โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ไม่ได้มีอคติอะไรกับใคร แต่ในช่วงระยะเวลาร่วมๆ 10 ปีมานี้ ผมรู้สึกว่า หนังตลกไทยได้ถูกจองจำอยู่ในกรอบคิดแบบหนึ่งซึ่งยากจะปรับเปลี่ยน ซึ่งกรอบคิดที่ว่านั้นก็คือ เรื่องของการสร้างมุกฮาที่มีสูตรสำเร็จอยู่แบบสองแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่พี่ๆ น้องๆ ตลกคาเฟ่ย้ายเวทีความฮามาอยู่บนจอหนัง
ตลกยุคนี้ จึงไม่ใช่ “ตลกปลอดสารพิษ” แบบยุคสมัยของคุณล้อต๊อกอีกต่อไปแล้ว และ “อารมณ์ขันที่มีชั้นเชิง” เหมือนผลงานของคุณดอกดิน กัญญามาลย์ ก็ดูจะสาบสูญไปแล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะเท่าที่มองเห็น หนังตลกทุกวันนี้ ถ้าไม่พูดคำหยาบด่าพ่อล่อแม่กัน ก็เป็นเรื่องของการใช้เสียง “ขู่ตะคอก” หรือแหกปากโวยวายตะโกนใส่กัน และแน่นอนที่สุด ที่ผมเริ่มเห็นว่ามันจะเป็น “นิมิตหมายอันเลวร้าย” ของหนังตลกไทยก็คือ เรื่องความทะลึ่งหยาบโลนและสัปดนในเรื่องเพศซึ่งดูเหมือนว่าจะถูกนำมาใส่ไว้ในหนังมากขึ้นทุกที
ครับ, ที่พูดแบบนี้ ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นคนดีสูงส่งอะไร และที่สำคัญ มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่หนังตลกจะหยิบเอาเรื่องเพศมาล้อมาอำ เพียงแต่ผมรู้สึกว่า ไม่ว่าหนังตลกเรื่องไหนเรื่องไหน ก็จะเดินอยู่ใน “กรอบ” แบบเดียวกันนี้เสียทั้งหมด
เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ครับว่า หนังตลกของต่างประเทศ ถ้าสังเกตดีๆ เราจะพบว่า มันมีหนังตลกในแนวที่หลากหลาย คือมีทั้งที่หยาบโลนหลุดโลกชนิดที่ใครบางคนอาจถึงขั้นรับไม่ได้ เช่น Bruno ที่เพิ่งเข้าฉายไปเมื่อเร็วๆ นี้ และนอกจากนี้ก็ยังมีตลกที่สะอาดๆ ไม่เจือปนเรื่องสัปดนอะไรทั้งสิ้น อย่าง Some Like it hot ซึ่งมันก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับคนดูที่พอจับ “ทาง” ของหนังตลกเหล่านี้ได้แล้วก็สามารถจะเลือกได้ว่าจะดูหรือไม่ดูหนังเรื่องไหน
พูดง่ายๆ ก็คือมันมีหมวดหมู่ของมันนั่นล่ะครับ ซึ่งจะแตกต่างกับของไทยเราที่ไม่ว่าทำออกมากี่เรื่องต่อกี่เรื่อง มุกตลกก็จะวนเวียนอยู่ในแพทเทิร์นซ้ำๆ กัน คือพอใครสักคนเกิดความคิดว่าจะต้องทำหนังตลกสักเรื่อง มุกที่คิดออกกันก็คือ ถ้าไม่หยาบ ก็ขู่ตะคอกกันไป (บทของคุณอาภาพร นครสวรรค์ ในหนัง “วงษ์คำเหลา” คือตัวอย่างที่ชัดมาก) โอเคล่ะ มันมีหนังตลกสะอาดๆ อยู่บ้าง อย่าง “เมล์นรกหมวยยกล้อ” และหนังตลกที่ใช้ตัวละครเด็กๆ บางเรื่อง แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อย
