*หมายเหตุ* บทวิจารณ์นี้มีบางส่วนเฉลยเนื้อหาภาพยนตร์
โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
จากการได้พบปะพูดคุยกับคนโน้นคนนี้ในแวดวงธุรกิจบันเทิง ทัศนะแบบหนึ่งซึ่งผมได้ยินได้ฟังค่อนข้างบ่อยก็คือ มันไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นเท่าไหร่นัก หากใครสักคนคิดหวังจะเข้ามาโกยเงินจากอุตสาหกรรมประเภทนี้ เพราะมันจะมี “สูตรสำเร็จ” แบบหนึ่งให้ทำตามได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการทำหนัง ซึ่งพูดกันอย่างถึงที่สุด ก็มีสูตรที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าหนังแบบไหนจะทำเงินหรือมีแนวโน้มว่าจะไม่ “เจ็บตัว”
และถ้าเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่า ค่ายบันเทิงอย่างเวิร์คพอยท์ เอนเตอร์เทนเมนท์ ที่พาตัวเองเดินเข้ามาสู่ธุรกิจบนแผ่นฟิล์มและร่วมสร้างหนังกับสหมงคลฟิล์มมาแล้ว 2-3 เรื่อง ก็คือ “กรณีศึกษา” (Case Study) ชั้นดีที่นักเก็งกำไรไม่ควรมองข้าม อย่างน้อยที่สุด วิธีการทำหนังที่เวิร์คพอยท์เอามาสอยเงินจากกระเป๋าคนดูก็เป็นอะไรที่เข้าได้ไม่ยาก หนึ่งคือ ทำหนังตลกที่ถูกกับ Taste (รสนิยม) ของตลาด และสอง เอา “ต้นทุน” ที่ตัวเองมีอยู่แล้วมาต่อยอดในลักษณะ “แปลงสินทรัพย์ให้เป็นเงิน” ไล่ตั้งแต่ “โหน่งเท่ง นักเลงภูเขาทอง” มาจนถึง “เท่งโหน่ง คนมาหาเฮีย” และ “หม่ำ เดียว หัวเหลี่ยมหัวแหลม” ล้วนแล้วแต่เดินอยู่ในครรลองของวิธีคิดแบบเดียวกันทั้งสิ้น
แต่เอาล่ะ ในขณะที่ใครหลายๆ คนอาจจะส่งสายตามองแบบดูแคลนว่า เวิร์คพอยท์ก็ทำเป็นแต่หนังตลกไร้สาระไปวันๆ นั้น ค่ายบันเทิงที่นำทัพโดยเสี่ยตา-ปัญญา นิรันดร์กุล ก็ร่วมหุ้นกับชายคาตราใบโพธิ์อีกครั้งในหนังรูปแบบใหม่ที่ถือได้ว่าฉีกแนวออกไปจากสูตรเดิมๆ อย่างไกลลิบ เพราะนอกจากหนังจะไม่ได้พึ่งความดังของดารานักแสดงอย่างในเรื่องก่อนๆ แล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังไม่ใช่หนังตลกแบบที่เวิร์คพอยท์ถนัดอีกด้วย
ลึกๆ แล้ว เสี่ยตาและเวิร์คพอยท์ต้องการพิสูจน์อะไรหรือเปล่า ไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ หนังชื่อแปลกๆ อย่าง “6:66 ตายไม่ได้ตาย” ก็เข้าฉายไปเรียบร้อยแล้ว และที่สำคัญ นี่ไม่ใช่แค่งานแรกของเวิร์คพอยท์ที่พลิกมาจับหนังแนวทางใหม่ แต่เป็นครั้งแรกของผู้กำกับ “ทแกล้ว เรืองรัตน์” ด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากใช้ชีวิตอยู่กับงานมิวสิกวิดีโอและโฆษณามาหลายปี เขาก็มาสตาร์ทชีวิตผู้กำกับภาพยนตร์กับผลงานแนวสยองขวัญเรื่องนี้
เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าใครหลายคนจะคิดว่า นี่เป็นหนังที่เดินมาในทิศทางคล้ายๆ กับ Final Destination เพราะโดยคอนเซ็ปต์ มันพูดถึงการ “โกงความตาย” เหมือนๆ กัน อย่างไรก็ดี หากมันจะมีความแตกต่างก็คงเป็นเรื่องของ “หลักการและเหตุผล” ตลอดจน “วิธีการ” และ “เป้าหมายในใจ” ของตัวละคร เพราะขณะที่หนุ่มน้อยและผองเพื่อนในหนัง Final Destination บากบั่นที่จะเอาชนะความตายเพื่อให้ตัวเองและเพื่อนๆ รอดพ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราช แต่ในหนัง 6:66ฯ กลับดูจะแตกต่างออกไป เพราะการโกงความตายในหนังเรื่องนี้มีเงื่อนงำที่ไม่ธรรมดา และที่ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือจุดหักมุม (Twist) ของหนัง ซึ่งผลักให้ตัวเองพ้นไปจากการเป็นแค่หนังสั่นประสาทพื้นๆ สู่การเป็นหนังที่พูดถึงความรักอีกเรื่องหนึ่ง...
