โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
คงเหมือนกับคนดูหนังหลายๆ คนที่พอได้ยินชื่อของสองดารานักบู๊ประจำค่ายตราใบโพธิ์อย่าง “จา พนม” และ “จีจ้า” ปรากฏอยู่ในหนังสักเรื่อง สิ่งแรกๆ ที่จะแทรกขึ้นมาในความนึกคิดก็คงหนีไม่พ้นความวิตกกังวลเกี่ยวกับ “บทภาพยนตร์” ของหนังเรื่องนั้นๆ
เพราะกับประสบการณ์ที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะเป็น “ต้มยำกุ้ง” หรือ “องค์บาก” ไล่มาจนถึง “ช็อกโกแลต” หนังเหล่านี้อาจจะให้ความรู้สึกดีๆ แก่คนชอบแอ็กชั่นบู๊สะบั้นหั่นแหลกก็จริง แต่ในแง่ของบทหนัง มันก็ยังไม่มีอะไรแตกต่างจากหนังไทยอีก 80-90 เปอร์เซ็นต์ที่ยังมีปัญหา
แน่นอนครับ เวลาพูดคำว่า “บทหนังดี” ผมไม่ได้จะบอกว่า มันต้องเป็นบทหนังที่สูงส่งด้วยหลักการและเหตุผล หรือสะท้อนปรัชญาเข้มข้นลึกซึ้งอะไร เพราะอันดับแรก เราต้องเข้าใจว่า หนังบางแนว อย่างหนังบู๊ โดยพื้นฐาน ก็ไม่ได้ต้องการจะมา “มีสาระ” หรือบอกกล่าวปรัชญาชีวิตอะไรอยู่แล้ว นอกไปจากการฟาดปากต่อยตี
ถ้าเช่นนั้นแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ บทหนังที่ดี ควรเป็นยังไง?
ไม่ต้องอิงตำรา ไม่ต้องถามหาหลักวิชาการ สมมติว่า คุณดูหนังบางเรื่องแล้วรู้สึกว่ามันเล่าเรื่องได้ไม่สะดุด จะเล่าตามสูตร 1-2-3-4 หรือพลิกแพลงไปอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าหนังยังสามารถคงความต่อเนื่องเชื่อมโยงทางด้าน “เนื้อหา” และ “อารมณ์” ไว้ได้ นั่นก็พอจะนับได้ว่ามันมีบทหนังที่ดีได้แล้ว
ไม่เคยมีความคิดที่จะมาเทศนาคนทำหนังคนไหน แต่พูดกันด้วยความรักและห่วงใย ผมว่า มันไม่น่าจะมีอะไรหนักหนาสาหัสหรอกนะครับ กับการ “เล่าเรื่อง” ให้มีความต่อเนื่องสัมพันธ์กัน หรือทำบทหนังไม่ให้สะเปะสะปะกระโดดข้ามไปข้ามมา ถ้าเพียงแต่คุณมีความคิดที่เป็นระบบ และเมื่อเล่าเรื่องได้ลื่นไหลแล้ว ถัดจากนั้น คุณจะสอดแทรกปรัชญาสาระหรือสะท้อนวิสัยทัศน์อะไรลงไปในหนัง ก็ค่อยไปว่ากันอีกขั้นตอน
ครับ ที่เกริ่นมาทั้งหมด ก็เพียงเพื่อจะบอกว่า หลังจากได้ดูผลงานเรื่องล่าสุดของสหมงคลฟิล์ม ผมรู้สึกว่า หนังบู๊ค่ายนี้เริ่มมีพัฒนาการทางบวกขึ้นมาอีกหนึ่งขั้น อย่างน้อยๆ การเล่าเรื่องและพัฒนาเรื่องราว ก็ดูมีขั้นมีตอน อาจจะมี “รั่วๆ หลุดๆ” และสร้างความน่าสงสัยในบางจุด อีกทั้งยังเป็นการเดินตามสูตรง่ายๆ 1-2-3-4 แต่โดยภาพรวม ผมว่าหนังประสบความสำเร็จในการเล่าเรื่อง
