xs
xsm
sm
md
lg

Music Shines : ‘อาสาสนุก’ สมการเพลงปลดปลงในสังขาร เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ / พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

paulheng_2000@yahoo.com

วันวัยและเวลาไม่เคยรอใคร ยิ่งโลกแห่งการเสพบริโภคความบันเทิงเริงรมย์นั้น ไม่เคยรั้งรอใคร คลื่นลูกใหม่ย่อมที่จะมาไล่หลังคลื่นก่อนหน้าให้สูญหายไปอย่างรวดเร็ว เช่นกันอายุการใช้งานในวงการของคนบันเทิงแต่ละรุ่นก็ยิ่งน้อยลง

เพียงกระพริบตาก็หายสาบสูญไปจากวงการเสียแล้ว

ในวงการเพลงหรือวงการดนตรีร่วมสมัยของเมืองไทยก็เป็นอย่างที่ว่า ไม่แตกต่างกันกับอุตสาหกรรมหรือธุรกิจดนตรีที่อื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะนักร้องและวงดนตรีที่ถูกค่ายเพลงอุปโลกน์ขึ้นมา และมีทีมทำเพลงคอยป้อนและปั้นเพลงใส่ปากตามแฟชั่นนิยม ทีมภาพลักษณ์และทีมการตลาดคอยกำหนดทิศทางในการขายงานอัลบั้มและขายโชว์ต่างๆ รวมทั้งคอนเสิร์ต ล้วนมีอายุการใช้งานเหมือนผลิตภัณฑ์หรือสินค้าทั่วไป คือใช้จนหมดอายุแล้วทิ้ง แล้วก็มีสินค้าตัวอื่นๆ ใหม่กว่าเข้ามาแทนที่ โดยไม่มีความทรงจำหรือถ้ามีก็มีเพียงเล็กน้อย เอาไว้รำลึกให้โหยหาหายคิดถึงวันชื่นคืนสุขก็เพียงพอแล้ว

เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ที่ถูกสถาปนาให้เป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการเพลงร่วมสมัยของเมืองไทยมาประมาณกว่า 20 ปีแล้ว โดยภาพลักษณ์ปัจจุบันที่ถูกนำเสนอออกมาผ่านสื่อต่างๆ ของค่ายเพลงที่ปัจจุบันถือว่าได้แปรเปลี่ยนจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่มาสู่ความเป็นบรรษัทบันเทิงครบวงจรของเมืองไทย ยังผลักดันเบิร์ด-ธงไชย ซึ่งระยะหลังเรียกแทนตัวเองว่า ‘พี่เบิร์ด’ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูอย่างครบกระบวนทางการตลาดและสื่อต่างๆ ในยุคใหม่อย่างเต็มที่เหมือนเดิม

อัลบั้ม ‘อาสาสนุก’ เป็นงานสตูดิโออัลบั้มชุดใหม่ล่าสุดของเขา ซึ่งน่าจะเป็นงานชุดที่ 16 จึงเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า เขาจะฝ่าข้ามยุคใหม่ของสื่อในแบบออนไลน์ ที่เน้นนำไปสู่ยุคดิจิตอล ดาวน์โหลดได้อย่างทรงพลานุภาพและทำเงินได้อย่างในอดีตอีกหรือไม่ ในฐานะนักร้องยอดนิยมระดับซูเปอร์สตาร์ เป็นด่านทดสอบว่า เขาเปลี่ยนผ่านเอาตัวรอดไปอย่างสง่าผ่าเผยอีกครั้งอีกเปล่า

ซึ่งแน่นอน มุมมองเชิงวิเคราะห์ที่เข้ามาจับในอัลบั้มชุดนี้ ไม่ใช่มองในแง่งานพาณิชย์ศิลป์ที่ตอบโจทย์สุนทรียศาสตร์ทางดนตรีพ๊อพ แต่มองด้วยการทำงานเพลงและดนตรีที่มีการตลาดนำและตอบโจทย์การขายและความบันเทิงเริงรมย์ของคนฟังแบบครบวงจร

1.ทฤษฎีอายุเป็นเพียงตัวเลข

คนฟังเพลงใน พ.ศ.นี้ เอาเป็นว่าปี 2554 ก็แล้วกัน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ หากผ่านไปตามร้านขายซีดีหรือผ่านตาตามสื่อต่างๆ เห็นภาพปกอัลบั้ม ‘อาสาสนุก’ ของ เบิร์ด’ ธงไชย แมคอินไตย์ ซึ่งเป็นรูปของเบิร์ดในอากัปกิริยาที่ดูผ่อนคลาย เห็นเพียงครึ่งตัวด้านบน เบิร์ดชูมือขวาตั้งฉากและแบมือด้านในออก มือซ้ายแนบชิดลำตัว ใส่หมวกสีน้ำเงินโทนดำ และเสื้อเชิ้ร์ตสีกรมท่าติดกระดุมผูกโบที่คอสีเดียวกัน ใบหน้าอิ่มเอิบอ่อนเยาว์ยิ้มพราวแต่พองาม มีฉากหลังเป็นการไล่โทนสีฟ้าอ่อนกระจ่างตาทำให้ตัวของเบิร์ดดูโดดเด้งออกมา

