xs
xsm
sm
md
lg

อาลัย“แกรี มัวร์” ยอดมือกีตาร์เสียงหวาน สวย ดุ แทงทะลุถึงหัวใจ/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
แกรี มัวร์ เจ้าของสำเนียงกีตาร์ หวาน บาดลึก กินใจ
“...จดจำให้มันฝังใจ จำว่าไม่เคยพบใคร ไม่มีใครเคยอยู่เคยทิ้งเราไป...จดจำให้มันฝังใจ...”

เพลง “จำฝังใจ” : ร้องและเล่น-วงไมโคร : เนื้อร้อง-นิติพงษ์ ห่อนาค

สมัยวัยละอ่อนตอนเริ่มต้นฟังเพลงร็อคใหม่ๆ แม้จะยังไม่ค่อยรู้จักเพลงร็อค(ฝรั่ง)มากมายนัก แต่กับเพลงนี้ผม“จำฝังใจ”ได้แม่นว่า ทำนองต้นทางของมันมาจาก เพลง“Empty rooms” ของยอดมือกีตาร์หน้าบูด นาม “แกรี มัวร์”(Gary Moore)

ไม่ว่าจะเพลงนี้แกรมมี่จะจงใจ“ลอก” บังเอิญ”ก็อป” หรือเพียงแค่“ขอยืมทำนองเขามา”ชนิดที่เหมือนกันทุกเม็ดราวกับ“แกะ” แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถเลียนแบบกันได้ก็คือ “สำเนียงกีตาร์” ซึ่งถึงแม้ว่า แกรี มัวร์ จะไม่ใช่สุดยอดเทพกีตาร์ที่มีความเร็วของลูกนิ้วปานรถด่วนขบวนนรก ไม่ใช่พวกเทพแห่งเทคนิคอันหวือหวาแพรวพราว แต่เขาจัดเป็นยอดมือกีตาร์ที่มีสำเนียงหวานโศกบาดใจอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดคนหนึ่ง ชนิดที่ทอดตาไปทั่วยุทธจักรวงการเพลงจนตาไหม้เกรียม หาสำเนียงกีตาร์แบบนี้ได้ยากเต็มที ยากพอๆกับการงมกีตาร์ในมหาสมุทรแปซิฟิคเลยทีเดียว

นอกจากนี้แกรี มัวร์ยังเป็นหนึ่งในมือกีตาร์ที่ทรงอิทธิพลต่อวงการเพลงในยุค 80’s ไม่น้อย โดยเฉพาะในเมืองไทยนั้น แกรี มัวร์ทรงอิทธิพลถึงขนาดค่ายแกรมมี่นำเพลงของเขามาให้วงไมโครเล่นและร้องในเวอร์ชั่นภาษาไทย ตามที่กล่าวมาข้างต้น

แกรี มัวร์ ลืมตาขึ้นมาดูโลกเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ค.ศ. 1952 ที่เมือง เบลฟาสต์(Belfast) ในไอร์แลนด์เหนือ แม้ยอดมือกีตาร์ชาวไอริชผู้นี้ จะสร้างชื่อขึ้นมาจากดนตรีร็อคและเฮฟวี่ เมทัล แต่ความจำฝังใจที่เขามีต่อเสียงกีตาร์กลับเป็นมาจากดนตรีบลูส์ เพราะตอนเด็กอายุได้ 14 ปี เขาได้แอบมุดเข้าไปใน Rado Club และถูกสะกดด้วยบทเพลงอีเล็คทริกส์บลูส์จากวง “John Mayall & The Bluesbreakers” โดยเฉพาะกับ “Peter Green” มือกีตาร์ของวง ที่กลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญให้ แกรี มัวร์ อยากเป็นมือกีตาร์กับเขาบ้าง

