xs
xsm
sm
md
lg

“ดีพ เพอร์เพิล- สกอร์เปี้ยนส์-แกรี มัวร์” นำทีมร็อกมันใหญ่มาก ใน“The Greatest Rock Album”/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
Bill Haley
“ร็อกไม่มีวันตาย”

นี่ไม่ใช่วาจาผายลมแต่อย่างใด

หากแต่เป็นความจริงที่วันนี้ดนตรีร็อกได้ถูกกาลเวลาบ่มเพาะพิสูจน์ตัวตนให้เห็นว่า แม้ร็อกแอนด์โรลจะอ่อนล้า แผ่วโหย ไปในหลายๆครั้ง ตามวงจรวัฏจักรดนตรี หรือตามกระแสธุรกิจการตลาด แต่ร็อกแอนด์โรลก็ยังสามารถยืนหยัด ปรับตัว ดำรงไว้ซึ่งสถานะ“ร็อกไม่มีวันตาย”ได้อย่างน่ายกย่อง

สำหรับความเป็นมาของดนตรีร็อกที่จุติในบรรณพิภพ มันหาได้สั้นจุ๊ดจู๋เหมือนแฟชั่นกางเกงของสาวๆวัยรุ่นสมัยนี้ไม่ ซึ่งกำเนิดแห่งดนตรีร็อกนั้น แม้ไม่สามารถที่จะชี้ชัดฟันธงลงไปได้ว่ามาจากนักร้อง นักดนตรีคนใด วงใด สังกัดใด แต่เป็นที่รู้กันว่าดนตรีแนวนี้พัฒนามาจาก เพลงบลูส์ของคนผิวสี เพลงคันทรี เพลงฮิลเบอรี่ของคนผิวขาว ส่งผ่านต่อไปยังดนตรีริทึ่มแอนด์บลูส์ ที่ทวีความหนักแน่นมากขึ้น

จนในราวปี ค.ศ. 1951 “อลัน ฟรีด”(Alan Freed) ได้เรียกเพลงริทึ่มแอนด์บลูส์ที่เล่นแบบเน้นความหนักแน่นว่า “Rock and Roll” (Rock 'n Roll)

ว่ากันว่านี่คือที่มาของบัญญัติศัพท์ร็อกแอนด์โรลที่กลายเป็นตำนานไม่มีวันตายในยุคต่อมา

หลังชื่อร็อกแอนด์โรลถูกเรียกขานได้สักพัก “บิลล์ ฮาลี่ย์”(Bill Haley) ได้ทำเพลง “Rock Around the Clock” ออกมาในปี ค.ศ. 1955 ส่งขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตบิลล์บอร์ดได้นานถึง 8 สัปดาห์ติดต่อกัน ซึ่งว่ากันว่านี่คือเพลงร็อกแอนด์โรลอย่างเป็นทางการเพลงแรกของโลก
Elvis Presley
จากนั้นร็อกแอนด์โรลก็ไม่หยุดยั้ง เดินหน้าสู่ความยิ่งใหญ่ด้วยฝีมือ การสร้างสรรค์ และลูกบ้าของผู้บุกเบิกแผ้วถางเส้นทาง อย่าง ชัค เบอร์รี่(Chuck Berry), ลิทเติ้ล ริชาร์ด(Little Richard),โบ ดิดเล่ย์(Bo Diddley),เรย์ ชาร์ลส์(Ray Charles) จนกลายเป็นดนตรีที่ถูกจับตาแห่งยุคสมัย

