xs
xsm
sm
md
lg

(ไอ้)สัตว์! บนทางม้าลาย/อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

"ไอ้สัตว์ น่าจะชนให้ตายไปเลย..."

ประโยคที่ว่าถูกกล่าวออกมาจากปากพนักงานขับรถเมล์สาย 30 ในช่วงเที่ยงวันหนึ่งเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำเอาผมซึ่งนั่งอยู่เบาะยาว ด้านฝั่งตรงข้ามกับเขาถึงกับสะดุ้งโหยง

มองออกไปด้านหน้า นอกจากจะเห็นรถหลากชนิดฝั่งตรงข้ามที่จอดติดเรียงรายกันอยู่แล้ว ห่างออกไปจากรถคันที่ผมโดยสารมาเป็นระยะ 3 ช่วงรถเก๋ง และ 1 มินิบัสมีแท็กซี่สีฟ้าที่ไฟท้ายเปิดกระพริบอยู่ กลางท้องถนนพระอาทิตย์ยังมีกลุ่มคนชาย-หญิงราวๆ 6-7 คน ยืนจับกลุ่มกันอยู่ตรงบริเวณที่เป็นทางม้าลาย หนึ่งในผู้ชายทำท่าทำทางเหมือนกับเจรจากับชายคนที่แต่งตัวเหมือนคนขับแท็กซี่

ขณะที่คนที่สัญจรผ่านไปมาบนริมฟุตบาทแถวๆ นั้น หลายคนต่างหยุดยืนดูเหตุการณ์

รถชน รถเฉี่ยวคน!

ดูจากรูปการณ์บวกกับคำ(สบถ)บอกเล่าของพนักงานขับรถก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ที่ทำให้ผมตื่นเต้นผสมกับความอึ้งมากกว่าภาพบนท้องถนนก็คือประโยคสนทนาต่อมาของพนักงานขับรถเมล์คนดังกล่าวกับพนักงานเก็บเงิน

เพราะถึงแม้ผมจะเชื่อว่า ทั้งตัวผมเอง ตัวเขา พนักงานเก็บเงิน หรือแม้กระทั่งคนบนรถส่วนใหญ่ต่างก็เห็นภาพดังที่ผมบรรยายเหมือนๆ กัน ทว่าดูเหมือนคนขับจะ "รู้" ไปไกลกว่าที่พวกเรายิ่งนัก

"พวกพนักงานออฟฟิศแถวนี้นี่แหละ ตอนเที่ยงๆ แม่งชอบเดินมากันเยอะๆ ไปหาข้าวกิน คุยกันเจี๊ยวจ๊าว เนี่ยคงจะออกมาจากซอยตรงนั้น (ว่าพลางชี้มือไปยังซอยเล็กๆ ที่ติดกับค่ายทหาร ซึ่งสามารถเดินตัดจากถนนพระอาทิตย์ไปยังวัดชนะสงครามได้)..."

พูดพลางเหยียบคันเร่งเมื่อรถด้านหน้าเริ่มขยับ

"สมควรแล้ว เนี่ยแม่งคงจะเดินเหม่อแหละ เสือกข้ามถนนไม่ดูตาม้าตาเรือดีนัก ดีนะไม่เป็นอะไรมาก...ฯลฯ" พนักงานขับรถยังบ่นไปเรื่อยไม่หยุด ขณะที่ตัวผมหยุดกึกตรงคำว่าตาม้าตาเรือ

"อ้อ แสดงว่าคนขับรถบ้านเราเขาดูว่าคนข้ามถนนใครดูตาม้าตาเรือก็จะไม่ชน แต่ถ้าใครข้ามถนนบนทางม้าลาย กูก็ไม่ต้องรู้สึกว่ากูจะต้องชลอ กูไม่แคร์ว่ากูจะต้องระวังว่ามีคนข้ามมั้ย กูไม่สนว่ากูต้องหยุด และกูมีสิทธิ์ชน ว่างั้นเถอะ..."

