xs
xsm
sm
md
lg

“อี้” กับอุดมคติทางการเมืองในวังวนน้ำเน่า ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็จะถอยกลับไปที่เดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อี้ แทนคุณ” เปิดใจเหตุเล่นการเมือง เพราะทนกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ไหว ขอเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบ ฝันถึงการเมืองในอุดมคติ หวังหยุดมรดกบาป ประกาศมีเงินส่วนตัวหาเสียงแค่หลักหมื่นหลักแสน ป้ายหาเสียงก็ยังไม่มี แต่ยืนยันจะไม่ใช้เงินเกินกม.กำหนด ตั้งธงจะทำให้ดีที่สุด แต่ถ้าทำไม่ได้ถูกลากไปในวังวนน้ำเน่า ก็จะขอถอยออกมายืน ณ จุดเดิม

ได้รับเสียงปรบมืออย่างเกรียวกราวเลยทีเดียว เมื่อครั้งที่ “อี้ แทนคุณ จิตต์อิสระ” ทำหน้าที่พิธีกรรายการ "ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า" ช่อง 11 รายการเฉพาะกิจที่ผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ในช่วงที่ม็อบเสื้อแดงเผาเมือง ความกล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด ของอี้ในครั้งทำให้ได้รับเสียงชื่นชมมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกม็อบเสื้อแดงหมายหัว มีการส่งจดหมายไปข่มขู่ ถึงขั้นที่อี้ต้องขออโหสิกรรมเอาไว้ล่วงหน้า หากมีอะไรเป็นไป

หนึ่งปีผ่านไปวันนี้อี้ แทนคุณมาในมาดใหม่ ในฐานะผู้สมัครชิงชัยสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เขตดอนเมือง ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จากดาราพิธีกร อาสาสมัคร นักวิเคราะห์ข่าว สู่สนามการเมืองที่ใครๆ ก็ว่ากันว่า “เน่าสนิท” ไม่มีใครอยากจะเอาตัวเข้าไปใกล้ แต่วันนี้อี้กลับเลือกที่จะกระโดดไปยังวังวนเหล่านั้น เพื่ออยากจะเปลี่ยนแปลงระบบ โดยตั้งธงเอาไว้สองคือ จะทำให้ดีที่สุด แต่ถ้าทำไม่ได้และถูกชักจูงไปในทางที่ม่ดี ก็จะขอถอยออกมายืน ณ จุดเดิมดีกว่า

“มันเกิดจากการที่ผมได้ติดตามเรื่องราวการเมืองในหลายๆ ปีที่ผ่านมา พูดตรงๆ ก็คือผมรู้สึกเบื่อมันวนเวียนอยู่กับความคิดที่ว่า ทำไมเห็นแก่ตัวกันจัง ทำไมคิดได้แค่นี้ ทำไมไม่ช่วยกันแก้ปัญหา ทำไมต้องผูกขาดว่าเป็นคนโน้นคนนี้แก้เท่านั้น ทำไมเราไม่มาช่วยกันแก้เองล่ะ มันไม่มีทางอื่นถ้าเราไม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง”

“และเป็นจังหวะที่พรรคประชาธิปัตย์เขาเปิดให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา ใน 33 คนที่ลงในกรุงเทพมี 10 คนเป็นคนรุ่นใหม่เป็นหน้าใหม่หมดเลย ก็เลยคิดว่าลองดู ก็เป็นอีกบทหนึ่งที่เราจะต้องพิสูจน์ว่า เราจะได้ทำหรือเปล่า เพราะเราไม่มีเส้นไม่มีสาย ไม่มีเงินทอง แต่ผมคิดว่า ผมมีอุดมคติอุดมการณ์ที่ว่า อยากจะลองทำให้ได้และก็ลองเปลี่ยนแปลงดู และถ้าได้ทำแล้วก็อยากจะทำให้ได้ อย่างน้อยสุดสิ่งเดิมๆ ที่เราเคยวิพากษ์วิจารณ์เคยบ่นเคยเบื่อไว้ก็จะไม่ทำ เช่น การโกงกิน การขัดแย้งกัน การเกลียดชังกัน การโจมตีกัน ผมจะไม่ทำสิ่งเหล่านั้น”

“แต่มันก็ต้องต่อสู้เยอะเหมือนกัน พอได้ก้าวเข้ามาก็โดนเยอะเหมือนกัน คนที่รักเราแบบสุดๆ ก็มี คนที่เกลียดและด่าทอเราแบบสุดๆ ก็มี มีข้อความเข้ามาด่าบ้าง มันเป็นความแรงคนละอย่างกับตอนที่เราทำพิธีกรตอนม็อบเสื้อแดง อันนั้นมันแรงแบบจะเข้าถึงตัวขู่เรื่องครอบครัว แต่อันนี้จะแรงในแง่การด่าทอว่า อย่าเข้ามายุ่ง เราก็ต้องเตือนใจตัวเองว่า ทำอะไรอยู่และต้องเข้มแข็งเอาไว้มากๆ ผมก็ส่งกลับไปว่าอโหสิกรรมและอภัยทานเป็นบุญใหญ่จะได้ไม่ติดกรรมกัน ใครทำสิ่งใดไว้ก็ต้องรับผล สวรรค์ก็อยู่ที่ในใจเราเอง”

