xs
xsm
sm
md
lg

Music Shines : ฮิวโก-จุลจักร จักรพงษ์ (ตอนจบ) >>> ‘Old Tyme Religion’ จุดเริ่มต้นของความเป็นระดับโลก / พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

paulheng_2000@yahoo.com

การเดินทางสู่เส้นทางดนตรีในอเมริกานั้น หากประสบความสำเร็จก็เปรียบเสมือนการเปิดทางสู่ความเป็นระดับโลกไปในตัวด้วย จากตอนที่แล้ว ‘ฮิวโก’ หรือ จุลจักร จักรพงษ์ โดยมีชื่อในการเขียนเพลงว่า ฮิวโก จักรา (Hugo Jakgra) กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ไม่สามารถคาดการณ์สิ่งใดผ่านสิ่งแวดล้อมภายนอกทางดนตรีที่ควบคุมไม่ได้ แต่ปัจจัยภายในของค่ายเพลง ร๊อค เนชั่น ของเจย์-ซี ก็น่าจะการันตีถึงบุคลิกทางดนตรีที่โดดเด่นเฉพาะตัว ไม่ได้เน้นไปในทางดนตรีกระแสหลักอันเป็นที่นิยมของตลาดเพลง แต่เป็นการสร้างสรรค์ออกไปในเชิงอิสระหรืออินดี้ของซาวด์ดนตรีร่วมสมัยที่ไม่เคยปรากฏออกมาก่อน และโดยหลักก็ไม่ได้เป็นการทดลองทางดนตรีที่ผิดเพี้ยนหลุดโลกยังมีโครงร่างของดนตรีในกระแสโดยครบถ้วนเช่นกัน

เพราะฉะนั้นมาดูกันว่า ดนตรีของฮิวโกมีดีที่ตรงไหน เจย์-ซี แร๊พเปอร์แถวหน้าในอเมริกาจึงให้ความเชื่อใจและสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อนำดนตรีสู่โสตคนอเมริกันและทั่วโลก

[3] ร๊อคไทยสู่โลกตะวันตก ไพรัชร๊อคในกรูฟฮิพฮอพ

ปกอัลบั้ม ‘Old Tyme Religion’ (ที่วางจำหน่ายในไทย) โดยรวมทั้งหมดอยู่ในโทนสีสนิมออกไปในเฉดน้ำตาลแดง ปกหน้ามีรูปฮิวโกตั้งแต่ใบหน้าถึงช่วงประมาณไหล่ใส่หมวกในสไตล์คาวบอยประมาณ 3 ส่วน 4 ภาพ ส่วนล่างภาพเป็นทิวทัศน์ภาพวัดอรุณฯ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่คนต่างประเทศรู้จักกันดี ส่วนปกหลังเป็นรูปราวป่าเขตร้อนชื้นที่สื่อออกถึงอารมณ์ในแบบจังเกิลของตะวันตกคอยคุมธีมของการบอกกล่าวอารมณ์ความรู้สึกในผาดสัมผัสแรกทางจักษุที่เห็นอัลบั้มชุดนี้

เอ็กโซติค (Exotic) ซึ่งหมายความว่า ผิดธรรมดาหรือประหลาด หากแปลเป็นภาษาไทยสวยๆ ก็เรียกว่า ‘ไพรัช’ นี่คือหัวใจของฮิวโกที่เจย์-ซี น่าจะมองเห็นถึงจิตวิญญาณทางดนตรีของฮิวโก แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความแปลกประหลาดจนหลุดกลายเป็นเวิร์ลบีทหรือเวิร์ลมิวสิคที่นิยมนำดนตรีประเพณีนิยมหรือเทรดิชั่นมาใช้กับดนตรีตะวันตก แต่เป็นเพียงกลิ่นอายหรือความรู้สึกเพียงเท่านั้น รูปแบบดนตรียังมีกระดูกสันหลังและโครงร่างของดนตรีกระแสหลักของตะวันตกอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

