xs
xsm
sm
md
lg

Music Shines : ‘The Resistance’ แรงต้านทานแห่งดนตรีของ Muse / พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

paulheng_2000@yahoo.com

ในต้นยุคศตวรรษที่ 21 วงดนตรีที่ถูกคาดหมายและวาดความหวังไว้ว่า จะสามารถขึ้นเป็นวงดนตรีร็อคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดวงหนึ่งก็กำลังเดินทางเคี่ยวกรำอย่างหนักแน่น ล่วงลุเข้ามาทศวรรษแรกของศตวรรษนี้ พวกเขายิ่งเข้มแข็งและมุทะลุอย่างห้าวหาญในเชิงชั้นลีลาดนตรีและความคิดที่นำเสนอสู่ผู้ฟัง

หากตำนานแห่งเทพปกรณัมของกรีกในยุคเฮลเลนิสติคบอกไว้ว่า Muse เป็นเทพธิดาที่เป็นแรงบันดาลใจของกวี เป็นผู้ขับร้องบทเพลงแสนไพเราะ ที่แม้เทพเจ้าก็ต้องเงี่ยโสตสดับฟัง พวกนางเป็นธิดาของซุสกับนิโมซิเน มีอยู่ทั้งหมด 9 นาง คือ

1.Clio - muse แห่งประวัติศาสตร์ มีสัญลักษณ์ประจำตัว คือ ม้วนกระดาษและหนังสือ
2.Euterpe - muse แห่งดาราศาสตร์ มีสัญลักษณ์ประจำตัว คือ ลูกโลกและเข็มทิศ
3.Melpomene - muse แห่งโศกนาฏกรรม มีสัญลักษณ์ประจำตัว คือ หน้ากากในการแสดงละครโศกนาฏกรรม
4.Thalia - muse แห่งสุขนาฏกรรม มีสัญลักษณ์ประจำตัว คือ หน้ากากในการแสดงละครสุขนาฏกรรม
5.Terpsichore - muse แห่งนาฏศิลป์ มีสัญลักษณ์ประจำตัว คือ พิณ Lyre
6.Calliope - muse แห่งกวีนิพนธ์มหากาพย์ มีสัญลักษณ์ประจำตัว คือ กระดานชนวน
7.Erato - muse แห่งกวีนิพนธ์รัก มีสัญลักษณ์ประจำตัว คือ พิณเจ็ดสายที่เรียกว่า Cithara
8.Polyhymnia - muse แห่งเพลงสดุดีปวงเทพ มีสัญลักษณ์ประจำตัว คือ ผ้าคลุมศีรษะ
9.Urania - muse แห่งกวีนิพนธ์คีตกานท์ มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือขลุ่ยและเครื่อง Aulos

พวกนางทั้ง 9 เป็นสหายของเทพอพอลโลและเทพธิดาเกรซ และเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้กับกวีเฮซิออด ผู้อาศัยอยู่ใกล้เฮลิคอน ซึ่งเป็นภูเขาลูกหนึ่งของเทพธิดา muse

และทั้งหมดเป็นรากศัพท์ของคำที่หมายถึง การคิดรำพึง, ครุ่นคิดคำนึงใคร่ครวญ, รำพึงเหม่อลอย

วงดนตรีที่เลือกใช้ชื่อนี้มาเป็นชื่อวง ก็ต้องมีดีที่จะแสดงให้เห็นถึงความเหนือชั้นของการสร้างสรรค์เชิงศิลปะดนตรีและกวีศิลป์ให้เปล่งประกายออกมาสมกับชื่อ

Muse เป็นวงดนตรีที่จะกล่าวถึง

[1]

แม้จะเติบโตมาด้วยกระแสของวงที่ถูกตีตราตามสกุลดนตรีในสายทางของบริตพ๊อพ หรือ บริติชพ๊อพ แต่วง Muse ก็มิได้ยี่หระและหลงติดกับดักดังเช่นวงอื่นๆ ที่เคยเป็นมา พวกเขาพยายามนำดนตรีของตัวเองที่อิงอยู่กับดนตรีพ๊อพร็อคแบบอังกฤษให้ค่อยๆ ซึมออกมาสู่ความเป็นโปรเกรสสีพร็อค จนในที่สุดพวกเขาก็มาสู่ระดับที่เรียกว่า ทำงานดนตรีกันในแบบ ‘นีโอ-โปรเกรสสีฟ ร็อค’ ที่มีกลิ่นอายของบริตพ๊อพ และซิมโฟนิคร็อคเจืออยู่อย่างได้รสได้น้ำได้เนื้อ