ท่ามกลางความคลุมเครือและมีคำถาม...“ดาว” (สุษิรา แอนจิลีน่า แน่นหนา) นักข่าวสาวถูกมือปืนยิงกระสุนเข้าที่หน้าอก แต่กลับไม่เป็นอะไร และเมื่อหลบหนีมาได้ ดาวก็รู้ข่าวร้ายว่าพ่อของเธอนั้นเสียชีวิตแล้วด้วยการยิงตัวตาย สิ่งนี้สร้างความประหลาดใจไม่เฉพาะแก่ดาว แต่ยังรวมถึงคนอื่นๆ ที่รู้จักแพทย์รุ่นใหญ่อย่างอาจารย์ดิน (ชื่อพ่อของดาว) และมันก็เป็นความน่าประหลาดใจมากขึ้นไปอีก เมื่อดาวได้พบว่า วินาทีที่พ่อของเธอลั่นไกปลิดชีพตัวเองนั้น เป็นเวลาเดียวกันกับที่มือปืนลั่นกระสุนใส่เธอพอดิบพอดี (นั่นก็คือ เวลา 6:66 หรือ 19.06 น.นั่นแหละท่าน)
แน่นอนที่สุด สิ่งที่หนังชวนคนดูตั้งคำถามตั้งแต่ต้นๆ เรื่องก็คือว่า ทั้งสองเหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไร และถัดจากนั้น ก็เป็นการร่วมเดินทางเพื่อค้นหาคำตอบ และไม่มากไม่มาย ผมว่า หนังมีจุดหลายๆ จุดเป็นเสมือน “คำใบ้” ให้คนดูคาดเดาจุดหักมุมได้ ที่สำคัญเลยก็คือ คาแรกเตอร์ของสองตัวละครคือดาวกับพ่อที่พลัดพรากจากกันตั้งแต่ 15 ปีก่อน โดยฝ่ายแรก (ดาว) มีความทรงจำที่ไม่ดีกับพ่อเพราะเธอเชื่อว่าพ่อเป็นคนฆ่าแม่...15 ปีที่เธอไม่ได้พบหน้าพ่อเลย จึงเป็น 15 ปีแห่งความชิงชังอย่างถึงที่สุดในตัวผู้ชายคนนี้ ขณะที่อาจารย์ดิน ตามคำบอกเล่าของคนรอบข้างต่างก็ให้ความเห็นว่าเขาเป็นคนดี ใจบุญสุนทาน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ดังนั้น การฆ่าตัวตายจึงเป็นปริศนาที่ใครต่อใครก็ขบคิดไม่แตกว่าเกิดจากอะไร
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอาจารย์ดินจะฆ่าตัวตายด้วยเหตุอะไร เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วในหนัง แต่สิ่งที่น่าชมก็คือว่า นี่เป็นหนังที่ค่อนข้าง “พยายาม” มีความคิดสร้างสรรค์อยู่มากพอสมควร เพราะต่อให้ไม่นับรวมบทสรุปของหนังที่ทำให้คนดูไม่รู้สึกว่ามันเป็นหนังไร้สาระแล้ว วิธีการผูกปมวางเงื่อนงำ หนังก็ทำได้ลึกลับน่าค้นหาพอประมาณ (แม้หลายๆ คนจะเดาได้ตั้งแต่ต้นๆ เรื่องแล้วก็ตาม)
แต่พูดก็พูดเถอะ บอกตามตรงครับว่า ช่วงหลังๆ มานี้ ผมก็เหมือนกับคุณผู้อ่านอีกหลายๆ ท่านที่เบื่อๆ เซ็งๆ กับหนังแนวนี้ที่ไม่ว่าทำออกมากี่เรื่องต่อกี่เรื่อง ก็ยึดติดอยู่กับกรอบคิดแบบเดียวกัน คือพอทำหนังผีหรือหนังสยองขวัญ ก็ตะบันยัดซาวด์เอฟเฟคต์ผ่างๆๆ สร้างความตกใจ หรือไม่อย่างนั้น ก็คุมโทนหนังให้ดูทึมๆ ครึ้มๆ เข้าไว้ ราวกับกลัวว่าคนดูจะไม่รู้ว่านี่คือหนังผีหรือหนังสยองขวัญ