“ผมก็คิดว่ามันมีสองอย่างคือ เราต้องสู้ให้สุดๆ กับตั้งธงเอาไว้ว่า ถ้าครั้งนี้ไม่ได้ก็ถอยแล้วล่ะ แต่ธงแรกคือเราต้องไปให้สุดก่อน ไม่งั้นเราจะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ผมคิดว่าต้องพยายามตั้งใจทำให้ได้มากที่สุด”

จากดารา อาสาสมัคร นักวิเคราะห์ข่าว สู่สนามการเมืองเป็นแพลนที่วางไว้ตั้งแต่แรกหรือเปล่า
“จริงๆ ผมสนใจการเมืองมานานแล้ว แต่ไม่เคยคิดไม่เคยฝันเลยว่าจะมาลงเลือกตั้ง เพราะทุกครั้งที่ผมสัมผัสกับนักการเมือง เรารู้สึกเหมือนเขามีกำแพงอะไรบางอย่างกั้นเอาไว้ที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงเขา รู้สึกว่าเขาเหนือเขาสูง และเท่าที่เราได้ยินมาก็คือ ต้องใช้เงินเยอะในการลงการเมือง ผมได้ยินเพื่อนที่เขาลงการเมืองใช้อย่างต่ำก็ 6 ล้าน ผมบอกผมไม่มีตังค์เยอะขนาดนั้น ผมยืนยันว่าผมไม่มี”

แต่พอผมได้ติดตามข่าวต่างๆ ที่ผ่านมา มันทำให้เรารู้สึกกลุ้ม เครียด หรือรู้สึกอินกับมันมาก ทำให้ถามตัวเองว่า ถ้าเรามีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงได้เราจะทำไหม คำตอบก็คือน่าทำ และจังหวะนี้มันเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า เราไม่มีอภิสิทธิ์ชนไม่ได้มีความหรูหรา เราไม่มีเงินแต่เราก็ทำได้ ผมก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด บ้านเมืองเราที่ผ่านมามันวิกฤตเพราะอะไรหลายๆ คนก็คงจะรู้กันอยู่ ก็อยากจะให้ทุกคนมาช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง”

เผยเหตุผลที่ต้องเป็น “ประชาธิปัตย์”
“เขาคงไม่ให้ผมไปอยู่เพื่อไทยมั๊ง(หัวเราะ) โดยส่วนตัวผมชอบพรรคนี้มานานแล้ว และยิ่งเป็นนายกอภิสิทธิ์ผมเชื่อมั่นท่าน เชื่อความดีและความสามารถของท่าน ท่านเป็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีได้ จากการที่ติดตามในเหตุการณ์ต่างๆ ผมคิดว่า ท่านมีความอดทนมีภาวะผู้นำหลายๆ อย่างน่าจะนำพาประเทศไทยที่เต็มไปด้วยความหลากหลายในการปะทะความคิด เต็มไปด้วยผลประโยชน์หลากหลาย เต็มไปด้วยอคติหลายอย่าง”

“แต่ที่สุดแล้วผมคิดว่าทุกคนต้องช่วยกัน เราต้องยืนอยู่บนหลัก 1.คือเหตุผล 2.คือกฎหมาย 3.การเป็นผู้นำ อันนี้สำคัญมาก สถาบันที่เปิดให้คนที่ไม่มีอะไรมากมายอย่างผม ไม่มีเส้นมีสาย ไม่ได้มีเงินทองมากมายอย่างผมเข้ามา ก็เลยเป็นเหตุผลให้ผมตัดสินใจเลือกคุณอภิสิทธิ์”

ความสัมพันธ์ของ “อี้” กับ “ประชาธิปัตย์” เป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากเมื่อตอนที่มาทำหน้าที่พิธีกรช่อง 11 ในช่วงที่ม็อบเสื้อแดงกำลังเผาเมือง สิ่งเหล่านั้นหรือเปล่าที่ทำให้เชื่อมโยงมาเล่นการเมือง
“มันก็มีบ้าง ตอนนั้นผมตั้งใจอยากจะสื่อสารให้หลายๆ ฝ่ายเข้าใจกันมากกว่า เพราะตอนนั้นมีข่าวลือเยอะแยะเต็มไปหมด ผมนอนดูทีวีปี 52 ช่วงสงกรานต์รู้สึกเครียดมาก ทำไมเขาต้องทำกันขนาดนี้ ใจหนึ่งก็แว๊บขึ้นมาว่า มันต้องมีสาเหตุก็เลยไปฟังคนเสื้อแดงเขาปราศรัยกัน ผมเปิดทีวีเสื้อแดง เข้าเว็ปไซต์เสื้อแดง ก็จะเห็นคำพูดว่าร้าย ในมุมนั้นเราก็ต้องกรองออกไปว่ามันไม่ดี แต่ในมุมที่ดีและน่าคิดก็มีเยอะอย่างเช่น ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกัน”

