โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ท่ามกลางหนังตลกรกตลาดที่ส่วนใหญ่ได้คำด่ามากกว่าคำชม ในมุมมองของผม ผลงานชิ้นล่าสุดจากค่ายอาวองของอาร์เอสอย่าง “โหดหน้าเหี่ยว 966” จะไม่ใช่แค่หนังตลกที่ได้คำชม แต่ยังมีแนวโน้มสูงมากที่หนังเรื่องนี้อาจจะเป็นหนังทำเงินเกินร้อยล้านเป็นเรื่องแรกของปีฉลู
ยังไม่ต้องไปพูดถึงเนื้องานว่าดีหรือด้อยยังไง เอาแค่เสียงหัวเราะกระหึ่มโรงแทบจะทุกๆ สองนาทีของผู้ชมในรอบสื่อเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะเสียงฮาแบบนี้แหละครับที่ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่กระแสแบบ “ปากต่อปาก” ซึ่งจะทำหน้าที่ส่งต่อความสนุกของหนังไปสู่คนอื่นๆ ให้ตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น (แน่นอน เรื่องแบบนี้ย่อมส่งผลดีต่อตัวหนังโดยตรง)
นี่คือผลงานการกำกับเรื่องที่สี่ของ “ยอร์ช-ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์” เจ้าของหนังตลกร้อยล้านอย่าง “พยัคฆ์ร้ายส่ายหน้า” (2548) และ “แสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า” (2549) ซึ่งก็คงไม่ผิดอีก ถ้าจะบอกว่า ยอร์ช-ฤกษ์ชัย คือหนึ่งในคนทำหนังไม่กี่คนของเมืองไทยที่สามารถทำหนังสร้างรายได้ทะลุร้อยล้านติดต่อกันสองเรื่องรวด (เฉพาะรายได้ในเมืองไทย--ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิด ที่เหลือก็น่าจะมีอีกสองคน คือ ปรัชญา ปิ่นแก้ว จากเรื่อง “องค์บาก” และ “ต้มยำกุ้ง” และ ท่านมุ้ย-ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล จาก “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ทั้งสองภาค ซึ่งจะมีภาคที่สามตามออกมาเร็วๆ นี้ และเดาได้ล่วงหน้าเลยว่า ท่านมุ้ยนี่แหละที่จะเป็นคนทำหนังไทยคนแรกซึ่งมีหนังทำเงินเกินร้อยล้านติดต่อกันสามเรื่องรวด ส่วนใครจะแย้งว่าไม่อาจนับรวมท่านมุ้ย เพราะ “นเรศวรฯ” เป็นหนังภาคต่อ อย่างนี้ ผมก็ไม่มีอะไรจะเถียงเช่นกัน)
พูดกันแบบไม่เข้าข้าง ผมเห็นว่า โหดหน้าเหี่ยวมีข้อเด่นที่ดูแตกต่างออกไปจากหนังตลกของไทยเรื่องอื่นๆ อย่างค่อนข้างจะเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของบทหนังนั้นดูเหมือนผู้กำกับจะใส่ใจและให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ามุกตลก คือไม่สะเปะสะปะ มีประเด็น เช่นเดียวกับการเล่าเรื่องก็แข็งแรง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง และมีเป้าหมายว่าจะนำพาเรื่องราวและคนดูไปสู่อะไร
พูดแบบนี้ ผมไม่ได้จะบอกว่าบทหนังเรื่องนี้ดีเยี่ยมนะครับ แต่เพราะเห็นว่า หนังมีเรื่องราวที่จะเล่าชัดเจน และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างเป็นลำดับ มีความต่อเนื่อง เปลี่ยนฉากหนึ่งครั้ง เรื่องก็เดินไปหนึ่งก้าว ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนฉากเพียงเพื่อจะลากตัวละครไปยิงมุกตลกอย่างที่หนังตลกหลายๆ เรื่องชอบทำกัน และที่มากไปกว่านั้น การเข้าออกของมุกตลกแต่ละมุกก็ดูจะถูกจังหวะถูกที่ถูกเวลา และเป็นมุกที่ไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืนกับเนื้อเรื่อง