กระทั่งในช่วงครึ่งหลังของยุค 50’s นักร้องหนุ่มอเมริกันผิวขาวหน้าตาหล่อเหลา ชนิดสาวแก่แม่ม่ายเห็นแล้วกรี๊ดกันเป็นแถว จากรัฐมิสซิสซิปปี นาม “เอลวิส เพรสลีย์”(Elvis Presley) ได้ถ่ายทอดน้ำเสียง พลังความสามารถ ผ่านบทเพลงชั้นดีมากมาย ออกมาสั่นสะเทือนยุทธจักรวงการเพลงแห่งบรรณพิภพ จนชาวโลกพร้อมใจกันยกให้เขาเป็น“ราชาแห่งร็อกแอนด์โรลล์”มาจนถึงทุกวันนี้
The Beatles
หลังจากนี้โลกแห่งร็อกแอนด์โรลยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนพลังต่อไป เมื่อเพชรยอดมงกุฎทางดนตรีอย่าง 4 เด็กหนุ่มอังกฤษจากลิเวอร์พูล เมืองเป็ดแดง เอ้ย!!! หงส์แดง ได้ปรากฏกายขึ้นในนาม “The Beatles”-“สี่เต่าทอง” ซึ่งพวกเขาทั้ง 4 ได้มาสร้างปรากฏการณ์ดนตรีร็อก ป็อบ และดนตรีอีกหลากหลายแนวเขย่าโลก พร้อมๆกับอีกหนึ่งตำนานวงร็อกอมตะอย่าง ไอ้หินกลิ้ง “The Rolling Stones” ที่เป็น 2 วงดนตรีด้านมืดกับด้านสว่างที่ตีคู่กันมา

และนับแต่กลางยุค 60’s ขึ้นไปโลกดูเหมือนจะฉุดพลังร็อกแอนด์โรลไม่อยู่เสียแล้ว เมื่อดนตรีแนวนี้ได้แผ่สยายความนิยมไปทั่วโลก พร้อมกับมีการแตกสาขาออกไปมากหลาย โดยเฉพาะการยกระดับความหนักหน่วงดุดันของดนตรีร็อกให้มากยิ่งขึ้น ด้วยเสียงกีตาร์ที่แตกพร่ากับลูกโซโลที่รวดเร็วจนนรกเรียกพี่ เสียงร้องที่แหกปากตะโกนอย่างสุดกึ๋นหรือสูงลิบลิ่ว เสียงเบสที่หนักแน่นเร้าใจ เสียงกลองที่รัวกระหน่ำสะท้านสะเทือน
Led Zeppelin
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดดนตรี“ฮาร์ดร็อก”อันหนักแน่นดุดัน ก่อนจะกลายเป็นดนตรี“เฮฟวี่เมทัล” ที่เวลาต่อมา ซึ่งเป็นอีกสาขาหนึ่งของดนตรีร็อกที่นับว่าทรงอิทธิพลมากในยุค 70’s

ทั้ง จิมมี่ เฮนดริกซ์(Jimi Hendrix),เดอะฮู(The Who),แกรนด์ฟังก์เรลโรด(Grand Funk Railroad)มาจนถึง เดอะ ยาร์ดเบิร์ด(The Yardbird) สถาบันแห่ง 3 กีตาร์เทพ ได้แก่ อีริค แคลปตัน,เจฟ เบค และจิมมี่ เพจ ที่ได้นำสรรพเสียงแห่งเพลงบลูส์มาทำให้ซับซ้อนดุดันมากขึ้น จนหลายคนบอกว่านี่คือวงดนตรีสำคัญผู้แผ้วถางเส้นทางให้กับจิมมี่ เพจ ซึ่งหลังจากยาร์ดเบิร์ดล่มสลาย เขาได้ร่วมกับโรเบิร์ต แพลนต์(Robert Plant) จอห์น พอล โจนส์(John Paul Jones) และ จอห์น บอนแฮม(John Bonham) สร้างวง“Led Zeppelin” เล่นดนตรีร็อกอันหนักแน่นดุดัน จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในวงดนตรีผู้บุกเบิกดนตรีในแนว”เฮฟวี่เมทัล”(อย่างเป็นทางการ)ขึ้นมา