อัลบั้มชุดที่ 5 ของพวกเขาที่ทำงานกันเองทั้งหมด รวมถึงการโปรดิวซ์เองด้วย

‘The Resistance’ ได้แสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตทั้งความคิดและเชิงชั้นลีลาทางดนตรีที่พัฒนามาจากงานชุดก่อนๆ และพิสูจน์ได้ถึงความพร้อมในการที่จะครอบครองโลกดนตรีใบนี้ให้มาจับจ้องดนตรีและสารที่ส่งออกไปของพวกเขา

นับได้ว่าเป็นงานเพลงที่สวยงามและแสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างไม่ย่นระย่อ รวมถึงความทะเยอทะยานที่งดงาม

หากอัลบั้มก่อนหน้านี้คือ ‘Black Holes and Revelations’ จะประสบความสำเร็จทางด้านการขายและถูกใจคนฟัง แต่อัลบั้มชุดนี้ ‘The Resistance’ จัดได้ว่ามีความพยายามที่จะเข้าใจยุคสมัยมากที่สุด ผ่านการทำงานศิลปะดนตรีของพวกเขาเอง

แมทท์ เบลลามี (Matt Bellamy) มือกีตาร์ นักร้องนำ และมันสมองของวง ได้ใช้รูปแบบทางดนตรีร็อคที่เป็นอิสระฟุ้งฝันคลุ้มคลั่งให้เข้าสู่จุดที่พวกเขาจะไปถึง โดยเฉพาะอิทธิพลทางดนตรีรของไอดอลของวง คือ เดวิด โบวี่ (David Bowie), ควีน (Queen) และ พรินซ์ (Prince)

โดยอัลบั้มนี้บันทึกเสียงกันข้ามปีคือ ตั้งแต่ปี 2008-2009 (พ.ศ.2551-2552) ที่สำคัญก็คือไปหาแรงบันดาลใจของบรรยากาศแห่งความเป็นภาคพื้นยุโรป โดยไปอัดเสียงกันที่สตูดิโอเบลลินี่ ทะเลสาบโคโม่ ในอิตาลีกันเลยทีเดียว

การก้าวมาสู่จุดนี้ของ Muse ในฐานะวงดนตรีรุ่นใหม่ที่มีอายุถึงปัจจุบันก็ตก 10 กว่าปี ถือได้ว่า สุกงอมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิที่แหวกทะลุเพดานขึ้นมา วัดได้จากความเห็นของมือกีตาร์ของวงโอเปร่าร็อคระดับเทพที่ยากจะหาคนเทียบในยุคปัจจุบัน

ภาพที่เขาขึ้นไปยืนบนหอคอยของพระราชวังบัคกิงแฮมแล้วโซโล่กีตาร์ในบทเพลง ‘God Save The Queen’ ในงานเฉลิมฉลองจูบิลี่การครองราชย์ครบ 50 ปี ของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ ยังคงตราตรึงคนอยู่ รวมถึงการไปโซโล่กีตาร์บนรถบัสสองชั้นสัญลักษณ์ของอังกฤษในการรับธงเป็นเจ้าภาพโอลิมปิค 2012 ต่อจากปักกิ่งที่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อพิธีปิดโอลิมปิคปี 2008 ก็แสดงถึงบารมีที่ยังมีอยู่ไม่เสื่อมคลายของ ไบรอัน เมย์ (Brian May) แห่งวง Queen ซึ่งวิฑูร วทัญญู ดีเจโก๋เก๋าเก็บ ซึ่งปลุกกระแสบทเพลงและดนตรีฮาร์ดร็อคและเฮฟวี่ เมทัล ในเมืองไทย ขนานสมญานามให้ว่า Queen-ราชาในนามของราชินี

ไบรอัน เมย์ ได้พูดยกย่องถึงอิทธิพลทางเสียงของวง Queen ที่ทางสมาชิกของวง Muse นำไปใช้หลอมรวมในอัลบั้มของพวกเขา

“ผมรักมัน ผมคิดว่ามันคือเนื้อแท้ที่ยิ่งใหญ่ พวกเขาเป็นคนหนุ่มที่ดีเอามากๆ และมีพรสวรรค์สูงสุด ผมชอบการใช้ภาษาที่เล่นคำ ถือว่าลื่นไหลเก่งสุดในเวลานี้” ไบรอัน เมย์ บอกกับบีบีซี

[2]

Muse เป็นวงดนตรีที่ถือว่า เชื่อมั่นในดนตรีของตัวเองอย่างสูง เรียกว่าถึงขั้นหยิ่งยโสได้เลยทีเดียว ที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อตั้งวง พวกเขาเล่นแต่เพลงของตัวเองทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่เคยนำเพลงคนอื่นมาเล่นหรือคอฟเวอร์เลย ไม่ว่าจะออกทัวร์แสดงสดมากมายแค่ไหนก็ตาม แน่นอนถึงแม้ว่าอิทธิพลทางดนตรีโดยหลักๆ ของจะชอบวงกรันจ์ร็อคอเมริกา อย่าง Nirvana และ Soundgarden รวมถึงอิทธิพลดนตรีของวงบริตพ็อพที่ถือว่าเป็นตัวพ่อในแวดวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อค อย่าง Radiohead

