกเกาหลีอะไรแบบนี้ ซึ่งอย่างคนไทยอาจไปเลียนแบบเกาหลี แต่ทำไปแล้วไม่ใช่ ก็ลองดูต่อไปว่าใครเอาต์ เอาแค่การเขียนเนื้อเพลงวันนี้ เพลงที่ผมเขียนก็ยังมา”

อย่างน้องน้ำชา เพลงก็ดัง นั่นก็แสดงว่าผมยังไม่เอาต์ หรืออย่างตอนนี้เพลงของเบิร์ดกำลังมา แต่ก็อย่าไปคิดดีกว่า ถ้าคิดอย่างนั้นชกกันดีกว่า (หัวเราะ) ใครเอาต์กันแน่ การแต่งเพลงก็ไม่มีอะไรมากนอกจาก กิน ขี้ … นอน คนเรายังไงก็ต้องนอน หรือที่เขาบอกว่าเพลงสมัยนี้แต่งฉาบฉวย เอ้า แล้วเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ไม่นอนเหรอ มันไม่ขี้เหรอมันก็แปลว่ามนุษย์เรายังเหมือนเดิม เพียงแค่เดี๋ยวนี้การบอกรักมันแต่งกันไป เดี๋ยวนี้มีเฟชบุ๊ก มีบีบี ไอแพดอะไรพวกนี้ ผมคุยกับเด็กสมัยนี้ยังมี คริคริ อิอิ เมพขิงๆ เราก็รู้วิธีการพูดเด็กสมัยนี้ แล้วอย่างนี้ใครเอาต์กันแน่”

พฤติกรรมของผู้ฟังเพลงเปลี่ยนไป ไม่ซื้อเพลงจากค่ายเพลง เพราะหันไปดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ตกันหมด

“อุตสาหกรรมเพลงจะกลับไปยุครุ่งเรืองได้ไหม ผมว่าปัจจัยยังไม่เอื้อ อะไรก็ตามมันจะกลับมาเสมอ ปัจจุบันคิดว่าต่ำสุดไหม อาจจะตีความคนละแง่ นักวิจารณ์เพลงอาจมองว่าต่ำสุดในเชิงศิลปะ หรือการตลาดอาจมองว่ายากเข็ญสุด หวังว่านี่คือก้นเหวแล้ว ประเด็นมันอยู่ที่ว่า การตลาดต้องดูเทคโนโลยีของการเสพของผู้ฟัง พฤติกรรมตอนนี้คนฟังเพลงได้ฟรีและง่าย นี่แหละคือปัญหา ถ้ามันต้องใช้เงินแล้วซื้อด้วยมันจะยากกว่า หมามันยังรู้เลยว่ามันต้องเลือกอันไหน”

“เดี๋ยวนี้คนฟังอาจไม่ค่อยซื่อสัตย์ต่อศิลปิน หรือค่ายเพลง แต่เพราะเงินมันหายไป คุณภาพของงานเพลงก็อาจมาด้วยกัน ส่วนแบ่งมันต่างกัน ทั้งๆ ที่อยู่ในบริษัทเดียวกัน คือกลุ่มคนฟังไม่เพิ่มไม่ลด แต่ตัวเงินที่เขาจะเสียให้กับเพลงหรือศิลปินมันลดลงอย่างรุนแรง เพราะพฤติกรรมที่ใช้การดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ตมันสามารถฟังฟรี เลยทำให้เกิดการใช้เม็ดเงินที่จะได้มันลดลง จากที่เคยให้งบประมาณเพลงละแสน ก็เหลือสามหมื่น เลยทำให้กระบวนการทำเพลงอาจจะลวก อร่อยน้อยลง คนฟังกินไม่อร่อย ก็เลยคิดเสียว่างั้นก็กินฟรีโหลดฟรีเอาซะเลย”

“คนฟังก็เลยดูถูกคนทำ ไม่ซื้อไม่จ่ายตังค์ให้ พอเงินมันหายไป คนทำก็เลยดูถูกคนฟังด้วยการทำแค่นี้ทุกอย่างมันก็เลยเป็นก้นเหว สิ่งที่จะแก้ไขได้ในระยะยาว คือ การจะทำอย่างไรให้ไม่ทั้งสองฝ่ายไม่ดูถูกกันและกัน ในญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เขาแข็งแรงการซื้อขายดีมาก เขามีความสำนึก”

“แต่ในอีกด้านหนึ่ง เริ่มมีคนบางกลุ่มเริ่มมีจิตสำนึกในเรื่องเพลงตรงนี้ อย่างเวลามีเพลงใหม่ๆ ออกมาก็เริ่มเข้าไปเมนต์กันว่าน่าจะเอามาลงแค่ครึ่งเพลงนะ สงสารเห็นใจคนทำ แต่เป็นต้นกล้าเล็กๆ เขาเห็นใจคนทำงาน ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปคงไม่มีเพลงใหม่ออกมากัน ค่ายใหญ่ก็ค่าใช้จ่ายเยอะ อย่างของเราค่าใช้จ่ายอาจจะไม่มาก ก็ขอกำไรน้อยๆ ก็ได้ให้พออยู่ได้ แต่ของเดิมมันเข้าตลาดหลักทรัพย์ มันคิดแบบนั้นไม่ได้”

โปรดติดตามตอน 2










"ดี้" ภูมิใจได้ถวายงาน "พระองค์โสมฯ" เผยในหลวงทรงซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกเตรียมให้ชาวนาปลูกหลังน้ำท่วม แต่รัฐกู้แสนล้าน !
"ดี้" ภูมิใจได้ถวายงาน "พระองค์โสมฯ" เผยในหลวงทรงซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกเตรียมให้ชาวนาปลูกหลังน้ำท่วม แต่รัฐกู้แสนล้าน !
“ดี้ นิติพงษ์” แต่งเพลงเทิดพระเกียรติในหลวงเพื่อเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 7 รอบ 84 พรรษา บอกถึงน้ำจะท่วมแต่คนไทยต้องไม่ลืมระลึกถึงและตอบแทนที่ทรงดูแลประชาชนมายาวนาน ปลื้มมีโอกาสได้ถวายงานพระองค์โสมฯ ทำให้ทราบเรื่องราวต่างๆ เผยในขณะที่รัฐเตรียมกู้เงินแสนล้าน แต่ในหลวงทรงซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกเตรียมไว้ให้ชาวนาเพาะปลูกตอนน้ำแห้ง ดีใจรัฐยอมถอยพ.ร.ฎอภัยโทษเอื้อทักษิณไม่ทำให้สังคมแตกแยก
กำลังโหลดความคิดเห็น