“จนแล้วจนรอดปี 53 ผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปจัดรายการมีโอกาสได้สื่อสาร มันทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น อคติมันเบาลง เราจะเห็นว่ากลุ่มที่เขาเดือดร้อนเรื่องความเหลื่อมล้ำมันมีจริง เราเองก็เป็นคนในกลุ่มนั้นด้วยซ้ำไป เพราะเราเป็นครอบครัวคนจีนที่รู้สึกถูกกดขี่บ้างเวลาไปอำเภอ แต่มันก็ไม่ได้เป็นไปในระบอบที่คุณทักษิณเขาพูดถึง แต่เขามีการใช้มาเก็ตติ้งที่เก่งมาก”

“แต่โดยส่วนตัวผมก็ไม่ได้เกลียดชังเขานะครับ แต่ผมคิดว่าวิธีคิดของเขาที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมันคือเผด็จการประชานิยม สังคมเราถ้าไม่พึ่งพาตัวเอง หรือไม่เข้าใจหลักการความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง หรือคนที่เข้ามาทำงานการเมืองไม่เข้าใจ มันจะเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนกับอำนาจมากขึ้น กลายเป็นเผด็จการรูปแบบใหม่ที่น่ากลัวไม่น้อยกว่าเผด็จการทหาร ซึ่งผมหวังใจว่า มันจะเกิดความสมดุลสองส่วน คือจุดเสรีก็เดินไป การแข่งขันอย่างเสรีก็เดินไป แต่สิ่งสำคัญคือต้องเคารพกฎหมาย อดีตนายกทักษิณทำผิดกฎหมายก็หวังใจว่า ท่านจะเป็นแบบอย่างที่ดีกลับมารับโทษทัณฑ์ และเลิกปลุกระดมปลุกปั่นให้คนเข้าใจผิดว่า ท่านไม่ได้ทำผิดกฎหมาย”

คนเขาบอกว่า เมื่อกฎหมายผิดต้องผิดกฎหมาย ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วย กฎหมายเรามันมีความยุติธรรมก็พยายามจะไปตีตัวกฎหมายว่าไม่มีความยุติธรรม รายละเอียดต่างๆ ถ้าใครได้ติดตามไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคแต่ละครั้งก็ล้วนแต่มีที่มาที่ไป ผมคิดว่ามันไม่มีประโยชน์หรอกครับที่จะมานั่งสร้างสร้างมลทินใหม่ให้กับตัวเอง สร้างมลทินให้กับประเทศ ผมว่ามันถึงเวลาแล้วล่ะครับที่จะต้องหยุดมรดกบาป มรดกความรุนแรงที่พยายามปลุกปั่นปลุกระดม มันควรจะยุติและหันหน้ามาคุยกัน”

“สองสามปีที่ผ่านมากระบวนการการเมืองภาคประชาชนเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียการติดตามข้อมูลไหลบ่าเข้ามาเยอะมาก ทำให้น่าจะมีคนรุ่นใหม่ๆ ฉุกคิดอะไรขึ้นได้เยอะมาก และอยากจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงเหมือนผม แต่ผมบอกตรงๆ นะครับว่า มันไม่ง่าย เพราะมันต้องต่อสู้กับกระแสต้านทาน”

“เข้ามาใหม่ๆ ก็ต้องเจอโดนด่าโดนขุดคุ้ยสารพัดอย่าง ที่หนักที่สุดคือความรุนแรงซึ่งมันมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ ผมไปหาเสียงก็โดนไล่บ้าง แต่ผมอยากให้คุยกันได้ และอยากให้คนไทยกลับมายืนอยู่บนหลักความถูกต้องความมีเหตุผลความดีงาม ซึ่งมันอาจจะเป็นหลักการที่เป็นอุดมคติ แต่ถ้ามันไม่มีหลักการตรงนี้ในที่สุดมันก็ถูกจูงไปได้ง่ายๆ”

“ที่อเนจอนาถใจมากที่สุดก็คือ การที่นักการเมืองบ้านเรามีแต่มาเฟีย มันเป็นแบบนี้มานานแล้ว ผมคิดว่าคนที่ทำผิดก็ต้องได้รับโทษทัณฑ์ทางกฎหมาย คนที่ทำถูกก็ควรจะได้รับการเชิดชู ประเทศเรามันไม่ใช่ประเทศที่อยู่ตามลำพังแล้ว โอกาสหลายอย่างที่เราเสียไปเพราะเขาไม่มั่นใจเพราะเราทำตัวเราเอง การเผาบ้านเผาเมืองที่ผ่านมามันทำให้เสียโอกาสเยอะ”



“แต่ว่าอะไรที่มันผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกันไป แต่เราควรที่จะแก้ปัญหาของคนเสื้อแดงที่เขาเรียกร้องผมว่ามันสำคัญกว่า ไม่ได้พูดเพื่อเอาใจหรือเพื่อให้ดูดี แต่เป็นความจริงใจที่เราทุกคนต้องช่วยกันทุกคน อันไหนที่การเมืองทำไม่ดีต้องมีช่องทางให้ประชาชนได้เตือนสติหรือว่าแก้ไขดีกว่ามุ่งร้ายทำลายชีวิตกัน ที่ผ่านมามันรุนแรงมากไม่คิดว่าคนไทยจะทำร้ายกันได้ขนาดนี้ มันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว อะไรที่เป็นการเมืองเก่าๆ ที่คนจะมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จนิยมต้องชะลอลงบ้าง”

“ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องพัฒนาประเทศช้าลง แต่เราต้องพัฒนาบนพื้นฐานของการเฉลี่ยความเข้าใจ การรับรู้ของผู้คน การพยายามไม่ให้ข้อมูลข่าวสารมันไหลเทไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป อย่างช่วงที่ผ่านมาที่ผมทำรายการที่ช่อง 11 ผมก็นั่งฟังเสื้อแดงทุกคืน สิ่งที่เขาพูดมีความจริงอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีความเท็จอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แล้วเราจะทำยังไงให้ความจริงเหล่านั้นถูกแก้ไขและเป็นประโยชน์กับประเทศ”

“ผมพูดแบบนี้คนฟังก็อาจจะคิดว่า ผมดีแต่พูดหรือเปล่า นั่นสิ่งที่ผมกลัวมากที่สุด ผมก็จะพยายามพูดแต่ดีแล้วกัน และจะพยายามทำให้ได้ 10 กว่าปีที่ผมทำงานอาสาสมัคร ทำงานสื่อ ทำงานด้านพุทธศาสนา และทำอีกหลายๆ อย่าง ทำให้ผมอดทนและใจเย็น พอจะเป็นคนที่มีเหตุมีผลรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ผมอยากจะสร้างวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยมันสำคัญมาก เพราะวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยมันไม่จำกัดด้วยอายุหรือฐานะ”

“ความคิดตรงนี้มันเกิดจากการที่เราเจอมาหลากหลายประสบการณ์ในช่วงที่ทำรายการที่ช่อง 11 เจอหลายๆ อย่างเข้ามาในชีวิต การด่าทออย่างไม่มีเหตุผล เรื่องบางเรื่องที่ไม่มีความจริงก็พูดออกมาได้ ผมได้เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น ก็ต้องทำใจให้เป็นกลางทำใจให้ว่างมากที่สุดในการแก้ปัญหา ไม่งั้นมันก็จมอยู่กับความขัดแย้ง ผมว่ามันไม่ควรคนรุ่นใหม่ควรที่จะหยุดมรดกบาปที่ถูกสร้างไว้”

“ผมรู้สึกทนไม่ไหวกับสิ่งที่เกิดขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ของการที่ผมก้าวมายืนตรงนี้ก็เพราะทนไม่ไหว ถูกบีบคั้นความรู้สึก อีก 50 เปอร์เซ็นต์ก็คืออยากเข้ามาช่วยกันแก้ไขสร้างความเปลี่ยนแปลง ผมเป็นคนที่ไม่ใช่แบบเวลาเกิดปัญหาจะทดท้อหรือต่อว่าคนอื่น ท้อแท้นั่งรำพึงรำพันทำไมถึงแย่จัง แต่เราต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า เราจะทำยังไง เราจะช่วยยังไง เราจะมีส่วนตรงไหนบ้างที่จะทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองตรงนี้น่าจะดีกว่า”

ตอนนี้ผมได้คุยกับคนใหม่ๆ ในพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำไปว่า อยากให้มาช่วยกันคิดว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่มีการโจมตีหลายอย่าง ซึ่งมันก็อาจจะมีเรื่องของความเป็นจริงเช่น การคอรัปชั่น อันนี้เราก็ต้องพูดตรงไปตรงมาว่าเราต้องแก้ไข ปัญหาจากการได้ผลประโยชน์จากของแพงหรืออะไรก็แล้วแต่ เรื่องเหล่านี้เราควรจะร่วมไปช่วยกันแก้ไข”

บางคนถามผมว่า ถ้าเราพยายามตั้งใจทำความดี แต่คนอื่นไม่เห็นด้วยกับเราและไปทำสิ่งที่ไม่ดี เรายังจะทำความดีต่อไปไหม และถ้าถูกบังคับให้ไปทำกับเขาล่ะ เรายังจะยังไง ผมว่าอย่างมากผมก็ลาออกมาอยู่ในจุดที่ผมเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ตอนนี้ผมกำลังทำศูนย์ปฏิบัติธรรมอยู่พัฒนาการ 58 ชื่อว่า ธรรมมาดา มาดาหมายถึงแม่นะครับ เป็นส่วนที่ทำให้แม่ด้วย ผมทำก่อนที่จะมาเข้าการเมืองด้วยซ้ำไป และผมก็วางแผนไว้แล้วว่า ที่นั่นน่าจะเป็นบั้นปลายในชีวิตของผม นั่นคือจุดยืนของผม”

“ณ ตอนนี้ผมไม่อยากอยู่จนจบชีวิตการเป็นนักการเมือง ผมคิดว่าผมมีช่วงเวลาของผม มันอาจจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ผมจะได้รับเลือกตั้งหรือเปล่าไม่รู้ ถ้าได้ก็จะพยายามทำให้มันเต็มที่ให้ดีที่สุด ถ้าทำจบแล้วก็เลิกกันไป ผมไม่มีความใฝ่ฝันต้องเป็นนายก ต้องเป็นรัฐมนตรี”

