xs
xsm
sm
md
lg

เสียดายนามสกุล ‘วงษ์คำเหลา’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ไม่ผิดเพี้ยนจากความจริงแม้แต่น้อย หากเราจะพูดว่า ศักราชนี้คือปีทองของค่ายหนังตราใบโพธิ์อย่างสหมงคลฟิล์ม เพราะหลังจากรับทรัพย์ไปเหนาะๆ จากสาระแนห้าวเป้ง เสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ก็มีความชอบธรรมเต็มที่ที่จะเบิกบานสำราญใจอีกครั้งกับ “วงษ์คำเหลา” ซึ่งคงทะลุเกินร้อยล้านแน่ๆ นอนๆ ไปแล้ว

และก็ไม่ผิดเพี้ยนจากความจริงอีกเช่นกัน หากโหรบันเทิงสักคนจะลุกขึ้นมาฟันธงว่า พ.ศ.2552 เป็นปีทองของหนังตลกเบาสมอง เพราะหนังทำเงินเกินร้อยล้านทั้งสองเรื่อง พูดกันอย่างถึงที่สุด มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความฮาไร้สาระ โอเคล่ะ ถึงแม้หนังเรื่องแรกจะมีคำว่า “สาระ” อยู่ในชื่อ (สาระแน) แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้หนังเรื่องนี้ขยับสถานะกลายเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าในเชิงเนื้อหาสาระแต่ประการใด และยิ่งไม่ต้องพูดไปถึงหนังอีกเรื่องที่เพียงเห็นหน้าผู้กำกับ ก็รู้กันแล้วว่า ปัญญาชนไม่ควรมานั่งขบคิดปริศนาธรรมอะไรจากผลงานของเขา

“วงษ์คำเหลา” คือหนังเรื่องที่ว่านั้น...

อันที่จริง บอกตามตรงครับว่า ตั้งแต่ได้ยินชื่อหนัง ผมค่อนข้างสนใจผลงานเรื่องนี้อยู่มาก เพราะต่อให้ไม่นับรวมว่า นี่คือหนังของ “หม่ำ จ๊กมก” ดาวตลกเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย การที่หม่ำเอานามสกุลจริงของตัวเองมาตั้งเป็นชื่อหนัง ก็นับเป็นความแปลกใหม่ที่ผมไม่คิดว่าจะมีคนทำหนังคนไหนในโลกนี้กล้าทำกัน และตอนแรกที่ได้ยินโปรเจคต์ ผมก็นึกกะเกณฑ์ไว้ในใจว่า หนังเรื่องนี้น่าจะเล่าอะไรๆ ที่สะท้อนตัวตนของคนคนหนึ่งซึ่งเกิดมามีนามสกุล “วงษ์คำเหลา” ไม่พ้นไปจากนี้

แต่ผมก็เดาผิดไปถนัด เพราะนอกจากตัวตนของหม่ำในหนังเรื่องนี้จะดูเป็นคุณชายผู้บุญหนักศักดิ์ใหญ่แล้ว “วงษ์คำเหลา” ที่เป็นนามสกุลแท้ๆ ของหม่ำ ก็ถูกนำมาใช้เป็นชื่อตระกูลของผู้รากมากดีมีอันจะกินตระกูลหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกที่ดูติ๊งต๊องปัญญาอ่อนกันแทบทั้งบ้าน และที่สำคัญ สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนก็ช่างดูเป็นมนุษย์ที่สุดแสนจะดัดจริตตอแหลกันเหลือเกิน จนน่าจะเปลี่ยนนามสกุลจาก “วงษ์คำเหลา” เป็น “วงษ์คำแหล” ให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย

เนื้อเรื่องของวงษ์คำเหลานั้นไม่มีอะไรมาก และจริงๆ ผมว่า หนังของหม่ำทุกๆ เรื่องก็ไม่ได้ปักธงว่าจะมาเล่าอะไรที่มันเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังหรือว่ามีสาระอยู่แล้ว เพราะสิ่งที่หนังตั้งใจขายและฝ่ายคนดูยินดีที่จะซื้อ ก็คือความตลกโปกฮา แต่พูดก็พูดเถอะ ในฐานะของคนที่ได้ดูภาพยนตร์ของตลกคนนี้มาครบทุกเรื่อง ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบผลงานชิ้นนี้ของหม่ำเลยแม้แต่น้อย

เพราะอะไรน่ะหรือ?

