xs
xsm
sm
md
lg

‘Need You Now’ คันทรีพ๊อพทรงเสน่ห์ เสียงร่วมสมัยจากแนชวิลล์ของ Lady Antebellum / พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

paulheng2006@hotmail.com

โลกนี้ไม่มีพื้นที่ว่างให้กับคนที่ไม่รู้จักสมดุล และการเอาตัวรอดในตลาดของลัทธิบริโภคนิยมเพื่อความบันเทิงเริงรมย์ ในระนาบของดนตรีและบทเพลงยุคปัจจุบันมีอยู่หลายระดับ เพียงแต่จะเลือกยืนบนจุดไหนของสุนทรียศาสตร์ในมาตรฐานของงานพาณิชย์ศิลป์ที่วางจำหน่ายไปทั่วโลก และสามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาล หากถูกหูถูกใจคนฟังในฐานะผู้บริโภค

วงดนตรีคันทรีทริโอ หญิง 1 ชาย 2 ในนาม เลดี้ แอนเทเบลลัม (Lady Antebellum) ซึ่งมีอัลบั้มชุดที่ 2 ‘Need You Now’ ออกมาเมื่อต้นปี พอที่จะหยิบมาสะท้อนภาพวงการเพลงคันทรี ในสหรัฐอเมริกาได้เป็นอย่างดี ซึ่งอัลบั้มนี้ออกกับค่าย Capitol Nashville และคงไม่ช้าเกินไปที่จะหยิบมาพูดถึง เพราะกระแสบทเพลงคันทรีพ๊อพที่สร้างสรรค์ขึ้นของพวกเขาก็กวาดรางวัลแกรมมี่เมื่อช่วงต้นไปไปหลายรางวัล เคินตามรอยนักร้องวัยรุ่นอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟท์ (Taylor Swift) กำลังล่องลอยติดลมบนอยู่ในอเมริกา กวาดทั้งรางวัลใหญ่บนเวทีแกรมมี่และมียอดขายบวกเพลงฮิตที่ถล่มทลายเมื่อปีก่อนหน้าโน้น

การขยับตัวของวงการเพลงคันทรีในอเมริกา ที่กำลังพยายามรุกคืบกลับคืนสู่กระแสหลักเพื่อช่วงชิงพื้นที่กลับมาจากดนตรีแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งใช้วัฒนธรรมฮิพฮอพ ดนตรีแร๊พ ทะลุทะลวงหูคนอเมริกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักหรือวัฒนธรรมพ๊อพ ซึ่งมาจากคำว่า พ๊อพพูลาร์ หรือวัดความสำเร็จของความนิยมจากผู้บริโภคเป็นหลักใหญ่มาเป็นเกณฑ์ กลับคืนมาให้ได้สักบางส่วน หลังจากที่ผ่านไปเกือบ 20 ปีเต็ม ที่ดนตรีและบทเพลงสายแอฟริกัน-อเมริกัน มีการพัฒนารูปลักษณ์และการผสมผสานทางดนตรีต่อยอดสีสันใหม่ๆ ให้ตลาดเพลงชอบมาอย่างต่อเนื่องและระบาดไปทั่วโลก

[1]

เมื่อมาดูหลักไมล์ของดนตรีคันทรีในยุค 2000s หลังจากความรุ่งโรจน์ของดนตรีนิว คันทรีที่พุ่งสว่างอยู่ช่วงหนึ่งก่อนถูกกระแสฮิพฮอพตีกลับอย่างสิ้นเชิง ผ่านไป 1 ทศวรรษหรือ 10 ปี จะพบเห็นพ๊อพสตาร์และซูเปอร์สตาร์เกิดขึ้นมาอย่างไม่ขาดสาย เพราะอย่าลืมว่า ดนตรีคันทรีก็คือความภูมิใจของคนผิวขาวในอเมริกาเอง คนอเมริกันผิวขาวจึงไม่ยอมให้ดนตรีแขนงนี้ตกต่ำหายไปจากกระแสความนิยมในตลาดเพลงกระแสหลักอย่างยอมไม่ได้

ปรากฎการณ์ของเทย์เลอร์ สวิฟท์ที่โดดเด่นมาตั้งแต่ปี 2008 (พ.ศ.2551) และขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา การใช้เวลา 3 ปีในการผลักดันและสร้างเทย์เลอร์ สวิฟท์ ให้เป็นทีนพ๊อพซูเปอร์สตาร์แห่งวงการเพลงคันทรี ที่มีเพลงฮิตมากมายโด่งดังมหาศาลและกวาดรางวัลสำคัญในสาขาดนตรีคันทรีและรางวัลหลักของรางวัลแกรมมี่เมื่อต้นปี 2010 (พ.ศ.2553) ที่ผ่านมา ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี

ก่อนหน้านี้ก็มีบรรดาพ๊อพสตาร์และร็อคสตาร์ต่างเยื้องกรายเข้ามาร่วมแจมบนเส้นทางดนตรีคันทรีกันบ้างพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นริชาร์ด มาร์กซ์ (Richard Marx) ที่มาร่วมงานกับนักร้องสาวขาใหญ่ระดับตำนานตัวแม่ของวงการเพลงคันทรี ที่ชอบนักชอบหนากับการทำงานในแบบครอสโอเวอร์ผสมผสานกับดนตรีอื่นๆ อย่าง อลิสัน เคร้าส (Alison Krauss) รวมถึงวงพ๊อพเมทัลระดับซือแป๋ อย่าง บอน โจวี่ (Bon Jovi) ก็นำดนตรีของพวกเขาเข้าสู่โหมดของดนตรีคันทรีอย่างน่าดูชมมาแล้วระยะหนึ่ง ก่อนกลับออกมาสู่เส้นทางเดิมของตัวเอง และก็มีอีกหลายต่อหลายราย...