แล้วเจ้าเรือเหาะมหัศจรรย์เลดเซฟก็ได้โลดแล่นทะยานพร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นรุ่นน้อง อย่าง ดีพ เพอร์เพิล(Deep Purple),แบล็ค ซับบาธ(Black Sabbath),สกอร์เปี้ยนส์(Scorpions),ยูไรฮีฟ (Uriah heep),AC/DC,จูดาสพรีส(Judas Priest),แอโรสมิท(Aerosmith),ไอรอน เมเดน(Iron Maiden) ฯลฯ พาดนตรีเฮฟวี่ฮาร์ดร็อกไปทะลุทะลวงบรรดาสาวกหูเหล็กกันแบบสะท้านสะเทือนเลื่อนลั่นโลก

ก่อนที่ดนตรีแนวฮาร์ด ร็อก และเฮฟวี่ เมทัล จะแตกแขนงไปอีกมากมายในยุคหลัง อาทิ พวกแฮร์แบนด์ Glam Rock, Neo-Classic, Speed Metal, Death Metal,Nu Metal และอีกมากมาย พร้อมๆกับการสืบสานต่อยอดของบรรดาวงรุ่นต่อมา อาทิ แวน แฮเลน(Van Halen),เดฟ เล็พพาร์ด,บอง โจวี่(Bon Jovi),กันส์แอนด์โรสเซส (Guns N' Roses),ไวท์สเนค(Whitesnake),เมทัลลิก้า(Metallica),เมกาเดธ(Megadeth),เอ๊กซ์ทรีม(Extreme) และโอ๊ย!!! อีกมากมายนับไม่ถ้วน กับแนวดนตรีที่ยามหนักแน่นดุดัน มันช่างโหด ดิบ หนักแน่น ทรงพลังเร้าใจยิ่งนัก ครั้นยามถึงบทจะหวาน มันก็ช่างหวานซึ้งหยดย้อยชนิดน้ำตาลเรียกพี่ แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่ละเลยในเรื่องของความหนักอยู่ดี

ในขณะที่ดนตรีร็อกแอนด์โรลก็ได้แตกสาขาไปอีกมากมาย เป็น คันทรีร็อก,โพรเกรสซีฟ ร็อค,โฟล์คร็อก,แจ๊ซร็อก,พังก์ร็อก,โมเดิร์นร็อก,อัลเทอร์เนทีฟ และดนตรีร็อกที่แตกแขนงแตกสาขา รวมถึงข้ามสายไปผสมผสานกับดนตรีแนวอื่นๆอีกมากมาย ดังที่ปรากฏในทุกวันนี้
The Greatest Rock Album
อนึ่งหากนับอายุของร็อกแอนด์โรลตั้งแต่อุบัติขึ้นมาจนถึงวันนี้ อายุอานามก็ปาเข้าไปร่วม 60 ปีแล้ว ถ้าเป็นคน นี่คือวัยเกษียณ ที่พลังไฟ พลังกาย และพลังอื่นๆอาจอ่อนล้าเสื่อมสภาพไปตามอายุขัย กาลเวลา

แต่ดนตรีร็อกไม่ใช่คน ดังนั้นพลังของมันยังคงอัดแน่นเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังอยู่ไม่สร่างซา(เพียงแต่ว่าอ่อนล้าไปบ้างตามสภาพการณ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น)

นั่นจึงทำให้ที่ผ่านมา เพลงร็อกอมตะ เพลงร็อกขึ้นหิ้งทั้งหลาย ที่ยังคงเป็นที่นิยมของแฟนเพลง จึงมักถูกทางค่ายเพลงต่างๆหยิบมารวบรวมในรูปแบบ Greatest Hits หรือ The Best กันอย่างมากมาย โดยเฉพาะบรรดาเพลงสโลว์ร็อก ซอฟต์ร็อก หวานแฝงดุนั้น มีการรวมแล้วรวมอีก รวมแล้วรวมเล่าอยู่มิรู้เบื่อ

