xs
xsm
sm
md
lg

Music Shines : ปรากฏการณ์ ‘กินตับ’ เท่ง เถิดเทิง กับกาละเทศะทางสังคม / พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

paulheng_2000@yahoo.com

โลกของดนตรีและเสียงเพลง บางทีก็ดูสับสนและจับต้นชนปลายยากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะบทเพลงเพื่อความบันเทิงเริงใจในตลาดเพลงกระแสหลัก ปัจจัยหรือเงื่อนไขทางสื่อและระบบการตลาดก็ยังชี้นำคนฟังเพลงได้ดีอยู่เสมอ ซึ่งเป็นแนวทางของบทเพลงที่ทำมาเพื่อการค้าและขายในแง่มุมความสนุกสนานสร้างสุขให้กับคนฟัง

ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ปรากฏการณ์ของบทเพลง ‘กินตับ’ ของ เท่ง เถิดเทิง ที่โด่งดังมากับการนำมาร้องออกรายการกับบรรดาทีมตลกของค่ายเวิร์คพอยตท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในทุกรายการ ทำให้บทเพลงนี้ติดตลาดเพลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับแรงฉุดจากหนัง ‘เท่งโหน่ง จีวรบิน’ ทำให้บทเพลงนี้ที่ถูกแผลงเป็นเวอร์ชันสองเพื่อนำมาประกอบเป็นเพลงนำของหนังก็ยิ่งพุ่งทะลุ ด้วยความถี่จากการโฆษณาและแรงอัดจากรายการต่างๆ ของเวิร์คพอยต์ ทำให้เป็นบทเพลงฮิตอันดับอย่างไปอย่างไม่ต้องสงสัย

เป็นเรื่องธรรมดาในความโด่งดังของเพลง เพราะบรรดาตลกหน้าม่านในรายการต่างๆ ของค่ายเวิร์คพอยท์นั้น ถือว่ายึดพื้นที่ในฐานะตลกขวัญใจมหาชนอยู่แล้ว ด้วยความถี่ของการโผล่หน้าในรายการต่างๆ เกือบทุกวันในสัปดาห์หนึ่งๆ ตลกจากค่ายนี้ก็อยู่ในขั้นของความเป็นซูเปอร์สตาร์สายคอมิดี้ของเมืองไทยไปโดยปริยาย

เพราะฉะนั้นบทเพลง ‘กินตับ’ กลายเป็นเพลงฮิตอย่างรวดเร็วจึงเป็นเรื่องปกติอย่างยิ่ง ถ้าไม่ฮิตขึ้นมาถือว่าเป็นเรื่องที่แปลก แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจเท่าไหร่นัก...เพราะการเขียนเพลงนี้ และศิลปะเชิงชั้นในการนำเสนอบทเพลงที่มีเจตนาสื่อถึงมุขตลกที่ซ้อนความสัปดนอยู่มากกว่า ที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น บทเพลงนี้ดันไปมีแนวคิดที่ละม้ายคล้ายคลึงกับบทเพลง ‘ตับ ตับ ตับ’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า เพลงตับ ของ เหินฟ้า หน้าเลื่อม หรือชื่อที่ใช้เล่นตลกก็เขียนอีกแบบว่า เหิรฟ้า หน้าเลื่อม ซึ่งดูเหมือนจะออกมาก่อนหน้าบทเพลงของเท่งไม่เท่าไหร่นัก

จากจุดนี้แสดงให้เห็นพลังทางสื่อและความถี่ในการออกอากาศสู่สาธารณชนหรือคนดูและคนฟังในกระแสหลักวงกว้างอย่างแท้จริง ในการที่จะทำให้บทเพลงหนึ่งขึ้นมาเป็นเพลงยอดนิยมได้ เป็นภาพและวิถีแห่งความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างสิ้นเชิง