แต่การเกิดใหม่และมาถึงของ แคร์รี่ อันเดอร์วู้ด (Carrie Underwood) ทำให้วงการเพลงโมเดิร์น คันทรี คึกคักขึ้นมาอีกครั้งอย่างออกหน้าออกตาในปี 2005 (พ.ศ.2548) เส้นทางที่ดูเหมือนกับโรยด้วยกลีบกุหลาบของเธอ จากการที่ยืนบนจุดสูงสุดของเวทีอเมริกัน ไอดอล ในฤดูกาลที่ 4 ด้วยบุคลิกของสาวคันทรีที่เสียงดีกร้าวแกร่งเจือความอ่อนหวานแบบอเมริกันขนานแท้ไว้ครบเครื่อง การขึ้นสู่บันไดของมืออาชีพเธอสามารถสร้างอัลบั้มที่ขายดีมหาศาลและคว้ารางวัลแกรมมี่มานอนกอดอย่างน่าอิจฉา รวมถึงรางวัลจากเวทีดนตรีคันทรีและอื่นๆ อีกกระบุงโกย แต่การเข้ามาของเทย์เลอร์ สวิฟท์ ทำให้เธอดูหมองและตกเป็นรองอย่างเด่นชัด ความแรงของผู้มาใหม่ทำลายสถิติทุกอย่าง

ว่าไปแล้ว 2-3 ปีให้หลัง รวมทั้งปีนี้เป็นปีที่รุ่งเรืองของวงการดนตรีคันทรีที่สามารถนำเอานักร้องสาววัยรุ่นขึ้นเป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการเพลงอเมริกันได้อย่างต่อเนื่อง

[2]

สำหรับวงเลดี้ แอนเทเบลลัม ก็อยู่ในขอบข่ายของวงดนตรีดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการเพลงคันทรีในตลาดเพลงกระแสหลักของอเมริกันอีกรายหนึ่ง พวกเขาเคยคว้ารางวัลแกรมมี่มาแล้วจากงานเพลงในอัลบั้มชุดแรก

วงเลดี้ แอนเทเบลลัม เป็นวงดนตรีในแนวคันทรีที่ก่อตั้งกันในปี 2009 (พ.ศ.2549) ที่เมืองแนชวิลลฺ รัฐเทนเนสซี่ ซึ่งถือกันว่าเป็นเมืองหลวงแห่งดนตรีคันทรี โดยมีสมาชิกทั้งหมด 3 ชีวิต คือ ชาร์ลส์ เคลลีย์ (Charles Kelley) ร้องนำ/ร้องประสาน, เดฟ เฮย์วู้ด (Dave Haywood) กีตาร์ / เปียโน / แมนโดริน และร้องประสาน และ ฮิลลารี สก๊อตต์ (Hillary Scott) ร้องนำและร้องประสาน

ทั้งหมดร่วมกันสร้างสรรค์ดนตรีในแนวคอนเทมโพรารี คันทรี และคันทรีพ๊อพที่โดนใจตลาดอย่างจัง เป็นวงดนตรีคันทรีที่มีบทเพลงร่ำรวยสวยงามด้วยเสียงประสานและทักษะความชำนาญทางในเชิงชั้นดนตรีที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งแน่นอนดนตรีของพวกเขานั้นเป็นงานที่ทำเพื่อป้อนหูคนฟังในตลาดเพลงคันทรียุคใหม่ ที่มีสัดส่วนของความเป็นพ๊อพและร็อคอยู่จัดจ้าน ฟังง่ายสบายหู เนื้อร้องกินใจและจดจำติดหูติดปากไม่ยากเย็น มีเส้นทางเดินที่เปิดกว้างในการเดินตามรอยของผู้มาก่อนได้อย่างลงตัวและเข้าใจตลาด รู้รสนิยมของคนฟังว่าต้องการเพลงแบบไหน จึงทำเพลงอย่างนั้นออกมาเพื่อให้ขึ้นชาร์ตเป็นเพลงฮิตและมียอดขายที่ถล่มทลาย

ความสำเร็จอย่างล้นหลามจากอัลบั้มชุดแรกที่ใช้ชื่ออัลบั้มชื่อเดียวกับวง คือ ‘Lady Antebellum’ วัดได้จากความสามารถในสัมผัสพิเศษที่เชื่อมโยงเอาทักษะทางเสียงดนตรีในแบบคอนเทมโพรารี่ คันทรี และจุดเด่นของดนตรีโฟล์คร็อคเข้ามาบรรสานรวมกันตามสูตรสำเร็จที่คนฟังคุ้นเคย ซึ่งเป็นการทำเพลงอย่างที่ตลาดเพลงคันทรียุคใหม่ชอบ ที่ไม่หนีไปจากซาวด์และรูปลักษณ์ทางเสียงของดนตรีแนวเดียวกันที่อยู่ในกระแสนิยมไปสักเท่าใดนัก แต่นำมาปรับให้มีคึกคักมีชีวิตชีวามากกว่ารูปแบบดนตรีคันทรีที่เคยเป็นมา โดยขับเน้นความเป็นพ๊อพและร็อคให้โดดเด่นและมีความเป็นคันทรีปูอย่างหนาแน่นเป็นฉากหลังในดนตรีและเสียงร้อง

[3]

การจะฟังเพลงของวงเลดี้ แอนเทเบลลัม ให้สนุกต้องย้อนกลับดูรากเหง้าและพัฒนาการของดนตรีคันทรีที่เดินเข้าสู่สมัยใหม่ว่าเป็นอย่างไร

