xs
xsm
sm
md
lg

ฝัน หวาน อาย จูบ : คือ ‘อาร์ตตัวแม่’ หรือว่าแค่ ’ติสท์แตก??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

อาจจะไร้ความหมายในทางหลักภาษาหรือไวยากรณ์...แต่ “โรแมนติสท์” ก็คือคำๆ แรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดของผมขณะนั่งชมผลงานเรื่องล่าสุดจากชายคาบาแรมยู และที่ต้อง “โรแมนติสท์” ก็เพราะว่า ท่ามกลางเนื้อหาของหนังที่ถูกวางกรอบให้อยู่ในขอบข่ายของความรัก (Romance หรือ Love) นั้น ผมเห็นว่า สิ่งหนึ่งซึ่งจะโดดเด่นขึ้นมาปะทะกับสายตาของคนดูก็คือ รูปร่างหน้าตาของหนังที่ถ้าพูดกันแบบพื้นๆ ที่สุดก็คือ มันถูกตกแต่งให้ดู ’ติสท์ๆ อาร์ตๆ ฉูดฉาดบาดตาชนิดที่เรียกได้ว่าไม่น่าจะเคยปรากฏในหนังไทยเรื่องไหนมาก่อน...

โดยรูปลักษณ์ภายนอกของตัวหนัง ทั้งผมและคุณก็คงมองเห็นคล้ายๆ กันว่า “ฝัน หวาน อาย จูบ” เป็นโปรเจคต์ที่มีไอเดียความน่าสนใจอยู่ในตัวเองค่อนข้างสูง อย่างน้อยที่สุด การเป็นผลงานที่รวมเอาหนังสั้น 4 เรื่องของ 4 ผู้กำกับมาขึ้นจอฉายพร้อมๆ กัน ก็ถือเป็นลูกเล่นที่แปลกใหม่พอสมควรสำหรับวงการหนังบ้านเรา (แม้ว่าเมืองนอก เขาจะทำแบบนี้กันจนเกร่อมาแล้วก็ตาม)

นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า ผู้กำกับแต่ละท่านแต่ละคนที่มารวมพลอยู่ในแพ็คนี้ แทบทั้งหมดต่างก็เคยมีหนังรักดีๆ การันตีคุณภาพมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (รักแห่งสยาม) ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล (โลกทั้งใบให้นายคนเดียว) รวมไปจนถึงปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่แม้ว่าช่วงหลังๆ จะลงไปคลุกฝุ่นอยู่กับหนังแอ็กชั่นหนักๆ (ที่โดนวิจารณ์หนักๆ!!) แต่ครั้งนี้ถือเป็นการกลับไปสู่แนวทางของหนังรักในรอบหลายปีนับตั้งแต่ “เกิดอีกทีต้องมีเธอ” ส่วนคนสุดท้ายอย่างคุณบัณฑิต ทองดี เจ้าพ่อคนหนึ่งของวงการมิวสิควิดีโอที่แม้จะไม่เคยทำหนังรักเต็มรูปแบบมาก่อนเลย แต่ก็เคยผ่านงานกำกับหนังใหญ่ทำเงินมาแล้วถึง 2 เรื่อง คือ “เฮี้ยน” กับ “มนตร์รักลูกทุ่งเอฟเอ็ม”

และไม่ว่าจะมีใครเห็นด้วยหรือเห็นค้านอย่างไรก็ตาม สำหรับผม สัมผัสแรกที่เกิดขึ้นหลังจากได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ผมเห็นว่า นี่คือ “การออกเดินทาง” อีกครั้งของหนังไทย

เพราะอะไรถึงพูดเช่นนั้น?