ไพรัชร๊อคในกรูฟฮิพฮอพในอัลบั้มนี้ของฮิวโกคือ สีสันดนตรีอย่างที่ฮิวโกพยายามบอกว่า เขากำลังทำดนตรีร๊อคแอนด์โรลในยุคฮิพฮอพ ซึ่งก็ว่าไปแล้ว อัลบั้ม ‘Old Tyme Religion’ หากจะบัญญัติแนวทางหรือสไตล์ดนตรี น่าจะออกมาในประมาณเอ็กโซติค-อัลเทอร์เนทีฟ ร๊อค โดยมีพื้นฐานมาจากดนตรีในแนวโฟล์ค-บลูส์-คันทรีของอเมริกา มากลืนกลายสู่ความร่วมสมัยด้วยกลิ่นอายโมเดิร์นฮิพฮอพในกรูฟของดนตรี ซึ่งมีร่องเสียงในความรู้สึกของจังหวะที่เป็นดนตรีแอฟริกัน-อเมริกันของยุคนี้

อย่างที่บอก ฮิวโกทำดนตรีร๊อคตามแนวของตะวันตกโดยมีความเป็นตัวของตัวเองเข้าไปผสมในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยเห็นได้เด่นชัดถึงทีมโปรดักชันทางดนตรีที่คอยมีส่วนรวมและสนับสนุนในการผลิตตามแนวทางดนตรีในอัลบั้มชุดนี้ ก็มีอแมนดา โกสท์ นักร้อง/นักแต่งเพลงในแนวอิเล็กทรอนิกส์ร๊อค และเอมเบรียนต์พ๊อพ ซึ่งอีกหน้าที่หนึ่งก็คือ ผู้บริหารค่ายเพลงอีพิค เรคคอร์ด เป็นแกนนำ โดยมีทีมดนตรีคือ เดฟ แมคแครคแกน (Dave McCracken) เป็นนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ดนตรีชาวอังกฤษ เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงว่า อยู่เบื้องหลังการทำงานในโซโล่อัลบั้มของ เอียน บราวน์ (Ian Brown) อดีตนักร้องนำวง The Stone Roses วงดนตรีบริตพ๊อพแมนเชสเตอร์ ซาวด์ ที่สร้างสกุลดนตรีแมดเชสเตอร์ขึ้นมา และทำงานให้กับอีกหลายๆ วง และอีกคนคือ เอียน เดนช์ มือกีตาร์วงอีเอ็มเอฟ (EMF) ในอดีต ซึ่งเป็นวงร๊อคในยุคนิวเวฟช่วงทศวรรษที่ 80 ของอังกฤษ ทำให้อัลบั้มชุดนี้มีความสมบูรณ์ขึ้นมา

ฮิวโกได้เขียนบอกในเว็บไซต์ของเขาว่า บทเพลงทั้งหมดในอัลบั้มชุดนี้ว่าด้วยสองสิ่งคือ ‘ความรักและความกลัว’

12 บทเพลง รวมโบนัสแทร๊ค ‘สายลม’ ในอัลบั้มชุดนี้ ยังไม่มีความโดดเด่นมากมายนัก หากวัดในแง่ของแฟชั่นการฟังเพลงตามตลาดเพลงกระแสหลักของโลกในยุคนี้ ซึ่งจะเน้นหนักผูกติดไปในเทรนด์ของอิเล็กทรอพ๊อพ-ฮิพฮอพ และฮิพฮอพ-แด๊นซ์ ที่กำลังมาแรง แต่งานเพลงของฮิวโกนั้น อิงเอียงไปทางรากเหง้าดนตรีของอเมริกัน มีทั้งกลิ่นอายโฟล์ค บลูส์ คันทรี ร๊อคแอนด์โรล อัลเทอร์เนทีฟร๊อค ที่มีฐานร่องเสียงของโครงสร้างจังหวะในแบบฮิพฮอพอยู่จางๆ และงานทั้งหมดล้วนได้มาตรฐานไม่มีบทเพลงไหนโดดเด่นขึ้นมาสุดกู่