ความเจ๋งเป้งตรงนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง Maverick ของ Madonna ที่คัดเลือกวงดนตรีมาร่วมสังกัดแบบสุดเคี่ยวและสุดเขี้ยว หากไม่เห็นแววขบถและความเป็นหัวก้าวหน้าทางดนตรีอย่างจริงจังแล้วยากที่จะหลุดเข้ามาอยู่ในสังกัดได้

ความจริงแล้ว วง Muse โด่งดังในยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย รวมถึงในสหรัฐอเมริกา มากกว่าในบ้านเกิดคือ อังกฤษเสียด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันพวกเขาดังหมดในทุกที่เป็นวงที่ทุกคนจับจ้องและสนใจอย่างสูง โดยเฉพาะทั้งอังกฤษและอเมริกา

พวกเขาก่อตั้งวงในปี 1997 (พ.ศ.2540) ที่เมืองเดวอน ประเทศอังกฤษ Muse ได้หลอมเอาธาตุดนตรีโปรเกรสสีฟ ร็อค, แกลมร็อค, คลาสสิค, อิเล็คทรอนิกา และการทดลองทางดนตรีในอิทธิพลของวงดนตรีบริตพ็อพรุ่นพี่ อย่างวงRadiohead มาเขย่าผ่านความรู้สึกและความสามารถทางดนตรีในแบบเฉพาะของพวกเขาเอง ค้นหามันมาจนลงตัวในที่สุดมีฐานแฟนเพลงที่ติดตามสะสมขึ้นมาเรื่อยๆ

และด้วยการแสดงสดที่ทุ่มเท โดยเฉพาะโปรดักชันหรืองานสร้างที่เนรมิตการแสดงที่ยิ่งใหญ่อลังการเล่าเรื่องราวผ่านตัวเพลง ไม่แพ้วงโปรเกรสสีฟร็อคในยุคทศวรรษที่ 70 มีการทุ่มทุนสร้างอย่างมโหฬาร ทำให้คอนเสิร์ตหรือการแสดงสดของ Muse เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากมาย และมีคนที่รอคอยไม่แพ้กับวง Pink Floyd เลยทีเดียว

วงดนตรี Muse มีแค่ 3 คน แต่ก็เปี่ยมด้วยฝีมือ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรีและเนื้อเรื่องราวที่สื่อสารออกมาอย่างสลับซับซ้อนไม่ธรรมดา สมาชิกประกอบด้วย Matthew James Bellamy (ร้องนำ/ กีตาร์/ เปียโน/ คีย์บอร์ด/ ซินธิไซเซอร์ และโปรแกรมมิ่ง)
Christopher Wolstenholme (เบส/ ร้องสนับสนุน/ ซินธิไซเซอร์ และดับเบิลเบส) และ Dominic James Howard (กลอง/ เพอร์คัสชัน/ ซินธิไซเซอร์ และโปรแกรมมิ่ง)

พวกเขามีอัลบั้มออกมาจนถึงอัลบั้มชุดล่าสุดในปัจจุบัน 5 อัลบั้ม คือ ‘Showbiz’ (1999) ‘Origin of Symmetry’ (2001) ‘Absolution’ (2003) ‘Black Holes and Revelations’ (2006) และล่าสุดที่กำลังกล่าวถึงอยู่ ‘The Resistance’ (2009)

[3]

จุดเด่นของแนวบทเพลงซึ่งมีด้านที่สร้างสรรค์ (The Creative Side) ของวง Muse อยู่ในขอบเขตของสกุลดนตรี ’นีโอ-โปรเกรสสีฟร็อค’ หรือเรียกกันง่ายๆ ให้สั้นลงมาว่า นีโอ-โปรก

ซึ่งนีโอ-โปรก เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนแยกย่อยของสายดนตรีโปรเกรสสีฟร็อค ซึ่งเจริญงอกงามขึ้นในการเคลื่อนตัวทางดนตรีช่วงต้นยุคทศวรรษที่ 80 และก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ แบบลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ถูกจัดอยู่ในดนตรีกระแสหลักเท่าไหร่นัก โดยวงดนตรีที่เล่นดนตรีในแนวนีโอ-โปรกนี้ ส่วนมากโดยทั่วไปจะได้อิทธิพลทางดนตรีมาจากวงโปรเกรสสีฟร็อคยุคต้น อย่าง Genesis, Camel, Van der Graaf Generator และ Pink Floyd

