โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
จะชิงชังหรือชื่นชอบ ผมก็ตอบได้แบบไม่ต้องเสียเวลาคิดเลยว่า ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งดูหนังไทยและอยู่กับหนังไทยมาพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับหลายๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความในคอลัมน์นี้ รวมทั้งร่วมแสดงความคิดเห็นอันมีคุณค่ามาอย่างต่อเนื่อง จะพบว่า เกือบหนึ่งขวบปีที่ผ่านพ้น พื้นที่แห่งนี้ถูกอุทิศให้กับหนังไทยชนิดที่เรียกได้ว่าแทบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด บางโอกาสก็ชม บางอารมณ์ก็ติ เป็นวิถีที่แสนธรรมดา และมันก็ถือเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่หากจะมีใครหลายๆ คน ไม่เห็นด้วยกับ “ความคิดเห็นส่วนตัว” ของผมบ้าง นั่นเป็นสิ่งที่ไม่เหนือความคาดหมาย
ขณะเดียวกัน ผมไม่เคยคิดว่าเป็นกรรมเป็นเวรของตัวเองที่ต้องมาตามดูและเขียนถึงหนังไทยให้ครบทุกเรื่องที่เข้าฉาย ในขณะที่มีหนังจากเมืองนอกเป็นตัวเลือกเยอะแยะ ทั้งในรูปแบบหนังโรงและหนังแผ่น แต่สิ่งที่ผมคิดก็คือว่า การตามดูหนังไทยทุกๆ อาทิตย์นั้นมันให้ทั้งความรู้สึกสุขและเศร้าคละเคล้ากันไป...สุข เวลาที่ได้เห็นไอเดียเจ๋งๆ หรือเนื้อหาดีๆ ของหนังบางเรื่อง และเศร้า...ในเวลาที่เกิดคำถามว่า เพราะอะไร เราถึงต้องมาเสียเวลาให้กับหนังห่วยๆ เหล่านี้ด้วย??
แต่เอาล่ะ พร่ำเพ้อพรรณนาเสียเวลาทำมาหากิน ผมว่าสิ่งที่เรายังเห็นเป็นปัญหา หรือจะเรียกว่า เป็นปัญหาหลักๆ ของหนังไทยส่วนใหญ่ก็ว่าได้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของบทหนัง
แม้แต่คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว ก็เคยหล่นวาทะผ่านสื่อให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า บ้านเรายังขาดคนเขียนบทหนังดีๆ หรือคนที่จะอุทิศตัวเองเพื่องานด้านนี้โดยเฉพาะ บทหนังที่ทำๆ กันอยู่ตอนนี้ก็ว่ากันไปตามอัตภาพ มากกว่าจะรีดเค้นศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์อย่างจริงๆ จังๆ
แน่นอน ผมเห็นด้วยกับคุณปรัชญา แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะโดยส่วนตัว ผมมองว่า มันยังมีบางอย่างที่น่าคิดร่วมไปด้วย นั่นก็คือ เรื่องของทัศนคติวิธีคิด และการให้ความสำคัญว่าอะไรควรมาก่อนหรือหลัง ในระบบการทำหนังบ้านเรา
ผมถามจริงๆ เถอะครับว่า ตอนนี้ คนทำหนังส่วนใหญ่ตระหนักรู้กันหรือยังว่า สิ่งที่เป็น “กระดูกสันหลัง” ของหนังจริงๆ นั้น คือ บทภาพยนตร์
สำหรับท่านที่สังเกต จะเห็นว่า หนึ่งในหลายๆ คำถามที่ผมเคยโยนไว้ในพื้นที่นี้หลายครั้งหลายคราก็คือว่า เราจะเน้นเทคนิคอลังการงานสร้างกันไปทำไม ถ้าบทหนังยังอ่อนปวกเปียก ขาดเหตุผลไร้ความสมจริง เราจะใส่ลูกเล่นหรือสไตล์ที่ฉูดฉาดอาร์ตเท่ลงไปเพื่ออะไร ถ้าแก่นแท้เนื้อในไม่ได้บอกอะไรกับคนดูเลย?
