xs
xsm
sm
md
lg

บอลไทยเชียร์ไปก็เท่านั้น!/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

ก่อนจะไปถึงเรื่องที่ได้จั่วหัวเอาไว้ มีอยู่เรื่องหนึ่งจาก 2 เหตุการณ์ที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจไม่น้อยจากการที่ได้นั่งชมการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นนาทีที่ 50 กว่าๆ ในเกมระหว่าง "อาร์เซนอล" กับ "โบลตัน" เป็นจังหวะที่ "วิลเลียม กัลลาส" ของทีมเจ้าปืนใหญ่พาลูกบุกเข้ามาในแดนของโบลตัน ก่อนจะเกิดการปะทะกับ "มาร์ค เดวี่ส์" กระทั่งอีกฝ่ายล้มลงไปกองกับพื้นโดยไม่มีเสียงนกหวีดจากผู้ตัดสิน

จากจังหวะต่อเนื่อง บอลได้ถูกลำเลียงไปถึงเขตโทษ และเป็น "เชส ฟาเบรกาส" ที่ได้หลุดเข้าไปยิงมุมแคบ ทำให้อาร์เซนอลตามตีเสมอเป็น 2 ต่อ 2 (ก่อนจะชนะไปในท้ายที่สุด 4 ประตูต่อ 2) ขณะเดียวกับที่ มาร์ค เดวีส์ ได้รับบาดเจ็บหนัก ถึงขั้นต้องลงเปลหามออกจากสนาม และถูกเปลี่ยนตัวออกไป

อีกเหตุการณ์เป็นเกมที่ แมนยูฯ เอาชนะ ฮัลล์ ซิตี้ ไป 4 ประตูต่อ 0 จากการเหมาคนเดียวของ "เวย์น รูนีย์"

เหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นในช่วงที่ทีมผีแดงได้ประตูที่ 2 เมื่อ นานี ได้โอกาสยิงฟรีคิกระยะประมาณ 35 หลา มายฮิลล์ ผู้รักษาประตูของฮัลล์ฯ รับไม่อยู่ บอลกระดอนออกมา และเป็นจังหวะเดียวกับที่กองหลังของทีม แอนดี ดอว์สัน พยายามที่จะเข้าไปเคลียร์บอลจนชนกับ มายฮิลล์ กระทั่งตัวเองล้มลงไปนอนกองอยู่กับพื้นแถวๆ เส้นประตู

ตอนนั้นผู้เล่นของฮัลล์ฯ บางส่วนคิดว่ากรรมการจะเป่าหยุดการเล่น เลยเกิดการชะงัก ขณะที่เกมยังไหลไปอย่างต่อเนื่อง และก็เป็น เวย์น รูนีย์ ที่ตะบันยิงบอลเข้าไปเสียบตาข่ายอย่างสุดสวย
...
ไม่รู้ว่าคิดมาไปเองหรือเปล่า แต่ผมว่าระยะหลังๆ ดูเหมือนว่าบรรดานักฟุตบอลหลายต่อหลายคนไม่ว่าจะเป็นลีกไหน ประเทศไหน ดูจะมีลูกเล่นที่ "ตุกติก" เพื่อให้ทีมของตนเองได้เปรียบกันเยอะขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเสียบสกัดแบบไม่ให้ไปทั้งลูก(บอล)ทั้งคน แกล้งพุ่งล้มเพื่อเรียกลูกฟาล์วหรือจุดโทษ การเสแสร้งว่าได้รับบาดเจ็บเพื่อที่จะถ่วงเวลา เรื่อยไปจนถึงการเล่นด้วยอารมณ์ที่คั่งแค้น จนเล่นนอกกติกา หาจังหวะเสียบนอกเกม ฯ