เพราะหากกลับไปสู่รากเหง้าของดนตรีคันทรี ก็จะพบว่าเป็นดนตรีที่สืบทอดและเล่นกันมาในรูปแบบประเพณีนิยม ซึ่งถ่ายทอดกันมาจากรุ่นต่อรุ่น เปี่ยมด้วยความเรียบง่ายแต่มีความยืดหยุ่นจากรูปแบบเดิมๆ สามารถเปลี่ยนแปลงเสริมปรุงแต่งต่อรังสรรค์ออกไปอย่างไม่สิ้นสุด แก่นของดนตรีคันทรีคือ เมโลดี้ที่สวยเสนาะหูและดนตรีที่ง่ายๆ บทเพลงทั้งหมดจะสร้างขึ้นจากสามคอร์ดและเมโลดี้พื้นๆ ไร้การปรุงแต่ง แต่จากรูปแบบของดนตรีที่มีพื้นฐานแบบธรรมดาง่ายๆ ของคันทรี สามารถแตกแขนงออกไปในสไตล์ที่แตกต่างอีกมากมาย

ด้วยพลังการสร้างสรรค์ทางดนตรีที่กร้าวแกร่งทำให้เกิดสไตล์หรือแนวเพลง อย่าง ฮองกี้ท๊อง ไปจนถึงการด้นสดหรืออิมโพรไวซ์แบบแจ๊ซและแนวเวสเทิร์น สวิง

ดนตรีคันทรีได้เจริญงอกงามพัฒนาขึ้นมาจากดนตรีโฟล์คพื้นบ้านทางตอนใต้ของอเมริกา ซึ่งเรียกกันตามลักษณะภูมิศาสตร์ของเทือกเขาแอพพาลาเชียน ซึ่งพัฒนาคู่ขนานมากับดนตรีและเพลงบลูส์ของคนแอฟริกัน-อเมริกัน โดยดนตรีคันทรีเก่าแก่จะมีความเรียบง่ายและมีกลิ่นอายความเป็นพื้นบ้านพื้นถิ่นอยู่สูงมาก ด้วยเครื่องดนตรีที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว คือ กีตาร์และฟิดเดิล สามารถวิวัฒนาการจากดนตรีในสมัยเก่าพัฒนามาสู่จังหวะจะโคนของกีตาร์และฟิดเดิลที่ยังคงคุณลักษณะของดนตรีคันทรีในแบบประเพณีนิยมหรือขนบดั้งเดิม จนนำเข้าสู่ยุคดนตรีคันทรีอันทันสมัยในยุคปัจจุบันที่ผสมผสานความเป็นพ๊อพแบบนุ่มนวลอ่อนหวาน เพื่อตอบสนองโสตของคนเมือง โดยพัฒนาซาวด์ดนตรีคันทรีจากที่ถูกครหาว่า เชย ล้าสมัย มาสู่ความเป็นคันทรีโพลิแท้น เพื่อตอบสนองคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตในแบบฉบับคนรุ่นใหม่

ดนตรีทุกแนวย่อมมีการวิวัฒน์ด้วยตัวมันเอง ขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองอารมณ์และความต้องการเสพความบันเทิงเริงรมย์ของคนในสังคม

ผลพวงของการรื้อสร้าง ขยับขยายขอบข่ายเพิ่มขอบเขตของดนตรีคันทรีเพื่อให้ก้าวสู่ยุคใหม่ ตอบสนองหูคนฟังในหลายหลากกลุ่มอย่างครบถ้วน ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในเขตชานเมืองและชนบท นิว คันทรี (New Country) หรือดนตรีคันทรีใหม่จึงเกิดขึ้น นี่คือพลังเหวี่ยงแห่งยุคสมัยอย่างแท้จริง คนในวงการเพลงคันทรีต้องก้าวให้ทันและเดินให้ถึง

หากย้อนกลับไปดูปฐมบทของการก่อร่างสร้างดนตรีคันทรีให้ทันสมัยเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ แหวกขนบอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน สามารถนำดนตรีคันทรีเข้าสู่โลกของดนตรีพ๊อพได้อย่างสง่างาม ต้องนับกลับไปสู่ยุคทศวรรษที่ 90 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การที่การ์ธ บรู๊คส์ (Garth Brooks) นักร้อง/นักแต่งเพลงสายคันทรีสามารถรังสรรค์แนวเพลงคันทรีของตัวเองครอสโอเวอร์ข้ามสาย สู่ความเป็นดนตรีพ๊อพได้ในยุคต้นของทศวรรษที่ 90 ถือเป็นหมุดหมายใหม่ของดนตรีที่เรียกว่า นิว คันทรี อย่างแท้จริง

การผสมผสานสัมผัสพิเศษของอารมณ์ความรู้สึกของดนตรีคันทรีประเพณีนิยมแบบใหม่และความลื่นไหลไวต้องความรู้สึกที่ติดหูของดนตรีพ๊อพ ที่ก้าวข้ามพัฒนาสู่ความเป็นคาวบอยแห่งเมืองใหญ่ที่ทันสมัย หากใครที่เคยสัมผัสรสของความเหงาเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างอย่างรู้สึกแปลกแยกแปลกหน้าของคนจากถิ่นชนบทที่เข้ามาสู่บรรยากาศของเมืองใหญ่ในหนังเรื่อง ‘Midnight Cowboy’ นั่นคือผลผลิตของความรู้สึกที่มีช่องว่างระหว่างคนที่มีรสนิยมในทางคันทรีและชีวิตคนเมือง ซึ่งเป็นขวบปี 1969 (พ.ศ.2502) ซึ่งดนตรีคันทรีและพ๊อพยังไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกัน

อีก 20 กว่าปีต่อมาช่องว่างส่วนนี้จึงถูกหดแคบเข้ามาด้วย ไลฟ์สไตล์และดนตรีที่เรียกว่า นิว คันทรี แม้ยังไม่เชื่อมกันสนิทก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นถึงโลกดนตรีที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป

แรงดึงดูดและเสน่ห์ของดนตรีคันทรีใหม่ค่อยๆ เคลื่อนคืบไปทีละน้อยๆ สู่หูของแฟนเพลงคันทรีพันธุ์แท้ที่มีหัวอนุรักษ์นิยมแบบสุดกู่ ที่ยังยึดติดอยู่กับบทเพลงและดนตรีคันทรีในขนบแบบเดิม จากดนตรีฮองกี้ท๊องและคันทรีแบบประเพณีนิยมได้ขยายขอบเขตกว้างขึ้นสู่ความเป็นวาไรตี้เพื่อสนองหูของคนฟังเพลงพ๊อพในแบบฉบับของคนเมือง รวมถึงวัยรุ่นและคนวัยทำงานที่เติบโตขึ้นมาสู่วัยที่ย่างสู่กลางคนจากยุคเบบี้บูม

