xs
xsm
sm
md
lg

ซิตคอม ฟีเวอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




     ล่าวกันว่าเบื้องหน้ามีเรื่องราว และ เสียงหัวเราะจากมุกเฮฮามากมาย แต่ทว่าเบื้องหลังมีเรื่องเล่ามากมายกว่า แม้เสียงหัวเราะจะไม่เฮฮาเท่า แต่การเดินเข้าไปหาความฮา ก็ทำให้เราได้รู้ว่าอย่างน้อยๆ หลังม่านและเสียงฮาของพวกเขาเป็นอย่างไร…?
    
     อะไรที่ทำให้ “ซิตคอม” ฮิตติดลมบน-ขนาดที่ว่าจำนวนและเรตติ้งเอาชนะรายการข่าวขาดกระจุย…? ขออนุญาตสวมรองเท้าพื้นหนาๆ เพราะกลัวมุกฮาบาด ระหว่างมุดเข้าไปทำความรู้จักพวกเขาใกล้ๆ ในโลกซิตคอม


     กำเนิดซิตคอม

     “ซิตคอม” นั้นเป็นการรวมคำระหว่าง 2 คำ ระหว่าง Situation ที่แปลว่าเหตุการณ์ กับคำว่า Comedy ที่แปลว่าตลกขบขัน ซึ่งถ้านำมารวมกันก็จะหมายถึงเรื่องราว-เหตุการณ์ที่สร้างความตลกขบขันให้กับผู้ชม ซึ่งก่อนหน้าจะมาเฮฮาฮึ่มๆ ในทีวี “ซิตคอม” ยุคแรกๆ เริ่มเผยแพร่ตามสถานีวิทยุในช่วงทศวรรษที่ 1920 มาก่อน

     สำหรับซิตคอมที่ถือว่าเป็นเรื่องแรกของโลกคือเรื่อง “แซมแอนด์เฮนรี” ที่นำออกเผยแพร่ทางสถานีวิทยุดับเบิ้ลยูจีเอ็นในสหรัฐฯ เมื่อปี 1926 จนถึงปี 1950 และซิตคอมที่นำออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์คือเรื่อง “อะมอส แอนด์ เอนดี” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสในปี 1982 โน่นแหละ

     ปัจจุบันซิตคอมทางโทรทัศน์ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากเห็นทั้งภาพและเสียงไปพร้อมกัน ทำให้ผู้ชมผู้ฟังมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น จนทำให้ซิตคอมแบบดั้งเดิมหาฟังได้ยากเต็มทีทั้งในประเทศไทย หรือแม้แต่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

     ย้อนอดีต ซิตคอมไทย

     นั่งรถตุ๊กตุ๊กกลับมาที่เมืองไทย, ซิตคอมเรื่อง “ตุ๊กตาเสียกบาล” ถือว่าเป็น “ซิตคอม” เรื่องแรกของพี่ไทย จากฝีมือของ ภัทราวดี มีชูธน โดยในยุคนั้นๆ เป็นยุคที่ละคร ทีวี บ้านเรายังแพร่ภาพ แบบแสดงสดๆ บอกบทกันจะจะ แต่ทว่าครูเล็กได้ออกมาฉีกความจำเจ พร้อมกับหยิบยืมรูปแบบ “ซิตคอม” สั้นมาใช้เป็นครั้งแรก แล้วก็เป็นไปตามความคาดหมายซิตคอมเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ชนิดที่โฆษณาแย่งซื้อเวลากันอุตลุด 
 
     ส่งผลให้กรมประชาสัมพันธ์ต้องออกกำหนดเกี่ยวกับเรื่องเวลาโฆษณา และทำให้วงการทีวีรู้และเรียก ช่วงเวลาหัวค่ำที่ “ตุ๊กตาเสียกบาล” ออกอากาศว่าช่วง “ไพรม์ไทม์” ขบวนการคนใช้ซิตคอม เรื่องนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งตำนานซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงลิ่ว
 
     โดยซิตคอมเรื่องนี้ได้แจ้งเกิดดาราคุณภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ ปัญญา นิรันดร์กุล, ภิญโญ รู้ธรรม และวรายุฑ มิลินทจินดา ต่อมาก็

     มาถึงซิตคอมเรื่อง “ผู้พิทักษ์ความสะอาด” ที่กวาดรางวัลเมขลาสาขาละครสร้างสรรค์ดีเด่นมาครอบครองได้สำเร็จ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องยกความดี-ความชอบให้แก่ ภัทราวดี มีชูธน (อีกแล้วครับท่าน) ในฐานะผู้กำกับ ทั้งยังเป็นผู้เขียนบทให้ ศานติ สันติเวชกุล เป็นบัณฑิตตกยาก หาทางทำงานไม่ได้จนต้องไปเป็นพนักงานทำความสะอาด