โดยดนตรีของนีโอ-โปรก จะมีความนุ่มนวลฉ่ำหวานกว่าดนตรีร็อคทั่วไป เสียงของดนตรี จะมีมวลของดนตรีซิมโฟนิค โปรเกรสสีฟที่ชำนิชำนาญมาเสริมใส่ และมีการโชว์ทักษะการเล่นดนตรีด้วยการบรรเลงแต่ละชิ้นดนตรีร่วมด้วย ซึ่งเป็นบุคลิกเฉพาะที่เรียกว่า ‘นูดลิง’ ซึ่งถือเป็นการด้นสดทางดนตรีหรือมิวสิค อิมโพรไวเซชั่นของดนตรีโปรเกรสสีฟร็อค ซึ่งจะมีความคล้ายกันในการเพ่งความสนใจไปที่พลังและความคิดสร้างสรรค์ที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา ด้วยทักษะฝีมืออันคล่องแคล่วชำนาญของคนเล่นดนตรีในแต่ละชิ้นซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของตัวเองให้ดีและโดดเด่นที่สุด

ดนตรีนีโอ-โปรก จะมีการเขียนเนื้อร้องที่มีความลึกซึ้งคมคาย มีมุมมองที่แหลมคม ชาญฉลาด และร้อนแรง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นีโอ-โปรก ก็มีความเป็นโปรเกรสสีฟที่เจือจาง หรือเป็นดนตรีพ็อพที่มีความโลดโผนโจนทะยานในเชิงชั้นดนตรีซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและทัศนคติของคนฟังเองด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ วงดนตรีรุ่นใหม่ในยุคอัลเทอร์เนทีฟร็อค โมเดิร์นร็อค และบริตพ็อพที่เลือกนำพาอิทธิพลของดนตรีแนวโปรเกรสสีฟร็อคมาสร้างสรรค์ใหม่ในสไตล์และรูปแบบของตัวเอง ผ่านจินตนาการและธาตุดนตรีที่สลับซับซ้อนชวนค้นหาและตีความในการสดับฟัง

รางวัลทางดนตรีที่วง Muse เคยได้รับก็มี 5 รางวัลเอ็มทีวียุโรป, 5 รางวัล Q อวอร์ด ซึ่งเป็นรางวัลของนิตยสารดนตรีหัวก้าวหน้าของสหราชอาณาจักร, 6 รางวัล เอ็นเอ็มอี อวอร์ด เป็นรางวัลของนิตยสารดนตรีที่ทรงอิทธิพลในอังกฤษ, 2 รางวัลบริต อวอร์ด และ 4 รางวัล เคอร์แรง! อวอร์ด นิตยสารดนตรีเมทัลที่น่าเชื่อถือที่สุดในยุคปัจจุบัน

เท่านี้ก็พอการันตีถึงงานอัลบั้มชุด ‘The Resistance’ ว่าต้องมีดีให้ค้นหาและตีความ ซึ่งจะเป็นแรงต้านทางดนตรีในกระแสหลักร่วมสมัยอย่างไร คงต้องมาว่ากันอย่างเจาะลึก...

[4]

ภาวะของการสร้างสรรค์ที่มีอยู่สองด้าน ด้านหนึ่งเป็นการสร้างงานที่มุ่งไปข้างหน้าอย่างสุดกู่โดยทิ้งอดีตไว้เบื้องหลัง และยกระดับตัวเองทะลุเพดานสู่อีกสถานะหนึ่ง และด้านหนึ่งเป็นการสร้างสรรค์ที่มีข้อจำกัดที่พยายามเท่าไหร่ก็ไม่สามารถสลัดหลุดแอกของผู้มาก่อน มักจะถูกเปรียบเทียบอยู่ร่ำไป ไม่ใช่ความล้ำหน้าแต่ก็ไม่ใช่ความล้าหลัง

อัลบั้ม ‘The Resistance’ ของวง Muse ตกอยู่ในระหว่างกึ่งกลางของภาวการณ์สร้างสรรค์สองด้านที่มีอยู่นี้

โครงข่ายของความรู้สึกที่ไม่อาจข้ามเส้นแบ่งบางๆ ให้ฉีกขาดวิ่นหลุดลุ่ยออกมาได้ แรงทะเยอทะยานทางด้านดนตรีคลาสสิคที่เปล่งออกมายังไม่ลงตัวและไม่สามารถสร้างพลานุภาพทางด้านเสียงได้งดงาม ยังมีความแปลกแปร่งแตกต่างอยู่ในอีกมิติหนึ่ง

Muse หยิบยืมเสน่ห์ทางดนตรีทั้งของ Radiohead และ Queen ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงต่อวิธีคิดและอิทธิพลทางดนตรีมาใช้ ซึ่งฟังบทเพลงทั้งหมดแล้วดูกึ่งๆ การสร้างสรรค์กึ่งการผสมผสานสิ่งใหม่ คล้ายการปะติดปะต่อและผลิตซ้ำซากจากรูปแบบเก่าในซาวด์และความคิดของตัวเอง