ดูเหมือนก่อนหน้านี้ในยุคทศวรรษที่ 70 ดนตรีคันทรีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเชิงพัฒนาการที่ช่วยวิวัฒน์ดนตรีร็อคให้ก้าวไปหน้า ซึ่งถือกันว่ายุคนี้เป็นทศวรรษแห่งการสร้างสรรค์ดนตรีร็อคที่หลากหลายแตกแขนงและมีความก้าวหน้ามากที่สุดกว่ายุคใดๆ เป็นพื้นฐานให้กับดนตรีร็อคและเมทัลยุคปัจจุบันนี้ทั้งหมดทั้งสิ้น โดยเฉพาะในดนตรีกระแสหลักที่เป็นเมนสตรีม อรีน่า ร็อค ซึ่งมีดนตรีคันทรีเข้ามามีส่วนผสม

แต่สำหรับการ์ธ บรู๊คส์ ซึ่งเป็นคนที่นำดนตรีคันทรีเข้าสุ่ยุคของดนตรีนิว คันทรี ยืนยันว่าแฟนเพลงของเขาไม่ใช่แฟนเพลงของกลุ่มคันทรีที่อยู่ในระดับมวลชน อย่างจอร์จ สแตรท (George Strait) ซึ่งถือว่าเป็นราชาคันทรีที่นำดนตรีคันทรีในแบบเวสเทิร์น สวิง และบัลลาด สู่ความสดใหม่ หรือแม้กระทั่งแนวเพลงคันทรี-ร๊อค ของ ดี อีเกิล (the Eagles) ก็ไม่ใช่แฟนเพลงกลุ่มของเขาเลย

เพราะดนตรีนิว คันทรี นั้นได้ข้ามผ่านสู่แรงดึงดูดทางดนตรีใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่สนองตอบอารมณ์ของมวลหมู่นักฟังที่เรียกตัวเองว่า โคบาลคนเมือง หรือ เออร์เบิ้น คาวบอย เพียงอย่างเดียวอีกแล้ว ซึ่งบรรดาศิลปินที่ทำงานในแนวนิว คันทรี นั้นจะต่อยอดมาจากทางดนตรีในแบบคันทรี บูกี้ หรือบทเพลงพาวเวอร์ บัลลาดที่เน้นนำโชว์เสียงที่ก้องกังวานขึ้นจมูกคมชัดและมีชีวิตชีวา รวมถึงรองรับบรรยากาศด้วยมวลหมู่เครื่องสายที่ไพเราะ ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะดึงดูดคอเพลงทั้งในแนวคันทรีและร็อคให้หันมาสนใจฟังดนตรีในแนวนิว คันทรีด้วยเช่นกัน พยายามข้ามให้พ้นความหมายเดิมๆ ที่ผนึกอยู่มายาวนานของดนตรีคันทรีที่มีมาแต่เดิมที่เป็นมาในทศวรรษก่อนๆ

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 ดนตรีและบทเพลงนิว คันทรี จึงเข้าไปสู่ระดับเมนสตรีมในโลกของคนฟังเพลงพ๊อพอย่างเต็มตัว โดยวัดได้จากการเปิดเพลงในแนวนี้ออกอากาศบนหน้าปัดวิทยุและอันดับบนชาร์ตบิลบอร์ด ทิ้งคำนิยามเก่าๆ ของดนตรีคันทรีไว้เบื้องหลังเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง

และในยุค 10 ปีแรกของศตวรรษใหม่ ดาวรุ่งของวงการเพลงคันทรีที่ยังยึดที่มั่นอยู่ที่ แนชวิลล์ เมืองหลวงของวงการเพลงคันทรี อย่างเลดี้ แอนเทเบลลัม ก็ฉายแสงออกมา

มาค้นหาว่า ทำไมพวกเขาจึงนำซาวด์ใหม่ของดนตรีคันทรีเข้าไปอยู่ในใจของคนหนุ่มสาวอเมริกันได้ ผ่านอัลบั้มเพลงชุดที่ 2 ‘Need You Now’ กัน...

[4]

วิกฤตการณ์และความกดดันของนักร้องหรือวงดนตรีหน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลโดยไม่คาดคิดจากงานชุดแรกที่เปิดตัวออกสู่คนฟัง เป็นเรื่องปกติที่ต้องข้ามให้พ้นผ่าน หากเดินชนแล้วเด้งกลับก็เรียกว่า ถึงทางตันอย่างแน่นอน

วงคันทรีทริโอ 2 หนุ่ม 1 สาว อย่างเลดี้ แอนเทเบลลัม ก็เช่นกัน ต้องเผชิญหน้ากับภาวการณ์วิกฤตการณ์งานอัลบั้มชุด 2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่อัลบั้มชุดที่ 2 ซึ่งพวกเขาระดมสมองผลิตออกมา สามารถช่วยผลักและเปิดโอกาสให้เลื่อนชั้นเข้าสู่ลำดับถัดไปในฐานะวงดนตรีพ๊อพสตาร์ของวงการเพลงคันทรี แม้แนวทางของดนตรีคันทรีกระแสหลักซึ่งไม่ใช่บางสิ่งที่ใหม่ แต่พวกเขาเข้าใจในการทำเพลงให้ฮิตหรือเป็นเพลงยอดนิยมถูกใจคนฟัง โดยเฉพาะการเปิดออกอากาศทางวิทยุที่ต้องโดนหูโดนใจคนฟัง