ครับ, หากไม่นับว่านี่เป็นการรวมตัวของผู้กำกับระดับแถวหน้าของเมืองไทย หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วย “การละเล่น” และ “ทดลอง” ทางด้านศิลปะสูงมาก (ส่วนจะเวิร์กหรือไม่อย่างไรนั้น ค่อยไปว่ากันในรายละเอียดอีกที) เพราะที่ผ่านๆ มา หนังไทยส่วนใหญ่คล้ายจะถูกจองจำให้อยู่ในรูปแบบแพทเทิร์นเดิมๆ ซ้ำๆ ที่ก็อปกันไปลอกกันมา (ทั้งก็อปตัวเอง และลอกคนอื่น) หรือไม่ก็วนเวียนอยู่แค่หนังตลก ผี แอ็กชั่น กะเทย และสิ่งมีชีวิตพันธุ์ประหลาดๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ดูเหมือนจะไม่มีใครกล้าทดลองทำอะไรที่แปลกใหม่เลย หรือหากจะคนที่ทดลองบ้าง ก็มีน้อยมาก และส่วนน้อยนั้นก็จำกัดวงอยู่ในกลุ่มคนทำ (และดู) หนังนอกกระแส แต่ “ฝัน หวาน อาย จูบ” กลับเป็น “งานทดลอง” อันดับแรกๆ ที่แทรกตัวอยู่ในตลาดแมสได้อย่างเนียนๆ

แต่ปัญหาของหนังเรื่องนี้ก็มีอยู่อย่างไม่อาจปฏิเสธ ซึ่งอย่างแรกที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตก็คือ “ความไม่สง่างาม” ของหนังที่เกิดขึ้นจากผลพวงทางเทคนิคบางประการ (ผมจะไม่ขอพูดถึงเทคนิควิธีการ Product Placement ที่โดดเด่นจนโดนด่าไปเรียบร้อยโรงเรียนมาม่าแล้ว!!) ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังไม่สง่างามอย่างไม่น่าจะเป็นก็คือ การโปรโมทโฆษณาผ่านตัวทีเซอร์ (ทั้งในโรงหนังและจอทีวี) ซึ่งชี้นำคนที่จะไปดูให้รู้สึกคาดหวังล่วงหน้าว่า หนังจะออกมา “Romance” หวานจ๋อย หรือดูแล้วแสนซึ้งน้ำหูน้ำตาไหล ทั้งที่จริง ความแข็งแรงที่สุดของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ “ลูกเล่น” และ “การทดลอง” ทางงานศิลปะมากกว่า

ผมคิดของผมเองคนเดียวนะครับว่า ถ้าแทนที่หนังจะชูจุดขายเรื่องเลิฟโรแมนติก แล้วชูจุดเด่นที่เป็นกระดูกสันหลังของหนังเรื่องนี้จริงๆ ซึ่งก็คือ ลูกเล่นลีลาและการทดลองทางศิลปะอย่างที่ผมบอก เสียงตอบรับจากคนดูก็อาจจะ “ไม่น่าหดหู่” เท่าที่เป็นอยู่ก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นว่า ปัญหาจริงๆ ของผลงานชิ้นนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังแต่อย่างใด หากแต่อยู่ที่ “วิธีการขายของ” มากกว่าที่ทำให้คนดูรู้สึกว่าคนทำไร้ความจริงใจ และส่งผลให้เกิดการเสียความรู้สึกตามมา

มันไม่น่าเกลียดหรอกครับ ถ้าจะบอกกับคนดูไปตรงๆ ว่า ในหนังเรื่องนี้ คุณกำลังจะได้เห็นความ “แปลกใหม่” และ “แตกต่าง” บางอย่างที่คุณอาจจะไม่คุ้นเคย...ยิ่งในยุคนี้ด้วยแล้ว ความแปลกใหม่เอย ความแตกต่างเอย ก็ไม่ใช่ “สินค้า” แบบหนึ่งซึ่งสามารถประกาศขายได้ไม่ยากหรอกหรือ??

