xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัววิธีตรวจ “ไวรัสบี” แบบใหม่ - เผยข้อมูลอุบัติการณ์โรคยังชุก แนะใส่ใจสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.นพ.ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ ประธานสมาคมศึกษาโรคตับแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2011 (APASL)
ตับอักเสบยังคุกคามคนไทยต่อเนื่อง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุทั้ง ชนิดบี และชนิดซี ในเมืองไทยยังมีความชุกในการติดเชื้อสูง และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยติดอันดับ1ใน9 เผยมนุษย์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมียีนที่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี แต่ยังคงเป็นภัยเงียบเพราะไม่แสดงอาการ กว่าจะมาพบหมอส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรง ชี้เกิน 90% ของคนติดยาเกิน 1 ปีที่ใช้เข็มร่วมกันติดชนิดซี และสถิติทั่วโลก 12 คน จะพบ 1 คนติดเชื้อ ระบุผู้ป่วยเรื้อรังชนิดซีอายุสั้นเฉลี่ย 17 ปี พร้อมเปิดวิธีการตรวจไวรัส B แบบใหม่ ตรวจวัดปริมาณเปลือกไวรัส เพื่อการรักษาเฉพาะราย ส่งผลดีคนไข้ใช้ยาน้อยลง

วันนี้ (17 ก.พ.) ที่ห้องบอลรูม 5 โซนซี ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 08.30 น. รศ.นพ.ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ ประธานสมาคมศึกษาโรคตับแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2011 (APASL) ประธานสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยและผู้อำนวยการสถาบันโรคทางเดินอาหารและตับ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวในงานเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ของการตรวจรักษาโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี เพื่อการรักษาเฉพาะบุคคลว่า ลักษณะของไวรัสตับอักเสบคือไวรัสชนิดหนึ่งที่เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว จะไปอยู่ที่ตับ ทำให้ตับเกิดอาการอักเสบ ทำลายเซลของตับ


  • 1 ใน 3 ของประชากรโลกเคยติดเชื้อไวรัสบี



  • รศ.นพ.ธีระกล่าวว่า โดยภาพรวมของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีของประชากรโลกนั้นถือว่าค่อนข้างสูง คือพบว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมดเคยติดเชื้อไวรัสบีช่วงในช่วงหนึ่งของชีวิต และในจำนวนนั้น มีถึง 350 ล้านคนที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง คือติดเชื้อนานเกิน 6 เดือนโดยที่ภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถขจัดออกไปได้ และมีอัตราการตายทั่วโลกรวมกัน 1 ล้านคนต่อปี และในประเทศไทย มีคนไทยติดเชื้อไวรัสบีมากถึงร้อยละ 5 ของประชากรหรือราว 3.5 ล้านรายทั่วประเทศ และสถิติในปี ค.ศ.2009 พบว่าคนไทยตายเพราะมะเร็งตับ 25,000 คน ในจำนวนนี้มาจากการพัฒนาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สู่การเป็นมะเร็งตับจนเสียชีวิตถึงร้อยละ 70 และจากไวรัสตับอักเสบซีร้อยละ 16 ที่เหลือมาจากสาเหตุอื่นๆ

    “ตับอักเสบเป็นภัยเงียบที่มักไม่ค่อยแสดงอาการในระยะเริ่มต้น ผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อ จนกระทั่งมีอาการ เช่น มีน้ำในช่องท้อง ท้องมาน สมองซึม หรือคลำเจอก้อนที่ตับ ก็มักจะมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว ราวๆ 20% ของการเป็นตับอักเสบเรื้อรัวสามารถพัฒนาไปเป็นการเกิดพังผืดที่ตับก็คือตับแข็ง และราว 20-25% จากการเป็นตับแข็ง พัฒนาเป็นมะเร็งตับได้ สำหรับสาเหตุการติดเชื้อคือเลือด ก่อนหน้านี้การติดเชื้อจากการให้เลือดถือว่าเป็นสาเหตุใหญ่ แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 ไทยมีการคัดกรองเลือด ดังนั้น จากสาเหตุนี้จึงน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญอีกอย่างคือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ติดยาเสพติดและการเจาะ สัก ฝังเข็ม รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นผู้ที่ต้องการแต่งงาน จำเป็นต้องตรวจเลือดก่อน หากพบก็จะต้องให้คู่สมรสฉีดวัคซีนป้องกัน ดังนั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศโดยไม่ใช่ถุงยางอนามัย ก็ถือเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งหากแม่ตั้งครรภ์ป่วยเป็นไวรัสบี และมีปริมาณไวรัสสูง ก็มีโอกาสเกิน 90% ที่ลูกในครรภ์จะได้รับเชื้อนี้แต่แรกเกิดด้วย”