เด็กๆ ที่เพิ่งเติบโตมาในยุคหลังคงนึกไปว่า เป็นนักร้องใหม่ที่จะมาเบียดกับตลาดนักร้องเกาหลีก็เป็นไปได้

ตัวอักษรที่วางพาดตัวเป็นตัวในแบบกว้างยาวลึกที่ดูทีเล่นทีจริงเป็นชื่อ ‘เบิร์ด’ ด้วยสีขาว และชื่ออัลบั้ม ‘อาสาสนุก’ เป็นการเล่นโทนสีสันสดใสคอนทราสต์หรือขัดแย้งแตกต่างให้เด่นชัดขึ้นมาอย่างไม่เคร่งครัด

ก็นับได้ว่า การออกแบบปกอัลบั้ม ตอบโจทย์แนวความคิดในอัลบั้มที่วางชื่อและตัวเพลงไว้ที่ความสนุกสนานได้อย่างเต็มที่ ส่วนรูปในอัลบั้มก็เป็นรูปเบิร์ด-ธงไชยในอากัปกิริยาต่างๆที่ดูสบายๆ ง่ายๆ แต่ก็ติดลูกแอ๊คหล่อเนี้ยบเฉียบเก๋อยู่เช่นเดิม ซึ่งเป็นเครื่องหมายทางการค้าที่ไม่เคยหายไปไหน สำหรับความสำอางที่เด่นเด้งดึ๋งออกมากว่านักร้องชายทั่วๆ ไป

หน้าตาของเบิร์ด-ธงไชย หากนับ ปี 2501 เป็นหลักอายุ ซึ่งเป็นปีเกิดของเขา ปัจจุบันย่างสู่ปี 2554 เมื่อลบกันแล้วก็ได้ตัวเลขที่ 53 ปี ก็สามารถบอกได้เต็มปากเต็มคำได้เลยว่า อ่อนเยาว์เกินความจริง เมื่อเทียบกับอายุขัยแล้ว หน้าตาของเขาในปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30 กว่าปีเพียงเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ‘ทฤษฎีอายุเป็นเพียงตัวเลข’ จึงสามารถนำมาใช้ได้กับเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ในวัย 53 ปี

ยิ่งมาดูมิวสิควิดีโอและฟังบทเพลงในอัลบั้มชุดใหม่ล่าสุด ยิ่งตอกย้ำความคิดนี้ได้เป็นอย่างดี

เพราะถ้าวัดในตัวผลงานที่เขาเริ่มเข้าสู่วงการเพลงและสร้างชื่อเสียงครั้งแรกอย่างจริงจัง จากแข่งขันประกวดร้องเพลงของสยาม มิวสิค ฟาวเดชั่น ปี 2526 โดยได้รับรางวัลนักร้องดีเด่น นับนิ้วถึงปัจจุบันก็ตกเข้า 28 ปีเต็ม หรือถ้าจะนับสตูดิโออัลบั้มชุดแรกในปี 2529 ที่มีชื่อว่า ‘หาดทราย สายลม สองเรา’ บางคนอาจจำคร่าวๆ ตามชื่อเพลงฮิตเพลงแรกของเขาว่า ‘ฝากฟ้าทะเลฝัน’ ก็ลบไป 2 ปี เท่ากับ 26 ปี ซึ่งไม่ธรรมดาเป็นอย่างมากสำหรับคนที่ฝ่าผ่านยุคสมัยมาถึงขนาดนี้ได้

ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องของเงื่อนไขเวลาและภาพรวมของการตลาดในวงการเพลงไทยนั้นเติบโตและร่วงโรยไปกับความเป็นซูเปอร์สตาร์ของเขาก็ว่าได้ หากเอาตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นฟิสิกคอลหรือสื่อกลางในการจำหน่ายเพลงถึงมือผู้บริโภคคือ เทปคลาสเซทท์ กับซีดี เบิร์ดก็ผ่านมาและขึ้นถึงจุดสูงสุดของยอดจำหน่ายของนักร้องร่วมสมัยในเมืองไทยมาแล้ว วันนี้ก็เหลือแต่ในรูปดิจิตอล ดาวน์โหลดที่เขาจะต้องวัดอีกคราว่าจะถึงเวลาอยู่หรือไป

แต่เมื่อดูตัวบทเพลงและดนตรีในอัลบั้มชุด ‘อาสาสนุก’ ก็ค้นพบแล้วว่า ทีมการตลาด+ภาพลักษณ์ และทีมทำเพลง มองเบิร์ด-ธงไชย ว่า อายุของเขาเป็นแค่เพียงตัวเลข...

