xs
xsm
sm
md
lg

"Pink Floyd" ฟ้อง "EMI" ยันจะปล่อยเพลงดาวน์โหลดต้องทั้งอัลบั้ม ห้ามแบ่งเป็นเพลงๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"Pink Floyd" ได้รับชัยชนะในการฟ้องร้อง บังคับให้ EMI บริษัทต้นสังกัดต้องหยุดยั้งแผนการขายเพลงของวงผ่านอินเตอร์เน็ต และยืนยันว่างานของวงต้องขายเป็นอัลบั้มเท่านั้น ห้ามปล่อยให้ซื้อขายเป็นเพลงๆ เด็ดขาด

วงดนตรีแนวโปรเกรสซีฟร็อคระดับตำนาน Pink Floyd เป็นผู้ชนะหลังยื่นฟ้องร้อง EMI ต้นสังกัด และผู้ถือลิขสิทธิ์เผยแพร่งานของพวกเขาเอง เมื่อพบว่าบริษัทพยายามจะขายเพลงของพวกวงทางอินเตอร์เน็ต โดยปล่อยให้แฟนๆ สามารถเลือกดาวน์โหลดได้เป็นเพลงๆ ไป ซึ่งผิดกับสัญญาที่ได้เคยทำเอาไว้ว่า เพลงของ Pink Floyd ต้องขายเป็นอัลบั้มเต็มเท่านั้น หรือปล่อยให้ดาวน์โหลดเต็มๆ ทุกเพลงในแต่ละชุดเท่านั้น

โรเบิร์ต ฮาว ทนายความของวงกล่าวว่า Pink Floyd เป็นที่รู้จักในการสร้างงานแต่ละชุดที่เป็นเนื้อเดียวกัน ทุกเพลงต่อเนื่องในแบบของคอนเส็ปท์ อาทิ "Dark Side of the Moon," "The Division Bell" และ "The Wall" ซึ่งพวกเขาต้องการที่จะควบคุมการขายผลงานเหล่านี้ อย่างที่มันควรจะเป็นเท่านั้น

ฝ่าย EMI อ้างว่าสัญญาที่เซ็นไว้กว่า 40 ที่แล้ว เป็นการตกลงเจรจาในเงื่อนไขที่ก่อนที่จะมี iTunes หรือการขายสินค้าทางออนไลน์ในแบบต่างๆ ซึ่งน่าจะทำให้สัญญาสามารถบังคับใช้เฉพาะสำหรับการขายแผ่นเสียง, เทป หรือซีดีเท่านั้นไม่ใช่ได้ครอบคลุมไปถึงการขายทางอินเตอร์เน็ตด้วย

ผู้พิพากษา แอนดรู มอร์ริตต์ ตัดสินโน้มเอียงไปทางฝั่งของ Pink Floyd และชี้ว่าสัญญาที่สองฝ่ายลงนามร่วมกัน มีจุดประสงค์หลักในการปกป้องความสมบูรณ์ทางศิลปะของงานเหล่านี้เป็นหลัก ..."EMI มีสิทธิ์ในการขายเฉพาะอัลบั้มหลักเท่านั้น ไม่สามารถขายเพลงของวงเป็นเพลงๆ โดยไม่ได้รับคำอนุญาตจาก Pink Floyd"

นอกจากนี้ศาลยังมีคำสั่งให้ทาง EMI ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในคดีให้กับวงดนตรีจากอังกฤษเป็นจำนวนทั้งสิ้น 40,000 ปอนด์ด้วย

การต่อสู้ของศิลปินกันต้นสังกัด ในเรื่องที่ว่าด้วยการดาวน์โหลดเพลง อย่างในกรณีของ "Pink Floyd" และ "EMI" ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นในวงการเพลงตะวันตกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

Pink Floyd เซ็นสัญญากับ EMI ในปี 1967 และกลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทำเงินสูงสุดให้กับบริษัท เป็นรองเพียง The Beatles เท่านั้น ซึ่งในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมายอดขายงานเพลงของ EMI (และในอุตสหกรรมเพลงโดยรวม)ลดลงอย่างน่าใจหาย การดึงเอาเพลงคลาสสิคจากวงยิ่งใหญ่เช่น Pink Floyd มาจำหน่ายอีกครั้ง จึงเป็นทางออกที่น่าจะทำได้ทันที

หลังมีคำติดสินของศาล EMI ยืนยันว่าจะแผนการปล่อยเพลง ของวงร็อคในตำนานวงนี้ให้ดาวน์โหลดจะไม่ถูกพับเก็บ และคดียังต้องต่อสู้กันอีกหลายยก เพราะคำตัดสินยังไม่สิ้นสุด

ธุรกิจการขายเพลงทางอินเตอร์เน็ตเติบโตอย่างมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะนำเพลงร็อคคลาสสิคเหล่านี้ออกขายทางออนไลน์ แต่ยังมีศิลปินอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับแผนการหารายได้แบบนี้

