xs
xsm
sm
md
lg

เปลื้อง : ผู้ชายจ้ำบ๊ะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

6 หนุ่ม เปลื้อง
"เปลื้อง" ละครสะบัดผ้าของผู้ชายจ้ำบ๊ะที่ไม่ยอมจำนน ลุกขึ้นมาโชว์เพื่อหยอกล้อสังคมในยุคแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย แบ่งสี รับประกันเรื่องสำนวนเสียดสี แดกดัน และฮากับความขมขื่นที่ชีวิตคนบางกลุ่มในสังคมซึ่งมีค่าน้อยกว่าหมีแพนด้า - เปลื้องให้เกลี้ยง เหลือเพียงศักดิ์ศรีความเป็นคน ละครเวทีดีๆ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพเรื่องนี้ จะแสดงเป็นสัปดาห์สุดท้าย ณ M Theatre ระหว่างวันที่ 9 – 13 กันยายน 2552 เวลา 19.30 น. (เสาร์ – อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.00 น.) บัตรราคา 500 ,800 และ 1,000 บาท

ระหว่างที่คุณเดินเข้าโรงละคร M Theatre ก่อนการแสดงจะเริ่มขึ้น คุณคงจะแปลกใจกับซาวนด์ของบุคคลชนชั้นนำของประเทศหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, เสียงจากแก๊งสามเกลอเสื้อแดง, เสียงโฟนอินของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรที่ตัดสลับกันเป็นระยะผ่านมากับลำโพง สำหรับผู้ที่ไม่เคยชมละครเรื่องนี้มาเลย คำถามในใจคงจะเกิดขึ้น นั่นแหละ ...เขากำลังพาคุณเข้าไปสู่เรื่องราวอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า

ละครเวทีเรื่องนี้จัดแสดงครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ที่โรงละคร Black Box ภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต เสียงตอบรับดี ปีนี้จึงนำมาให้ชมกันถึงในเมือง ละครเรื่องนี้เขียนบทและกำกับการแสดงโดย พรรณศักดิ์ สุขี โดยใช้ฉากแบบ Turn Table คือ ฉากที่กลับหัวกลับหางหมุนกันเป็นวงกลม อย่างเดียวกับละครเพลง มามามียา !

ละครเวทีเรื่องนี้ดัดแปลงจาก The Full Monty ( ค.ศ. 1997) - No Jobs, No Money, No Underwear หนังรื่องนี้มีชื่อไทยว่า "ผู้ชายจ้ำเบ๊อะ" เป็นหนังฟอร์มเล็กจากประเทศอังกฤษ ที่ใช้ทุนสร้างเพียง $3.5 ล้าน แต่ทำรายได้ทั่วโลกมากถึง $257 ล้านในปีนั้น หนังเรื่องนี้คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากเวที BAFTA และถูกเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 4 สาขา คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปี 2000 ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์ในชื่อเดียวกัน มีการปรับตัวละครและเรื่องราวให้เป็นอเมริกันมากขึ้น ละครเวทีเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้ และโดยหลักของการแปลบทละครจากต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย สามารถทำได้ 2 วิธี คือ แปล และ แปลง

"ผมคิดว่าการแปลงน่าจะมีความท้าทายกว่า เนื่องจากเรากำลังจะทำละครที่จะสะท้อนให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจุบันด้วย อย่างในสังคมตะวันตก การลุกขึ้นมาเต้นระบำเปลื้องผ้ามันไม่ผิดกฎหมาย แต่ของไทยไม่ใช่อย่างนั้น บ้านเราถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องปรึกษากับทนายความในเรื่องของข้อกฎหมายด้วย ผิดไหม ทำได้แค่ไหน แล้วยังต้องหาเหตุผลให้กับตัวละครว่า เพราะเหตุใดถึงกล้าลุกขึ้นมาทำเช่นนั้น ถึงแม้จะแปลงก็เกือบจะถือว่า เขียนและทำใหม่ทั้งหมด เนื่องจากความแตกต่างของเรากับเขามันคนละเรื่องกันเลย" ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรรณศักดิ์ สุขี ผู้เขียนบทและกำกับการแสดงกล่าวกับ ซูเปอร์บันเทิง แมเนเจอร์ออนไลน์