อาจเป็นเพราะผู้กำกับชื่อราเชนทร์ ลิ้มตระกูล หรืออย่างไรไม่ทราบได้ จึงทำให้ “จีจ้า ดื้อสวยดุ” ดูแตกต่างจาก “ช็อกโกแลต” ราวกับลูกคนละพ่อ ในแง่ของบทหนัง ซึ่งที่ต้องเปรียบเทียบกับ “ช็อกโกแลต” เพราะนี่คือผลงานการแสดงเรื่องที่สองของดาราสาวจอมต่อยตีอย่าง “จีจ้า ญาณิน” และผมก็คิดว่า เป็นความฉลาดแกมโกงเล็กๆ ของคนทำหนังที่เลือกใช้คำว่า “จีจ้า” เป็นเวิรดดิ้งในชื่อหนัง ทั้งๆ ที่ตามเนื้อเรื่อง ตัวเอกนั้นชื่อ “ดื้อ” โดยมีจีจ้าเป็นผู้รับบทแสดง
เข้าใจได้ไม่ยากเลยครับว่า นี่เป็นเรื่องของการทำมาหากิน (การตลาด) เพราะว่ากันตามจริง นาทีนี้ ชื่อของจีจ้าก็ไม่ต่างไปจาก “จา พนม” ที่มีสถานะเป็น “สินค้าขายได้” ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สหมงคลฟิล์ม จะ Direct Sell ชื่อของหญิงสาวคนนี้แบบโต้งๆ ตรงไปตรงมา
...
พัฒนาการที่เห็นได้เด่นชัด จีจ้าในหนังเรื่องนี้ดูจะมีบทให้เล่นมากกว่าแค่โชว์ลีลาแอ็กชั่นอย่าง (กับพูดคำว่า “ตังค์แม่ ตังค์แม่”!!) ใน “ช็อกโกแลต” เพราะบทของ “ดื้อ” ไม่ใช่หญิงสาวที่เพียงแค่เตะต่อยได้ยอดเยี่ยม แต่ยังมีความรู้สึกอื่นๆ เฉกเช่นปุถุชนทั่วๆ ไป ทั้งเหงาและเศร้า ทั้งรักและหวัง ซึ่งเพียงแค่หนังเปิดเรื่อง เราก็พอรับรู้ได้คร่าวๆ ว่าชีวิตปัจจุบันของเธอไม่น่าจะมีความสุขเท่าไรนัก เพราะหากไม่นับรวมบทสนทนาทางโทรศัพท์ที่ฟังๆ ดูก็พอจะรับรู้ถึงความเหินห่างระหว่างเธอกับคนที่ปลายสาย (ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นแม่) การถูกแฟนทิ้งก็เหมือนกับค้อนที่ทุบซ้ำให้ชีวิตเธอช้ำหนักลงไปอีก
หนังมีฉากดีๆ ในตอนต้นเรื่อง (และอีกครั้งในช่วงกลางๆ เรื่อง) คือตอนที่ “ดื้อ” (จีจ้า) ไปนอนหงายกลางทุ่งหญ้า เหม่อมองฟ้า และรำพึงรำพันความเจ็บปวด มันคือความเดียวดายของหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งหาที่พึ่งทางใจไม่ได้ แต่กลับต้องไปร่ำร้องฟ้องใครสักคนที่ไม่มีอยู่แล้วในชีวิตจริง (ซึ่งหมายถึง พ่อ) ใจความที่หนังอยากจะบอก ผ่านฉากนี้ก็คือว่า ชีวิตของดื้อนั้น เหมือนชีวิตที่ไม่มีใคร คือมีแม่ก็เหมือนจะไม่มี และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังโดนผู้ชายทิ้งอีกต่างหาก (พูดไปพูดมา ก็อยากให้ “ดื้อ” มาเห็นหนุ่มๆ ในออฟฟิศแถวๆ ถนนพระอาทิตย์จังเลยครับ เพราะบางที อาจจะได้เจอคนหัวอกเดียวกัน ก็หนุ่มๆ แถวนี้น่ะ ได้ข่าวว่า นอกจากจะทิ้งใครไม่เป็นแล้ว ยังมักจะถูกทิ้งอยู่เรื่อยๆ ซะอีกด้วยแน่ะ หึหึ)
คงเป็นเพราะไม่มีใคร เมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันบางอย่างเหวี่ยงให้เธอได้มาเจอกับหนุ่มนักบู๊แถมมีหัวใจรักแท้อย่าง “สนิม” (คาซู แพททริก แทงค์) ความรู้สึกที่มีต่อชายหนุ่มคนนี้ก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นความรู้สึกดีๆ ที่เรียกว่ารัก...