ในอดีต บทเพลงของ Muse เป็นที่จดจำผ่านเสียงร้องของ Matthew Bellamy มือกีตาร์และนักร้องนำ ซึ่งผ่องถ่ายส่งความรู้สึกและอารมณ์เพลงของวง ด้วยการเปล่งเสียงร้องแบบ falsetto ที่ดัดบีบเสียงให้เล็กลงและใช้การสั่นของเส้นเสียงเพื่อเป็นเทคนิคในการขับร้อง

รวมถึงการเล่นกีตาร์ที่ใช้ประโยชน์จากเทคนิค arpeggio เสียงดนตรีชนิดมีความถี่ตามกัน แทนที่จะพร้อมกัน และระดับเสียงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผกผัน ซึ่งสร้างสรรค์มากกว่าการเล่นกีตาร์ไฟฟ้าหรืออิเล็กทริค กีตาร์ เพียงอย่างเดียว

Matthew Bellamy มีการหยิบยืมเทคนิคมาจากมือกีตาร์ที่สร้างสไตล์การเล่นใหม่ๆ บนคอกีตาร์ให้กับโลกดนตรีร็อคและเมทัลใบนี้ คือ Jimi Hendrix ในสไตล์บลูส์ร็อค ที่ทำลายกำแพงการเล่นกีตาร์ไฟฟ้าออกหมดกระจุย และเป็นต้นรากที่ถูกพัฒนามาจนถึงปัจจุบันนี้

รวมถึง Tom Morello อดีตมือกีตาร์วง Rage Against The Machine ที่ได้รับการยอมรับและสถาปนาสมญานามว่า มือกีตาร์ก่อการร้าย (Terrorist Guitar) ซึ่งลูกเล่นหรือเทคนิคที่มีหลากหลายแหวกกฎดั้งเดิมของการสร้างสรรค์การเล่นกีตาร์ขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะท่อนริฟฟ์ที่คุ้นหูคนฟังแบบระรัวกระชากไวคล้ายเสียงปืนกลรัวยิง ถือเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาเลยทีเดียว

ซึ่งอิทธิพลการเล่นกีตาร์ของทั้งสองคนนี้ถูก Matthew Bellamy นำมาใช้ในตัวเพลงของ Muse อยู่พอสมควร

[5]

ในปี 2009 (พ.ศ.2552) เป็นปีที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของนวนิยาย ‘1984’ ของ George Orwell มีความยาวนานดำเนินต่อเนื่องอย่างทรงพลังถึง 60 ปี นับจากปี 1949 (พ.ศ.2492) ได้ว่าเป็นปีที่เปี่ยมด้วยความหมาย ในการที่จะสร้างรูปแบบการนำเสนอใหม่ของทฤษฎีสมคบคิดหรือการวางแผนอย่างลับๆ (conspiracy theories)

ดูเหมือนแรงต้านทานที่วง Muse ต้องการสื่อสารผ่านอัลบั้ม ‘The Resistance’ ก็คือ การต่อต้านบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่สยายปีกครอบครองโลกนี้ผ่านระบบทุนบริโภคนิยม และแน่นนอนก็ครบงำโลกด้วยธุรกิจข้ามชาติที่มีพลังอำนาจกำหนดหรือต่อรองรัฐบาลในแต่ละประเทศผ่านคำว่า การค้าเสรีผ่านระบบเศรษฐกิจโลก

Muse พยายามมุ่งมั่นที่จะเชื่อมจินตนาการในความสัมพันธ์ของบันทึกทางศาสนาของยิวหรือคริสเตียน ระหว่างช่วง 200 ปี ก่อนคริสตศักราชถึงปีคริสตศักราชที่ 300 หรือที่เรียกว่า apocalypse สู่จินตภาพและกีตาร์ในการเล่นกับความคิดแบบไซ-ไฟ หรือนวนิยายวิทยาศาสตร์

ดูเหมือนว่า อัลบั้ม ‘The Resistance’ แสดงถึงการเจริญเติบโตของวง Muse ที่แกร่งกล้าแก่พรรษามากขึ้น มีกรอบที่ชัดเจนไม่ฟุ้งซ่าน เปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานทางดนตรีที่สวยงาม ซึ่งเป็นผลสะท้อนของมุมมองที่เป็นจริง ได้เปล่งประกายถึงดนตรีที่น่าตื่นเต้น บิดรูปแบบสู่ความเป็นอิสระที่ไม่มีข้อจำกัดของดนตรีร็อค ใกล้เข้าไปสู่จุดที่เปลี่ยนสภาพที่แตกต่างระหว่างสไตล์ดนตรีของรูปจำหลักทางดนตรีที่พวกเขาเคารพ

อีกอย่าง ‘The Resistance’ มีการบันทึกเสียงที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะการเข้าสู่ภาวะของดนตรีคลาสสิคผนวกกับกีตาร์ที่ร้อนแรงผาดโผนสู่ความเป็นโอเปราติค ร็อค พวกเขาสามารถนำคืนค่ำในโรงโอเปร่าออกสู่ประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นแห่งคืนวันในดินแดนแสนสนุก