อัลบั้ม ‘Need You Now’ แสดงถึงความสามารถและฝีมือในการเขียนเนื้อร้องในท่อนฮุคและสร้างดนตรีแบบคันทรีพ๊อพให้โดดเด่นสะดุดหูจดจำได้ง่ายเมื่อฟังเพียงสัมผัสแรก ไม่ได้แสดงอาการเกร็งจากความสำเร็จอย่างท่วมท้นจากงานชุดแรกที่โด่งดังและมีเพลงฮิตในระดับถล่มทลาย แต่ยึดแนวทางเดิมและมาเพิ่มความเคี่ยวจัดจ้านที่ทำงานเพลงเพื่อตอบสนองความรู้สึกของคนฟังให้มีอารมณ์ร่วมในแบบมีความสุขและชมชอบในตัวเพลงและดนตรีของพวกเขาอีกครั้ง

ถือได้เป็นความรุดหน้าที่ยึดรอยทางความสำเร็จอย่างรอบคอบ เป็นการผลิตซ้ำที่น่าสนใจว่า สามารถเดินตามรอยความสำเร็จเดิมๆ ได้อย่างมีชีวิตชีวาและรุดหน้าไปแบบมีบุคลิกที่สง่างาม ไม่ดูเหมือนตีหัวเข้าบ้านแต่อย่างใด

เคมีทางดนตรีและเสียงร้องที่มีสูตรอันลงตัวของชาร์ลส์ เคลลีย์ ร้องนำ/ร้องประสาน), เดฟ เฮย์วู้ด (กีตาร์ / เปียโน / แมนโดริน และร้องประสาน) และ ฮิลลารี สก๊อตต์ (ร้องนำและร้องประสาน)

ส่วนผสมทางดนตรีและเสียงร้องที่สอดประสานกันกลมกลืนลงตัว นักร้องนำชาย+หญิง ซึ่งเป็นคนเขียนเพลงด้วย ชาร์ลส์ เคลลีย์ กับ ฮิลลารี สก๊อตต์ ซึ่งผลัดกันร้องเพลงกันคนละเพลง ซึ่งใครร้องนำอีกคนก็ร้องประสานคอยเติมเต็มถมช่องว่างให้สมบูรณ์แบบที่สุด จนเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่นวลเนียนละเมียดละไมในการใช้เสียงที่ได้ดุลยภาพอย่าง ‘หยินและหยาง’ บางเพลงก็ร้องร่วมกันจนฟังคล้ายเพลงคู่ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยช่วยเสริมเติมดันให้อีกคนเด่นขึ้นมาเวลาโชว์พลังเสียง

ส่วนเดฟ เฮย์วู้ด ก็ไม่ใช่ตัวประกอบอดทนในฐานะวงทริโอที่มีด้วยกัน 3 คน ที่เป็นนักร้องนำไปเสียสองคน แต่เขากับใช้ชิ้นดนตรีอย่างกีตาร์และเปียโนมาแสดงออกถึงฝีมือและความสามารถในการสร้างท่วงทำนองและเมโลดี้ที่ติดหูสวยงามได้อย่างโดดเด่นไม่แพ้กัน

อย่าลืมว่า วงการเพลงคันทรีในยุคปัจจุบัน ก็ยังมีศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของดนตรีคันทรี โดยเฉพาะการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปรผันให้ซาวด์มีความร่วมสมัยโดนใจและถูกหูคนรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตขึ้นมา และเป็นสูตรการทำเพลงในแบบที่เรียกว่า พิมพ์นิยมกึ่งสำเร็จรูปตามแฟชั่นการฟังเพลงก็ว่าได้

สำหรับงานในอัลบั้ม ‘Need You Now’ ก็อยู่ในขอบข่ายเดียวกัน เพียงแต่มีคุณลักษณะพิเศษของนักร้องชาย+หญิงที่ต่างทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเยี่ยมยอด รวมถึงผสานหลอมรวมเสียงในการประสานเสียงกันอย่างสมบูรณ์ ถือเป็นจุดขายที่หาไม่ได้ในวงคันทรีทั่วไปที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะในลักษณะเพลงรักที่มีจังหวะกลางๆ และเร่งเร้ารวดเร็ว พร้อมทีเด็ดที่บทเพลงแบบบัลลาดคันทรีพ๊อพ ซึ่งเน้นหนักไปกระแทกความเศร้าสร้อยในห้วงภวังค์แห่งรักที่โศกสลด ซึ่งอารมณ์เพลงในโครงสร้างของจังหวะเจือความเป็นร็อคที่หนักแน่นเข้ามาอย่างลงตัว

สิ่งสำคัญ พวกเขาทั้ง 3 คนเป็นคนเขียนเพลงเองด้วย ทำให้การเขียนเนื้อร้องและดนตรีทำได้อย่างลงตัว ผ่องถ่ายออกมาจากความรู้สึกที่ตกกระทบและกลั่นมาจากความรู้สึกภายใน โดยเฉพาะเรื่องราวของความรักของหนุ่มสาวในแบบคันทรีคนเมือง

เสียงร้อง ชาร์ลส์ เคลลีย์ อยู่ในระดับบาริโทน คือมีเสียงที่ทุ้มนุ่มชวนฟัง ให้ความรู้สึกอบอุ่นน่าประทับใจแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง (วัดผ่านสุนทรียศาสตร์ทางเสียงร้องแบบสมัยนิยมของคันทรีสมัยใหม่แบบคนเมือง) เต็มไปด้วยลูกเล่นและความแพรวพราวในการใช้เสียงร้องแบบคันทรีสมัยใหม่ที่จัดจ้าน โดยเฉพาะบทเพลงที่มีส่วนผสมทางดนตรีแบบซอฟต์ร๊อคเข้ามาเขาจะขับร้องได้โดดเด่น อย่างในบทเพลง ‘Love This Pain’ ที่สะท้อนน้ำเสียงในโทนนี้ออกมาได้เด่นชัดกำซาบอารมณ์