     อกจากนี้ยังมีซิตคอมในความทรงจำดีๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บุญเติม ร้านเดิมเจ้าเก่า, สาทร-ดอนเจดีย์ (ภายหลังมีภาคต่อชื่อ สาทร-คอนโด), คุณยายกายสิทธิ์ซิตคอมขำๆ แอบสอนคนทำความดี และ เทวดาตกสวรรค์, ตะกายดาว ซิตคอมเรื่องแรกๆ ของ “เอ๊กแซ็กท์”, คู่ชื่นชุลมุน, 3 หนุ่ม 3 มุม (ซิตคอมที่นานที่สุดถึง 8 ปี) “ซิตคอม” เรื่อง “หกตกไม่แตก” ซึ่งนำเอา UHT มาอยู่บ้านเดียวกัน และ “คู่คนละขั้ว” “ซิตคอม” ไทยที่ได้รับอิทธิพลจาก Friends ซิตคอม ต่างชาติมาไม่น้อย

     สุดท้ายมีเกร็ดเล็กๆ ติดปลายนวมด้วยว่าซิตคอม เรื่อง “หกตกไม่แตก” ถือว่าเป็น ซิตคอม เรื่องแรกที่นำคนดูเข้ามาชมการแสดงในสตูดิโอและอัดเสียงหัวเราะกันสดๆ แบบเมืองนอกเป็นครั้งแรกอีกด้วยแหละ

     ซิตคอม Mania

     ผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน ไม่ว่ากดรีโมต หรือ ใช้ไม้กวาดจิ้มทีวีเปลี่ยนช่องไปทางไหนก็จะเจอแต่ซิตคอมๆๆ ๆ

     ฮิตขนาดที่สารานุกรมชื่อดังอย่าง วิกิฯ ยังเมาท์ให้ฟังด้วยสุ้มเสียงหัวเราะ เพราะติดซิตคอมงอมแงมว่า

     ตั้งแต่ปี 2545 มี “ซิตคอม” เปิดตัวกันถี่ยิบเกือบ 20 เรื่อง ใช่…เกือบ 20 เรื่อง แม้บางเรื่องจะโด่งดังเป็นพลุแตก ทว่าบางเรื่องก็ล้มหายตายจากไป แล้วอะไรที่ทำให้มันโด่งดังละ…?

     “เหตุผลใหญ่ นอกจากผมว่ามันดูง่ายไม่ต้องติดตามทุกๆ ตอนก็ดูรู้เรื่อง ต่างจากละครยาวครับ” กิตติ เชี่ยววงศ์กุล หรือเกลือ หัวหน้าผู้เขียนบทมือดีของค่ายเอ็กแซ็กท์ ซึ่งปัจจุบันผลิต “ซิตคอม” มากที่สุดในวงการทีวีไทยวิเคราะห์

     “ที่สำคัญผมว่าตัวละครของซิตคอมมันดำเนินได้ความผูกพันกับคนกับระยะเวลา มันเหมือนเราดูความผูกพัน มันทำให้เราติดตัวละครเหล่านั้นได้ง่าย อีกทั้งตัวละครในนั้นไม่ใช่ว่าจะดี-ชั่วไปซะหมดจดมันมีผิดพลาด มันทำให้คนดูรู้สึกว่าเหมือนดูตัวเองและเพื่อนรอบๆ ข้างอยู่ครับ”

    “คำถามนี้น่าคิดครับ” มือดีของค่ายเอ็กแซกท์ทวนคำถามที่ว่า ตั้งแต่ปี 2545 ซิตคอมมีจำนวนมากกว่ารายการข่าว การผุดขึ้นราวดอกเห็ดจริงๆ แล้วสะท้อนอะไรในสังคมเราบ้าง

     “ผมว่าสังคมเรามันเครียดอยู่ครับ คือมันทำคนที่ไม่อยากเสพอะไรที่หนักๆ เพราะคนมันอยากผ่อนคลาย ผมว่ามันเบากว่า...อีกอย่างผมว่าการดูซิตคอมมันเหมือนได้พักผ่อน เพราะว่าคนเจอแต่เรื่องเครียดจากข่าวมาแล้วทั้งวัน”

     ที่สำคัญหลายปีที่ผ่านมา “ซิตคอม” มีความหลากหลาย ทำให้หลายคนได้เลือกชม ตามชอบใจ ไม่เหมือนข่าวที่มักมีรูปแบบเดียวกัน