เปิดหัวอัลบั้มด้วยงานเพลงที่ไตเติลแทร๊คที่นำมาเป็นชื่ออัลบั้มด้วย คือ ‘Old Tyme Religion’ ที่ยังคงคุณลักษณะของบทเพลงโฟล์คกลิ่นอายคันทรี-บลูส์ ที่สอดแทรกกลิ่นของกรูฟฮิพฮอพไว้ครบถ้วน และยังเดินตามรอยทางนี้อีก 2 เพลงที่เคยตัดเป็นซิงเกิลแนะนำตัวมาก่อนแล้วคือ ‘99 Problems’ กับ ‘Bread & Butter’ ก่อนที่จะตัดเข้าสู่โหมดร๊อคแอนด์โรลที่กระฉับกระเฉง มีเมโลดี้และการประสานเสียงที่สวยงามติดหู และมีพลังทางดนตรีขับเปล่งออกมาอย่าง ‘Rock n’ Roll Delight’ ก่อนเข้าสู่ในลักษณะของความเป็นบัลลาดร๊อคที่เล่าเรื่องมีความเปลี่ยวเหงาโหยหาโชยออกมาอย่างคุกรุ่นอย่าง ‘Hopelessly Stoned’ กับ ‘Hurt Makes It Beautiful’ และมาตัดกันด้วย ‘Born’ บทเพลงกลิ่นอัลเทอร์เนทีฟร๊อคที่ปลดปล่อยพลังออกมาอย่างเด่นชัด

‘Mekong River Delta’ บทเพลงที่ 8 ในอัลบั้มน่าจะเป็นตัวแทนที่สื่อสารถึงความเป็นฮิวโกในฐานะคนนอกที่นำดนตรีของตัวเองมาสู่อเมริกา ซึ่งจะมาขยายความกันต่อว่าเป็นอย่างไร

บทเพลงถัดมา ‘Sweetest Cure’ ถือว่าเป็นบทเพลงบัลลาดร๊อคอีกเพลงที่ไพเราะที่สุดในอัลบั้ม มีกลุ่มเครื่องสายและกีตาร์อะคูสติคล้อระไล่เรื่อยกับเสียงร้องที่ดูสดใสมีพลังในด้านบวกกระตุ้นความรู้สึกที่กระชุ่มกระชวยออกมาอย่างดงาม ล้วงลึกลงไปในความรู้สึกภายในตกกระทบถึงสู่คนฟัง

ส่วนอีก 2 บทเพลงที่เรียงร้อยตามมาคือ Defferent Lives’ กับ ‘Just A Shred’ ก็เป็นบทเพลงที่มีกลิ่นอัลเทอร์เนทีฟร๊อคอยู่พอสมควร ก่อนที่จะมาปิดท้ายด้วย ‘Wake Alone’ บัลลาดร๊อคอีกเพลงที่เน้นนำความเปล่าเปลี่ยวในห้วงความรู้สึกข้างในออกมาสู่คนฟัง

จุดที่น่าสนใจที่พบว่า ไม่รู้จะเป็นความจงใจหรือไม่ของคนทำเพลงสำหรับงานชุดนี้ที่จับความรู้สึกได้ว่า จากท่อนฮุคที่ค่อนข้างย้ำวนและเมโลดี้ที่ค่อนข้างจดจำง่าย (แต่ไม่ง่ายแบบเพลงพ๊อพกระแสตลาด) ทำให้บทเพลงเป็นที่จดจำได้ง่าย ฟังแค่รอบหรือสองรอบก็สามารถฮัมตามได้อย่างไม่ยากเย็น แสดงให้เห็นสัมผัสของความเป็นพ๊อพที่ละมุนหูอยู่ในตัวเพลงพอสมควร ซึ่งชี้ให้เห็นว่าฮิวโกทำเพลงโดยมีความเข้าใจในตลาดเพลงอยู่ไม่ใช่น้อยทีเดียว แต่คนฟังเพลงจะชื่นชอบหรือรสนิยมทางดนตรีของคนส่วนใหญ่จะชอบหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่นอกเหนือการควบคุม