และเหนืออื่นใด เท่าที่สังเกตเห็น ผมคิดว่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้หลายปี หนังตลกมักโดนวิจารณ์แรงๆ มาแล้วในเรื่องการใช้คำหยาบสารพัดสัตว์ แต่มาถึงตอนนี้ เรื่องเพศหยาบโลนสัปดนใต้สะดือ ดูเหมือนว่าจะขึ้นมามีบทบาทในหนังตลกบ้านเรา มากขึ้นและมากขึ้น
คือต่อให้เราแกล้งๆ ลืมกันไปก่อนก็ได้ว่า “วงษ์คำเหลา” เป็นตัวอย่างที่ชัดพอสมควรในการใช้เซ็กซ์เป็นเครื่องมือสร้างมุก มองมาที่หนังซึ่งเราคาดหวังว่า น่าจะได้ดูมุกตลกแบบใสๆ ที่สะท้อนหัวจิตหัวใจของคนชนบทอย่าง “อีส้มสมหวัง ชะชะช่า” ก็ยังกลาดเกลื่อนด้วยมุกตลกที่พิงตัวเองอยู่กับเรื่อง “เพศ” และ “เซ็กซ์” แทบทั้งเรื่อง จนภาพของคนชนบทดูจะกลายเป็นพวก “ฝักใฝ่ในเรื่องเพศ” ไปอย่างไรไม่รู้
เพราะพูดก็พูดเถอะ ผมรู้สึกว่า นอกจากบรรยากาศภาพรวมของหนังเรื่องนี้ถูกโอบล้อมห่อหุ้มด้วยเรื่องราวทางเพศอย่างหนาแน่นแล้ว ตัวละครก็ดูจะกลายเป็นพวก “มนุษย์บ้าเซ็กซ์” ไปซะทุกคน ไล่ตั้งแต่คุณบำเรอ (โน้ต เชิญยิ้ม) ที่มาเป็น รปภ.คาเฟ่ไม่กี่วัน ก็จับจ้องมองหาเด็กเอ๊าะๆ ไปนอนด้วยซะแล้ว ส่วนคุณค่อม (ค่อม ชวนชื่น) นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะนอกจากจะพยายาม “ดึ๋งๆๆ” กับคนรักของตัวเองอยู่บ่อยๆ แล้ว ยังไปหาเศษหาเลยกับ “เด็กนั่งดริ๊งค์” ได้เรื่อยๆ และไม่เว้นแม้กระทั่งคุณพระเอกของเราอย่าง “สมหวัง” (เต้-ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์) ที่พูดกันอย่างถึงที่สุด หนังทำให้เขาดูเหมือนกับเป็น “มนุษย์ตัวกาม” ไปเลย เพราะนอกจากจะมีเมีย ยังมี “เสี่ยสาวใหญ่” ให้การอุปถัมภ์ แถมยังหิ้วเด็กนั่งดริ๊งค์คนอื่นๆ อีกด้วยแน่ะ
มามองดูมุกตลกในหนัง...ช่วงสิบนาทีแรก มีฉากแขกรับเชิญอย่าง “หม่ำ จ๊กมก” ที่หลังจากเคยฝากประโยคอย่าง “พี่จะเอาหูหนี” ไว้ใน “วงษ์คำเหลา” คราวนี้ ก็ไม่เบา เพราะเขามาพร้อมกับคำทักทาย “ค่อม ละมวย” ที่ฟังดูก็รู้ถึง “เจตนา” ว่าต้องการอะไร คือผมไม่เข้าใจจริงๆ ครับว่า คุณหม่ำเขาต้องการ “สร้างตัวเอง” ให้เป็นที่จดจำในเรื่อง “คำผวนหยาบๆ” แบบนี้ไปแล้วหรืออย่างไร ทั้งที่ว่ากันตามจริง ทักษะด้านตลกของคุณหม่ำ “ลึกล้ำ” กว่านั้นเยอะ หรือถ้าจะพูดกันจริงๆ เลยก็คือ เพียงแค่หน้าตาของคุณ คนก็พร้อมจะขำกันแล้วครับ ไม่เห็นต้องไปพึ่งเวิร์ดดิ้งหยาบๆ แบบนั้นเลย