     เช่น ชอบเรื่องความรักหนุ่ม-สาวต้องดูเรื่อง “บางรักซอย 9” หรือถ้าเป็นเรื่องครอบครัวก็มีเรื่อง “เฮง เฮง เฮง”, เรื่อง “บ้านนี้มีรัก” หรือถ้าจะเอาเป็นแบบเฮฮาๆ ประสาชาวบ้านร้านตลาดก็ “ระเบิดเถิดเทิง” ชอบเรื่องราวของมิตรภาพระหว่างเพื่อนต้องดู “นัดกับนัด” หรือจะเป็นซิตคอมในวงการตำรวจก็ต้อง “ผู้กองเจ้าเสน่ห์”

     แต่ถ้าจะให้ตรงกับชีวิต ความเหงา และความรักของคนเมืองที่สุดในพ.ศ.นี้ ก็ต้อง ซิตคอมยอดฮิตเรื่อง “เป็นต่อ” ที่ออกอากาศติดต่อกันมานานถึง 5 ปี ซึ่งไม่เพียงเป็นขวัญใจคนดู “เป็นต่อ” ยังถือว่าเป็นขวัญใจของ ไท-อิน สินค้าอีกด้วย

     ความต่างระหว่าง ซิตคอม กับ นมกล่อง UHT

     ม้ละครซิตคอมจะไม่เหมือนกับนม UHT ที่มีวันหมดอายุเป๊ะๆ อยู่ใต้ตูดกล่อง แต่หลายคนสงสัยว่าซิตคอมมีวันหมดอายุหรือเปล่า..?

     “ซิตคอมจะหมดอายุก็ต่อเมื่อมันไม่ได้รับความนิยม คนดูไม่ดูแล้วครับ” เกลือว่า บางเรื่องก็ไปอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าซิตคอมบางเรื่องก็อยู่ค้างจอทีวีมานาน
     ซิตคอมเรื่อง “เป็นต่อ” ที่เกลือรับผิดชอบอยู่ก็มีอายุก้าวขึ้นปีที่ 6 แล้ว

     “ซึ่งคนก็ยังไม่เบื่อ...แต่ถ้าคนดูเบื่อหรือกระทั่งคนทำรู้สึกว่าไม่มีอะไรแปลกใหม่เมื่อไหร่ เราไม่เอาไว้แน่นอน” 

      แล้วทำอย่างไรไม่ให้คนเบื่อ…?

     เกลือบอกว่า นอกจากนักแสดงเบื้องหน้าจะต้องเก่งแล้ว ทีมงานเบื้องหลัง โดยเฉพาะคนเขียนบท ซึ่งการเขียนบทซิตคอมมันก็จะยากกว่าละครยาวอยู่นิดหน่อย เพราะนอกจากมันจะต้องมีความสนุกแล้ว มันจะต้องทันสถานการณ์และให้สอดแทรกข้อคิดดีๆ อีกด้วย

     “ถามว่าหาข้อมูลยังไง เราทำทุกๆ อย่างครับ อ่านหนังสือแทบทุกเล่ม ดูหนัง ฟังเพลง เช็กอินเตอร์เน็ต ซึ่งเรื่องที่เราเอามาทำบท (เป็นต่อ 1 ตอนใช้บทละครยาวเท่ากับ 20 กระดาษ A 4) เอามาล้อบางทีอาจจะไม่ใช่ข่าวใหญ่ แต่พอเราอ่านข่าวนั้นๆ แล้วต้องเกิดความรู้อย่างหนึ่ง หรือจะเป็นเรื่องใกล้ๆ ตัว เรื่องจากเพื่อนเราโดน คนรอบข้างเราโดน แล้วก็เอามาเล่าได้เหมือนกัน”

     “ตันบ่อยครับ” เขาว่า พอตันก็หยุด เวลาคิดไม่ออกก็ไม่คิดพัก แล้วก็ออกไปเที่ยวเล่นเดี๋ยวก็มีอะไรใหม่ๆ กลับมาได้ครับ

      ซิตคอมกับเรื่องห้ามเล่า

     มีไหม เรื่องต้องห้าม, มีครับ เกลือบอกว่า ซิตคอมจะต้องไม่เล่าเรื่องสถาบัน เรื่องศาสนา หรือเล่าเรื่องการเมืองตรงๆ ที่สำคัญต้องไม่ชี้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ผิดสิ่งที่ถูก อย่างถ้าพูดเรื่องศาสนาจะบอก ว่าศาสนานี้ดีกว่าศาสนานี้ซิตคอม จะสามารถแค่บอกเล่าแต่ห้ามชี้นำเด็ดขาด

     แซวได้แต่อย่างชี้นำ แต่แซวก็ต้องไม่ทำให้เขาเสื่อมเสีย

     “จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าการดูซิตคอมดีๆ แฝงสาระแบบย่อยง่าย แซวสังคมได้ เปรียบไปการมีซิตคอมก็เป็นเหมือนแก่การฉีดยาให้กับสังคมแบบทางอ้อมครับ”