หลังจากนั้นพออายุได้ 16 ปี แกรี มัวร์ได้เข้าสู่ยุทธจักรวงการเพลงด้วยการเป็นมือกีตาร์ในวง Skid Row(เป็นคนละวงกับ Skid Row ของไอ้หนุ่มผมยาว Sebastian Bach เจ้าของบทเพลงดัง 18 and Life และ I Remember You ที่บังเอิญชื่อวงดันไปเหมือนกันแบบชวนปวดกบาล)

ในปี ค.ศ. 1972 แกรี มัวร์ ย้ายไปเป็นมือกีตาร์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆให้กับวง Thin Lizzy วงฮาร์คร็อคที่มี ฟิล ไลน็อตต์(Phil Lynott)ร้องนำ ก่อนที่เขาจะแยกตัวออกมาสร้างผลงานเดี่ยวของตัวเอง โดยมี Grinding Stone (1973) เป็นผลงานเดี่ยวอัลบั้มแรก

จากนั้นแกรี มัวร์ ร่วมกับฟิล ไลน็อตต์ออกอัลบั้ม “Back on the Streets” (1979) เป็นลำดับถัดมา งานเพลงชุดนี้เสียงกีตาร์ของแกรี มัวร์ เริ่มเด่นชัดในแนวทางมากขึ้น คือนอกจากจะเล่นริฟฟ์ได้อย่างดุดันในเพลงร็อคสนุกๆมันๆแล้ว เขายังโดดเด่นในการสร้างเมโลดี้สวยๆและสำเนียงหวานระคนเศร้าในบัลลาคร็อค ไม่ว่าจะเป็นในเพลง“Spanish guitar” หรือ “Parisienne walkways”

ช่วงนั้นสำเนียงกีตาร์ของแกรี มัวร์ใน Parisienne walkways ถึงจะหวานก็จริง แต่ยังไม่หวานเท่ากับในยุคหลังๆ โดยเฉพาะช่วงที่เขาหันมาเล่นบลูส์แล้วนี่ สำเนียงกีตาร์ของแกรี มัวร์ มันช่างหวานเศร้าบาดลึกกรีดหัวใจดีแท้ แต่เมื่อครั้นยามบทจะดุพวกก็ขยี้เจ้าเส้นลวด 6 สายได้อย่างหนักหน่วงดุดันถึงใจ

พูดถึง Parisienne walkwaysแล้ว นี่จัดเป็นเพลงเจ้าปัญหาเอาเรื่อง เพราะเสียงเมโลดี้กีตาร์ในเพลงนี้มันช่างเหมือนกับเพลง “Night in Bangkok” ของป๋า“แหลม มอริสัน”(กีตาร์คิง) ราวกับ “แกะ” แต่ป๋าแหลมแกได้คอนเฟิร์มไว้นานมากแล้วว่าเพลงนี้แกขึ้นมาแต่งเอง รู้สึกว่าจะนึกทำนองขึ้นได้ตอนอยู่บนครื่องบินเสียด้วย(ถ้าความจำผมไม่ผิดพลาด)

เรื่องนี้แม้ยังคงคลุมเครืออยู่ แต่คุณน้าแกรี มัวร์ ได้พา Parisienne walkways ออกเดินท่องไปบนถนนดนตรีร็อค กลายเป็นหนึ่งในบัลลาดร็อคสุดคลาสสิคอมตะนิรันดร์กาลไปแล้ว
Run for Cover อัลบั้มสร้างชื่อ
“Run for Cover”(1985)เป็นงานเพลงชุดถัดมา มี “Empty rooms”เป็นเพลงเอก ซึ่งได้พาให้ชื่อเสียงของแกรี มัวร์ โด่งดังขึ้นชั้นทำเนียบยอดมือกีตาร์แห่งยุค กับสำเนียงกีตาร์หวาน สวย ดุ ที่เขาสามารถค้นหามันพบ และสร้างมันให้กลายเป็นลายเซ็นประจำตัวไปจนสิ้นลมหายใจ