แต่การเมืองใครๆ เขาก็ว่า หอมหวาน ใครได้เข้ามาจะเสพติดอำนาจ
“เรื่องนี้ผมถามตัวเองทุกวัน ผมเองเป็นคนที่ได้เจอนักการเมืองบ่อยๆ ผมรู้สึกว่า ไม่อยากให้ใครมาเดือดร้อนกับตัวเองเยอะๆ จะให้ไปเป็นคนมีอำนาจมีคนล้อมหน้าล้อมหลังผมไม่เอา แต่ผมชอบที่จะเป็นคนคิดให้มากกว่า แต่ว่า ณ ตอนนี้ผมอาจจะไม่ถึงจุดนั้นก็ได้ก็เลยคิดแบบนี้ แต่ว่าผมก็พยายามจะยืนอยู่บนภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งพอในเรื่องนี้ ไม่งั้นเราจะไปแตกต่างอะไรกับคนอื่น”

“ท่าน ว.(พระมหาวุฒิชัย ว.วชิรเมธี) หลวงปู่พุทธอิสระก็สอนว่า อย่าทำอะไรที่ผิดกับสิ่งที่เราตั้งใจ ไม่งั้นเราจะต้องละอายใจไปตลอดชีวิต คนที่เคยคาดหวังให้กำลังใจเขาจะผิดหวัง แม้แต่ตัวเราเองที่เคยทำดีก็จะไม่เหลืออะไร”

“เขาบอกว่าความดีของเราสิ้นสุดเมื่อลงการเมือง ผมก็เอ๊ะ..มันหนักขนาดนั้นเลยหรอ มันเลวร้ายขนาดนั้นเลยหรอ ผมถึงได้บอกว่า คนกับระบบต้องไปด้วยกัน ระบบดีคนดีนั่นดีแน่ ระบบแย่ต้องแก้ไข คนแย่ระบบดีไม่นานก็ไป คนแย่ระบบแย่บรรลัยเอย ผมคิดว่า ลำพังเราไม่กี่คนคงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแต่ก็อยากจะทำให้เต็มที่ ได้แค่ไหนก็จะทำให้ดีที่สุด ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็จะถอยออกมา ก็จะถือว่า ครั้งหนึ่งได้ช่วยเต็มที่แล้ว”

“อย่างไรก็ตามงานด้านการเมืองผมคงไม่ทิ้ง ที่ผ่านมาก็ทำงานการเมืองด้านประชาชนมันมีอิสระแต่ติดที่ว่าทำอะไรไม่ได้นัก ก็เลยทำให้ผมอยากจะเข้ามาเพื่อที่จะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อยากจะเข้าไปแตะโครงสร้างของความเป็นอยู่ ความคิดของผู้คนที่อยู่ในฐานราก ไม่อยากจะเรียกว่ารากหญ้าหรืออะไร”

ที่ผ่านมาก็มีหลายนโยบายที่ประสบความสำเร็จและต้องทำต่อ แต่ผมก็ไม่อยากเห็นการแข่งขันกันด้านประชานิยม เพราะประเทศไทยเรายังไม่พร้อม ถ้าเราแข่งขันกันมากแล้วเราไม่พร้อม หลายส่วนเรารองรับไม่ทัน เราจะกลายเป็นประเทศที่เจ๊งหรือเสียหายมาก ในอนาคตมันจะน่ากลัวมาก ก็อยากจะให้ประคับประครองกันไป อยากจะให้เชื่อในหลวงที่ท่านบอกว่า พอเพียง ชีวิตผมทั้งชีวิตได้พิสูจน์เรื่องการใช้ชีวิตพอเพียงมาแล้ว มันมีประโยชน์มากและจำเป็นมากสำหรับคนไทยในโลกกำลังพัฒนาอย่างเร่งรีบและก้าวกระโดด ยิ่งเร็วเท่าไหร่ความพอเพียงก็ยิ่งจำเป็นมากนั้น เราต้องประมาณตัวเองว่าเราทำได้แค่ไหน”

การพัฒนาประเทศจะก้าวหน้าได้ไม่ได้อยู่ที่วัตถุอย่างเดียว สิ่งที่ผมได้สัมผัสจากการลงพื้นที่ก็คือ นักการเมืองเป็นผู้มีอิทธิพล เป็นผู้ปล่อยกู้ เป็นเจ้าของบ่อนเอง เพื่อที่จะเอาเงินมาจัดตั้งคะแนนเสียง บางพื้นที่ผมไปเขาเอาของมาขายด้วยความประหยัดผมก็ซื้อนิดหน่อย ผมไม่อยากเอาเงินไปเป็นตัวตั้ง”

“เขาก็เปรียบเทียบว่า คนก่อนหน้านี้เขามาเขาก็เหมาหมดเลยนะ ผมก็บอกว่า ผมมีตังค์แค่นี้ ผมสามารถซื้อได้เท่านี้ ผมมีหลักคิดของผมว่า ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราปล่อยให้มีการกระตุ้นให้คนโลภมากมันก็เป็นแบบนี้ อันนี้ไม่ได้ว่าเขานะ แต่มันมีคนที่มาทำให้เขาเป็นแบบนี้ มันก็สอดคล้องกับความพอเพียง”