แต่ก็มีสิ่งที่สำคัญกว่านั้นอีก บทเพลงในแนวทะลึ่งสัปดนปนขำๆ ฮาๆ เหล่านี้ เหมาะที่จะอยู่ในพื้นที่กระแสหลักหรือไม่ โดยเฉพาะเพลง ‘กินตับ’ ที่นำไปเป็นบทเพลงประกอบภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับพระสงฆ์องค์เจ้า หรือว่าสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปรไป มาตรฐานในเชิงคุณค่าของความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะบุคคลสาธารณะและผู้ผลิตสื่อลดทอนจางหายไปด้วย บทเพลงในสไตล์สองแง่สองง่ามสัปดนตึงตังในลักษณะของเพลงวงเหล้ากลายเป็นเพลงในกระแสหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…

‘กินตับ’ VS ‘ตับ ตับ ตับ’ ละม้ายแบบจงใจหรือความพ้องพานโดยบังเอิญ

เพลงดังหรือยอดนิยมส่วนใหญ่ของเมืองไทยนั้น อยู่ที่ใครมีสื่ออยู่ในมือมีแรงส่งและผลักดันมากกว่ากัน เป็นสูตรธรรมดาของการทำการตลาดเพลงที่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งในการกรอกใส่หูคนฟังด้วยความถี่ยิบและสร้างความจดจำให้ติดหูติดปาก จนกลายเป็นเพลงฮิตของคนฟังไปโดยไม่รู้ตัว

บทเพลง ‘กินตับ-จีวรบิน’ ของซูเปอร์สตาร์ตลกของเมืองไทย อย่าง เท่ง เถิดเทิง บทเพลงในระดับบิ๊กฮิต ที่มาพร้อมกระแสการโปรโมทของหนังหนัง ‘เท่งโหน่ง จีวรบิน’ รวมถึงพลังอำนาจในการออกสื่อต่างๆ ด้วยตามแผนการตลาดที่วางไว้ด้วยการโหมกระหน่ำทำให้เป็นเพลงฮิตอย่างไม่ยากเย็น โดยเฉพาะการเข้าชมมิวสิควิดีโอเพลงนี้กว่าล้านครั้งทางอินเทอร์เน็ต บ่งบอกถึงกระแสและความเป็นยอดนิยมได้เป็นอย่างดี

‘กินตับ’ จะเป็นแนวเพลงที่มีทางดนตรีสามช่าโป๊งโป๊งชึ่งผสมเร๊กเก้ในแบบจังหวะยกเข้ามา มีการร้องแบบแร๊พเข้ามาผสาน โดยเฉพาะท่อนร้องประสานที่เป็นสร้อยเพลงอดคิดถึงสไตล์ของเพลงแบบ อนันต์ บุนนาค อยู่ไม่น้อยทีเดียวเช่นกัน ก็เป็นเพลงในแนวขำขันทะลึ่งกึ่งสัปดน เพราะสัมผัสได้จากเจตนาแฝงในภาษาที่ใช้อยู่พอสมควร

เท่ง เถิดเทิง จะเป็นคนร้องหลัก ทั้งการร้องปกติและแร๊พ โดยมีลูกคู่คอยประสานเสียงสร้างบรรยากาศและความฮาเฮแบบวงตลกครื้นเครง

ส่วน ‘ตับ ตับ ตับ’ เป็นบทเพลงเหินฟ้า หน้าเลื่อม เป็นนักร้องเบอร์สุดท้ายของค่ายเพลงลูกทุ่งพีจีเอ็มที่หลงเหลืออยู่ ภายใต้การล่มสลายของค่ายเพลงเล็กๆ ทั้งวงการเพลงไทยสากลและลูกทุ่ง อย่าลืมว่า พีจีเอ็มมีนักร้องในสายลูกทุ่งเพื่อชีวิตและลูกกรุงโอลดี้ บุกเบิกฐานแฟนเพลงกลุ่มต่างจังหวัดมายาวนานพอสมควร หยาด นภาลัย, พี สะเดิด, ศิริพร อำไพพงษ์ ล้วนเริ่มต้นโด่งดังจากที่นี่