ขณะที่คนเชียร์ส่วนใหญ่เอง(โดยเฉพาะกองเชียร์ที่ทีมตนเองได้รับประโยชน์จากการตัดสิน)ก็ดูเหมือนจะ "ยอมรับ" กับวิธีการเล่นดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามตลอดช่วงระยะเวลาของเกมการแข่งขันที่เกิดขึ้นจะ "ถูก" หรือ "ผิด" ล้วนขึ้นอยู่กับการ "ตัดสิน" ของผู้เป็นกรรมการ

แน่นอนครับ ผมเองเห็นด้วย(สุดๆ) กับเหตุผลที่ว่าทั้งผู้เล่น ผู้จัดการทีม ผู้ฝึกสอน ทีมงาน ตลอดจนกองเชียร์เองต้องยอมรับในสิ่งที่กรรมการตัดสิน (ซึ่งนั่นหมายถึงว่าคุณจะต้องมีสมาธิกับการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ก็หยุดเล่นเพราะคิดไปเองว่ากรรมการจะเป่าหยุดการแข่งขันให้) แต่ที่ผมไม่อยากให้ยอมรับก็คือ "ความคิด" ที่ว่าการเล่น "ตุกติก" การเล่น "นอกกติกา" ถ้ากรรมการตัดสินออกมาว่าไม่ผิดแล้วมันคือสิ่งที่ "ถูก" สามารถ "กระทำได้"

หรือเลยเถิดไปถึงความคิดที่ว่ามันเป็นสิ่งที่ "สมควรกระทำ"

เพราะทั้งหลายทั้งปวงจะทำให้การตัดสินของกรรมการซึ่งต่อให้เก่งหรือแม่นยำแค่ไหนก็ต้องพบกับความยุ่งยากลำบากมากขึ้น และโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการตัดสินก็จะย่อมมีสูงมากขึ้นตามมาเช่นกัน

มิใช่เฉพาะผู้ตัดสินเท่านั้นนะครับ ตัวของผู้เล่นเองก็จะเกิดความระแวงซึ่งกันและกันมากขึ้น ตกลงเอ็งเจ็บจริง หรือแกล้งเจ็บ ฯ อันนำมาซึ่งความลดน้อยถอยลงไป "อย่างมิได้ตั้งใจ" ของสิ่งที่ถือว่าเป็น "หัวใจ" ของนักกีฬาในการเล่นกีฬาที่นอกเหนือไปจากความแข็งแรงของร่างกาย และการรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

นั่นก็คือความ "สามัคคี" และความมี "น้ำใจ" (ดูเหมือนว่าสังคมไทยเราโดยรวมกำลังเผชิญกับวิกฤตินี้อยู่ในระดับน่าห่วง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะระดับใหญ่ๆ หากแต่ลึกลงไปถึงความสัมพันธ์ในระดับย่อย...จะจอดรถช่วยเพื่อนร่วมทางก็ต้องคิดแล้วคิดอีกเพราะเกรงว่าอีกฝ่ายจะเป็นมิจฉาชีพหรือเปล่า? จะให้เงินคนที่มาขอค่ารถกลับบ้านต่างจังหวัดก็เกรงว่าจะถูกหลอก ฯลฯ)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็เชื่อนะครับว่าท้ายที่สุดมันคงจะไม่เลวร้ายถึงขนาดที่จะต้องไปเขียนเป็นกฏ-กติการะบุไว้ว่า แม้ผู้ตัดสินจะไม่เป่าหยุดเกม แต่ผู้เล่นจะต้องแสดงความมีน้ำใจด้วยการหยุดการแข่งขันหากมีคู่ต่อสู้คนใดคนหนึ่งล้มเจ็บอยู่ในสนาม ขณะเดียวกันคู่แข่งขันก็จะต้องแสดงน้ำใจกลับคืนด้วยการส่งบอลกลับไปให้อีกฝ่ายได้ครอบครอง มิเช่นนั้นจะต้องโดนเตือน รับใบเหลือง ใบแดง

ให้มันเป็นสิ่งที่แสดงออกมาจากใจนี่แหละครับ สวยสดงดงามที่สุดแล้วสำหรับความเป็นมนุษย์
...
มาว่ากันที่หัวเรื่องที่จั่วเอาไว้