มีศิลปินร็อครุ่นลายครามอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังคงยืนยันการขายอัลบั้มเต็มเป็นหลัก ไม่ใช่ปล่อยให้แฟนๆ สามารถเลือกดาวน์โหลดได้เป็นเพลงๆ ไป AC/DC วงฮาร์ดร็อคจากออสเตรเลียยังยืนยันว่า จะขายเฉพาะอัลบั้มเต็มเท่านั้น และเมินข้อเสนอของ iTunes เช่นเดียวกับ The Beatles ที่มีความคิดเห็นไปในทางนี้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญในวงการดนตรีมองว่า การดิ้นรนของกลุ่มศิลปินระดับตำนานเหล่านี้อาจเป็นเรื่องดันทุรัน และมองข้ามประโยชน์ของเทคโนโลยีชนิดใหม่

นักวิจารณ์เพลงรายหนึ่งกล่าวว่า ยุคนี้การฟังเพลงเปลี่ยนไปจากเดิมมาก และแตกตต่างจากยุคที่ Pink Floyd, The Beatles หรือ AC/DC โด่งดังขึ้นมา หลังการเกิดขึ้นของเครื่องฟังเพลงแบบพกพาอย่าง iPod, Zune หรือโทรศัพท์มือถือ และ shuffle mode ที่ทำให้หลายคนอาจบอกวงร็อครุ่นคุณปู่ว่า ไม่ได้ซีเรียสกับการฟังเพลงอะไรมากมาย นอกจากใช้เป็นเครื่องคลายเหงาระหว่างออกกำลังกายเท่านั้น

ซึ่งคงเป็นเรื่องยากที่พฤติกรรมของผู้ฟังจำนวนมาก กลับไปดื่มด่ำกับการฟังเพลงอัลบั้มเต็มสุดวิจิตเช่นแต่ก่อน ซึ่งในมุมของบริษัทเพลง ในยุคที่ยอดขายตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถือว่าหมดเวลาแล้วที่จะยัดเยียดงานอัลบั้มเต็มให้กับคนฟังเหมือนแต่ก่อน "แค่ซื้อเพลงซักเพลงก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีแล้ว อย่าว่าแต่การขายอัลบั้มเต็มได้ซักชุดเลย" ตัวแทนจากบริษัทเพลงแห่งหนึ่งให้ความเห็น

นักฟังเพลงคนหนึ่งให้ความเห็นว่าสุดท้ายทางเลือก ในการเสพงานดนตรีควรเป็นอิสระของคนฟัง ซึ่งไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับ คำพูดของศิลปินอีกต่อไป "ใช่คนฟังควรจะสามารถเลือกได้ว่าเขาต้องการอะไร โดยไม่ต้องไปกังวลกับความคิดของศิลปินผู้ผลิตงาน แค่วงดนตรีวงหนึ่งพูดออกมาว่า เพลงของพวกเขาเหมาะสมสำหรับการฟังเป็นอัลบั้มเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องเป็นคำประกาศิต"

"ในวงการภาพยนตร์ใครจะบอกได้ว่า การดูหนังหนังอย่าง There Will Be Blood บนจอทีวีพลาสม่า 60 นิ้ว จะได้อรรถรสที่น้อยกว่าการชมในโรงภาพยนตร์ ซึ่งผมว่าไม่ การดูในโฮมเทียเทอร์ หรือแผ่น บลูเรย์ที่บ้านกลายเป็นการชมภาพยนตร์ที่บันเทิงกว่าสำหรับบางคนไปแล้ว เพราะเราไม่ต้องกังวลกับพวกอีเดียดในโรงหนัง เช่นเดียวกับการฟังเพลงที่คนฟังควรมีสิทธิ์เลือก ว่าอะไรเหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเอง"

นอกจากนั้นฝ่ายที่อยากให้ร็อคระดับตำนานทั้งหลายยอมลดราวาศอกลงบ้าง และยังให้คำแนะนำว่า การขายเพลงฮิตๆ แยกส่วนจากอัลบั้มเต็ม ก็น่าจะทำให้เด็กรุ่นใหม่ ได้ทำความรู้จักกับงานเหล่านั้น และสุดท้ายอัลบั้มเต็มก็มีสิทธิ์ขายได้เพิ่ม ชื่อของ Pink Floyd ก็จะเป็นอมตะต่อไป

แต่สำหรับแฟนพันธ์แท้ยังคงยืนยันว่า การรับฟังเสียงจากศิลปินยังคงเป็นสิ่งจำเป็น “Pink Floyd เป็นคนสร้างงานพวกนั้นมานะครับ พวกเขาเท่านั้นที่จะรู้ดีที่สุด ว่าอะไรเหมาะที่สุดสำหรับการเสพงานเหล่านี้ ถ้าเขาอยากให้ฟังเพลงทั้งชุด เราเองในฐานะผู้บริโภคก็ควรจะเคารพความต้องการของศิลปินด้วยเช่นเดียวกัน"

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก






กำลังโหลดความคิดเห็น