บทเพลงของเหินฟ้า หน้าเลื่อมที่โด่งดังติดตลาดเพลงในวงกว้างเป็นเพลงแรกก็คือ ‘ผีคอลเซนเตอร์’ ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม ‘หนุ่มดอยหงอยเหงา’ ความจริงแล้วเหินฟ้าก็เป็นตลกจากภาคเหนือโลดแล่นอยู่ในวงการ เข้ามากรุงเทพฯ ก็เข้ามาอยู่คณะของเหลือเฟือ มกจ๊ก โดยมีชื่อทางการแสดงตลกว่า แม้ว มกจ๊ก ด้วยคาแรกเตอร์ที่วางไว้คือ แต่งชุดแม้ว พูดไม่ชัดแบบชาวเขาพูดภาษาไทย ซึ่งเป็นบุคลิกในการแสดงตลก และผูกโยงมาถึงสไตล์เพลงด้วย

ว่าไปแล้ว เหินฟ้า หน้าเลื่อม ก็โดนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่คาเฟ่ทยอยปิดตัว ตลกที่เล่นตามคาเฟ่จึงตกงานไปด้วย ทำให้เขาออกมาบินเดี่ยวรับงานตลกเองและออกอัลบั้มเพลงขายทางเชียงใหม่และภาคเหนือก่อนที่จะมาออกกับค่ายเพลงในกรุงเทพฯ อย่าง พีจีเอ็ม สไตล์เพลงของเหินฟ้า ก็คือบทเพลงในแนวคอมิดี้ขำขัน อารมณ์ขันสัปดนม่วนใจแบบจาวเหนือ นำส่วนผสมของเพลงพูดแบบเพลิน พรหมแดน มาแผลงแปลงเป็นภาษาเหนือ รวมถึงเพลงที่เสนอทางคำแบบสองแง่สองง่ามแบบขำขัน อย่าง ‘หมีมันหาย’ ซึ่งถ้ามีการผวนคำก็จะสะดุ้งอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ว่าไปแล้ว บทเพลงอย่างนี้ก็จะมีมากมายสำหรับการแสดงของตลกที่อยู่ในคาเฟ่ และสถานบันเทิงต่างๆ

เพราะฉะนั้นบทเพลง ‘ตับ ตับ ตับ’ ซึ่งอยู่อัลบั้มชุดที่ 3 ‘บ่าฮ่ากิ๋นตับ’ ของเขา มีนัยยะการซ่อนความหมายในคำ ซึ่งฟังเพลงก็รู้ถึงเจตนาได้ทันที แต่การเขียนเพลงค่อนข้างมีชั้นเชิงและศิลปะการนำเสนออยู่พอสมควร โดยเล่าเรื่องถึงชายหนุ่มอกหักไปเที่ยวผับและกินเหล้า ซึ่งทำลายสุขภาพโดยเฉพาะในส่วนของตับที่เป็นบ่อเกิดของโรคตับแข็ง รวมถึงไปเหล่สาวในผับและชวนไปกินตับ ซึ่งก็กลมกลืนอยู่พอสมควรกับบทเพลงในแง่สัปดนขำขัน ดนตรีก็เป็นสูตรของลูกทุ่งแบบโจ๊ะโป๊งชึ่ง และมีการแร๊พแบบไทยๆ อยู่แก้เลี่ยนตามยุคสมัย เหมาะแก่การร้องในสถานบันเทิงฮาเฮเป็นอย่างยิ่ง และก็เป็นทิศทางเพลงที่เป็นสูตรและสไตล์เฉพาะตัวที่ทำมาตลอดอย่างไม่เคอะเขิน

บทเพลง ‘ตับ ตับ ตับ’ ของ เหินฟ้า หน้าเลื่อม ก็เป็นที่รู้จักกันพอสมควร แม้จะไม่เป็นเพลงฮิตระเบิดระเบ้อก็ตาม