“ถ้าเราไม่เข้าใจปรัชญาพอเพียง ประเทศไทยจะรอดยากและจะหายนะในเร็ววัน เหมือนประเทศหลายประเทศที่มุ่งประชานิยมแบบสุดโต่งมันน่ากลัวมาก ผมก็ได้บอกกับผู้บริหารในพรรคว่า อย่าเป็นแบบนั้น ผมเองก็มีโอกาสได้บอกท่านนายกด้วย ซึ่งมันเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของท่านนายกที่รับฟังความคิดเห็น แม้แต่เราเป็นเด็กใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีบทบาทใหญ่โต”

แต่ 2 ปีกับการเป็นรัฐบาล “ประชาธิปัตย์” ก็ได้ชื่อว่า เป็นรัฐบาลที่ออกนโยบายประชานิยมมาไม่น้อยเช่นกัน
“ผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังครับ ในทางยุทธศาสตร์ทางผู้ใหญ่เขาก็คงระวังอยู่เหมือนกันว่า ไม่ให้มันสุดโต่งเกินไป ไม่ได้กำหนดเป็นตัวเลขให้มันเป๊ะๆ ว่าต้อง 15000 ต้อง 300 ต้องเป็นไปตามสัดส่วนของกาลเวลาและเงื่อนไขของการพัฒนาได้ แต่ประชาชนฐานรากอาจจะบอกว่า ทำไมไม่บอกตัวเลขว่าจะให้เท่าไหร่ แต่ผมว่าการทำในลักษณะนั้น มันจะกระทบหลายๆ ฝ่าย ที่บอกว่าจะลดภาษีลงเพื่อเอามาทำตรงนี้ มันก็จะไปกระทบโครงสร้างใหญ่ มันจะคาราคาซังไม่พัฒนา”

“แต่ดีใจที่ยุคที่ผ่านมามีการยื่นเรื่องภาษีมรดกภาษีที่ดิน จะช่วยลดรวยกระจุกจนกระจาย ทรัพยากรที่เหลือน้อยคนที่มีมากต้องเสียสละ ไปดูเถอะนักการเมืองทั้งหลายมีที่ดินมากมาย ถึงเวลาที่จะต้องแบ่งปัน เราต้องมีระบบที่เป็นธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ”

“เขาบอกว่า อย่าเอาปลาไปให้เขาต้องสอนเขาจับปลา แต่ผมว่าที่ดีกว่านั้นก็คือ ถ้าเขาจับปลาไม่ได้ก็อย่าไปเอาเปรียบ อย่าไปโกง อย่าไปทำให้น้ำเน่าเสีย ผมว่าไอ้คนที่ทำก็คือคนที่เป็นนักธุรกิจการเมืองมากๆ ที่เอารัดเอาเปรียบจนเขาไม่มีที่ดิ้นรนต่อสู้”

“ในอนาคตหลายสิ่งหลายอย่างก็ควรจะนำเอาสิ่งที่ท่านนายกทำไว้ อย่างเรื่องคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ถ้าเราทำอย่างจริงใจ ประเทศไทยจะเปลี่ยนจริงๆ การลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องภาษีที่ดินทรัพย์สินคนรวยจะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ ไม่ใช่ผมจะเกลียดชังอิจฉาคนรวยนะ ผมว่ามันถึงเวลาที่จะต้องทำมากใช้น้อยแบ่งปันคนอื่นมาก”



“คนที่เป็นเศรษฐีใหญ่ๆ พอตายแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์อาจจะต้องคืนให้รัฐ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ให้กับลูกหลาน เหมือนที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเขียนเอาไว้ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน คือการให้คืนทรัพย์สมบัติหลังจากแบ่งสันปันส่วนให้กับลูกหลานได้ใช้ในการเรียนหนังสือหรือใช้ชีวิตพอสมควรแล้ว”

“แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่เลย มีแต่แก้เรื่องการล้างผิดล้างบาปให้กับตัวเอง แสวงหาผลประโยชน์ของตัวเองให้ได้มากที่สุดมันน่ากลัวมาก อันนี้อยากจะฝากทุกพรรคด้วย รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเรื่องการเอารัดเอาเปรียบประเทศชาติ”

“คนรุ่นใหม่ๆ ต้องกล้าลุกขึ้นมากล้าพูดกล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเราทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องถอยไปอยู่จุดที่เรายังสามารถใช้ชีวิตได้ แต่ขอให้ได้โอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ การที่จะได้ทดสอบดูว่า ความคิดในอุดมคติมันมีอยู่จริงไหมในโลกใบนี้ ถ้าไม่ได้มันก็....เราก็ต้องหาที่อยู่ในที่ๆ เราคิดว่าอยู่ได้ แต่ยืนยันว่า ผมจะไม่ทิ้งเพราะประเทศนี้เป็นของเราทุกคน เรามีโอกาสจะเติบโตได้ทุกวันนี้ ประเทศนี้ก็มีบุญคุณกับเรามาก”