ครับ ถึงแม้ว่า ที่ผ่านๆ มา ผมอาจจะไม่ชอบหนังบางเรื่องของหม่ำ จ๊กม๊ก บ้าง อย่างบอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยมภาคสอง หรือแม้กระทั่ง “หม่ำ เดียว หัวเหลี่ยม หัวแหลม” ที่สำหรับผม มันไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าผลงานที่เกิดจากความ “หัวใส” แบบนักการตลาดที่ผนวกเอาความดังของคนสองคนมาแพ็กขายพร้อมกันก็แค่นั้นเอง แต่ก็อีกนั่นแหละ หลังจากได้ดู “แหยม ยโสธร” ผมกลับรู้สึกชอบและเชื่อเหลือเกินว่า หนังอย่าง “แหยม ยโสธร” นั้น ต้องเป็นหม่ำเท่านั้นถึงจะทำได้ คนอื่นไหนใครไม่มีทางลอกเลียน

ผมชอบแหยม ยโสธร เพราะมันสะท้อนบุคลิกความเป็นคนชนบทบวกกับความใสซื่อแบบคนอีสานที่เป็นรากเหง้าของหม่ำ จ๊กมก มุกตลกที่เรียงซ้อนไปกับความเป็นดราม่า ตลอดจนสไตล์ภาพแปลกๆ ที่ใช้สีสันจัดจ้านก็ดูดีมีเสน่ห์ อย่างไรก็ตาม เสน่ห์แบบนั้นมันดูเหมือนว่าจะหาไม่เจออีกต่อไปแล้วในผลงานอย่างวงษ์คำเหลา และผมก็เชื่ออีกว่า คงไม่ใช่แค่ผมเพียงคนเดียว แต่หลายๆ คนก็คงรู้สึกเช่นเดียวกันว่า นี่คือผลงานที่ด้อยที่สุดของผู้กำกับเลือดอีสานคนนี้

เพราะทั้งๆ ที่หนังขายความเป็นตลก แต่วงษ์คำเหลาก็เป็นแค่ตลกแบบพื้นๆ ไม่ได้สะท้อนชั้นเชิงความเป็นตลกมืออาชีพของหม่ำออกมาเลย พูดง่ายๆ ก็คือ มุกตลกในหนัง ว่ากันอย่างถึงที่สุด ก็ไม่ได้มีมุกประดิษฐ์อะไรพิเศษหรือเป็นมุกครีเอทที่เราพอจะยอมรับว่าเจ๋งอะไรเลย เพราะจริงๆ มันก็คือมุกตลกแบบสามช่าและมุกคาเฟ่ตกยุคที่เห็นกันจนเกร่อแล้ว ทั้งมุกตบหัวที่แตกตัวมาจากมุกเอาถาดฟาดกบาลกันของพวกคาเฟ่ยุคเก่า ไปจนถึงมุกด่ากันที่หนังจงใจใช้บ่อยจนดูน่าเกลียดมาก ก็ยอมรับล่ะครับว่า หนังเลี่ยงตัวเองไม่ให้ใช้คำหยาบได้ แต่การแหกปากด่ากันซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็บ่งบอก “รสนิยม” และ “ฝีมือ” ของคนทำได้อย่างดีว่า เหมือนจะไม่สามารถสรรหามุกตลกที่มันเข้าท่ากว่านี้มาเล่นได้อีกแล้ว