[4] ‘Mekong River Delta’ ไพรัชร๊อคกรุ่นกลิ่นอายจากแดนร้อนชื้นแห่งเอเชีย

การประกาศตัวตนของคนทำงานดนตรีนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อกำหนดที่อยู่ที่ยืนของตัวเองว่า มีรากเหง้าที่มาจากไหน มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวตนอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่พอสมควรในการกำหนดอัตตาและอหังการของศิลปิน แต่ก็มีจุดที่สมดุลว่า ไม่เกินพอดีจนก้าวร้าวหรือชี้นำคนฟังเช่นกัน

หากมิสซิสซิปปี้ เดลต้า บลูส์ เป็นดนตรีรากเหง้าของอเมริกัน และปัจจุบันก็กลายเป็นดนตรีมรดกชาติของคนอเมริกัน และอยู่ในกระแสดนตรีโลก และเป็นต้นแบบในการพัฒนาดนตรีร๊อคที่ตามในยุคหลัง บทเพลง ‘Mekong River Delta’ ก็น่าจะเป็นการบอกถึงที่มาของฮิวโกและการผสมผสานระหว่างกลิ่นอายของความลึกลับในแบบร้อนชื้นที่น่าค้นหาแห่งแม่น้ำที่ไหลจากทิเบตผ่านประเทศต่างๆ ของเอเชียและลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิค

บทเพลงนี้เป็นการตีความอารมณ์ยืนอยู่ภายใต้พื้นฐานของดนตรีร๊อคสมัยใหม่ที่มีโครงสร้างของกรูฟแบบดนตรีพ๊อพผสมกับฮิพฮอพอันเป็นที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบัน โดยมีบรรยากาศของเพลง ที่พยายามสื่อออกมาถึงความลึกลับยู่อย่างแผ่วจาง สำหรับคอเพลงตะวันตกคงรับและจับความรู้สึกกันได้อย่างไม่ยากเย็น สำหรับคนไทยที่คุ้นชินกับแม่น้ำโขงและรับรู้ว่า แม่น้ำโขงที่ทอดตัวไหลผ่านเมืองไทยนั้น มีกลิ่นอายวัฒนธรรมอีสานแบบของตัวเองที่เชื่อมโยงกับลาวอย่างแนบสนิท เสียงผญา เสียงแคน หมอลำ คือเสน่ห์ของคนที่มาจากลุ่มแม่น้ำโขง เพราะฉะนั้นการใช้ชื่อเพลง ‘Mekong River Delta’ จึงไม่น่าจะสามารถตีความอารมณ์ความรู้สึกตามชื่อเพลงได้อย่างเข้าถึงแต่อย่างใดเลย เป็นเพียงเสมือนผู้ผ่านทางจากในเมืองใหญ่และจับความรู้สึกร่วมเข้ามาเพื่อถ่ายทอดอารมณ์เพลงเท่านั้น

หากจะยกตัวอย่างบทเพลงบลูส์แบบอีสานที่ทำได้อย่างลุ่มลึกลงตัวอย่างนวลเนียน และเป็นดนตรีที่สามารถยกเป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี ในการพบกันระหว่างดนตรีบลูส์อเมริกันแบบตะวันตกและความเป็นตะวันออกในแบบอีสานของไทย ก็คือบทเพลง ‘หนองหารบลูส์’ ของวงบางลำพู แบนด์ ที่เล่นดนตรีบลูส์ในสำเนียงเสียงอีสานที่สะท้านสะท้อนความรู้สึกแบบอีสานเหนือแห่งลุ่มแม่น้ำโขงและมีรสชาติของบลูส์แบบอเมริกันในแนวทางของไร คูเดอร์ ไว้ครบถ้วน สามารถบอกคนฟังตะวันตกได้อย่างภาคภูมิใจได้ว่า นี่คือบลูส์แห่งลุ่มแม่น้ำโขงที่อเมริกันไม่มี

‘Mekong River Delta’ จึงมีชื่อเป็นเพียงแค่จุดขายในแบบไพรัชร๊อคที่โยงนำให้คนฟังอเมริกันสนใจ แต่ยังจับจิตวิญญาณแห่งลุ่มแม่น้ำโขงผ่านดนตรีให้มีความร่วมสมัยยังไม่ได้ มีแต่ความรู้สึกผาดผิวที่ไม่สามารถลงลึกเข้ากระทบความรู้สึกด้านในได้
.........

