โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
คงไม่เป็นการเชียร์กันจนเกินเลยความเป็นจริง ถ้าผมจะบอกว่า นี่คือผลงานที่ดีที่สุดของผู้กำกับทวีวัฒน์ วันทา หลังจากหนังสองเรื่องแรกอย่าง “ขุนกระบี่ผีระบาด” และ “อสุจ๊าก” ล้มไม่เป็นท่า ทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์ แน่นอนล่ะ สำหรับ “อนุบาลเด็กโข่ง” ว่ากันอย่างถึงที่สุด มันอาจจะไม่ใช่หนังทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับหนังอีก 2-3 เรื่องซึ่งเข้าฉายในช่วงเดียวกันอย่าง Roommate และ Up และก็ไม่ผิด ถ้าคุณจะนับว่าหนังเด็กโข่งเรื่องนี้คือมวยรอง แต่มันก็เป็นมวยรองที่จัดได้ว่า “มีของ” อยู่ในตัวเองสูงพอตัว
จะมากจะน้อย ผมเชื่อว่า เพียงแค่เห็นหน้าหนังที่สื่อออกไปทางเด็กๆ เจี๊ยวจ๊าวแล้วก็จบไม่น่าจะมีอะไร ก็อาจจะทำให้หลายๆ คนมองข้ามหนังเรื่องนี้ไป และประทานโทษเถอะครับ หนังตัวอย่างที่ตัดมาโปรโมตโฆษณานั้น ผมว่ามันไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ คือไม่เข้าใจเลยว่า เพราะอะไร ทีมงานถึงตัดตัวอย่างมาฉาย “ไม่ดึงดูดใจ” แถมยัง “น่ามองข้าม” ได้ขนาดนั้น ทั้งที่ว่ากันตามจริง ในหนังเวอร์ชั่นเต็ม มีสิ่งดีๆ ที่หนังทำได้ดีๆ เยอะแยะมากมาย ดังนั้น ถ้า “เด็กโข่ง” คนนี้จะไม่ “โต” (ในแง่รายได้) ก็คงไม่ใช่เพราะเนื้อหาของมัน แต่การโปรโมตโฆษณาก็มีส่วนด้วยอย่างมิอาจปฏิเสธ
แต่ก็เอาล่ะ “ของดี” ต่อให้ไม่อวดอ้างโพนทะนา มันก็ยังเป็น “ของดี” อยู่วันยันค่ำ และไม่ว่าหน้าหนังมันจะเป็นยังไง หรือการประชาสัมพันธ์จะด้อยแค่ไหน แต่นี่ก็คือหนังไทยที่ทำออกมาได้ดีมากๆ อีกเรื่องหนึ่งของ พ.ศ.นี้
ทวีวัฒน์ วันทา พัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาจากหนังสั้นของตัวเองที่ชื่อว่า “หัวหน้า” และโดยรูปลักษณ์หน้าตาตลอดจนเนื้อสาระ มันก็ไม่คลาดเคลื่อนไปจากเดิมเท่าไรนัก เพราะสิ่งที่อนุบาลเด็กโข่งพูด ก็ยังคงเกาะเกี่ยวอยู่กับเรื่องราวของมิตรภาพ และการเติบโตทางความคิดของน้องๆ หนูๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งมีเด็กโข่งอย่าง “โอม” เป็นหัวโจก
ถ้าไม่นับรวมว่า การต้องมานั่งกำกับเด็กๆ ให้เล่นไปตามบทซึ่งถือเป็นเรื่องโหดๆ ที่คนทำหนังส่วนใหญ่ไม่อยากแม้แต่จะคิดถึง แต่ผู้กำกับทวีวัฒน์ วันทา กลับทำให้เด็กๆ แสดงบทบาทออกมาได้ดีอย่างน่าชื่นชมแล้ว (ไม่รู้ว่าต้องเปลืองค่าขนมไปเท่าไหร่กว่าจะกล่อมให้น้องๆ เล่นหนังไปจนจบเรื่องได้ :) เราจะเห็นว่า ความดีอันสำคัญของอนุบาลเด็กโข่งที่น่าปรบมือให้ก็คือ บทภาพยนตร์ที่แข็งแรงและเดินอยู่ในแกนหลักอย่างไม่มีหลุดหรือตกหล่น