แต่จะมุกสามช่าหรือว่ามุกคาเฟ่ ว่ากันตามจริง มันเทียบเท่าไม่ได้เลยกับอีกสิ่งที่ดูยังไงก็ไม่น่ารัก มันคือความหยาบโลนครับ คือเข้าใจน่ะก็เข้าใจนะครับว่า การเล่นคำผวนนั้นถือเป็นศิลปะประเภทหนึ่ง แต่ผมรับไม่ได้จริงๆ กับประโยคอย่าง “พี่จะเอาหูหนี” ซึ่งหนังเอายัดใส่ปากตัวละครให้พูดซ้ำถึงสองครั้งเหมือนต้องการจะให้คนดูรู้สึก “อะไรบางอย่าง” กับคำพูดประโยคนี้ให้ได้

และที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น ชนิดที่ผมไม่คิดว่าคนอย่างหม่ำจะกล้าเอามาใส่ในหนังของเขาก็คือ มุก “ว่าว” นั่นล่ะครับ มันหยาบโลนสัปดนเกินไปจริงๆ และผู้กำกับเองก็ดูเหมือนจะสนุกที่จะเล่นกับมุกนี้อีกด้วยแน่ะ เพราะหลังจากหนังลากตัวละครตุ๊ดไปพูดคำถามหน้าห้องน้ำแล้ว ยังมีอีกซีนหนึ่งซึ่งคุณชายหม่ำถามคนรับใช้ว่า ตกลงแล้ว เขาชัก...หรือเปล่า? จากนั้น ทั้งคนใช้ทั้งคุณชายก็พูดเรื่องนี้กันต่อไปอีกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนเป็นเรื่องสนุกปาก จนผมรู้สึกว่า โอ้ พระเจ้า มันมากเกินไปแล้วมั้ยครับ

แน่นอน ผมไม่ได้เรียกร้องให้คุณมาทำหนังที่มันสุภาพเรียบร้อยอะไรนะครับ แต่กรุณา ลดความหยาบโลนอันเลยเถิดที่เกิดจากความคึกส่วนตัวของคุณลงบ้างก็เท่านั้น และจริงๆ ผมว่าถ้าไม่มีไอ้สองมุกนี้ มันก็คงไม่ทำให้ “หนังดีๆ” ของคุณเสียหายตรงไหนหรอก หรือถ้าจะพูดให้ถูก พอมีสองมุกนี้ มันก่อให้เกิดผลลบมากกว่าด้วยซ้ำ จริงมั้ย? และอย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลยครับ แม้แต่น้องๆ เด็กมัธยมที่ดูรอบเดียวกับผม ซึ่งส่งเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากกันมาตลอด ก็มาจอดที่มุกนี้ แบบว่า...“อึ้งกิมกี่” และ “เงียบกริบ” กันไปเลย สงสัยตั้งรับไม่ทันว่าตัวเองจะต้องมาเจอกับมุกพิเรนทร์ๆ อะไรเยี่ยงนี้ในหนังของ “ตลกเงินล้าน”

เอาล่ะ ขณะที่มุกตลกดูพื้นๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่พิสดาร ซ้ำร้ายยังแฝงความหยาบโลน เราจะพบว่า ในส่วนเนื้อหาของหนัง นอกจากไม่รู้จะบอกอะไรกับคนดู คือไม่มีประเด็นที่เป็นแก่นแกนแล้ว ความต่อเนื่องของเรื่องราวก็เป็นปัญหารุนแรงของหนังอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงกลางๆ เรื่อง หนังกระโดดจากซีนนี้ไปซีนนั้นอย่างไร้ความเชื่อมโยง หลายๆ ฉาก นอกจากจะไร้ความหมาย ยังมีจุดประสงค์เพียงเพื่อจะลากตัวละครไปยิงมุกตลกเท่านั้นเอง คือผมดูๆ แล้ว รู้สึกเหมือนกับว่า คนทำไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะเล่าเรื่องอะไรและเล่าอย่างไรให้มันมีความต่อเนื่องน่าติดตาม แต่สิ่งที่หม่ำให้ความสำคัญ คือจะใส่มุกตลกอะไรบ้าง ตรงไหนบ้าง ซึ่งปัญหาแบบนี้ เราจะเห็นได้ในหนังอย่าง “ต้มยำกุ้ง” ที่คนทำมุ่งแต่จะหาฉากให้พ่อยอดชายนายจา พนม โชว์แอ็กชั่น จนลืมไปว่า ความเป็นหนังนั้น มันต้องมี “เรื่องราว” และ “วิธีการเล่า” ที่ดีด้วย