แต่จะว่าไปสำหรับผู้นิยมเพลงร็อกทั้งหลาย(รวมทั้งผมด้วย) กับบทเพลงร็อกอมตะระดับขึ้นหิ้งแล้วฟังเท่าไหร่มันก็ไม่มีเบื่อ ดังนั้นเมื่อทาง “วอร์นเนอร์ มิวสิค”(Warner Music) ได้ไปไล่จับเพลงร็อกขึ้นหิ้งดังๆในอดีตมาใส่ไว้ในอัลบั้ม “The Greatest Rock Album” ผมจึงรีบไล่คว้าตะครุบมาฟังทันที

The Greatest Rock Album เป็นการรวมเพลงร็อกฮอตฮิตที่ไม่ได้ย้อนไปไกลถึงยุค 60’s เอลวิส บีทเทิ้ล โรลลิ่งสโตน หากแต่เป็นการคัดเพลงดังๆยุค เฮฟวี่ ฮาร์ดร็อก เบ่งบาน ในยุค 70’s ขึ้นไป จนถึงยุคอัลเทอร์เนทีฟครองเมืองในยุคท้าย 90’s ซึ่งเมื่อโลกของดนตรีร็อกมันใหญ่มาก อัลบั้มนี้จึงคัดเพลงมาบรรจุไว้มากถึง 68 เพลง ใน 4 แผ่นซีดี(แผ่นละ 17 เพลง)

งานเพลงโดยรวมของ The Greatest Rock Album เน้นไปที่เพลงร็อกช้าๆเพราะๆหวานซึ้งกว่าครึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นประเภทร็อกหนักๆ ดุๆ มันๆ ร็อกโจ๊ะๆ นำทีมโดยรุ่นเก๋า อย่าง ดีพ เพอร์เพิล(Deep Purple),ลินเนิร์ด สกินเนิร์ด(Lynyrd Skynyrd),สกอร์เปี้ยนส์(Scorpions),ฟรี(Free),เรนโบว์(Rainbow),คิส(Kiss),ซีซีทอป(ZZ Top),ไวท์สเนค(Whitesnake),แบดคัมพานี(Bad Company),แคนซัส(Kansas) และ ทีน่า เทอร์เนอร์(Tina Turner)คุณป้ามหาภัย

มาจนถึงรุ่นกลาง รุ่นหลัง อย่าง เจอร์เนย์(Journey),แกรี มัวร์(Gary Moore)ผู้ลาลับ, ฮาร์ท(Heart),ชิคาโก้(Chicago),ชีฟทริค(Cheap Trick),ฟอร์ไรเนอร์(Foreigner),โตโต้(Toto),มีทโลฟ(Meatloaf),เมกาเดธ(Megadeth),ไอรอน เมเดน(Iron Maiden),มิสเตอร์บิ๊ก(Mr.Big),ยุโรป(Europe),สคิดโรว์(Skid Row),ไวท์ไลออน(White Lion),เทสลา(Tesla) และอีกเพียบ

นอกจากนี้ยังมีสายโพรเกรสซีฟร็อกอย่าง เยส(Yes), ควีนสไรช์(Queensyrche)สายอัลเทอร์เนทีฟอย่าง เรดิโอเฮด(Radio Head), โซล อะไซรลัม(Soul Asylum),เรด ฮอต ชิลี เพพเพอร์(Red Hot Chili Peper)

สำหรับเพลงน่าฟังในชุดนี้ ผมว่าน่าฟังหมด เพราะนี่เป็นการคัดเพลงร็อกระดับตำนานจากวงระดับตำนานมานำเสนอ เพียงแต่ว่าในบางแผ่นการเรียงเพลงอาจสะเปะสะปะชวนให้ฟังสะดุดอารมณ์ไปบ้าง แต่ด้วยความยอดเยี่ยมของตัวเพลงมันก็สามารถกลบในเรื่องนี้ไปได้แบบเนียนพอตัว อย่างไรก็ตาม หากให้เลือกหยิบเพลงเด่นๆในแต่ละแผ่นมาแนะนำ ผมขอแนะนำตามความชอบส่วนตัว ดังนี้