อันที่จริง สิ่งแรกที่ผมคิดไว้ตั้งแต่ดูตัวทีเซอร์โฆษณาของหนังเรื่องนี้ก็คือ กลัวว่าจะออกมาเหมือนกับหนังตลกจำนวนหนึ่งซึ่งคัดเอามุกดีๆ มาหลอกขายยั่วให้คนอยากไปดู เพื่อที่จะพบว่า มุกตลกในหนังจริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าที่เห็นในโฆษณา แต่ทว่าโหดหน้าเหี่ยวกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถึงแม้มุกตลกที่หนังตัดมาใช้ในโฆษณา ว่าฮาแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ กลับเทียบกันไม่ได้เลยกับมุกตลกซึ่งถูกจัดวางไว้อย่างแพรวพราวในหนังฉบับเต็ม (แน่นอน การขยันยิงมุกถี่ๆ ก็ถือเป็นความฉลาดอย่างหนึ่งของหนัง เพราะอย่างน้อยๆ มันน่าจะมีสักมุกบ้างล่ะที่ “โดน”)
เหนืออื่นใด เทคนิคอย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่าหนังทำได้เวิร์กมากๆ ก็คือ การไม่จำกัดมุกตลกหรือเรื่องฮาๆ ไว้แค่กับบรรดานักแสดงตลกเพียงอย่างเดียว แต่มุกฮาๆ ยังถูกแจกจ่ายให้กระจายไปอยู่ในตัวละครทุกๆ ตัว (ไม่เว้นแม้กระทั่งพระภิกษุ) ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ไม่ว่าหนังจะเดินทางไปสู่พื้นที่ไหนของเนื้อเรื่อง หรือเปลี่ยนฉากไปอย่างไร ฉากนั้นๆ ก็จะมีมุกตลกรอไว้บีบนวดต่อมขำคนดูอยู่อย่างน้อย 2-3 เม็ด
อย่างไรก็ดี มีบางสิ่งบางอย่างที่ผมขอตั้งข้อสังเกตก็คือ มุกตลกบางมุกที่หนังเอาไปยัดใส่ปากตัวละครที่เป็นเด็กๆ นั้น มันฮาก็จริง แต่ขณะเดียวกัน ก็ดู “กร้าน” และถึงขั้น “พิเรน” ในบางมุก เช่นเดียวกับคำสบถหยาบๆ ที่เรี่ยราดอยู่ทั้งเรื่องก็จะยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของหนังตลกแบบไทยๆ ที่ดูเหมือนจะเข้าใจกันแบบผิดๆ กันมาพักใหญ่แล้วว่า ต้องมี “ไอ้ Hear ไอ้ Sad” ไม่อย่างงั้น ไม่ตลก ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะอย่างน้อยๆ “หลวงพี่เท่ง” ก็เคยทำให้ดูเป็นตัวอย่างมาแล้วว่า หนังฮาๆ ขำๆ และไม่หยาบคายนั้น มีอยู่จริง
แต่เอาล่ะ ไม่ว่าจะหยาบน้อยหรือหยาบมาก แต่โหดหน้าเหี่ยวก็ถือว่าสอบผ่านในด้านของความฮา มากกว่านั้น เมื่อหันไปดูเนื้อหาเรื่องราว เราจะพบว่า นอกจากจะไม่เบาหวิวแล้ว หนังเรื่องนี้ยังดูดีมีคอนเซ็ปต์ที่จับต้องได้ แม้มันจะเป็นเรื่องเก่าๆ เต่าล้านปี เท่าๆ กับที่เป็นเรื่องน้ำเน่า แต่ก็ถือเป็นการยกระดับขึ้นมาจากหนังตลกตื้นๆ ที่ตั้งหน้าตั้งตาเล็งแต่จะยิงมุกกันอย่างเดียว (โอเคล่ะ เนื้อหาที่ว่านั้น จะว่าไป มันก็ไม่ได้ลึกซึ้งถึงขั้นชวนให้รู้สึกปลาบปลื้มจนแทบอยากจะกราบเท้าเจ้าของบทหนัง แต่ก็อย่างที่รู้ นี่คือหนังตลก และถ้าต้องการอะไรที่คมคายสูงส่ง ก็ไม่ควรมามองหาในหนังแนวนี้)
อย่างไรก็ดี ว่ากันอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าพระเอกของเรื่องที่ชื่อ “เอ” จะสามารถเอาชนะใจพ่อตาของเขาได้หรือไม่ และไม่ว่า “ไท ดามารุ” จะได้รับการให้อภัยจากนักเลงรุ่นใหญ่อย่าง “สอง คลองเตย” หรือเปล่า ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญอะไรเลย เพราะเรื่องราวในทำนอง...พ่อตาไม่ชอบลูกเขย หรือเรื่องหมางใจกันเองในวงพวกนักเลง...สิ่งเหล่านี้มีให้ดูและถูกผลิตซ้ำมาแล้วในหนังไทยนับไม่ถ้วน แต่คำถามที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือว่า ที่สุดแล้ว โหดหน้าเหี่ยวสามารถตอบโจทย์ตัวเองด้วยการทำให้คนดูสนุกหรือ Entertain สำเร็จหรือเปล่า?