พ้นไปจากนี้ “อีส้มฯ” ภาค 2 ยังมีมุกอีกหลายๆ มุกที่ชวนให้รู้สึก “จุกที่หน้าอก” เพราะความลามกสัปดนของมัน คือถ้าไม่นับรวมฉากที่เกี่ยวกับน้า “ค่อม” พยายามจะ “คร่อม” ภรรยาและหญิงสาวคนอื่นๆ แล้ว ยังมีมุกในแบบ “มุกเสี่ยงตาย” ในโชว์ของหม่ำ จ๊กมก (หม่ำ ออน สเตจ) และผมรู้สึกของผมเองว่า มันหยาบคายและไม่ให้เกียรติผู้หญิงอย่างไม่น่าให้อภัยที่คุณค่อม ชวนชื่น เอาใบหน้าตัวเองไปถูไถกับหน้าอกหน้าใจของผู้หญิงอย่างนั้น และใช่แต่เพียงเท่านั้น ยังมีใช้มือแตะๆ จิ้มๆ แถมล้วงสายตาเข้าไปในร่องอกของหญิงสาวคนนั้นซะอีกด้วย
และที่ไม่พูดไม่ได้เลยก็คือ เต้-ปิติศักดิ์ ในหนังเรื่องนี้ แม้จะแสดงได้ดี แต่หนังก็ไม่ลังเลเลยที่จะยัดซีนสัปดนให้เขาเล่น กับฉากยกโต๊ะด้วย “เครื่องเคราส่วนล่าง” ซึ่งก็เข้าใจล่ะครับว่า ความต้องการของหนังคือจะทำให้คนดูขำ แต่มันดูทะลึ่งตึงตังไปหน่อยไหม ยิ่งเมื่อมองดูรวมๆ กับ “มุกทำนองนี้” อื่นๆ ที่ดื่นดาษราดเรี่ยอยู่ทั้งเรื่อง ก็กลายเป็นข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า หนังเรื่องนี้จะไม่ขำเลย ถ้าไม่มีมุกหยาบโลน
ย้ำอีกครั้ง การเอาเรื่องเพศมาครีเอทเป็นมุกตลก ไม่ใช่เรื่องผิด และเข้าใจว่า “เจ้าของเรื่อง” อย่างคุณโน้ต เชิญยิ้ม มีพื้นฐานมาจากตลกคาเฟ่ และคงเห็น “เรื่องคาวๆ” ในวงการแสงสีมาเยอะถึงขนาดที่หยิบมาล้อได้อย่างออกรสออกชาติ แต่โดยความรู้สึกส่วนตัว ผมว่าหนังอย่างอีส้มสมหวัง “ทาง” ของมัน น่าจะเปิดโอกาสให้เล่นมุกตลกน่ารักๆ มากกว่าจะมายัดมุกสัปดนอะไรพวกนั้น
...ทีนี้ มาพินิจกันที่ตัวหนัง ต้องยอมรับว่า “โน้ต จูเนียร์” ลูกชายของคุณโน้ต เชิญยิ้ม กำกับหนังเรื่องนี้ได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่า “อีส้มฯ” ภาคหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด อย่างน้อยที่สุด มันก็ไม่ใช่เป็นแค่เพียง “มหกรรมยิงมุก” ที่เหมือนกับการเอามุกตลกหลายๆ มุกมาผูกร้อยต่อกันโดยไม่ดูความสัมพันธ์ของเนื้อเรื่อง แต่อีส้มฯ ภาคสอง การเล่าเรื่องไม่สะเปะสะปะ (ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการได้ “พิง ลำพระเพลิง” มารับหน้าที่เขียนบทให้) แถมตัวเนื้อหาพล็อตก็ดีใช้ได้ เพราะมันพูดถึงผู้ชายคนหนึ่งซึ่งไม่ซื่อสัตย์กับคนรักและเผลอไผลปล่อยใจไปกับความหอมหวานของความสำเร็จและหญิงอื่น ทิ้งคนรักอย่างไม่ไยดี