ก็เข้าใจล่ะครับว่า เวลาจะเข้าฉากหลอนๆ มันต้องจัดฉากเมคบรรยากาศให้ดูน่าประหวั่นพรั่นพรึง แต่นั่นมันเป็นเพียงหลักคิดพื้นฐานของการทำหนังแนวนี้อยู่แล้ว และหนังเรื่องนี้ก็ “ง่าย” เอามากๆ เพราะพอถึงฉากระทึกทีไร ทำไม ไฟต้องดับพรึ่บพรั่บทุกทีไป แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่ามันดับเพราะอะไร คือเอะอะก็ดับไฟ เข้าฉากหลอนหน่อยก็ดับไฟ เป็นเทคนิคที่ใช้บ่อยจนพร่ำเพรื่อ ไม่รู้ว่ามีใครคิดเหมือนผมหรือเปล่าว่า หนังเรื่องนี้น่าจะได้มีส่วนช่วยรณรงค์การลดใช้พลังงานได้เลย เพราะมันเป็นหนัง “หนังประหยัดไฟ” อย่างเห็นได้ชัด
ต้องเข้าใจนะครับว่า บางที การทำหนังสยองให้ดูน่ากลัว มันไม่จำเป็นต้องทำให้ตัวละครตกอยู่ในที่มืดๆ ทึมๆ เสมอไปก็ได้ เพราะบางครั้ง มันอยู่ที่การจัดวางมุมกล้องมากกว่า ซึ่งถ้ายังนึกไม่ออก ก็ลองคิดถึงฉากที่ตัวละครสาวในหนัง “ชัดเตอร์ กดติดวิญญาณ” เดินเข้าไปในห้องเก็บตัวอย่างทางการแพทย์ซึ่งแสงสว่างจ้า แต่มุมกล้องที่สอดส่ายไปมุมนั้นมุมนี้ กลับทำให้เรารู้สึกถึงความน่าสะพรึงกลัวได้อย่างประหลาด ภาษาหนังเขาเรียกว่า POV (Point of View) ครับ คือใช้มุมกล้องแทนสายตาของตัวละครที่เพ่งมองไปยังจุดต่างๆ อย่างหวาดระแวง (และถ้าใครอยากดูหนังสยองขวัญดีๆ ที่มีชั้นเชิงเจ๋งๆ ในการหลอกให้คนหลอนมากกว่านั้น ผมแนะนำหนังสเปนสองเรื่องที่ชอบๆ คือ The Orphanage ของ “ฮวน อันโตนิโอ บาโยนา” กับ The Others ของ “อเลฮานโดร อเมนาบาร์”)
และที่น่าเสียดายอีกอย่างก็คือ ทั้งๆ ที่หนังเรื่องนี้พูดถึงความตาย แต่หนังกลับไม่ได้มีมุมมองอะไรเกี่ยวกับเรื่องความตายเลย (เทียบกับ Final Destination เรื่องนั้นพูดถึงทั้งความตายและความหมายของการมีชีวิตได้ดีระดับหนึ่ง) ตลอดทั้งเรื่อง ดูเหมือนหนังจะสนใจอยู่เพียงอย่างเดียวก็คือ ตั้งหน้าตั้งตาพาคนดูไปสู่คำเฉลยของเงื่อนงำที่วางไว้ ผมว่ามันเป็นการเสียโอกาสเหมือนกันนะครับ เพราะจริงๆ บางที “คำตอบ” นั้นก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับ “เรื่องราวระหว่างทาง” ด้วยเหตุดังนั้น พอเราดูจบ เราจะไม่รู้สึกเลยว่ามีอะไรให้คิดต่อ นอกจากได้รู้คำเฉลยว่า อ๋อ มันเป็นเช่นนี้นี่เอง