2. ‘อาสาสนุก’ แช่แข็งการดีดดิ้นและอารมณ์ออดอ้อนสไตล์เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์

อดีตในวันวาน การครอบครองตลาดดนตรีพ๊อพกระแสหลักของตลาดเพลงร่วมสมัยของไทย ก่อนการมาถึงของเพลงพ๊อพแบบแกรมมี่ซาวด์นั้น เป็นบทเพลงพ๊อพที่อยู่ในหมวดหมู่ชองสายทางที่เรียกว่า วงสตริงคอมโบ ซึ่งคงไม่ต้องย้อนไปกล่าวถึงให้มากความนัก เพราะการมาถึงของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ทำให้ดนตรีพ๊อพเปลี่ยนไปอีกทางหนึ่ง

สูตรของนักร้องหน้าหล่อเนี้ยบสำอางมาพร้อมกับคุณภาพของเสียงที่ดีและได้รับการยอมรับจากเวทีประกวดระดับประเทศ รวมถึงบทเพลงและดนตรีที่เป็นสูตรในการเขียนเพลงที่เน้นตามแฟชั่นเพลงพ๊อพสมัยใหม่ โดยเฉพาะการเข้าถึงจริตของหูคนฟังเพลงไทยที่เน้นหนักไปยังเนื้อร้องและท่อนฮุคที่ย้ำวนติดหูติดใจ มีความหมายและถ้อยคำที่ลึกซึ้งกินอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในแบบเพลงสมัยใหม่

จุดหนึ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งไม่ควรมองข้าม คือ การเติบโตของอุตสาหกรรมสื่อและมิวสิควิดีโอในเมืองไทย ซึ่งระบบการตลาดของต้นสังกัดหรือค่ายเพลงแกรมมี่หรือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ในปัจจุบันได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ ในฐานะเบิร์ดเป็นสินค้าที่ร้องเพลงได้ และจัดเกรดอยู่ในระดับพรีเมียมในฐานะเอนเทอร์เทนเนอร์หรือผู้สร้างความสุขให้คนฟังเพลง และผลักดันจากพ๊อพสตาร์ในวงการเพลง ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ มาสู่ซูเปอร์สตาร์อย่างเต็มรูปแบบ

สิ่งหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ เบิร์ด-ธงไชย ถือเป็นคนเปิดประตูเพลงพ๊อพกระแสหลักสมัยใหม่ของเมืองไทยที่อยู่รอดมาถึงปัจจุบันเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกนั้นถูกกาลเวลากลืนกินไปจนหมดสิ้น

แม้จะเคยผ่านช่วงขาลงที่ไม่ถึงกับวูบหายในอัลบั้ม ‘Dream’ ในปี 2539 ซึ่งเป็นยุคเปลี่ยนขั้วและผลัดรุ่นคนฟังเพลงในยุคโมเดิร์นร๊อคและอัลเทอร์เนทีฟเบ่งบาน รวมถึงคนที่เติบโตมากับบทเพลงของเบิร์ด-ธงไชย ต่างโตพ้นช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน ผ่านสู่ยุคสร้างครอบครัวไม่มีเวลามาเสพบทเพลงความบันเทิงแบบเดิมจากนักร้องที่เคยชื่นชอบได้ ทำให้ส่วนนี้ขาดหายไป เหลือแต่บรรดาแฟนเพลงเฒ่าชราแก่ชราแบบแม่ยก ซึ่งเป็นฐานแฟนเพลงที่สำคัญของเขาตลอดมา

แต่ก็กลับมาสู่ตำแหน่งเดิมในปี 2541 ในอัลบั้มชุด ‘ธงไชย เซอร์วิส’ ที่ระดมมันสมองคนเขียนเพลงทำดนตรีของค่ายเพลงทั้งหมดในบริษัทมาฟื้นชีพให้เบิร์ดเป็นซูเปอร์สตาร์อีกครั้ง และอยู่ยาวมาจนถึงยุคเทปผีซีดีเถื่อนและดิจิตอลดาวน์โหลดในวันนี้

มาถึงอัลบั้ม ‘อาสาสนุก’ ซึ่งก่อนหน้านี้สักครึ่งปี เป็นการถ่างระยะรอเวลาความพร้อมในการเปิดตัวงานเพลงทั้งหมด ก็มีการปูพื้นทั้งช่องทีวี การ์ตูน และความเคลื่อนไหวต่างๆ ให้อยู่ในกระแสข่าวอย่างไม่ขาดสาย