ส่วนเสียงร้องของ ฮิลลารี สก๊อตต์ นักร้องหญิงที่สวยเด่นเป็นจุดขายเฉพาะตัวอยู่แล้ว แม้จะมีน้ำเสียงที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่มากนัก แต่ถูกผลักออกมาได้น่าสนใจด้วยการลงพยางค์ในเสียงร้องผ่านถ้อยคำที่ขยายลากไปสู่อารมณ์เพลง ในความรู้สึกที่ขับเปล่งออกมาได้ลึกล้ำส่งผ่านมาได้อย่างเข้าถึงในบทเพลง ‘American Honey’

47.24 นาที จาก 11 บทเพลง บวกกับโบนัส แทรค ที่นำเพลงฮิต ‘I Run To You’ จากอัลบั้มที่แล้วมาทำใหม่เอาใจแฟนเพลง เพื่อแสดงให้เห็นว่า เลดี้ แอนเทเบลลัม เป็นวงดนตรีที่สามารถนำของของการเรียบเรียงดนตรีและเสียงประสานที่มากมายสวยงามมาใช้ ผ่านทักษะและความชำนาญในชิ้นดนตรีอย่างสมบูรณ์แบบ

หากดนตรีคันทรีร่วมสมัยหรือคอนเทมโพรารี คันทรี เป็นการนำดนตรีคันทรีที่เดิมๆ ไปสู่ความคันทรีสมัยใหม่หรือการปรับสู่โหมดของเสียงดนตรีที่ทันยุคทันสมัยมากขึ้น โดยผสานความรู้สึกและอารมณ์ของดนตรีพ๊อพร๊อคมากยิ่งขึ้น เพื่อขยายฐานแฟนเพลงที่จำกัดกรอบอยู่แค่แวดวงคันทรีไปสู่ตลาดเพลงพ๊อพกระแสหลัก วงเลดี้ แอนเทเบลลัม ก็สามารถสร้างสรรค์ต่อยอดได้อย่างลงตัว

พวกเขาสามารถแสดงบทบาทและเชิงชั้นทางดนตรีของการข้ามสายหรือครอสโอเวอร์เชื่อมระหว่างคนฟังเพลงคันทรีกับพ๊อพร๊อค ที่ถือเป็นความสำเร็จอย่างท่วมท้นของแนวดนตรีที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาและเรียกว่า คอนเทมโพรารี คันทรี และกลายเป็นดนตรียอดนิยมฟื้นฟูจิตวิญญาณของคันทรีได้อีกครั้งหนึ่ง เป็นบทเพลงที่แสดงออกถึงชีวิตชีวาของผู้คนร่วมสมัย สามารถเปิดทางวิทยุได้อย่างติดหูด้วยดนตรีและดนตรีที่ลื่นไหลฟังสบายเพลินหู ซึ่งช่วยควบรวมคนฟังเพลงในแบบคันทรี, ร็อค และพ๊อพเข้าไว้ด้วยกันอย่างกมกลืน ไม่รู้สึกแปลกแยกหรือรู้สึกว่า เชยและเป็นคนละรสนิยมกัน

นอกจากนี้ การรักษาจิตวิญญาณเก่าก่อนของดนตรีคันทรีพ๊อพไว้ได้อย่างกรุ่นเสน่ห์ วงเลดี้ แอนเทเบลลัม สามารถรับไม้จากการสร้างสรรค์ดนตรีแขนงนี้ให้แหวกม่านออกมาจากแนชวิลล์ นั่นก็คือมือกีตาร์ผู้ยิ่งใหญ่ตำนานของวงการเพลงคันทรี เชต แอตกินส์ (Chet Atkins) ที่นำดนตรีคันทรีข้ามขอบเขตจากดนตรีในแบบขนบและประเพณีนิยมที่สืบทอดกันมา ให้เข้าสู่ขอบเขตของดนตรีแบบพาณิชย์ศิลป์ในโลกดนตรียอดนิยมเพื่อคนฟังในระดับกว้างขวางอย่างแท้จริง

เขาเป็นผู้สร้างดนตรีที่ถูกนิยามว่า คันทรีพ๊อพ ซึ่งต่อมาก็พัฒนาโดยนักร้องและวงดนตรีมากหน้าหลายตา ด้วยสูตรการผสมผสานดนตรีคันทรีกลิ่นอายชนบทแบบบ้านไร่บ้านนาดำเนินชีวิตด้วยเกษตรกรรมให้เข้ากับวิถีชีวิตและความรู้สึกของคนในเมืองใหญ่ โดยเรียกดนตรีในสไตล์นี้ว่า คันทรีโพลิแท้น หรือดนตรีคันทรีของคนเมือง ภายใต้เมโลดี้และโครงสร้างของดนตรีคันทรีที่เรียบง่ายละจับใจถูกทอนลง และนำเอาทางรูปแบบดนตรีพ๊อพที่ติดหูติดปากติดใจง่ายเข้ามาเสริมให้ครบเครื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มเสียงดนตรีอันอลังการของวงออร์เครสตร้าเข้ามา ซึ่งเน้นหนักไปในกลุ่มเครื่องสายที่ปูพื้นรองรับบรรยากาศของเพลงให้พุ่งขึ้นมาจากความเป็นพื้นบ้าน ทำให้ตัวเพลงและดนตรีมีความลื่นไหลและแจ่มจรัสมากขึ้นและง่ายต่อการเสพฟัง

ซึ่งดนตรีคันทรีพ๊อพหรือคันทรีโพลิท้านก็ได้ถูกแปะป้ายให้เป็นเสียงแห่งแนชวิลล์ หรือ เดอะ แนชวิลล์ ซาวด์ รูปแบบของดนตรีคันทรีแบบใหม่มาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 60 และได้ผสมผสานดนตรีซอฟต์ร็อคเพิ่มเข้ามาอีกสายทางหนึ่งเพื่อขยายทางดนตรีให้กว้างขึ้นเพื่อสร้างสรรค์งานออกมา ซึ่งสัญชาตญาณทั้งหมดถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุดนี้เช่นกัน