อย่างไรก็ตาม อัลบั้ม ‘Old Tyme Religion’ ก็ถือว่า สอบผ่านอย่างสมบูรณ์แบบในก้าวแรกของความพยายามที่จะบุกเบิกสู่ความเป็นระดับโลกของ ฮิวโก นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแนะนำตัวต่อคนฟังอเมริกันและทั่วโลก จะประสบความสำเร็จได้ในระดับไหน การทัวร์คอนเสิร์ตแสดงสดอย่างเข้มข้นและยาวนานในปีนี้จะเป็นบทพิสูจน์กันต่อไปในตลาดเพลงอเมริกา

ส่วนจะบอกว่า ล้มเหลวหรือไม่ก็เป็นเรื่องอนาคตในเรื่องของยอดขาย แต่ก็ไม่ใช่จุดที่พิสูจน์ได้ตายตัว เพราะจากงานชุดนี้ที่แสดงออกผ่านบทเพลงทั้งหมด ฮิวโกมีศักยภาพที่จะนำไอเดียทางดนตรีและสารเนื้อร้องที่เขาเขียน ซึ่งมีลักษณะพิเศษในแนวทางของเขาที่เหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนระหว่างความเป็นสากลกับความเป็นเอเชียในแบบไพรัชร๊อค สามารถสร้าง

สิ่งแปลกใหม่ให้เกิดในวงการดนตรีโลกได้...และตั้งหน้าตั้งตารอคอยอัลบั้มชุดที่ 2 ของฮิวโก จุลจักร ศิลปินไทยในกระแสดนตรีอเมริกันกันต่อไป
>>>>>>>>>>
……….

รายชื่อเพลงในอัลบั้ม Old Tyme Religion ของ ฮิวโก จุลจักร จักรพงษ์

1.‘Old Tyme Religion’
2.‘99 Problems’
3.‘Bread & Butter’
4.‘Rock n’ Roll Delight’
5.‘Hopelessly Stoned’
6.‘Hurt Makes It Beautiful’
7.‘Born’
8.‘Mekong River Delta’
9.‘Sweetest Cure’
10.‘Defferent Lives’
11.‘Just A Shred’
12. ‘Wake Alone’
13.สายลม’
>>>>>>>>>>>
………
ฟังมาแล้ว

The Greatest Rock Album / รวมเพลง

ดนตรีร๊อคกับพลังทางดนตรีนั้น สามารถซึมซาบและเข้าไปเกาะกุมในจิตใจคนฟังเพลงทั่วโลก ในเมืองไทยก็เช่นกัน บทเพลงร๊อคในยุคต่างๆ ได้เข้าไปครองใจคนฟัง และมีมากมายหลายเพลงที่เป็นอมตะอยู่ในโสตอย่างมิเสื่อมคลาย

บทเพลงร๊อคที่บรรจุอยู่ในซีดีรวม 4 แผ่น มีด้วยกันทั้งหมด 68 เพลง ล้วนเป็นเพลงฮิตในชาร์ตเพลงทั่วโลกมาแล้ว ทั้งในระดับฮิตธรรมดาและเมกะฮิต โดยมีหลากหลายสไตล์ทั้งฮาร์ดร๊อค เฮฟวี่เมทัล บลูส์ร๊อค อัลเทอร์เนทีฟร๊อค โดยเฉพาะในแนวที่เป็นบัลลาดร๊อค ซอฟต์ร๊อค และอะคูสติคร๊อค รสหวานกร้าวบาดกรีดเข้าไปในอารมณ์ความรู้สึกอย่างทรงพลังหนักแน่นในพันธุกรรมของเพลงร๊อค

Sex And The City 2 / เพลงประกอบภาพยนตร์

บทเพลงที่ต้องบอกว่า ไม่ฮิตไม่ได้แล้ว นี่คือการแสดงให้พลานุภาพของโลกภาพยนตร์ที่มีฐานมาจากซีรีส์และส่งมาถึงวงการเพลงอย่างทั่วถึง 18 บทเพลง ที่รวมนักร้องสาวแห่งยุคสมัยมาขับร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ในคราวนี้ ถือว่า กลั่นกรองและวางธีมในแบบเพลงพ๊อพกลิ่นอายอารเบียนผสมอาร์แอนด์บีและฮิพฮอพไว้คละคลุ้ง ให้ความรู้สึกที่เก๋ไก๋อยู่ใช่น้อย ฟังสนุกเพลิดเพลินมาก