เผยสิ่งที่อยากจะทำแพลนเอาไว้
“สิ่งที่ผมพูดออกมาทั้งหมดก็เป็นเหมือนกับพันธะสัญญาบางอย่างกับประชาชนเหมือนกัน เป็นสิ่งที่ผมอยากจะทำให้ได้ ผมคิดว่านักการเมืองควรมี 3 ส่วน ก่อนที่จะมาลงการเมือง ควรที่จะต้องช่วยกันสร้างเป็นอาสาสมัครทางการเมือง สร้างการมีจุดร่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งผมก็ผ่านจุดนั้นมาระดับหนึ่ง ส่วนที่ 2 เมื่อเข้ามาทำงานด้านการเมืองประชาชนต้องช่วยกันสนับสนุนแนวความคิดดีๆ ต้องหาแนวร่วมเพราะเราคนๆ เดียวทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามีเสียงประชาชนสนับสนุนจะมีพลังในการเปลี่ยนแปลง ส่วนที่ 3 คือการตรวจสอบว่า พูดได้แล้วทำได้หรือเปล่า ทำผิดหรือเปล่า”

“จนถึงนาทีนี้ผมยังไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองเป็นนักการเมืองใดๆ มันเหมือนอาสาสมัครเหมือนเดิม แต่มันมากขึ้นไปเพียงแต่ว่าอยู่ในนามของพรรคการเมือง กับงานต่างๆ พอผมเข้ามาทำตรงนี้ผมก็ต้องหยุดไป ผมก็ต้องประหยัดอดออมเพื่อเอาเงินมาให้ครอบครัว”

“ผมรู้สึกว่าเราต้องประหยัดให้มากขึ้น อาศัยการลุยเดินลงพื้นที่ อาศัยเอาของพรรคใบปลิวนโยบายไปแจก เพราะเราไม่มีเงินไปทำอะไร แม้แต่ป้ายตอนนี้ก็ยังไม่มีเลย พรรคก็ถามว่า เราช่วยตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ผมก็บอกว่า อย่างมากก็ไม่กี่หมื่นหรือหลักแสน ผมก็พูดตรงๆ เพราะตรงนี้มันมีกฎหมายที่ควบคุมไว้อยู่ ผมจะไม่ทำผิดกฎหมาย ถ้าทำไปแล้วถูกดำเนินคดีมันคงไม่คุ้ม”

“ถามว่าผมวางแผนเรื่องนี้ไว้ยังไง ผมบอกได้เลยว่า ตอบยาก ตอบยากมากเลยเพราะมันมีอยู่แค่นี้จริงๆ ผมก็พูดตรงไปตรงมาว่ายังไม่รู้จะไปทางไหน ก็ต้องลองทำในสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอกสาร ก็อาศัยลงพื้นที่บ่อยๆ อาศัยเดินบ่อยๆ เอา ก็บอกตรงๆ ว่า มันเป็นสิ่งที่ผมยังมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรพลิกหน้าพลิกหลังได้หรือไม่”

“ผมมีแค่ใจมีแนวคิดก็ตั้งใจพยายามจะสื่อสาร อยากจะให้ข้อมูลไปถึงเขาว่าเป็นยังไง ข้อมูลคู่แข่งก็คงจะไปถึงเขาเหมือนกัน ก็แล้วแต่เขาจะตัดสินใจว่าจะยังไง ผมจะทำได้เท่าที่ทำได้ จะไม่ซื้อเสียง เงินทองก็ใช้ให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เขากำหนด”

“ถ้าได้รับคัดเลือกสิ่งที่ผมจะทำก็คือสร้างแนวร่วม เชื่อมโยงคนที่ทำแนวเดียวกันมาเปลี่ยนแปลงประเทศ อย่าเกลียดกลัว อย่าเกลียดชังการเมือง อย่าอคติเหมารวมเหมาหมด ผมคิดว่าทุกที่มีคนดีคนไม่ดีแต่ระบบต่างหากที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ ระบบที่สร้างเสริมให้คนมีนิสัยมักง่ายเห็นแก่ตัว ผมอยากจะให้ชะลอความพึ่งพาอาศัยจากคนอื่นโดยเฉพาะนักการเมืองที่มองว่า พอประชาชนไม่มีทางออกก็เอาอะไรมาล่อ มองประชาชนว่า ไม่มีศักดิ์ศรี”

“ผมคิดว่าคนจนก็มีเกียรติมีศักดิ์ศรีที่ทุกคนจะต้องเคารพ ที่ผ่านมาหลายปีเกียรติยศมันถูกผูกโยงกับฐานะทางเศรษฐกิจ คนรวยเท่านั้นที่มีเกียรติ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิดและมันก็ทำลายระบบ ผมคิดว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องมาใช้ชีวิตที่แบบ.....อาจจะเป็นอุดมคตินะ แต่ผมว่าในอนาคตไกลๆ เราจะรอด จากที่ผมศึกษาจากหลายๆ ประเทศในภูมิภาคของเราๆ ก็ดี ในโลกนี้ถ้าสุดโต่งมากๆ ถ้าประเทศไทยไม่พร้อมมันจะหายนะ”