งานเพลงที่มีท่วงทำนองที่สวยงามผ่องถ่ายเข้าไปสู่ความรู้สึกของคนฟังที่จับติดได้ในเกือบทุกบทเพลงของภาคดนตรีคือ เสียงเปียโนที่เคาะเสนาะเพราะพริ้งกังวานหวานก้องสะท้อนพุ่งออกมาจากเสียงมวลรวมของดนตรีทั้งหมด คล้ายกับชีพจรทางเมโลดี้ที่ไหลเรื่อยวนอยู่ในตัวเพลง บางเพลงแสดงถึงความน้อยแต่งามที่หลั่งไหลออกมาผ่านเสียงเปียโนที่เคาะน้อยโน้ตในแบบมินิมอลลิสท์ นิวเอจ ที่ลอยล่องก้องกังวานอยู่เหนือเสียงกีตาร์นุ่มหนักแน่นในแบบซอฟต์ร๊อค

อย่างในเพลงนำอัลบั้ม 'Need You Now' จะฟังได้แจ่มเด่นชัดและเร้าความรู้สึก เป็นส่วนผสมของการเอาจริตบทเพลงฮิตในแบบดิ๊ซี่ ชิคส์ (Dixie Chicks) วงคอนเทมโพรารี คันทรี สามสาวเท็กซัส ผนวกกับ ดิ อีเกิล วงคันทรีร๊อคระดับตำนาน และดนตรีบริตพ๊อพในแบบ บีเทิลส์ (Beatles) นำมาย่อยให้เป็นบทเพลงในแบบดนตรีคันทรีประสานเสียงที่เปี่ยมด้วยความสวยงามของเมโลดี้และท่วงทำนอง การสไลด์กีตาร์ที่ร้อนเร่า และเสียงเปียโนที่แพรวพราวเปี่ยมด้วยความเสนาะหู

บทเพลงที่แสดงถึงการประสานงานในรูปแบบของวงทริโอได้เข้มข้นจัดจ้านต้องเป็นเพลง ‘Stars Tonight’ เป็นการผลิตงานที่มีสูตรด้วยเสียงร้องคู่และการประสานเสียงที่ติดหูติดใจ บวกกับลูกริฟฟ์กีตาร์กระแทกใจอย่างอยู่หมัด

นอกจากบทเพลงนำอัลบั้มที่ใช้เป็นชื่ออัลบั้มด้วย คือ ‘Need You Now’ที่เพ่งสำรวจลงไปในความโศกสลดของความรักที่โหยหา บทเพลงที่แสดงออกถึงชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความเฉียบคมในการถวิลหาอดีตที่แสนหวานอย่าง ‘American Honey’ก็ยอดเยี่ยม

ส่วนบทเพลงที่สื่อสารถึงความสุขในห้วงทุกข์แห่งรักที่อาดูรได้อย่างโรแมนติกก็คือ ‘Love This Pain’ บทเพลงที่เนิบนิ่งแต่มีพลังคุกรุ่น ‘Hello World’ บอกเล่าเรื่องราวของวิกฤตวัยกลางคนที่โหมประดัง เสียงอันทุ้มลุ่มลึกจากข้างในที่กังวานออกมาของชาร์ลส์ เคลลีย์ ลอยเด่นออกมา ทำให้อดประหวัดคิดถึงการร้องของนักร้องคันทรีระดับตำนานหลายๆ คนที่ใช้วิธีการร้องแบบบรรยายเรื่องอย่างนี้

จุดแข็งที่ดีที่สุดของอัลบั้มชุดนี้คือ การบันทึกเสียงที่ดีถึงขั้นยอดเยี่ยม เหมือนนั่งฟังอยู่ในห้องเล็กๆ แล้วเสียงดนตรีแต่ละชิ้นดนตรีที่คมชัดทุกเม็ดหลอมรวมประดังมาพร้อมเสียงร้องที่เปล่งลอยโดดเด่น แสดงให้เห็นการเรียบเรียงดนตรีและเสียงประสานที่อยู่ในระดับดีเยี่ยม โดยเฉพาะการผสมเสียงที่เจาะลงไปในอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละเพลงได้อย่างไม่มีจุดอ่อน

การได้โปรดิวเซอร์ พอล วอร์ลีย์ (Paul Worley) ที่อยู่ในแวดวงดนตรีคันทรีมายาวนาน ในแนชวิลล์ เขาสามารถจับรายละเอียดและจุดเด่นของวงเลดี้ แอนเทเบลลัม ได้อย่างเข้าถึง และดึงศักยภาพของแต่ละคนให้โดดเด้งออกมาได้ยอดเยี่ยมเต็มพลังขับที่สุด ถือเป็นการร่วมการทำงานที่ลงตัวและสมบูรณ์เป็นอย่างมากมาตั้งแต่อัลบั้มชุดแรก

บทเพลงคันทรีมักตกเป็นเป้าในการโจมตีว่า เชย คร่ำครึ ไม่ทันสมัย เป็นการปะทะกันระหว่างวิถีชีวิตร่วมสมัยกับวิถีทางแบบเก่า วงดนตรีทริโอ อย่างเลดี้ แอนเทเบลลัม จึงผสมสูตรของดนตรีคันทรีด้วยการเพิ่มท่อนริฟฟ์ในแบบดนตรีร๊อคเข้ามาอย่างทรงพลัง นำจิตวิญญาณแบบเก่ามารื้อสร้างสู่ความร่วมสมัย แม้ไม่ใช่ซาวด์ใหม่ของดนตรีคันทรี แต่มันสามารถเข้าไปแทนใจให้คนหนุ่มสาวรับบทเพลงและดนตรีคันทรีของพวกเขาได้อย่างไม่ขวยเขิน ภายใต้เสื้อผ้าสมัยใหม่ที่เท่เก๋อินเทรนด์

