xs
xsm
sm
md
lg

"ดอกส้ม สีทอง" หรือ "ดอก... สีส้ม"/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

หมายเหตุ : คอลัมน์นี้มีคำไม่สุภาพอยู่หลายคำ

"อีดอก มึงอย่ามาเรยานักเลย..."

"แหม กว่าจะมาได้นะอีเรยา มัวแต่นอนกับกิ๊กอยู่หรือไง..." ฯ


บางส่วนของประโยคสนทนาจากบรรดาน้องๆ โต๊ะข้างๆ ที่ดูดีทั้งหน้าตาและการแต่งตัวดังมาให้ผมกับเพื่อนๆ ที่สุมหัวอยู่ในร้านประจำข้างออฟฟิศได้ยิน

"อะไรวะเรยา" เพื่อนคนหนึ่งถามด้วยความสงสัย

"โห! มึงเชยว่ะ ก็ที่ชมพู่เล่นในละครดอกทองสีส้ม เอ๊ย ดอกส้มสีทองไง ดังจะตายเขาดูกันทั้งบ้านทั้งเมือง มึงไม่เคยดูหรือไงวะ..." เพื่อนอีกคนตอบลิ้นพันกันจนเอ่ยชื่อละครที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ผิดๆ ถูกๆ

"แล้วมันหมายถึงอะไรวะ?" เพื่อนผู้ไม่นิยมดูละครถามต่อซึ่งยังไม่ทันที่ใครจะให้คำตอบ เสียงน้องโต๊ะข้างๆ ที่คงจะได้ยินการสนทนาของพวกเราก็เลยเฉลยออกมา

"อ๋อ พวกหนูเอาไว้เรียกผู้หญิงที่แบบทำตัวตอแหลๆ ชอบไปแย่งแฟนคนอื่นๆ น่ะพี่ เหมือนกับเพื่อนหนูนี่ไง..." ว่าพลางทั้งกลุ่มก็หัวเราะด้วยความชอบอกชอบใจ

ไม่เว้นแม้กระทั่งน้องคนที่ถูกเปรียบเปรย
...
เชื่อว่า หลายคนคงจะไม่แปลกใจอะไรนักกับการที่มีข่าวออกมาว่าได้มีพ่อแม่ผู้ปกครองบางส่วนร้องเรียนไปยังสายด่วนวัฒนธรรม 1765 ของศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เกี่ยวกับเนื้อหาความไม่เหมาะสมของละครเรื่อง "ดอกส้ม สีทอง" ผลิตโดยบริษัทบรอดคาทซ์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ที่กำลังออกฉายทางช่อง 3 ทุกๆ วันพุธ-พฤหัสฯ โดยเฉพาะตัวละครที่ชื่อ "เรยา" ซึ่งแสดงโดยนักแสดงหญิง "ชมพู่ อารยา" ทั้งในเรื่องของคำพูดที่ก้าวร้าวต่อผู้เป็นมารดา ตลอดจนฉากเลิฟซีนต่างๆ ที่มีอยู่ให้เห็นค่อนข้างจะถี่ เพื่อให้ทางสถานีได้พิจารณาถึงความเหมาะสมเนื่องจากเกรงกลัวว่าจะมีเด็กและเยาวชนบางส่วนเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว

และผมก็เชื่อว่าหลายคนคงจะไม่แปลกใจอะไรนักหลังจากที่มีข่าวดังกล่าวออกมาแล้วจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับละครเรื่องนี้ ทั้งในส่วนของผู้ผลิต นักแสดง ฯ จะออกมาชี้แจงในทำนองที่ว่าละครเรื่องนี้ถูกสร้างโดยมีเจตนาดี มีแง่คิดสอนใจที่จะชี้ให้เห็นเรื่องของความถูก-ผิด บาป-บุญ-คุณ-โทษ, ตัวละครตัวไหนคิด-ทำไม่ดีย่อมต้องได้รับผลที่ไม่ดี, ละครต้องการสะท้อน ตีแผ่ ให้เห็นความเป็นจริงของสังคมซึ่งพวกเราต้องยอมรับว่ามันมีเรื่องราวในลักษณะทำนองนี้อยู่จริง, ความแรงหรือความหวือหวาเป็นเพียงสีสันที่จะทำให้ละครมีความสนุก น่าติดตาม หาใช่ใจความสำคัญที่จะต้องไปให้ความสนใจ แต่อยากให้มองภาพรวมทั้งหมดซึ่งเชื่อว่าคนที่ดูละครนั้นสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรควรไม่ควร อะไรคือเรื่องจริงอะไรคือการแสดง รวมถึงผู้ปกครองเองที่น่าจะคอยให้คำแนะนำสั่งสอนที่ถูกกับลูกหลานในบ้าน หรือถ้ารู้สึกว่าละครเรื่องนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็กก็ไม่ควรให้เด็กในบ้านได้ดู

เหตุที่เชื่อว่าหลายคนไม่แปลกใจ ก็เพราะเราได้พบเห็นเรื่องราวข่าวคราวทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้วเกิดขึ้นอีกอยู่เป็นระยะๆ อยู่แล้ว

เรื่องที่น่าแปลกใจมากกว่าก็คือทุกครั้งที่เกิดเรื่องทำนองนี้ นอกจากการได้ออกมาแสดงความคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายซึ่งค่อนข้างจะสวนทางกันแล้ว เราก็แทบจะไม่ได้อะไรต่อยอดออกมากับเรื่องในลักษณะเช่นนี้เลย?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างผู้ผลิต