ผมนึกอยู่ในใจ(นะครับ) พร้อมก้าวลงเมื่อรถไปจอดที่ป้ายหน้าบ้านพระอาทิตย์
...
รู้สึกปลื้มแกมเศร้าเหมือนผมมั้ยครับที่บ้านเรามักจะมีอะไรที่มันใช้ประโยชน์ได้เกินกว่าหน้าที่ที่มันควรจะเป็นรวมทั้งสื่อให้เห็นถึงคำว่า "ทำอะไรตามใจคือไทยแท้" อยู่ค่อนข้างเยอะทีเดียว

เช่น ฟุตบาธและสะพานลอย ที่นอกจากจะเอาไว้ให้คนเดินแล้ว เรายังเปลี่ยนสภาพให้มันเป็นพื้นที่ทางธุรกิจในการขายสารพัดสินค้าได้อย่างน่าอัศจรรย์ชนิดที่เด็กที่เรียนจบเอ็มบีเอก็ยังคิดไม่ได้

เลนในสุดของพื้นที่ที่รถวิ่งนอกจากจะเรียกว่าถนนแล้ว เรายังเรียกว่าที่จอดรถได้อย่างไม่เคอะเขิน(ดูได้ที่ถนนพระอาทิตย์เป็นตัวอย่าง เหตุเพราะมีการเก็บค่าจอดอย่างเป็นทางการ) นอกจากนี้เราก็ยังมีกำแพงที่เป็นทั้งแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะกราฟิตี้และเป็นทั้งสมุดโน้ตที่เอาไว้ให้เด็กนักเรียนเขียนชื่อสถาบันตัวเองไว้กันลืม ฯ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่เหมือนกันที่บางสิ่งบางอย่างของบ้านเรากลับถูกสร้างขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ว่าจะสร้างขึ้นมาทำไม?

หนึ่งในนั้นที่ผมรู้สึกมานานแล้วก็คือ "ทางม้าลาย" ซึ่งหากท่านเสียเวลาสักนิดพิมพ์คำว่า "ที่มาของทางม้าลาย" ลงในเว็บเสิร์ชอย่างกูเกิ้ล ท่านก็จะได้รู้(โดยอ่านจากข้อความที่มีคนเรียบเรียงไว้แล้ว)ว่า...จริงๆ แล้วเจ้าสัญลักษณ์ของทางลายขาว-ดำ ที่มีไว้สำหรับให้คนข้ามถนน หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า 'ทางม้าลาย' นั้นแท้จริงแล้วในตอนแรกหาได้เป็นสีขาวกับสีดำอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันไม่

เดิมทีแถบสีสัญลักษณ์ของทางคนข้ามนี้เคยเป็นสีน้ำเงินและสีเหลืองมาก่อน โดยมีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรก (หลังทำการทอดลองใช้แล้ว) ตามท้องถนนของประเทศอังกฤษราว 1,000 จุด เมื่อปี 1949 เพื่อบ่งบอกให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นทางที่อนุญาตให้คนสามารถข้ามถนนได้

แต่ก่อนนั้น สัญลักษณ์ของทางข้ามนี้จะอยู่คู่กับ 'เสาโคมไฟสัญญาณบีลิสชา' (ซึ่งถือกำเนิดมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี 1934) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสัญญาณให้พาหนะที่สัญจรอยู่บนท้องถนนหยุดวิ่งชั่วขณะเพื่อให้คนที่อยู่สองข้างทางได้เดินข้ามถนนอย่างปลอดภัย โดยพาหนะต่างๆ จะหยุดก็ต่อเมื่อโคมไฟสัญญาณบีลิสชาซึ่งมีสีส้มส่องสว่างขึ้น

ต่อมา เลสลี ฮอร์น บีลิสชา รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมแดนผู้ดี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มไอเดียนำโคมไฟสัญญาณดังกล่าวมาติดตั้งก็คิดว่าน่าจะมีการเพิ่มสัญลักษณ์ที่เป็นแถบสีบนพื้นถนนบริเวณที่มีการติดตั้งโคมไฟสัญญาณเพื่อช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นได้เด่นชัดมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ สัญลักษณ์ของทางข้ามที่มีแถบสีจึงถือกำเนิดขึ้น

จากนั้นก็มีการทดลองใช้สีขาว-แดง และสีขาว-ดำ ทาเป็นสัญลักษณ์ แล้วในปี 1951 สัญลักษณ์ของทางข้ามที่เป็นแถบสีขาว-ดำก็ถูกนำมาใช้คู่กับโคมไฟสัญญาณบีลิสชาอย่างเป็นทางการครั้งแรก พร้อมกับได้รับการขนานนามว่า 'ทางม้าลาย' เนื่องจากมีลักษณะเหมือนลายของม้าลายนั่นเอง

ต่อมาอังกฤษได้นำไอเดียดังกล่าวไปใช้กับประเทศอาณานิคมของตัวเอง เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น ทางม้าลายจึงกลายเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก และกลายเป็นเครื่องหมายจราจรที่เป็นสากลไปโดยปริยาย...