ว่าไปแล้ว ทั้ง 12 บทเพลงของอัลบั้มชุดนี้ ซึ่งออกมาในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทำให้อดประหวัดคิดถึงงานในอัลบั้ม ‘ส.ค.ส.’ ของเขาที่เคยออกมาในปี 2531 ผสมกับความครื้นเครงในบทเพลงพ๊อพแด๊นซ์ในแบบไทยพ๊อพแกรมมี่ซาวด์ ซึ่งจัดจ้านเป็นมาตรฐานสำเร็จมาตั้งแต่อัลบั้ม ‘บูมเมอแรง’ ต่อมาจนถึง’พริกขี้หนู’

งานเพลงของเบิร์ด-ธงไชยนั้น อยู่ในระดับที่เรียกว่าเป็นรูปแบบกึ่งสำเร็จรูป เอาน้ำร้อนเทลงไปปิดฝา 3 นาทีหรือเร็วกว่านั้นก็ได้ อร่อยวูบวาบเพียงผ่านไปแค่รสกลิ่นที่ตราตรึง แล้วก็หิวน้ำลิ้นชาอย่างรวดเร็ว ส่วนจะติดตลาดหรือคนชอบหรือไม่ก็อยู่ที่หน้าตาและเพลงในอัลบั้มว่าแปลกใหม่หรือดึงดูดใจเท่าไหร่

ซึ่งแน่นอนงานชุดนี้ก็ระดมทีมทำเพลงที่มีอยู่มาระดมทำงานเพลงเพื่อส่งเอามาเลือกบทเพลงและดนตรีที่เหมาะกับตัวเบิร์ด-ธงไชย ในระดับพิมพ์นิยมของตัวเขาและเข้ากับแฟชั่นดนตรีที่ทีมการตลาดคิดว่า ใช่! คนฟังชอบ แล้วโหมอัดทั้งโฆษณาต่างๆ ผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ ของตัวเองที่มีอยู่ในมือ และซื้อหาเวลาและหน้ากระดาษมาอย่างเต็มที่ และในอัลบั้มชุดนี้ก็เพิ่มช่องทางในโลกไซเบอร์สเปซอีกโสตหนึ่ง

การทำเพลงในยุคหลังของเบิร์ด-ธงไชย มักจะเน้นหนักไปในบทเพลงแบบพ๊อพแด๊นซ์สนุกสนานแล้วเติมไอเดียตามดนตรีสมัยนิยมเข้าไป โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การขายโชว์ในคอนเสิร์ตของตัวเอง ซึ่งถือเป็นมูลค่าเพิ่มที่มีรายได้มหาศาล และยุคนี้ยิ่งต้องทำในฐานะเอนเทอร์เทนเนอร์ตัวแม่เหล็กของค่ายเพลงที่เชื่อขนมกินได้

อีกส่วนก็คือบทเพลงในแบบบัลลาดพ๊อพในเชิงโรแมนติกโศกอกหักที่เป็นจุดขายอีกส่วนที่ขาดไม่ได้ในการเรียกแม่ยก

บทเพลงในอัลบั้มชุด ‘อาสาสนุก’ ก็อยู่ในเกณฑ์นี้ บทเพลงในแนวพ๊อพแด๊นซ์จะอยู่ในช่วง 8 เพลงแรก ถึง 5 เพลง

‘อยู่คนเดียว’, ‘เรามา Sing’ และ ‘Too much So much Very much’ เป็น 3 เพลงแรกที่อัดโหมอารมณ์สนุกแบบสร้างให้เกิดอารมณ์โยกย้ายแต่พองาม ไม่ถึงขั้นกระหน่ำในแบบดนตรีคลับแด๊นซ์ ซึ่งก็เห็นความพยายามที่จะสร้างสีสันดนตรีแปลกใหม่ในร่องเสียงเดิมๆ แบบเบิร์ด-ธงไชยอยู่บ้าง แต่ดูอิหลักอิเหลื่อมากกว่าน่าชื่นชม เพราะมันออกเชยๆ ลักลั่นอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการนำเสียงฉิ่งและลักษณะการร้องกึ่งแหล่กลิ่นไทยเพื่ออิงกระแสฮิพฮอพอยู่บ้างในบทเพลง ‘อยู่คนเดียว’ เป็นความสร้างสรรค์ที่ไม่สามารถนำสู่สิ่งใหม่ได้เลย แปลกหูอยู่บ้างแต่ฟังจับได้ถึงความสับสนปนกันอย่างไม่เป็นระเบียบและเนียนหู