ระหว่างบทเพลงของเท่ง เถิดเทิง กับเหินฟ้า หน้าเลื่อม ซึ่งมีความละม้ายคล้ายคลึงในวิธีคิดในการเขียนเนื้อเพลงและแนวเพลงเป็นอย่างมาก แค่ช่วงขึ้นต้นของเพลงที่เป็นเสียงตะโกนถามก็เป็นแนวทางเดียวกัน บทเพลง ‘ตับ ตับ ตับ’ ของ เหินฟ้า ร้องขึ้นต้นว่า “คนโสดมีไหม” ส่วนบทเพลง ‘กินตับ’ ก็ขึ้นต้นด้วยประโยคในแนวเดียวแต่ร้องว่า ‘ไปเที่ยวกันไหม’

หากมาดูกันที่ช่วงเวลา เข้าใจว่า บทเพลง ‘ตับ ตับ ตับ’ ของ เหินฟ้า น่าจะออกมาก่อน ส่วนของ เท่ง เถิดเทิง ตามมาทีหลัง แต่โด่งดังกว่าหลายช่วงตัว หากดูแนวทางในการเขียนเพลงแล้ว การนำเสนอมุมหลบในความทะลึ่งกึ่งสัปดนใช้คำสองแง่สองง่าม และการมีเส้นเรื่องของเพลง เหินฟ้า ทำได้ดีกว่าเท่ง ที่เขียนออกไปในแนวโฉ่งฉ่าง แสดงออกถึงเจตนาอย่างชัดเจน แม้จะมีการเห็นคำในแบบเดียวกันของความหมายสื่อนัยทางเพศและเรื่องใต้สะดือของคำว่า ‘ตับ ตับ ตับ’

เพราะฉะนั้นความเหมือนกันทางความคิดหรือเป็นการลอกเลียนกัน คนเขียนเพลงเองเท่านั้นที่เป็นผู้ที่รู้ดีอยู่กับใจของตัวเองได้ดีที่สุด แต่ก็ต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะมุข ‘ตับ ตับ ตับ’ ที่เป็นบุคลิกสองแง่สองง่ามลงเรื่องใต้สะดือ เป็นมุขสากลของตลกในระดับคาเฟ่ ซึ่งน่าจะแพร่หลายกันอยู่แล้ว แล้วแต่ใครจะหยิบมาเขียนเป็นเพลงก็ได้

ดีกรีของบทเพลงแนวตลกสัปดนมีความเหมาะสมและขีดจำกัด

ความฮาเฮสนุกสนาน ล้วนส่ออยู่ในเจตนาของตัวเพลง และระดับความแรงของดีกรีการนำเสนอ แน่นอนความคุ้นชินกับภาวะของการแสดงที่เรียกว่า ตลกคาเฟ่ บทเพลงอย่าง ‘กินตับ’ เป็นเรื่องธรรมดามาก ยิ่งบทเพลง ‘ตับ ตับ ตับ’ ก็สื่อสัญญะทางเพศชัดเจนอยู่ชัดเจนอยู่แล้ว สำหรับคนที่ประสีประสาหรือบรรลุวุฒิภาวะแล้ว ก็จะฟังออกทันทีว่าบทเพลง 2 บทเพลงนี้ เจตนาที่แฝงเร้นและมีเป้าหมายหลักก็คือท่อนสร้อยที่ร้องว่า ‘ตับ ตับ ตับ’ ซึ่งเป็นเสียงที่เป็นสัญลักษณ์ในเวลามีกิจกรรมทางเพศของชายและหญิง ใครที่บอกว่าฟังเพลงแล้วไม่เข้าใจว่า คนร้องส่อเจตนาอย่างนี้ก็ถือว่า ซื่อและใสบริสทุธิ์ต่อโลกเอามากๆ

สำหรับบทเพลงทั้ง ‘กินตับ’ และ ‘ตับ ตับ ตับ’ คงไม่ใช่ปัญหาของตัวเพลง เพราะเป็นเรื่องปกติในอารมณ์ขันของสังคมไทย ที่ยั่วล้อยั่วยิ้มกึ่งทะลึ่งสัปดนแต่ไม่ลามกถึงขั้นหยาบโลนจนรับไม่ได้ มีพัฒนาการมาทั้งแต่เพลงพื้นบ้านพื้นถิ่นโบราณ ในวรรณคดีวรรณกรรมต่างๆ ส่วนในวงการตลกก็ยิ่งแสดงถึงเชิงชั้นลูกล่อลูกชนมาตั้งแต่ตลกรุ่นจำอวด คาเฟ่ วิดีโอ และหน้าจอโทรทัศน์และภาพยนตร์ในปัจจุบัน