ส่วนอัลบั้ม “Wild Frontier”(1987) ชุดนี้มีเพลงเด่นๆ “Over the hills and far away”กับแนวร็อคสนุกๆ “Johnny boy” เพลงช้าที่อวลไปด้วยกลิ่นสำเนียงดนตรีพื้นบ้านไอริช และ “The loner” เพลงบรรเลงสุดเพราะที่ตอกย้ำความเป็นเอกอุในด้านสรรพเสียง หวานเศร้า และเปี่ยมไปด้วยพลังวัตรอย่างร้ายกาจ

ถัดมาเป็น “After the War” (1989) ที่แกรี มัวร์ นำ “The Messiah Will Come Again” เพลงเก่าของ “Roy Buchanan” หนึ่งในยอดกีตาร์บลูส์เสียงหวาน มาบรรเลงอย่างหวานเศร้าระคนไปกับ
ความดุดันหนักแน่นกรีดลึกตามแบบฉบับของเขา แบบยังไม่มีวี่แววว่าคุณน้าแกรี มัวร์ จะกลายมาเป็นผู้เอาดีทางบลูส์แต่อย่างใด

แต่อย่างที่ผมเคยเล่าไว้ข้างต้นว่า แกรี มัวร์ มีความจำฝังใจกับเพลงของวงไมโคร เอ้ย!!! ไม่ใช่ คุณน้าแกรี มัวร์ แกมีความจำฝังใจกับเพลงบลูส์มาตั้งแต่เริ่มแตกพาน นั่นจึงทำให้ในปี ค.ศ. 1990 แกรี มัวร์ ฉีกแนวมาสร้างความแปลกใหม่ให้กับตัวเขาเองในผลงานเพลงชุด “Still Got the Blues”
Still Got the Blues
งานเพลงชุดนี้ แกรี มัวร์ ผสมผสานทั้งเพลงเก่าและใหม่เข้าไว้ด้วยกัน ในแบบร็อคบลูส์ ที่มีรุ่นพี่อย่าง อัลเบิร์ต คอลลินส์(Albert Collins),อัลเบิร์ต คิง(Albert King) และ จอร์จ แฮริสัน(George Harrison) มาช่วยเสริมทัพ และทีมเครื่องเป่ามาช่วยเสริมความแกร่ง ซึ่งแกรี มัวร์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า การมีเครื่องเป่า มันทำให้งานเพลงบลูส์ร็อคของเขามีความสมบูรณ์มากขึ้นและมีสำเนียงต่างไปจากวงทั่วๆไป นอกจากนี้ยังมีการใส่ไลน์เครื่องสายเพิ่มสีสันลงไปในบางเพลงด้วย โดยหลังจากชุดนี้ทั้งไลน์เครื่องเป่าและเครื่องสายต่างก็กลายมาเป็นเพลงบลูส์ในลายเซ็นแบบแกรี มัวร์ขึ้นมา

Still Got the Blues มีเพลงเด่นๆอาทิ "Moving On"(Moore),"Oh Pretty Woman" (A.C. Williams),"King of the Blues"(Moore) และ "All Your Love" ของ Otis Rush หนึ่งในเพลงสุดประทับใจของแกรี มัวร์ สมัยเมื่อครั้งมุด Rado Club เข้าไปชมวง “John Mayall & The Bluesbreakers เล่น รวมถึงเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มอย่าง “Still Got the Blues” อันหวานบาดลึก ที่หลังจากนั้นได้กลายเป็นหนึ่งในบทเพลงบัลลาคร็อคอมตะของมือกีตาร์หน้าบูดคนนี้ไป

ทว่าเรื่องที่หลายคนคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อเพลง Still Got the Blues ถูกฟ้องว่า แกรี มัวร์ ไปลอกเลียนท่อนโซโลกีตาร์(ผมเข้าใจว่าเป็นท่อนเมโลดี้หลัก)มาจากผลงานเพลง “Jud's Gallery”(1974)ของวงจากเยอรมนี ชื่อ “Nordrach” แต่แกรี มัวร์ ให้การปฏิเสธ พร้อมบอกว่าเขาไม่เคยรู้จักเพลงนี้มาก่อน