‘เรามา Sing’ โดยเฉพาะท่อนสร้อยทำให้นึกถึงบทเพลงพ๊อพแด๊นซ์ในพิมพ์นิยมยุคหลังของอาร์เอส. เสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในท่อนสร้อยที่ร้องว่า แฉ่ แช แดด แชด แฉ่ แช้แด ทำให้อดย้อนประหวัดหวนไปคิดถึงบทเพลงประกอบหนัง ‘แสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า’ ที่มีบทเพลง ‘แช่แวบ (ไม่อยากเป็นพระ)’ ซึ่งร้องโดยพระเอกของท้องเรื่อง แดน-วรเวช ดานุวงศ์ ซึ่งมีท่อนสร้อยร้องว่า แช่แวบ ชะแด๊บ ชะแด่ว ชะแด๊บ ชะแด่ว ชะแด่ว ชะแด๊บ

ส่วนบทเพลง ‘Too much So much Very much’ เป็นสูตรของตายในการทำเพลงพ๊อพแด๊นซ์กลิ่นอายแร๊พแบบโจอี้ บอย ซึ่งเคยชินไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอีกแล้ว

อีก 2 เพลงที่เป็นสูตรพ๊อพแด๊นซ์คือ ‘ตะโกนว่ารัก...ว่ารัก’ กับ ‘ชี้แนะ’ ก็ยังไม่มีอะไรน่าประทับใจ เพราะหากเทียบกับบทเพลงแนวเดียวกันในยุคหลังๆ ของเบิร์ด-ธงไชย ยังมีอะไรที่ให้จับต้องอย่างน่าตื่นเต้นกว่านี้อีกเยอะ

โดยเฉพาะบทเพลง ‘ชี้แนะ’ ที่ใช้คนเขียนเนื้อร้องถึง 4 คน คือ ธงไชย แมคอินไตย์เอง, มุขเอก จงมั่นคง (ลูกชายของผู้บริหารจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ คือ สันติสุข จงมั่นคง กับบุษบา ดาวเรือง ซึ่งเขาเคยนั่งเก้าอี้บริหารค่ายสนามหลวงในยุคบุกเบิก และเป็นคนเขียนเนื้อร้องในเพลง ‘เรามา Sing’ ในอัลบั้มชุดนี้อีก 1 เพลง), ปรีติ บารมีอนันต์ หรือ แบงค์ วงแคลช และนักเขียนเพลงอาชีพ จักราวุธ แสวงผล สุมหัวระดมสมองได้แค่นี้เพื่อเขียนเพลงให้ซูเปอร์สตาร์อันดับ 1 ของเมืองไทย ก็เอวังกันล่ะ

แม้จะพยายามทำความเข้าใจ วางใจกลางๆ และให้ความเป็นธรรมดนตรีพ๊อพแด๊นซ์หรือแด๊นซ์พ๊อพ เพราะถือว่าโดยธรรมชาติเป็นสไตล์ดนตรีที่เกี่ยวกับการสร้างภาพหรือเน้นย้ำภาพลักษณ์ให้ดูดีเพื่อความบันเทิงเป็นหลักใหญ่ ซึ่งมิใช่แก่นสารหรือให้ความสำคัญกับการวิวัฒน์ทางดนตรี เน้นนำไปที่บีทเต้นรำโยกย้าย ฟังง่าย มีท่วงทำนองที่ดึงดูดใจติดหูและจดจำได้ทันที ซึ่งส่วนมากตัวนักร้องเป็นแค่ตัวนำเสนอหรือคนที่นำความคิดของคนเขียนเพลงและทีมทำเพลงออกมาร้องให้เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความบันเทิงและการขายเป็นหลัก ซึ่งเบิร์ด-ธงไชยก็ตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะใช้ทีมแต่งเพลงแบบไหนก็ตาม

แต่สำหรับ 5 บทเพลงพ๊อพแด๊นซ์ในงานชุดนี้ อยู่ในระดับที่ถดถอยน้อยพลังลงไปเมื่อหยิบใส่ปากของเบิร์ด-ธงไชย ที่น่าจะมีสีสันและไอเดียที่บรรเจิดกว่านี้ หรือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ขาดบุคลากรทีมเขียนเพลงและแต่งเพลงรุ่นใหม่ที่แสดงถึงทิศทางและพัฒนาการที่เหมาะกับยุคสมัย...