แต่ปัญหาของบทเพลงพวกนี้ อยู่ที่พื้นที่ของการนำเสนอและช่วงจังหวะเวลาที่ออกสู่สาธารณะในช่วงที่คนทุกเพศทุกวัยได้เสพชม มันเป็นความเหมาะสมหรือไม่ เด็กไม่รู้เดียงสาก็จะถามว่า ตับ ตับ ตับ คืออะไร ยิ่งเห็นอาการของคนเต้นไม่ว่าชายหรือหญิง พอร้องในท่อนตับ ตับ ตับ ก็จะโยกสะโพกทำท่าเด้งหน้าเด้งหลังอย่างเมามัน ที่เอ่ยถึงไม่ใช่ว่าใช้มาตรฐานทางศีลธรรมจ๋าเข้ามาจับ แต่เป็นเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่และเวลา บทเพลงอย่างนี้สามารถนำมาร้องและออกอากาศได้ หรือประชาสัมพันธ์โปรโมทกันไป แต่ต้องมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร ซึ่งต้องดูแลคนในสังคมที่ด้อยวุฒิภาวะโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนด้วย

แม้แต่พ่อเพลงแม่เพลงที่ร้องในแนวสัปดนทะลึ่งใต้สะดือ ภาษาที่ร้องแม้จะจะสื่อออกมาแบบสองสองแง่สองง่ามแต่ก็เต็มไปด้วยศิลปะของการใช้ถ้อยคำ และจะแสดงและเล่นตามฤดูกาล รวมถึงดีกรีของความทะลึ่งจะดูว่ามีช่วงไหนมีเด็กอยู่หรือไม่ จะเห็นได้ว่าการแสดงพวกนี้ยิ่งดึกจะยิ่งเพิ่มดีกรี เพราะมีแต่ผู้ใหญ่แฟนพันธ์แท้แบบโปกฮา

ในที่นี้จะมาดูกรณีของบทเพลง ‘กินตับ’ ซึ่งถือเผยแพร่ในสื่อกระแสหลักอย่างไม่บันยะบันยัง บทเพลงนี้ถือเป็นบทเพลงสไตล์ตลกคาเฟ่ที่ตอบโจทย์ฮาและทะลึ่งสัปดนได้ทุกมิติ จะเป็นเรื่องธรรมดามากถ้าเล่นตามคาเฟ่และพื้นที่ปิดในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นรสนิยมของคนที่คัดสรรเฉพาะกลุ่มแล้ว แต่น่าเสียดายที่เผยแพร่อย่างไม่รู้กาลเทศะ รวมถึงการนำมาแผลงแปลงเพิ่มเป็นเวอร์ชั่นเพลงประกอบหนัง ‘เท่งโหน่ง จีวรบิน’ ลองคิดดูกับคำร้องท่อนสร้อยที่ร้องว่า ‘ตับ ตับ ตับ’ ที่ร้องเคียงข้างกับคำว่า ‘สาธุ สาธุ สาธุ’ เป็นความสัปดนที่เอามาหลอมรวมกันอย่างไร้รสนิยม แค่เอามันและสะใจในความคิดตัวเอง

แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของคนทำงานในเชิงชั้นตลกขำขันยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดีว่า ไม่มีเส้นแบ่งหรือวิจารญาณอย่างในยุคก่อนอีกแล้วว่า ข้อจำกัดและดีกรีความแรงจะอยู่ตรงจุดไหนในการเผยแพร่ต่อสาธารณะหรือความรับผิดชอบต่อสังคม

เมื่อมาวิเคราะห์ดูดีกรีของงานในแนวนี้ที่จะบอกว่าเป็นศิลปะได้หรือไม่ ระดับของคำว่า ‘ตลก’ จะแบ่งออกเป็น ‘ขำขัน’ อยู่ในระดับตลกหรือฮาอยู่ในระดับภาวะปกติวิสัย นี่สำหรับวงกว้างคนทั่วไป