ด้วยการโซโล่กีตาร์ที่ล้นเหลือ ซิมโฟนิค สูท และระดับของเมโลดี้ที่หลากหลาย เนื้อร้องมาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ และพยายามที่จะเข้าสู่ขอบเขตของความเป็นร็อค โอเปร่า ความโอ่อ่าหรูหราและประดิดประดอยทางดนตรีที่เชื่อมโยงระหว่างดนตรีโปรเกรสสีฟ ร็อค เข้ากับบริตพ็อพ และดนตรีคลาสสิค

การนำอิทธิพลของดนตรีเฮฟวี่ร็อคและดนตรีอิทธพลดนตรีคลาสสิคที่ วง Queen ในรุ่นก่อนมารื้อสร้างใหม่อีกครั้งผ่านความถนัดในสายดนตรีบริตพ็อพหัวก้าวหน้าแบบอวองท์การ์ดตามรอยทางที่วง Radiohead เคยสร้างทำมา

การไปบันทึกเสียงกันทีสตูดิโอริมทะเลสาบโคโม ในอิตาลี รวมถึงการได้ไปสัมผัสกับรสของโอเปร่าที่เมืองมิลาน ทำให้เสียงและรสของดนตรีคลาสสิคที่บรรเลงผ่านดนตรีใช้ในการเล่นโอเปร่าจากประพันธกร Federic Chopin ถูกดึงดูดมาสู่อัลบั้มชุดนี้ของพวกเขา แต่ไม่ได้หยิบท่อนที่ประทับใจมาใช้เฉยๆ แต่นำมารื้อสร้างและตีความตามแบบของพวกเขาเอง

อัลบั้มชุดนี้โปรดิวซ์โดยทางวงเอง และได้มือมิกซ์ระดับพระกาฬคนหนึ่งบนเกาะอังกฤษ คือ Mark ‘Spike’ Stent ซึ่งเป็นมือเรคคอร์ด โปรดิวเซอร์ และออดิโอ เอนจิเนียร์ ให้นักร้องและวงดนตรีแถวหน้าของสหราชอาณาจักรและระดับโลกมาแล้วมากมาย อาทิ Björk, Keane, Janet Jackson, Madonna, Marilyn Manson, Oasis, the Spice Girls, Stereophonics, Linkin Park, U2, Britney Spears ฯลฯ

54.18 นาที จาก 11 บทเพลง จึงเป็นการเดินทางอย่างคุ้นหูผ่านดนตรีแบบบริตพ็อพที่ผสมดนตรีคลาสสิคใน 4 เพลงแรก มีท่อนฮุคและเมโลดี้ที่ฮัมตามได้อย่างรวดเร็ว จนมาถึงบทเพลง ‘United States of Eurasia (+Collateral Damage)’ ซึ่งยังเป็นบทเพลงที่สนุก ใช้สำนวนโวหารของนวนิยายไซไฟที่เกี่ยวกับการสร้างกฎระเบียบโลกใหม่

สำหรับเนื้อร้องของอัลบั้มได้หยิบมาจากจดหมายรักของวินสตัน สมิธ ที่ส่งถึงจูเลีย ในนวนิยาย ‘1984’ ของ George Orwell ความต้องการของวง Muse คือนำมาดัดแปลง และพยายามเพื่อที่จะส่งสารผ่านนัยยะของเพลง สื่อความหมายถึงนโยบายการควบคุมยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลางของสหรัฐอเมริกา

บทเพลงนี้เป็นการเรียบเรียงเพลงที่เดินตามทางของบทเพลง ‘Bohemian Rhapsody’ ของวงร็อคโอเปร่าต้นแบบคือ Queen ไม่ว่าจะเป็นลูกริฟฟ์กีตาร์และการร้องแบบชานจ์หรือเพลงสวดที่มีความอลังการอยู่ในที รวมถึงบางส่วนที่ดึงเสียงดนตรีแบบตะวันออกกลางมาใช้ เนื้อร้องเป็นการเชื่อมโยงความคิดในแบบออร์เวลล์ที่เคยเขียนในนวนิยาย ‘1984’ อย่างแจ่มชัด

เมื่อจบบทเพลงนี้ ก็เข้าสู่ความหนักหน่วงของดนตรีบริตพ็อพที่หยิบยืมลูกเล่นของสายเมทัลมาใช้ต่อเนื่องอีก 4 บทเพลง เห็นได้ชัดจาก ‘Unnatural Selection’ ซึ่งเป็นบทเพลงที่ใช้ทางการเล่นแบบดนตรีแธรชเมทัลของ Metallica มาผนวกผสมกับจังหวะแบบบิ๊กบีท ต่อเนื่องด้วยบทเพลง ‘MK Ultra’ ก็ใช้คอร์ดในแบบของโชแปง (Chopin) มาบรรเลงนำเพื่อเข้าสู่การปล่อยพลังทางดนตรีในแบบเฮฟวี่เมทัล