ซึ่งสุดท้ายแล้วศาลเยอรมนีได้ตัดสินออกมาแบบงงๆในปี 2008 ว่า แกรี มัวร์ ไม่ได้จงใจลอกท่อนโซโลกีตาร์มา แต่เนื่องจากท่อนโซโลที่ออกมามีทำนองใกล้เคียงกันมาก จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แกรี มัวร์ จำต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับวง Jud's Gallery

แหมเรื่องนี้ถ้าทนายแกรี มัวร์ เกิดเคยฟังเพลงจำฝังใจของวงไมโครขึ้นมา แล้วนำไปฟ้องร้องต่อแกรมมี่ คงได้เงินมากกว่าที่เสียไปแน่นอน เพราะนั่นแค่ทำนองดันไปคล้ายท่อนโซโลกีตาร์แบบไม่จงใจ แต่กับเพลงจำฝังใจนั้นมันเหมือนกันทั้งเพลงเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นมันดีแล้วแหละที่ไม่มีเรื่องฟ้องร้องกันเกิดขึ้น เพราะเดี๋ยวศาล(ไทย)ท่านตัดไม่ถูกใจ อาจถูกผู้เสียหายเกณฑ์คนมาประท้วงว่า ศาลมี 2 มาตรฐานก็ได้(ฮา...ไม่ออก)

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะตัดสินออกมาอีหรอบนั้น แต่มันหาได้ส่งผลกระทบใดๆต่อผลงานเพลงชุด Still Got the Blues ไม่ เพราะด้วยความสดและความลงตัวต่างๆ ทำให้อัลบั้มนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผลงานเพลงชุดที่ดีที่สุดและประสบความสำเร็จสูงสุดของแกรี มัวร์

ในขณะที่เพลง Still Got the Blues นั้นก็ถือเป็นดังลายเซ็นใหม่ของคุณน้าแกรี มัวร์ เป็นประเภทเพลงบัลลาดบลูส์ ที่ไม่ได้มีท่วงทำนองแบบบลูส์เพียวๆ หากแต่เป็นเพลงสำเนียงบลูส์ที่มีเมโลดี้อันสวยงาม และลูกโซโลอันบาดลึกกินใจ โดยหลังจากอัลบั้ม Still Got the Blues แล้ว แกรี มัวร์ ได้ส่งผลงานอัลบั้มเพลงบลูส์ตามมาอีกหลายชุด ไม่ว่าจะเป็น Blues for Greeny(1995),Back to the Blues(2001),Power of the Blues(2004) และ Old New Ballads Blues(2006)
Ballad & Blues
นอกจากนี้ยังมีผลงานรวมฮิต “Ballad & Blues”(1882-1994) ที่ผมจะขอหยิบยกมากล่าวถึง เพราะเป็นงานเพลงที่ได้แสดงความเป็นตัวตนของมือกีตาร์หน้าบูดคนนี้ออกมาอย่างชัดเจน

Ballad & Blues มีเพลงชวนฟังอย่าง “One day” ที่แสดงให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมในการวางทางโซโลอันสวยงาม หวาน สวย และเฉียบคม ชนิดที่ศูนย์หน้าทีมชาติไทยเทียบไม่ติด

ในขณะที่เพลงอื่นๆในชุดนี้ หากเป็นบัลลาดร็อค เพลงที่น่าสนใจก็มี “Always gonna love you”,”Crying in the Shadows”,“With love (Remember)” และ”Johnny boy”ในกลิ่นอายสำเนียงพื้นบ้านไอริช ส่วนเพลงบลูส์ที่น่าสนใจก็มี “Seperate ways”,”Story of blues” และ ”Midnight blue” ซึ่งเป็นเพลงบลูส์สไตล์แกรี มัวร์ คือมีภาคเครื่องเป่ารองรับอย่างหนาแน่น

นอกจากนี้มี 3 ยอดเพลงฮิตในระดับบัลลาดร็อคคลาสิค ซึ่งผมได้กล่าวถึงเพลงทั้งสามมาบ้างพอเหม็นปากเหม็นคอ