    ไท-อิน แต่ไทยไม่อิน

     ฉีดยาให้สังคมแบบที่เกลือว่าฟังดู “คมคาย” แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนสงสัยและเข้าขั้นเบื่อหน่ายก็คือเรื่อง ไท-อินสินค้า หรือแท้จริงแล้วยาเข็มที่ซิตคอมฉีดให้แก่สังคมที่เขาว่ามันมีพิษผสมอยู่ด้วย

    ดังที่ โตมร ศุขปรีชา บก.หนังสือคนเมืองชื่อดัง บ่นดังๆ เอาไว้ถึงยาพิษยี่ห้อไท-อินว่า
    
     “ผมเบื่อไท-อินในทีวีเมืองไทย เพราะมันมีมากมาย เกินความจำเป็น” 

     “เรื่องไท-อิน ผมว่ามันพูดลำบากนะ เพราะว่าบ้านเราดูละครฟรีๆ ไม่ได้จ่ายค่าตั๋วเหมือนดูละครเวที ฉะนั้นการที่ละครมีรายได้ก็มาจากตัวสินค้าเป็นหลัก ไท-อินมีเพื่อที่จะทำละครให้คนดูต่อไปได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเฮ้ย...จะต้องไทย-อินๆ ได้หมด” เกลืออธิบาย

     แล้วน้ำหนักที่เหมาะสมมันอยู่ตรงไหน...?

     “ผมรู้สึกว่าเหมาะกับเนื้อเรื่องแล้วก็ต้องเป็นธรรมชาติ ไม่มากเกินไป จริงๆ ไท-อินบ้านเราก็ไม่ใช่ที่เดียว ในระบบนี้ก็เป็นกันหมด เมืองนอกก็เป็น อย่างมันมีการพูดถึงชื่อสินค้าตัวนี้ทั้งตอน แล้วก็ตามหาสินค้า โดยที่ไม่ได้เล่าเรื่องอะไร...คือที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าคนดูไม่มีความหมาย คนดูก็มีส่วนหนึ่งที่สำคัญ”

    “แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่า ไม่เพียงซิตคอมวงการบันเทิงทุกๆ ที่ในโลกไม่ใช่ศิลปะเพียวๆ เพราะปัจจุบันเราอยู่ในโลกแห่งพาณิชยศิลป์ เราถึงจะอยู่ได้”

     สุดท้ายถามว่ากระแสบูมของ “ซิตคอม” แบบนี้ มันจะยาวนานอีกแค่ไหน เขาตอบทันทีว่า ตราบใดที่คนส่วนใหญ่และคนไทยยังต้องการเสียงหัวเราะ


       ************************************************************************

      โตมร ศุขปรีชา นักเขียนชื่อดังวิเคราะห์ Friends กับ ซิตคอม เรื่องเป็นต่อ

     “Friends มันสะท้อนสังคมแบบที่เป็นสังคมเดียวของคนในเมือง แล้วมันสามารถมาผูกกันว่า มันอยู่ด้วยกันได้ แต่มันให้ความหมายของ Family ที่กว้างขึ้น มาก Family ที่มีแค่ พ่อ แม่ ลูก อยู่ในหมู่บ้านในสนามหญ้าเขียวๆ เลี้ยงหมาตัวหนึ่ง"
 
     โดยปัจจัยที่ “ซิตคอม” เรื่องนี้ได้รับความนิยมมาก ผมมองว่าเพราะว่ามันมีความเป็น Family แบบใหม่ที่มนุษย์กำลังโหยหาและต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ สายใย ที่คล้ายๆ กับครอบครัว

     “จะว่าไป “ซิตคอม” สำหรับคนเมืองเรื่อง “เป็นต่อ" ก็มีบรรยากาศ Family นะ แต่ตัวละครมันจะเป็นเพื่อนแบบที่มีเครือข่ายบางอย่าง มันเป็นสังคมแบบตะวันออกเป็นแบบญี่ปุ่นที่มันต้องการการันตีในด้าน ของสถานะที่มาของคนที่จะมาเป็นเพื่อนกับเรา” 

     แต่กับ Friends คุณจะเป็นพนักงานเสิร์ฟ-หมอนวด -นักโบราณคดีก็มาเป็นเพื่อนกันได้ ซึ่งผมนึกไม่ออกว่า โปรเฟสเซอร์ในมหาวิทยาลัยจะมาเป็นเพื่อนกับหมอนวดในสปาได้อย่างไร แต่ Friends ทำได้ดี 
      นี่คือเสน่ห์ของซิตคอมเรื่องโปรดอีกเรื่องของนักเขียนชื่อดังผู้มองวัฒนธรรมของคนเมือง





กำลังโหลดความคิดเห็น