ขณะเดียวกัน มุกตลกที่ทยอยกันออกมาซึ่งมันทั้ง “ตลกคำพูด” และ “ตลกสถานการณ์” ก็คือสีสันหนึ่งของหนังเรื่องนี้ที่ถูกออกแบบมา “ตรึง” คนดูให้อยู่ร่วมและมีความสุขที่จะเดินทางไปพร้อมกับหนังได้ตั้งแต่ต้นจนจบ พูดง่ายๆ ก็คือ ดูแล้วไม่น่าเบื่อหรืออยากให้มันจบเร็วๆ เพื่อจะได้เดินออกจากโรงเหมือนหนังหลายๆ เรื่อง
พ้นไปจากนี้ ยังมีเรื่องของสไตล์ที่หยิบยืมเอาแนวทางของหนังเพลง (Musical) มารับใช้ในบางช่วง ด้วยการให้ตัวละครลุกขึ้นมาร้องเพลง รวมไปจนถึงการใช้เพลงเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องในบางจังหวะก็ทำให้เกิดความรู้สึกคล้ายกับเป็น “ช่วงพัก” ที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์คนดูได้ระดับหนึ่ง
และพูดก็พูดเถอะ ผมว่า อนุบาลเด็กโข่ง ดูจะมีความแตกต่างจากหนังแนวเด็กๆ (คือใช้เด็กเป็นตัวเดินเรื่อง) เรื่องอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด คือที่ผ่านๆ มา สำหรับวงการหนังบ้านเรา พอต้องมาทำหนังเด็กๆ กันทีไร ก็มักจะไม่มีคนกล้าที่จะใส่สาระอะไรเข้าไปเท่าไหร่นัก ซึ่งหลักๆ ก็คงเป็นเพราะเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายคือเด็กๆ ที่มักถูกตีราคาไว้ก่อนว่ายังอ่อนต่อโลก ไม่คิดอะไรมาก เลยต้องทำอะไรๆ ที่มันน่ารักๆ สนุกๆ เอาไว้ก่อน ส่วนสาระจะมีหรือไม่มี ก็ช่างมัน ซึ่งก็เป็นกรอบคิดเดียวกันกับเวลาที่ใครสักคนจะทำหนังผีสักเรื่อง มันก็มักจะออกมาเป็นแบบผีตุ้งแช่หรือผีผ่างๆๆ อยู่ร่ำไป
แต่นั่นไม่ใช่ “อนุบาลเด็กโข่ง” ของคุณทวีวัฒน์ วันทา อย่างแน่นอน เพราะนอกเหนือจากความสนุกสนานเฮฮาตามประสาเด็กๆ นี่คือหนังที่ผสมใส่ความมีสาระได้อย่างพอเหมาะพอดี และไม่ดูเป็นการ “ยัดเยียด” จนเกินงาม ทั้งประเด็นความเป็นเพื่อนที่ทำให้อนุบาลเด็กโข่งมีรูปรอยของความเป็นหนัง Feel Good ที่ดูจบแล้วรู้สึกดี ไปจนถึงประเด็นการค้นพบความหมายบางอย่างในชีวิตของ “โอม” ก็คือคุณค่าแบบ Coming of Age** ที่ทำให้เด็กโข่งคนหนึ่งไม่ได้ “โตแต่ตัว” อีกต่อไป แต่ในทางความคิด เขาก็เหมือนได้รับวุฒิภาวะขึ้นมาอีกขั้น นั่นยังไม่ต้องพูดถึงกิจกรรมแบบเด็กๆ ที่จะสะกิดสะเกาความรู้สึกทำนอง Nostalgia (ถวิลหาคืนวันอันเก่าก่อน) ของเราๆ ท่านๆ ให้กลับมาโลดแล่นในห้วงคำนึงอีกครั้งหนึ่ง
และมันไม่สำคัญหรอกว่า ชีวิตจะคืออะไร (“ชีวิตคืออะไร” เป็นคำถามที่เด็กสาวแสนสวยในหนังเรื่องนี้ถามโอมครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนที่เธอจะทำให้หัวใจอวบๆ ของโอมแหลกเหลวเป็นไขมัน อิอิ) เท่าๆ กับที่มันไม่สำคัญหรอกว่า ทวีวัฒน์ วันทา จะเคยทำหนังห่วยมากี่เรื่อง เพราะในที่สุด เขาก็เดินมาถึงจุดของการทำหนังดีๆ สำเร็จแล้ว และมันไม่ใช่หนังดีๆ สำหรับเด็กๆ เท่านั้น แต่พูดกันจริงๆ เลยก็คือว่า นี่คือหนังที่เด็กดูได้ และถ้าผู้ใหญ่ได้ดู ก็ยิ่งดี