The Full Monty ฉบับคนไทย ชื่อ "เปลื้อง" เรื่องราวของคนในชนชั้นรากหญ้าในซอยฉิมพลี 6 คน อันได้แก่ "ชาติชาย" คุณพ่อลูกหนึ่ง บัณฑิตตกงานมาขับแท็กซี่แต่ดันถูกเมียขอหย่า, "สะอิ้ง" วินมอเตอร์ไซค์อดีตขี้ยา, "ฮานาฟี" ไอ้หนุ่มที่หลบลูกระเบิดหนีตายมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอยู่ที่กรุงเทพฯ, "เฮียหงิม" อดีตรักหวานของเจ๊เพ็ญ เจ้าของร้านคาราโอเกะที่กำลังจะล่มจม, "บุญผ่อง" สามีดีเด่นที่ทำทุกอย่างเพื่อเมีย และ "แฉล้ม" พ่อหม้ายกำพร้าเมีย (กระดูกเมียฝังอยู่บนเขาพระวิหาร) เจ้าของร้านลาบเป็ด

ชายแท้ทั้ง 6 คนคือคนที่เราสามารถพบเห็นได้ตามถนนหนทาง แต่เขากลับเป็นคนที่ไม่มีตัวตนทางสังคม เขาอยากมีตัวตน อยากที่จะแผดเสียงร้องบอกกับสังคมว่า"มองเห็นเขาไหม มองมาที่เขาบ้าง เขายังอยู่และยังไม่ตาย" วันนี้พวกเขาลุกขึ้นมาเปลื้องผ้าแข่งกับ "เทพบุตรฉิมพลี" ผู้ชายกล้ามโต หน้าตาดี ซึ่งเป็นผู้ชายในฝันของสาวๆ โดยมีร้านคาราโอเกะของเฮียหงิมเป็นเดิมพัน การซักซ้อมระบำจ้ำบ๊ะเป็นไปอย่างทุลักทุเล เผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย จนวันแสดงจริง แม้จะถูกตำรวจจับ แต่พวกเขาก็ยังยืนกรานที่จะเปลื้องเพื่อศักดิ์ศรีและความมีตัวตน และจะเลิกโชว์ก็ต่อเมื่อสังคมมองเห็นตัวตนของพวกเขา

เมื่อบทละครเรื่องนี้นำมาผูกโยงกับสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ เช่น สถานการณ์การแบ่งฝ่าย แบ่งสี, 3 จังหวัดชายแดนภายใต้, ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009, หมีแพนด้า 2 แม่ลูก หลินฮุ่ย – หลินปิง เป็นต้น

มีบางตัวละครที่จะทำให้คุณคิดถึงใครบางคน?

"เพ็ญโสภา" หรือ เจ๊เพ็ญ หรือ อีเพ็ญ เจ้าของบาร์ฉิมพลี (รับบทโดย ชลเลขา ละอู นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ ม. กรุงเทพ) เธอคือกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้ชายทั้ง 6 คนลุกขึ้นมาเปลื้องผ้าโชว์แข่งกับผู้ชายก้ามปูในบาร์ฉิมพลีที่หน้าตาและรูปร่างดี โดยชายทั้ง 6 คนเลือกที่จะนำเสนอความจริงวันนี้!! มากกว่าความฝันในเรื่องสวยๆ งามๆ อันแสนจะเลื่อนลอย

ชายชาตรีแกร่งดังหินผาร้อนดังลาวา
ชายชาตรีแข็งดังเหล็กกล้าขอท้าให้ลองดู
ชายชาตรีอึดดังอาชาเหี้ยมดังพยัคฆา
ผู้หญิงคนไหนกล้า ขอท้าให้ลองดู (เพลง ชายชาตรี องก์ที่ 1 ฉาก 1 )


