xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศิตทางม้าลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอาอีกแล้วครับพี่น้อง เมื่อจู่ๆ ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดคึก อยากจะเคร่งครัดเรื่องวินัยจราจรบนท้องถนนของคนกรุงเทพฯ
แถมเรื่องที่จะกวดขันรอบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยรณรงค์กันมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว แต่พอเวลาผ่านไปทุกอย่างก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆ นั่นคือ...

การข้ามถนนตรงทางม้าลาย

แค่คิดก็ขำแล้ว! เพราะดูประหนึ่งว่าวัฒนธรรมการใช้ถนนของคนไทย (ไม่ใช่เฉพาะคนกรุงเทพฯ) ทั้งคนใช้รถและคนใช้เท้าไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อเรื่องสิทธิสักเท่าไหร่ การข้ามถนนจึงกลายเป็นเรื่องต้องวัดใจและวัดดวงระหว่างเท้ากับล้อและความเป็นกับความตาย ไม่ก็ต้องเลือกข้ามสะพานลอยกันอยู่เรื่อย ถ้าไม่ใช่หน่วยงานรัฐสร้าง ก็จะเป็นของบริษัทนั่น โน่น นี่สร้าง แล้วก็ติดป้ายบอกว่าตัวเองทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งในต่างประเทศตะวันตกสะพานลอยกลับไม่เป็นที่นิยม เพราะเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูง อีกทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการก็ไม่สะดวกที่จะใช้

แต่เมื่อมันเป็นเรื่องในระดับโครงสร้างทางวัฒนธรรม แล้วจะใช้แค่กฎหมายกับการรณรงค์เพื่อให้คนหันมาใช้ทางม้าลายข้ามถนน จึงออกจะเป็นการวาดฝันที่สูงเกินควร

เอาล่ะ อย่างน้อยๆ เราคงต้องยอมรับในความปรารถนาดี แต่เรื่องวิธีการนั้นต้องคุยกันยาวๆ

ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์...ได้จริงหรือ?

ตามข่าวระบุว่า ทาง กทม. และกองบังคับการตำรวจจราจรจะทำการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท สำหรับผู้ที่ไม่จอดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย และปรับ 200 บาท สำหรับผู้ที่ไม่ข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย โดยทาง พล.ต.ต.วีระพัฒน์ ตันศรีสกุล ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) บอกว่าในช่วงแรกจะเน้นการทำความเข้าใจกฎหมายมากกว่าการลงโทษ แล้วจึงค่อยๆ ยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น

โดยในวันที่ 1 สิงหาคม 2552 จะเป็นวันดีเดย์ที่ทางตำรวจจราจรจะเริ่มดำเนินการจับ ปรับ อย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนรู้ว่าที่ผ่านมาทำผิดกฎหมายกันบ่อยครั้ง โดยเริ่มดำเนินการกันในบริเวณชุมชนใหญ่ๆ เป็นหลัก เช่น สะพานควาย สีลม อโศก เป็นต้น

“เราจะมีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตั้งโต๊ะเพื่อสังเกตการณ์ตามทางแยกที่มีทางม้าลาย หากพบคนที่ทำผิดก็จะดำเนินการปรับทันที แต่ในทางความเป็นจริงอย่างคนข้ามถนนเราก็ไม่อยากที่จะปรับเงิน เพราะพ่อค้า แม่ค้า คนเดินถนนทั่วไปก็ไม่มีเงินมาให้ปรับ เริ่มแรกเราจึงอยากรณรงค์ให้รู้ก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นก็คงต้องปรับให้มีเป็นตัวอย่าง เพื่อที่จะได้กลัวและไม่ทำผิดกัน”

ความจริงกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว แต่ประชาชนไม่ได้ตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์ของตัวกฎหมาย หรือบางคนอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังทำผิดกฎหมายอยู่

“เหมือนว่าเราอยากฟื้นฟูกฎหมายให้มันดูมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นกว่าเดิม จึงได้ดึงมาตรการตรงนี้มาช่วยว่าคนขับรถเมื่อมีคนข้ามถนนตรงทางม้าลายก็ต้องหยุดรถนะ คนข้ามถนนเองก็ควรรู้ว่าต้องข้ามตรงทางม้าลายนะ ไม่ใช่ว่าอยากจะวิ่งข้ามตรงไหนก็ได้”

หลังจากดำเนินการไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว พล.ต.ต.วีระพัฒน์กล่าวว่า จะมีการทำสถิติว่าประชาชนมีการตอบรับอย่างไรต่อการรณรงค์และการจับกุมของตำรวจ ถ้าหากยังพบผู้กระทำผิดที่มีจำนวนมากก็อาจจะเตรียมการดำเนินงานขั้นตอนต่อไป

“อาจจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกภาพรถที่ไม่จอดให้คนข้ามตามทางม้าลายเพื่อบันทึกเป็นหลักฐานและไว้ตรวจสอบ และเอาผิดต่อผู้ที่ทำผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งอนาคตเราก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีด้วย”

คำถามที่ตามมาคือ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีทรัพยากรเพียงพอในการกวดขันครั้งนี้หรือไม่

คนไทยเกรงกลัวอำนาจ

พล.ต.ต.วีระพัฒน์พูดถึงสาเหตุที่คนขับรถไม่จอดรถให้คนข้ามทางม้าลายว่าเป็นเพราะสภาพการจราจรที่ติดขัด เมื่อมีการเหยียบคันเร่งแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะชะลอความเร็วหรือจอดรถให้คนข้ามถนนตรงทางม้าลาย หรือมองอีกมุมหนึ่งคือมันกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว

แต่เมื่อการใช้ถนนเป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรม มันจึงจำเป็นต้องการคำอธิบายที่มากกว่าเพียงเรื่องการจราจรติดขัดหรือความเคยชิน

รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่พูดถึงประเด็นนี้มานาน แสดงทัศนะอย่างออกรสออกชาติ

“การจราจรบนท้องถนน คนขับรถถือครองอำนาจและสิทธิมากกว่าคนเดินเท้า กฎระเบียบบนท้องถนนไม่ใช่กฎของอารยชนเลย เป็นกฎป่า ใครแข็งแรงหรือใหญ่กว่าก็ใช้อำนาจอย่างเต็มที่ คนขับรถขนาดใหญ่และขนาดเล็กก็ไม่ต่างจากสัตว์ใหญ่และสัตว์เล็ก คนขับรถขนาดใหญ่เหมือนเป็นอันธพาล ไม่สนใจที่จะจอดให้คนเดินข้าม บางทีรถขนาดใหญ่จอดให้คนข้ามตรงทางม้าลายเพราะคนเดินข้ามมีจำนวนมากจนไม่มีพื้นที่ให้รถวิ่งผ่าน รถขนาดเล็กหรือจักรยานยนต์ก็ดันหาช่องลัดเลาะไปจนได้ ถึงขนาดวิ่งบนฟุตปาธเลยก็มี”

พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ถนนในบางพื้นที่ได้ผลักภาระให้คนเดินเท้าโดยการสร้างสะพานลอยเพื่อให้รถขับได้อย่างคล่องแคล่วสะดวกสบายขึ้น ทั้งๆ ที่รถที่สัญจรไปมาก็ไม่ได้มีจำนวนมากและวิ่งด้วยความเร็วต่ำ

สอดคล้องกับประเด็นการกดขี่และความรุนแรงประจำวันบนท้องถนน ที่ รศ.ดร.ไชยันต์เคยเขียนไว้ในนิตยสาร way ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552

“คนไทยมองไม่เห็นความโหดร้าย รุนแรง และป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นทุกวันบนท้องถนน การที่คนขับรถมองเห็นคนเดินข้ามทางม้าลายแล้วไม่ยอมชะลอหรือหยุดรถ กลับเร่งความเร็วขึ้น มันคือการจงใจฆ่าคนชัดๆ คืออนารยธรรม หากคนไทยจะข้ามถนน ต้องรอให้มีคนมายืนออกันเยอะๆ ก่อนถึงจะกล้าข้าม และเมื่อนั้นรถจึงจะหยุด

“การที่คนขับรถไม่หยุดรถให้คนเดินข้ามตรงทางข้ามหรือทางม้าลาย แล้วถูกปรับ 1,000 บาท มันเป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินไป ควรปรับให้เยอะกว่านี้และยึดใบขับขี่ด้วย แล้วอาจลดหย่อนผ่อนโทษในภายหลังก็ว่ากันไปตามกระบวนการ”
การที่คนขับรถไม่หยุดรถให้คนเดินข้ามตรงทางข้ามหรือทางม้าลาย รศ.ดร.ไชยันต์มองว่าเกิดจากหลายสาเหตุ