เหมือนคนที่คล้องสร้อยเพชรเต็มคอ แต่เลยคอขึ้นไปใต้รากผม กลับไม่มีรอยหยักที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาอะไรเลย มันคือความฉาบฉวย และคือผลพวงของสังคมที่ให้ความสำคัญกับ “เปลือก” มากกว่าตัว “เนื้อหา” ซึ่งอันที่จริง ผมว่า มันก็ได้ไม่เป็นแค่ในวงการหนังเท่านั้นนะครับ เพราะสิ่งนี้มันมีอยู่ในทุกวงการ อย่างนิตยสารหัวทันสมัยหลายๆ เล่มที่จัดอาร์ตเวิร์กได้สวยงามล่อตาล่อตังค์มากๆ แต่ข้างในกลับไม่มีอะไรให้ “อ่าน” เหมือนเป็นนิตยสารที่มีไว้ดู (รูปแฟชั่นเก๋ๆ ดาราหล่อๆ งามๆ) หรือถ้าจะเอาให้มากกว่านั้นก็ว่ากันไปถึงวงการเพลงที่หาคนเก่งๆ เขียนเนื้อเพลงเจ๋งๆ หรือร้องเพลงดีๆ ยากขึ้นทุกวัน ส่วนที่ถูกให้ความสำคัญกลับเป็นหน้าตาและการแต่งตัวของเหล่านักร้อง ที่ยุคหลังๆ มานี้ ถ้าไม่ “เกาหลี” ก็ต้อง “ญี่ปุ่น” ส่วนเสียงร้อง จะไม่เป็นสัปปะรดอะไรเลย ก็ช่างมัน (จริงไหม?)
เอาล่ะครับ, ที่พูดมาทั้งหมด ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่า หนังอย่าง Before Valentine เป็นหนังห่วยไร้เนื้อหานะครับ แต่ที่หยิบเรื่องนี้มาเปิดประเด็น เพราะมองเห็นจุดร่วมบางอย่างที่ผมคิดว่าสามารถเชื่อมโยงกับผลงานชิ้นนี้ได้พอดิบพอดี
คงจะเหมือนกับหนังรักทุกๆ เรื่องที่อาศัย Timing หรือช่วงเวลาวาเลนไทน์เป็นตัวช่วยในการขาย (ไม่แน่นะครับ ต่อไป เราอาจจะมี “ไม้จิ้มฟันวาเลนไทน์” ออกมาขายในช่วงวันแห่งความรักก็ได้ ใครจะรู้?) จุดเด่นอย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่า Before Valentine ทำได้ดีมากๆ ก็คือ ตัวอย่างหนังที่ตัดมาโฆษณา ซึ่งชวนให้รู้สึกไปว่ามันคงจะเป็นหนังรักโรแมนติกที่ดูแล้วซาบซึ้งกินใจ
และเว้ากันแบบซื่อๆ เลยครับว่า เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ผมตัดสินใจไปดูหนังเรื่องนี้ก็คือ ฉากตัวอย่างในร้านอาหารที่หนุ่มสาวคู่หนึ่งบอกความในใจแก่กันและกัน ซึ่งเป็นความในใจที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องนิ่งอึ้ง เพราะในขณะที่คนหนึ่งเอ่ยปากขอแต่งงาน แต่การเลิกกันกลับเป็นความต้องการของอีกฝ่าย แน่นอน มันคือ Conflict (ความขัดแย้ง) ที่สะดุดความรู้สึกและทำให้หนังดูมีมิติน่าสนใจขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า เรื่องแบบนี้มันมีเปอร์เซ็นต์ “ความเป็นไปได้” สูงเหมือนกันในโลกของความเป็นจริง และอาจจะเคยเกิดขึ้นกับคู่รักบางคู่มาแล้ว ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการจะ “เดินต่อ” แต่อีกฝ่ายกลับปรารถนาการ “ลาจาก”...
Before Valentine หนังรักเรื่องใหม่จากค่ายห้าดาว โดยการทำงานร่วมกันของ 3 ผู้กำกับ คือ เสรี พงษ์นิธิ, พิชัย หงษ์รัตนาภรณ์ และ ทรงศักดิ์ มงคลทอง ซึ่งแบ่งหน้าที่กันถ่ายทอดเหตุการณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ หนึ่งวันก่อนวาเลนไทน์ ของคู่รัก 4 คู่ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤติของหัวใจ
มันคือวันร้ายๆ ของความรัก ที่ชักชวนให้คนดูเดินทางไปค้นหาคำตอบร่วมกันว่า ที่สุดแล้ว พวกเขาทั้งสี่คู่จะผ่านพ้นวิกฤติรักครั้งนี้ไปได้หรือไม่ และอย่างไร โดยมีวันวาเลนไทน์ยืนคอยอยู่ข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเรื่องรักของพวกเขาจะจบลงเช่นไร ผมคิดว่า จุดเด่นๆ ของหนังที่จะโดดเด้งขึ้นมาเตะสายตาคนดูก็คือ รูปแบบวิธีการที่หนังหยิบมาใช้ในการเล่าเรื่องซึ่งดูแปลกและแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องราวในส่วนของคู่รักระหว่าง “สุธี” (ธนกฤต พานิชวิทย์) กับ “ชิดชนก” (ไดอาน่า จงจินตนาการ) นั้น เทคนิคของหนังที่ใช้ “บทเพลง” เป็นตัวช่วยเล่าเรื่อง รวมไปจนถึงการเล่นกับภาวะ “จิตใต้สำนึก” ของตัวละครก็คงจะเป็นที่จำได้ของคนดูไปอีกนาน
ขณะเดียวกัน ผมว่า สิ่งหนึ่งซึ่งทำให้ Before Valentine ฟังดูน่าสนใจ ก็คือโจทย์ของมันที่พูดถึงคืนวันของคน 3 วัยที่แตกต่างกันทั้งเรื่องวุฒิภาวะและอารมณ์ ซึ่งผมลองสรุปเอาเองแบบสั้นๆ ว่า ถ้าคู่ของ “โจ๊ก” (อาร์ตี้-ธนฉัตร ตุลยฉัตร) กับ “จิ๊บ” (เกล้าแก้ว สินเทพดล) คือความไม่มั่นใจที่จะพูดความจริงในใจตามประสาวัยรุ่น คู่ของ “เฮีย” (จตุรงค์ มกจ๊ก) กับ “เจ๊” (วราพรรณ หงุ่ยตระกูล) ก็คือ ความหวั่นไหวของคนที่อยู่กันมานานจนเริ่มจะเบื่อหน่าย และถ้าคู่ของ “สุธี” กับ “ชิดชนก” คือภาพแทนของคนที่ไม่แน่ใจในอนาคตว่าจะสามารถเดินร่วมทางกันไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ คู่ของ “แจ๊ค” (เปรม บุษราคัมวงษ์) กับ “แหม่ม” (สิตา ธนัญโชติการ) ก็คงเป็นสถานการณ์ของคนที่อ่อนไหวไม่มั่นคงและพร้อมจะแปรปรวนได้ตลอดเวลา
แต่ไม่ว่าจะมีกันกี่คู่ ผมว่าจุดที่หนังสามารถทำให้คนดูรู้สึกได้และมองเห็นอย่างเด่นชัดก็คือ การบอกเล่าว่า ในโมงยามของความรักนั้น มันมีช่วงเวลาดีๆ ไม่น้อยไปกว่าที่มีช่วงเวลายากๆ แม้จะรักกันล้นใจ แต่ที่สุดแล้ว ก็ยังไม่วายต้องมีเรื่องให้ปวดหัว
ด้วยคอนเซ็ปต์และโครงเรื่องที่ถูกจัดวางมาอย่างดีชนิดที่ผมคิดว่าหนังสามารถจะทำให้มันออกมาเป็นดราม่ารสข้นๆ ได้ แต่ทว่าด้วยวิธีการดำเนินเรื่องที่นำเสนอออกมาในลีลาแบบ “ทีเล่น” (คือตลกขำขัน) มากกว่า “ทีจริง” กลับส่งผลให้น้ำหนักของเนื้อหาที่หนังต้องการสื่อลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่า ที่ผ่านๆ มา เราอาจจะเคยดูหนังรักที่แทรกแซมด้วยมุกตลกอารมณ์ขัน แต่บรรยากาศภาพรวมของ Before Valentine กลับทำให้เรารู้สึกว่า มันคือหนังตลกที่มีเรื่องรักเป็นน้ำจิ้มเสียมากกว่า
เหนืออื่นใด ผมคิดว่า แทนที่หนังจะเสียเวลาไปกับการคิดลูกเล่นเท่ๆ หรือสไตล์หรูๆ นั่นนี่มานำเสนอ Before Valentine ควรหันกลับไปให้ความสำคัญกับตัวบทหนังน่าจะดีกว่า เพราะถึงแม้เราจะเห็นว่า มันไม่ได้เลวร้ายนัก เมื่อเทียบกับบทหนังของหนังไทยที่ล้มเหลวหลายๆ เรื่อง แต่เอาเข้าจริงๆ เราก็จะพบอีกว่า เรื่องราวในหนังนั้นดูเหมือนจะไม่มีที่ไป คือวนๆ เวียนๆ อยู่กับจุดเดิมๆ วกไปวนมา ขณะที่ลูกเล่นลีลาซึ่งหนังเอามาใช้ในการเล่าเรื่อง แรกๆ ก็ดูดีมีความเท่ แต่เมื่อมันถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ สิ่งดีๆ ก็ดูจะกลายเป็นความรกรุงรัง
ว่ากันอย่างถึงที่สุด ผมคิดว่า Before Valentine พอจะเป็นหนังรักกุ๊กกิ๊กเบาสมองที่พ่วงมุมมองความรักเล็กๆ น้อยๆ ประมาณว่าดูแล้วโลกสดใส อะไรๆ ทำนองนั้น แต่จะพูดว่ามันเป็นหนังรักโรแมนติกดราม่าข้นๆ เนื้อหาซึ้งๆ ตามที่คาดไว้ตอนได้เห็นหนังตัวอย่างนั้น ก็คงไม่ใช่ และบอกกันตามตรงเลยครับว่า ถึงตอนนี้ ผมก็ยังประทับใจกับฉากในร้านอาหารฉากนั้นที่หนังตัดมาไว้ในตัวทีเซอร์
หรือถ้าจะพูดให้ถูกยิ่งขึ้นก็คือว่า ผมประทับใจในทีเซอร์มากกว่าหนังเวอร์ชั่นเต็ม!!