เหนืออื่นใด นี่คือหนังอีกเรื่องที่ผมคิดว่า พอจะถือเอาเป็นบรรทัดฐานหรือตัวอย่างสำหรับการทำหนังได้ในบางด้าน
ง่ายๆ สั้นๆ เลยครับว่า นี่คือผลงานที่ยืนยันความเชื่ออย่างหนึ่งว่า หนังดีๆ นั้นไม่จำเป็นต้องมีสเกลใหญ่เบิ้มหรือทุ่มทุนสร้างมหาศาล เพราะบันไดขั้นแรกของการทำหนังที่นักทำหนังต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนก็คือว่า คุณมีบทภาพยนตร์ที่ดีพอแล้วแล้วหรือยัง?
และสอง...หนังดีๆ ไม่จำเป็นต้องใช้สอยดารานักแสดงขั้นเทพหรือซูเปอร์สตาร์แห่งวงการอะไรมากมายก็ได้ เพราะไม่ว่าจะได้ดาราหนุ่มหน้าหล่อหรือดาราสาวขาวอึ๋มมาร่วมงาน ที่สุดแล้ว มันก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้กำกับเองว่าจะสามารถกำกับการแสดงได้เจ๋งแค่ไหน? ไม่มากไม่มาย ลองมา “จับปูใส่กระด้ง” เหมือนคุณทวีวัฒน์ดูสักครั้งก็ได้
และแน่นอนที่สุด สมมติว่า ถ้าคุณคิดจะทำหนังตลก คุณไม่จำเป็นต้องยกกองทัพ “ดาราตลก” มารวมกันเหมือนเคลื่อนย้ายคาเฟ่มาไว้ในหนังก็ได้ แต่รสนิยมและกึ๋นของคุณนั่นต่างหากที่จะเป็นเสาหลักอันดับแรกซึ่งจะชี้วัดว่า คุณจะสามารถประดิษฐ์มุกตลกมาเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้หรือเปล่า และที่สำคัญ คือตลกแบบไม่หยาบด้วยนะ
โอเคล่ะว่า อนุบาลเด็กโข่ง อาจยังไม่ใช่หนังดีสุดโต่งที่เตรียมขึ้นหิ้ง แต่นี่เป็นหนังที่มีสิ่งดีๆ ที่น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างในหลายๆ ด้านตามที่ว่ามา อย่างไรก็ดี ถ้ามันจะมีตัวอย่างที่ไม่ค่อยจะเวิร์กอยู่บ้าง ก็คงเป็นหนังตัวอย่างที่ตัดมาโปรโมตนั่นแหละครับ มันดูเห่ยๆ ไม่สมกับหนังเวอร์ชั่นเต็มเลย เข้าทำนอง “ตัวอย่างไม่น่าสนใจ แต่เนื้อในแน่นเปรี๊ยะ”
ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันนะครับว่า เพราะเหตุอันใด สหมงคลฯ ต้นสังกัดที่เคยชาญฉลาดยิ่งนักในการ “พีอาร์” และ “ขายของ” ถึงมาตกม้าตายกับหนังดีๆ ที่มี “ของ” ให้ขายมากมายอย่างอนุบาลเด็กโข่งเรื่องนี้???
**Coming of Age คือแนวทางหนึ่งของหนังที่พูดถึงการก้าวผ่านวันวัยและเติบโตของตัวละคร โดยผ่านสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมักจะรุนแรงและมีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ตัวอย่างหนังแนวนี้ที่ดีๆ ก็อย่างเช่น Stand By Me, Midlife Crisis ฯลฯ