แต่เอาล่ะ ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะหลากหลายด้วยสีสันลูกเล่นทางศิลปะ (ทั้งมุมกล้อง การเล่าเรื่อง แอนิเมชั่น ฯลฯ) แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ถึงกับเป็นงานอาร์ตชั้นสูงที่ต้องปีนบันไดไปตีความ (อย่างที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็น “อาร์ตตัวแม่”) แต่เป็นงานที่ให้กลิ่นอายเชิงอาร์ตๆ ที่ให้ประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ ในการดูหนัง ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่เชื่อว่า ทั้งหมดนี้เป็นแค่อาการ “ติสท์แตก” ของผู้กำกับทั้งสี่คน แต่เป็นผลพวงจากการ “ตีความ” ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานประสบการณ์และความคิดความอ่านของพวกเขาเอง

ก็อย่างที่รู้กันครับว่า โดยภาพรวม หนังเรื่องนี้ตั้งโจทย์หลักไว้ว่าเป็นเรื่องรัก (Romance คำนี้มีความหมายถึง Love ทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่ “โรมานซ์” หรือ “โรแมนติก” ประเภทนั่งทานข้าวกับคนรักใต้แสงเทียนหรืออะไรทำนองนั้น) ความสนุกอย่างหนึ่งก็เหมือนกับตอนที่ได้ดูหนังรักดีๆ อีกเรื่องที่รวมเอาหนังสั้นๆ มาไว้ในโปรเจคต์เดียวกันอย่าง Paris, je t’aime นั่นก็คือ การได้ติดตามว่าผู้กำกับแต่ละคนเขาจะ “ตีความ” หรือ “นำเสนอ” เนื้อหาเรื่องราวออกมาอย่างไร จากคอนเซ็ปต์ใหญ่ที่ถูกวางไว้เป็นแกนกลาง

แน่นอนที่สุด จะชอบหรือไม่ชอบหนังเรื่องไหนจำนวนทั้งหมด 4 เรื่อง เป็นสิทธิของแต่ละคนแตกต่างกันไป แต่โดยส่วนตัว ผมกลับชอบ “ฝัน” (กำกับโดย มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) มากที่สุด เพราะ...หนึ่ง มันมีความเซอร์ไพรซ์บางอย่างที่ผมคาดไม่ถึง เพราะถึงแม้ว่ามะเดี่ยวจะเคยประสบความสำเร็จมาอย่างท่วมท้นจาก “รักแห่งสยาม” แต่มะเดี่ยวก็แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าเขาไม่ได้ยึดติดอยู่กับ “ความสำเร็จ” แบบนั้น (หรือหากินกับสูตรเก่า) และมันก็นำไปสู่เหตุผลประการที่สอง...นั่นคือ เขาดูจะมีความกล้ามากกว่าใครอื่นในบรรดาผู้กำกับทั้งสี่คน...คือกล้าที่จะทดลองใส่อะไรๆ ลงไปในงานของตัวเอง (สไตล์หนัง Musical ไปจนถึงแอนิเมชั่น ฯลฯ) ซึ่งปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้มะเดี่ยวสามารถ “เล่น” อะไรได้มากมายขนาดนั้น น่าจะเป็นเพราะเรื่องราวในหนังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในความฝัน ซึ่งเมื่อเป็น “ความฝัน” หนังก็มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ที่จะเล่นกับอะไรก็ได้ไม่จำกัด เพราะในความฝัน อะไรๆ ก็ได้รับอนุญาตให้ “เป็นไปได้” ทุกๆ อย่าง

และถึงแม้ว่าเทคนิคหรือองค์ประกอบต่างๆ ที่ “ฝัน” เอามาใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีจีแอนิเมชั่นนั้น อาจจะดูไม่เนียนสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม หากเรามองว่า ทุกๆ สิ่งที่เราเห็นใน “ฝัน” มันคือการทดลองของผู้กำกับ ดังนั้น เรื่องซีจีจะเนียนหรือไม่เนียน จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพราะสิ่งที่ผู้กำกับต้องการโชว์ คือสไตล์ ไม่ใช่ความอลังการสุดยอดของเทคนิควิธีทำ และผมก็เชื่อของผมแบบคนมองโลกในแง่ดีอีกว่า ถ้าหากคุณมะเดี่ยวจะ “เอาจริง” ในรายละเอียดของซีจีจริงๆ ก็ไม่น่าจะใช่สิ่งที่เกินความสามารถ (แต่ถ้าบอกว่าทุนไม่ถึง นั่นก็ว่าไปอย่าง ฮา)