เริ่มจากแผ่นแรก “Smoke On The Water”(Deep Purple) ริฟฟ์ยอดเยี่ยมอันดับต้นๆของโลกเพลงนี้ยังคงทรงพลังน่าฟังอยู่มิรู้เบื่อ,”Wind Of Change”(Scorpions) บัลลาดหวานเพราะ เนื้อหาดี ที่เด่นไปด้วยเสียงผิวปากอันชวนฟังจากไอ้แมงป่องผยองเดช,”Final Countdown”(Europe) นับถอยหลังความมันสะใจกับเสียงคีบอร์ดอันติดหู และท่วงทำนองอันตื่นเต้นเร้าใจ,”Still Got The Blues”(Gary Moore) เสียงกีตาร์ในเพลงนี้มันช่างหวานบาดลึกกินใจดีแท้,”Is This Love”(Whitesnake) ร็อกจังหวะสุดเท่กับเสียงร้องอันสุกแสนเซ็กซี่ของ เดวิด คัฟเวอร์เดล,”I’d Do Anything For Love(But I Won’t Do That)”(Meat Loaf) มันไปกับเปียโนและน้ำเสียงอันยอดเยี่ยมของ มีทโลฟ, “Dust In The Wind”(Kansas) บัลลาดเพราะๆที่พาหัวใจกระเจิงไปกับเสียงร้อง เสียงเกากีตาร์ และทางโซโลไวโอลินอันยอดเยี่ยม

แผ่นที่สอง “2 Minutes To Midnight”(Iron Maiden) เขย่าขโยกไปกับริฟฟ์หยาบๆมันๆ ควบพร้อมด้วยเสียงเบส เสียงกลองอันแสนเร้าใจ และเสียงแหกปากร้องอันสูงลิ่ว, “To Be With You”(Mr”Big) อะคูสติกสบายๆที่แก้วตาขาร็อกร้องเล่นกันได้ค่อนโลก,“When The Children Cry”(White Lion) บัลลาดร็อกที่ทั้งเสียงร้อง ปิ๊กกิ้ง และลูกโซโลมันช่างฟังหวานเศร้าอ้อยสร้อยเป็นบ้า, “Hard To Say I’m Sorry”(Chicago) เพลงของพ่อมดมือทอง เดวิส ฟอสเตอร์(David Foster) ขับร้องโดย ปีเตอร์ เซเทร่า(Peter Cetera)ที่ฟังกี่ครั้งก็ยังเพราะอยู่เสมอ

แผ่นที่สาม “Creep”(Radiohead) เพลงเก่งของเรดิโอเฮดที่ค่อยๆเลื้อยคลานนวดอารมณ์คนฟังไปกับดนตรีเนิบๆในช่วงแรก ก่อนไประเบิดคอร์ดแตกพร่าอย่างสะใจในท่อนกลางเพลงอย่างสุดมัน, “Runaway Train”(Soul Asylum)อัลเทอร์เนทีฟร็อกโจ๊ะๆที่มีเมโลดี้เท่ได้ใจ, “Owner Of A Lonely Heart”(Yes) โพรเกรสซีฟร็อคติดกลิ่นอีเล็คโทรนิคที่ฟังแล้ว ใช่เลย Yes,”Love Song”(Tesla) อินโทรไลน์กีตาร์แสนสวยกับดนตรีหวานเพราะที่ทวีความเข้มข้นช่วงท้ายเป็นไปตามสูตรสำหรับของบัลลาดร็อกชั้นดี,”Free Bird”(Lynyrd Skynyrd) หนึ่งในตำนานเพลงสุดยอดแห่งเซาเทิร์นร็อคที่เสียงสไลด์กีตาร์ในช่วงแรกของเพลงมันช่างหวานได้ใจ ก่อนจะไปควบขย่มกับกีตาร์ 3 ประสานในช่วงท้ายเพลงอย่างสุดมัน