Bionic / Christina Aguilera

นักร้องสาวผมบลอนด์แนวเซ็กซี่สตาร์ ที่ถูกยกให้เป็นนักร้องเสียงทองสายพ๊อพ-อาร์แอนด์บี แต่ว่าไปแล้วคุณภาพเสียงของเธอดูจะโดดเด่นน้อยกว่าการขายรูปร่างหน้าตาในฐานะวัตถุที่ตอบสนองความรู้สึกทางเพศของคนฟังเพลง จนล้ำไปกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเต้นและแสดงผ่านมิวสิควิดีโอและเวทีต่างๆ จนมียอดขายรวมกว่า 30 ล้านแผ่นทั่วโลก

งานชุดที่ 4 นี้ ดูเธอจะวิ่งไล่ตามยุคสมัย ด้วยการตีโจทย์งานเพลงในแบบอิเล็กทรอแด๊นซ์ที่คงกลิ่นอายอาร์แอนด์บีไว้ แต่ดูเหมือนจะไล่ตามผู้มาใหม่และแรงจนฉุดไม่อยู่อย่าง Lady GaGa ไม่ทันเสียแล้ว

Need You Now / Lady Antebellum

บทเพลงคันทรีอันแสนไพเราะที่เหมาะกับคอเพลงพ๊อพด้วยเช่นกัน ทำให้กวาดรางวัลแกรมมี่เมื่อต้นปี ทั้งรางวัลหลักและสายดนตรีคันทรีไปมากที่สุดในปีนี้

ด้วยเสียงร้องของนักร้องสาวที่ร้องนำและมีการร้องคู่และประสานเสียงด้วยอีกโสตหนึ่งจากนักร้องชาย ผ่านดนตรีที่เน้นความสวยและเสนาะหูของคันทรี-พ๊อพ และคอนเทมโพรารี คันทรี ซึ่งเหมาะกับหูคนเมืองเป็นอย่างยิ่ง

11 บทเพลงในงานชุดที่ 2 ของพวกเขา แสดงให้เห็นว่า งานเพลงคันทรีสำหรับคนหนุ่มสาวนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ในเมืองไทยมองข้ามผ่านแนวดนตรีนี้ไป ลองหามาฟังแล้วจะรู้สึกว่า นี่คือเสน่ห์ของบทเพลงของคนอเมริกันผิวขาวร่วมสมัยที่ทำงานให้คนรุ่นใหม่ฟังเพลงคันทรี

.........
ชีพจรดนตรี

คอนเสิร์ต ‘โคลินา แซร์ราโน โปรเจ็คท์’

จุดประกาย คอนเสิร์ต ซีรีส์ # 44 เป็นวาระของการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ฟังอีกครั้ง ด้วยการแสดงดนตรีของศิลปินระดับโลกจากประเทศสเปน ในนาม ‘โคลินา แซร์ราโน โปรเจ็คท์’ (Colina Serrano Project) ซึ่งมาจากการรวมตัวเฉพาะกิจ โดย 2 นักดนตรี มือเบสระดับพระกาฬ ฮาเวียร์ โคลินา (Javier Colina) ส่วนอีกคนหนึ่ง เป็นมือฮาร์มอนิกา ที่ฉายแววศักยภาพอย่างน่าติดตาม อันโตนิโอ แซร์ราโน (Antonio Serrano) ผนวกกับนักดนตรีอีก 2 คน คือ มาร์ค มารัลตา (Marc Miralta) มือกลอง และ มาเรียโน ดิอาซ (Mariano Diaz) มือเปียโน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เสียงดนตรีในแนวทางประสมประสาน ระหว่างความเป็นแจ๊ส บลูส์ กับชีพจรดนตรีลาติน ให้ได้ลงตัวและเป็นเอกภาพ