แต่ถึงแม้จะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ทว่าสำหรับในบ้านเราแล้วในบรรดาสัญลักษณ์เครื่องหมายที่เกี่ยวกับการจราจรนั้น ผมว่าทางม้าลายน่าจะติดอันดับการถูกหมางเมิน ละเมิด และไร้ค่าในระดับต้นๆ จากบรรดาผู้ที่ใช้ถนนทั้งหลาย จนกระทั่งหลายคนอาจจะคิดไปว่าเจ้าสีขาวหลายๆ แถบนี้มิได้มีอำนาจหรือบทบาทอะไรแต่อย่างใด

การจะหยุดหรือไม่หยุดให้คนข้ามขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของคนใช้รถเท่านั้น

ทั้งๆ ที่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 นั้นได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงอำนาจของสัญลักษณ์แถบสีขาวหลายๆ แถบบนถนนนี้ว่า...ให้ผู้ขับรถขับรถให้ช้าลง และพร้อมที่จะหยุดได้ทันท่วงทีเมื่อมีคนเดินข้ามทาง ณ ทางข้ามนั้นๆ

นอกจากนี้การหยุดรถจะต้องไม่ให้ล้ำเข้าไปในเขตทางคนข้าม เมื่อคนเดินข้ามทางโดยปลอดภัยแล้ว จึงจะเคลื่อนรถต่อไปได้

ย้ำนะครับว่ากฎหมายกำหนดไว้ว่าให้รถต้องหยุดและให้ทางแก่คนข้ามทางม้าลาย

นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังก็ไม่ได้จะมาทวงสิทธิ์แบบสุดลิ่มทิ่มประตูในฐานะของคนๆ หนึ่งที่ใช้ทางม้าลายข้ามถนนอะไหรอกครับ เพราะจะว่าไปแล้วเรื่องแบบนี้มันเหมือนกับการพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า คนที่ข้ามทางม้าลายเองก็ต้องเข้าใจบรรดาคนขับรถด้วย จะมั่นใจเต็มร้อย ข้ามแบบไม่มองซ้ายขวาเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าถ้าเขาหยุดกะทันหันมันก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้

เช่นเดียวกัน ถ้ารถเขาหยุดให้ข้ามแล้วไอ้การที่จะไปเดินนวยนาด อืดอาด ยืดยาด ดูรถคนนั้นคันนี้เหมือนอยู่ในงานมอเตอร์โชว์ก็คงจะกระไรอยู่ ขณะเดียวกันคนใช้รถเองก็น่าจะเห็นใจคนใช้ถนนบ้าง แล้วก็ควรตระหนักด้วยว่าทางม้าลายมันก็มีหน้าที่ มีบทบาท มีกฎบังคับของมันอยู่

ว่ากันว่าบางประเทศนั้นมีการลงโทษที่แรงไม่น้อยทีเดียวหากคนขับไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย แต่นั่นหาใช่ประเด็นสำคัญที่บ้านเราจะต้องเอามาใช้เป็นแบบอย่าง

เพราะโดยส่วนตัวผมเชื่อนะครับว่า การเคารพ การทำตามกฏหมายที่มันไม่มีบทลงโทษ หรือมีบทลงโทษไม่แรงนั้น นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความมีน้ำใจ ความเห็นอกเห็นใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว

มันยังแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของคน ของสังคม ความเจริญและความเป็นประเทศที่พัฒนาได้เป็นอย่างดี มากกว่าตัวเลขจีดีพงจีดีพีอะไรเสียอีก


มีคนบอกนะครับว่าประเทศไหนที่พัฒนาหรือไม่พัฒนา ก็แค่ดูระเบียบวินัย+น้ำใจในการใช้รถ-ใช้ถนนของคนในประเทศนั้นๆ ก็พอแล้ว

อาจจะฟังดูง่ายไป แต่ผมเห็นด้วยนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น