แล้วก็เพิ่มดีกรีขึ้นอีก ก็จะเป็น ‘ทะลึ่ง’ จุดนี้ก็อยู่ในระดับสองแง่สองง่ามพออมยิ้มและเริ่มเป็นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

แต่จุดที่คนชอบมากที่สุดและถือว่าอยู่ในพันธุกรรมของคนไทยเลยก็ว่าได้ก็คือ ‘สัปดน’ ซึ่งสามารถทำให้ดูดีสวยงามแบบสุนทรีย์ได้ด้วยเชิงชั้นทางศิลปะ แต่ก็ถือว่ายากมาก จะเห็นได้ในบรรดาพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านในทั่วทุกภาคที่จะมีความคมคิดและคลังคำที่มาใช้บิดลูกเล่นในการใช้ลีลาเรื่องใต้สะดือที่แสนสัปดนให้ออกมาดูดีเชิงสัญลักษณ์ได้ รวมถึงครูเพลงรุ่นเก่าที่สามารถทำจุดนี้ได้ดีทั้งสายลูกทุ่งและลูกกรุง เห็นได้ถึงอารมณ์ที่ลึกล้ำชั้นเซียน คืออยู่ในระดับปริ่มๆ ลามกแต่ไม่หยาบคาย

แล้วมาทะลักจุดแตกที่เกินลิมิตตรง ‘ลามก’ ซึ่งเรียกว่า หลุดกรอบของวิถีประชา และจารีตประเพณีที่คนสังคมจะบอยคอตและต่อต้าน คำนิยามของคำว่า ‘ลามก’ ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของคำว่า ลามก ว่า หยาบช้าต่ำทราม, หยาบโลน, อันเป็นที่น่ารังเกียจ ของคนดีมีศีลธรรม, เช่น หนังสือลามก พูดลามก ทำลามก.เหมาะเฉพาะคนในวงจำกัดเฉพาะกลุ่ม อาทิ วงเหล้า ถึงบางครั้งเลยเถิดถึงขั้น ‘หยาบโลน’ เพลงที่แต่งในดีกรีเหล่านี้จะอยู่แบบเพลงใต้ดินถูกเซนเซอร์ไป

แต่ก็มีขั้นแรงสุดที่เรียกว่า ‘อนาจาร’ ซึ่งจุดนี้เกินกว่าที่จะรับไหวสำหรับคนทั่วไปและเป็นเรื่องผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

บทเพลงสองแง่สองง่ามตีความเชิงสัญญะทางเพศก็อยู่คู่สังคมไทยและสังคมทั่วโลก หากข้ามพ้นพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านแล้ว คนที่อยู่ในขั้นเซียนก็คือ เทพ โพธิ์งาม ถือว่าเป็นตัวพ่อของการร้องเพลงในแนวนี้ บางครั้งออกลีลาถึงขั้นลามก แต่ก็จำกัดอยู่ในยามเล่นตลกในพื้นที่รโหฐานหรือสถานที่ ซึ่งมิใช้ที่สาธารณะสถาน ไม่ว่าจะเป็นที่มีเคหสถานคือเป็นสถานที่ส่วนบุคคลห้ามมิให้ใครผ่านสัญจร ไม่เคยเห็นเทพ โพธิ์งาม ใช้ความถนัดด้านนี้ออกสื่อสารในที่สาธารณะที่ไม่สมควร โดยเฉพาะอัลบั้มเพลงแปลงในขำขันก็ไม่ถึงกับเอาฮาแบบสุดๆ ในทางใต้สะดือ

สำหรับบทเพลง ‘กินตับ’ น่าจะเป็นของอาการปากว่าตาขยิบของสังคมไทยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะมุมมองเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ทุกอย่างทำได้เพื่อการค้าและความโด่งดังแต่ลืมข้อจำกัดและกาละเทศะ