“คนขับรถรู้ว่าฝ่าฝืนไปก็ไม่โดนลงโทษ หรือใครหน้าไหนจะมาทำอะไรได้ บางทีรถที่อยากจะจอดให้คนเดินข้าม พอเห็นคันอื่นไม่จอดก็ไม่จอดตามไปด้วย หลายครั้งตั้งท่าว่าจะจอด เห็นคนไม่ยอมข้ามเสียทีก็ไม่จอด หรือกลัวว่าจอดแล้วรถที่ขับตามหลังมาจะชนท้ายเพราะไม่รู้ว่าคันหน้าจะจอด”

ระหว่างคนขับรถที่ไม่ยอมหยุดรถให้คนข้ามกับคนที่เดินข้ามถนนนอกทางข้ามหรือนอกทางม้าลาย รศ.ดร.ไชยันต์มองว่าน่าจะลงโทษคนขับรถมากกว่า

“อย่าโหดร้ายกับคนเดินเท้านักเลย หากถนนโล่งไม่มีรถ ก็ให้ข้ามๆ ไปเถอะ เมื่อทางม้าลายศักดิ์สิทธิ์ คนก็จะเดินข้ามโดยอัตโนมัติ”

จากประสบการณ์การใช้ชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาของ รศ.ดร.ไชยันต์ เขาบอกว่าวัฒนธรรมการใช้ถนนที่อเมริกาจะแตกต่างจากในเมืองไทยอย่างมากมายมหาศาล

“แค่มีคนยืนอยู่ตรงทางม้าลาย คนขับก็หยุดรถให้แล้ว เพราะสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญต่อสิทธิของคนเดินถนนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ หากไม่หยุดรถให้คนข้ามตรงทางม้าลายถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเลยทีเดียว คนที่เห็นเหตุการณ์ไม่ยอมปล่อยให้คุณขับรถลอยนวลไปอย่างหน้าตาเฉยแน่ๆ เพราะไม่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่จะเล่นงานผู้ฝ่าฝืนอย่างรุนแรง ทุกคนจะช่วยเป็นหูเป็นตา”

รศ.ดร.ไชยันต์วิเคราะห์ให้ฟังว่า พื้นฐานของคนไทยจะเกรงกลัวอำนาจ ดังนั้นต้องอาศัยกฎหมายบ้านเมืองหรืออำนาจรัฐมาบังคับให้คนปฏิบัติตามแนวทางที่ต้องการ แต่ต้องเป็นอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพจริงๆ เหนือสิ่งอื่นใด หนทางเบื้องต้นในการทำให้คนใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎและวินัยจราจร คือการกระตุ้นให้คนเดินถนนรู้จักรักษาสิทธิ

“จะข้ามถนน ไม่ต้องรอให้รถวิ่งผ่านไปจนหมด ข้ามไปเลย พอเกิดอุบัติเหตุก็ขึ้นโรงขึ้นศาลสู้เต็มที่อย่าไปกลัว เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ระหว่างคนขับรถกับคนเดินถนน”

คนใช้รถ คนใช้เท้า

เมื่อไปสอบถามความคิดเห็นของคนเดินถนน...

“อาจจะทำได้จริงนะครับ การที่ออกกฎบังคับให้รถหยุดและให้คนข้ามถนนตรงทางม้าลาย แต่ผมว่าสิ่งที่น่าจะให้ความสำคัญมากกว่าการคอยจับและปรับคนไม่ข้ามทางม้าลายก็คือทำอย่างไรจะมีทางม้าลายเยอะกว่านี้”

เป็นคำถามและทัศนะจาก ดิ๋ง-ณัฐพล สกุลมณียา วัยรุ่นที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันอยู่กับย่านใจกลางเมืองอย่าง ‘สยามสแควร์’ รวมถึงย่านจอแจอย่าง ‘ประตูน้ำ’

“ดูอย่างตรงหน้าห้างสยามพารากอนหรือตรงแยกข้าวมันไก่ประตูน้ำสิครับ ไม่เห็นจะมีทางม้าลายเลย ไม่มีตำรวจมาคอยดูแลด้วย”

ดิ๋งบอกว่าภาพที่เขาเคยเห็นประจำบริเวณแยกประตูน้ำก็คือ

“ผมมักจะเห็นตำรวจไปคอยจับคนขับรถมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่เห็นเขาจะมาคอยดูแลคนข้ามถนนเลยครับ”

นอกจากนี้ ดิ๋งยังเล่าให้ฟังถึงภาพอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนข้ามทางม้าลายที่ตัวเขายังจำได้ติดตา แม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้ว 2 ปี