สำหรับ 7 บทเพลงที่เหลือ ก็เป็นการตีหัวเข้าบ้านตามสัญชาตญาณการตลาด เอาแน่เป็นแช่แป้งเข้าไว้ ด้วยธีมบทเพลงบัลลาดเหงาเศร้าซึ้งโหยหาความรัก ดนตรีก็อยู่ในมาตรฐานที่มีความนุ่มนวลฉ่ำหวาน ลื่นไหล และทางคำสละสลวยแบบโรแมนติกบัลลาด ซึ่งคงไม่เจาะลึกเข้าไปมากมาย ถือว่าเป็นมาตรฐานเพลงแบบเบิร์ดที่เข้าใจตลาดคนฟังเพลงคนไทยที่ฟังเพลงพ๊อพกระแสหลักว่า ต้องเขียนเพลงที่มีเนื้อร้องโดน ท่อนฮุคสวยกรีดใจติดหู ซึ่งก็ทำได้ตามโจทย์แต่ไม่โดดเด่น ยังรักษาคุณลักษณะเพลงแบบออดอ้อนออเซาะแบบของเขาไว้ได้ครบถ้วนก็เท่านั้นเอง

สรุปก็คือ งานเพลงในชุดนี้มีทั้งดนตรีพ๊อพแด๊นซ์ฟังง่ายเน้นโยกย้ายและเหงาเศร้าซึ้งกินใจภายใต้เครื่องหมายการค้าของเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ และทีมแต่งเพลงแบบแกรมมี่ซาวด์ ที่ผ่านไป 20 กว่าปียังแช่แข็งเวลาไว้ ทั้งที่คนฟังเพลงเปลี่ยนไป 2 รุ่นแล้ว...ดูเหมือนเป็นความพยายามใหม่แบบมั่นใจในตัวเองแต่ดูอิหลักอิเหลื่อลักลั่นไม่ลงตัว

3. ซูเปอร์สตาร์เอนเทอร์เทนเนอร์ยุคสุดท้าย

อย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในโลกของทุนและการบริโภคนิยมเป็นเข็มทิศ งานเพลงในแบบพาณิชย์ศิลป์ก็ยังเป็นงานในกระแสหลัก เพียงแต่ขยับรับมือกับทิศทางและพัฒนาการของสื่อและช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอย่างไร

อัลบั้ม ‘อาสาสนุก’ น่าจะเป็นแรงเหวี่ยงของของโมเมนตัมสุดท้ายของซูเปอร์สตาร์แห่งวงการเพลงร่วมสมัยของไทย ที่มีการตลาดและกระหน่ำอัดทางสื่อต่างๆ นำหน้าดนตรีและตัวเพลงอย่างสุดกู่อีกครั้ง ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติของการทำงานในนามของเอนเทอร์เทนเนอร์ของคนทุกรุ่นทุกวัยที่ใช้เพลงและการแสดงบนเวทีเป็นสื่อกลางในการเอาใจตลาดเพลงยอดนิยม

จากสมัยก่อนที่เคยปล่อยอัลบั้มออกมาแล้วมีเพลงฮิตขึ้นมาทีละเพลงอย่างต่อเนื่อง ในสำหรับงานชุดนี้กลับมาใช้วิธีแบบใหม่ในยุคดิจิตอลดาวน์โหลด คือ ปล่อยเพลงเป็นซิงเกิลที่ละเพลง ปั่นและวัดกระแสดูว่าเป็นเพลงฮิตหรือไม่ด้วยการตลาดแบบเดิมที่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งการตลาดและสื่อรุมกระหน่ำเต็มที่

‘อาสาสนุก’ จึงไม่ใช่ความน่าตื่นเต้นว่า เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ จะมีมุขใหม่อะไรมาอวดหรืออดอ้อนแฟนเพลง เพราะบทเพลงที่ปล่อยมาตั้งแต่ ‘อยู่คนเดียว’, ‘อยากบอกรัก’, ‘โลกของคนเหงา’, ‘Alone’, ‘เรามา Sing’ และ ‘Too Much So Much Very Much’ ซึ่งอยู่ในข่ายเพลงฮิตทั้งหมดก็พอจะวัดได้แล้วว่า เบิร์ด ยังอยู่รอด แม้ไม่สามารถจะสร้างยอดขายอัลบั้มในแบบคาสเซทท์หรือซีดีอย่างระเบิดเหมือนเก่าอีกแล้ว แต่ยุคดิจิตอล ดาวน์โหลด น่าจะพอทำให้ตัวเลขรายได้ไม่แตกต่างมากนัก แต่จะเห็นความหวั่นใจตรงนี้อยู่พอสมควรจากการที่ทีมการตลาดและภาพลักษณ์หันมาเปิดแนวรบทางโลกออนไลน์ ไม่ว่า จะเป็นเว็บไซต์อาสาสนุกดอทคอม และปล่อยเพลงวัดกระแสคนรุ่นใหม่ในยูทูบก็ตาม

ในฐานะเอนเทอร์เทนเนอร์หรือผู้สร้างความบันเทิงในระดับซูเปอร์สตาร์ขอวงวงการเพลงร่วมสมัยของไทย ด้วยวัยวุฒิที่ล่วงเลยกับคุณวุฒิต่างๆที่ได้รับจากโลกบันเทิงนั้น กลับสวนทางกับหน้าตาที่ดูอ่อนเยาว์และบทเพลงที่ไม่สมกับวัย เพราะฉะนั้นเบิร์ด-ธงไชย จึงต้องเดิมพันกันสุดตัวด้วยสูตรสมการเพลง
 
ดนตรีพ๊อพ < อายุ = ?