สาเหตุที่อยากจะเขียนถึงฟุตบอลทีมชาติไทย(ชาย)อีกครั้งก็มาจากข่าวๆ หนึ่งในเซคชั่นกีฬา ของเว็บไซต์ Astv เมเนเจอร์ ออนไลน์นี่แหละครับ

ชี้เจออิหร่านสูสี "โอลเซน" ชมแข้งไทยเทคนิคเยี่ยม
มอร์เทน โอลเซน กุนซือ "โคนม" เดนมาร์ก ออกมาแสดงความชื่นชมในเทคนิคความสามารถอันยอดเยี่ยมของแข้งไทย หลังจากได้สัมผัสในทัวร์นาเมนต์ คิงส์คัพ พร้อมกันนี้เชื่อว่านักเตะแดนสยาม มีสิทธิต่อกรกับ อิหร่าน ได้อย่างสูสีในศึกเอเชียนคัพ 2011 รอบคัดเลือกนัดสุดท้าย

นั่นคือพาดหัวและส่วนโปรยของข่าวชิ้นที่ว่า

อย่าว่าอย่างโน้นอย่างนั้นอย่างนี้เลยครับ ผมว่าถ้านักข่าวไม่จงใจเขียนประชด, อีตา "โอลเซน" กุนซือทีมเดนมาร์กแกก็คงจะเป็นคนปากหวานขี้ประจบสุดๆ หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้จัดการทีมที่มีตาทิพย์ หรือไม่ก็คงจะมีอาการของโรควัวบ้ากำเริบ หรือไม่ก็เมานม(วัว)จนนั่งหลับและฝันไปถึงได้พูดเช่นนี้ออกมา

เพราะในนัดสุดท้ายของฟุตบอลคิงส์คัพปีล่าสุดที่แกพาลูกทีมลงเตะกับทีมชาติไทย ก่อนจะชนะไป 3 ประตูต่อ 0 รักษาแชมป์ถ้วยฟุตบอลถ้วยเก่าแก่และสำคัญของบ้านเราไว้ได้ วันนั้นเท่าที่ผมและคิดว่าท่านผู้อ่านที่เป็นคอบอลส่วนใหญ่เห็นก็คือ ความรู้สึกเหมือนได้นั่งดูบอลระดับ อบต.แข่งกับทีมชาติอย่างไรอย่างนั้น

คือถ้าบอกว่านักเตะของเราเล่นด้วยเทคนิคและความสามารถอันยอดเยี่ยม ทีมเดนมาร์กก็ต้องระดับเทพแล้วครับ เพราะขนาดคนพากย์เองยังบอกเลยว่าเดนมาร์กเล่นวันนั้น "เหมือนซ้อม" (น่าคิดเหมือนกันนะครับว่าแล้วคนพากย์เขารู้สึกว่าทีมชาติเราเล่นเหมือนอะไร?)

ทั้งการพ่ายแพ้ให้กับสิงคโปร์ในถ้วยเอเอฟซี เอเชียนคัพ 2011 คาบ้านตัวเองรวมถึงฟอร์มการเล่นโดยรวมในฟุตบอลคิงส์คัพ โดยเฉพาะการจัดตัวผู้เล่นนัดที่พบกับเดนมาร์กโดยการส่ง "กิตติศักดิ์ ระวังป่า" ลงไปโชว์ฟอร์มขอโทษนะครับที่ต้องบอกว่าห่วย! กระทั่งถูกเปลี่ยนออกในครึ่งหลัง (ซึ่งหาได้ไม่บ่อยนักที่บอลระดับทีมชาติจะมีการเปลี่ยนผู้รักษาประตูถ้าไม่ใช่เรื่องของอาการบาดเจ็บหรือนัดอุ่นเครื่อง) ถึงตอนนี้ผมเชื่อว่าหลายคน(หนึ่งในนั้นคือผม)คงสงสัยกันแล้วละครับว่าผู้จัดการทีมอดีตดาวเตะชื่อดังของแมนยูฯ อย่าง "ไบรอัน ร็อบสัน" คนนี้จะพาทีมชาติไทยของเราไปในทิศทางเช่นไร?