แผ่นสุดท้าย “Babe”(Styx) เพลงนี้ฟังทีไรเป็นต้องนึกถึงท่อนสุดท้าย Babe,I LoveYou ไม่ได้ “More Than Words”(Extreme) ใครเล่าจะคิดว่าบทเพลงอะคูสติกง่ายๆกีตาร์ตัวเดียว เล่นคอร์ดไปตบกีตาร์ไปเพลงนี้ มันจะดังสนั่นลั่นโลก กลายเป็นไอดอลให้มือกีตาร์หันมาตบกีตาร์กันทั่วโลก,”Temple Of The King”(Rainbow) เสียงร้องของรอนนี่ เจมส์ ดิโอ เข้ากันได้ดีกับการลูกโซโลง่ายแต่บาดใจของริทชี่ แบล็คมอร์ยิ่งนัก,”Highway Star” ถนนสู่ดวงดาวที่พาชื่อเสียงของดีพเพอร์เพิลขึ้นไปค้างฟ้าคว้าดาว ด้วยดนตรีอันสุดมันทั้งลูกโซโลเร็วปานรถด่วนขบวนนรกของ ริทชี่ แบล็คมอร์ ลูกโซโลคีย์บอร์ดของจอห์น ลอร์ด อันสุดมัน และเสียงร้องอันสูงลิบของ เอียน กินแลน ที่วันนี้ก็หาใครมาแทนที่ไม่ได้

และนั่นก็เป็นไฮไลท์เพลงเด่นๆจาก 68 บทเพลงที่มีครบรสเพลงร็อค นับเป็นการรวมรสเพลงร็อกที่มีบทเพลงร็อคชั้นดีมาให้แฟนเพลงร็อกได้ฟังกันอย่างเต็มอิ่มจุใจ แต่ทว่าสำหรับผม แม้อัลบั้ม “The Greatest Rock Album” จะมีเพลงร็อกขึ้นหิ้งให้ฟังกันอย่างมากมาย แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังไม่เต็มอิ่มสะใจอยู่ดี เพราะมันขาดเพลงชั้นยอดของวงดนตรีร็อกชั้นยอดไปอีกมากมายหลายวง ไม่ว่าจะเป็น Led Zeppelin,Jimi Hendrix,Black Sabbath,Uriah heep,AC/DC,Judas Priest,Aerosmith,Bon Jovi,Guns N' Roses และ Metallica เป็นต้น

สำหรับเรื่องนี้หลายคนคงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไม?

เพราะถึงแม้ว่า “ร็อกไม่มีวันตาย” แต่ร็อกก็ต้องยอมจำนวนต่อเรื่องธุรกิจและเรื่องลิขสิทธิ์เพลงอยู่ดี

*****************************************
คอนเสิร์ต

คอนเสิร์ตการกุศล Sakura…I love you

จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ทำให้ทุกคนสะเทือนใจ ผู้คนนับหมื่นสูญเสียชีวิต พลัดพรากจากญาติพี่น้องด้วยปรากฏการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงรวบรวมนักร้องนักดนตรี มือรางวัลระดับนานาชาติมาจัดคอนเสิร์ตการกุศล Sakura…I love you โดยเปิดกล่องรับบริจาคให้ผู้สนใจได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว ในวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2554 เวลา 16.00น. ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