หากว่าไปแล้ว เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ สามารถอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ที่ผ่านหลักจะ 30 ปีในวงการเข้าไปแล้ว คงไม่ได้อยู่ที่ตัวเองและตัวเพลงหรือดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ด้วยเงื่อนไขของการตลาดและสื่อในยุคสมัยใหม่ที่มาเอื้อต่อตัวงานทั้งหมด โดยเฉพาะการตลาดและการโปรโมทที่ดึงให้ลอยขึ้นสู่ระดับเหนือกว่าคนธรรมดาทั้งหมด แต่เมื่อโลกเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้งจากที่เคยเอื้อประโยชน์ให้สินค้าที่ผลิตออกมา วันนี้โลกยุคดิจิตอล การสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงทำให้ไลฟ์สไตล์และรสนิยมการฟังเพลงไม่สามารถชี้นำได้แบบหมดจดจากสื่อแบบเก่า คือ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์อีกต่อไป

อัลบั้มชุดนี้ของเบิร์ด-ธงไชย น่าจะเป็นยุคสุดท้ายในฐานะซูเปอร์สตาร์เอนเทอร์เทนเนอร์ของแฟนเพลงหรือแม่ยกที่เป็นลูกค้าผู้จงรักภักดี โดยเฉพาะแฟนเพลงพ๊อพกระแสหลัก ส่วนเด็กรุ่นใหม่คงยากที่จะเชื่อมต่อได้อย่างสมบูรณ์อย่างคนรุ่นก่อนหน้านี้ ซึ่งยังไม่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

เพราะอายุขัยที่เพิ่มขึ้นและตัวงานเพลงที่ไม่มีพัฒนาการให้สมวัย น่าจะเป็นตัวกัดกินเบิร์ด-ธงไชย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากทีมการตลาดยังคิดแช่แข็งอดีตความหอมหวานและวันวัยที่ไม่ยอมเปลี่ยน

ก็คงต้องได้เวลานับถอยหลังอย่างจริงจังเสียทีสำหรับสินค้าตัวนี้ในวงการเพลงไทยร่วมสมัย...
……….
บทเพลงทั้งหมดในอัลบั้ม ‘อาสาสนุก’ ของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์

1. ‘อยู่คนเดียว’
2. ‘เรามา sing’
3. ‘Too much So much Very much’
4. ‘อยากบอกรัก’
5. ‘ตะโกนว่ารัก...ว่ารัก’
6. ‘อย่าทำอย่างนี้ไม่ว่ากับใคร...เข้าใจไหม’
7. ‘ร้องไห้ทำไม’
8. ‘ชี้แนะ’
9. ‘อกมีไว้หัก’
10. ‘Alone’
11. ‘โลกของคนเหงา’
12. ‘นับเรื่องดีๆ’

>>>>>>>>>>
ฟังมาแล้ว

ตรงแนวๆ / แทททู คัลเลอร์

งานเพลงที่น่าผิดหวังเมื่อเทียบกับอัลบั้มชุดก่อนๆ ของพวกเขา แต่ก็ถือว่าเอาตัวรอดถูไถไปได้ หากไม่คิดอะไรมากในการฟัง ก็ถือว่าสอบผ่านแบบหยวนๆ กันไป

10 บทเพลงในอัลบั้มชุดนี้ ก็ยังคงมาตรฐานในแบบดนตรีอินดี้พ๊อพไว้คงเดิม แต่พยายามเพิ่มความอารมณ์ดีและความฮาลงไปในตัวเพลงจนดูจะเกินพอดีไปบ้าง เพราะคิดว่าแนวโน้มตลาดคนฟังเพลงน่าจะชอบ

บทเพลงที่ได้มือกีตาร์มาเป็นแขกรับเชิญหรือฟีเจอริ่งที่มีอยู่ 2 เพลง คือ ‘แค่นั้นจริงๆ’ ที่ได้ สกุลชาย จูพะพล และ ‘พรสวรรค์’ ที่ได้ชาตรี คงสุวรรณ มาร่วมบรรเลงและโซโล่กีตาร์ ถือเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ดนตรีและตัวเพลงน่าฟังมากขึ้นในอัลบั้มชุดนี้