จากพล็อตเรื่องที่เล่ามา ดูเหมือน “จีจ้า ดื้อสวยดุ” จะเป็นหนังดราม่าลึกๆ ซึ้งๆ ยังไงยังงั้น แต่ตามจริง ไม่ถึงขนาดนั้นครับ หนังยังคงวางน้ำหนักตัวเองไว้ที่การขายแอ็กชั่นเป็นงานหลักไม่มีตกหล่น แต่ผมชอบที่หนังใส่แง่มุมความรักเข้ามาบาลานซ์ความแอ็กชั่นได้แบบพอเหมาะพอดี และที่น่าชมก็คือ หนังเรียงลำดับเหตุการณ์ได้ต่อเนื่อง นั่นหมายถึงการเล่าเรื่องไม่สะเปะสะปะ กระโดดข้ามไปข้ามมาเหมือนอย่างหนังแอ็กชั่นหลายเรื่องที่ผ่านมาของค่ายนี้
โอเคล่ะ มันอาจจะมีรายละเอียดบางจุดที่น่าเคลือบแคลงสงสัย เช่น ทำไม จู่ๆ “ดื้อ” ถึงไปโผล่ตัวในสถานที่ที่ผู้หญิงถูกจับตัวไป เธอได้ข้อมูลมาจากไหน แล้วเพื่อนๆ ในแก๊งของเธอล่ะ ไม่ระแคะระคายบ้างเลยหรือว่าเธอจะ “บินเดี่ยว” ไปแบบนั้น แน่นอน เหตุการณ์แบบนี้ ก็เหมือนใน “ต้มยำกุ้ง” ที่จู่ๆ พ่อยอดชายนายจาโผล่ไปตามหาช้างที่ต่างประเทศ...แบบเดียวกัน...
แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังมองว่าหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในการเล่าเรื่องอยู่ดี และพูดก็พูดเถอะ กับภาพรวมของเนื้อเรื่องทั้งหมด ผมรู้สึกว่า “จีจ้า ดื้อสวยดุ” เหมือนจะได้รับอิทธิพลการสร้างเรื่องแบบหนังกำลังภายในและนิยายจีนยุทธจักรมาค่อนข้างมาก คือพล็อตเรื่องที่เริ่มจากตัวเอกถูกทำร้าย ก่อนจะไปได้อาจารย์ดีๆ ช่วยฝึกปรือฝีมือให้ (อาจารย์ดีๆ ในหนังเรื่องนี้ก็คือ “สนิม” และผองเพื่อน) พร้อมกับมีวิทยายุทธสุดยอดอยู่อย่างหนึ่ง (ซึ่งก็คือ “เมรัยยุทธ” เคล็ดวิชาของจีจ้าภาคนี้) ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะเข้าถึงเคล็ดลับสุดยอดของคัมภีร์ดังกล่าว แล้วจากนั้นก็ตามมาด้วยการทะยานสู่ยุทธภพเพื่อชำระบุญคุณความแค้นและช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ และระหว่างนั้น ก็มีเรื่องรักเกิดขึ้น...นี่คือพล็อตแบบหนังจีนกำลังภายในยังไงยังงั้น นั่นยังไม่ต้องพูดถึงตัวละครซึ่งเป็นสีสันของเรื่องราว อย่าง “ขี้หมู-ขี้หมา-ขี้ควาย” (ชื่อตัวละครที่แปลกเอาการอยู่) ซึ่งนึกภาพไป ก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างจากสมาชิกแห่งพรรคกระยาจก