ซึ่งก็อย่างที่บอกไว้ในตอนต้นครับว่า เสียงหัวเราะกระหึ่มโรงของผู้ชมในรอบที่ผมดูนั้น น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ดีอย่างหนึ่ง รุ่นน้องบางคนที่ดูรอบเดียวกัน บอกกับผมว่า นี่คือหนังตลกที่เขาสามารถจะเอ่ยปากแนะนำเพื่อนๆ ให้ไปดูได้แบบชัดถ้อยชัดคำ ไม่อ้ำๆ อึ้งๆ หรืออ้อมๆ แอ้มๆ เวลาถูกถามว่าหนังสนุกหรือไม่สนุก (รุ่นน้องคนนี้ยังบอกด้วยว่า หลายปีมานี้ แทบไม่มีหนังตลกของบ้านเราเรื่องไหนเลยที่เขาจะกล้าแนะนำให้คนอื่นไปดู เพราะอะไรน่ะหรือ? คิดกันเอาเอง)
พูดก็พูดเถอะ แม้ผมจะเห็นว่า งานชิ้นนี้ของคุณยอร์ช-ฤกษ์ชัย จะไม่ได้มีคุณค่าอะไรนักในเชิงศิลปะภาพยนตร์ แต่โหดหน้าเหี่ยวกลับเป็นหนังตลกในรอบหนึ่งถึงสองปีมานี้ที่ผมรู้สึก “ชอบ” มากกว่าเรื่องอื่นๆ (แน่นอน ผมไม่เชื่อว่า ถ้าใครสักคนบอกว่าเขาชอบหนังตลกของไทยหรือชอบหนังไทยแล้วจะดูไม่เท่ ไม่คูล เท่ากับคนที่ชอบหนังติสท์ๆ อาร์ตๆ...เหมือนกับที่ไม่เชื่อว่า คนที่ฟังเพลงแจ๊ซแล้วจะดูดีมีระดับกว่าคนฟังลูกทุ่งหมอลำ)
โหดหน้าเหี่ยวอาจจะไม่ขำมากสำหรับผม แต่สิ่งที่ผมชอบก็คือ อย่างน้อยๆ ผมว่าหนังมันดูมีเรื่องมีราว (หลักการพื้นๆ ของหนังในโลกนี้ก็คือ ตัว Story หรือเรื่องราวนี่แหละ) และหนังก็เล่าเรื่องราวนั้นออกมาให้ดูสนุกและชวนติดตามไปได้เรื่อยๆ ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักในหนังตลกพันธุ์ไทยที่เอะอะอะไรก็จะยิงมุกกันท่าเดียวโดยไม่สนใจว่าจะมี “เรื่อง” อะไรบอกกับคนดูหรือเปล่า?
และแน่นอนที่สุด ผมคิดว่า นี่คือการกลับมากู้หน้าของผู้กำกับร้อยล้านอย่างยอร์ช-ฤกษ์ชัย อีกครั้งหนึ่ง หลังจากฝากประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำเท่าไรนักไว้กับหนังเรื่องที่สามของเขาอย่าง “โปงลางสะดิ้ง ลำซิ่งส่ายหน้า” ซึ่งใช้ตาข้างเดียวมองดูก็รู้ว่า หนังตั้งใจจะขายวงดนตรีอีสานอย่างโปงลางสะออน แต่อ่อนด้อยในแทบจะทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นมุกตลกหรือเนื้อเรื่อง (แน่นอน ผมรู้สึกทึ่งกับตัวเลขรายได้ของโปงลางสะดิ้งฯ ที่วิ่งไกลไปแตะเกือบๆ 80 ล้านบาท แต่ถ้าวัดกันที่เนื้องาน ผมว่า มันคือความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของคนทำหนังคนหนึ่ง)
แต่ถึงอย่างไร ในที่สุด คุณยอร์ช-ฤกษ์ชัย ก็กลับมาแก้มือให้ตัวเองได้สำเร็จในฐานะคนทำหนังตลกที่ตลกจริงๆ ไม่ใช่ตลกฝืด และสุดท้าย สิ่งที่ผมจะพูดมันอาจจะดูเร็วและรีบเกินไป เพราะปี 52 เพิ่งจะออกสตาร์ทได้ไม่กี่ก้าว เท่าๆ กับที่มีหนังตลกอีกหลายเรื่องที่รอคิวเข้าฉาย แต่ถึงยังไง ผมก็ยังอยากจะแปะป้ายให้กับโหดหน้าเหี่ยวไว้ตั้งแต่ตอนต้นปีนี้อยู่ดีว่า นี่คือหนึ่งในผลงานที่จะติดอันดับท็อปไฟว์ของหนังตลกแห่งปี 2552 โดยไม่ต้องรอดูคู่แข่งเรื่องอื่นๆ
ด้วยความเคารพ...