เพลงแรก “Empty rooms” บัลลาดร็อคที่เสียงร้องของคุณน้าแกรี มัวร์ สอบผ่านฉลุย ส่วนภาคดนตรีนั้น มีคีย์บอร์ดเป็นแบ็คอัพคอยอุ้มเพลงอย่างแน่นหนาไปตลอด เพลงนี้แกรี มัวร์ เล่นทั้งอะคูสติกกีตาร์และกีตาร์ไฟฟ้าที่แม้ไม่ได้โชว์กีตาร์และใส่ความหวานอ้อยสร้อยลงไปมากมาย แต่นี่คือหนึ่งในเพลงสำคัญที่ทำให้แกรี มัวร์ ค้นพบบันไดสู่บัลลาดร็อคอันอ่อนหวานแต่หนักแน่น ตามแบบฉบับของเขา

เพลงที่สอง “Still Got the Blues” บทเพลงที่ไม่ใช่บลูส์เพียวๆ หากแต่เป็นเพลงสำเนียงบลูส์ที่มีเมโลดี้สวยงาม ลูกโซโลบาดลึกจับอารมณ์ รวมถึงลีลากันเรียบเรียงที่ไม่ธรรมดา เพราะมีไลน์เคาน์เตอร์พอยต์(เมโลดี้รอง,ทำนองประสาน)จากเครื่องสายติดกลิ่นคลาสสิคเล่นคลอไปตลอด

ส่วนที่น่าเสียดายมากของ Still Got the Blues ในชุดนี้ก็คือ ท่อนโซโลในช่วงท้ายก่อนจบเพลงที่ถูกตัดกลายเป็นเฟรดเอ้าท์ออกไป ชนิดที่ใครเคยฟังเวอร์ชั่นต้นฉบับ(ชุด Still Got the Blues)อาจเซ็งเขตเสลดเป็ดนิดหน่อย เพราะช่วงท้ายของเพลงนี้ในต้นฉบับนั้นแกรี มัวร์ แกปล่อยอารมณ์โซโลอย่างยาว ก่อนจะเข้ามาจบในท่วงทำนองเดิมแบบกระชากใจคนฟัง

เพลงสุดท้าย “Parisienne walkways” สโลว์ร็อคกับลีลาการค่อยๆไล่ตัวโน้ตลงมาอย่างง่ายๆ ทางคอร์ดก็ง่าย เด็กหัดเล่นกีตาร์หลายๆคนก็เล่นโน้ตเพลงนี้ได้ มือกีตาร์บ้านเราหลายคนก็มักจะโชว์เพลงนี้อยู่บ่อยๆ แต่ประทานโทษแต่สำหรับแกรี มัวร์ นั้นเขาได้ก้าวข้ามเรื่องของตัวโน้ตไปสู่เรื่องของอารมณ์เพลง ซึ่งโลกนี้มีไม่กี่คนที่จะเล่นกีตาร์ออกมาได้สำเนียงแบบนี้

Parisienne walkways ในชุดนี้เป็นเพลงที่บันทึกมาจากคอนเสิร์ต ซึ่งอย่างที่ผมเคยบอกไว้ว่า เริ่มแรกแกรี มัวร์เล่นเพลงนี้ได้ไม่หวานเท่ากับในยุคหลังๆ

ในเพลงนี้แกรีถ่ายทอดมันออกมาได้หวานโศก อ้อยสร้อย บาดลึกกินใจ โดยเฉพาะช่วงที่โชว์การเล่นโน้ตตัวเดียวดันสายลากค้างยาวนานมากกว่า 25 วินาทีนั้นสุดยอดจริงๆ ในขณะที่ท่อนจบนั้นน้าแกเล่นแอดลิบยาวเหยียด มีครบรส ทั้งหวาน อ้อยสร้อย โหยหวน และดุดัน แสดงให้เห็นถึง
การใส่จิตวิญญาณลงไปในเพลงได้อย่างผู้ที่บรรลุในเรื่องของมรรคาอารมณ์แห่งกีตาร์