อาจจะเร็วเกินไป แต่ทว่าตั้งแต่ ร็อบสัน เข้ามาคุมทีม เรียนตรงๆ ครับว่าผมยังมองไม่ออกเลยว่าเราจะเล่นบอลกันด้วยทิศทางหรือสไตล์แบบไหน? รวมถึงยังมองไม่เห็นแนวโน้มที่ดีทางด้านใดด้านหนึ่งของทีมชาติไทยชุดใหญ่เลยสักนิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความฟิตของสภาพร่างกาย การครองบอล การมองหาที่ว่าง การจ่ายบอล รูปแบบของการเข้าทำ-การตั้งรับ ฯ (ไม่รู้ใครคิดอย่างไร แต่ในยุคของ "ปีเตอร์ รีด" คุมทีม ผมว่านักเตะไทยเข้าแย่งบอลจังหวะ 2 ได้ดีทีเดียว)

ทั้งๆ ที่ตอนนี้สภาพแวดล้อมโดยรวมต้องถือว่ายอดเยี่ยมครับ ไม่ว่าจะเป็นแรงใจแรงเชียร์จากแฟนบอล กระแสความคึกคักของบอลลีก ความสนใจของสื่อมวลชน ผู้สนับสนุนซึ่งนอกจากเจ้าเก่าแล้ว ก็ยังได้เจ้าใหม่อย่าง “แมคโดนัลด์” เข้ามา ด้วยการให้เงินปีละ 30 ถึงล้านบาทเป็นเวลา 3 ปี (พฤศจิกายน 2552-2555) หรือแม้กระทั่งตัวของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยคนที่ 15 "วรวีร์ มะกูดี" ซึ่งนั่งเก้าอี้เป็นถึงหนึ่งในบอร์ดของฟีฟ่า

ก็หวังนะครับว่า ร็อบสัน เองจะทำทีมชาติไทยให้คนไทยพอที่จะฝากความหวังได้บ้างในเร็ววันอย่างน้อยๆ ก็เกมชี้ชะตากับทีมชาติ อิหร่าน 3 มีนาคมนี้ (อย่าไปพูดเรื่องเหลวไหลเรื่องไปบอลโลกอะไรเลยครับ เนื่องจากผมเองก็คิดเหมือนกับที่คุณ บ.บู๋ เขียนไว้ในนิตยสาร Zoo เล่มหนึ่ง (ผมพยายามจะค้นดูว่าเป็นเล่มที่เท่าไหร่ แต่หาอยู่เกือบชั่วโมงก็ต้องล้มเลิกเพราะเวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการดูรูปของนางแบบสาวๆ เอ็กซ์ๆ มากกว่าการค้นหาอย่างจริงจัง) ทำนองว่า เรื่องนี้แค่ฝันก็ยังยากด้วยเหตุผลที่ว่าขนาดตัวแกยังไม่เคยฝันว่าไทยเราได้ไปบอลโลกเลยสักครั้ง)

เพราะไม่เช่นนั้นตัวของ ร็อบสัน เองก็อาจจะถูกมองได้ว่าเป็นเพียง "เบี้ยอีกตัวหนึ่ง" ที่อาจจะรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ก็ถูกสมาคมฟุตบอลฯ หลอกมาโฆษณาขายข่าว สร้างความหวังลมๆ แล้งๆ ตามสไตล์การทำงานของสมาคมฯ นี้ซึ่งอีกเพียง 6 ปีข้างหน้าก็จะมีอายุครบ 100 ปี(ก่อตั้ง 25 เมษาฯ 2459) แต่นับวันจะทำให้ทีมชาติมีการพัฒนาการที่เจริญฮวบๆ ลงไปเรื่อยๆ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน (ไม่ต้องมาเถียงหลายๆ ผลงานมันฟ้องอยู่)