ฟังจบทั้ง 10 เพลง ควรรอเพื่อฟังละครวิทยุที่ทางวงทำขึ้นมาด้วย ฮามาก...(ไม่รู้จะเอาฮาไปถึงไหน)

Empire [20th Anniversary Edition] / Queensryche

ความทรงจำของอัลบั้มที่ผนึกแน่นยาวนานถึง 2 ทศวรรษไม่ใช่เรื่องที่ธรรมดา ต้องมีสิ่งพิเศษอยู่นอกเหนือเกณฑ์ปกติทั่วไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

อัลบั้มของวงโปรเกรสสีฟเมทัลยุคบุกเบิกในทศวรรษที่ 80 ซึ่งพัฒนาดนตรีเพิ่มความรวดเร็วและหนักหน่วงจากดนตรีโปรเกรสสีฟร๊อคขึ้นอีกระดับหนึ่ง งานชุดนี้ต่อเนื่องจากช่วงขึ้นสูงสุดในการสร้างสรรค์งานดนตรีของวง จากอัลบั้ม ‘Operation: Mindcrime’ ที่ยอดเยี่ยมและน่าตื่นตะลึง

แต่ 11 บทเพลงในชุดนี้สามารถต่อยอดได้ยอดเยี่ยมเท่ากันและกลมกล่อมกว่า เป็นสะพานที่เชื่อมดนตรีที่ถือว่าเป็นหนึ่งในโลกของเฮฟวี่เมทัลแบบอังกฤษของ วง Iron Maiden ให้กลืนกลายเข้าเป็นเนื้อเดียวกับกับศิลปะดนตรีแบบโปรเกรสสีฟ ร๊อค ในจริตของยอดวงแนวนี้ Pink Floyd นี่คือความยอดเยี่ยมในคอนซ็ปท์อัลบั้มชุดนี้ที่แสดงถึงภาคดนตรีและการเล่าเรื่องผ่านจินตนาการที่คมคายและซับซ้อนของ Queensryche

งานชุดที่ออกมาเฉลิมฉลองครบ 20 ปีครั้งนี้ แถมซีดีอีก 1 แผ่นที่เป็นบันทึกการแสดงสดของงานชุดนี้ที่แฮมเมอร์สมิธ โอดิออน ในกรุงลอนดอน อังกฤษ ซึ่งไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน

Soul / Seal

แม้โดยปกติวิสัยเขาจะขับร้องเพลงในแนวฟังค์และเออร์บันเป็นหลัก รวมถึงความโด่งดังในสายเพลงเฮ้าส์, พ็อพ และอดัลท์ คอนเทมโพรารี่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาร้องเพลงโซลที่ขึ้นหิ้งคลาสสิคอมตะไม่ได้ เขาคอฟเวอร์บทเพลงโซลในยุคทองอันรุ่งเรืองมาฟื้นคืนชีพด้วยเสียงอันแหบหนาทรงพลังอันสุดยอดของเขาได้อย่างน่าชื่นชม

งานชุดนี้ได้ยอดโปรดิวเซอร์ คือ เดวิด ฟอสเตอร์ มาร่วมทำงาน เขาดึงศักยภาพเสียงร้องของซีลให้มาผสมกับดนตรีที่ถูกทำให้ร่วมสมัย ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเสียงร้องในแบบนีโอ-โซลของซีลให้นวลเนียนมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการพัฒนางานไปข้างหน้าในการตีความเพลงแต่ยังรักษาจิตวิญญาณของต้นฉบับเพลงด้วยความคารวะ

Live at the Amsterdam Arena / Tina Turner

การบันทึกการแสดงสดทั้งภาพและเสียงกับ 3 คืนที่เธอแสดงบนเวทีในสนามกีฬา ดิ อัมสเตอร์ดัม อรีน่า ในฮอลแลนด์ ต่อหน้าผู้ชมกว่า 50,000 คนต่อรอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทัวร์ ‘ไวเดรสต์ ดรีม’ ยูโรเปี้ยน ทัวร์ ความลับเรื่องอาวุธบนเวทีการแสดงของเธอไม่มีอะไรมาก นั่นก็คือ เสียงร้องของทีน่า เทอร์เนอร์เอง ซึ่งสะกดจิตผู้ชมด้วยความสนุกสนานและซาบซึ้งทั้งพลังเสียงที่โชว์เสียงร้องในแบบอาร์แอนด์บี, โซล, พ็อพร็อคที่หนักแน่น แน่นอนการเต้นอย่างสวิงสวายบนเวทีก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เธออยู่ค้างฟ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น