แต่ทว่า...วันนี้เป็นที่น่าเสียดายเหลือหลาย เมื่อเราไม่มีโอกาสได้ฟังเพลงใหม่ๆจากเขาผู้นี้อีกแล้ว เพราะแกรี มัวร์ ได้สิ้นลมอำลาจากโลกนี้ไปในช่วงเช้าของวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยวัย 58 ปี ทิ้งตำนานสำเนียงกีตาร์อันเป็นเอกลักษณ์ไว้ให้ฟังต่างหู ดูต่างหน้า

ซึ่งผมเชื่อว่าป่านนี้แกรี มัวร์ น่าจะเดินทางสู่สุขคติขึ้นไปแจมกีตาร์บลูส์กับ “จิมมี่ เฮนดริกซ์”(Jimi Hendrix)และ“สตีวี่ เรย์ วอห์น”(Stevie Ray Vaughan) บนสรวงสวรรค์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

*****************************************
คลิกฟังเพลง "Parisienne walkways๐" ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=dGoYmRoBF4Q

*****************************************

บทความแนะนำเพลงน่าสนใจย้อนยุค จะนำเสนอสัปดาห์เว้นสัปดาห์ สลับกับบทความแนะนำเพลงน่าสนใจในสมัยนิยม

*****************************************
แกะกล่อง

ศิลปิน : รวมศิลปิน
อัลบั้ม : The Best of Love Songs

เต็มอิ่มไปกับเพลงรักยอดนิยม จากอัลบั้ม “The Best of Love Songs” กับหน้าปกสวยด้วยคัพเค้กชวนกิน ที่ค่าย Warner Music นำมารวบรวมไว้กว่า 70 เพลง ในแพ็คเกจ 4 ซีดี ที่มาพร้อมกับบทเพลงรักหลากหลายสไตล์แบบครบรส ทั้ง หวานซึ้ง ซึมเศร้า สมหวัง รันทด โดยมีบทเพลงชวนฟัง อาทิ “Love Is All Around”(Wet Wet Wet),So Much In Love(All-4-One),I Have Nothing(Whitney Houston),To Be With You(Mr.Big),Goodbye(Air Supply),If(Bread) สำหรับผู้ชื่นชอบเพลงรักเพราะๆ นี่คืออีกหนึ่งผลงานรวมเพลงรักที่น่าฟังไม่น้อยเลย

*****************************************
คอนเสิร์ต

“A Swiss Music Night”

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดคอนเสิร์ต “ A Swiss Music Night” โดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (TPO) นำเสนอผลงาน ประพันธ์ของ Fabian Muller คีตกวีร่วมสมัยชาวสวิตเซอร์แลนด์ ในบทเพลง “Eiger” ที่นำมาแสดงครั้งแรกในทวีปเอเชีย และ “Dialogues cellestes” บทเพลงคอนแชร์โต้สำหรับ เชลโล 2 ตัว กับวงออร์เคสตร้า บรรเลงเชลโลโดย 2 โซโลอิสท์รับเชิญ Antonio Meneses และ Pi-Chin Chien

ร่วมด้วยบทเพลงไทย “เขมรพวง เถ” และปิดท้ายด้วย บทเพลง Symphony No.9 in E minor op.95 “From the New World” ของ Antonin Dvorak คีตกวีชาวเชโกสโลวาเกีย โดยมี Claude Villaret เป็นผู้อำนวยเพลง

คอนเสิร์ตครั้งนี้ จัดแสดง ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มี 2 รอบ คือ วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 19.00 น. และวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 16.00 น. บัตรราคา 500, 300 และ 100 (นักเรียนนักศึกษา) บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสำรองที่นั่งกรุณาโทร. 0-2800-2525 - 34 ต่อ 153-154 หรือ www.music.mahidol.ac.th, http://www.thailandphil.com
กำลังโหลดความคิดเห็น