“ผมเคยเห็นคนข้ามทางม้าลายแล้วถูกรถชนที่บางปะกอก ฝั่งธนฯ ทั้งที่เขาก็ข้ามถนนตรงทางม้าลายนะครับ เป็นผู้หญิงมีอายุแล้ว รถที่ชนเป็นรถเก๋ง คนขับเขาขับรถมาเร็ว แล้วพอถึงทางม้าลายก็พยายามชะลอ แต่ก็ยังชนอยู่ดีครับ ผู้หญิงคนนั้นกระเด็นเลย”

ดิ๋งบอกว่า เจ้าของรถคันนั้นลงจากรถมาดูคนเจ็บและพาขึ้นรถไปโรงพยาบาล แต่ประเด็นสำคัญในมุมมองของดิ๋งที่สะท้อนจากเหตุการณ์นี้ก็คือ

“มันแสดงให้เห็นว่า หากจะมีการออกกฎบังคับใช้เรื่องการข้ามทางม้าลาย มันจะเป็นเหมือนวัวหายล้อมคอกหรือเปล่า ผมว่าทางที่ดีน่าจะมีตำรวจจราจรคอยประจำอยู่ตามทางม้าลายด้วย หรือไม่ก็มีอาสาสมัครคอยให้สัญญาณว่ามีคนข้าม เพราะถ้ามีทางม้าลายแล้วไม่มีตำรวจคอยดูแล คนข้ามถนนก็ยังเสี่ยงอยู่ดี”

คำบอกเล่าของดิ๋งแม้จะฟังดูมีเหตุผล แต่ก็สะท้อนทัศนคติเรื่องสิทธิของคนในสังคมไทยดังที่ รศ.ดร.ไชยันต์พูดได้ในระดับหนึ่งว่า คนไทยมีลักษณะที่เกรงกลัวอำนาจ จึงมักต้องการคนคอยควบคุมดูแล มากกว่าที่แต่ละคนจะเคารพในสิทธิของกันและกันโดยไม่ต้องอยู่ในสายตาของตำรวจ

ดิ๋งทิ้งท้ายบทสนทนาถึงคนขับรถด้วยว่า

“อย่าเห็นแก่ตัวครับ อยากให้คนขับรถทุกคนมีน้ำใจเผื่อแผ่ให้คนที่เขาข้ามถนนบ้าง อย่าพุ่งใส่อย่างเดียว”

เป็นคำขอร้องกันแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมาประสาวัยรุ่น แต่นอกจากเสียงของคนข้ามถนนแล้ว ลองมารับฟังทัศนะของคนใช้รถกันบ้าง ดังความเห็นของ ม.ร.ว.กิติวัฒนา ปกมนตรี ที่บอกเล่ามุมมองแก่เราไว้น่าสนใจไม่น้อย เพราะถึงแม้จะใช้รถยนต์ส่วนตัวก็ตาม กระนั้นก็ยังขอร้องไปถึงผู้ขับรถคนอื่นๆ ให้มีจิตสำนึกยามขับขี่บนท้องถนน

“อยากจะฝากถึงคนขับรถทุกคน ว่าคนที่เดินตามท้องถนนเขามีความสำคัญ อยากให้ระมัดระวัง ความปลอดภัย อย่าทำให้เขาต้องประสบอุบัติเหตุ ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมฝากถึงคนข้ามถนนด้วยว่า ให้ระแวดระวัง เคารพกฎจราจร ข้ามถนนตรงทางม้าลายหรือสะพานลอยทุกครั้ง ไม่ใช่นึกจะข้ามตรงไหนก็ข้าม

ก่อนทิ้งท้ายถึงแคมเปญรณรงค์การออกกฎบังคับ เอาจริงเอาจังเรื่องการข้ามและหยุดตรงทางม้าลาย

“กฎนี้คงจะมีคนปฏิบัติตามได้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการจะปฏิบัติตามได้หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคนมากกว่า ดูอย่างการรณรงค์ไม่ให้คุยโทรศัพท์ขณะขับรถ แต่ก็ยังมีคนไม่ทำตามอยู่ดี”

เป็นคำถามที่ส่งต่อไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐและทุกคนบนท้องถนน ว่าถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะหันมาตระหนักในเรื่องสิทธิและแบ่งปันถนนกันใช้ ไม่ใช่ปล่อยให้คนใช้รถเป็นเจ้าถนนเพียงฝ่ายเดียว ส่วนคนใช้เท้าก็ต้องรักษาวินัยด้วยการข้ามถนนตรงทางม้าลายเช่นกัน มิใช่เอาแต่โทษคนขับรถเรื่อยไป

**********
เรื่องโดย : ทีมข่าวคลิก
ภาพโดย : ทีมภาพคลิก





กำลังโหลดความคิดเห็น