คอนเสิร์ตครั้งนี้ วิทยาลัยฯได้รับเชิญนักดนตรีอย่าง ตปาลิน เจริญสุข มือเชลโล รางวัลเดวิ ดอฟ จากประเทศลัทเวีย และชนะเลิศการแข่งขันนักดนตรีเยาวชนสากลคอนราดแห่งประเทศไทย (The Conrad Young Musician of Thailand Competition) พร้อมด้วยนักร้องรางวัลนานาชาติ อาทิเช่น ณัฐพร ธรรมาธิ นักร้องเสียง Tenor ผู้ชนะเลิศรางวัล Osaka Music Competition, เฟื่องลดา ประวัง ด้วยผลงานรางวัล International Baxter พร้อมได้รับเชิญไปแสดงที่คาร์เนกี้ฮอลล์มาแล้ว เพื่อนๆนักร้องดังจากวงวีว่าที่มีรางวัลการันตีอย่าง ตุลานันท์ นรเศรษฐ์พิศาล, กมลพร หุ่นเจริญ มาขับร้องบทเพลงจากโอเปร่าเลื่องชื่อ บทเพลงญี่ปุ่นและขับร้องประสานเสียงในบทเพลงอย่าง You raise me up, Panis Angelicus ของ Cesar Franck, Pie Jesu from Requiem ของ Andrew Loyd Webber, Record from Requiem ของโมสาร์ท ฯลฯ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-800-2525 ต่อ 153-4

คอนเสิร์ต เอ๊ดดี้ ออโตบาห์น

จุดประกาย คอนเสิร์ต ซีรีส์ # 43 ตอน “Funk You [Lupus]” นำเสนอ “เอ๊ดดี้ ออโตบาห์น” หรือ อัธพนธ์ มกรานนท์ อดีตมือกีตาร์ และนักร้องวงออโตบาห์น ในวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2554 เวลา 17.00 น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

เอ๊ดดี้ เปิดเผยว่า คอนเสิร์ตครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอภาพประสบการณ์ของการเล่นดนตรี ตั้งแต่การหลงใหลเสน่ห์ของดนตรีร็อค การเดินทางไปแสวงหาความอัศจรรย์ของเสียงดนตรีที่ยุโรป โดยเฉพาะที่เยอรมนีในช่วงวัยหนุ่ม จากนั้นกลับมาเล่นดนตรีในเมืองไทย และเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีที่สร้างสีสันให้แก่วงการเพลงไทยในยุคสมัยนั้น นั่นคือ ออโตบาห์น

ทั้งนี้หลังจาก“ออโตบาห์น” ยุบวง แต่ละคนต่างแยกย้ายไปเป็นศิลปินเดี่ยว อัธพนธ์ มกรานนท์ (บุตรชายของ อาคม มกรานนท์) ป่วยเป็นโรค SLE (systemic lupus erythematosus) หรือรู้จักกันในชื่อ Lupus แต่ด้วยกำลังใจที่ได้รับจากครอบครัวและมิตรสหาย ทำให้เขาค่อยๆ ต่อสู้กับโรคร้ายนี้อย่างหนักแน่นมั่นคง และนำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานเพลงที่กลั่นขึ้นจากชีวิตจริง หากในเวลาเดียวกัน ยังได้สะท้อนภาพความคิดอันสวยงามและมองโลกอย่างมีความหวัง ในชุด Funk You [Lupus] ซึ่งมีเสียงเพลงหลากหลาย ทั้งไทยและเทศ พร้อมด้วยแขกรับเชิญพิเศษ (รวมทั้งเซอร์ไพรส์ที่ไม่อาจบอกกล่าวได้ในพื้นที่นี้) โดย สุริยา พึ่งธงไทย รับหน้าที่เป็น มิวสิค ไดเร็คเตอร์ พร้อมด้วยศิลปินรุ่นใหญ่ สมชัย ขำเลิศกุล, พัชรา ดีลาร์ และ จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ในบทบาทของพิธีกร

สำหรับคอนเสิร์ตครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2554 เวลา 17.00 น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บัตรราคา 500/800/1,000 บาท สำรองที่นั่งได้ที่ ไทยทิกเก็ตทุกสาขา สอบถามเพิ่มเติมที่ 0-2262-3456 หรือดูที่ www.thaiticketmajor.com
กำลังโหลดความคิดเห็น