รางวัลทางดนตรีทีวงเลดี้ แอนเทเบลลัม โดยเฉพาะในสายทางของดนตรีคันทรีนั้น พวกเขาได้ถูกการันตีมาอย่างมากมาย รวมถึงรางวัลใหญ่สุดเช่นแกรมมี่ด้วย มาถึงวันนี้กับอัลบั้มชุดที่ 2 ‘Need You Now’ พวกเขาลอยล่องติดลมบน สุกสกาวบนฟากฟ้าวงการเพลงคันทรีและเพลงพ๊อพกระแสหลักไปอย่างสมศักดิ์ศรีเรียบร้อยแล้ว
>>>>>>>>>>
………
ฟังมาแล้ว

Nine Meet U 2 / แคลช

งานเพลงชุดทิ้งท้ายที่ได้ปล่อยของทางดนตรีเฮฟวี่ร๊อคกันเต็มที่เต็มกำลังขับของทางวง10 บทเพลงในอัลบั้มแบ่งสัดส่วนของเพลงให้แบงค์ นักร้องนำที่ถือเป็นขวัญใจวัยรุ่นขาร๊อคร้องเพลงในสไตล์บัลลาดร๊อคย้วยย้ายลากครางครวญ ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายทางการค้าอยู่เช่นเดิม แต่เติมส่วนผสมการประสานเสียงแบบกอสเปลเข้ามาสร้างความอลังการให้ตัวเพลง ซึ่งเอาใจแฟนกลุ่มเดิมได้ชะงัด

อีกส่วนเป็นการโชว์ฝีมือทางการเขียนเพลงและดนตรีของทางวง บทเพลง ‘กรง’ ที่ได้ป๊อป เดอะ ซัน มาเป็นแขกรับเชิญเล่นกีตาร์ โดดเด่นทั้งการเขียนเพลงและดนตรี พลังขับเคลื่อนเด่นสุด ‘ตัวตายใจสู้’ ก็เป็นอีกบทเพลงที่ถูกใจขาเฮฟวี่แน่นอน จุดด้อยมาอยู่เพลงเดียวที่แปลกแยกออกไปและเฟือหูแบบเพลงฮิพฮอพรุ่นใหม่คือ ‘Let Me Give It To You’ ซึ่งปิดท้ายอัลบั้ม

Simple Times / Joshua Radin

งานชุดที่ 2 ของนักร้องในสายอะคูสติกพ๊อพและโฟล์คร๊อค ที่เดินมาในกระแสของบทเพลงฟังสบายดูเก๋ไก๋ทันสมัย โดยเป็นพิมพ์นิยมของเดอะ โฮเต็ล คาเฟ่ ซึ่งเป็นสถานที่แสดงของนักร้อง/นักแต่งเพลง และนักดนตรีที่มีคุณภาพในสายอะคูสติกและโฟล์ค

11 บทเพลงของเขา ก็เป็นงานฟังง่ายเพลิดเพลิน แต่ไม่มีจุดเด่นที่ทำให้อยู่ในความทรงจำ เหมือนกับเพลงประกอบซีรีส์ เพลงประกอบโฆษณาต่างๆ ทำเพื่อสนองโสตความฉาบฉวยติดหูและไพเราะในระดับเพลงพ๊อพท้องตลาด ภายใต้เปลือกของความเก๋เท่ในแบบคนเขียนเพลงยุคใหม่

Guitar Heaven: The Greatest Guitar Classics of All Time / Santana

อยู่ตัวอยู่ใจสำหรับมือกีตาร์เทพระดับตำนานที่ยังรักษาสถานภาพของจุดสูงสุดในอาชีพได้อย่างมั่นคง แม้จะไม่ค่อยมีการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้ตื่นเต้นอีกแล้ว หลังจากประสบความสำเร็จทั้งเงินและกล่องจากอัลบั้ม ‘Supernatural’ เขาก็ไหนไม่เป็น อัลบั้ม ‘Shaman’ ตอกย้ำจุดนั้นได้เป้นอย่างดี กับการเล่นมุขเก่าเชิญนักร้องที่อยู่ในกระแสร่วมสมัยที่มีคุณภาพทางเสียงที่ดีมาผสานกับดนตรีละตินร๊อคแบบของเขา

งานชุดนี้มาแนวเดิม เพียงแต่เลือกบทเพลงร๊อคที่อยู่ในความทรงจำจากในอดีตนำมาตีความใหม่ในแบบละตินร๊อค โดยยังมีเส้นร่างหรือโครงดนตรีของเพลงเดิมอยู่ครบถ้วน การเลือกนักร้องมาเป็นแขกรับเชิญก็ดูดีแต่ไม่มีอะไรใหม่ให้ค้นหาอีกแล้ว เป็นงานเพลงคอฟเวอร์ที่อยู่มือและไม่ผิดหวัง แต่ไม่มีอะไรน่าสนใจ

Asia Live in Moscow 1990 / Asia

งานแสดงสดของวงซูเปอร์กรุ๊ปในสายอาร์ตร็อค และโปรเกรสสีฟร็อคระดับตำนานวงนี้ ที่บุกเข้าไปในดินแดนหลังม่านเหล็ก ช่วงขั้วเปลี่ยนที่สำคัญก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต การไปแสดงที่กรุงมอสโคว์ของรัสเซียเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

แฟนเพลงกว่า 20,000 คนมาแออัดยัดเยียดอยู่ในโอลิมปิก สเตเดี้ยม ผ่านความยาว 72 นาทีที่นำเสนอภาพการแสดงสดและสารคดีของทางวง ทำให้เห็นถึงมาตรฐานทางดนตรีและการเล่นแบบแจมแบนด์ของวงดนตรีในยุคนั้นว่า อลังการงานสร้างเพียงใด ถือเป็นความน่าประทับใจที่คอเพลงโปรเกรสสีฟร็อคไม่น่าพลาดบันทึกประวัติศาสตร์ทางดนตรีบทนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น