บทเพลงที่สื่อนัยยะทางเพศสองแง่สองง่ามในสังคมไทยก็ควรมีอยู่ เสนอความสัปดนปนฮาใต้สะดือ แต่ก็ควรอยู่ในพื้นที่อันเหมาะสม และไม่ควรแฝงเร้นในสื่ออื่นๆ ที่ไม่เข้ากันแต่พยายามทำให้เข้ากันด้วยอำนาจและความถี่ทางสื่อที่โหมเปิดยัดเยียดในทุกช่องทาง อย่างบทเพลง ‘กินตับ’ ที่นำไปใส่ในหนังแล้วแผลงเป็น ‘กินตับ-จีวรบิน’ ในเชิงศิลปะทางดนตรีและบทเพลงก็ไม่เข้ากัน แต่ต้องการขายเป็นแพคเกจไปด้วยกันทีเดียว

ความบิดเบี้ยวของการเสพงานในเชิงพาณิชย์ศิลป์เพื่อการขายและธุรกิจจึงดูไร้รสนิยมไปเรื่อยๆ และไม่มีการจัดวางอย่างถูกกลุ่มถูกทางพอเหมาะสม ซึ่งสามารสรุปภาษาทางพระก็คือ การทำงานประเภทนี้สื่อต่อสาธารณชนวงกว้างในกระแสหลัก ต้องอยู่ในระดับที่ที่วิญญูชนหรือบุคคลที่พึงรู้ผิดรู้ชอบตามปกติพึงสังวร
>>>>>>>>>
……….

ฟังมาแล้ว

Gift The Fingerstyle / รวมนักร้อง+มือกีตาร์

งานเพลงที่น่าผิดหวังอย่างแรง เพราะเป็นการระดมมือกีตาร์ในแบบฟิงเกอร์สไตล์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย มาตีความเพลงพ๊อพอีซี่ลิสซึ่นนิ่งแบบแกรมมี่ซาวด์ โดยให้นักร้องรุ่นใหม่ของแกรมมี่ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกในบทเพลงออกมา เนือยเอื่อยช้าและไม่มีสีสันหรือมิติทางดนตรีที่น่าชื่นชม รวมถึงเสียงร้องที่ดูเกร็งและกดดันทำให้งานออกมาน่าเบื่อ เมื่อเปรียบเทียบกับต้นฉบับก็มิอาจเทียบเคียง

Ultimate Pet Shop Boys / Pet Shop Boys

อัลบั้มรวมฮิตที่บรรจุซีดีและโบนัส ดีวีดีไว้ด้วยกัน ถือเป็นการรวมเพลงของคู่ดูโอซินธิ์พ๊อพและอิเล็กทรอนิกส์พ๊อพของอังกฤษ ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและเพลงฮิต รวมถึงเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ โดยยืนหยัดชัดเจนฝ่ากระแสแฟชั่นการฟังเพลงมาถึง 25 ปีเต็ม

19 บทเพลงที่อยู่ในระดับยอดนิยมมากที่สุดจากบทเพลงแรก 'West End Girls' ในปี 2528 จนมาถึงยุคปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงบทเพลงที่เปี่ยมไปด้วยเนื้อร้องที่เฉลียวฉลาดและไหวพริบทางดนตรี และที่สำคัญคือสัญชาตญาณของความเป็นพ๊อพ และจุดที่สำคัญที่สุดก็คือสามารถใช้เต้นรำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งอยู่เหนือขอบเขตของอายุและยุคสมัย

ส่วนดีวีดีซึ่งบรรจุการแสดงสดในรายการท็อป ออฟ เดอะ พ๊อพ และที่อื่นๆ ไว้อย่างครบครัน รวมถึงที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนในการแสดงสดที่บีบีซี

State of Da World / Inner Circle

วงดนตรีเร็กเก้ที่สามารถยืนระยะยาวนาน ด้วยมาตรฐานการทำงานเพลงในแบบคอนเทมโพรารี่ เร็กเก้ ที่ร่วมสมัย ผสานด้วยทางเพลงในแบบเร็กเก้พ็อพที่ติดหูฟังง่าย ซึ่งคนไทยรู้จักบทเพลงของพวกเขาเป็นอย่างดีจาก Sweat (A La La La La Long) บทเพลงที่โด่งดังในระดับซูเปอร์ฮิต

อัลบั้มชุดนี้ยังคงความสนุกสนานทางด้านสีสันดนตรีแบบเร็กเก้พ็อพ แต่เนื้อร้องสอดใส่สำนึกทางสังคมและการเมืองเข้าไปได้อย่างนวลเนียน ฟังทั้งสนุกบันเทิงและได้สาระ

Live at the Olympia / R.E.M.

