xs
xsm
sm
md
lg

Roommate : จีทีเอช เกรดบี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

มีเหตุผลอยู่ 2-3 ข้อที่ทำให้ผมจดจ่อรอดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ว่านั้นก็คือ นี่เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของค่ายหนังเล็กๆ อย่างโมทีฟ พลัส ต้นสังกัดเจ้าของหนังรักเศร้าซึ้งอย่าง Happy Birthday ซึ่งผมยกให้เป็นหนังรักที่ดีที่สุดแห่งปีของ พ.ศ.ที่แล้ว


เมื่อเป็นเช่นนี้ ความน่าสนใจจึงดู “เยอะ” เป็นธรรมดา นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า หนังตัวอย่างที่ตัดมาโฆษณาเอย หรือแม้แต่มิวสิกวิดีโอที่หนังทำขึ้นมาเพื่อโปรโมตตัวเองเอย ก็ทำออกมาดูน่าสนใจ และแสดงตัวตนอันเป็นประโยชน์ต่อการขายได้ชัดเจนว่าเป็นหนังรักสไตล์วัยรุ่น

แต่ก็อีกนั่นแหละ สิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะตัวอย่างหนังก็คือตัวอย่างหนัง ส่วนเนื้อในอาจจะไปกันคนละทาง และมันก็มีให้เห็นมาหลายครั้งแล้วว่า หนังหลายๆ เรื่องที่โปรโมตได้เจ๋งๆ นั้น ใช่ว่าเวอร์ชั่นเต็มจะเป็นเช่นนั้นด้วย และ Roommate ก็อยู่ใกล้ๆ ขอบข่ายที่ว่านี้ และพูดก็พูดเถอะ ถึงแม้ผมจะเคยปลื้มอย่างมากมายกับงานของค่ายโมทีฟ พลัสอย่าง Happy Birthday แต่กับ Roommate ผมกลับรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ยัง “ขาด” บางสิ่งบางอย่างในแบบที่หนังดีๆ ควรจะมี แม้ว่ากันอย่างถึงที่สุด คุณภาพของหนังเรื่องนี้จะห่างไกลจากจุดของหนังห่วยก็ตามที

โอเคล่ะ โดยบรรยากาศของหนัง Roommate ยังมีกลิ่นแบบ Happy Birthday อย่างเห็นได้ชัด ประการแรกก็คือ การเดินเรื่องด้วยจังหวะที่เนิบช้าค่อยเป็นค่อยไป จนในบางขณะอาจจะดูเฉื่อยเนือย อย่างไรก็ดี ข้อแตกต่างที่น่าคิดก็คือว่า ขณะที่ความช้าใน Happy Birthday เป็นความช้าที่ทำให้เราได้ค่อยๆ มองเห็นและสัมผัสกับพัฒนาการทางความรู้สึกของตัวละครหลักที่ค่อยๆ ทอถักความรักความผูกพันขึ้นระหว่างกัน แต่ความช้าในหนัง Roommate กลับไม่ค่อยสะท้อนอะไรแบบนั้นออกมาเลย

Roommate หรือ เพื่อนร่วมห้อง ต้องแอบรัก คือผลงานการกำกับเรื่องที่สองของคุณกรัณย์ คุ้มอนุวงษ์ ที่เคยส่ง “คริตกะจ๋า บ้าสุด...สุด” ออกสู่ตลาดมาแล้ว หนังเล่าเรื่องของหนุ่มสาวนักศึกษา 4 ชีวิตซึ่งร่วมหุ้นกันเช่าบ้านพักหลังเดียวกัน และใช่แค่เพียงอยู่ร่วม แต่พวกเขาคือเหล่านักร้องนักดนตรีที่เรียกตัวเองว่า เดอะ รูมเมท รับจ้างเล่นในบาร์แห่งหนึ่ง ซึ่งเรื่องของเรื่อง มันก็คงไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเพียงแต่บาร์แห่งนั้นจะไม่ดูซบเซาเงียบเหงา จนกระทั่งเจ๊เจ้าของร้าน (คุณเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์) เสนอไอเดียใหม่เท่เก๋ไก๋ว่าให้หาหญิงสาวหน้าตาสวยๆ เสียงดีๆ มาเป็นนักร้องนำ โดยที่ไม่รู้เลยว่า นั่นจะเป็นจุดเริ่มของหายนะแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในวง

ตัดตัวละครสองคนอย่างหนุ่มอี๊ด (ภูดิศ สุริยวงศ์) กับสาวโม (มัฒธนิตาศ์ เศวตวิธยะธาดากุล) ออกไปก่อน ทั้งผมและคุณก็จะเห็นว่า ชายหนุ่มอย่าง “โน้ต” (วิทวัส สิงห์ลำพอง) นั้นดูเหมือนจะมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องเป็นอันดับแรกๆ เพราะเขานี่เองซึ่งเป็นคนตัวตั้งตัวตีที่กระตือรือร้นสุดๆ เพื่อจะได้หญิงสาวหน้าตาสวยอย่าง “แอน” (นีรนาท วิคทอเรีย โคสท์) มาเป็นนักร้องนำของวง และที่ยิ่งไปกว่านั้น ดูเหมือนว่าหัวใจของโน้ตจะก้าวถลำเข้าสู่ห้วงแห่งรักตั้งแต่แรกเห็นหญิงสาวที่จะมาเป็นนักร้องคนใหม่ของวงแล้ว ซึ่งมันก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย ถ้าเพียงแต่รูมเมทอีกคนที่อยู่ร่วมกันมานานอย่าง “ป๊อป” (อภัสนนท์ วรภิรมย์รักษ์) จะไม่มองมาที่หนุ่มโน้ตด้วยสายตาซึ่งมากกว่าคำว่า “เพื่อน”

ยัง...ยังไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะหนังยังเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปอีกด้วยข้อมูลว่า ที่จริงแล้ว แอนกับป๊อปนั้น รู้จักกันมาก่อนหน้านี้แล้ว และที่สำคัญ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่เพื่อนธรรมดาๆ และนั่นก็ถือเป็นความช่างคิดของหนังที่มองความสัมพันธ์ของผู้คนได้แตกต่างไปจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ

มันไม่ใช่เรื่องรักสามเศร้าที่เธอหรือเขาไปหลงรักคนคนเดียวกัน แต่มันคือความสัมพันธ์ที่ยอกย้อนยิ่งกว่า

ก็อย่างที่บอกครับว่า โดยหน้าหนัง ผลงานของคุณกรัณย์ชิ้นนี้พรีเซนต์ออกมาได้น่าสนใจ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงเนื้อในที่มีท่วงทำนองของ “รักร่วมเพศ” แอบๆ อยู่ ซึ่งก็มีไม่ครั้งบ่อยนักหรอกที่หนังวัยรุ่นบ้านเราจะเข้าไปแตะอะไรทำนองนี้ อย่างไรก็ดี เมื่อมองดูโดยภาพรวม ต้องบอกว่า รูมเมทค่อนข้างมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเรียบเรื่อยในการเดินเรื่องที่ค่อนข้างอยู่ในระนาบเดียวแทบทั้งเรื่อง

พูดง่ายๆ ก็คือดูแล้วไม่สนุก...สนุกในที่นี้ไม่ได้หมายถึงต้องเฮฮาขำก๊ากอะไรแบบนั้นนะครับ แต่ไม่สนุกเพราะการดำเนินเรื่องมันดูอืดๆ เฉื่อยๆ และสังเกตหรือเปล่าว่า พอพ้นช่วงที่ความรักถูกชี้แจงว่าใครแอบชอบใครไป หนังก็ดูเหมือนไม่มีอะไรจะเล่าอีกต่อไปแล้ว และเนื้อเรื่องก็เริ่มวนเวียนอยู่กับว่า ใครจะสมหวังหรือใครจะผิดหวัง

เทียบกับหนังอย่าง Seasons Change ของจีทีเอชที่มีเครื่องไม้เครื่องมือคล้ายๆ กัน (วัยรุ่น ดนตรี และเรื่องรัก) ผลงานของคุณนิธิวัฒน์ ธราธร ดูจะกลมกล่อมและแข็งแรงกว่ามาก ทั้งในแง่ของอารมณ์ขันแบบน่ารักๆ สไตล์วัยรุ่นที่เรียงรายอยู่ทั้งเรื่อง และพอจะเข้าสู่ช่วงซึ้ง ซีซั่นเชนจ์ก็ทำได้ดี หรือจะเทียบกันง่ายๆ กับหนังของค่ายโมทีฟ พลัสเอง อย่าง happy Birthday ที่แม้จะ “ช้า” เหมือนๆ กัน แต่เรื่องนั้นกลับมีจังหวะจะโคนที่ดี เหมือนดนตรีที่มีเสียงสูงเสียงต่ำ เหวี่ยงคนดูไปสู่ความรู้สึกขึ้นๆ ลงๆ ได้เรื่อยๆ เรียกได้ว่ามีซีนธรรมดาๆ ไปจนถึงซีนอารมณ์ที่พีคสุดๆ

คือหนังดีๆ มันต้องมีหมัดฮุกครับ เหมือนเพลงดีๆ ที่ก็ต้องมีท่อนฮุก ไม่ใช่ร้องเล่นเป็นนกบินเฉียง เรื่อยๆ มาเรียงๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ

และก็คงเป็นเพราะความเรียบเรื่อยของบทภาพยนตร์แบบนี้นี่เองที่ก็ส่งผลข้างเคียงต่อการแสดงของตัวละครที่ไม่มีโอกาสในการแสดงซีนอารมณ์เด่นๆ อะไรออกมาเลย ทั้งๆ ที่เป็นหนังรักปนเศร้า แต่กลับไม่มีซีนที่ให้นักแสดงได้ปลดปล่อย “ความในใจ” อย่างที่คนดูจะรู้สึกสะเทือนใจร่วมไปด้วย นั่นจึงทำให้...นอกเหนือไปจากความสวยสะดุดตาน่าหลงใหลได้ปลื้มของหญิงสาวลูกครึ่งอย่างแอนแล้ว เราจะพบว่า ไม่มีตัวละครตัวไหนที่โดดเด่นน่าจดจำเลย...ที่ไม่น่าจดจำ ก็เพราะว่าไม่มีบทให้โชว์ความสามารถได้เต็มที่

แต่ก็เอาล่ะ ถ้ามันจะมีใครสักคนที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูดีขึ้นมาได้ คุณคิดว่าจะเป็นใคร?

แน่นอนครับ ถ้าไม่นับรวมอี๊ดกับโมที่โชว์ความน่ารักไม่กี่ฉาก ก็ดูดีขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์นั้นแล้ว ผมว่า คนคนนั้นก็คงเป็นป๊อป หญิงสาวผู้เก็บงำอารมณ์รักไว้ลึกๆ ไม่กล้าเปิดความรู้สึกจริงๆ ของตัวเอง ผมว่าถ้าหนังขับเน้นบทของตัวละครตัวนี้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่แล้วเทน้ำหนักในบทของเธอให้เยอะขึ้น อารมณ์อินและซึ้งก็อาจจะมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะว่ากันตามจริง มันจะมีอะไรอีกล่ะที่เศร้าแซดไปกว่าการเทใจให้คนบางคนแบบหมดหน้าตักพร้อมทุ่มทุกอย่างเพื่อคนคนนั้น แต่สุดท้าย ตัวเองกลับเป็นฝ่ายที่เดียวดาย...

ด้วยอารมณ์ครึ่งๆ กลางๆ จะเศร้าก็เศร้าไม่สุด จะสนุกก็สนุกไม่ได้เต็มพิกัดแบบนี้นี่เอง ผมจึงไม่รู้สึกชอบตอนจบของหนังเลย เนื่องจากมันดู “ง่าย” เกินไป มันง่ายเท่าๆ กับตอนที่แอนเข้ามาเป็นนักร้องนำของวง แต่ไม่รู้ว่าแอนเป็นเทพเจ้าที่มีอิทธิฤทธิ์สามารถดลบันดาลอะไรได้หรือเปล่า เพราะเพียงแค่เธอมาทำงานวันแรกด้วยมั้ง แต่ลูกค้ามากันเต็มร้านเลย มันจะเป็นไปได้ยังไง ถ้าไม่ใช่ความเว่อร์ที่เพ้อฝันสุดๆ

และอันที่จริง ผมว่า หนังไม่จำเป็นต้องลากตัวเองไปหาจุดที่เป็นแฮปปี้เอ็นดิ้งก็ได้ เพราะพอทำแบบนั้น นอกจากมันจะทำให้อะไรๆ ดูแสนจะง่ายดายราวกับพลิกฝ่ามือแล้ว มันยังลบล้างพลังของเนื้อเรื่องที่พูดถึงการแอบรักไปโดยสิ้นเชิง

ก็การแอบรักใครสักคน มันไม่จำเป็นต้องจบด้วยความสมหวังเสมอไปก็ได้นะครับ จริงไหม และสำหรับรูมเมท ผมว่ามันจะงดงามน่าสะเทือนใจยิ่งกว่า ถ้าหนังปิดฉากสุดท้ายของตัวเองพร้อมกับน้ำตาของตัวละครอย่างโน้ต เพราะความผิดหวังของเขาจะเป็นสารที่บอกกล่าวให้คนดูตาสว่างขึ้นมาได้บ้างว่า ใครที่ตนควรรัก และใครที่ไม่ควรจะใฝ่ฝัน

ว่ากันอย่างถึงที่สุด รูมเมทเป็นหนังที่คอนเซ็ปต็เจ๋งใช้ได้ เพียงแต่ยังผสมอารมณ์ของหนังออกมาได้ไม่กลมกล่อมเพียงพอ พูดอีกทีก็คือ มันขาดความสะเทือนใจที่จะทำให้เรารู้สึกถึงพลังแห่งรักอย่างจริงๆ จังๆ

และในขณะที่หลายๆ คนยังลังเลสงสัยว่า หนังเรื่องนี้เป็นของค่ายจีทีเอชหรือเปล่า ก็บอกได้เลยครับว่าไม่ใช่ แม้หนังจะมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่ชวนให้นึกถึงหนังของจีทีเอชก็ตามที และเหนืออื่นใด ต่อให้หนังเรื่องนี้จะเป็นผลงานของจีทีเอชจริงๆ ก็คงเป็นจีทีเอชในเกรดบี ไม่ใช่หนังจีทีเอชเกรดเอ
กำลังโหลดความคิดเห็น