และมาปิดช่วงนี้ด้วย ‘I Belong to You (+Mon cœur s'ouvre à ta voix)’ เพื่อทำความคุ้นเคยกับดนตรีคลาสสิค ก่อนนำเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของอัลบั้มที่เป็น ‘โมเดิร์น ซิมโฟนี’

3 พาร์ทของบทเพลงซิมโฟนีที่ปิดท้ายอัลบั้มตั้งแต่แทรค 9-11 ‘Exogenesis: Symphony Part 1 (Overture)’, ‘Exogenesis: Symphony Part 2 (Cross-Pollination)’ และ ‘Exogenesis: Symphony Part 3 (Redemption)’ เชื่อมเอาองค์ประกอบของเสียงเปียโนที่ฉ่ำหวานกังวานนุ่ม มาผสมกับดนตรีที่มีความเป็นดรามาติคในแบบบริตพ็อพของพวกเขา

ดนตรีคลาสสิคที่เข้ามาแบบเต็มๆ ถึง 14 นาที จากซิมโฟนีใน 3 พาร์ท นี้ ที่มีชื่อว่า ‘Exogenesis: Symphony’ นี้ อาจจะมองว่าเป็นความสวยงาม สามารถทำได้ดีในการขับเคลื่อนลักษณะของการประสานเสียงในแบบดนตรีโปรเกรสสีฟร็อค โดยตัดตอนบทประพันธ์ทางดนตรีคลาสสิคของคีตกวี โชแปง ‘Nocturne in E Flat Major’ มาประยุกต์ใช้ผ่านแรงบันดาลใจจากเพลงโรแมนติคที่แต่งขึ้นเพื่อใช้เล่นกับเปียโนของ Chopin

ถือว่าเป็นพัฒนาการที่พยายามแสดงลูกเล่นขยับถึงเชิงชั้นดนตรีของ Muse อยู่พอสมควร

แต่เมื่อมาวิเคราะห์ถึงท่วงทำนองในแบบโอเปร่า, อิเล็กทรอ บีท และบางส่วนของเสียงกีตาร์แบบแธรชเมทัล ที่ถูกนำเสนอออกมา ดูเหมือนยังไม่ค่อยลงตัวนวลเนียนเท่าที่จะพึงประสงค์ในแบบสุนทรียศาสตร์ของคีตกวี เมื่อเทียบกับผู้มาก่อนในสายโปรเกรสสีฟร็อค และร็อคโอเปร่า มันยังมีช่องว่างและเห็นการปะติดปะต่ออยู่พอสมควร แต่ก็ได้เวทย์มนตร์ทางดนตรีที่มีสัมผัสแบบพ็อพมาช่วยเอาไว้ได้ส่วนหนึ่งที่ทำให้งานลื่นไหลไปได้
……….

‘The Resistance’ ของวง Muse อาจจะเป็นงานที่ฟังดูน่าทึ่งสำหรับคอเพลงรุ่นใหม่ แต่คอเพลงเก่าเล่ายี่ห้อที่ฟังงานหลากหลายตั้งแต่โปรเกรสสีฟร็อค แจ๊ซ และคลาสสิคที่เคยผ่านประสบการณ์การทดลองทางดนตรีแบบนี้มาพอสมควรก็รู้สึกว่า ธรรมดาอยู่ มีความพยายามแต่ยังไม่ทะลุหรือตกตะกอนเต็มที่ รีบร้อนเกินไปในการที่จะขมวดความคิดและโชว์เชิงชั้นทางดนตรีออกมา แต่ก็แสดงถึงความกล้าหาญที่จะแหกแหวกออกมาสู่ระดับที่เหนือกว่าวงรุ่นเดียวอย่างจริงจัง...
……..

บทเพลงทั้งหมดในอัลบั้ม
 

1. ‘Uprising’
2. ‘Resistance’
3. ‘Undisclosed Desires’
4. ‘United States of Eurasia (+Collateral Damage)’
5. ‘Guiding Light’
6. ‘Unnatural Selection’
7. ‘MK Ultra’
8. ‘I Belong to You (+Mon cœur s'ouvre à ta voix)’
9. ‘Exogenesis: Symphony Part 1 (Overture)’
10. ‘Exogenesis: Symphony Part 2 (Cross-Pollination)’
11. ‘Exogenesis: Symphony Part 3 (Redemption)
>>>>>>>>>>>
………
ฟังมาแล้ว
>>>>>>>>