จริงอยู่ครับที่ว่า บางเรื่องราว บางประเด็น ฝ่ายที่ถูกเรียกว่า "ผู้ปกครอง" ตลอดจนองค์กรบางองค์กรทำให้เป็นข่าวขึ้นมานั้น อาจจะดูเป็นการโวยวายตีโพยตีพายเกินกว่าเหตุ เอะอะอะไรก็จะโยนความผิดไปยังผู้ผลิต ไอ้โน่นก็รับไม่ได้ ไอ้นี่ก็เป็นตัวอย่างไม่ดี ไอ้นั่นก็กลัวเด็กๆ จะเลียนแบบ

แต่ถ้ามองกันด้วยใจเป็นธรรมแล้วบางประเด็นมันก็น่าห่วงจริงๆ

เพราะความจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ พฤติกรรมตลอดจนเนื้อหาที่บรรดาตัวละครแสดงผ่านออกมานั้นมันมีอิทธิพลทำให้เด็กๆ ที่ดูอยู่เกิดการพฤติกรรมการเลียนแบบขึ้นมาแม้อาจจะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ตนเองทำไปนั้นมีความหมายหรือนัยสื่อถึงอะไร ทั้งการพูด กิริยาท่าทาง หรือแม้กระทั่งการแต่งตัว

และความจริงอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ เนื้อหาที่เสนอผ่าน "สื่อโทรทัศน์" เฉพาะอย่างยิ่งช่อง "ฟรีทีวี" นั้น เป็นเนื้อหาที่คนหลากหลายเพศ หลากหลายอายุ ตลอดจนหลากหลายรสนิยม เข้าถึงและซึมซับได้ง่ายโดยแทบจะปราศจากเงื่อนไข เพราะฉะนั้นหากผู้ผลิตจะคิดแค่ว่าตนรับผิดชอบด้วยการ "ติดเรท" ในเนื้องานของตนเองแล้ว ถัดจากนี้ไปหากเนื้อหาที่สื่อออกไปจะถูก "จัดหนัก" โดยมีทั้งภาพ เสียง หรือพฤติกรรมของตัวละครที่ใครดูแล้วรู้สึกว่าไม่เหมาะสมกับใครอะไรอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่คนๆ นั้นต้องไปคิดพิจารณาและจัดการกันเอาเองนั้น คำถามก็คือตรงนี้จะเป็นความคิดที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบต่อส่วนรวมไปสักนิดหรือไม่?

การทำละครให้สนุกแถมสอดแทรก "แง่คิด" ไปด้วยนั้นเป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ไม่สังเกตหรือว่าไอ้ที่บอกๆ กันว่าละครเขาก็ให้แง่คิด เตือนสตินะ ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ก็เป็นเรื่องพื้นๆ เช่น ทำดีได้ดี, ทำชั่วได้ชั่ว, ไปเป็นเมียน้อยไปแย่งผัวชาวบ้านไม่ดีนะเพราะสุดท้ายก็ต้องถูกทิ้ง ติดคุก เป็นบ้า ฯ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจมิใช่หรือ?

เมื่อไหร่กันที่บรรดาผู้จัดทั้งหลายจะยอมรับกันสักทีครับว่าละครที่ตนเองผลิตออกมาโดยบอกว่าเป็นละครตลกเบาปัญญานั้น "หลายเรื่อง" มันคือละครปัญญาอ่อน และที่ทำออกมาก็ไม่ใช่เพราะ "คนส่วนใหญ่ชอบดู" หากแต่ตัวเองมีปัญญาทำได้แค่นี้

เมื่อไหร่กันครับที่จะมีผู้จัดจะยอมรับว่า การใส่ฉากตัวตอแหลใส่ชุดโป๊ๆ ด่าทอกันแว้ดๆ หรือตบตีกันเพื่อแย่งผู้ชาย ตลอดจนฉากข่มขืนที่ซัดกันให้เห็นวันละบางทีก็ 2-3 ฉาก เหมือน ดอกส้ม สีทองเมื่อวันพุธที่ผ่านมาชนิดที่เพื่อนผมคนหนึ่งสามารถเก็บเอาไปจินตนาการจนตัวเบานั้นบางทีคนส่วนใหญ่เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกอยากดู ไม่ได้สะใจด้วย ตลอดจนหาใช่คำสวยหรูที่ว่านี่คือละครที่ต้องการจะสะท้อนความเป็นจริงในสังคมที่เราต้องยอมรับ หากแต่เป็นเพราะความชอบและเป็นรสนิยมส่วนบุคคลที่โยงใยไปถึงเรื่องกระแสการถูกพูดถึงและตัวเลขเรตติ้งเป็นสำคัญ...

เหมือนกับใครบางคนที่อาจจะรู้สึกได้กับคอลัมน์ในวันนี้

ด้วยความสัตย์และจริงใจครับ ผมว่าเนื้อหาโดยรวมของบทประพันธ์เรื่องนี้ของ อ.ถ่ายเถา สุจริตกุลนั้น มีแง่มุมที่น่าสนใจอยู่หลายแง่มุมเลยครับ

แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับคนที่หยิบเอาเนื้อหามาถ่ายทอดนั่นแหละว่าจะให้ละครเรื่องนี้ยังคงเป็น ดอกส้ม สีทอง หรือกลายเป็น ดอก... สีส้ม เหมือนที่เพื่อนผมพูดผิดกันแน่

ก็ไหนบอกว่าบทพูดสุดยอด ไดอาล็อกขั้นเทพ แล้วทำไมจะต้องไปเอาสีสัน เอาความแรง เอาความหวือหวามาบดบังจุดเด่นตรงนี้ด้วยล่ะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น