ป่วยการครับที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสมาคมฟุตบอลหรือบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการถามหาความรับผิดชอบกับความล้มเหลวที่ผ่านๆ มาในแต่ละครั้งของฟุตบอลไทย) เพราะถึงอย่างไรท้ายที่สุดสิ่งที่จะบอกได้ว่าดีหรือไม่ดีก็คงจะเป็นผลงานของผู้เล่นทั้ง 11 คนในสนาม

ฟุตบอลไทยเชียร์ไปก็เท่านั้น...ผมเกิดความรู้สึกเช่นนี้จริงๆ ครับหลังจากที่เห็นทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ที่เมื่อปลายปีที่แล้วไปสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าจดจำเอาเสียเลยกับการตกรอบแรกครั้งแรกในรอบ 36 ปี ด้วยการแพ้มาเลเซีย 1-2

จริงๆ ผมรับได้นะครับกับผลการแข่งขันที่ย่อมมีแพ้ ชนะ หรือเสมอ แต่สิ่งที่ผมรับไม่ได้ก็คือ "ทัศนคติ" ในการเล่นของนักเตะ

ไม่ใช่เกมดังกล่าวเพียงเกมเดียวหรอกครับ หากแต่ยังรวมถึงอีกหลายต่อหลายเกมของทีมชาติจะชุดไหนก็ตามที่ในระยะหลังๆ ผมรู้สึกว่านักเตะไทยเราเล่นชนิด "ไม่แคร์" "หักหาญ" และ "เหยียบย่ำ" น้ำใจกองเชียร์มากๆ

สมาคมจะบริหารงานห่วยอย่างไรก็เรื่องหนึ่ง ผู้จัดการ-โค้ชวางแผนผิดก็เรื่องหนึ่ง การเสียเปรียบในเรื่องของสรีระก็เรื่องหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้ผมว่ามันไม่เกี่ยวกันเลยมิใช่หรือกับความ "ภาคภูมิใจ" กับการได้ติดทีมชาติ "ศักดิ์ศรี" ที่ได้สวมเสื้อทีมชาติไทย ที่จะต้องลงไปทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ใส่เต็มร้อย เล่นเต็มที่ ไม่ว่าจะทัวร์นาเมนต์เล็กหรือใหญ่

อย่างน้อยๆ ก็เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจของคนที่เขาเข้าไปเชียร์ ซึ่งถามหน่อยว่าหากพวกคุณๆ นักบอลทั้งหลายประสบความสำเร็จจากการทำหน้าที่ของตนเอง คนที่ตามไปเชียร์เหล่านั้นเขาจะได้มาซึ่งชื่อเสียงเงินทองเหมือนกับโอกาสที่พวกท่านจะได้หรือไม่?

แต่ส่วนใหญ่ที่เราได้เห็นและได้ยินคืออะไรครับ นักบอลไทยขี้เก็ก ขี้เกียจ ขี้คุย ขี้เหล้า ขี้พาล เจอคู่ต่อสู้ที่ต่ำชั้นกว่าก็เล่นแบบทำเป็นโชว์เหนือด้วยความประมาท ขณะเดียวกันก็ไม่เล่นเอาซะเลยเมื่อต้องเจอกับคู่ต่อสู้ที่รู้ว่าสู้ไม่ได้แน่ๆ

หรือที่เล่นแบบเหยาะแหยะ เล่นแบบขอไปทีก็เพราะรู้ดีว่า...ถึงพวกเราในฐานะกองเชียร์จะบ่นว่าฟุตบอลไทยเชียร์ไปก็เท่านั้น แต่อย่างไรก็ต้องตามเชียร์กันตลอดไปอยู่แล้ว?

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

กำลังโหลดความคิดเห็น