ฮาเวียร์ โคลินา นั้นเป็นที่รู้จักในแวดวงลาตินแจ๊ส และฟลาเมงโก มาเนิ่นนาน เคยร่วมงานกับศิลปินแจ๊สคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น แฮงก์ โจนส์, จอร์จ เคเบิลส์ เรื่อยมาจนถึงนักกีตาร์ชื่อดังอย่าง โตมาติโต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำหน้าที่เป็นมือเบสให้แก่ปรมาจารย์เพลงแอโฟร-คิวบัน อย่าง บีโบ บัลเดส (Bebo Valdes) ในการแสดงสดที่ เดอะ วิลเลจ แวนการ์ด ในมหานครนิวยอร์ก ซิตี

ในขณะที่ อันโตนิโอ แซร์ราโน จัดเป็นสุดยอดของนักเป่าฮาร์มอนิการ่วมสมัย นับจากยุคของ ทู้ทส์ ธีลแมนส์ เป็นต้นมา แซร์ราโน เรียนรู้เครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆ มาตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านการบ่มเพาะฝึกซ้อมกับพ่อ ซึ่งเป็นทั้งนักฮาร์มอนิกาและครูสอนฮาร์มอนิกา ก่อนจะก้าวออกมาแสวงหาหนทางของตนเอง เขาทดลองใช้ฮาร์มอนิกาบรรเลงเพลงทุกสไตล์ ตั้งแต่คลาสสิก โฟล์ค จนถึงเพลงที่เน้นหนักด้านอิมโพรไวเซชั่นอย่าง แจ๊ส แต่บางครั้งยังพบว่ามีข้อจำกัดมากมาย จนครั้งหนึ่ง แซร์ราโน ได้ฟังนักฮาร์มอนิกา แลร์รี แอดเลอร์ (Larry Adler) เป่าเพลง ‘Romanian Rhapsody’ ของ อีเนสกู (Enescu) นักประพันธ์ดนตรีชาวโรมาเนียน จากนั้นชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อพบว่ายังมีไอเดียและหนทางใหม่ๆ สำหรับการบรรเลงฮาร์มอนิกา โดยที่ยังรักษาแบบแผนของบทประพันธ์ไปพร้อมๆ กันได้

ในเวลาเดียวกัน แซร์ราโน เรียนรู้ทำความเข้าใจองค์ประกอบด้านอื่นๆ ของดนตรี ทฤษฎีดนตรี , เสียงประสาน แม้กระทั่งเครื่องดนตรีอื่นๆ อย่าง ไวโอลิน เขายังได้รับอิทธิพลจากนักฮาร์มอนิกาคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ทู้ทส์ ธีลแมนส์ , สตีวี วันเดอร์ จนถึงศิลปินบลูส์ผิวสีอย่าง ซันนี บอย วิลเลียมสัน และยังเปิดโลกให้แก่ดนตรีที่หลากหลาย ตั้งแต่ บาค, ชาร์ลี พาร์คเกอร์, ไมล์ส เดวิส , จอห์น โคลเทรน, อัสตอร์ เพียซซอลลา และ ปาโก เดอ ลูเชีย

สำหรับการแสดงของ Colina Serrano Project ที่กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ นับเป็นการโคจรกลับมาพบกันอีกครั้งของ 2 ศิลปินระดับยอดฝีมือกับวงดนตรีของพวกเขา หลังจากที่เคยประสบความสำเร็จจากเทศกาลแจ๊ซในยุโรปมาแล้ว พร้อมๆ กับอัลบั้มชื่อเดียวกัน โดยการแสดงสดของพวกเขายังถือเป็นส่วนหนึ่งของการทัวร์ในเอเชีย โดยเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ ต่อเนื่องด้วยฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

คอนเสิร์ต ‘โคลินา แซร์ราโน โปรเจ็คท์’ จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2554 เวลา 19.30 น. (ประตูเปิด 19.00 น.) ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก กทม.

บัตรราคา 500, 800 และ 1000 บาท มีจำหน่ายที่ไทยทิคเก็ทเมเจอร์ โทร.02-2623456
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
กำลังโหลดความคิดเห็น