    ส่วนเปอร์เซ็นต์การรักษาหายของไวรัสบีนั้น รศ.นพ.ธีระระบุว่า ในไวรัสบีแพทย์จะเรียกว่า “สภาพใกล้เคียงกับอาการหาย” คือ ยา และภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกดเชื้อไวรัสไม่ให้แบ่งตัวและกระจายออกไปได้ แต่หากตรวจชิ้นเนื้อตับจะปรากฎว่าพบไวรัสเป็นจำนวนต่ำๆ ซึ่งไม่มีผลอะไร นอกจากผู้ป่วยคนนั้นจำเป็นต้องกินยากดภูมิในกรณีต้องเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายถูกกดลง และไวรัสบีอาจจะสำแดงขึ้นมาอีกได้

  • ตรวจ “เปลือกไวรัส” นวัตกรรมการรักษาใหม่ไวรัสบี
     

    ด้าน ศ.นพ.เฮนรี่ ชาน (Prof.Henry Chan) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคไวรัสตับอักเสบ Cheng Man Suen และผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพตับแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี ตรวจพบได้ด้วยการตรวจเลือด การตรวจ HBsAg quan เป็นการตรวจเพื่อวัดระดับโปรตีนที่ไวรัสตับอักเสบสร้างขึ้นในตับ และการตรวจ HBV DNA เพื่อตรวจหาจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกายผู้ป่วยหรือ Viral Load ซึ่งในกรณีผู้ป่วยโรคตับอักเสบชนิดบีเรื้อรัง การรักษาคนไข้ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการป่วยของคนไข้แต่ละรายด้วย และจำเป็นต้องวิเคราะห์จำนวนของไวรัสและสภาพของตับ

    "การรักษาไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมี 2 วิธีหลัก คือการฉีดยาและการกินยา การฉีดยาจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส เป็นการรักษาที่สามารถระบุเวลาการักษาได้แน่นอน และมีข้อดีตรงที่แม้จะหยุดยาฉีดแล้ว แต่การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันยังคงทำงานต่อไป แต่มีผลข้างเคียงพอสมควร แต่ที่ผ่านมา คนไข้ส่วนใหญ่ทนผลข้างเคียงได้ ซึ่งวิธีนี้จะไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งแล้ว ส่วนวิธีการรักษาด้วยยากินนั้น ไม่มีผลข้างเคียง ผู้ป่วยตับแข็งสามารถรักษาได้ด้วยวิธีนี้ หลักการคือป้องกันการเพิ่มจำนวนของไวรัส แต่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้"

    ศ.นพ.เฮนรี่กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดได้ มีการคิดค้นวิธีการวินิจฉัยแบบ ตรวจนับปริมาณเปลือกไวรัส ที่จะทำให้แพทย์ สามารถนำมาประกอบการเลือกรักษาผู้ป่วยได้ โดยการนำมาใช้ประกอบกับการวินิจฉัยที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เรียกว่า "การตรวจทางอิมมูโนวิทยา" โดยตรวจหาปริมาณ HBsAg เพื่อใช้ประเมินความสามารถของร่างกายผู้ป่วยในการกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายด้วยภูมิคุ้มกันตนเองในผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง และยังบ่งชี้ว่าผู้ป่วยกำลังตอบสนองต่อการรักษาอย่างไร โดยใช้กระบวนการเจือจางตัวอย่างโดยวิธีอัตโนมัติ ลดความผิดพลาด และได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก

    “คาดว่าเร็วๆ นี้จะสามารถใช้วิธีการตรวจรักษาชนิดใหม่นี้ในเมืองไทยได้ ซึ่งข้อดีของมันก็คือ เราสามารถประเมินจำนวนของเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น เมื่อเราใช้วิธีตรวจเปลือกไวรัสแล้วพบว่ามันน้อยลง ก็แปลว่าไวรัสน้อยลง ตอบสนองต่อการรักษาแล้ว ก็จะสามารถลดยาที่ใช้ในการรักษาให้น้อยลง คนไข้จะไม่ต้องใช้ยาเยอะเท่าเดิม ลดปัญหาผลข้างเคียงและการสะสมของการ ลดการใช้ยาเกินจำเป็น รวมไปถึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาลงด้วย” ศ.นพ.เฮนรี่สรุป

  •  ศ.นพ.เฮนรี่ ชาน (Prof.Henry Chan)  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคไวรัสตับอักเสบ Cheng Man Suen
  • ไวรัสซีรักษาได้ดีในภูมิภาคเอเชีย

     

    อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.ธีระได้เดินทางจากห้องบอลรูม 5 มายังห้องโลตัส ภายในอาคารเดียวกัน เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. เพื่อเข้าร่วมประชุมวิชาการโรคตับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 21 โดยที่ประชุมมีการเปิดวงเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์ของไวรัสตับอักเสบชนิดซีด้วย