นอกเหนือไปจากนั้น อีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่า หนังเรื่องนี้ทำได้ดีก็คือ เนื้อหาที่พูดถึง “ต้นข้าว” (เจนจิรา จำเนียรศรี) เด็กสาววัยแรกรุ่นคนหนึ่งซึ่งวันๆ เอาแต่หลงเพ้อถึงหนุ่มนักร้องยอดฮิตวงออกัสและมองข้ามความรักจากคนใกล้ตัวไปอย่างน่าเสียดาย

ในทำนองเดียวกันนี้ ผมเห็นว่า เรื่อง “หวาน” (กำกับโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว) ก็เล่นประเด็นคนใกล้ตัวคล้ายๆ กัน แต่แตกต่างก็เพียงว่า ในขณะที่น้องต้นข้าวในเรื่อง “ฝัน” มัวแต่หลงเพลินอยู่กับความน่ารักหล่อเหลาของนักร้องหนุ่มหน้าใสวงออกัสจนมองข้ามความดีของเพื่อนซี้ใกล้ตัว แต่ “เชน” (ชาคริต แย้มนาม) ในเรื่อง “หวาน” กลับก้มหน้าก้มตาทำแต่งานจนหลงลืมที่จะดูแลคนรัก

อันที่จริง ผมค่อนข้างชอบไอเดียและสัญลักษณ์หลายๆ อย่างที่คุณปรัชญาหยิบมาเล่น เช่น นาฬิกา หรือแม้แต่ความเจ็บป่วยของ “หวาน” (คนรักของเชน) แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของหนังที่เห็นเด่นชัดก็คือ การเล่าเรื่องที่ชวนให้รู้สึกสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอธิบายถึงอาการป่วยของ “หวาน” นั้น ไม่ทำให้คนดูเคลียร์คัตชัดเจนว่า จริงๆ แล้ว มันเป็นอย่างไร หรือเป็นโรคแบบไหนกันแน่ อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่า แนวคิดของหนังเรื่องนี้ดีไหม ก็ตอบได้เลยครับว่า ดี และผมเชื่อว่า หลายๆ คนก็กำลังตกอยู่ในวังวนแบบเชนอยู่เช่นกัน คือ ทั้งชีวิตมีแต่คำว่า งานๆๆ แล้วก็งาน จนไม่มีเวลาใส่ใจดูแลคนรัก (คนรักที่ไม่ได้จำกัดแค่แฟนอย่างเดียว แต่อาจจะหมายถึงพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือแม้กระทั่งเพื่อน)

อันที่จริง จะว่าไป เรื่องของคนรักกับการดูแลเทคแคร์เอาใจใส่นี้ก็เป็นเนื้อหาที่มองเห็นได้ในแทบทุกๆ เรื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งในเรื่อง “จูบ” (กำกับโดย ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล) ที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรเลย นอกไปจากสไตล์ภาพประหลาดๆ แปลกหูแปลกตา แต่เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่หนังกำลังพูดถึงก็ไม่พ้นไปจากการเทคแคร์ความรู้สึกของคนรัก ผ่านเรื่องราวง่ายๆ ของ “หมี” (มาริโอ้ เมาเร่อ) หนุ่มน้อยหน้าตาดีที่ “ชื่อ” ของเขากลายเป็นต้นเหตุให้หญิงสาวคนรักของเขาถูกคนอื่นล้อเลียนให้ได้อาย และเขาจำเป็นต้องตัดสินใจกระทำการบางอย่างเพื่อพิสูจน์ให้สาวคนรักรู้ว่าเขายังแคร์เธออยู่