เมื่อข่าวเปลื้องผ้าของผู้ชายทั้ง 6 คนแพร่ออกไป กลับกลายเป็นที่สนใจของสังคมวงกว้าง เมื่อผู้สื่อข่าวหญิงปรากฏตัวเพื่อรายงานข่าวดังกล่าว เอกลักษณ์ของผู้สื่อข่าวหญิงคนนี้ ปอยผมซีกหนึ่งความกว้างประมาณ 1 ฝ่ามือ ถูกกัดและย้อมเป็นสีธงชาติไทย "แดง – ขาว – น้ำเงิน" ลุคนี้ทำให้หลายคนนึกถึงเจ๊ดา – ดารุณี กฤตบุญญาลัยในกลุ่มชุมนุมเสื้อแดง

ฮาได้อีก เมื่อผู้สื่อข่าวหญิงคนนี้สมมตินามตามท้องเรื่องว่า "ลิเดีย ชูชินวัตร" ( รับบทโดย กชมน สายทอง)

เนื้อเรื่องดำเนินถึงองก์ที่ 3 ฉาก 3 เพลง "แร๊ปเปลื้อง"

พวกเราไม่ใช่ยามเฝ้าแผ่นดิน เราเป็นคนเดินดินหากินไปวันๆ
เงินทองอัตคัดขาดแคลนน้ำมันก็แสนแพง จะพูดไปทำไมกัน
พวกเราไม่ใช่พันธมิตรแต่เราก็มีความคิดสปิริตสร้างสรรค์
พวกเราไม่ใช่รัฐบาลแต่เราก็เบื่อรำคาญที่มัวแต่ทะเลาะกัน
เขาอยากแก้รัฐธรรมนูญ แต่แม่ผมอยู่ทางนู้นยิงกันตายได้ทุกวัน
พวกผมไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มีแต่ตัวและหัวใจที่คอยช่วยเหลือกัน
เบื่อนักไอ้พวกสวมหน้ากาก ไอ้พวกมือถือสากปากก็เอาชนะกัน
ไอ้พวกใส่สูททำโก้ รัฐมนตรีรัฐมนโทยื้อแย่งแข่งขัน
ลองเปลื้องกิเลสตัณหาส่องกระจกแก้ผ้าดีหรือบ้าก็เหมือนกัน ฯลฯ


เปลื้อง (2551 และ 2552) ทั้ง 2 เวอร์ชัน ส่วนที่เป็นโครงเรื่องหลัก – เพลง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนที่เปลี่ยนเป็นเรื่องของสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนไป ดังนั้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวจึงถูกนำมาดัดแปลงใหม่เพื่อให้เกิดความร่วมสมัยกับผู้ชม อีกทั้งในเวอร์ชันนี้มีการขยายสเกลงานให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้เหมาะกับขนาดของโรงละคร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแดนเซอร์ และปรับในเรื่องดนตรี ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสม

บท "ชาติชาย" ตัวละครเอกในละครเวทีเรื่อง "เปลื้อง" นี้รับบทโดย ศศิศศร สุทธิเกษม นักแสดงจากละคร "น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์" ทางช่อง 3 ซึ่งเป็นบัณฑิตปริญญาโท ภาควิชาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถือเป็นคนคุ้นเคยที่เคยผ่านงานละครเวทีของมหาวิทยาลัยมาแล้วหลายเรื่อง ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ปี 2 ไม่ว่าจะเป็นคาบาเรต์, เอ็ม บัตเตอร์ฟลาย จนมาถึงเรื่องนี้ !!