เช่นเดียวกัน ตัวละครในหนังทั้งหมดก็มาในรูปแบบของ Type Character คือแบนๆ ไร้มิติ ไม่ได้มี “ทางลึก” อะไรเลย ตัวละครทุกๆ ตัวเหมือนทำหน้าที่เป็นเพียง “ชิ้นส่วนหนึ่ง” ของหนังที่ร่วมกันเดินทางไปค้นหา “คำตอบ” ในตอนจบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ถูกวางไว้ให้เป็นตัวเด่นของหนังอย่าง “วุฒิ” (เจสัน ยัง) นั้น นอกจากจะทำให้เรารู้สึกว่าต่อให้ไม่มีเขา หนังก็เล่าตัวเองไปจนจบได้แล้ว การปรากฏตัวของเขาแทบทุกครั้งก็สร้างความน่าสงสัยได้ตลอด (ทั้งตอนแรกที่จู่ๆ ก็โผล่มาในบ้านของดาว ทั้งตอนใกล้ๆ จบที่โผล่มาช่วยดาวในโรงพยาบาล)
มากกว่านั้น ทฤษฎีเกี่ยวกับความผิดเพี้ยนของความตาย ที่หนังคิดขึ้นมาเอง ก็ดูคลุมเครือและยากจะเชื่อถือได้ คือจริงๆ หนังอยากจะพูดเรื่องง่ายๆ เท่านั้นเองครับว่า ความรักนั้นเป็นพลังที่สามารทำให้คนบางคนตายแทนคนอีกคนได้ แต่ด้วยหลักการเหตุผลและความเป็นไปได้ มันยังดูไม่หนักแน่นเท่าที่ควร อย่างน้อยๆ ผมว่าหลายๆ คนคงเกิดถามว่า ตกลง อาจารย์ดินมีพลังอะไรที่จะเข้าไป “แทรกแซง” ได้ว่าใครจะตายหรือใครจะอยู่ และจริงๆ ผมว่า อาจารย์ดินไม่ต้องใช้เวลาถึง 15 ปีในการคิดค้นทฤษฎีนั้นก็ได้ เพราะสุดท้าย มันก็มีสูตรง่ายๆ อยู่แค่ว่า ถ้ารู้วันเวลาตายของคนบางคน ตัวเองก็แค่ชิงฆ่าตัวตายก่อนเพื่อ “แลก” ให้คนบางคนที่ว่านั้นมีชีวิตอยู่ต่อ
ที่ผมสงสัยมากขึ้นไปอีกก็คือ เอาเข้าจริงๆ ตัวละครที่ตายแล้วฟื้นทั้งหลายแหล่ในหนังเรื่องนี้นั้น มันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หลักระหว่างอาจารย์ดินกับดาวตรงไหนยังไง หรือว่าหนังใส่เข้ามาเพียงเพื่อให้มันดู “ระทึก” เท่านั้นเอง หรือว่าที่คนเหล่านั้นไม่ตาย ก็เนื่องจากการกระทำของอาจารย์ดิน (ที่เข้าแทรกแซงความตาย) เลยทำให้ความตายเสียระบบไปทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คำถามเดิมก็จะเกิดขึ้นอีกคือ อาจารย์ดินมีฤทธานุภาพอะไรถึงทำได้ขนาดนั้น??
ครับ พูดกันอย่างถึงที่สุด แม้ผมจะนึกชมๆ อยู่บ้างว่า คนทำหนังช่างสรรหา “วิธีการ” ที่จะนำมาสื่อสารมุมมองความคิดอันด้วยเรื่องราวความรัก แต่ถ้าพูดถึงความสมเหตุสมผลหรือความเป็นไปได้ หนังยังไม่อาจสร้าง “หลักฐาน” และ “หลักการ” ที่หนักแน่นเพียงพอที่จะทำให้เราเชื่อถือได้ และพอไม่เชื่อ พลังของเนื้อหาสาระ ก็ลดลงไปตามไปด้วย
สรุปก็คือ จนถึงตอนนี้ เรายังไม่ได้เห็นหนังดีๆ จากเรี่ยวแรงของเวิร์คพอยท์ เพราะสำหรับ 6:66 ตายไม่ได้ตาย แม้จะเป็นหนังมีสาระ แต่โดยภาพรวม มันก็ยังเป็นหนังที่อยู่ในระดับ “พอดูได้” เรื่องหนึ่ง...