ไม่ว่าจะอย่างไร ในขณะที่เรื่องอื่นๆ ที่ว่ามาทั้งหมด ดูเหมือนจะสนุกในการเล่นกับสไตล์แปลกๆ แตกต่างกันไป (ไล่ตั้งแต่การเล่าเรื่อง ไปจนถึงเทคนิคงานสร้าง) ผลงานของผู้กำกับบัณฑิต ทองดี กับเรื่อง “อาย” กลับดูเรียบง่ายธรรมดาๆ และน่าจะเรียกได้ว่าเป็น “หนัง” ในแบบที่คนดูคุ้นเคยมากที่สุด นั่นก็คือ มีเนื้อเรื่องที่จะเล่าอยู่เรื่องหนึ่งแล้วก็ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ตามลำดับ ไม่มีอะไรพลิกแพลงหวือหวา แต่ “อาย” มีข้อได้เปรียบอยู่บ้างก็ตรงโลเกชั่นบรรยากาศที่เป็นจุดเกิดเหตุของเรื่องราวซึ่งหนังถ่ายทำออกมาได้สวยงามสะอาดตา (เป็นเพราะสถานที่เอื้ออำนวยด้วยส่วนหนึ่ง) ขณะเดียวกัน มุกตลกที่หนังหยอดเข้ามาเป็นระยะๆ ก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีในการเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู แต่หนังก็มาเสียท่ากับมุกเล็กๆ สั้นๆ อย่าง “ข.อ.” ที่ทำให้อารมณ์ขันแบบสะอาดๆ ซึ่งหนังทำได้ดีมาโดยตลอด ต้องมีจุดมัวหมองโดยไม่จำเป็น

มองในมุมนี้ ผมจึงเห็นว่า เอาเข้าจริงๆ มุก “เห็นหมี” ในเรื่อง “จูบ” ดูจะถูกที่ถูกทางมากกว่า เพราะถึงแม้มุก “เห็นหมี” จะถูกสาดใส่หูผู้ชมซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนดูเกินพอดี แต่ถ้ามองอย่างพยายามทำความเข้าใจ...การที่หนังทำแบบนั้นก็มีเหตุผลในแง่ที่ต้องการจะสื่อให้เห็นว่า “ชื่อ” ของเด็กหนุ่มนั้นมันส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของหญิงสาวมากมายแค่ไหน หากเขาไม่ยอมเปลี่ยนชื่อหรือลงมือทำอะไรสักอย่าง แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมดูไปจนจบก็ไม่เห็นว่า หนังจะหาทางออกให้กับ “ชื่อ” เจ้าปัญหานี้อย่างไรเลย? (นอกจากให้เจ้าหมีไปฟาดปากกับขาโจ๋จอมขโมยจูบแฟนเพื่อน ซึ่งก็ไม่เกี่ยวอะไรกันเลยกับมุกคำผวนที่เป็นต้นตอปัญหาความทุกข์ใจของหญิงสาว)

สุดท้าย ท้ายสุด เมื่อมองโดยภาพรวมทั้งหมด “ฝัน หวาน อาย จูบ” ประสบความสำเร็จในการละเล่นและทดลองงานศิลปะ (ส่วนจะถูกใจคนไทยหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง) แต่ในส่วนของคอนเทนท์ ผมก็ยังเห็นว่า หนังทั้งสี่เรื่องยังดูขาดๆ เกินๆ ไม่มีพลังหนักแน่นเพียงพอที่จะทำให้คนดูสัมผัสได้ถึงเรี่ยวแรงของความรักอย่างจริงๆ จังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหนังถูกขโมยซีนด้วยลูกเล่นทางเทคนิคงานสร้างด้วยแล้ว เนื้อหาที่ดู “เบาบาง” อยู่แล้ว ก็ยิ่ง “เบาหวิว” ลงไปอีก (ปัญหาข้อนี้จะเห็นเด่นชัดมากในเรื่อง “จูบ”)
กำลังโหลดความคิดเห็น