แต่ก็อีกนั่นแหละ ทั้งๆ ที่ตัวเนื้อพล็อตโอเคถึงเพียงนั้น และหนังน่าจะทำให้คนดูสะเทือนใจได้มากกว่านี้ แต่ผมกลับเฉยๆ เพราะรู้สึกว่าหนังทำให้ทุกอย่างดูง่ายเกินไปหมด คืออย่างหนึ่งซึ่งทีมงานหนังเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจให้ได้ก็คือว่า ดูเหมือน “ปมขัดแย้ง” ของหนัง (เรื่องระหว่าง “ส้ม” กับ “สมหวัง”) มาช้าเกินไป หนังหมดเวลากับการเล่นมุกนั่นนี่ไปเกือบๆ ชั่วโมงครึ่ง และพอถึงจุดที่เป็นความขัดแย้ง (Conflict) ก็ปาเข้าไปสู่ช่วงเกือบจะยี่สิบนาทีสุดท้าย ซึ่งหนังต้องเร่งตัวเองแล้ว เพราะเวลาใกล้จะหมด เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุการณ์ในหนังก็เลยดูเหมือนจำเป็นจะต้อง “รวบรัดตัดความ” ให้จบๆ จนทุกๆ อย่างดูง่ายไปหมด และสุดท้าย คือผมไม่เชื่อว่ามันจะง่ายดายได้ขนาดนั้น
ก็ใครจะไปเชื่อล่ะครับว่า ถ้าคนคนหนึ่ง “หลุด” ไปถึงขั้นมีชู้มีกิ๊กโน่นนี่ และคนทำผิด ถึงยังไงก็น่าจะได้รับบทลงโทษและบทเรียนอะไรบ้าง แต่นี่กลับบ้านมาพูดคำสองคำ อีกคนก็ให้อภัยได้แล้ว
ผมคิดว่า ถ้าหนังเริ่มเข้าสู่จุดระเบิดของปมขัดแย้งเร็วๆ กว่านี้อีกหน่อย แล้วปล่อยทิ้งช่วงจังหวะให้ตัวละครได้ “เจ็บปวด” และ “รู้สึกสำนึกผิด” อย่างจริงจังบ้าง น่าจะสร้างแรงสะเทือนใจได้มากกว่าที่เป็นอยู่
แต่เอาล่ะ ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ต้องให้เครดิตมากที่สุด สิ่งนั้นก็คงเป็นเรื่องของการใช้ “สร้อย” กับ “นาฬิกา” ที่หนุนส่งความเป็นดราม่าได้แบบเต็มๆ แน่นอนล่ะ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ใหญ่โตอะไร แต่น้อยนักนะครับที่หนังไทยสายตลกจะ “มีอะไรดีๆ” แบบนี้ให้เห็นกัน ผมชอบกิมมิกนี้เท่าๆ กับที่ชอบตอนที่ “สมหวัง” ก้มกราบแทบเท้าพ่อตา แล้วพ่อตาไม่ได้ต่อว่าอะไรเลย นอกจากถามว่ากินข้าวกินปลามาหรือยัง
ซึ่งถ้าจะบอกว่าฉากนั้น มันคือจิตวิญญาณความเป็นคนไทยก็ดูจะยิ่งใหญ่เกินไป แต่นี่แหละครับ คนไทย ทำผิด สำนึกผิด แล้วให้อภัย เป็นวิสัยเรียบง่ายของคนไทยเรา (แต่ถ้าทำผิดแล้วไม่ยอมสำนึกผิดและคิดอยู่แต่ว่าตัวเองถูก ซ้ำยังอยากได้รับการอภัยโทษ นั่นก็น่าปวดหัวเหมือนกัน)
และสุดท้าย ถึงแม้จะรู้สึกขัดๆ อยู่บ้างกับเสียงเพลงลูกทุ่งของบางค่ายที่เปิดให้ฟังถี่ๆ แต่ถึงกระนั้น มันก็ไม่ยากที่จะทำใจยอมรับได้ เพราะถึงอย่างไร อีส้มฯ ก็เป็นเรื่องราวของคนเพลงลูกทุ่งอยู่แล้ว ดังนั้น ถึงจะมีเพลงลูกทุ่งเป็นโฆษณาแฝง (Product Placement) แต่ก็เป็นโฆษณาแฝงที่ไหลรวมกันไปได้ดีกับเนื้อหาเรื่องราว
อย่างไรก็ดี ที่ต้อง “ขัด” กันจริงๆ ก็อย่างที่บอกนั่นล่ะครับ คือเรื่องความสัปดนหยาบโลนในเรื่องเพศ ผมรู้สึกว่า มันเยอะมากจนน่าสงสัยว่าคนทำหนังเค้า “ฝักใฝ่ในเรื่องเพศ” กันมากเกินไปหรือเปล่า??