อัลบั้มแสดงสดที่บรรจุซีดี 2 แผ่น และดีวีดี 1 แผ่น เป็นคอนเสิร์ตที่ไม่ใช่การโชว์ของ แต่เป็นการรื้อฟื้นหวนหาความสุขสนุกสนานของการเล่นดนตรีของ วง R.E.M. ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง วงอินดี้ร็อคที่เติบโตมาในแบบคอลลาจ ซาวด์ หรือดนตรีจากนักศึกษารั้วมหาวิทยาลัยที่สามารถขึ้นสู่วงระดับโลกได้

การแสดงสดคราวนี้เป็นการบ่งชี้จิตวิญญาณทางดนตรีที่ยังคุกรุ่นและไม่ยอมทิ้งให้จางหายไป เป็นความสดแต่ไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ
>>>>>>>>>>
……….
ชีพจรดนตรี
>>>>>>>>>

บอย - ตรัย - แสตมป์ รวมตัวเฉพาะกิจ แต่งเพลง กัมบัตเตะเนะ เพื่อผู้ประสบภัยญี่ปุ่น

จากเหตุการณ์ผู้ประสบภัยสึนามิ และแผ่นดินไหว ที่ประเทศญี่ปุ่น วง 3 A.M. (ทรี เอเอ็ม) วงดนตรีเฉพาะกิจที่จะรวมตัวกันเมื่อโลกมีภัยพิบัติ โดยมี บอย โกสิยพงษ์, บอย-ตรัย ภูมิรัตน และแสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข เป็นสมาชิก

ครั้งนี้ บอย โกสิยพงษ์ ได้แต่งเพลงใหม่ที่ชื่อ ‘กัมบัตเตะเนะ’ ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น ที่แปลว่า ‘เข้มแข็งนะ’ เพื่อเป็นกำลังใจแก่ชาวญี่ปุ่นที่ประสบภัยอยู่ ณ ขณะนี้

“การรวมตัวครั้งนี้ก็เพื่อจะสร้างเสียงเพลงที่พวกเราสามารถทำได้และอยากจะทำ เพลง ‘กัมบัตเตะเนะ’ มีแขกรับเชิญร่วมงานหลากหลาย อย่าง คุณฟั่น (โกมล บุญเพียรผล) จาก บีลีฟเรคคอร์ด เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงนี้

“กิจกรรมที่ทำเพลงขึ้นมาก็เพื่อผู้ประสบภัยชาวญี่ปุ่น ซึ่งได้ชวนเพื่อนชาวญี่ปุ่นมาช่วยแปลเนื้อไทยเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วเราก็ร่วมกันร้องเพื่อเป็นกำลังใจให้ชาวญี่ปุ่นที่นั่น โดยมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องที่เกิดขึ้น เราแทบไม่อยากเชื่อสายตัวตัวเองเลย ขนาดพวกเราอยู่ตรงนี้เรายังรู้สึกเจ็บมากเลย แล้ว พวกเขาจะรู้สึกเจ็บมากขนาดไหน ก็ขอเป็นกำลังใจให้พวกเขาสู้ต่อไป และเชื่อว่าดวงอาทิตย์ต้องขึ้นมาอีกครั้งแน่ๆ และผมยินดีที่จะมอบเพลงนี้ให้กับทางรายการต่างๆ เพื่อใช้เปิดเป็นกำลังใจแก่ผู้ประสบภัยญี่ปุ่น“ บอย โกสิยพษ์ กล่าว
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
กำลังโหลดความคิดเห็น