    รศ.นพ.ธีระกล่าวถึงสถานการณ์ของไวรัสซีว่า ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีการติดเชื้อของโรคนี้สูงในระหว่าง 1-10% แล้วแต่ประเทศ ในขณะที่ทั้งโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 170 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อเรื้อรังราว 99 ล้านคน ไวรัสซีติดกันผ่านเลือด และมีข้อมูลพบว่า ผู้ติดยาเกิน 1 ปีที่มีพฤติกรรมการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกว่า 90% ติดเชื้อไวรัสชนิดซี รวมถึงผู้ที่ได้รับการบริจาคโลหิตก่อนปีค.ศ.1992 ก็มีความเสี่ยงเพราะในขณะนั้นยังไม่มีการคัดกรองโลหิตติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ

    “แต่ถือว่าเป็นโชคดีของคนไทยและคนในภูมิภาคเอเชียทั้งหมดที่ลักษณะของยีนของประชากรแถบนี้เป็นแบบ CC คือตอบสนองต่อยาและการรักษาได้ดีที่สุด ทำให้การสถิติการรักษาหายขาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกค่อนข้างสูงกว่าแถบฝั่งตะวันตก นอกจากนี้เชื่อว่าเป็นเพราะคนเอเชียตัวเล็กกว่า ไขมันน้อยกว่า ความเข้มข้นของยาเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะได้รับมากกว่า โรคไวรัสซีนี่สามารถหายขาดได้ แม้ขณะนี้ยาฉีดจะมีราคาสูง และทั้งคอร์สที่ต้องฉีดคือ 48 สัปดาห์ๆ ละ 1 เข็มจะมีราคาราวๆ 4-5 แสนบาท แต่เปอร์เซ็นหายขาดมีถึง 75-80% ขึ้นไป แต่หากเทียบกับที่ไม่รักษา แล้วปล่อยจนเป็นตับแข็ง มะเร็งตับ ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็สูงเช่นกัน แต่คุณภาพชีวิตของคนที่ฉีดยารักษาจะดีกว่ากันมาก”

  • ยากินรักษาตับอักเสบซีตัวใหม่ใกล้เสร็จ

     

    รศ.นพ.ธีระยังได้แย้มข่าวดีอีกว่า ขณะนี้ยากินเพื่อรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาจบเกือบจะเสร็จแล้ว เชื่อในจะสามารถใช้ยาตัวใหม่ได้ในอเมริการาวสิ้นปี ค.ศ. 2011 หรือต้นปี 2012 และน่าจะเข้าเมืองไทยในช่วงปลายปี 2013 หรือต้นปี 2014 นี้ ซึ่งจะเป็นยาแอนตี้ไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นผลดีต่อคนไข้มากกว่าเดิม

    นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระยังกล่าวต่อไปว่า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาบอร์ดบัญชียาหลักแห่งชาติ เห็นว่ามีนิมิตหมายอันดีต่อผู้ป่วยโรคตับอักเสบ ที่รัฐบาลค่อนข้างให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงยาและการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก แต่จะมีข่าวดีหรือความคืบหน้าในประเด็นยาและการรักษาไวรัสตับอักเสบหรือไม่นั้น ต้องรอการประกาศจากรัฐบาลจะดีกว่า เพราะชัดเจนที่สุด

  • 1 ใน 12 คนมีไวรัสซี แนะใส่ใจสุขภาพ


    ด้านมิสเตอร์ชาร์ลส์ กอร์ ( Mr.Chales Gore) ประธานสมาพันธ์โรคตับอักเสบสากล กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของโลกต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีระบุว่า คนทั่วโลกรู้จักโรคตับอักเสบชนิดบี ทำให้การเฝ้าระวัง การตรวจหาถูกใส่ใจมากกว่าโรคตับอักเสบซี ที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ขนาดองค์การอนามัยโลกที่มีคนทำงานกว่า 8 พันคน ยังไม่มีคนที่ทำงานด้านตับอักเสบซีโดยตรง แต่ปัจจุบันหลังการรณรงค์และการทำงานของสมาพันธ์โรคตับอักเสบสากลเป็นเวลาหลายปี ทำให้องค์การอนามัยโลกเห็นความสำคัญ และประกาศให้วันที่ 19 พ.ค. “วันตับอักเสบโลก” เป็นวันสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพอันดับที่ 6 ตามปฏิทินองค์การอนามัยโลก รองจากวันของโรคสำคัญอื่นๆ เช่น วันเอดส์ วันมาลาเรีย วันบริจาคโลหิต

    “จากสถิติเราพบว่าในจำนวนคน 12 คน จะมี 1 คนที่ติดเชื้อตับอักเสบชนิดซี หลายคนไม่รู้ตัวว่าได้รับเชื้อ จึงอยากให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพ ตรวจเลือดและตรวจสุขภาพตามกำหนด คนที่มีความเสี่ยงควรทำอัลตร้าซาวด์ทุก 6 เดือนเพื่อตรวจตับ โรคไวรัสซีรักษาให้หายขาดได้ การใส่ใจสุขภาพและตรวจพบเจอแต่เนิ่นๆ จะทำให้มารักษาได้ทันท่วงที” มิสเตอร์กอร์สรุป
    กำลังโหลดความคิดเห็น