เมื่อตัดสินใจนำ "เปลื้อง" เข้าสู่การแสดงในเมืองใหญ่ การทำการตลาดเห็นว่าควรจะมี "ดาราชื่อดัง" เป็นตัวชูโรง เรื่องนี้ พรรณศักดิ์ สุขี ไม่เห็นด้วยมาแต่แรก เนื่องจากเปลื้องเป็นละครเวทีของคนที่ไม่มีตัวตนที่เราสามารถพบเห็นเขาได้ตามท้องถนน

"ผมคิดว่าพอมีดารามาเล่นปุ๊บคนก็จะจำได้ ความมีตัวตนของเขาจะไม่สามารถนำการแสดงไปสู่เป้าหมายที่เราวางไว้ได้ แต่เมื่อฝ่ายการตลาดยืนยันอย่างนั้นก็ลองดู แต่พอเอาเข้าจริงๆ ไม่มีดาราคนไหนกล้ามาร่วมงานกับเรา ไม่มีพระเอกคนไหนที่จะกล้ามาเปลื้องผ้าบนเวที หรือบางคนก็บอกว่ามาเล่นให้ได้ แต่ขอปรับบทโน่นนี่ มีตั้งแต่ห้ามเห็นหัวนมไปถึงขอแก้บทเป็นไม่เปลื้องผ้า ซึ่งจะทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของเรื่อง"

"เราไม่สามารถทำใจที่จะสร้างความประนีประนอมเพียงเพื่อให้ได้ดารามาร่วมงานกับเรา สรุปสุดท้ายเราไม่เอาดารา อย่างศศิศศร ถึงแม้จะเคยไปเล่นละครซิตคอมเรื่องน้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์กับบรอดคาซท์ แต่เขาก็เป็นนักศึกษาของคณะเรา และเคยร่วมงานละครเวทีกับเรามาหลายครั้ง ขณะที่ทางฝ่ายการตลาดอาจจะไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะเกรงว่าจะขาดทุน แต่ในการทำงานของผมกลับดีใจและสบายใจมาก" พรรณศักดิ์ สุขีกล่าว

หรือเราไม่มีตัวตน หรือเราเราไม่ใช่คน
หรือเรานั้นต้องยอมทนจนกว่าจะมีใครเห็น
หรือเราแค่คนธรรมดาหรือเราไม่มีราคา
หรือเราไม่มีคุณค่าในตัวตนที่เราเป็น
ยังหายใจอยู่ไม่รู้อีกนานเท่าไหร่
เหลียวมองทางใดจะมีใครเห็นเรามีตัวตน
(เพลง คนไม่มีตัวตน องก์ที่ 1 ฉากที่ 2)


ถ้าคุณได้มีโอกาสชมละครเวทีเรื่องนี้แล้ว ครั้งคราใดที่คุณเปลือยกายหน้ากระจก คุณย่อมเห็นตัวตนที่แท้ ภาพสะท้อนในกระจกบ่งบอกให้ประจักษ์ในสัจธรรมที่ว่า มนุษย์หากไร้ซึ่งอาภรณ์หุ้มห่อร่างกาย ย่อมไม่มีความแตกต่าง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้สูงศักดิ์ หรือต่ำศักดิ์ ล้วนแต่มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ชีวิตที่มีและเหลืออยู่จะไปปั้นแต่งและเติมเรื่องราวต่างๆ มากมายให้กับชีวิตไปทำไม?

สู้วางและทิ้งซึ่งอัตตาก้าวเดินไปหาความเรียบง่าย ซึ่งเป็นของขวัญล้ำค่าที่สวรรค์ประทานให้แก่มนุษย์มิดีกว่าหรือ
...
เส้นทางละครของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
คณะละคร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (Bangkok University Theatre Company) เน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมศิลปะการแสดงร่วมสมัยรูปแบบต่างๆ และผลงานที่สะท้อนแนวความคิดทางสังคม และวิวัฒนาการของศิลปะ โดยมีเพชร โอสถานุเคราะห์ เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหาร (Executive Producer) และ ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ เป็นหัวหน้าภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์

ถือเป็นภาควิชาที่เล็กที่สุด จำนวนนักศึกษาน้อยที่สุด ทำเงินให้แก่มหาวิทยาลัยน้อยที่สุด แต่ใช้งบประมาณในการดำเนินการสูงที่สุด วิชานี้ก่อตั้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จนเมื่อ พ.ศ. 2544 ทางมหาวิทยาลัยได้มีการปรับหลักสูตรใหม่เพื่อให้เป็นศิลปะการแสดงเฉพาะทางมากขึ้น ส่งผลให้เด็กเริ่มมีทักษะในเชิงปฏิบัติการมากขึ้น

ละครของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แบ่งเป็น ละครวิทยานิพนธ์ ซึ่งนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ทุกคนต้องทำคนละ 1 เรื่อง, ละครใหญ่ ประจำภาคการศึกษา ภาคละ 1 เรื่อง (ปีละ 2 เรื่อง) และละครที่จะออกสู่สายตาของสาธารณชนในเมืองใหญ่อีกปีละ 1 เรื่อง ละครเวทีเรื่อง "เปลื้อง" จัดอยู่ในส่วนนี้

ผลงานต่างๆ ของคณะละคร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้อวดฝีมือทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เช่น

โตขึ้นผมจะขี่รุ้ง (I Shall Ride the Rainbow When I Grow up) ได้รับเกียรติให้จัดแสดงที่ International Children Theatre, Toyama ประเทศญี่ปุ่น

ระบำนิพพาน (Dancing to Nirvana) เป็นนาฏกรรมที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 12 จาก 57 งานละครทั่วโลกที่ได้แสดงในงานเทศกาลละครนานาชาติ The 9th APOSTROF : The International Theatre Festival ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก และแสดงที่ The Esplanade Theatre Studio สิงคโปร์ เมื่อปี 2007

เยิรพระยม (Dear Death) จัดแสดงให้ชาวสิงคโปร์ได้ชมกันที่ The Esplanade Theatre Studio สิงคโปร์ และเคยจัดแสดงที่โรงละครอักษรา คิงเพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ เมื่อปี 2551 โดยมี นีรนุช ปัทมสูต เป็นผู้แสดงนำ

คณะละคร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังได้รับเชิญจากสำนักนายกรัฐมนตรี และบริษัท เจ เอส แอล จำกัด ให้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานระดับชาติ "มหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติพระมหาชนก" เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ อิมแพค เมืองทองธานี

ผลงานทั้ง 4 เรื่องนี้ถือเป็นการสร้างบทขึ้นใหม่เพื่อสะท้อนจิตวิญญาณร่วมสมัยของคนไทย การมีโอกาสทำงานในระดับนานาชาติเช่นนี้ ทำให้นักศึกษาวิชาละครได้เพิ่มพูนในเรื่องของทักษะและประสบการณ์ในการทำงานในภาคปฏิบัติเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีผลงานละครเวทีสู่สาธารณชนอีกหลายเรื่อง ซึ่งมีทั้งส่วนที่สร้างจากวรรณกรรมสำคัญของโลก เช่น ฝันกลางฤดูร้อน ( A Midsummer Night's Dreamของ William Shakespeare) , เอควัส อาชญาอาชาไนย ( Equus ของ Peter Shaffer), เอ็ม บัตเตอร์ฟลาย (M Butterfly ของ David Henry Hwang) ละครเพลงในแนวบรอดเวย์ มิวสิคัล เช่น คาบาเรต์ (Cabaret), ปิ๊นปิ๊น (Pinpin) บทละครดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย เช่น หลงทางที่บางพลัด (Lost in Yonkers ของ Neil Simon), เปลื้อง (The Full Monty ของ Terrence Mcnaly) เป็นต้น
เปลื้อง ปะทะ เทพบุตรฉิมพลี
ทีมนักแสดง
เจ๊เพ็ญ กับแดนเซอร์ เทพบุตรฉิมพลี
หรือเราไม่มีตัวตน !?
ผู้สื่อข่าวเสื้อแดง คือ ลีเดีย ชูชินวัตร
พรรณศักดิ์ สุขี ผู้เขียนบทและกำกับการแสดง
เพชร โอสถานุเคราะห์ มอบช่อดอกไม้ให้แก่นักแสดง
เปลื้องดัดแปลงจากภาพยนตร์เรื่องนี้ The Full Monty
กำลังโหลดความคิดเห็น