The Fall / Norah Jones

ความเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นสรณะ เมื่อเธอต้องแบกรับความกดดันของความสำเร็จและชื่อเสียงเงินทองที่มาอย่างคาดไม่ถึงตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกเป็นต้นมา รวมถึงการเป็นลูกสาวนอกสมรสของระวี แชงการ์ ปรมาจารย์ซีตาร์ของอินเดีย ซึ่งสมาชิกวงเดอะ บีเทิลส์ให้ความเคารพนับถือมายาวนาน นอกจากนี้ เธอยังกระโดดสู่ฮอลลีวู้ดแสดงหนังให้กับ หว่อง การ์ ไว แต่ไม่เปรี้ยงปร้าง

เมื่อกลับมาสู่งานดนตรี ในอัลบั้มชุดที่ 4 เธอค้นหาเสียงที่แตกต่างจากแจ๊ซ เข้าสู่การทดลองทางดนตรีที่ไม่ย่ำทางย้ำรอยเดิมของกับดักความสำเร็จ งานชุดนี้เธอเอาจุดแข็งของสัญชาติญาณความเป็นพ็อพออกมาเปล่งขับทดลองเข้าสู่ความเป็นอาร์ตร็อคและรากฐานดนตรีร็อคได้สดชื่น แต่ดูเหมือนเสแสร้งและพยายามต่างจากตัวตนที่แท้จริงอยู่พอสมควร ปรุงแต่งจนเกินงาม ไม่ได้ออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกอย่างเพลงในชุดก่อนๆ อีกแล้ว

Tomorrow / Sean Kingston

เกิดที่ไมอามี่ สหรัฐฯ แต่ไปเติบโตที่กรุงคิงสตัน เมืองหลวงของ จาไมก้า เขาจึงสามารถผสมผสานดนตรีเร็กเก้และแดนซ์ฮอลล์หรือดนตรีเต้นรำในแบบจาไมกันมารหลอมรวมกับดนตรีฮิพฮอพและอาร์แอนด์บีได้อย่างสนุกสนานได้ใจคนยุคนี้ โด่งดังอย่างมากทั่วโลก จากบทเพลง ‘Beautiful Girls’ ในขณะที่เขาอายุแค่ 16 ปีเท่านั้น

มาถึงงานชุดนี้ ก็ยังยืนยันในเจตนารมณ์เดิม ทำเพลงและดนตรีในแบบสนุกสนานยวนใจเพื่อปาร์ตี้ จุดเด่นของเขาอยู่ที่การเขียนคำร้องได้สดใสน่าฟังจำง่ายติดปาก แต่โดยภาพรวมก็ถือว่ามีพัฒนาการในทางสร้างสรรค์ที่ดีมากกว่าเดิม

Gmm Grammy MP3 : Hit Playlist / รวมเพลง

จีเอ็มเอ็มแกรรมมี่ไม่เคยผลิตเอ็มพี3 ออกมาวางจำหน่ายในตลาดเพลงไทยร่วมสมัย ทำให้เป็นช่องว่างของเอ็มพี3 ผีออกมาอาละวาดกินส่วนแบ่งจากตลาดส่วนนี้ไปจนพุงกาง กว่าจะขยับตัวก็เกือบสายเสียแล้ว เพราะตลาดเพลงยุคดิจิตอลมาไกลเหลือเกิน

ชุดนี้เป็นเอ็มพี 3 ที่มีไฟล์เสียงคุณภาพใกล้เคียงกับซีดีเพลง เป็นชุดแรกที่รวม 50 บทเพลงสตริงรุ่นใหม่ในรอบประมาณ 5 ปีหลังของค่ายเพลงทั้งหมดในเครือ ล้วนเป็นเพลงฮิตติดหูติดตลาด ฟังกันจนขี้หูร่วงกราว แต่ก็ไม่มีอะไรน่าประทับใจ ร้องและแนวดนตรีไปในทางเดียวกันหมด ไม่มีความแตกต่าง เปลี่ยนเฉพาะคนร้อง

แกรมมี่ โกลด์ MP3 บิ๊กฮิต / รวมเพลง

เช่นกันมีสตริงก็ต้องมีลูกทุ่ง ชุดนี้คุณภาพเสียงเป็นแบบเดียวกัน รวม 50 เพลงในสายสกุลเพลงลูกทุ่งครูสลาแบบแกรมมี่โกลด์ไว้ครบถ้วน บทเพลงทั้งหมดจะสัมผัสได้ถึงรสของบทเพลงลูกทุ่งกลิ่นอีสานที่ถูกปักหมุดเป็นเทรนด์ลูกทุ่งกระแสหลักสมัยใหม่ของหนุ่มสาวโรงงาน คนต่างจังหวัดในเมืองกรุง และคนฟังต่างจังหวัดที่ชื่นชอบ

รสนิยมบทเพลงลูกทุ่งที่อยู่ในระดับบิ๊กฮิตของคนไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ถูกรวมไว้หมดจดในเอ็มพี 3 แผ่นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น