ขณะที่หนังเล่าเหตุการณ์ได้เป็นลำดับขั้นตอน ที่น่าแปลกใจอีกอย่างก็คือ “จีจ้า ดื้อสวยดุ” ไม่ได้มีปมเรื่องที่ผูกไว้ตั้งแต่ต้น แต่เหตุการณ์หนังค่อยๆ ผูกตัวเองไปเรื่อยๆ ในระหว่างทาง ซึ่งก็คือเรื่องราวความรักระหว่าง “สนิม” กับ “ดื้อ” แน่นอนล่ะ แม้ว่าในท้ายที่สุด มันอาจจะไม่ได้ทำให้คนดูเกิดพุทธิปัญญาในเรื่องรักใหญ่โตอะไร แต่ก็น่าจะมีส่วนในการช่วยปรับเปลี่ยนสายตาของหญิงสาวคนหนึ่ง (ดื้อ) ให้พลิกกลับมามองความรักในแง่มุมที่งดงามขึ้นได้ ไม่มากก็น้อย
ในส่วนของแอ็กชั่น ก็อยู่ในขั้นที่หนังแนวนี้ควรจะเป็น แต่ที่เด่นๆ ออกมาหน่อยก็คงเป็นเรื่องของความสร้างสรรค์ที่เอาศิลปะโน่นนี่มาพลิกแพลงเป็นท่วงท่าการต่อสู้ อย่าง Jumping Stilts ไปจนถึงลีลาเต้น B-Boy ที่ถือว่าเป็น “กระบวนท่าสร้างสรรค์” ของหนังเรื่องนี้ แต่พูดก็พูดเถอะ ผมกลับไม่ค่อยชอบเท่าไหร่กับการที่เห็นคนเต้นไปเตะไป เท่าๆ กับที่ไม่ค่อยชอบชื่อของตัวละครพวก “ขี้หมู-ขี้หมา-ขี้ควาย” อะไรนั้น เพราะมันดูขำๆ เล่นๆ ยังไงไม่รู้ ซึ่งถ้าเทียบกับพวกวิชาหมัดเมาที่กระดกเมรัยไปฟาดปากคนไป ผมว่ามันน่าดูกว่า (ไม่ได้บอกว่ากระบวนท่าที่ผ่านการครีเอทมานี้ มันแย่นะครับ เพียงแต่ก็อย่างที่บอก ผมว่ามันดูตลกๆ ก็เท่านั้น)
แต่เอาล่ะ ไม่ว่า “จีจ้า” จะดุมากน้อยแค่ไหน หรือ “ดื้อ” จะสวยสง่าเพียงใดในหนังเรื่องนี้ พูดกันอย่างถึงที่สุด ผมว่า “จีจ้า ดื้อสวยดุ” สามารถเอาตัวรอดไปได้ในด้านของบทหนัง (เขียนบทโดยคุณสมภพ เวชชพิพัฒน์)
ย้ำอีกครั้ง มันยังไม่ถึงขั้นสุดเฉียบเนี้ยบนิ้งเตรียมขึ้นหิ้งอะไรขนาดนั้น แต่อย่างน้อยๆ มันก็ไม่ทำให้ผมรู้สึกปวดเศียรเวียนเกล้าและเกิดคำถามต่อเนื้อเรื่องได้เรื่อยๆ ว่ามันเป็นไปได้ยังไง (วะ?) เหมือนหนังแอ็กชั่นเรื่องก่อนๆ ของค่ายนี้