สิ่งเดียวที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้ก็คือ เพลงประกอบ (เฝ้าคอยเฝ้าหวัง) ซึ่งหม่ำก็เป็นคนขับร้องด้วยตัวเอง แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมคิดว่าหนังก็ทำให้เพลงเพราะๆ เพลงนี้เสียหายเอง เพราะจังหวะที่หนังปล่อยเพลงนั้น ผมว่าอารมณ์ของหนังมันยังไม่เข้าขั้นสุกงอมถึงขนาดที่คุณชายหม่ำต้องมานั่งครวญคร่ำพร่ำเพ้อผ่านบทเพลงราวกับหัวใจจะแตกสลายอะไรอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้ ถ้อยคำสละสลวยของเนื้อเพลง รวมไปจนถึงอารมณ์เพลงที่ฟังเพราะๆ ซึ้งๆ จึงพลอยลดพลังลงไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่ถ้าทำฉากปล่อยเพลงให้บิวท์ดีๆ กว่านี้ มันจะซึ้งกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน และเมื่อพูดถึงเพลง เราจะพบอีกว่า ไม่รู้หนังเกิดลูกบ้าหรือมันในอารมณ์ยังไง ถึงให้น้องจั๊กจั่น (อคัมย์สิริ สุวรรณสุข) จู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาจับกีตาร์ร้องเพลงแบบงงๆ ว่ามันเชื่อมโยงหรือตอบสนองต่ออารมณ์ของหนังยังไง

เพลงดีๆ สองเพลงจึงถูกทำให้ “เสียของ” อย่างไม่น่าจะเป็น แต่ก็อย่างที่บอกครับว่า ไม่ว่าเราจะรู้สึกเสียดายเพลงรักซึ้งๆ ซึ่งน่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้อย่างไรก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่น่าเสียดายมากยิ่งกว่า ก็คือชื่อของหนังที่เอามาจากนามสกุลจริงๆ ของหม่ำนั่นล่ะครับ เพราะอันที่จริง ผมคิดว่า ความเป็น “วงษ์คำเหลา” หรือความเป็นหม่ำ จ๊กมก นั้น มันมีอะไรให้บอกเล่าตั้งเยอะแยะมากมาย อย่างน้อยที่สุด การเป็นคนต่างจังหวัดที่สู้ชีวิตฟันฝ่ามาหลายรูปแบบจนกระทั่งประสบความสำเร็จก็สามารถที่จะเอามาถ่ายทอดให้ดูน่าสนใจได้ อย่าลืมสิว่า คนต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยก็อยากได้ดิบได้ดีแบบเดียวกับหม่ำ จ๊กมก เหมือนกัน และสิ่งนี้ก็ถือเป็นจุดขายที่หนังสามารถหยิบเอามาเล่าได้ ไม่ใช่หรือ?

คือก็เข้าใจล่ะครับว่าหนังอยากจะเสียดสีประชดประชันพวกชนชั้นผู้ดีตีนแดง แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมก็ยังอดนึกสงสัยไม่ได้ว่า คุณเอานามสกุลตัวเองมาใช้ทำมาหากินทั้งที ทำไมถึงไม่เอามาเล่าอะไรที่มันดีๆ กว่านี้ แทนที่จะเอาไปเล่าเรื่องราวของตัวละครไม่เต็มเต็งไม่กี่คน และแน่นอนที่สุด “วงษ์คำเหลา” ในโลกแห่งความเป็นจริงเป็นเช่นไร ผมคงไม่อาจไปตรัสรู้ แต่เท่าๆ ที่ได้ดูและได้เห็น “วงษ์คำเหลา” ในหนังเรื่องนี้ มันคือวงศ์ตระกูลที่แสนจะติ๊งต๊อง ไร้สาระ และปัญญาอ่อนสิ้นดี!!
กำลังโหลดความคิดเห็น