“สิ่งที่ผมพูดมันไม่ใช่ความเลื่อนลอยหรือเพ้อฝัน ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากเห็นความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย แต่ความเจริญของเรามันต้องมีลักษณะพิเศษ มันควรจะต้องค่อยๆ ยกระดับขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ มันไม่ใช่สามารถที่จะกระชากความเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่ง เราไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องทำให้ทุกคนเป็นคนรวยไปซะหมด แต่การที่ทำให้คนรู้จักพอดีไม่ต้องเปรียบเทียบการแข่งขันทางวัตถุต่างหาก นั่นคือความสุขที่แท้จริง”

“แต่ใครจะคิดสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า เข้าใจสิ่งเหล่านี้หรือไม่ มันเป็นเรื่องของการศึกษาเศรษฐกิจ การกระจายความเท่าเทียมและโอกาสต่างๆ จะต้องไปช่วยกันอธิบาย ไม่งั้นมันก็จะกระจุกอยู่ที่ว่า ต้องรวยๆ คนก็จะเข้ามาขายฝันว่า ต้องรวยๆ แต่พอรวยมากๆ ก็โกงมากๆ มันก็จะวนเวียนเป็นแบบนี้ เราควรที่จะใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า รู้จักเสียสละให้กับคนอื่นบ้าง ใช้ชีวิตแบบพอเพียงมันตอบทุกอย่าง”

ลงการเมืองครั้งแรกก็เจอของแข็ง เพราะไปลงเขต “ดอนเมือง” พื้นที่ประชาธิปัตย์ไม่เคยได้เป็นสส.
“พื้นที่ดอนเมืองคนที่เคยเข้ามาสร้างความแตกต่างเลยก็คือ คุณแบม จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ คุณเก่ง การุณ โหสกุล ก็เติบโตมาจากการเป็น สข. สก. และก็มาเป็นสส. ตอนหลังก็มีประชาธิปัตย์ไปท้าชิงอยู่หลายคนแต่ก็ไม่สำเร็จ(ทำไมเขาถึงให้เราไปลงเขตนั้น) ผมคิดว่า มันคงไม่มีใครลงตรงนั้นด้วย(ยิ้ม) และมันก็คงมีหลายอย่างที่แตกต่างกันเรื่องหลักคิดและการกระทำ เห็นผู้ใหญ่ในพรรคเขาพิจารณาว่า เห็นมีความแตกต่างกันดี ก็อยากจะให้ลองไปลงดูว่าจะเป็นยังไง”

“เรียกว่าเป็นพื้นที่แข็งที่สุดพื้นที่หนึ่ง ก็ต้องลุยดูครับว่าจะเป็นยังไงบ้าง ก็อย่างที่ว่า ผมคิดว่าสองสิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ แนวคิด กับ สิ่งที่ทำ เราเองก็ไม่ใช่คนที่พูดอย่างเดียว เราก็ทำอะไรมาพอสมควร ถ้าเขาเข้าใจและเห็นว่า ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญและอยากจะเปลี่ยนแปลง แต่ยืนยันว่า เงินผมก็มีอยู่แค่นี้ ก็จะใช้อยู่เท่าที่มี ถ้าได้ผมก็อยากได้แบบสง่างาม ไม่ใช่พูดอย่างทำอย่าง”

“คนมักจะบอกว่า เป็นนักการเมืองต้องหัดพูดอย่าง คิดอย่าง ทำอีกอย่าง แต่ผมว่าไม่จริงเสมอไป ผมอยากจะลองเปลี่ยนอะไรที่มันเน่าๆ ให้มันดีขึ้นบ้าง เท่าที่ทำไหว ทำไม่ไหวก็ถอย แต่จะทำให้เต็มที่(เตรียมตัวแพ้ตลอดเวลา) การถอยอาจจะไม่ใช่การแพ้ก็ได้แต่เป็นชัยชนะอีกแบบหนึ่งก็ได้”

“ถ้าผมได้เข้าไปเรียนรู้มากกว่านี้ พอไปอยู่จุดหนึ่งอาจจะพูดได้มากกว่านี้ว่า อ๋อเป็นแบบนี้นี่เอง ตอนนี้ผมเข้าใจในระดับหนึ่ง พอเข้าไปอยู่ในเกมส์อาจจะแก้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าทำไปแล้วเกมส์เล่นไม่ได้ก็ต้องถอยออกมาเล่นนอกเกมส์แต่ยังอยู่ในระบบ เล่นนอกเกมส์นี่หมายความว่า อาจจะไปเป็นคนดู”

“แต่ถ้าผมไม่ได้รับเลือก หลังจากนั้นก็คงจะดูว่า เราทำอะไรได้หรือเปล่า ถ้าทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ก็จะทำ แต่ก็ยินดีช่วยทุกส่วนนะครับ ปกติผมก็เป็นวิทยากรบรรยายอยู่แล้ว ถ้าเขาไม่รังเกียจนะ เพราะบางคนเขาจะบอกว่า เราติดภาพการเมืองเอนไปทางโน้นทางนี้เขาไม่เอา ก็ลองดูครับ ถ้าทำได้ก็ดี ถ้าทำไม่ได้ก็ได้ลองดู อะไรก็ดีหมดครับ แต่คนก็เตือนเยอะว่า เผื่อใจไว้บ้าง แต่ผมก็หวังใจในสิ่งที่เราได้ทำมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครหรือทำสื่อ น่าจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ ก็ขอโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น